Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
23 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
นักวิชาการชี้ การใช้ ‘กม.หมิ่น’ เป็นอันตรายมากกว่าเป็นผลดี


17 มิ.ย.51 เวลา 13.00น. คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยาน 6 ตุลา 19 ร่วมกับ ชมรมเลี้ยวซ้ายจุฬาฯ จัดการเสวนาเรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ – นิติปรัชญาและประวัติศาสตร์” ที่ห้องประชุม 12 ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดยวิภา ดาวมณี อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



ไชยันต์ ชัยพร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ถ้าจะคลี่คลายปัญหาการเมืองไทยอย่างสันติ ต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ โดยเขาอ้างถึงแนวคิดของเอมมานูเอล คานท์ (Emmanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ว่า การพัฒนาก้าวหน้าของมนุษยชาติ เริ่มที่ความรู้ ความคิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เพราะฉะนั้น คานท์ชี้ว่า สาเหตุที่คนไม่ก้าวหน้า เพราะสิ่งที่อยู่ในตัวเราเป็นสิ่งขัดขวางการพัฒนาทางความคิด เพราะขี้เกียจกับขี้ขลาด ขี้เกียจหาคำอธิบาย หนังสือว่ายังไงก็ว่าตามนั้น ขลาดกลัวว่าคิดต่างจะเป็นแกะดำ หรือโดนจับ



เขากล่าวว่า คานท์เรียกร้องให้เราเลิกเชื่อสิ่งที่ดำรงอยู่รอบตัวเรา ให้เราคิดเอง ไม่ใช่มีข้อมูลมาแล้วก็จมอยู่กับข้อมูลและเชื่อตามง่ายๆ หรือขี้เกียจหนักก็ไม่สนใจเลย อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขสำคัญ ที่จะให้คิดด้วยตัวเอง คือเสรีภาพ แต่เสรีภาพที่ไม่มีขอบเขต จะทำให้สังคมปั่นป่วน เพราะสังคมคืออยู่รวมกัน โดยมีแบบแผน ถ้าไม่ยอมรับแบบแผนเลย จะกลายเป็นอนาธิปไตย คานท์จึงพยายามหาทางออกที่ไม่ให้มีเสรีภาพมากจนสังคมปั่นป่วน โดยแบ่งการใช้เหตุผลออกเป็นสองแบบ คือ การใช้เหตุผลเรื่องส่วนตัว กับการใช้เหตุผลในเรื่องสาธารณะ การใช้เหตุผลเรื่องส่วนตัวต้องถูกจำกัดอย่างยิ่ง ขณะที่การใช้เหตุผลเรื่องสาธารณะต้องเต็มที่



เขายกตัวอย่างว่า หากมีพระ ซึ่งต้องเทศน์เรื่องพระสูตร ให้คน 4,000 คนฟัง แม้พระรูปนั้นจะไม่เห็นด้วยกับพระสูตร แต่ในฐานะภิกษุไม่มีสิทธิบอกว่า การตีความนั้นผิด เพราะนี่คือรูปแบบส่วนตัว แต่เมื่อหมดเวลาของการเป็นพระ คานท์บอกว่า ในความเป็นพลเมืองของแต่ละคน ทุกคนสามารถเขียนได้ ว่าคิดเห็นอย่างไร



ไชยันต์ กล่าวว่า คานท์เขียนย้ำไว้ว่า เมื่อคนอยู่ในกรอบหน้าที่การงาน ก็ต้องเคารพ ปฎิบัติตามนั้น จนกว่าสิ่งที่เสนอความคิดในฐานะพลเมือง มีการถกเถียงและคนส่วนใหญ่ยอมรับ และเกิดการเปลี่ยนแปลง หลายคนอาจบอกว่า คิดอย่างคานท์ก็คงชาติหน้ากว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคานท์คงบอกว่า เวลาเราแก้ปัญหาด้วยคนที่จำกัด หรืออยู่ในมือของคนกลุ่มน้อย หรือการเมืองที่เล่นกันเฉพาะคนกลุ่มน้อย เมื่อมีนโยบายหรือระเบียบออกมา ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ และนโยบายที่ออกมาก็จะไม่มีประสิทธิภาพ



อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ถ้าจะผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ ช่วงนี้เป็นช่วงที่ดี เรามีเงื่อนไขที่คนพอจะเข้าถึงเสรีภาพในระดับหนึ่งแล้ว นี่เป็นสถานการณ์เงื่อนไขที่ดีที่เราจะค่อยๆ คุยกัน ที่สุดแล้ว ถ้าคนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นด้วย เวลาไปเปลี่ยนแก้กฎหมาย ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้แปลกแยก หรือถ้าไม่เลิก ก็ได้ถกเถียงกันและเห็นเหตุผลที่ควรจะคงไว้ โดยที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของความจงรักภักดี



เขากล่าวว่า จุดยืนของเขาคือต้องการยกเลิกกฎหมายฯ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะยกเลิกกฎหมาย ต้องเข้าใจว่า ตราบใดที่ยังไม่ยกเลิก การไม่เคารพกฎหมายย่อมผิดและต้องยอมรับผลพวงที่ตามมาอย่างปฎิเสธไม่ได้ แต่ในฐานะพลเมืองมีสิทธิเห็นว่าควรจะยกเลิก และมีการถกเถียงกัน



ไชยันต์ กล่าวว่า กฎหมายนี้อาจจะดีในอดีต แต่เขายึดตามหลักของคานท์ว่า มันอาจจะดีสำหรับคนในอดีต แต่มันต้องได้รับการพิสูจน์ในปัจจุบัน ว่ามันใช้ได้ เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่รึเปล่า เพราะคานท์บอกว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคเหนี่ยวรั้ง ถ่วงไม่ให้เรามีเสรีภาพที่จะคิด การมีเสรีภาพที่จะคิดนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การขัดขวางความก้าวหน้าของสังคมถือเป็นอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น หากกฎหมายฉบับนี้เป็นอาชญากรรมที่กระทำต่อมนุษยชาติก็ต้องยุติไป

ทั้งนี้ เขาเห็นว่าต้องยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะมีการระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้วทุกฉบับ ในหมวดพระมหากษัตริย์ หมวด 2 มาตรา 8 ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” แค่นี้ชัดเจนพอแล้ว

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงพัฒนาการของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ก่อน พ.ศ. 2475 โดยมีบทลงโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หลัง พ.ศ. 2475 ไม่มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่น แต่มีการเพิ่มเติมว่า ถ้าทำด้วยความสุจริต หรือกระทำภายใต้เจตนาของรัฐธรรมนูญไม่เป็นความผิด ต่อมา หลัง พ.ศ. 2499 มีการเพิ่มคำว่า “ดูหมิ่น” เข้าไปด้วย จากนั้น ในปี 2519 ได้มีการเพิ่มโทษจำคุกสูงสุดเป็น 15 ปี ซึ่งหากเทียบโทษแล้ว โทษสมัยนี้หนักกว่าสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช



จากนั้น สมชาย กล่าวถึงกฎหมายหมิ่นในฐานะเครื่องมือทางการเมืองว่า การกล่าวหาบุคคลใดว่าหมิ่นในสังคมไทย ทำได้ง่ายมาก เห็นใครพูดจาไม่ถูกใจ ก็หยิบหนังสือพิมพ์ไปหาตำรวจได้ทันที ตำรวจเองก็ปฎิเสธไม่ได้ จึงส่งให้อัยการตัดสินใจเอง อัยการบ้านเราก็มีการทำงานที่ฟ้องเป็นหลัก หากไม่ฟ้อง อาจถูกตั้งคำถามว่ารับเงินหรือเปล่า ดังนั้นอัยการก็ฟ้องไปที่ศาล เพราะฉะนั้น คนตกเป็นผู้ต้องหา ได้ง่ายมาก และใช้เวลาเท่าไหร่ไม่รู้ ยกตัวอย่างคดีของ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน ซึ่งเคยถูกฟ้องในคดีนี้ ปัจจุบันตำรวจสอบสวนไม่เสร็จ



คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือ คนที่ฟ้องไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เป็นคนในสังคมเอง โดยจากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ระหว่างปี 2548- 2551 เป็นช่วงที่มีการฟ้องคดีหมิ่นฯ เกิดขึ้นมาก บางคดีอยู่ในชั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ บางคดีไม่เป็นข่าว และบ่อยครั้งไม่ใช่การกระทำต่อสถาบันฯ โดยตรง แต่เป็นการกระทำต่อสัญลักษณ์ รูป หรือเพลง ซึ่งน่าเป็นห่วง หากมีการขยายสัญลักษณ์ไปเรื่อยๆ



นอกจากนั้นแล้ว สมชาย กล่าวว่า ยังมีการขยายการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ออกไป โดยพยายามให้ครอบคลุมคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น อาทิ หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 มีการเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีนักกฎหมายบอกว่า อาจเป็นการละเมิดพระราชอำนาจ เพราะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่กฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด



เขาตั้งคำถามว่า กฎหมายหมิ่นฯ มีขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันฯ จริงหรือไม่และคนที่เป็นผู้กล่าวหาจงรักภักดีจริงหรือไม่ เพราะกรณีคดีที่มีผู้ไม่ยืนเมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงในโรงหนัง เมื่อมีคนตำหนิและขว้างกระดาษใส่ คนที่ไม่ยืนบอกว่าจะแจ้งความฐานทำร้ายร่างกาย อีกฝ่ายบอกว่า ถ้าฟ้อง จะแจ้งข้อหาหมิ่นฯ รวมทั้งตั้งคำถามว่า การใช้กฎหมายดังกล่าว กระทบกับสิทธิเสรีภาพในการใช้ปัญญาในการถกเถียงหรือไม่ และการใช้กฎหมายนี้ทำให้เสรีภาพของเราหดแคบลงหรือไม่



ทั้งนี้ สมชาย กล่าวถึงข้อเสนอของเขา ที่ได้นำเสนอในงานไทยคดีศึกษา ร่วมกับเดวิด สเตรคฟัส นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน 4 ทางเลือก คือ 1.แก้กฎหมายหมิ่นฯ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยปกป้องการแสดงความเห็นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2.ตัดความผิดฐานดูหมิ่น จำกัดเฉพาะความผิดฐานหมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้าย 3.ควรมีองค์กรตรวจสอบและดำเนินคดี หรือรับผิดชอบต่อคดีดังกล่าว แทนที่จะเป็นบุคคลทั่วไป โดยอาจเป็นคณะรัฐมนตรี หรือสำนักพระราชวังสำนัก และ 4.ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ



จอน อึ๊งภากรณ์ อดีต ส.ว.กทม. กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นในสังคมไทย มีประมาณ 300 องศา เช่นเดียวกับในระบอบประชาธิปไตย ที่เราต้องมีเสรีภาพในการตรวจสอบสถาบันต่างๆ ตรวจสอบรัฐบาลได้ กระทรวง ทบวง กรมได้ แต่ในความเป็นจริง สังคมไทยยังตรววจสอบหลายสถาบันไม่ได้ เช่น สถาบันทหาร ในกรณีตากใบ กรณีฆ่าตัดตอนสมัยรัฐบาลทักษิณ นอกจากนั้น เรายังมีสถาบันที่มีบารมีในสังคมที่สังคมไม่อยากตรวจสอบ ซึ่งเกิดการฉ้อฉลได้ง่าย เช่น สถาบันศาสนา ไม่มีการตั้งคำถามว่า เงินที่บริจาคให้วัดนั้น นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร ไม่มีการขอดูรายรับรายจ่ายของวัด รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะรวมถึงสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีบทบาทไล่ที่ชาวบ้านด้วย เมื่อสังคมไทย ขาดการตรวจสอบหลายสถาบัน ก็เกิดปัญหาได้ง่าย และทำให้ประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์



อย่างไรก็ตาม จอน กล่าวว่า ยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ แต่อยากลดขั้นตอนลง เช่น อยากทำให้กฎหมายหมิ่นบุคคลเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา เพราะบุคคลมีสิทธิฟ้องศาล ควรมีการชดเชยความเสียหาย ไม่ใช่ติดคุก เพราะฉะนั้น เรื่องการหมิ่นประมาทบุคคล ควรให้มีการป้องกันตัวเองได้ โดยการฟ้องแพ่ง ทั้งนี้ ตราบใดที่ประเทศมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและกษัตริย์เองคงไม่สามารถดำเนินคดีฟ้องกับบุคคลได้ รัฐคงต้องฟ้องแทน แต่ควรอยู่ในระดับคดีบุคคลธรรมดาและการแสดงความเห็นต่อบทบาทของสถาบัน น่าจะทำได้โดยไม่ถูกฟ้อง



จอน กล่าวว่า เมื่อกษัตริย์สามารถกล่าวแสดงความคิดเห็นของท่านได้ เช่น กล่าวว่า จังหวัดนี้น่าจะสร้างเขื่อนขึ้นมา ผมก็น่าจะมีสิทธิบอกว่าไม่เห็นด้วยที่จะสร้างเขื่อน คิดว่าท่านเองก็คงเห็นด้วย เพราะท่านก็เคยกล่าวว่า หากไม่เห็นด้วยก็ย่อมทำได้ แต่ปัญหาคือ ผมจะไปรู้ได้ไงว่าคนจะไม่เอาตรงนี้มาทำร้ายผม คนก็คงไม่กล้าอยู่ดี



เขาเห็นว่า การกล่าวหาด้วยข้อหาหมิ่นฯ เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี การกล่าวหาบุคคลอื่นที่เป็นศัตรูทางการเมือง สมัยนี้ไม่ได้กล่าวหาตรงไปตรงมา แต่เป็นการมานั่งคิดว่าจะเอาอะไรมาฆ่าดี ไม่ได้โจมตีด้วยเหตุผลที่มีจริง เช่น จะเล่นงานเรื่องฆ่าตัดตอน อาจจะคิดว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย จะเล่นไม่ขึ้น ก็ไปเล่นว่า ทักษิณไม่จงรักภักดี เล่นง่ายกว่าเยอะ ปลุกม็อบปลุกประชาชนได้



จอน ตั้งคำถามว่า จักรภพ เพ็ญแข ได้รับความเป็นธรรมไหม ที่ถูกตำรวจจับเรื่องหมิ่นฯ ถ้าไม่มีการต่อสู้ทางการเมือง สิ่งนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ เขาเห็นว่า การโต้กันทางการเมืองเป็นสิ่งที่ชอบธรรม และทำได้ แต่ควรตรงประเด็น ไม่ใช่หาประเด็นทางอ้อมที่ไม่เกี่ยวมากล่าวหา สาดโคลนกัน ซึ่งการกระทำในสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสถาบันแต่ประการใด แต่เป็นการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือตีศัตรูมากกว่า



กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คดีหมิ่น แบ่งเป็นคดีหมิ่นทั่วไป และคดีหมิ่น มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คดีหมิ่นทั่วไป สำหรับตนเองมองว่าเป็นการเลือกปฎิบัติต่อคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่ง ถ้าตนเองรวยพันล้านหมื่นล้าน ไปแจ้งความทุกจังหวัด คนต้องไปเดินแก้ทุกจังหวัด ไทยโพสต์เองเคยถูกฟ้องทุกจังหวัด บก.ไม่ต้องทำอะไรเลย เดินทางแก้ความทุกจังหวัด เพราะฉะนั้น คดีหมิ่นทั่วไป ควรต้องแก้ให้เป็นคดีทางแพ่ง โดยแก้รายละเอียดด้วย เพราะคนจนฟ้องหมิ่นประมาทไม่ได้ เพราะศาล-การค้าความเป็นเรื่องของชนชั้นทางเศรษฐกิจ 100%



กฤตยา กล่าวเสริมว่า ในส่วนของคดีหมิ่น มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ขอเสนอให้คณะนิติศาสตร์ ไม่ว่าที่ไหน ศึกษาคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท โดยเฉพาะมาตรา 112 ว่า สาระของคำพิพากษาพูดอย่างไรบ้าง เพราะมันมีวาทกรรมที่จะใช้อำนาจต่างๆ อยู่ในนั้นจำนวนมาก แต่คงเป็นเรื่องยาก เพราะ อ.สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) ก็ทำงานวิจัยเรื่องคำพิพากษาคดีละเมิดทางเพศ แล้วไปนำเสนอ ศาลก็ป้องตัวเต็มที่ ว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พูดไป ศาลไม่เข้าใจจริงๆ หลายๆ เรื่องศาลไทยเหมือนพระ จะไม่เข้าใจเรื่องความซับซ้อน ระบบอำนาจ ความแยบยลของอำนาจ ถ้าเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ จะเข้าใจประเด็นปัญหาและเห็นแง่มุมที่ชัดเจนขึ้น รวมทั้งจะเป็นหลักฐานที่สำคัญหากมีการเสนอให้ปรับปรุงกฎหมาย



นอกจากนี้ กรณีที่จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงาน ซึ่งใส่เสื้อรณรงค์ ‘ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม คิดต่างไม่ใช่อาชญากร’ ระหว่างออกรายการกรองสถานะของเอ็นบีทีกับตน โดยมีการกล่าวหาว่า จักรภพ เพ็ญแข เปิดให้คนใส่เสื้อยืดในรายการ กฤตยา ยืนยันว่า จิตราไม่ได้รู้จักกับจักรภพ และมองว่านี่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน และปั่นพองเรื่องให้น่ากลัวขึ้น ซึ่งในแง่ของ นสพ.ผู้จัดการที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ ตนเองก็ผิดหวังอยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็น แต่ที่ผิดหวังมากกว่า คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งส่วนตัวชอบอภิสิทธิ์มากกว่าจักรภพ แต่การที่อภิสิทธิ์ใช้ประเด็นทัศนคติที่อันตราย เท่ากับไปตัดสินคนอื่นแล้วว่าอันตราย และบอกว่า รัฐบาลต้องจัดการ



กฤตยา กล่าวว่า กระบวนการเหล่านี้จะทำให้สถาบันอ่อนแอลง ถ้าจงรักภักดีจริง ต้องพยายามไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้มากขึ้น หลายคนพูดตรงกันว่าต้องเลิกเอาเรื่องพวกนี้มาเล่น รวมถึงสถาบันตุลาการ ก็ต้องรู้เท่าทันด้วย ว่ามีผู้ถูกเอามาเล่นโดยไม่ได้เกี่ยวข้อง



ทั้งนี้ สถานการณ์ปัจจุบัน นับแต่มีการเลือกตั้งโมฆะ มีการนำเอาเรื่องพระราชอำนาจ สถาบันกษัตริย์มาเป็นสมการตัวหนึ่งในการสร้างกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขณะนี้ พูดกันว่าสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น จนคนที่จะพูดให้เหตุการณ์คลี่คลาย มีน้อยลงๆ มองไม่เห็นทางออก และที่น่ากลัวคือความเกลียดชังในสังคม แน่นอนว่า เราต้องอยู่ในสังคมประชาธิปไตยต่อไป สังคมประชาธิปไตยอยู่ได้ต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง โดยต้อง accountability คือ ตรวจสอบได้และเมื่อเจอแล้ว ต้องพร้อมยอมรับผิด แต่กรณีเมืองไทย มันไม่ได้ผล เมื่อตรวจสอบได้แล้ว แต่ไม่มีการรับผิด ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถทำให้กลไกตรวจสอบทำงานได้ดี ก็อย่าหวังว่าจะมีสังคมประชาธิปไตยอย่างที่หวัง



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 19/6/2551




Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 23 มิถุนายน 2551 12:57:18 น. 0 comments
Counter : 648 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.