Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
20 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

ระบบการศึกษาไทย ปัญหาเกิดที่ตรงไหน ?

บทความระบบการศึกษาไทย ปัญหาเกิดที่ตรงไหน ?นี้นำมาจากblogของคุณBlT_HorroR ซึ่งนำมาจาก ฝรั่งมองไทย เขียนโดย ไมเคิล ไรท์ ในมติชนสุดสัปดาห์ บทความดังกล่าวน่าจะถูกเขียนตอนที่อดีตนายกทักษิณยังคงเป็นนายกอยู่ เนื้อหาเป็นการกล่าวถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาไทย ที่ไรท์กล่าวว่า เด็กไทยถูกเด็ดปีกนั่นเอง


ภาพประกอบจาก //www.thaifolk.com


ไมเคิล ไรท์



ผมว่าระบบการศึกษาในประเทศไทยคือ ระบบการศึกษาสำหรับอาณานิคมที่ มุ่งหมายปราบปรามความคิดเสรีและคิดสร้างสรรค์

ฝ่ายบ้านเมืองที่คิด "ปฏิรูปการศึกษา", ทั้งข้าราชการหัวเก่าและนักการเมืองหัวพ่อค้า, ล้วนคิดแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การปกครองระบบ, การเปลี่ยนหลักสูตร, การล้างสมองครู ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องยากๆ ทั้งสิ้น

แม้กระทั่ง "การศึกษาที่เด็กเป็นแกนนำ" (Child Centred Education) ถูกบิดเบือนจนกลายเป็นการล้างครู คว่ำสังคมจนไม่มีใครรับได้

ผมยิ่งพิจารณาก็ยิ่งสงสัยว่า ระบบการศึกษาของไทย (และที่อื่นๆ) ไม่เลวทั้งหมด, แม้จะมีปัญหาขลุกขลักบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาทั่วโลก ในระดับอุดมศึกษา, มัธยม และประถม, ระบบไทยสามารถป้อนความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักเรียนนักศึกษาได้ดีพอสมควร ใช่ว่าจะเลวสิ้นดี

ดังนั้น นักปฏิรูปไม่ควรคิดปล้ำระบบทั้งหมดให้วุ่นวายจนเททิ้งของดีไปพร้อมกำของเน่า

อย่างไรก็ตาม, ปัญหาหลักๆ ยังมีอยู่ คือระบบการศึกษาไทย 1) ไม่เชิดชูหรือส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นอันเป็นสันดานแท้ๆ ของเด็กทุกคน, 2) ไม่ชวนให้เด็กสงสัยหรือซักถามซึ่งเป็นสิทธิของเด็กทุกคน, และ 3) ไม่เปิดโอกาสให้เด็กคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการตามที่เด็กเกือบทุกคน (อาจจะ) ทำได้

ผมยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นว่า จุดกำเนิดปัญหาไม่ได้อยู่ที่ห้องเรียนในมหาวิทยาลัย, โรงเรียนมัธยม หรือโรงเรียนประถม, แต่เกิดในชั้นประถมตอนต้นหรือก่อนหน้านั้นเสียอีก

ขอยกตัวอย่างที่ชวนผมให้คิดเช่นนี้ :-

ปริศนาสารานุกรมที่เด็กไม่ดู

ผมเหมือนเด็กฝรั่งส่วนใหญ่, โตขึ้นมากับ "สารานุกรมสำหรับเด็ก" (Children"s Encylopedia หรือ Child"s Book of Wonders) เรื่องดวงดาว, โลกรอบตัว, พืชและสัตว์, คนเผ่าต่างๆ การทำงานของเครื่องจักร ฯลฯ

โตขึ้นมาหน่อยก็ย้ายไปใช้ Encyclopedia Britanica แล้วใช้มันวันยังค่ำจนทุกวันนี้

ราวสิบปีที่แล้วผมทำงานกับสถาบันที่มีห้องสมุดที่เปิดให้เด็กค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ในห้องสมุดนั้นมี "สารานุกรมสำหรับเยาวชน" ที่ในหลวงทรงมีพระราชปรารภให้สร้างขึ้นมา

วันหนึ่ง ผมมีข้อสงสัยจึงขอดูสารานุกรมฉบับดังกล่าว ผมพลิกดูแล้วรู้สึกมหัศจรรย์ว่าทำไมจึงสะอาดสะอ้านเหมือนใหม่ ผมทักกับบรรณารักษ์ว่า "เด็กไทยนี้นิสัยดีจังถึงรักษาสารานุกรมให้สะอาดหมดจด ไม่เปื้อนมือ, ผิดกับสารานุกรมฝรั่งที่มักมอมแมมด้วยฝีมือเด็กสกปรก"

บรรณารักษ์ยิ้มแล้วตอบว่า "เปล่าหรอกค่ะ ในสิบปีตั้งแต่ซื้อสารานุกรมมา, ไม่มีเด็กคนใดมาขอค้น, ฉบับจึงงามสะอาดดังเมื่อออกจากแท่นพิมพ์"

ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรกับหลักฐานข้อนี้ ? ผมไม่เชื่อว่าเด็กไทยเกิดมาใจตายด้าน, ไม่มีความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ชะรอยเธอต้องถูกสั่งสอนตั้งแต่ต้นให้ระงับใจ, เลิกจินตนาการแล้วเชื่อผู้ใหญ่ แทนที่จะสงสัยด้วยตนเอง

ปัญหามีอยู่ว่า เด็กไทยถูก "หักปีก" เมื่อไร ? และด้วยวิธีใด ?

ผมได้พบคำตอบในหนังสือ Partners in Learning ของ Maureen Wickremasighe (ISBN 955-97827-5-4) ว่าด้วยบูรณาภาพ (Continuity ?) ระหว่างวัยทารกกับวัยเริ่มเข้าเรียนหนังสือ

ความสงสัยและจินตนาการในทารก

หนังสือดังกล่าวขึ้นต้นด้วยทารกเริ่มคลาน ว่ามีความอยากรู้อยากเห็นสูงมาก, ย่อมสำรวจรอบตัวจับหัวแมวหางหมาว่ามีสรรพคุณอะไรบ้าง, คว้าขี้ดิน ด้ามร่มเข้าปากว่ากินอร่อยแค่ไหน

ต่อมาพอเดินได้ ทารกจะเริ่มเล่น, และมักจะเล่นสกปรกมอมแมม, เช่น เล่นทราย, สาดน้ำ, ปั้นดินเป็นขนม (Mud Pies) ออกขายกันสมมติเป็นตลาด ฯลฯ

ต่อมาเมื่อเด็กโตขึ้นมา, ครูชั้นประถมตอนต้นควรใช้พลังสงสัยอยากรู้อยากเห็นนี้เป็นเครื่องมือในการสอนให้เด็กเรียนรู้อักษรและเลขด้วยความสนุกสนานอยากรู้อยากเห็น

สำหรับคนที่มีสุขภาพจิตสมบูรณ์, มีจินตนาการและคิดสร้างสรรค์, การละเล่นไม่มีวันสิ้นสุด เมื่อสุนทรภู่ แต่ง "พระอภัยมณี" ท่านกำลัง เล่น เมื่อ Einstein คิดทฤษฎีครอบจักรวาล ท่านกำลัง เล่น เมื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์คำว่า ไทย, ลาว ขอม, ท่านกำลังเล่น ฯลฯ, ฯลฯ, ฯลฯ

ที่จริง การเล่น หรือ การเรียนรู้, และการเรียน ก็ควรจะเป็น การละเล่น ต่อเนื่องกัน แต่ในโลกทัศน์ของผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ การเล่นและการเรียนเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันเลย ในทางตรงกันข้าม, การเล่นเป็นการเสียเวลาเปล่าๆ และเมื่อจะเข้าเรียน เด็กๆ ต้องเลิกเล่น !

นี่เป็นความเข้าใจผิดระดับพื้นฐานที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของการศึกษาไทยโดยทั่วไป, ทำให้การศึกษาเป็นเรื่องทุกข์ทรมานสำหรับครูและเด็กพอๆ กัน

ทำลายความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการของเด็ก, และอาจจะอำนวยให้เด็กเกเร, นักเรียนอาละวาด, หรืออย่างน้อยก็ซึมเศร้าหดหู่ใจ, ไม่อยากคิดไม่อยากอ่าน, และ ไม่อยากเปิดสารานุกรม ที่ดีที่หนึ่งระดับโลกที่ในหลวงทรงมีพระราชอุตสาหะให้สร้าง

ทั้งหมดนี้ชวนให้ผมเข้าใจว่า ปัญหาที่แท้จริงของระบบการศึกษาไทยอาจจะมีจุดกำเนิดในระดับก่อนเข้าเรียน (Pre-school) และระดับประถมขั้นต้น





การละเล่น, จินตนาการ, และความอยากรู้อยากเห็นในโรงเรียน

ผมไม่มีความรู้ภาคสนาม, คือผมไม่เคยเป็นเด็กไทย, ไม่เป็นผู้ปกครองของเด็ก, และไม่เคยเป็นครูชั้นประถม, ความเห็นของผมจึงอาจจะผิดพลาดโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม ผมเคยเป็นเด็ก (ฝรั่ง) ที่ถูกระบบการศึกษา (อังกฤษ) ทรมานพอสมควร ผมจึงขอถือสิทธิออกความคิดเห็นแทนเด็กๆ ทั่วโลกที่ประสบว่า โรงเรียนคือนรกน้อยๆ

ใครไม่เห็นด้วยโปรดเขียนมาทักท้วง, ผมจะได้ชื่นใจ แต่กรุณาอย่าเพิ่งเผาพริกเผาเกลือ เสียดายของ

ผมเห็นปัญหาเด็กก่อนเข้าเรียนและเริ่มเข้าเรียนนั้น, มีสองระดับชั้นคือ 1) ชนชั้นผู้ดีและชนชั้นกลางในเมือง, และ 2) ชนชั้นกรรมาชีพและชนบท

1) ชนชั้นผู้ดีและชนชั้นกลางในเมือง (ที่เรียนแบบชีวิตผู้ดี) มักควบคุมลูกๆ จนมากไป, คือคุมทารกไม่ให้เล่นสกปรกมอมแมมตามประสาเด็กสามัญชน

ผลก็คือ ทารกรู้จักระเบียบความเรียบร้อยและความสะอาดสะอ้านตั้งแต่น้อย, แต่ขาดโอกาสที่จะสำรวจเรียนรู้โลกรอบตัว

ดังนั้น ความอยากรู้อยากเห็นที่เป็นสันดานเดิมของเด็กจึงหดเหี่ยว, และจินตนาการไม่มีทางเกิดขึ้นได้

เมื่อลูกผู้ดี/ชนชั้นกลาง เข้าเรียนชั้นประถม, ก็เข้ากรอบเหล็กอีกชั้นหนึ่ง อักษรและเลขไม่ได้เป็นเรื่องสนุกสนานที่เด็กจะสำรวจ เล่น ค้นหา ได้ด้วยตนเอง, แต่เป็นสูตรสำเร็จรูปที่คุณครูบังคับให้ท่องจำ, อย่าให้สงสัยหรือทักถามว่า "ทำไม ?"

2) คนกรรมาชีพและชาวชนบท มักให้ลูกๆ เล่นตามอัธยาศัย (เช่น ขี่ควาย, เล่นดิน เล่นน้ำ) หรือเรียนรู้โลกรอบตัวให้บังเกิดความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการพอสมควร เด็กตามชนบทจึงน่าจะเรียนดีกว่าเด็กในเมือง แต่ที่ไหนได้ ?

พอเด็กในชนบทเข้าเรียนชั้นประถมก็เจอะโครงเหล็ก, คือระบบการศึกษาของราชการแบบอัตณานิคม ที่บังคับใหล้มปัญญาเดิม พื้นเมือง แล้วสอนความรู้ใหม่จากนอก

ใช่ว่าความรู้ใหม่จากนอกนี้จะผิดหรือชั่ว, แต่ระบบการศึกษาไม่เปิดโอกาสให้ถกเถียง, ไม่ให้ทางเลือก, และบังคับให้เชื่อว่าวิถีชีวิตเดิมไม่มีคุณค่า

ดังนี้ เด็กชนบทจึงถูกแยกออกจากอดีตและบริบทของตนจนลอยตัว, ไม่มีที่มาหรือที่ไป จึงไม่อาจจะคิดสร้างสรรค์ได้เสรีเช่นกัน





ความส่งท้าย

ดูเหมือนกับว่ารัฐบาลคุณทักษิณ เชื่อว่า ปัญหาการศึกษาไทยแก้ได้ด้วยการเพิ่มเทคโนโลยีให้โรงเรียนทุกแห่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์

ผมไม่เถียง, แต่สงสัยว่าเราจำเป็นจะต้องกลับไปดูเบื้องต้นการศึกษาเมื่อทารกปั้นดิน, สาดน้ำ, จับหัวแมว

การจะแก้ระบบการศึกษาในระดับมัธยมหรืออุดมศึกษา เป็นการสิ้นเปลือง, ยุ่งยากและแพง

เรากลับไปแก้ระบบการศึกษาในระดับก่อนการเรียน (Pre-school) และระดับประถมขั้นต้นจะไม่ดีกว่าหรือ ?

........................................

PLAYING TO LEARN

Playing is every child"s right. It is a necessary part of their life and learning. At persent there is much talked and written about "Children"s Rights". Play is a very Basic Right of all children, because it is through Play that children learn the most valuable lessons of Life.





 

Create Date : 20 ตุลาคม 2550
16 comments
Last Update : 20 ตุลาคม 2550 12:47:50 น.
Counter : 1033 Pageviews.

 

ให้เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด การแสดงความคิดเห็นของเราต่างไปบ้างเราก็ยังทำได้ยาก

 

โดย: K2P IP: 222.123.47.170 20 ตุลาคม 2550 13:00:14 น.  

 

ขอบคุณครับสหายK2P

 

โดย: Darksingha 20 ตุลาคม 2550 14:00:18 น.  

 

คนไทยง่ายๆ สบายๆ อาหารดี อากาศดี เหลือๆ อยู่ ไม่ต้องดิ้นรน อยากได้อะไร ก็ลงไปนอนร้องชักดิ้นชักงอ เดี๋ยวพ่อแม่ก็วิ่งขาขวิดหาให้เอง

 

โดย: หญิงอ้วน IP: 203.113.61.104 20 ตุลาคม 2550 14:19:41 น.  

 

ขอบคุณครับสหายหญิงอ้วน ที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

 

โดย: Darksingha 20 ตุลาคม 2550 14:41:52 น.  

 

บทความนี้ดีจริงๆเลยค่ะ
โดยส่วนตัวเคยเป็นครูสอนชั้นอนุบาลค่ะ จบมาโดยตรงเลย ( แต่ตอนนี้ต้องมาสอนวิทย์มัธยม เพราะต้องยกชั้นอนุบาลให้ครูรุ่นเก่าที่จบ ม.3 ค่ะ...ตลกดีใช่มั๊ยคะ )
ตอนที่สอนอนุบาลเนี่ย คิดว่าหลักสูตรที่กระทรวงเคยจัดให้มาแต่เดิมนั้นดีอยู่แล้วค่ะ ไม่เน้นอ่านเขียน แต่เน้นการพัฒนาพัฒนาการทุกด้านแบบองค์รวม
สอนก็จะเป็นแบบบูรณาการ เด็กสนุกกันมากเลยค่ะ แต่พอเด็กไปขึ้น ป.1 แล้ว เราก็ถูกประณามอย่างมาก เพราะเด็กอ่านเขียนไม่คล่อง ไม่ทราบจะทำยังไง เลยต้องแอบสอนเด็กให้เขียนตอน อ.2 เทอม 2 รู้เลยว่าเด็กแค่บางคนเท่านั้นค่ะที่อยากจะเขียน อีกหลายๆคนเค้าจะปวดเมื่อยมือน่ะค่ะ

 

โดย: juandmee 20 ตุลาคม 2550 15:00:54 น.  

 

มันสุมมาเรื่อยๆตั้งแต่อดีตแล้วครับ
คนเป็นใหญ่ก็อยากเห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
คนเล็กก็คล้อยตามมาดูแลความเป็นระเบียบในบ้านของตน
ใช่ว่าความเป็นระเบียบจะไม่ดี
หากแต่กุมความเป็นระเบียบไม่ถูกที่
กล่าวคือถ้าการก่อระเบียบแบบยัดเยียดความคิดและการกระทำแล้ว
ผู้ดูแลก็ต้องดูแลอยู่เสมอๆ
ซึ่งถ้าเด็กๆถูกให้ตั้งใจเรียน
เมื่อไม่มีคนบอกให้เรียน
ก็อาจจะเลิกเรียนไป หรือเรียนต่อ
เพราะไม่รู้จะทำอะไร

ดังนั้นการศึกษาในปัจจุบันเน้นไปที่ความเป็นอยู่
มากกว่าความเป็นคนของคนครับ
อันเนื่องมาจากการแข่งขันสูง
จึงไม่แปลกที่จะไม่ค่อยมีใครเห็นใจใครซักเท่าไหร่

นานาจิตตังครับ

 

โดย: ทะเลคราม (blueocynia ) 20 ตุลาคม 2550 15:11:09 น.  

 

ขอบคุณครับสหาย juandmee และทะเลคราม blueocynia มีประโยชน์อย่างมากครับ ยินดีที่ได้รู้จัก

 

โดย: Darksingha 20 ตุลาคม 2550 16:06:49 น.  

 

Pre-school เด็กไทยต้องเรียนแล้วหรือ แล้วเรียนแบบไหน!
หลักสูตรของไทยเคยใส่ใจพัฒนาการด้านอื่นของเด็กไหม?
ทำไมการเรียนของเด็กไทย ต้องเป็นแบบ "ตามครู" สอนคิดเองไม่เหมือนก็โดนว่า
มีแต่ชี้ผิดชี้ถูกให้เด็ก ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กมีความคิดเป็นของตัวเอง
แล้วก็มาว่าเด็กไทยวิเคราะห์ไม่เป็น
ทำไมต้องให้ค่านิยมกับเรียนมหาลัยทั้งที่มีงานอีกมากมายไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ในมหาลัย
และความรู้ก็สามารถขวนขวายเอาเองได้ หาหนังสือ searchข้อมูลอ่านเอาเองได้

ก็น่าจะเห็นแล้วนี่ การศึกษาแบบนี้ได้ผลผลิตออกมายังไง
1. เชื่อง่าย สื่อบอกอะไรก็เชื่อหมด วิเคราะห์เองไม่เป็น
2. ชอบทำตามคนอื่น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง
3. ยึดถือค่านิยม และวัตถุ ไม่เคยดูว่ามันมีไว้ทำไม จุดประสงค์เพื่ออะไร ทำไมต้องทำตาม
4. ขี้อิจฉา ขี้อวด บ้าสรรเสริญ
5. คุณธรรมไม่มี เห็นแก่ตัว
6. ทำงานเป็นกลุ่มไม่เป็น egoจัด

หลักสูตรมันตั้งแต่ปีไหนแล้ว ปรับปรุงใหม่ก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ แนวเดิม ครูแบบเดิม เน้นแต่คะแนนเด็ก

เคยได้ยินมั้ยแนว "waldorf" ดีกว่าเยอะ เน้นผลิดมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ ถ้าปรับเป็นแบบนี้ได้หมด ประเทศคงพัฒนากว่านี้หลายเท่า

 

โดย: HuggytheHusky 20 ตุลาคม 2550 16:15:05 น.  

 

ขอบคุณสหาย HuggytheHusky มากครับ ที่แลกเปลี่ยน ผมชอบคำนี้ของคุณมากเลยครับ "ผลิดมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์" สือนัยยะได้ดีจริงๆครับ

 

โดย: Darksingha 20 ตุลาคม 2550 17:29:16 น.  

 

เราว่าบางที...ความคิดสร้างสรรค์ มันก็ต้องก่อร่างสร้างมาจากฐาน..ของความเป็นจริง
คือเริ่มจากการจับเอาข้อเท็จจริงต่างๆรอบๆตัว
มาประยุกต์บิดผันดัดแปลงไปตามจินตนาการ
ถ้าหากไม่มีพื้นฐานของข้อเท็จจริงมาเป็นวัตถุดิบ
ความคิดสร้างสรรค์นั้นๆก็คงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้จริงบนโลก
จริงไหมคะ?
แล้วทีนี้...ความรู้ในข้อเท็จจริงทั้งหลายจะไปหามาจากไหน?
มันก็คือไอ้ระบบกรอบเหล็กที่ยัดๆความรู้ใส่นักเรียนั่นแหละค่ะ
จำๆๆมันเข้าไป ที่มาที่ไปน่ะเหรอ..ก็มีอยู่นะ..แต่เธอยังไม่ต้องรู้
เธอยังทำความเข้าใจไม่ได้
เธอต้องมีฐานของข้อเท็จจริงพวกนี้
แล้วมันจำนำเธอย้่อนกลับไปสู่ที่มาของตัวมันเอง

แต่ปัญหาก็คือ..ในระหว่างที่เราอยู่ในช่วงของการ
"สร้างฐาน"...เราไม่ระวังทำความสามารถ
ในการสร้างสรรค์"เติมต่อ"หล่นหายไป

คราวนี้ก็เลยเหลือแต่ฐานแน่นปึ๊ก..ต่อไม่ได้แล้ว

การศึกษา ควรจะหาทางสร้างฐาน..ไปพร้อมๆกับรักษาความสามารถ
ทางการเติมต่อ ควบคู่กันไปมากกว่า

ก็...ที่อยากออกความเห็นก็เท่าเนี้ยล่ะค่ะ
ขอบคุณค่า

 

โดย: N'SinE 21 ตุลาคม 2550 0:10:04 น.  

 

ขอบคุณครับสหาย N'SinE สำหรับความคิดเห็นที่ดีเยี่ยม ผมก็เห็นด้วยกับคุณ
เพราะผมเคยสังเกตุเวลากบกระโดดบนใบบัว กับกระโดดบทพื้นต่างกัน กบกระโดดบนใบบัวย่อมตรงเป้าหมายและไกลสู้กระโดดบนพื้นดินไม่ได้
ฉันใดความคิดหากปราศจากความรู้ที่เป็นฐานก็ฉันนั้น เพราะมนุษย์คิดได้จากการนำความรู้มาประมวล

แต่ผมขอเสริมนิดนึงครับ หากมองกระบวนการศึกษา(ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ)ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมและการเมือง จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมไทยยังยึดติดอยู่กับอำนาจนิยมครับ และไอ้อำนาจนิยมนี้แหละ มันไปกดความคิดสร้างสรรแก่เด็ก สังคมไทยน้อยครับที่จะเปิดพื้นที่ให้แก่เด็กได้แสดงความคิดเห็น ไม่ต้องพูดถึงการฟังและการยอมรับความคิดเห็นนั้นเลย ดังจะเห็นคำพูดที่คอยจำกัดพื้นที่เด็กเช่นเรื่องผู้ใหญ่เด็กไม่เกี่ยว และคำหรือวาทกรรมที่เปรียบเทียบคนที่ด้อยกว่าว่าเป็นเด็ก เช่น เด็กอมมือ เด็กๆ เกรียน เป็นต้น
ในฐานะที่ระบบการศึกษา(อย่างเป็นทางการ)เป็นส่วนหนึ่งของกลไกเชิงอุดมการณ์แห่งรัฐ มันก็เป็นภาพสะท้อนสังคมไทยอีกมากมาย
55555 โดยเฉพาะคำที่ฮิตในเวปบอรตคือ เกรียน มันก็สื่อนัยสังคมไทย

 

โดย: Darksingha 21 ตุลาคม 2550 11:32:21 น.  

 

ความจริงการท่องจำนี่ต้องเข้าใจกันใหม่นะคะ ว่าหลายๆอย่างต้องยอมรับว่าต้องจำ แต่ที่สำคัญคือจำได้อย่างไรโดยไม่ต้องท่อง โรงเรียนที่อังกฤษเขาสอนกันมามากกว่าหกสิบปีแล้วหรืออาจนานกว่านั้น

ทุกวันนี้ก็สอนหนังสือให้เด็กมัธยมและ อนุปริญญา นำไปใช้ก็ได้ผลดีนะคะ แต่ที่เป็นปัญหาคือค่านิยม และการล่อลวงของสังคมที่ขาดจริยธรรม เด็กไทยขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่รู้จักว่าความภูมิใจในตัวเองเป็นอย่างไร จึงตามกระแสได้ง่ายๆ

พ่อแม่ก็เหมือนกัน ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเองโดยลืมไปว่าที่ได้ดีมาจนทุกวันนี้ก็เพราะรู้จักว่าความลำบากมิใช่หรือที่ทำให้มีสติ ไม่ประมาท และมีทุกวันนี้ได้

เข้ามาเยี่ยม รู้สึกเหมือนอ่านงานของคาลิลน้อยอยู่เลยคะ

 

โดย: พี่ฝน (Childcraft ) 12 พฤศจิกายน 2550 0:28:56 น.  

 

ขอบคุณครับ พี่ฝน ที่เข้ามาเยี่ยม

 

โดย: Darksingha 16 พฤศจิกายน 2550 15:19:34 น.  

 

กว่าเราจะเข้ามา ไม่รู้คุณ Darksingha จะมาดูอีกไหมนะคะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับบทความดี ๆ คงต้องมาเยี่ยมกันบ่อย ๆ ซะแล้ว เพราะเรื่องที่ลงเหล่านี้อยู่ในความสนใจเป็นอย่างมากค่ะ

ฉะนั้นขออนุญาต add blog นะคะ

 

โดย: chinging 6 กุมภาพันธ์ 2551 14:54:26 น.  

 

ด้วยความยินดีครับคุณ chinging

 

โดย: Darksingha 22 กุมภาพันธ์ 2551 11:42:18 น.  

 

การศึกษาของประเทศไทย เด็กไทยในปัจจุบันผลการศึกษาอยู่ในระดับคะแนนที่ได้ค่อนไปในทิศทางที่อ่อนมาก อนาคตของชาติไทย จะก้าวเดินไปในทิศทางไหน ผมคิดว่า ในการเรียนการสอนมันสะท้อนถึงระบบการศึกษาโดยเฉพาะผู้ที่สอน ครู หรืออาจารย์ ที่มาปฏิบัติงานการสอนนั้นมาด้วยใจรักหรือไม่กับการเลือกประกอบอาชีพครู แต่ระบบการศึกษาในการคัดกรองหรือการคัดเลือกคนที่จะมาเป็นครูนั้นควรมีหน้าตาอย่างไรที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของระบบการศึกษาของไทยหรือของผู้เรียน ผู้ปกครอง ฯลฯ นั้นคือต้องมีการศึกษาวิจัยว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลกระทบต่อระบบการศึกษาของไทย ยิ่งนโยบายการขยายการศึกษาในระดับตำบลโดยใช้งบประมาณ 70 ล้านบาทสำหรับการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ตำบลให้เป็นระบบการขยายโอกาส ยิ่งสร้างความไม่เข้าใจและความสับสนต่อสังคมและนักวิชาการหลายๆ สาขาว่าระบบการศึกษา มีทิศทางการพัฒนาเป็นอย่างไร แล้วนักปฏิรูประบบการศึกษาทำไรกับการศึกษาของไทย ใครคือกุญแจสำคัญของระบบการศึกษาไทย อีกประการหนึ่งต้องชมเชยครูหรือนักวิชาการหลายๆท่านที่พยามจะพัฒนาแต่ว่าหากมีการนำเสนอแล้วระบบสังคมไทยเจอนักวิชาการรุ่นเก่าๆที่ไม่ยอมให้ปรับเปลี่ยน ซึ่งนักวิชาการหลายๆท่านก็เป็นอาจารย์ของนักวิชาการที่อยากเสนอแนวคิดหรือวิธีการพัฒนาระบบการเรียนการสอน อีกประเด็นนักวิชาการหลายๆ ท่านกลับถูกมองว่าศิษย์ล้างครู
ท่านทั้งหลายจงมองกันเหอะขอเป็นปัญหาหรือตัวตั้งของกระบวนการคิดที่นำไปสู่ระบบการศึกษาของไทยที่มีคุณภาพมาตรฐาน เด็กของไทยทุกคนจะได้รับโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ตลอดถึงระบบการศึกษาที่มีรูปธรรมชัดเจน มีระบบการประเมินผลที่ชัดเจน และการคัดเลือกเด็กไทยเข้ามหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน เพราะนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป ข้อคิดคือสมัยของผมมีระบบการเอนทรานซ์ ทั่วประเทศ คิดว่ามีความเป็นธรรมกว่าปัจจุบันไม่สร้างความสับสนแก่ผู้เรียนและผู้ปกครองอีกด้วย
///มองต่อว่า รัฐบาลไทยหรือผู้บริหารที่บริหารราชการมองอย่างไรและจะกำหนดรูปแบบของการศึกษาของไทยมีหน้าตาอย่างไรที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในด้านการศึกษาของไทย///// ???????

 

โดย: ธนินเกียรติ IP: 27.55.85.105 11 พฤศจิกายน 2553 19:48:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.