Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
18 กันยายน 2550
 
All Blogs
 
กฎหมายความมั่นคงใหม่ : กำเนิดรัฐทหารใหม่!





สุรชาติ บำรุงสุข





“ปัญหาของรัฐสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องของการกบฏด้วยกำลังอาวุธ

แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ (ทหาร)กับนักการเมือง”

แชมมวล ฮันติงตัน

The Soldiers and the State (1957)




สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และดูจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายทหารเก็บความลับได้เป็นอย่างดีก็คือ การเตรียมร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฉบับใหม่ จนกระทั่งเมื่อผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว สังคมโดยรวมจึงได้มีโอกาสรับรู้จากการแถลงของโฆษกรัฐบาล

สาระหลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือ การมอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามารับบทบาทหลักในการ “รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร” และทำหน้าที่ในการ “บูรณาการและประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการ” เพื่อก่อให้เกิด “ความสงบเรียบร้อยในประเทศ” และไม่เป็น “ภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน” (ดูรายละเอียดในส่วนหลักการของร่างฯ) ดังนั้นหากกล่าวถึงองค์กรที่ถูกชุบชีวิตให้กลายเป็น “ยักษ์ใหญ่” ก็คือ กอ.รมน. ทั้งที่เมื่อมีการยกเลิก พรบ. การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว องค์กรนี้ก็น่าจะต้องจบชีวิตลงด้วย เพราะเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ แต่องค์กรกลับดำรงอยู่เรื่อยมา แม้จะไม่มีภารกิจที่ชัดเจนรองรับ จนกระทั่งเมื่อแนวคิดที่จะสร้างฐานทางการเมืองเพื่อรองรับต่อบทบาทของทหารขึ้นในอนาคต จึงนำไปสู่การปลูกชีวิตของ กอ.รมน.ให้ฟื้นขึ้นมาอีก

ถ้าสมมติว่าฝ่ายรัฐตัดสินใจในที่สุดที่จะผลักดันให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ปัญหาสำคัญที่ติดตามมาก็คือ การนิยามว่าอะไรคือการกระทำที่เป็น “ภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร” ซึ่งในมาตรา 3 ข้อ 2 ได้ระบุไว้อย่างกว้างขวาง ได้แก่

1. การมุ่งทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ

2. การจารกรรม

3. การก่อวินาศกรรม

4. การก่อการร้าย

5. การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ

6. การบ่อนทำลาย

7. การโฆษณาชวนเชื่อ

8. การยุยง การปลุกปั่นให้ใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนามุ่งหมายให้เกิดความไม่สงบสุข

9. กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ



ดังนั้นเพื่อให้เกิดการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในมาตรา 6 จึงได้จัดให้มี “คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน” ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย

1. นายกรัฐมนตรี (ประธาน)

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รองประธาน)

3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รองประธาน)

4. ปลัดกระทรวงกลาโหม (กรรมการ)

5. ปลัดกระทรวงมหาดไทย (กรรมการ)

6. ปลัดกระทรวงยุติธรรม (กรรมการ)

7. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กรรมการ)

8. ปลัดกระทรวงการคลัง (กรรมการ)

9. ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรรมการ

10. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (กรรมการ)

11. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง (กรรมการ)

12. อัยการสูงสุด (กรรมการ)

13. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กรรมการ)

14. ผู้บัญชาการทหารบก (กรรมการ)

15. ผู้บัญชาการทหารเรือ (กรรมการ)

16. ผู้บัญชาการทหารอากาศ (กรรมการ)

17. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (กรรมการ)

18. เสนาธิการทหารบก (กรรมการและเลขานุการ)



หากพิจารณาในประเด็นข้างต้น จะเห็นได้ว่าองค์กรเช่นนี้มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับสภาความมั่นคงแห่งชาติอย่างมาก ซึ่งหากพิจารณาถึงมิติของการบริหารจัดการ ก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นอะไรที่จะจัดตั้งองค์กรในลักษณะที่เหมือนกับสภาความมั่นคงแห่งชาติให้เกิดความซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก และอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดและการกำกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีแต่อย่างใด

อีกทั้งมูลฐานความผิดใน พรบ. ฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนอาจกลายเป็นกฎหมายที่เอื้อให้รัฐมีอำนาจอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการนิยามความผิดอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย และทั้งในบางกรณีก็ไม่มีความชัดเจนว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐจะกินความเพียงใด เป็นต้น และในบางกรณีของความผิดที่ถูกหยิบขึ้นมา ก็ไม่น่าจำเป็นต้องถึงขั้นใช้กฎหมายพิเศษอะไรรองรับเช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายอาญาและกฎหมายฟอกเงินที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอในการรับมือ และผู้รับบทบาทหลักก็น่าจะเป็นตำรวจและทหารควรเล่นบทบาทเสริมมากกว่า

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า อำนาจสำคัญอยู่ในมาตราที่ 25 และ 26 โดยใน ม.25 ให้อำนาจแก่ ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะของผู้อำนวยการ กอ.รมน. คือ

1) ห้ามบุคคลนำอาวุธออกนอกเคหสถาน

2) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ

3) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา

4) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด

5) ให้บุคคลนำอาวุธที่กำหนดไว้มามอบให้เป็นการชั่วคราว

6) ให้เจ้าของกิจการหรือผู้จัดการจัดทำประวัติพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อแจ้งพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวให้พนักงานทราบ

7) ออกคำสั่งให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไว้ในครอบครอง จะต้องรายงานแก่เจ้าหน้าที่

8) ออกคำสั่งใช้กำลังทหารหรือตำรวจเพื่อระงับหรือควบคุมสถานการณ์เพื่อให้เกิดความสงบได้



อีกทั้งยังให้อำนาจแก่ ผอ.รมน. อย่างมาก จนดูไม่ต่างจากอำนาจที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2519 ซึ่งรัฐสามารถจับกุมบุคคลในข้อหาเป็น “ภัยต่อสังคม” ได้ ดังจะเห็นได้จากสาระที่ถูกกำหนดไว้ใน ม.26 อีกได้แก่

1) มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมและควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

2) ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

3) สามารถออกหนังสือเรียกบุคคลมารายงานตัว

4) มีอำนาจในการตรวจค้นยานพาหนะ หรือสถานที่ที่ต้องสงสัย

5) สามารถยึด/อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้



จากอำนาจในมาตราทั้งสอง จะเห็นได้ว่า กอ.รมน. ได้กลายเป็น “ยักษ์ใหญ่” ซึ่งจะมีอำนาจมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้เกิดความกังวลว่า อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ จะส่งผลให้เกิด “กระบวนการทำให้เป็นทหาร” (Militarization) กับการเมืองไทย อันอาจทำให้ไทยกลายเป็น “รัฐทหาร” ได้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะส่งผลให้เกิดอาการ “เอียงขวา” มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐไทยให้เป็น “รัฐความมั่นคง” ได้ไม่ยากในอนาคต แต่สิ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน หากเมื่อกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ก็คือ การเกิด “รัฐซ้อนรัฐ” ที่อำนาจการเมืองจะถูกโอนจากนักการเมือง (และรวมทั้งคณะรัฐมนตรี) ไปไว้ที่ผู้นำทหาร

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ อำนาจด้านความมั่นคงที่ปรากฏในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งน่าจะมีอยู่พอเพียงในการบริหารจัดการกับปัญหาความมั่นคงไทยได้ในอนาคต แต่หากฝ่ายรัฐคิดว่าไม่พอที่จะจัดการกับปัญหา ก็น่าจะทดลองแก้ไขกฎหมายเดิม โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เว้นแต่การออกกฎหมายนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันทางการเมืองแก่ผู้นำทหาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือการเมืองจะต้องหันกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกในอนาคต แต่อำนาจสำคัญจะยังคงอยู่กับฝ่ายทหาร และผู้นำทหารจะยังคงเป็น “ผู้มีอำนาจจริง” ในการเมืองไทยตลอดไป!



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 17/9/2550




Create Date : 18 กันยายน 2550
Last Update : 18 กันยายน 2550 16:02:19 น. 4 comments
Counter : 1148 Pageviews.

 
นี่คือรายจ่าย ขนาดใหญ่ของผลจากการเล่นและส่งเสริม หรือเฉยๆ ต่อการเล่นนอกกติกา ของฝ่ายที่มีวาระซ่อนเร้น รวมทั้งฝ่ายที่ไม่ประสีประสาในระอบประชาธิปไตย และ /หรือฝ่ายที่หลงในความคิดและทฤษฏีของตัวเอง +พวกอุดมคติจ๋า ทั้งหลาย


โดย: เนื่อง มาจากเหตุ วันที่: 19 กันยายน 2550 เวลา:3:10:50 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: Darksingha วันที่: 19 กันยายน 2550 เวลา:11:53:21 น.  

 
รัฐประหารเงียบ !



สุรชาติ บำรุงสุข





“ประชาชนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร ในเรื่องของการรัฐประหาร
ถ้ามีรัฐประหาร ก็หมายถึงว่า ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารไม่ดี
และถ้าไม่มีรัฐประหาร ก็หมายถึงว่าความสัมพันธ์นี้ดี
... แต่ในความเป็นจริง ประเทศหนึ่งประเทศใดอาจจะมีความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่ไม่ดี
โดยปราศจากการคุกคามของการรัฐประหารก็ได้”



Michael C. Desch

Civilian Control of the Military (2001)







การผ่านร่างพระราชบัญญัติการรักษาความความมั่นคงภายในราชอาณาจักรของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 19 มิ.ย.50 อาจเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น “รัฐประหารเงียบ” เพราะหลังจากการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.49 แล้ว ได้มีข่าวเรื่องราวของการรัฐประหารเกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่เรื่องราวดังกล่าวก็ยังคงเป็นเพียงข่าวลือ แม้ในบางกรณีจะมีความน่าเชื่อถืออย่างมากถึงขนาดว่ามีการเคลื่อนกำลังแล้วก็ตาม



แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปครบรอบ 9 เดือนของการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ความพยายามในการฟื้นฟูอำนาจของฝ่ายทหารก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงแต่การดำเนินการในชั้นนี้ ไม่ได้กระทำด้วยการใช้กำลังออกมายึดอำนาจจากรัฐบาล หากแต่เป็นการกระทำที่ดำเนินไปด้วยการออกกฎหมายมารองรับบทบาทของทหารในอนาคต พร้อมๆ กับการโอนอำนาจไปไว้ที่กองทัพ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า รัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว และเป็นไปในรูปแบบของ “รัฐประหารเงียบ”



ดังนั้นหากพิจารณาถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออก พ.ร.บ.ความมั่นคงใหม่ อาจสรุปได้เป็นประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้



1) การกำเนิดของรัฐทหารใหม่

หากมีการนำ พ.ร.บ. ความมั่นคงดังกล่าวออกมาใช้จริง ก็จะเสมือนกับการก่อตั้ง “รัฐทหาร” ขึ้น หรือบางท่านอาจจะเห็นว่าคล้ายกับกรณีในละตินอเมริกา คือ รัฐเช่นนี้จะมีสภาพคล้ายกับ “รัฐความมั่นคง” (security state) ที่ทุกอย่างภายในรัฐถูกควบคุมโดยหน่วยงานความมั่นคง และดำเนินการด้วยกฎหมายความมั่นคงอย่างเข้มงวด ซึ่งหากจะกล่าวอีกด้านหนึ่งก็คือ การทำให้เกิดสภาพ “รัฐซ้อนรัฐ” ขึ้น โดยศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองจะถูกนำมาไว้กับกองทัพ มากกว่าจะปล่อยให้อยู่ในมือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ในสภาพเช่นนี้ กระบวนการทางการเมืองจึงถูกครอบงำด้วย “กระบวนการทำให้เป็นทหาร” ซึ่งจะเห็นได้จากทัศนะคติในการมองปัญหาว่าภัยคุกคามต่อกองทัพ มีนัยเท่ากับภัยคุกคามต่อประเทศ หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ผลประโยชน์ของกองทัพ มีค่าทางสมการคณิตศาสตร์เท่ากับผลประโยชน์ของชาติ เป็นต้น



2) การรัฐประหารเงียบ

ดังได้กล่าวในข้างต้นส่วนหนึ่งแล้วว่า การผลักดันให้ครม. นำเอาร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาได้ ก็คือการยึดอำนาจของทหารในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบที่คนโดยทั่วไปไม่คุ้นเคย เพราะเรามักคุ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของการนำรถถังและกำลังพลทหารราบออกมาวิ่งแสดงกำลังให้เห็นอย่างน่าเกรงขามบนถนน เพื่อประกาศศักดาว่าทหารได้ยึดอำนาจแล้ว

แต่การต่อสู้ทางการเมืองในบางครั้ง ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นว่านั้น กองทัพสามารถยึดอำนาจได้โดยการกดดันให้รัฐบาลยอมรับการออกกฎหมายเพื่อค้ำจุนสถานะและผลประโยชน์ของกองทัพ ดังจะเห็นได้ว่า การประกาศข้อกำหนดต่าง ๆ เมื่อมีเหตุอันเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น ควรจะเป็นการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจเช่นนี้กลับถูกโอนไปไว้กับผู้บัญชาการทหารบกในตำแหน่งของผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ. รมน.)

ในการนี้ ผอ. รมน. (ผบ. ทบ.) ยังสามารถออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารได้ ซึ่งคำสั่งเช่นนี้ควรเป็นอำนาจของรัฐบาลในฐานะองค์อธิปัตย์ในทางการเมือง ตัวอย่างของประเด็นเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าอำนาจของกองทัพกำลังอยู่ในสถานะที่เกินกว่าอำนาจของฝ่ายการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องใช้การขู่ หรือคุกคาม ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือการยืนยันถึงการรัฐประหารเงียบที่เกิดขึ้นโดยรัฐบาลกำลังมีสถานะหลักลอยมากขึ้นนั่นเอง



3) การส่งสัญญาณที่ผิดพลาด

สัญญาณที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะถูกตีความในเรื่องของการปูทางเพื่อจัดตั้งรัฐทหารในอนาคต หรือการทำรัฐประหารเงียบก็ดี ล้วนแต่เป็นการบ่งบอกถึงปรากฏการณ์ว่าทหารกำลังเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการบ่งบอกถึงสถานะเชิงสัมพัทธ์ของรัฐบาลว่ากำลังอ่อนแอลงโดยปริยาย

การส่งสัญญาณเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีแก่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพราะผลจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นก็ทำให้ภาพลักษณ์ของไทยแย่ลงมากพอแล้ว ดังจะเห็นได้ว่า การรัฐประหารไม่ใช่จุดขายในเวทีระหว่างประเทศ ในทางตรงข้าม การดำรงไว้ซึ่งระบอบการเลือกตั้ง โดยอาจจะต้องเผชิญกับวิกฤตอย่างไรก็ตาม คือจุดที่จะทำให้เกิดการยอมรับในสากล มากกว่าจะขายด้วยภาพลักษณ์ของรัฐบาลคุณธรรมสูงที่มาจากการรัฐประหาร เพราะอย่างไรเสีย ภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่ถูกค้ำจุนด้วยการยึดอำนาจของทหารนั้น ไม่สามารถเรียกร้องความสนับสนุนทางการเมืองจากเวทีนานาชาติได้ แม้จะมีสถานทูตของชาติมหาอำนาจตะวันตกในกรุงเทพฯ แสดงท่าทีสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาก็ตามที แต่กฎหมายของหลาย ๆ ประเทศ ก็ไม่อนุญาตให้รัฐบาลของเขาติดต่อกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โดยเฉพาะย่างยิ่งในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น



4) ปัญหาการบริหารงานความมั่นคง

ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงใหม่มีลักษณะ “หัวมังกุท้ายมังกร” อยู่มาก เพราะดูจะเหมือนกับการเอาโครงสร้างของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาสวมใส่ โดยมี กอ. รมน. เป็นผู้เล่นบทบาทแทน ยิ่งดูจากองค์ประกอบของบุคลากรแล้วก็ยิ่งชัดเจนถึงความคล้ายคลึงกับโครงสร้างของ สมช.

ในหลักการของร่างพ.ร.บ. ได้กล่าวว่า จัดทำกฎหมายนี้ขึ้นก็เพื่อการบูรณาการหน่วยงานของภาครัฐในการดำเนินการด้านความมั่นคง แต่หากกฎหายนี้ถูกใช้จริงก็จะทำให้สถานะของ กอ. รมน. ดูจะไม่แตกต่างไปจาก สมช. ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรทั้งสองต่างก็มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

การจัดทำโครงสร้างในลักษณะเช่นนี้ย่อมคาดการณ์ได้ว่า ฝ่ายทหารกำลังพยายามยกฐานะของหน่วยงานของตน (กอ. รมน.) ให้มีฐานะเป็นองค์กรระดับนโยบายและปฏิบัติควบคู่กันไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความพยายามที่จะทำให้ กอ. รมน. มีความเป็น “เบ็ดเสร็จ” ในตัวเองโดยเฉพาะในเรื่องของกระบวนการใช้อำนาจ



5) ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน

แม้ในสถานการณ์ปัจจุบัน จะมีข้อโต้แย้งจากรัฐบาล ผู้นำทหาร และกลุ่มผู้สนับสนุนการรัฐประหารว่า สถานการณ์ภายในของไทยมีความไม่เป็นปกติอยู่มาก ดังนั้นรัฐไทยจึงควรต้องยอมรับถึงความจำเป็นในการยึดถือเป็นแนวทางว่า “ความมั่นคงต้องมาก่อนสิทธิมนุษยชน” และการออกกฎหมายความมั่นคงใหม่ก็คือ การยืนยันถึงหลักคิดดังกล่าว

ในความเป็นจริงไม่ใช่อะไรมาก่อน และอะไรอยู่หลัง หากแต่ในการบริหารรัฐที่ดีนั้น รัฐบาลจะสามารถสร้างสมดุลของตาชั่งระหว่างการดำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชนของบุคคล กับการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐได้อย่างไร การยึดถือเอาประเด็นใดเป็นหลักแต่เพียงส่วนเดียว อาจจะทำให้เกิดอาการเสียสมดุลได้ ซึ่งก็จะไม่เป็นผลดีต่อรัฐเท่าใดนัก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศไทยเองกำลังอยู่ในโลกสมัยใหม่นั้น สมดุลของสิทธิมนุษยชนกับความมั่นคง จะเป็นหลักประกันทั้งต่อปัญหาธรรมาภิบาลและต่อประเด็นภาพลักษณ์ของรัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งกฎหมายใหม่นี้ยังมีการประกันว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องมีความรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น กล่าวคือไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย ในขณะที่พระราชกำหนดปี 2548 ยังคงสิทธิของผู้เสียหายให้สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากทางราชการได้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. 2550 ได้ตัดสิทธิในส่วนนี้ทิ้ง ประเด็นปัญหาในลักษณะเช่นนี้อาจจะต้องคิดให้ละเอียด เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว ข้อความในลักษณะดังกล่าวจะเป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลตามรัฐธรรมนูญหรือไม่



6) ผลต่อความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารในอนาคต

ผลกระทบต่ออนาคตของการเมืองไทย เป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย จะคิดอยู่เฉพาะแต่เพียงการเพิ่มอำนาจและบทบาทของทหารแต่เพียงประการเดียวไม่ได้ เพราะหากจะต้องคิดถึงการสร้างความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่ดีแล้ว หรือที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคต กฎหมายในลักษณะเช่นนี้จะเป็นปัจจัยด้านบวกหรือไม่ต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว

การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า รัฐไทยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายความมั่นคงเพื่อคุ้มครองตัวเอง หากแต่กระบวนการทำพร้อม ๆ กับสาระของกฎหมายนี้จะต้องนำมาพิจารณาในกรอบของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารที่เป็นประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่ถูกทำให้กลายเป็นกรอบทางการเมืองใหม่ที่มอบให้กองทัพเป็น “ผู้ดูแล” ระบอบการเมืองทั้งหมดไทยเสียเอง !

ที่มา : ประชาไท วันที่ : 19/9/2550



โดย: Darksingha วันที่: 19 กันยายน 2550 เวลา:11:55:54 น.  

 
รัฐประหาร 2549 และการสูญเสียความฝันถึงอนาคตการเมืองที่ไกลกว่า เอา-ไม่เอา ทักษิณ









เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 50 มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา ‘ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550’ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ ‘รัฐประหารสำเร็จ--รัฐประหารไม่สำเร็จ’ โดยมีวิทยากรคือ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ สุรชาติ บำรุงสุข ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดำเนินรายการ



อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอกรอบความเข้าใจเรื่องที่แวดวงวิชาการเลิกสนใจไปแล้วอีกครั้ง คือ ‘ทหารกับการเมือง’ พร้อมนำเสนอความซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อทหารต้องควบคุมสังคมแห่งความหลากหลายในยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้ยังเสนอด้วยว่า การรัฐประหาร 19 กันยา 2549 เป็นการสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยเราเห็นการเปลี่ยนข้างของอดีตฝ่ายซ้าย ทำให้ฐานะทางการเมืองของคนเดือนตุลาเป็นเพียงความหลังชุดหนึ่ง ทั้งยังเป็นยุคอับจนทางปัญญาของนักวิชาการ



“1 ปีที่ผ่านมา เรียนรู้อะไร ถ้าเรายังมีสติอยู่จะตอบได้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น คำถามเหลืออย่างเดียว จะยอมให้เกิดไหม สังคมไทยพอใจจะอยู่กับการรัฐประหารไหม หรือถ้าคุณไม่เอาระบอบทักษิณ คุณพอใจที่จะอยู่กับระบอบทหารใช่ไหม ถ้าคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจจะอยู่กับระบอบทหาร แต่คนที่เหนือกับอีสานไม่เอาจะเกิดอะไรขึ้น การเมืองไทยจะเป็นการเมืองของการสุดขั้ว ซึ่งเราไม่เห็นปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ปี 2519 และมันจะกระทบกับสถานบันเบื้องสูงมากกว่าที่คิด” สุรชาติกล่าว






สุรชาติ บำรุงสุข

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





ผมมีความหลังกับหอประชุมนี้ (หอประชุมศรีบูรพา หรือหอเล็ก – ประชาไท) พอสมควร ก่อนปี 2519 ขบวนนักศึกษาใช้หอประชุมธรรมศาสตร์เยอะมาก ทั้งหอใหญ่ หอเล็ก หลังปี 2519 กลุ่มอาจารย์จัดเวทีเพื่อแสดงบทบาทของภาคประชาสังคมไทยด้วยการให้อาจารย์ทั้งหลายทดลองนำเสนอว่า จะมีนโยบายอย่างไรถ้าเป็นรัฐบาล มันนานมาก คือเป็นการเลือกตั้งในช่วงรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่นึกว่าเวทีวันนี้ผมจะได้มาพูดเรื่องที่เก่าแก่ที่สุดของการเมืองไทย คือการรัฐประหาร และตกลงในอนาคตเราต้องจัดอย่างนี้อีกกี่รอบ ผมกำลังกลัวว่าปี 2550 จะมีอีกรอบ เพราะจนบัดนี้ “โผ” ก็ยังไม่ออก ถ้า “โผ” ไม่ออกนานๆ ลำบาก เตรียมตัวกันให้ดี มีคนพูดว่า ทำไมเด็กชายโผถึงคลอดยากคลอดเย็น ใครจะเป็นคนทำคลอดเด็กชายโผออกจากครรภ์มารดา และมีปัญหาด้วยว่า ใครคือมารดา



เราจะอธิบายความสำเร็จและล้มเหลวของรัฐประหารอย่างไร เรียนตรงๆ มีสองส่วน ส่วนที่พูดได้กับพูดไม่ได้ ที่พูดได้ก็เป็นกรอบที่นักเรียนรัฐศาสตร์ถูกสอนโดยปกติ สังเกตอย่างหนึ่งได้ว่า วิชาทหารกับการเมืองหายไปจากวงวิชารัฐศาสตร์นานมาก ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลก เพราะทหารเขาลงจากเวทีการเมืองกันหมดแล้ว และนานแล้ว ทหารลงจากการเมืองก่อนที่สงครามเย็นจะยุติ ก่อนสงครามคอมมิวนิสต์จะเลิกด้วย หรือเทียบกับบ้านเรา คือหลังรัฐประหารปี 2520 ไปแล้ว หลังจากนั้น ถ้าอ่านหนังสือวิชาการ หรือหนังสือพิมพ์ในบ้านเรา ประเด็นทหารกับการเมืองไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่วันหนึ่งในบ้านเรากลับหมุนไม่พ้นประเด็นเดิม สุดท้ายเมื่อเราไม่มีใครทำวิจัยต่อ จึงไม่สามารถสร้างกรอบทางวิชาการได้ ยกเว้นแต่กรอบที่นักวิชาการต่างประเทศทดลองตั้งให้เรา



คนเรียนเรื่องทหารกับการเมือง ต้องได้เรียนหนังสือสองเล่มของ Samual Finer ชื่อ ‘The Man on Horseback : The Role of the Military in Politics’ และ Samual Huntington ชื่อ ‘The Soldier and The State : The Theory and Politics of Civil-Military Relations’ ซึ่งเป็นกรอบที่พอจะตอบได้ แต่คำตอบรูปธรรมของประเทศกำลังพัฒนาที่ว่า ทำไมทหารยึดอำนาจสำเร็จ ตอบง่ายๆ คือ ทหารมีปืน แต่ต้องตอบมากกว่านั้น ไฟเนอร์บอกว่า ความสำเร็จของรัฐประหารนั้น เพราะองค์กรทหารถูกสร้างให้เป็นองค์กรสมัยใหม่ เป็น modern army ในสังคมไทยเริ่มเมื่อประมาณรัชกาลที่ 5 มันถูกสร้างให้มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีองค์กรไหนที่สมบูรณ์ในตัวเอง ทั่วโลกเป็นเหมือนกัน ความสมบูรณ์ในตัวเองคือ กองทัพมีระบบบังคับบัญชาที่รวมศูนย์ มีการจัดลำดับชั้น มีวินัย มีระบบการสื่อสารภายใน มีกระบวนการสร้างจิตวิญญาณของตัวเอง เปรียบเทียบแล้วองค์กรพลเรือนมีอะไร



ฮันติงตันยังบอกว่า กองทัพมีสถานะเป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้อาวุธ แต่พลเรือนไม่มีเลย โดยสภาพอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับหนังสือเก่าๆ เช่นที่เลนินพูดว่า รัฐคือองค์กรติดอาวุธ แล้วกองทัพคือกลไกของรัฐที่เป็นผู้ใช้อาวุธ ความเหนือกว่าขององค์กรติดอาวุธมันยังผนวกกับปัญหาวัฒนธรรมการเมืองในแต่ละประเทศ การยอมรับหรือไม่ยอมรับการรัฐประหารขึ้นกับวัฒนธรรมของคนในประเทศ ต้องยอมรับแล้วว่า เรากำลังมีวัฒนธรรมการเมืองที่คิดว่าการรัฐประหารยอมรับได้ และเราอยู่ได้ ทั้งที่ก่อนสงครามเย็นจะยุติ ประเทศต่างๆ ไม่ยอมรับที่จะให้รัฐมีรัฐประหาร เช่นที่เกาหลีใต้ไม่ยอมให้มีแล้ว ทั้งที่มีภัยคุกคามความมั่นคงเพราะเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ไม่มีใครตัดสินใจยึดอำนาจ



ปัญหาพวกนี้ยังผนวกกับปัจจัยภายนอกบางตัว ยุคที่เราอยู่กับสงครามคอมมิวนิสต์ เงื่อนไขของภัยคุกคามเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ทหารยึดอำนาจ แต่ก่อนที่สงครามคอมมิวนิสต์จะสิ้นสุด ปัจจัยภายนอกนั้นเปลี่ยน ตัวอย่างที่ชัด ลองนึกถึงการยึดอำนาจเดือนตุลาคม 2520 ปัจจัยภายนอกเปลี่ยน เช่น นโยบายทำเนียบขาวตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีคาร์เตอร์ที่เน้นสิทธิมนุษยชน หรือกองทัพในละตินอเมริกาซึ่งถือว่าแข็งแกร่งทางการเมืองประสบปัญหา เพราะมหาอำนาจไม่สนับสนุนให้กองทัพอยู่ในเวทีการเมือง



แล้วถ้าอธิบายว่ารัฐประหารล้มเหลว นักวิชาการตะวันตกได้อธิบายว่า รัฐประหารล้มเหลวเพราะความไม่พอเพียง 3 ประการ 1.ความไม่พอเพียงของความชอบธรรม เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด 2.ความไม่พอเพียงของความรู้ และเทคนิคที่เมื่อรับภาระยึดอำนาจเสร็จแล้ว ปัญหาคือจะบริหารประเทศอย่างไร ไม่แต่กองทัพในประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาแบบนี้ ถ้าเป็นฝ่ายซ้ายเก่า เหมาก็เคยบอกว่า การยึดอำนาจไม่ยาก แต่การสร้างอำนาจรัฐแดงหลังยึดอำนาจจะทำอย่างไร ตกลงกองทัพจะมีความพอเพียงในความรู้หลังยึดอำนาจหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ต้องตอบในวาระครบ 1 ปี 19 กันยา เพราะทุกคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเมือง เศรษฐกิจไทย



ความไม่พอเพียงประการสุดท้าย คือ ความไม่พอเพียงในทางศีลธรรม จะอธิบายอย่างไรกับการรัฐประหารที่เกิด และมันโยงไปถึงความผูกพันระหว่างประชาชนกับสถาบันทางการเมืองของพลเรือนภายในประเทศ ถ้าความผูกพันมีสูง การรัฐประหารก็เกิดได้ยาก



ถ้าหวนกลับมามอง กองทัพเป็นองค์กรติดอาวุธ แต่ปัญหาคือ อำนาจของอาวุธอย่างเดียวไม่พอ รัฐประหาร ปี 2549 เป็นตัวอย่าง ประเด็นใหญ่ที่สุด คือการควบคุมทางสังคม ถ้ายึดอำนาจได้แต่ควบคุมสังคมไม่ได้ ก็จะเป็นแบบที่เราเห็นนี้ สังคมไทยมีความเป็นพหุมากขึ้นเรื่อยๆ มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นก่อนการยึดอำนาจแล้ว ในความหลากหลายนี้ เมื่อทหารตัดสินใจใช้วิธีการเก่าที่สุด บวกกับวิธีคิดที่เก่าที่สุด ถามว่าการควบคุมสังคมสมัยใหม่ที่เป็นพหุเป็นไปได้ไหม แล้วถ้าทหารควบคุมสังคมไม่ได้ อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต วันนี้เราเห็น 2 อย่าง คนที่มีประสบการณ์พฤษภาคม 2535 จะอธิบายได้ชัดว่า ปัจจัยที่เคยหนุนให้เกิดพฤษภาปี 2535 วันนี้ไม่เป็นปัจจัยเชิงบวกกับเหตุการณ์การเมืองหลัง 19 กันยา 2549 สิ่งที่เราเห็นคือ การเปลี่ยนจุดยืนของกลุ่มที่เมื่อปี 35 เราเรียกว่า “พลังประชาธิปไตย” ซึ่งก็คือ พวกปัญญาชน คนชั้นกลางในเมือง สื่อและเอ็นจีโอ ท่านสังเกตไหม วันนี้พลังประชาธิปไตยของปี 2535 อาจจะไม่ทั้งหมด แต่หลายส่วนของ 4 ส่วนใหญ่นั้น ในวันนี้ย้ายข้าง



ผมอยากจะเสนอว่า Fukuyama เขียนหนังสือเรื่อง การสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ (The End of History) ผมคิดว่าการรัฐประหาร 19 กันยา 49 เป็นการสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เราเห็นการเปลี่ยนข้างของอดีตฝ่ายซ้าย เราอาจจะเห็นรูปการ์ตูนการเมืองที่คุณสมัคร (สุนทรเวช) กับหมอสุรพงษ์ (สืบวงษ์ลี) จับมือกัน แล้วเขียนว่าเปลี่ยนสี เปลี่ยนข้าง ผมว่าไม่ใช่ การเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยามันเปลี่ยนหมดแล้ว วันนี้เราอาจต้องยอมรับที่อดีตผู้นำนักศึกษาที่ชื่อใหญ่ๆ วันนี้อยู่กับทหาร อยู่กับ คมช. ของอย่างนี้น่าสนใจ มันเป็นการสิ้นสุดทางประวัติศาสตร์ของการเมืองชุดหนึ่ง พูดง่ายๆ ฐานะทางการเมืองของคนเดือนตุลาจบแล้วครับ อย่างไปหวังอะไรกับคนเดือนตุลา เป็นแต่เพียงความหลังชุดหนึ่งอย่างที่หนังพี่สุชาติ (สวัสดิ์ศรี) ทำให้เราดู ผมคิดว่าพี่สุชาติน่าจะเขียนด้วยว่า “แด่คนเดือนตุลา ทั้งที่อยู่กับ คมช. และไม่เอา คมช.”



ในปรากฏการณ์อย่างนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลพวงการเมืองไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐประหารจะเกิดอีกไหม ถ้าให้ผมมองปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย คือ coercive democracy ในทางการทูตมันมีคำว่า coercive diplomacy คือการทูตที่ใช้ปืนเป็นเครื่องมือ การเมืองไทยในอนาคต ประชาธิปไตยไทยมันอยู่บนดาบปลายปืน มีความเปราะบางอยู่ 4 ประการในอนาคต 1.ผลพวงจาก 9/19 ผมล้อ 9/11 หลัง 9/19 สิ่งที่จะเห็นคือ กองทัพเข้มแข็ง พรรคการเมืองอ่อนแอ หรือการเมืองภาคพลเมืองอ่อนแอ ดูรัฐธรรมนูญปี 50 เป็นตัวอย่างที่สร้างความแตกแยกและอ่อนแอ หรือที่คุณคณิน บุญสุวรรณ พูดชัดถึงขนาดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างให้เกิดเงื่อนไขการรัฐประหารในอนาคต



ในความแตกแยกและความอ่อนแอ มันนำไปสู่คำตอบประการเดียวคือ การเมืองภาคพลเมืองต้องพึ่งผู้พิทักษ์เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง นั่นคือ กองทัพ ในสภาพอย่างนั้น สิ่งที่เราจะเห็นคือ ทหารจะไม่ออกจากการเมืองไทย สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำอาจต้องสอนวิชาทหารกับการเมืองไทยใหม่อีกครั้ง



สภาพอย่างนี้การเมืองในอนาคตมีลักษณะที่ถ้าจะใช้คำให้สวยก็คือ Guided Democracy หรือประชาธิปไตยที่ถูกชี้นำโดยชนชั้นสูงและผู้นำกองทัพ ผมเชื่อว่าการรัฐประหารรอบนี้เป็นการรัฐประหารที่หน่อมแน้มที่สุด ใครที่มีประสบการณ์รัฐประหารที่กรุงเทพฯ เราจะรู้สึกอย่างนั้น จัดตั้งมวลชนไปให้ดอกไม้ แต่ผลพวงอันหนึ่งซึ่งผมไม่เข้าใจคือ สื่อเล่นไม่มาก ปัญญาชนไม่แตะเลย นั่นคือ กฎหมายความมั่นคง เราเคยมีกฎหมายความมั่นคงฉบับใหญ่ที่สุด คือ กฎหมายคอมมิวนิสต์ แล้วยกเลิกไปสมัยรัฐบาลชวน แต่ไม่ยกเลิก กอ.รมน. วันนี้ฟื้นมาใหม่ ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรจึงไม่มีเสียงประท้วง วันนี้ปัญญาชนไทยยอมรับกฎหมายความมั่นคง ถ้ายอมรับวันนี้ ก็ลองถามว่าเกิดอะไรขึ้นในมาเลเซีย



กฎหมายความมั่นคงที่ออกในวันนี้ เป็นกระบวนการสร้างสถาบันของอำนาจทางการเมืองของทหาร พูดง่ายๆ คือ ทหารสามารถอยู่ในเวทีทางการเมืองโดยมีกระบวนการทางกฎหมายยอมรับ ถ้ากฎหมายนี้ออกจะเห็นของขวัญชิ้นใหม่อีกไม่นานจาก คมช. คือ ทบวงความมั่นคง แต่ไม่เห็นมีใครสนใจ ท่านไม่ต้องคิดมาก สังคมไทยวันนี้ academy fantasia หรือในความเป็นจริงมันคือ political fantasia แล้วอนาคตของมันตกลงมันจะสิ้นสุดเมื่อไร จนถึงวันนี้โผโยกย้ายก็ยังไม่ออก



ถ้าดูรัฐประหารปี 2534 กับ 2549 มีปัจจัยร่วมเรื่องเดียวคือ โผทหาร สำหรับปี 2535 ก็ไม่รู้ว่าตกลงจริงไหมที่นายกฯ พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) ตัดสินใจจะโยกย้าย ผบ.ทบ. ปัจจุบันนี้ก็เป็นปัญหาเดียวกัน แล้ววันนี้ที่การเมืองไม่นิ่งตั้งแต่ยึดอำนาจเสร็จ ก็เป็นปัญหาเรื่อง “โผ” อีก มันจึงเป็นลูกชายที่คลอดยากที่สุด ตกลงใครเป็นมารดา ใครเป็นคนทำคลอด ปัญหานี้ใหญ่นะครับ มองในมุมรัฐศาสตร์ ถ้าไม่ยุ่งยาก สังคมไทยต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งให้ได้ เพราะถ้าทำไม่ได้ก็ต้องจัดเวทีพูดเรื่องรัฐประหารไปเรื่อยๆ



เรื่องโผคือตัวอย่าง อีกเรื่องคือ ปฏิรูปกองทัพไทย ในทัศนะผม กองทัพไทยปฏิรูปครั้งสุดท้ายเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 สร้างกองทัพเป็นกองทัพสมัยใหม่ เป็นกองทัพประจำการสยาม ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่เราทำเหมือนซ่อมรถ คือตัดผุ ถ้าไม่ปฏิรูปเราจะสร้าง “ทหารอาชีพ” ได้ไหม แต่เราไม่มีคำตอบเลยว่าทหารอาชีพคืออะไร ในสภาวะที่เราไม่มีคำตอบว่าทหารอาชีพคืออะไร มันก็ผูกโยงกับปัญหาใหญ่ที่สุด ตกลงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพมีไหม แล้วถ้าไม่มี ใครทำโผทหาร ใครจะสร้างทหารให้เป็นทหารอาชีพ ประเด็นเหล่านี้ล้วนซับซ้อนและท้าทาย





คำถามจากผู้ฟัง : 1 ปีทีผ่านมาหลังการรัฐประหาร สังคมการเมืองไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง

สุรชาติ : ผมว่าเป็น 1 ปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ เป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ ดังนั้น จากนี้ไปท่านจะเห็นการเมืองอีกโฉมหน้าหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคย สิ่งที่จะเห็นชัดที่สุดในความไม่คุ้นเคยคือ ปีใหม่ที่ผ่านมา สื่อไม่เชิญนักวิชาการให้ความเห็นทางการเมืองเพื่อทำนายอนาคต แต่เชิญหมอดู เพราะหมอดูบอกอะไรได้มากกว่านักวิชาการ



ในความหมายที่เราเผชิญ ผมคิดว่าตอบยาก แต่ผมเชื่อว่า 1 ปีที่ผ่านมาเป็น 1 ปีของความไร้เสถียรภาพทางการเมือง เป็น 1 ปีของการการแตกแยกทางการเมือง เป็น 1 ปีของการถดถอยทางเศรษฐกิจ ตอนนี้ผมนั่งรอดูว่า เมื่อไรปัญญาชน สื่อ และเอ็นจีโอที่หนุนรัฐประหารจะออกมาขอโทษต่อสังคมไทย ผมยังเชื่อว่า วันนี้รัฐประหารไม่ใช่คำตอบ ถึงอนาคต ก่อนปี 2554 ตามที่อาจารย์ชาญวิทย์ (เกษตรศิริ) ทำนายไว้ ถ้ามีจริงก็เป็นความผิดพลาดไม่ต่างกัน รัฐประหารในยุคโลกาภิวัตน์ ในสภาพที่สังคมไทยเป็นพหุนิยมมากขึ้น ตอบได้อย่างเดียวว่า มันเป็นกระบวนการฆ่าตัวตายทางการเมือง และเป็นการทำลายเศรษฐกิจ วันนี้ท่านจะเห็นทุนที่ไหลอออกจากบ้านเราไปเหมือนน้ำ อนาคตทางเศรษฐกิจเราริบหรี่ ถ้าเศรษฐกิจไทยฟุบอีกครั้ง มันจะหนักกว่าปี 2540 อย่าเชื่อจีดีพี อย่าเชื่อยาหอมที่รัฐให้กับสื่อซึ่งก็สนับสนุนรัฐประหาร พูดง่ายๆ ในชีวิตของคนทำมากิน ใครบ้างมีความสุข ความสุขอยู่กับคนกลุ่มเดียว และคนที่อยู่กับตำแหน่งสูงๆ ในรัฐวิสาหกิจ



1 ปีของความใหม่ นับจากนี้ไปข้างหน้า เป็นความใหม่ทางการเมืองซึ่งเราไม่รู้จะเกิดอะไรในอนาคต ภายใต้ความแตกแยกที่เราเห็น ถ้ายึดอำนาจอีกรอบจะเกิดอะไรขึ้น คิดง่ายๆ วันนี้เห็นผลประชามติเหนือกับอีสาน วันนี้เปิดเว็บไซต์ดูความน่ากลัว คนเริ่มพูดกันว่า ถ้าคนส่วนกลางยังหนุนรัฐประหารอย่างนี้ ยังด่าว่าอีสานโง่ เหนือใจง่าย เอาเงินซื้อได้ เรื่องนี้ใหญ่ที่สุด เริ่มมีคนพูดกับผมว่า เอ๊ะ อาจารย์ ระเบิดสะพานเดชาทิ้งดีไหม แล้วแยกซะเลย อย่าคิดเป็นเล่นนะครับ ถ้ายังเชื่อแบบนั้น แล้วคนเหนือ อีสาน ถามกลับว่า พวกโง่ๆ ที่กรุงเทพฯ ที่หนุนรัฐประหารล่ะ เราจะตอบว่ายังไง



ผมคิดว่าวันนี้ต้องตั้งสติ ปัญหามันเลย ‘เอา’ หรือ ‘ไม่เอา’ ทักษิณไปหมดแล้ว ปัญหาในอนาคตที่ใหญ่ที่สุดที่เราต้องตอบคือ เราจะวาดฝันอนาคตการเมืองไทยอย่างไร ตอนนี้คิดแต่ด่าทักษิณอยู่กันแค่นี้ แล้วมันแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือเศรษฐกิจได้หรือไม่ วันนี้อียูจะมาตรวจการเลือกตั้ง ยังมีคนพูดว่าสงสัยคุณทักษิณไปดันอียูให้มาตรวจ เป็นตลกร้ายทางการเมือง



ผมคิดว่าคนในสังคมไทยต้องตอบด้วยตัวเอง 1 ปีที่ผ่านมาเลยหมดแล้วกับเอาหรือไม่เอาทักษิณ เหลือคำถามเดียว ตกลงสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไร อนาคตทางการเมืองจะเป็นอย่างไร พวกที่หนุนรัฐประหารยังสบายดีใช่ไหม



แม้จุฬาฯ เขาจะหนุนรัฐประหารกันหมด แต่ผมยังยืนยันว่า ผมไม่ใช่แกะดำ ผมเป็นแกะขาวในหมู่แกะดำที่คณะรัฐศาสตร์ ถ้าการเลือกตั้งกลับมา คำถามผมถึงพรรคพวกอาจารย์หรือพวกหนุนรัฐประหารที่เดินสายสร้างความชอบธรรมในต่างประเทศให้กับการรัฐประหาร ถ้าการเลือกตั้งกลับมา คนพวกนั้นจะสอนเรื่องการเลือกตั้งกับประชาธิปไตยอย่างไร เพราะครั้งหนึ่งคุณก็หนุนรัฐประหารในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นบางคนได้ประโยชน์จากการรัฐประหารรอบนี้



ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอีกมุมคือ วิกฤตของปัญญาชนไทย มีปัญหาตั้งแต่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ นิด้า เป็นยุคที่อับจนทางปัญญา เพราะไม่มีคำตอบต่ออนาคตในความใหม่ทางการเมืองไทยที่กำลังเผชิญ เหลือแต่กลับบ้านไปแล้วสวดมนต์อย่างเดียว จตุคามราคาก็เริ่มตกอีกแล้ว



1 ปีที่ผ่านมา เรียนรู้อะไร ถ้าเรายังมีสติอยู่จะตอบได้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น คำถามเหลืออย่างเดียว จะยอมให้เกิดไหม สังคมไทยพอใจจะอยู่กับการรัฐประหารไหม หรือถ้าคุณไม่เอาระบอบทักษิณ คุณพอใจที่จะอยู่กับระบอบทหารใช่ไหม ถ้าคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจจะอยู่กับระบอบทหาร แต่คนที่เหนือกับอีสานไม่เอาจะเกิดอะไรขึ้น การเมืองไทยจะเป็นการเมืองของการสุดขั้ว ซึ่งเราไม่เห็นปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ปี 2519 และมันจะกระทบกับสถาบันเบื้องสูงมากกว่าที่คิด อารมณ์ในเว็บไซต์วันนี้เป็นอะไรที่ใหญ่มาก ทั้งจริงไม่จริง กระทรวงไอซีทีก็กำลังล่าคนที่โพสต์อะไรบางอย่าง อนาคตจึงเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ของสังคมไทย ดีที่สุด วันนี้ต้องตั้งสติ ตกลงเราจะสร้างพิมพ์เขียวของสังคมไทยได้ไหม อาจารย์ชาญวิทย์พูดเมื่อครู่ว่า ต้องไม่ท้อ ผมคิดว่าการต่อสู้ของการเมืองไทยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพียงแต่เราไม่นึกว่าต้องมาสู้ในประเด็นที่เก่าแก่ที่สุด เราต้องตอบว่าจะทำการเมืองให้เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าไหม




ที่มา : ประชาไท วันที่ : 19/9/2550



โดย: Darksingha วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:12:45:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.