Group Blog
 
 
สิงหาคม 2550
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
10 สิงหาคม 2550
 
All Blogs
 

การศึกษาทางเลือก: สงครามกองโจรบนการเมืองความรู้

การศึกษาทางเลือก: สงครามกองโจรบนการเมืองความรู้ (ตอนที่ ๑)
จิรภักดิ์ จอมวิญญาณ์ : เขียน
หลักสูตรสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


นิทเช่ กล่าวไว้ว่า "Man alone in irrational world / มนุษย์ลำพังเท่านั้นที่อยู่ในโลกที่ไร้เหตุผล" (1) มนุษย์พยายามสร้างกรอบเหตุผลอธิบายสิ่งต่างๆ ขึ้นมา แต่สัจจะของสิ่งเหล่านั้นในตัวของมันเอง (truth in itself) เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถรู้ได้ ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและผลที่สัมพันธ์กันในธรรมชาติก็เป็นการสมมุติของมนุษย์ และต้องถือเป็นเพียงแนวความคิดหรือบัญญัติ (concepts) และเป็นเพียงการกำหนดกติกาในทางสมมุติขึ้น (conventional fictions) เพื่อใช้ในการบ่งบอกและสื่อสาร แต่หาใช่คำอธิบายไม่ เพราะ "ในตัวของมันเอง" ไม่มีการเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลอยู่...ไม่มีกฎเกณฑ์

เราเองต่างหากที่สร้างแนวความคิดเกี่ยวกับ เหตุ ผล ความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สัมพันธภาพ การกำหนด ตัวเลข กฎเกณฑ์ (2) จึงเกิดการสร้างความสอดคล้อง (correspondence) ระหว่างภาพตัวแทนกับวัตถุอย่าง "ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย" (correspondence theory of truth) (3) ขึ้น แต่กระนั้นโลกนี้เป็นของหลายเหลี่ยมหลายด้าน ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องตีความอย่างไม่รู้จบ (infinite interpretability) กับการมีอยู่ของตนและโลกเสมอมา

ความรู้ (knowledge) ถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มอำนาจการตีความในคำอธิบายปรากฏการณ์ของมนุษย์ นับจนถึงปัจจุบัน ความรู้ถูกสั่งสมพอกพูนและทับถมมากมายจนบางคนถึงกับเลิกสนใจที่จะพูดถึง (4) บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า "ความรู้คือขยะที่เพิ่มขึ้น และมันกำลังเพิ่มปริมาณโดยการทำให้รู้ว่ามันคือความรู้" (5) การที่ความรู้ขยายตัวอย่างไม่รู้จบ ทำให้เกิดอำนาจในการอธิบายความจริงตามความเข้าใจของมนุษย์ในหลากหลายมุมมอง เพื่อตอบรับกับการแสวงความจริงอันหลากหลายที่มนุษย์เผชิญอยู่

ความจริงที่มนุษย์รับรู้สัมพันธ์กับความรู้อย่างมีนัยยะ ความจริงในกรอบความคิดแบบ "หลังสมัยใหม่" มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจริงที่มาจาก "Mimesis"(การจำลอง) ที่แปลออกมาเป็น "Representation" หรือภาพตัวแทน อันทำงานโดยผ่านตัวกลางแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษา แต่เป็นความจริงในความหมายของนักปรัชญาเยอรมันอย่างมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) นั่นก็คือ "Aletheia" (6)(A) อันเป็นความจริงที่ไม่มีลักษณะที่ตายตัวหรือความพยายามที่จะแสวงหาคุณสมบัติที่ตายตัวโดยผ่านภาษา ภาษาที่อยู่ในฐานะภาพตัวแทนที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงมากกว่าที่จะเป็นการสร้างความจริง (construction) (7) ส่วนความรู้ที่เกิดขึ้นตามความเข้าใจของมนุษย์นั้นก็เป็นเรื่องของการสร้างและถูกผลิตขึ้นมากกว่าที่จะเป็นการค้นพบ (8)

การมุ่งสู่การผลิตความจริงนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการผลิตความรู้ของสังคมตะวันตก โดยความรู้เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นมาโดยอำนาจ (แต่ความรู้ไม่ใช่อำนาจ เพียงแต่อำนาจและความรู้เหล่านั้นอาจจะเรียกได้ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด) (9) และความรู้นั้นไม่มีสิ่งใดชัดแจ้งและชัดเจนในตัวของมันเอง (self - evidence) มีแต่ถูกทำให้ชัดแจ้งผ่านมาตรฐาน/กฎเกณฑ์/เงื่อนไขบางชนิด สรรพสิ่งในสังคมเป็นเรื่องของการสร้าง/สถาปนาขึ้นของวาทกรรม (the events of discourse; Foucault, 1972b: 27) (10) เช่นเดียวกับความจริง (truth) ของไฮเดกเกอร์ที่ผูกติดอยู่กับความเห็นหรือการตัดสินของบางสิ่งบางอย่าง (11)

ความจริงเป็นสิ่งที่มากไปกว่าการมีและเป็น Logos (B) การไปสู่พื้นฐานทางอภิปรัชญาที่เกิดขึ้นในงานที่ถูกจัดว่าเป็นความคิดหลังสมัยใหม่ (postmodernism) นั้นก็ไม่ใช่เป็นการกลับหัวกลับหางความคิดดั้งเดิม แต่เป็นการยืนยันความถูกต้องที่ "ผิดพลาด" ของกระแสความคิดทางประวัติศาสตร์ของอภิปรัชญาของปรัชญาตะวันตก ในการที่จะเลือกเอาเส้นทางของ Logos มาเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะเป็น Aletheia

การที่จะทำให้มีการเปิดถึงความจริงนั้น Aletheia เป็นสิ่งที่ปรากฏตัวออกมาในลักษณะแบบกระบวนการ ที่จะต้องมีอะไรร่วมกับสิ่งอื่นๆ มิได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่สูงสุดแบบพระเจ้าหรือองค์อธิปัตย์ การเป็นซับเจคแบบองค์อธิปัตย์ (sovereign subjects) ก็เป็นสภาวะที่ตัดขาดออกจากปฏิสัมพันธ์ ในขณะที่ Aletheia นั้นต้องการบุคคลอื่นเพื่อมาเสริมสร้างความรู้และความจริงที่จะเปิดเผยตัวเอง บทบาทของการสนทนาแลกเปลี่ยนจึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญสำหรับความจริง (13)

นิทเช่ถึงกับกล่าวว่า "ความจริงทั้งหลายคือมายาที่ถูกลืมว่าเป็นมายา" (Truths are illusions about which it has been forgotten that they are illusions ) (14) อาจสรุปได้ว่า ความรู้เป็นเรื่องของการสร้างความจริงของมนุษย์ และภาษาก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเข้าถึงความจริง และทั้งสองสัมพันธ์กันทางวาทกรรมบางอย่างที่ถูกสถาปนาขึ้นมา เพื่อสร้างและ/หรือรองรับอำนาจบางชนิดภายในสังคม

ความรู้หลีกเลี่ยงไม่ได้กับการที่จะต้องใช้ความรู้ เพราะการใช้ความรู้เป็นการปฏิบัติการที่เผยความรู้ชุดหนึ่งๆ ออกมา ความรู้จึงไม่เรียกว่าความรู้หากไม่ถูกนำไปปฏิบัติ นิทเชจึงวิจารณ์ท่าทีต่อความรู้ในแบบปฏิฐานนิยม (positivism) ตลอดจนการเชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่แยกขาดจากการใช้ความรู้ ว่าเป็นอาการของคนตาบอดสี (Nietzche, Op. Cit., p. 12.) เพราะความรู้ทุกรูปแบบมีจริยธรรม (morals) ของตนเองอยู่แล้ว คำถามแรกที่เราควรจะถามเกี่ยวกับความรู้จึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ความรู้นี้เอาไปใช้อะไรได้บ้าง แต่เป็นคำถามที่ว่า ความรู้ (หรือผู้รู้) นี้มุ่งหมายที่จริยธรรมแบบไหน (15)

การเลือกเอา "ความรู้หนึ่งเข้ามา" ก็หมายถึงการ "กันอีกความรู้หนึ่ง" ออกไป. การเลือกเกิดสภาวะกีดกันทำให้อีกความรู้หนึ่งมีสภาพ "เป็นอื่น" การเลือกเอาหรือไม่เลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้มนุษย์ตกอยู่ในสภาพต้องมีความสามารถในการเลือก และการเลือกที่ดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งมีปริมาณหรือแนวทางเลือกมากเท่าไร การจะตัดสินใจบนข้อมูลท่วมหัวจึงไม่ต่างอะไรกับการไม่มีทางเลือก ความสามารถในการเลือกความรู้ในเชิงคุณภาพจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่เราก็ไม่สามารถเลือกในสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา เสรีภาพในการแสวงหาทางเลือกจึงมีขอบเขต เป็นขอบเขตที่เรามีส่วนในการกำหนด สิ่งที่เราเลือกมีสภาพที่เรามีส่วนร่วม และสิ่งที่เราไม่เลือก เราก็มีส่วนในการตัดสินเช่นกัน แต่กระนั้น สิ่งที่เราไม่ได้เลือก ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นจะไม่มีอยู่หรือถูกทำลายลง แต่เราเลือกที่จะไม่มอง และยังสร้างอำนาจบางอย่างกดทับหรืออำพรางมันจากการตัดสินใจของเรา การมีจริยธรรมในการเลือกหรือไม่เลือกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่เพียงว่าความรู้นั้นบอกอะไรแก่เรา แต่อยู่ที่เบื้องหลังทางจริยธรรมและความต้องการเถลิงอำนาจที่สร้างความรู้นั้นขึ้น การสืบรากเหง้าหรือลำดับความเป็นมาของความรู้ เพื่อให้ตระหนักถึงอำนาจและจริยธรรมที่แฝงเร้นอยู่นี้เป็นวิธีการซึ่งนิทเช่ใช้คำว่า "วงศาวิทยา หรือ การสืบสาววงศ์วาน (genealogy)" (16)(C)

แต่ในยุคสมัยใหม่ (modern) ระบบที่เกิดขึ้นนี้เป็นการกระทำระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์ยังตกเป็นเครื่องมือของวาทกรรมในการสร้างตัวมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์รับอำนาจของวาทกรรมแล้วนำกฎเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ที่วาทกรรมสร้างไปกำหนดมนุษย์ด้วยกันเองให้มีแบบแผน พฤติกรรม และความเป็นมนุษย์ในกรอบที่วาทกรรมอนุญาต. มนุษย์ปฏิบัติต่อมนุษย์คนอื่นราวกับเป็นผู้อยู่ใต้บังคับของตน (Hoy, 1986) (17) ระบบของการศึกษาแบบตะวันตกสมัยใหม่ จึงมุ่งผลิตความรู้ที่นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของระบบโดยรวม ซึ่งมุ่งไปยังเป้าหมายของความจริงที่ตายตัวและเป็นหนึ่งเดียวที่เป็นนามธรรม

แต่สิ่งนี้ขัดกับปรัชญาพื้นฐานของยิว-คริสเตียน ที่ให้ความสำคัญแก่เจตนารมณ์เสรี (free-will) (18) ดังนั้นระบบจึงจำต้องสร้าง "ทางเลือก" แต่อย่างไรก็ตามการเลือกหรือไม่เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ต่างมีจุดหมายเพื่อเข้าไปหาความจริงอย่างเดียวกัน นั่นคือเป้าหมายยังคงมีความสำคัญในการค้นหาความจริง และการแสวงหาความจริงภายใต้กรอบของ Mimesis ที่มุ่งแสวงหา "ความจริงที่ตายตัว" และมี "ความเป็นหนึ่งเดียว" ในแง่นี้ทำให้สถานะของความจริงกลายเป็นข้อจำกัดและในขณะเดียวกันกระบวนการแสวงหา "ความจริงที่ตายตัว" กลายเป็น "กรงขัง" ผู้ศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินตามเส้นทางของระเบียบวิธีวิจัยที่ตายตัว ซึ่งก็เป็นไปเพื่อการแสวงหา "ความจริงที่ตายตัว" ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง …การไม่ยึดมั่นอยู่ใน "ความจริงที่ตายตัว" นี้เองกลับก่อให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมกับผู้ศึกษา เพราะในที่สุดแล้วกลับทำให้ไม่มี "จริยธรรม" (19)

…การไม่สามารถที่จะเลือกได้กลับทำให้นักวิชาการไม่สามารถที่จะสร้าง "จริยธรรม" ในการกระทำดังกล่าวได้ (20) …อย่างไรก็ตามการจะมีจริยธรรมได้ จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นจากการได้มีทางเลือกและเสรีภาพ สถานะของความจริงที่ตายตัวทำให้นักวิชาการอยู่นอกเหนือจริยธรรม ดังนั้นการนำเสนอ "ความจริงที่ตายตัว" ของนักวิชาการจึงไม่ได้อยู่ในการเลือกของจริยธรรม แต่เป็นเรื่องของ "หน้าที่" ที่ต้องมุ่งมั่นไปสู่ความจริงแบบหนึ่งเสียมากกว่า ถ้าจะกล่าวง่าย ๆ ก็คือ การมีจริยธรรมจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีทางเลือก และทางเลือกในความจริงที่หลากหลายจึงทำให้เกิดการมีจริยธรรม (21)

ดังนั้นการให้ความรู้แบบทางเลือกจึงไม่ควรมุ่งไปยังจุดหมายหรือความจริงที่ตายตัว แต่ควรเสนอทางเลือกในฐานะการสร้างความรู้ เพื่อมุ่งไปสู่อาณาเขตทางจริยธรรมภายใต้ความจริงอันหลากหลาย และความจริงที่สร้างขึ้นมานั้น เป็นความพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า ความเป็นวัตถุวิสัยเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของความเป็นวัตถุวิสัยได้อย่างแท้จริง เพราะถูกเคลือบแฝงด้วยความคิดที่มีเป้าหมายในทางการเมือง (22) ความรู้แบบทางเลือกจึง "เลือก" ที่จะมุ่งไปยังด้านการเมืองของความรู้ (politics of knowledge) ที่จะทำให้เกิดการสร้างจริยธรรมของคนในสังคม มากกว่าที่จะพยายามสร้างองค์รวมทางความรู้ขึ้นมา

การศึกษาก็คือการสร้าง "วินัย (discipline)" ที่เหมาะสมแก่สมาชิกรุ่นต่อไป เพื่อให้เข้าไปสู่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจต่างๆ โดยมีแขนงวิชา (discipline) เป็นตัวกำกับ วาทกรรมจึงเกี่ยวข้องกับการจัดจองทางสังคม (social appropriation) ในรูปใดรูปหนึ่งหรือในแวดวงใดแวดวงหนึ่งเสมอ (23) แต่กระนั้น การศึกษาไม่ได้เผยถึงจริยธรรมที่ซ่อนอยู่ใต้วินัยหรือวิชาหนึ่งๆ วาทกรรมทางการศึกษาถูกเชื่อมโยงกับอำนาจบางอย่างที่ควบคุม และทำให้วาทกรรมการศึกษามีระเบียบและเป็นระบบขึ้นมา ซึ่งขัดแย้งกับสภาพแสวงหาของมนุษย์ ที่ต้องพยายามดิ้นรนกับความเป็นระบบนี้อยู่ตลอดเวลา

ด้วยอิทธิพลแนวความคิดแบบนิทซเชียน (Nietzchean) ฟูโกต์จึงกล่าวย้ำว่า "สิ่งที่เรามุ่งหมายก็คือ การขบถของความรู้ที่โดยพื้นฐานไม่ได้ต่อต้านสาระ วิธีการ หรือแนวความคิดของวศาสตร์แขนงต่างๆ แต่ต่อต้านผลการรวมศูนย์อำนาจ ที่เชื่อมโยงกับการสถาปนาตัวและการทำงานของวาทกรรมศาสตร์หนึ่ง ๆ ในสังคมแบบของเรา...การสืบสาววงศ์วานจะต้องต่อสู้กับผลที่เกิดจากอำนาจของวาทกรรมหนึ่งๆ ซึ่งถือกันว่าเป็นศาสตร์" (Ibid., p. 84.) (24) "เจตนา" (will) ของฟูโกต์จึงอยู่ที่…

"การกระตุ้นเร้าให้ความรู้ท้องถิ่นกลับกระเตื้องขึ้นอีกครั้ง... โดยอยู่ตรงกันข้ามกับการจัดลำดับสูงต่ำของความรู้โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ (scientific hierachisation) ตลอดจนผลที่แฝงเร้นอยู่ในอำนาจของมัน" (Ibid., p. 85.) (24) การกลับมาของความรู้ที่ถูกกดทับ ปิดบังไว้ จะต้องมีลักษณะเป็นความรู้เชิงสัมพัทธ์ (relative knowledge) ที่ไม่มีการสร้างคู่ตรงข้าม (dichotomy) กับความรู้ที่มีอยู่เดิมและเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของความรู้ในแนวราบ (horizontal knowledge) ขจัดซึ่งอำนาจแฝงมากกว่าความรู้แบบเชิงลึกที่มีลำดับขั้นและอำนาจซ่อนตัวอยู่ โดยหวังจะทำให้มนุษย์มีโอกาสในการเข้าถึงความรู้แบบต่างๆ มากขึ้น

ความรู้แบบทางเลือกจึงต้องการความหลากหลาย มากกว่าความเป็นกระแสหลักทางความรู้. แต่อำนาจไม่ชอบความหลากหลาย อยากควบคุมให้สรรพสิ่งเหมือนกันหมด (26) ระบบการศึกษาที่เชื่อมโยงกับวาทกรรมการใช้อำนาจบางอย่าง ตำแหน่งการหาความรู้แบบทางเลือกเชิงคุณภาพจึงไม่ใช่การกระโดดออกจากวงวาทกรรมทางการศึกษา เพื่อให้เกิดแรงผลักดันจากภายนอก (external reinforcements) ในแง่นี้การแสวงหาความรู้แบบทางเลือก จึงไม่ได้เกิดจากคนที่มีความรู้ถอนตัวออกไปจากระบบการศึกษาแล้วจึงเกิดทางเลือกในการเรียนรู้ และความรู้แบบทางเลือกนั้นก็ไม่ได้เกิดจากคนที่ไม่มีความรู้ แต่เกิดขึ้นจากคนที่มีความรู้และเห็นว่าความรู้ที่มีอยู่นั้นจำกัด และแฝงไปด้วยลำดับขั้นของอำนาจ ไม่ก่อให้เกิดการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ได้ จึงจำต้องหาทิศทางใหม่ๆ ให้กับความรู้ และก็จะพบว่าความรู้แบบทางเลือกที่ถูกใช้โดยปฏิบัติการผ่านภาษานั้น ก็เป็นภาษาหรือความรู้ชุดเดียวกันกับที่มีอยู่ในระบบการศึกษานั่นเอง

ถึงที่สุดแล้ว ความรู้ไม่ว่าจะเป็นกระแสหลักหรือทางเลือก ก็เกิดขึ้นจากการคัดเลือก และถูกสถาปนาตัวตนของมันจากคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในวาทกรรมทางความรู้หนึ่งๆ อยู่ร่ำไป. ความรู้และอำนาจจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกในการสร้างความจริงทางสังคมบางอย่างขึ้นมา

การที่จะต้องมีความรู้แบบทางเลือก เป็นการแสดงออกที่มีต่อระบบการศึกษากระแสหลักของบุคคลภายในวงการการศึกษา เป็นแนวทางการต่อต้านแบบใหม่ ดังที่ ใจ อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า "เราควรจะอยู่ในระบบ แล้วก็ใช้พลังของผู้ผลิตรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับระบบ อันนี้เป็นแนวทางที่ให้เลือกอย่างชัดเจน" (27) และการปลดปล่อยความรู้ที่ถูกกดทับไว้ อาจจะกล่าวได้ว่าต้องให้อำนาจทางความรู้ที่ถูกอำพราง "ดัง" ขึ้น และยอมรับความรู้ทางเลือกแบบนี้โดยการไม่คิดว่ามันเป็น "ความรู้ที่เป็นอื่น", "ความรู้ข้างน้อย", หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดคือ การที่ไม่ยอมรับว่ามี "ความรู้ทางเลือก" โดยการเรียกมันว่า "ความรู้" เฉยๆ และมันก็คือวาทกรรมที่ต่อต้านอำนาจ เป็นวาทกรรมต้าน (counter-discourse) (28) ทางความรู้

การต่อต้านระบบการศึกษา ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวเพื่อขจัดการครอบงำของสิ่งที่เรียกว่าลำดับชั้นของความรู้. อันที่จริง มีหลากหลายแนวทางที่เราจะสามารถต่อต้านระบบการศึกษากระแสหลัก (29) แต่การต่อต้านจำนวนมาก กลับมีสถาบันหรือโครงการหลักที่ไม่นำไปสู่ระบบการศึกษาที่ปราศจากชนชั้น แต่กลายมาเป็นระบบการศึกษาที่ถูกจัดเป็นระบบโดยคนอีกกลุ่มหนึ่ง กลายเกิดเป็นภาวะที่เฮเกล (Hegel) เรียกว่า "วิภาษวิธี" หรือ "ปฏิพัฒนาการ" (dialectic) (30) อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การทำลายระบบเพื่อให้การศึกษาหรือความรู้ที่ปราศจากชนชั้นจึงไม่เกิดขึ้นจริง เราต้องพยายามที่จะหยุดหรือสร้างจุดจบให้แก่วิภาษวิธีหรือปฏิพัฒนาการ (end of dialectic) (31) นี้ให้ได้ การเคลื่อนไหวนี้จึงมีลักษณะที่เป็น "ภาวะที่ถูกทอดทิ้ง" (desertion) เรื่องวิธีการ กล่าวคือให้มีเครือข่ายหลวมๆ กระจัดกระจาย ปฏิเสธการสร้างพรรค (32) อันมีลักษณะเป็นระบบองค์กร (organism) และไม่มีลักษณะการเจรจาต่อรอง (negotiation) ซึ่งประเด็นดังกล่าวนำไปสู่สิ่งที่หนังสือ "Empire" เรียกว่า "post-modern republicanism" (33) หรือ "สาธารณรัฐนิยมหลังสมัยใหม่" และหากจะปรับปรุงแนวทางนี้ให้เข้ากับระบบการศึกษาก็คือ การสร้าง "สังคมสาธารณะทางความรู้หลังสมัยใหม่" ขึ้นมานั่นเอง

โดยประยุกต์จากขบวนการสังคมใหม่ (new social movement) ก็คือยุทธวิธีที่ว่า แทนที่เราจะ "ถอนตัว" ออกเพื่อปฏิเสธและต่อต้านระบบการศึกษา โดยแสดงตัวเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่กลับสร้างสิ่งที่เรียกว่า "ความรู้ที่เป็นอื่น" (otherness knowledge) ขึ้นมา นิตเช่เรียกการกลับค่า (transvalue) และ "เอาคืน" ในรูปแบบทางจินตนาการ (imaginary revenge) นี้ว่า ความขุ่นเคืองใจหรือ "ressentiment" (34)

เราควรจะมองระบบการศึกษากระแสหลักในฐานะที่จำเป็นจะต้องมีอยู่เพื่อเป็น "แอกทางความรู้" ที่มนุษย์ต้องอาศัยมันเพื่อสร้างคุณค่าในตัวของมนุษย์ (self-creation) ขึ้นมา เพราะ หากปราศจาก "แอก" เหล่านั้นแล้ว มนุษย์ก็อาจไม่มีค่า" ซึ่งตัวของฟูโกต์ก็ดูจะเห็นด้วยกับเฮเกลในจุดนี้ (35) ฉะนั้นในประเด็นการมีอยู่ของตัวโรงเรียนยังคงมีความจำเป็นในสังคม จึงไม่ต้องถึงขนาดที่จะประกาศว่าเป็น "Deschooling Society" (36) (สังคมที่ปราศจากโรงเรียน) อย่างที่ไอวาน อิลลิช (Ivan Illich) ปรารถนาแต่อย่างใด แต่สอดคล้องกับแนวความคิดของ อดัม เคิล (Adam Curle) มากกว่าที่เห็นว่า การมีอยู่สถาบันทางการศึกษายังเป็นสิ่งจำเป็น ที่มนุษย์จะรวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อการเรียนรู้ (37)

การยอมรับในการมีอยู่ของระบบการศึกษาหรือความรู้กระแสหลัก มิใช่เหตุผลในการที่ความรู้แบบทางเลือกจะร่วมมือ และยอมถูกกลืนไปกับระบบการศึกษาที่มีอยู่ก่อนแต่อย่างใด เพราะถึงแม้จะยอมรับ แต่ก็เป็นไปในลักษณะที่คอร์เนล เวสต์ (Cornel West) กล่าวไว้ว่า "การเข้าใจไม่ใช่เงื่อนไขของความร่วมมือ" (comprehension is not requisite for cooperation).(38) หมายถึงแม้จะยอมรับให้มีการศึกษากระแสหลัก แต่การแสวงหาความรู้แบบทางเลือกก็ไม่จำเป็นต้องเข้าหรือไม่เข้าไปช่วยเหลือหรือส่งเสริมการศึกษากระแสหลักแต่อย่างใด ความรู้แบบอื่นพอใจที่จะสู้แบบ "สงครามกองโจร" (guerrilla warfare) และผลิตสร้างอัตลักษณ์เสมือน (virtual identities) ของตนขึ้นมา (39) เป็นการสร้างวาทกรรมชุดใหม่ เพื่อต่อรองแบบไม่เจรจาในการสร้างอำนาจในการอธิบายและเหตุผลทางด้านการเมืองของความรู้ ที่ทั้งสองต่างต้องต่อรองเชิงพื้นที่ทางความรู้ของตนในวาทกรรมการศึกษาอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

ธเนศ วงศ์ยานนาวา กล่าวว่า ในสภาวะสมัยใหม่ (modernity) ความจริงที่ถูกนำเสนอโดยวิชาการต่างๆ ยังถูกเคลือบแฝงด้วยสิ่งไม่บริสุทธิ์ทั้งหลาย กระบวนการที่เกิดขึ้นที่มักจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นสภาวะหลังสมัยใหม่ จึงมีเป้าหมายที่จะชำระล้างให้ความรู้ในสภาวะสมัยใหม่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น นี่เป็นสภาวะสมัยใหม่ที่หนักแน่นมาก (hypermodernity) ขึ้นไปกว่าสภาวะสมัยใหม่แบบเดิม "ความจริง" กรอบความคิดของสภาวะสมัยใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องของการค้นพบ (discovery) แต่กลับเป็นการถูกสร้างขึ้น (40) และการนำเสนอความคิดของวิชา (discipline) ที่ดำเนินอยู่ภายใต้อิทธิพลของหลังสมัยใหม่ (postmodern) ก็ใช่ว่าจะเป็นการปฏิเสธความจริงแต่อย่างใด เป้าหมายที่ยังคงดำรงอยู่ต่อไปก็คือ ความจริง เช่น ความจริงที่ได้จากความรู้เกี่ยวกับตนเอง (self-knowledge) (41)

ความสามารถของครูในการศึกษาทางเลือกก็คือ ทำตัวเป็นผู้ประสานให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ครูไม่ใช่คน "บอก" หนังสือแต่เพียงอย่างเดียว การศึกษาทางเลือกอยู่ในการเรียนรู้ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตประจำวัน นิธิจึงสรุปว่า "เด็กไทยอยู่ในการศึกษาทางเลือกทุกคน แต่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียนทุกคน" (42), …การเรียนรู้จึงอยู่ในทักษะการใช้ชีวิตของเราตลอดเวลา และ "ทุกคนภายในสังคมจะต้องทำให้เป็น "ครู" แก่กันและกันทั่วหน้า ทั้งที่เป็นดอกเตอร์และที่อ่านหนังสือไม่ออก" (43)

จากความเห็นของนิธิ อาจจะกล่าวได้ว่า การศึกษาทางเลือกนั้นอยู่มาก่อนที่จะมีระบบการศึกษาของชาติเสียอีก ผ่านการทำมาหากิน การละเล่น กิจกรรม หรือพิธีกรรมต่างๆในสังคม เวลามีงานการในบ้านเกี่ยวกับวิถีชีวิต มีเรื่องเกิด แต่งงาน และตาย เป็นต้น ก็มีพิธีทำขวัญหรือสวดมนต์เลี้ยงพระอยู่แทบทุกประเพณี นอกจากนั้นยังมีประเพณีอันเนื่องด้วยเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษ สารท เด็ก ๆ ไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีโอกาสได้ดูรู้เห็นเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอ เท่ากับเป็นการศึกษาอยู่ในตัว (44) แต่ในขณะนั้นยังไม่มีการเรียกในชื่อว่า "การศึกษาทางเลือก" เพราะคำนี้มาตามหลังที่มีระบบการศึกษา แต่ความหมายของมันดำรงตนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคนอยู่ก่อนแล้ว

หากมองมันในแง่การให้คำจำกัดความ ระบบการศึกษาผลิตคำว่า "การศึกษากระแสหลัก" และผลิตการศึกษา "กระแสอื่น" ว่าการศึกษาทางเลือก อาจจะมองได้ว่าเป็นเรื่องของอำนาจการผลิตคำและการให้นิยามความหมายจากระบบ ทำให้การศึกษาที่มีอยู่ก่อนในชีวิตประจำวัน ต้องกลายเป็น "ทางเลือก" ไป

ดังนั้น จุดมุ่งหมายหนึ่งของการศึกษาทางเลือกก็คือ การพยายามเปิดเผย (unfold) บางสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ให้ปรากฏออกมาจากการศึกษากระแสหลัก บางสิ่งที่การศึกษากระแสหลักปกปิด ซ่อน หรืออำพรางและไม่ให้แสดงตัวออกมา ฟูโกต์ใช้คำว่า "subjugated knowledge"(D) ก็คือการนำสิ่งที่พลาโตเรียกว่า "การนำเข้ามาปรากฎ" (bringing - "poiesis")(E) ปรากฏการณ์ที่ว่าเป็นการเปิดเผย (revealing - "aletheia") สิ่งที่เรียกว่า "ความจริง" (truth) นั่นเอง

การศึกษากระแสหลักที่ใช้ทฤษฎีความรู้ (epistemology) เป็นภาพตัวแทน (representation) ของความจริงเป็นตัวตั้ง และไม่เลือกที่ใช้ "aletheia" อันเป็นสิ่งที่ปรากฏตัวออกมาในลักษณะแบบกระบวนการ ที่ต้องการความเป็นอื่นเพื่อมาเสริมสร้างความรู้และความจริงที่จะเปิดเผยตัวเอง แสดงบทบาทของการสนทนาแลกเปลี่ยนอันเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญสำหรับความจริง (45) อันหลากหลายและถูกสร้างขึ้นมา ด้วยความหวังแบบการศึกษากระแสหลัก ที่ให้มี "ความจริง" ขึ้นมาจึงเป็นจุดมุ่งหมาย (goal - talos) ของระบบการศึกษาไทย ก็ยังคงไว้ซึ่งความหวังตามแบบสมัยใหม่ ที่ดำเนินรอยตามแบบ "mimesis" อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

การถกเถียงเรื่องอำนาจในพื้นที่ทางการเมืองของการความรู้เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับอำนาจที่เปลี่ยนมือกันไปมาในการมุมมองทางด้านการพยายามสร้าง "ความจริงของความรู้" ของตนขึ้นมา มากกว่าที่จะมุ่งไปยังสิ่งที่โสกราตีส (Socrates) เรียกว่า "จงรู้จักตัวท่านเอง" (know thyself) แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการทำให้ตัวเองกลายเป็นวัตถุสำหรับการศึกษาตัวเองตามคำของโสกราตีสนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะทำเช่นกัน (46) แต่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องพยายามไปให้ถึงตามแบบสมัยใหม่ (modernity) แม้จะอยู่อาศัยในช่วงหลังสมัยใหม่ (postmodern) ก็ตาม (47)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++



เชิงอรรถ

(1) Nietzsche : The Pedestal of Postmodern Thinking นิทเช่ : ในฐานะรากฐานแนวคิดปรัชญาหลังสมัยใหม่ บรรยายโดย Hans de Crop ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 19 กันยายน 2544 / เวลา 17.00 - 19.00 น. บรรยายที่ห้อง 1307 คณะวิจิตรศิลป์ มช. / กระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(2) วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 78.

(3) ทฤษฎีความจริงแบบสมนัย (correspondence theory of truth) ทฤษฎีที่ถือว่า ความจริงคือความตรงกันระหว่างข้อความกับข้อเท็จจริง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 23) อันทำให้เกิดภาพตัวแทน (representation) ที่สร้างความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งขึ้นมา.

(4) อย่างเช่นริชาร์ด รอร์ตี (Richard Rorty) ในหนังสือที่ชื่อ (1979) Philosophy and the Mirror of Nature. New Jersey : Princeton University Press. โดยที่แนวคิดหลักของหนังสือเล่มนี้เกี่ยวข้องกับปรัชญา ที่มุ่งเป้าไปยังตัวทฤษฎีความรู้ (epistemology) ที่ผู้เขียนเสนอว่าเราควรที่จะเลิกให้ความสนใจกับทฤษฎีความรู้ ตัวของปรัชญาได้เดินทางมาถึงจุดจบของมันแล้ว เพราะเนื่องจากทฤษฎีความรู้ ซึ่งถือเป็นแก่นหรือศูนย์กลางของปรัชญาที่ผ่านมา มันไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนมั่นคงแก่มนุษย์ได้เลย แถมยังให้ความหวังกับผู้ที่สมาทานในแบบลม ๆ แล้ง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการอ้างอิงถึงความจริง และความรู้ในฐานะที่มันคือภาพตัวแทนของความจริง (representation) (Rorty : 1979 : 374-376) อ้างใน พิศาล มุกดารัศมี, (2546). Richard Rorty : "เรื่องของใหญ่ๆ ไม่ แต่เล็กๆ ทำ" : การปฏิเสธความมีเหตุมีผลทางการเมืองสู่การเมืองแห่งความเข้าอกเข้าใจ. รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉบับที่ 3. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพ : หน้า 112.

(5) Adrian Gargett , แปลและเรียบเรียงโดย นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ . Deprogramming the Body. 2002 in //www.ctheory.com

(6) เปลโต (Plato) กล่าวว่าการนำเข้ามาปรากฎ (presence) ขึ้นเพื่อมีอยู่หรือ "poiesis" (bringing-forth) (Heidegger, 1997: 9-10. อ้างใน เทพทวี โชควศิน, (2546). หน้า 19.) และการนำเข้ามา ปรากฏทำให้สิ่งที่เคยถูกปกปิดมาปรากฎ เป็นการเปิดโอกาส ให้สิ่งหนึ่งปรากฏขึ้นเพื่อมีอยู่ ส่วนการนำเข้ามาปรากฎทำให้สิ่งที่เคยถูกปกปิดมาปรากฎโดยไม่ปกปิดอีกต่อไป ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าการเปิดเผย (revealing, aletheia) ซึ่งก็คือความจริง (truth) นั่นเอง (เทพทวี โชควศิน, (2546). ทรรศนะของมาร์ตินไฮเดกเกอร์ที่มีต่อเทคโนโลยี และการตีความในด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อโลกธรรมชาติ. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปีที่ 3 ฉบับที่ 7 : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต: ปทุมธานี. หน้า 20.)

(7) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: "จริยธรรม" ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง . รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉ.3 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : น. 159.

(8) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน: น. 161.
(9) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2530). บทส่งท้าย. ตรรกะของการกดบังคับ: ฟูโกและเฟมินิส. รัฐศาสตร์สาร ฉบับพิเศษ ครบรอบ 12 ปี. น. 171.
(10) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, วาทกรรมกับการพัฒนา. (2538) วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 2. น.22.
(11) "…, one defines "truth" as something that 'really' pertains to judgment,… " (Heidegger, 1962: 33/57.)

(12) Logos มีความหมายอันหลากหลายตามแต่การตีความ เช่น "reason", "judgment", "concept", "definition", "ground" หรือ "relationship" ดู "concept of logos" ของไฮเดกเกอร์ที่ (Heidegger, 1962: 32/55.)

(13) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: "จริยธรรม" ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง . รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉ.3 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : น. 160.

(14) Nietzsche,(1873). On Truth and Lying in an Extra Moral Sense.4. p. 250, อ้างใน อู่ทอง โฆวินทะ , (2544) . ความปราดเปรื่องของสัตว์ที่พูดได้: นิทเช่กับกำเนิดของภาษา. วารสารภาษาและภาษาศาสตร์ปีที่ 19 ฉบับที่ 2. ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ: น. 59.

(15) วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 78.

(16) วีระ สมบูรณ์,เรื่องเดียวกัน:หน้า 79. ดูคำอธิบายเรื่อง "วงศาวิทยา" ได้ใน ธงชัย วินิจจะกูล, (2534). รายงานโครงการวิจัยเสริมหลักสูตร เรื่องวิธี การศึกษาประวัติศาสตร์แบบวงศาวิทยา (genealogy). (กระดาษอัดสำเนา). คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ.

(17) อรวรรณ ปิลันธน์โอวาท, กรอบวาทกรรมวิเคราะห์และกรณีศึกษาไทย. วารสารนิเทศศาสตร์. ปีที่ 21 ฉบับที่ 1 (2546). คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: น.4.

(18) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 179.
(19) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 179.

(20) สำหรับ Foucault การค้นพบความจริง การได้บรรลุถึงความจริงที่ให้ความกระจ่างและการพูดถึงความจริงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตัวตน และการเปลี่ยนแปลงตนเอง Michel Foucault, "Sexuality and Solitude", in Michel Foucault : Ethic, Subjectivity, and Truth : Essential Works of Foucault, Vol. 1. ed. By Paul Rabinow, translated by Robert Hurley and Others, (New York : The New Press, 2000), p. 178. อ้างใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 180.

(21) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 180.
(22) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 164.

(23) Michel Foucault. The Archaeology of Knowledge and The Discourse on Language (New York : Pantheon Book, 1972. p. 227.) อ้างใน วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 81.

(24) (Ibid., p. 84.) อ้างใน วีระ สมบูรณ์, ความไม่รู้ไร้พรมแดน (2541). มูลนิธิโกมลคีมทอง. กรุงเทพฯ:หน้า 84.
(25) (Ibid., p. 85.) อ้างใน วีระ สมบูรณ์, เรื่องเดียวกัน.หน้า 84.

(26) น.พ. ประเวศ วะสี, ความคิดนอกกระแส : ทางเลือกของสังคมไทย.กองสาราณียกร เรียบเรียง.ปาจารยสาร ฉ. 2 ปีที่ 30
พย. 46 - กพ. 47. หน้า 38.
(27) ใจ อึ้งภากรณ์, (2546).วิพากษ์จักรวรรดิ (นิยม) ใหม่ : คุยเรื่องหนังสือ Empire ว่าด้วยจักรวรรดิในมุมมองใหม่และการลุกขึ้นสู้ในยุคโลกาภิวัตน์. วารสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4. ฟ้าเดียวกัน. กรุงเทพฯ. หน้า 82.

(28) สายพิณ ศุพุทธมงคล, 2543. คุณลักษณะอำนาจและการต่อต้านขัดขืน. พิมพ์ครั้งที่ 1.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ. หน้า 3-5.

(29) จากงานวิจัย "โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก : ฐานข้อมูลและการวิเคราะห์" โดยสุชาดา จักรพิสุทธิ์ และคณะ ได้พบว่า กลุ่มหรือชุมชนที่รวมตัวกัน โดยเจตนา (Intentional Community) ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน นั้น มีถึงกว่า 60,000 กลุ่ม/ชุมชน โปรดดูรายละเอียดในบทความของสุชาดาเรื่อง - ชุมชนกับการมีส่วนร่วมจัดการศึกษา //midnightuniv.org/midnight2545/document9562.html,- ทำไมต้อง...สื่อทางเลือก //midnightuniv.org/midnight2545/newpage17.html ,- บทสัมภาษณ์ : โครงการวิจัยการศึกษาทางเลือก //midnightuniv.org/midfrontpage/newpage12.html,- อำนาจและพลังสร้างสรรค์ของหลักสูตรท้องถิ่น //midnightuniv.org/midnight2545/document9662.html

(30) "dialectic" ราชบัณฑิตยสถานแปลได้ว่า "วิภาษวิธี" หรือ "ปฏิพัฒนาการ" จากพื้นฐานปรัชญาของเฮเกลที่ว่า ความเป็นจริงมีแต่จิตสัมบูรณ์ (absolute mind) ดวงเดียว ซึ่งไม่มีวันอยู่นิ่งแต่ต้องพัฒนาไปโดยมีการขัดแย้งภายในตัวเองเรื่อยไปเป็น 3 ภาวะคือ ภาวะพื้นฐาน (thesis) ภาวะแย้ง (antithesis) และภาวะสังเคราะห์ (synthesis) ที่เรียกว่า ปฎิพัฒนาการก็เพราะต้องพัฒนาโดยการขัดแย้ง เมื่อถึงภาวะสังเคราะห์ได้ครั้งหนึ่ง จิตจะก้าวหน้าไปขั้นหนึ่ง ซึ่งก็จะเป็นภาวะพื้นฐาน(thesis)ของขั้นต่อไปในทันที และจะปฎิพัฒนาไปเช่นนี้ เรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (ราชบัณฑิตยสถาน, 2540: 27.)

(31) เป็นคำที่พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ใช้ ในพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, วิพากษ์จักรวรรดิ (นิยม) ใหม่ : คุยเรื่องหนังสือ Empire ว่าด้วยจักรวรรดิในมุมมองใหม่และการลุกขึ้นสู้ในยุคโลกาภิวัตน์. วารสาร ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4. 2546. ฟ้าเดียวกัน. กรุงเทพฯ. หน้า 63.

(32) ใจ อึ้งภากรณ์, เรื่องเดียวกัน. หน้า 70.
(33) พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ,เรื่องเดียวกัน. หน้า 80.

(34) ในหนังสือของนิทซ์เช่ที่ชื่อ "On the Genealogy of Morals" (1969) หน้า 36-37 กล่าวในประเด็นนี้ว่า "การปฏิวัติของทาสในทางศีลธรรม (the slave revolt in morality) เริ่มขึ้นเมื่อความขุ่นเคืองใจ (ressentiment) กลับกลายตัวเองเป็นการสร้างสรรค์และให้กำเนิดคุณค่า (… itself becomes creative and gives birth to values) นั่นคือ ความขุ่นเคืองของธรรมชาติที่ปฏิเสธการตอบโต้ที่แท้จริงออกมาเป็นการกระทำ, และชดเชยตนเองด้วยการแก้แค้นทางความคิด.

ในขณะที่ศีลธรรมแบบนายทุกชนิด พัฒนามาจากการยืนยันตนเองอย่างชื่นชมยินดีนั้น ศีลธรรมแบบทาสกลับเริ่มต้นด้วยการพูดว่า "ไม่" (No) ต่อสิ่ง "ภายนอก"(outside), ต่อสิ่งที่ "แปลกออกไป"(different), ต่อสิ่งที่ "ไม่ใช่ตัวเอง" (not itself); และคำว่า "ไม่" นี้เอง เป็นการกระทำที่สร้างสรรค์ของมัน.

การกลับตาลปัตรแนวทางการมองคุณค่า ด้วยความต้องการที่จะมองออกไปภายนอก แทนที่จะมองดูตนเองเช่นนี้ ก็คือสารัตถะของความขุ่นเคือง (the essence of ressentiment): นั่นคือ เพื่อที่จะดำรงอยู่ได้, ศีลธรรมแบบทาสมักจะต้องการความชิงชังต่อโลกภายนอกเป็นอันดับแรก; ซึ่งถ้าพูดตามแบบกายภาพแล้ว, มันต้องการสิ่งกระตุ้นจากภายนอกเพื่อที่จะทำการใดๆ ได้. การกระทำของมัน โดยพื้นฐานก็คือ การตอบสนองการกระทำ (reaction) " อ้างใน วนิดา คุตตวัส, (2523).ความสัมพันธ์ระหว่างทรรศนะเรื่องนิจวัฎกับการวิจารณ์จริยศาสตร์ของนิทซ์เช่. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาปรัชญา. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: หน้า 53.

(35) ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, คอลัมน์วิจารณ์หนังสือ. วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉ. 2 มิ.ย. 2525 กรุงเทพ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์. หน้า 181.

(36) อีวาน อิลลิช, ที่นี่ไม่มีโรงเรียน, (2543). สันต์ สิงหภักดี และ สันติสุข โสภณสิริ แปล. พิมพ์ครั้งที่ 2 . สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. เรือนแก้วการพิมพ์. กรุงเทพฯ.

(37) อดัม เคิล, การศึกษาเพื่อความเป็นไท. (2538). วิศิษฐ์ วังวิญญู แปล. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก. โรงพิมพ์ จงเจริญเทพารักษ์: กรุงเทพฯ.หน้า 195. แต่กระนั้นแนวคิดแบบมากซิสต์ของอดัม พูดถึงความสามารถที่เราจะเข้าไปถึงสภาวะรวบยอด (totality) ที่อดัมเรียกว่า "ประสบการณ์ที่จุดสุดยอด" ได้ยังคงมีข้อโต้แย้ง โดยเขาอ้างถึงนักจิตวิเคราะห์อย่าง อัลพอต ฟรอมม์ มาสโลว์ เพิลส์ และโรยส์ ว่า "พวกเขาจะมีความเชื่อร่วมกัน คือเชื่อในความสามารถที่จะค้นพบตัวเอง และประจักษ์แจ้งในตัวเองของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์จะสามารถเกิดใหม่โดยผ่านจุดสุดยอดแห่งประสบการณ์ หรือเราอาจใช้ศัพท์อื่นๆ ก็ได้ เช่น ซาโตริ (การรู้แจ้ง) (หน้า 90)"

อดัม กล่าวต่อมาว่า "การรับรู้ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้เราจะสามารถข้ามพ้นพรมแดนแห่งอัตตา และอาจจะไปถึงขนาดที่เราจะไม่มีตัณหา จะไม่ยึดติดกับการเป็นบุคคล ไม่มีความต้องการใดๆ ปล่อยวางไม่มีความอยากหรือปรารถนาใดๆ ... ในประสบการณ์ที่จุดสุดยอดนี้กรอบแห่งกาลเวลาและสถานที่จะแปรเปลี่ยนไป อาจจะถึงขั้นที่ว่างเปล่าจากการรับรู้เรื่องกาลเวลาและสถานที่ ก็คือประสบการณ์ที่หยั่งถึงความเป็นสากลและความเป็นนิรันดร...(หน้า 92)" ข้อถกเถียงในแนวคิดนี้ของอดัม ดูเชิงอรรถที่ 16 ประกอบ

(38) คอร์เนล เวสต์ (Cornel West) ได้กล่าวประโยคทองนี้ไว้ในภาพยนต์ "Matrix Reloaded". อ้างใน ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, (2546). บทสัมภาษณ์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เรื่อง "The Matrix". วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 . คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: หน้า 10.

(39) อัตลักษณ์ที่ถูกพยายามสร้างขึ้นใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองมีปัญหาอะไรบ้าง...ดูรายละเอียดใน Rozanna Lilley, "Afterword : Wethnicity" and anthropology" in Gehan Wijeyewardene (ed.) Ethnic Groups across National Boundaries in Mainland Southeast Asia (Singapore : Institute of Southeast Asian Studies, 1990), pp.173-184. อ้างใน นิติ ภวัครพันธุ์ , "บางครั้งเป็นคนไทย บางครั้งไม่ใช่" อัตลักษณ์แห่งตัวตนที่ผันแปรได้. รัฐศาสตร์สาร ปีที่ 20 ฉ. 3 2541. หน้า 236.

(40) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 162-3.
(41) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). เรื่องเดียวกัน. น. 157.
(42) นิธิ เอียวศรีวงศ์, (2546).นอกรั้วโรงเรียน. มูลนิธิเด็ก.เรือนแก้วการพิมพ์.กรุงเทพฯ: หน้า 151.
(43) นิธิ เอียวศรีวงศ์, (2546).นอกรั้วโรงเรียน. มูลนิธิเด็ก.เรือนแก้วการพิมพ์.กรุงเทพฯ: หน้า 152.

(44) ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, (2525) .200 ปีของการศึกษาไทย, โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ: หน้า 13.

(45) ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). ชาติพันธุ์วรรณาในความเป็นซับเจคของนักมานุษยวิทยา: "จริยธรรม" ระหว่างการหาความจริงและการสร้างความจริง . รัฐศาสตร์สารปีที่ 24 ฉ.3 โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. กรุงเทพฯ : น. 160.

(46) ดูการอธิบายเรื่องนี้ที่ค่อนข้างซับซ้อนใน ธเนศ วงศ์ยานนาวา, (2546). องค์รวม: องค์ขาด: องค์อนันต์. ศึกษาศาสตร์สาร. ปีที่ 30 ฉบับที่ 2. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. โรงพิมพ์นันทพันธ์. เชียงใหม่: หน้า 84-85.

(47) Jean-Francois Lyotard, J.F. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge, trans. Geoff Bennington and Brian Massumi, Minneapolis; University of Minnesota Press, 1999. p. 81. การอธิบายเกี่ยวกับ "หลังสมัยใหม่" หรือ postmodern ดู มารค ตามไท, สี่ท่าทีที่มีต่อความจริง: รากฐานปรัชญาหลังสมัยใหม่. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บทความถอดเทปคำบรรยาย ณ ห้องประชุมปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / 200640, มารค ตามไท, ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ Post-modernism. ร่มพฤกษ์ ปีที่ 15 เล่มที่ 2 ตุลาคม 2539- มกราคม 2540. ศูนย์วิจัยและผลิตตำรามหาวิทยาลัยเกริก กรุงเทพฯ, บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่. วารสารร่มพฤกษ์ ปีที่ 15 เล่มที่ 2, 2540.



+++++++++++++++++++++++++++++++++++

เชิงอรรถโดยกองบรรณาธิการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

(A) Aletheia in its current sense comes from Heidegger's use of it as renewed attempt to understand Truth. Aletheia is the Greek word for truth, sincerity, the real or actual. It comes from a-letheia, that is unforgetful, cf, lethe.

It does not mean truth as correspondence, ie, that something said corresponds with something in the world, with facts. Nor does it mean truth as coherence, ie, that things are true because they fit with other facts or theories. Nor truth as usefulness as in pragmatism.

Chiefly then Aletheia is the truth that first appears when something is seen or revealed. It is to take out of hiddeness to uncover. It is not something that is connected with that which appears. Allowing something appear is then the first act of truth, for example, one must give attention to something before it can be a candidate for any further understanding, for any understanding of space it must first somehow appear. Untruth then is something concealed or disguised.

Heidegger is trying to uncover a meaning of truth that is pre-Socratic, because, since Socrates, truth has instead come to mean agreement, correspondence, coherence or usefulness.
[Heidegger, M. "Being and Time". Translated by Joan Stambaugh, Albany, State University of New York Press, 1996. (1927)]

(B) The Greek word. logos is a word with various meanings. It is often translated into English as "Word" but can also mean thought, speech, meaning, reason, proportion, principle, standard, or logic, among other things. It has varied use in the fields of philosophy, analytical psychology, rhetoric and religion.
[//encyclopedia.thefreedictionary.com/logos]

(C) Nietzsche's moral philosophy is primarily critical in orientation: he attacks morality both for its commitment to untenable descriptive (metaphysical and empirical) claims about human agency, as well ... Genealogy of Morality (hereafter simply "Genealogy" or "GM"): "our thoughts, values, every 'yes,' 'no,' 'if' and 'but' grow from us with the same inevitability ...

(D) คำนี้พบได้ใน Archaeology of Knowledge ของฟูโก มีลักษณะของ literally excavates elements of SUBJUGATED KNOWLEDGE, knowledge which has no place or which has been confined (in the clinic or the prison) by dominant and standard forms of knowledge sanctioned by the established history of ideas.

(E) Poiesis means "to make" in ancient Greek. (creation, from poiein, to make) This word, the root of our modern "poetry", was first a verb, an action that transforms and continues the world. Neither technical production nor creation in the romantic sense, poietic work reconciles thought with matter and time, and man with the world.

Martin Heidegger refers to it as a 'bringing-forth', using this term in its widest sense. He explained poiesis as the blooming of the blossom, the coming-out of a butterfly from a cocoon, the plummeting of a waterfall when the snow begins to melt. The last two analogies underline Heidegger's example of a threshold occasion: a moment of ecstasis when something moves away from its standing as one thing to become another.

ที่มา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่บนเว็บไซต์www.midnightuniv.orgครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๐





 

Create Date : 10 สิงหาคม 2550
1 comments
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2550 17:06:52 น.
Counter : 1895 Pageviews.

 

แวะมาเยี่ยม
และขอบคุณสำหรับบทความนี้

 

โดย: หินทิเบตก้อนสุดท้าย IP: 203.209.90.207 1 มกราคม 2551 7:34:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.