Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
14 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

ครบเครื่องเรื่องรามัญ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น หรือการกลืนชาติ






ประชาไท – สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “ครบเครื่องเรื่องรามัญ : ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ภาษา และศิลปะการแสดง” เพื่อนำเสนอผลงานทางวิชาการ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนักวิชาการจากนานาประเทศ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 90 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสัมมนาจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 ต.ค. 50 ณ อาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




ศ.ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันท์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงานว่า การจัดการสัมมนาในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สถาบันการศึกษาได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อเปิดมิติการรับรู้ และสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติมอญ กลุ่มชนที่ไร้แผ่นดินแต่มีอารยะธรรมอันเก่าแก่ มีความสำคัญในอุษาคเนย์ไม่ด้อยกว่ากลุ่มชนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างประเทศ แต่กลับไม่มีพื้นที่ในการจัดสัมมนาเชิงวิชาการระดับนานาชาติที่มั่นคง ชัดเจน และต่อเนื่องอย่างเท่าเทียมกัน



“การสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นหลักหมายอันสำคัญของการเปิดมิติการศึกษาให้ก้าวล่วงกรอบความเป็นรัฐชาติ สู่เวทีของความเป็นมนุษยชาติที่ปราศจากพรมแดนทางการเมืองมาขีดขั้น” อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

บรรยากาศการสัมมนามีผู้สนใจเข้าร่วมอย่างอย่างคับคั่งทั้งชาวไทย ชาวไทยเชื้อสายมอญ ชาวมอญ และนักสังคมศาสตร์ รวมถึงนักประวัติศาสตร์ และจากกำหนดการในช่วงท้ายของวันสัมมนาจะมีการจัดแสดงละครพันทาง “ราชาธิราช ตอน ขอดูตัวสมิงนครอินทร์ และสมิงพระรามรบกามณี” นำทีมนักแสดงกรมศิลปากร โดยปกรณ์ พรพิสุทธิ์ พร้อมระบำมอญและปี่พาทย์มอญสำเนียงไทยประชันวงปี่พาทย์มอญจากหงสาวดี จัดแสดงระหว่างวันที่ 12-13 ตุลาคม 50 ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย





มอญในราชสำนักไทย 1

นายโสภณ นิไชยโยค บุคลดีเด่นในการอนุรักษ์ภาษาและวัฒนธรรมมอญ ในฐานะเชื้อสายของเจ้าเมืองไทรโยค หนึ่งในผู้ว่าราชการ 7 เมือง เล่าถึงความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งมอญอยู่ในฐานะรัฐกันชนระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา จนได้มีการก่อกบฏ แต่ในที่สุดก็ถูกพระเจ้ามังลอกกษัตริย์พม่าในขณะนั้นปราบปรามสำเร็จ ทำให้หัวหน้ามอญในเมืองเมาะตะมะ เมาะลำเลิง และพรรคพวกร่วม 1,000 คน อพยพลี้ภัยจากพม่าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารเจ้ากรุงสยาม (พระเจ้าเอกทัศน์) ในปี พ.ศ.2303 ให้มอญตั้งบ้านเรือนและปกครองตนเองอยู่ตามเขตชายแดนในบ้านท่าขนุน ทองผาภูมิ ไทรโยค ท่าตะกั่ว ลุ่มสุ่ม เมืองสิงห์ ท่ากระดาน และให้ทำหน้าที่เป็นค่าย 7 ค่าย คอยสอดส่องลาดตระเวนชายแดนไทย และรายงานความเคลื่อนไหวของพม่ามายังกรุงศรีอยุธยา



ต่อมาในปี พ.ศ.2310 อยุธยาเสียเมืองแก่พม่า ได้มีชาวมอญอพยพเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มเติมในบริเวณบ้านโพธาราม บ้านบางเลา บ้านนครชุม แขวงเมืองราชบุรี จนในสมัยพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรี ค่ายทั้งเจ็ดถูกตั้งเป็นด่าน และทำหน้าที่สอดส่องลาดตระเวนมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์



จนกระทั้งในปี พ.ศ.2328 เกิดสงคราม 9 ทัพระหว่างไทยพม่า ซึ่งชาวด่าน 7 เมืองมีบทบาทในการเป็นกองเสบียงและร่วมรบในสงครามใต้บัญชาของพระยากาญจนบุรีส่วนหนึ่งและพระยามหาโยธา (เจ่ง) ผู้เป็นต้นสกุลคชเสนีอีกส่วนหนึ่ง เพราะมีความชำนาญภูมิประเทศเป็นอย่างดี เมื่อชนะสงครามเสร็จสิ้นจึงได้มีการปูนบำเหน็จความดีความชอบ โดยให้ยก 7 ด่านขึ้นเป็นเมือง และให้นายด่านเป็นเจ้าเมืองมีตำแหน่งเป็น “พระ” โดยต่อมามีหลักฐานเชื่อได้ว่าเจ้าเมืองบางท่านได้รับบรรดาศักดิ์ในชั้น “พระยา” นอกจากนั้นมีการตั้งกรรมการเมืองเช่นเมืองต่างๆ ทั่วไป แต่มีตำแหน่งจักกายซึ่งเป็นตำแหน่งกรมการเมืองมาแต่อดีตครั้งยังมีประเทศรามัญ



รามัญทั้ง 7 เมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการปกครองในสมัยต่างๆ ของกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีในฐานะส่วนหนึ่งของแผ่นดินสยาม เมื่อเริ่มจัดการปกครองตามระเบียบใหม่ตั้งแต่ พ.ศ.2438 ได้ยกเลิกรามัญ 7 หัวเมืองโดยยกไปสักกัดขึ้นกับเมืองกาญจนบุรีฐานะของเมืองเหล่านี้จึงเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันเมืองทองผาภูมิเป็น อ.ทองผาภูมิ เมืองท่าขนุน (สังขละบุรี) เป็น อ.สังขละบุรี เมืองไทรโยคเป็น อ.ไทรโยค เมืองท่าตะกั่วยุบเป็นหมู่บ้านใน ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค เมืองลุ่มสุ่มยุบเป็นหมู่บ้านใน ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค เมืองสิงห์ยุบเป็นหมู่บ้านใน ต.เมืองสิงห์ อ.ไทรโยค เมืองท่ากระดานยุบเป็นหมู่บ้านใน อ.ศรีสวัสดิ์





เสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวมอญในมุมมองผู้สืบเชื้อสายมอญ

“ผมภูมิใจในความเป็นมอญ ผมเป็นคนมอญ และลูกหลานผมยังเป็นคนมอญ” นายจิรากรณ์ คชเสนี กล่าวถึงความภาคภูมิใจในฐานะลูกหลานสายสกุลคชเสนี



นายจิรากรณ์ กล่าวในเรื่องเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวมอญในมุมมองผู้สืบเชื้อสายมอญ โดยนำเสนอข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและน่าเชื่อถือที่รวมรวบอยู่หอประวัติ สก๊อตต์แลนด์ เมืองเอดินเบอระห์ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมเอกสารทั้งหมดที่พิมพ์หรือจัดทำขึ้นหนึ่งในสองแห่งของสหราชอาณาจักร ใน 3 เด็น คือ ประเด็นแรกอาณาจักรมอญกว้างขวางแค่ไหน ประเด็นต่อมาพญาเจ่งคือใคร และประเด็นสุดท้ายทำไมความพยายามของอังกฤษในการที่จะตั้งอาณาจักรมอญขึ้นมาใหม่ เมื่อครั้งรบชนะพม่าจึงไม่ประสบความสำเร็จ



ประเด็นแรก นายจิรากรณ์แสดงความเห็นว่า ที่ตั้งของรัฐมอญตามแผนที่ปัจจุบันของประเทศพม่าเป็นสิ่งที่น่าจะถูกบิดเบือนและไม่ได้สะท้อนบ้านเกิดเมืองนอนที่แท้จริงของชาวมอญ เพราะอาณาจักรมอญหรือพะโคถูกทำลายบันทึกทางประวัติศาสตร์และรากฐานทางวัฒนธรรมตั้งแต่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าในสมัยเจ้าอลองพญา เมื่อพ.ศ.2294 ซึ่งตามหลักฐานที่ปรากฏหลงเหลืออยู่คาดการณ์ได้ว่าอาณาจักรมอญเป็นดินแดนที่อยู่ตอนใต้พม่าโดยมีเทือกเขาพะโคกั้นดินแดน ครอบคลุมดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี สะโตง และสาละวิน นับตั้งแต่เส้นรุ้งที่ 19 ½ องศาเหนือ ลงมาจนถึงพื้นที่อ่าวมะตะมะ (มะตะบัน) และมีศักยภาพทางการเกษตรที่ถือว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองตลอดเวลากว่า 2,500 ปี



ส่วนเรื่องราวของพญาเจ่งจากประวัติตระกูลคชเสนี พญาเจ่งเป็นหลานของเจ้าหงสาวดีคนสุดท้าย (พินยาทะละ)ซึ่งถูกประหารในปี พ.ศ.2318 เพื่อเฉลิมฉลองการมีชัยเหนืออาณาจักรมอญของพม่า ระหว่าง พ.ศ.2314-2317 พญาเจ่งนำทัพมอญต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพแต่ล้มเหลว ต้องอพยพชาวมอญมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารขอาณาจักรสยามในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ทำหน้าที่ควบคุมกองมอญในกองทัพสยามในตำแหน่งเจ้าพระยามหาโยธา ซึ่งต่อมาตำแหน่งและหน้าที่นี้ได้สืบต่อไปยังบุตรชายคนโตเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ)



ประเด็นสุดท้ายที่พูดถึงคือ ความพยายามของอังกฤษในการที่จะตั้งอาณาจักรมอญขึ้นมาใหม่ หลังเสร็จศึกอังกฤษ-พม่า ระหว่าง พ.ศ.2367-2369 ด้วยเหตุผลการใช้ยุทธศาสตร์แบ่งแยกแล้วปกครอง เพื่อควบคุมการเดินเรือในมหาสมุทรอินเดีย และเพื่อการครอบครองทรัพยากรและการค้าขาย ข้าว เครื่องเทศ และไม้สัก ซึ่งความพยายามไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีข้อเสนอถึงเหตุผลจาก 3 แหล่ง คือ



1.จากการวิเคราะห์ของ ศจ.หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวพม่า อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยร่างกุ้ง ซึ่งให้เหตุผลว่าชาวมอญไม่ต้องการเห็นอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนตน อีกทั้งชาวมอญที่ยังอยู่ในดินแดนดังกล่าวเป็นฝ่ายเดียวกับพม่า ขณะที่ส่วนหนึ่งเป็นพันๆ คน ได้ละทิ้งบ้านเกิดเมืองนอนไปสวามิภักดิ์กับสยามประเทศก่อนหน้านั้น ตามข้อเสนอนี้นายจิรากรณ์ มีความเห็นขัดแย้งมากโดยกล่าวว่าเวลาเพียง 69 ปีที่อาณาจักรมอญถูกทำลายอย่างสิ้นเชิงในสมัยพระเจ้าอลองพญา เมื่อพ.ศ.2300 คงไม่ทำให้มอญลืมความเจ็บปวดและผสานเป็นเนื้อเดียวกับพม่าได้



2.จากประวัติตระกูลคชเสนี ซึ่งส่วนใหญ่รวบรวมจากพระราชนิพนธ์ของสมเด็จในพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่าอังกฤษได้ทาบทามเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) หนึ่งในผู้นำทัพหน้าของพันธมิตรแห่งสยามประเทศ ซึ่งด้วยชาติกำเนิดจึงนำไปสู่ชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จของอังกฤษที่มีการสูญเสียน้อยมาก ไปเป็นเจ้าหงสาวดี แต่เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) แสดงความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อกษัตริย์และอาณาจักรสยาม อังกฤษจึงเลิกล้มความตั้งใจ



3.จากงานของ เซอร์อาร์เทอร์ เพอยร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำพม่าคนสุดท้าย กล่าวถึงเหตุผล 4 ประการ คือ ผู้กล่าวอ้างสิทธิจะเป็นเจ้าอาณาจักรมอญที่อยู่ในผืนแผ่นดินมอญไม่ได้สืบเชื้อสายจากเจ้ากรุงหงสาวดีองค์ก่อนๆ สองดินแดนที่เคยอยู่ในอาณาจักมอญเดิมมีการผสมกลมกลืนระหว่างเชื้อชาติมอญกับพม่าจนไม่สามารแยกเชื้อชาติต่อไปได้ สามเกรงกระตุ้นความไม่พอใจของราชสำนักอังวะ และสุดท้ายซึ่งนายจิรากรณ์คาดว่า เป็นเหตุผลสำคัญคือการที่สยามไม่ได้สนใจหรือสนับสนุนการก่อตั้งอาณาจักรมอญ โดยกล่าวว่าการดำเนินการเพื่อก่อตั้งอาณาจักรมอญขึ้นมาใหม่เป็นการกระทำการอย่างลับๆ ของอังกฤษและกลุ่มคนมอญบางส่วนโดยที่สยามไม่ได้รับรู้



แม้ว่าความพยายามในการตั้งอาณาจักรมอญขึ้นมาใหม่จะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่หลังจากนั้นในสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2395 อังกฤษชนะและได้พนวกจังหวัดพะโคซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรมอญในอดีตเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษโดยไม่พนวกดินแดนอื่นๆ ที่เป็นอาณาจักรพม่าเข้าไปด้วย แสดงถึงการให้ความสำคัญกับผืนแผ่นดินนี้เป็นอย่างมาก เพราะผลประโยชน์จากทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์





ในส่วนเรื่องราวของสกุลคชเสนี นางสาวสุจริต ดีผดุง ผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง “มอญ: บทบาทด้านสังคม วัฒนธรรม ความเป็นมา และการเปลี่ยนแปลงในรอบ 200 ปี ของกรุงรัตนโกสินทร์” (พ.ศ.2525) ได้นำเสนอการค้นคว้าเกี่ยวกับสกุลคชเสนี และภาพรวมของสายสกุลอื่นๆที่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่มีคุณูปการต่อสังคมไทย

“ลูกหลานมอญที่เหลือ แม้ไม่ได้รบทัพ ไม่ได้เป็นจักรกาย ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นมอญหรือภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาตั้งแต่ครั้งอดีต” นางสาวสุจริตกล่าวอ้างอิงคำพูดของศาสตราจารย์นายแพทย์สุเอ็ด คชเสนี เพื่ออ้างอิงถึงความเป็นมอญในเมืองไทยปัจจุบัน





การย้ายถิ่น การตั้งถิ่นฐาน และการผสานวัฒนธรรมมอญในประวัติศาสตร์ไทย

นางสาวพยุง วงษ์น้อย นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑ ราชบุรีกล่าวถึงวัฒนธรรมทวารวดีในลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี โดยอ้างอิงหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่มีการขุดค้นพบแต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าหลักฐานที่มีนั้นเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชนชาติมอญอย่างไร โดยกล่าวว่าแม้จะพบจารึกภาษามอญ แต่นักโบราณคดียังไม่สามารถระบุได้ว่าคนมอญเป็นเจ้าของวัฒนธรรมทวารวดี บอกได้เพียงว่ามีกลุ่มก่อนประวัติศาสตร์เดิมอาศัยอยู่ในพื้นที่แต่ละพื้นที่



นางสาวสุภรณ์ โอเจริญ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวเกี่ยวกับการวิจัยหัวขอมอญในเมืองไทย: การอพยพ ฐานะ และการผสมกลมกลืน ว่า ชาวมอญในเมืองไทย ศึกษาจากชุมชนมอญแหล่งใหญ่ๆ ที่มีชาวมอญอพยพมาจากพม่าตอนล่างและได้มาตั้งถิ่นฐาน ในแถบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจนกรุงเทพฯ ขึ้นไปจนถึงนครสวรรค์ และตามลำน้ำแม่กรองในกาญจนบุรี ราชบุรี มาจนถึงเพชรบุรี รวมทั้งแหล่งสำคัญคือ ปากลัดหรือพระประแดง (นครเขื่อนขันธ์) จ.สมุทรปราการ โดยการเข้าสู่ประเทศไทยมีทั้งในรูปแบบของเชลยศึก หลบหนีจากการเกณฑ์ไพรพลของกองทัพพม่า และเข้ามาในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการก่อกบฏแล้วถูกพม่าปราบปราม



เส้นทางการอพยพมี 4 ทาง ตั้งต้นจากเมืองเมาะตะมะ โดย 1.ทางเหนือ อพยพเข้ามาทางเมืองตากหรือเมืองระแหง ทางด่านแม่ละเมา 2.ทางใต้อพยพมายังกาญจนบุรี ทางด่านเจดีย์สามองค์ เป็นเส้นทางที่มีการใช้กันมาก 3.เข้ามาทางเมืองอุทัยธานี 4.เข้ามาทางเชียงใหม่ มีการอพยพครั้งสำคัญที่ปรากฏหลักฐานอยู่ 7 ครั้ง แบ่งเป็นในสมัยอยุธยา 5 ครั้ง คือสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา พ.ศ.2112-2133 สมัยสมเด็จพระนเรศวร พ.ศ.2133-2148 สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ.2173-2198 สมัยสมเด็จพระนาราย พ.ศ.2199-2231 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พ.ศ.2275-2301



ส่วนอีกสองครั้งเป็นการอพยพในสมัยกรุงธนบุรีราว พ.ศ.2318 และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นซึ่งเข้ามาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แม้ว่าการอพยพจะไม่สามารถระบุครั้งและจำนวนของชาวมอญที่อาศัยอยู่ในไทยที่ชัดเจนได้ เพราะไม่มีการบันทึกหลักฐานอีกทั้งมีการผสมกลมกลืนกัน นอกจากนี้การทำสำมะโนประชากรทั่วประเทศในช่วงหลังรัชกาลที่ 5 ทำให้คนมอญได้กลายเป็นสัญชาติไทยไปหมด อย่างไรก็ตามใน พ.ศ.2515 จากงานวิจัยของ ดร.ไบรอัน แอล ฟอสเตอร์ นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน คาดว่าน่าจะมีคนมอญถึงกว่า 1 ล้านคน ทีมีคุณสมบัติเป็นมอญนอกจากเชื้อสาย แต่ถ้าดูในด้านความจดเจนด้านภาษาเป็นหลักอาจไม่ถึง 50,000 คน



ชาวมอญที่เข้ามาอยู่ในไทยไม่ว่าจะจากการอพยพหรือกวาดต้อนจะได้รับการดูแลในฐานะไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ในสถานะเทียบเท่าคนไทยในระบบ “ไพร่” ไม่ถือเป็นคนต่างชาติ ดังเช่น แขก ฝรั่ง อังกฤษ มิลันดา มาลายู โดยให้ตั้งชุมชนเป็นอิสระปกครองตนเอง โดยมีหน้าที่เป็นไพร่พล ส่งสวย และเสียภาษีเหมือนคนไทยทั่วไป ที่อยู่ภายใต้กฎหมายและศาลไทย อีกทั้งยังมีการถือน้ำพิพัฒน์สัจจาปีละ 2 ครั้งเพื่อถวายสัตย์และแสดงความจงรักภักดี



ความใกล้ชิดและความคล้ายคลึงกันของชาวมอญและชาวไทย ทั้งรูปร่างหน้าตา อาชีพ สังคม วัฒนธรรม และพุทธศาสนา ทำให้เกิดการผสมกลมกลืน และด้วยนโยบายรัฐก็เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าในทางศาสนาซึ่งเดิมพระสงฆ์รามัญนิกายจะแยกต่างหากจากคณะสงไทย แต่เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองพระสงฆ์ ในปี พ.ศ.2445 และยกเลิกการศึกษาพระปริยัติธรรมแบบรามัญให้มาเรียนตามแบบไทย ในปี พ.ศ.2454 ส่งผลให้ปัจจุบันพระมอญและวัดมอญบางแห่งแทบไม่ต่างจากพระสงฆ์ไทยและวัดไทย รวมถึงหลักสูตรการศึกษาซึ่งมีการปฏิรูปตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 จากอิทธิพลจากความเจริญของสังคมภายนอกก็ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมทั้งชาวไทยและมอญ



ด้านนางบุษบา ประภาสพงศ์ นักวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เสนอเรื่องสถานการณ์ภาษาและวรรณกรรมมอญในประเทศไทย โดยกล่าวว่า ก่อนการปฏิรูปการศึกษาวัฒนธรรมมอญมีส่วนสำคัญมากในราชสำนัก มีกวี และนักแปรมอญ เพื่อแปลวรรณกรรม ตำรา ดนตรี และเพลงมอญเป็นภาษาไทยออกมามากมาย ต่อมาเด็กไทยเชื้อสายมอญได้เข้าสู่การศึกษาแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญเฉพาะภาษาไทยกับภาษต่างประเทศ ภาษามอญและภาษาของชนกลุ่มน้อยต่างๆ กลายเป็นภาษาที่ไม่ควรนำมาพูดในห้องเรียน เด็กๆ จึงไม่กล้าใช้ภาษาถิ่นในที่สาธารณะ แม้แต่พระสงฆ์ก็ไม่ได้มีการศึกษาภาษามอญ ภาษาพูดและภาษาเขียนของคนมอญในประเทศไทยจึงสูญหายไปจากชุมชนมอญหลายต่อหลายแห่ง



สำหรับการฟื้นฟู และธำรงรักษาวัฒนธรรมและวรรณกรรมมอญ นางบุษบามีข้อเสนอดังนี้ 1.เริ่มบ่มเพาะผู้รู้ภาษามอญอย่างลุ่มลึกในระดับการศึกษาขั้นสูง เพื่อศึกษาตำราเก่าที่บันทึกภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าซึ่งวันนี้ชำรุดทรุดโทรมเต็มที 2.สำรวจรวบรวมและจัดเก็บรักษาเอกสารสำคัญ และมีความเก่าแก่จากวัดมอญในประเทศ ซึ่งหลงเหลือไม่มีการศึกษาอีกกว่าร้อยวัด เพื่อเร่งอนุรักษ์เอกสารโบราณ 3.มหาวิทยาลัยควรร่วมมือกับผู้มีความรู้ในเรื่องภาษามอญจากนานาชาติเพื่อเร่งผลิตบัณฑิตทางภาษามอญ



4.จัดพิมพ์หนังสือหรือแบบเรียนภาษามอญที่มีความยากในระดับต่างๆ สำหรับฝึกการอ่านเขียนตามระดับ 5.สังคายนาและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษามอญครบชุด รวมไปถึงจัดพิมพ์วรรณกรรมมอญโบราณและถ่ายทอดเป็นภาษต่างๆให้แก่ผู้สนใจ 6.ทำโครงการร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษมอญในประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาครูอาจารย์ที่รู้ภาษามอญ



นอกจากนี้นางบุษบายังได้กล่าวในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษาว่า ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานปัจจุบันมีการสนับสนุนการอนุรักษ์ฟื้นฟูภาษาถิ่นด้วยการใช้ภาษาถิ่นมาพัฒนาการศึกษา โดยบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 48 และนำร่องพื้นที่จริงในปี 50 ภาษามอญเริ่มที่วัดวิเวการาม วัดหลวงพ่ออุตตมะ เพื่อพิสูจน์ถึงแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่ดีว่ามีหลายวิธีการและการศึกษาน่าจะมาจากพื้นฐานความรู้เดิมของเด็ก



สุดท้ายนายพิศาล บุญผูก อดีตประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ พูดเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์มอญในประเทศไทย และกล่าวถึงผู้ตีพิมพ์หนังสือมอญคนแรกของประเทศไทยซึ่งเป็นพระสงฆ์มอญนามว่าพระอาจารย์บุญขันธ์ จันทะกันตะได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ภาษามอญขึ้น เมื่อ พ.ศ.2447หลังเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้บนใบลานมาเป็นเวลานาน โดยตั้งโรงพิมพ์ชื่อปุญญักขันธาคารเรียกทั่วไปว่าโรงพิมพ์วัดปากถัด ตั้งอยู่ที่วัดแคและวัดโมกข์ พระปะแดง ก่อนจะย้ายไปที่วัดพิฆพาวาส อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งแม้หนังสือจะพิมพ์ออกมาไม่มากนักแต่ก็ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี



นายพิศาล บุญผูกเล่าถึงการถ่ายทอดความรู้จากหนังสือในสมัยโบราณว่าในระหว่าการถือศีลที่วันเมือถึงเวลาว่างจากการฟังพระสวดจะมีผู้รู้และเชียวชาญอักษรนำหนังสือมาอ่านเล่าสู่กันฟัง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการถ่ายทอดความรู้และสืบต่ออายุของหนังสือให้ยืนยาวได้ แต่ปัจจุบันมีการลดบทบาทของหนังสือลงไป โดยการนำมาจัดวางเรียงเป็นตั้งๆ เมื่อไม่มีการหยิบมาอ่านเนื้อหาอันทรงคุณค่าในหนังสือก็ไม่มีความหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับหนังสือไม่ว่าจะเป็นหนังสือมอญหรือหนังสือไทยเองก็ตาม



ที่มา : ประชาไท วันที่ : 14/10/2550




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2550
6 comments
Last Update : 14 ตุลาคม 2550 13:21:33 น.
Counter : 1828 Pageviews.

 

ขอคืนพื้นที่โลกสำหรับ "มอญ" กลับคืนมา

 

โดย: กุมภีน 14 ตุลาคม 2550 15:46:26 น.  

 

พี่ครับผมติดตามอ่าน Blog ของพี่มานานแล้วครับ เกี่ยวกับทั้งประวััติศาสตร์ การเมือง สังคม รู้สึกชึ่นชมพี่่มากๆครับ
ตอนนี้ผมกำลังภาคนิพนธ์ ของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครับ และก็สนใจเกี่ยวกับปประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมไทย จึงอยากได้คำชี้แนะจากพี่ เพื่อพัฒนาให้ภาคนิพนธ์ ฉบับนี้มีความสมบูรณืและมีคุณค่าทางวิชาการมากขึ้น
จึงอยากติดต่อกับพี่ ขอคำชี้แนะดีๆ ครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยนะครับ
eik_q128@hotmail.com หรือ 084-0772503

ป.ล ภาคนิพนธ์ คือ รายงานการวิจัยเพื่ออนุมัติจบปริญญาตรี (คล้ายวิทยานิพนธ์) และหวังว่าคงได้รับคำชี้แนะดีๆจากพี่นะครับ

 

โดย: ตั้ม IP: 202.28.27.3 22 ตุลาคม 2550 20:47:58 น.  

 

ยังไงก็ส่งรายละเอียดมาบางนะครับ น้องก็ยังเอาวิทยานิพนธ์ของน้องไม่รอดเช่นกันพี่ ยังไงพี่ตั้มส่งรายละเอียดาให€ห€น่อย ถ้าช่วยได้ก็จะช่วยนะ

 

โดย: Darksingha 22 ตุลาคม 2550 22:07:03 น.  

 

อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับการแสดงระบำสะบ้ามอญจังเลย

 

โดย: เป้ IP: 125.26.51.144 10 ธันวาคม 2550 13:29:13 น.  

 

whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him

 

โดย: da IP: 124.122.247.144 18 เมษายน 2553 23:45:03 น.  

 

whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him

 

โดย: da IP: 124.122.247.144 18 เมษายน 2553 23:46:07 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.