หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช(NARAMA9)






นับแต่ทรงขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๙ เป็นต้นมา ได้ทรงพระวิริยอุตสาหะประกอบพระราชกรณียกิจ บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎรด้วยพระปรีชาสามารถล้ำเลิศและด้วยน้ำพระราชหฤทัย พระเมตตา ทรงรักประชาชนของพระองค์ ทรงหาทางแก้ไขปัญหาของอาณาประชาราษฎร์ให้คลี่คลายได้ตลอดมา สมดังได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกระดับ เมื่อยามสุขจะทรงหาหนทางพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทรงเป็นขวัญบ้านขวัญเมือง เมื่อยามทุกข์จะทรงปลอบขวัญประชาชนให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหา เมื่อยามที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตจะทรงเตือนสติให้ค่อยคิดอ่าน หันมาปรองดองกัน พระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนในโอกาสต่าง ๆ ล้วนแต่มีหลักธรรมในการดำเนินชีวิต การใช้สติ และการอยู่ร่วมกัน เพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติบ้านเมือง ทั้งสิ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัจฉริยภาพทั้งด้านการปกครอง ด้านวิทยาศาสตร์ ตลอดจนด้านศิลปศาสตร์ ทรงสนพระราชหฤทัยในด้านใด จะทรงศึกษา ศาสตร์เกือบทุกสาขา และเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงแก่นการที่จะพระราชทานพระราชดำริ หรือพระราชวินิจฉัยใดต่อประชาชน และหน่วยงานของรัฐ จะทรงศึกษาและทดลองด้วยพระองค์เอง ทรงสอบถามจากผู้รู้ทุกระดับ จนสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง หรือมีหนทางที่จะพัฒนาได้ จึงจะพระราชทานให้ประชาชน นำไปเป็นความรู้ในการดำเนินงานแขนงต่าง ๆ หรือพระราชทานให้หน่วยงานของรัฐนำไปวิจัยศึกษาความเป็นไปได้แล้วนำมาปฏิบัติ หากศึกษาแล้วไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่อำนวย เกินกำลังงบประมาณของรัฐบาล หรือมีเหตุผลอันสมควรที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ก็ทรงรับฟังทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา ดังได้พระราชทานไว้ในหนังสือ “คำพ่อสอน” ว่า เด็กควรเรียนรู้จากผู้ใหญ่ ๓ ประการ คือ เรียนความรู้ เรียนความดี และเรียนทำงานเป็น จึงจะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานเกินกึ่งศตวรรษที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ก่อให้เกิดอารยธรรมความเจริญขึ้นในท้องถิ่นทุรกันดาร มีการสืบทอดภูมิปัญญาไทยที่สอดคล้องกับธรรมชาติ และความเป็นอยู่ของประชาชนในแต่ละภูมิภาค ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีที่ขาดการสืบทอดมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาทิ พระราชพิธีแรกนาขวัญพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินหลวง เพื่อให้ประชาชนดำรงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ และสืบทอดให้ยั่งยืน พระองค์มีน้ำพระราชหฤทัยทรงห่วงใยศิลปวัฒนธรรม เช่น ด้านภาษาไทย ดนตรีไทย ศิลปกรรมไทย สถาปัตยกรรมไทย และหัตถกรรมไทย ซึ่งได้พระราชทานพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ และมีพระราชดำริว่า ศิลปินไทยในปัจจุบันควรสร้างสรรค์งาน ที่เป็นเอกลักษณ์ไทยแห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๕-๒๖ ให้ปรากฏต่ออนุชนไทยในภายภาคหน้าด้วย การที่เทคโนโลยีหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศนั้น ต้องเลือกรับเข้ามาใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย นอกจากนั้นทรงให้ความสำคัญของปัญหาความแออัดในเมืองหลวง และเมืองใหญ่ในแต่ละภาค อาทิ การสร้างถนนต่างระดับ และสะพาน เป็นต้น ยังมีความเจริญในด้านอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งได้พระราชทานคำแนะนำอันเป็นประโยชน์แก่หน่วยราชการ และผู้ปฏิบัติงานของรัฐตลอดจนเอกชน ทรงห่วงใยในการดำรงชีพของราษฎรไทยในชนบทตลอดมา จึงทรงพระกรุณาศึกษาค้นคว้าและพัฒนาดิน น้ำ และภาคเกษตรกรรม เพื่อให้ราษฎรประกอบอาชีพเป็นผลดี และสามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้เหมาะสมแก่อัตภาพรัฐบาลทุกยุคสมัย ต่างเห็นความสำคัญในการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ในรัชสมัยแห่งการครองราชย์ของพระองค์ ดังนั้น เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๘ อันเป็นมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระราชพิธีกาญจนาภิเษกในโอกาสทรงครองสิริราช สมบัติครบ ๕๐ ปี รัฐบาลจึงได้จัดสร้าง หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเฉลิมพระเกียรติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติแห่งนี้มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมเรื่องราว และเอกสารอันเกี่ยวเนื่องในพระองค์ และพระบรมราชวงศ์

(คัดลอกจากเวป https://www.sakulthai.com สาลินี ชุ่มวรรณ์ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ เรียบเรียง ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ)









บล็อกนี้ขอพาไปเยี่ยมชมเฉพาะอาคารจัดนิทรรศการซึ่งเป็นอาคาร ๓ และ อาคาร ๔ แบบฉบับย่อรวบรัดค่ะ แต่ถึงกระนั้นบล็อกก็ยังยาวมาก จึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านไปเยี่ยมชมด้วยตนเอง รับรองว่าทุกท่านจะมีความสุข เพลิดเพลินและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านเป็นล้นพ้นค่ะ นิทรรศการนั้นประกอบด้วยเอกสาร จดหมายเหตุ ภาพถ่าย สื่อโสตทัศนศึกษา รวมทั้งการจำลองบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์จริง รวม 27 หัวข้อ รวมพื้นที่จัดแสดงอาคารละ 4500 ตารางเมตร ครอบครัวเราไปกันหลายครั้ง โดยใช้เวลาครั้งละครึ่งวัน เพราะทั้งเด็กและคนแก่เดินไม่ค่อยจะไหวค่ะ และที่นั่นมีเพียงของทานเล่นขาย ไม่มีร้านอาหารบริการเติมพลังนะคะ คงเนื่องจากว่าจำนวนคนที่เข้าเยี่ยมชมนั้นน้อยมากค่ะ ไม่ว่าเราไปกี่ครั้งก็มีครอบครัวเราครอบครัวเดียวที่เข้าไปเยี่ยมชมค่ะ
(เปิดบริการจันทร์ถึงเสาร์ 9.00-16.00 น. เว้นวันอาทิยต์และวันหยุดนขัตฤกษ์ และหากท่านต้องการดูรูปเพิ่มเติมรวมทั้งรายละเอียดอื่น ๆ เช่นแผนที่ตั้ง วัตถุประสงค์ ขอเชิญที่หน้าเวป FB ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นะคะ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ค่ะ)




เริ่มกันที่อาคาร ๓ ค่ะ



จัดแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เสด็จพระบรมราชสมภพ พระราชจริยวัตรขณะประทับในวังสระปทุมขณะเยาว์พระชันษา สถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ส่งผลให้ต้องเสด็จ ฯ ไปประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘ การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และพระราชพิธีสำคัญ ๆ ในรัชกาล



อาคาร ๓ ชั้นที่ ๑ ประกอบด้วย








โซนที่ ๑ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

ห้องแรกที่ผู้เข้าชมจะได้เข้าชม แสดงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขนาดใหญ่ พร้อมนำเสนอวีดิทัศน์สารคดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวย้อนไปสู่อดีตจากพุทธศักราช ๒๕๔๙ – ๒๔๘๙ เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการร่วมถวายสักการะ และชื่นชมในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงอุทิศพระกำลังพระวรกาย และพระปรีชาญาณ ตลอดระยะเวลา ๖๐ ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ








โซนที่ ๒ พสกนิกรจงรักภักดี

แสดงถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลา ๖๐ ปีที่ทรงครองราชย์ ประชาชนร่มเย็นเป็นสุขใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ จัดแสดงผ่านการจำลองบ้านเรือน ร้านค้า ที่เป็นตัวแทนสื่อถึงความจงรักภักดีในยุคสมัยต่าง ๆ ตามช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีงานพระราชพิธีสำคัญ ๆ ได้แก่ จำลองบ้านเรือน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ร้านตัดผม พุทธศักราช ๒๕๑๔ ช่วงพระราชพิธีรัชดาภิเษก ร้านขายของชำ พุทธศักราช ๒๕๓๑ ช่วงพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร้านถ่ายรูป พุทธศักราช ๒๕๓๙ ช่วงพระราชพิธีกาญจนาภิเษก และร้านขายหนังสือ พุทธศักราช ๒๕๔๙ ช่วงงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี








โซนที่ ๓ ดินแดนเสด็จพระบรมราชสมภพ

แสดงพระราชประวัติสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของพระราชโอรสพระราชธิดา ด้วยพระอุปนิสัยและแนวพระราชดำริที่คล้ายกันหลายด้าน ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างเรียบง่ายเยี่ยงสามัญชน ที่สำคัญทั้งสองพระองค์มีน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตาธรรมจนเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป ซึ่งพระราชจริยวัตรเหล่านี้ล้วนเป็นต้นแบบอันดีแก่พระราชโอรส พระราชธิดา ทั้ง ๓ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
๒. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘
๓. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระบรมราชสมภพ ณ โรงพยาบาลเคมบริดจ์ สหรัฐอเมริกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระนามว่า ภูมิพลอดุลเดช ดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงพยาบาลเมานท์ออเบิร์น อันเป็นสถานที่เสด็จพระบรมราชสมภพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายแพทย์และพยาบาลผู้ถวายการพระบรมราชสมภพ เข้าเฝ้า ฯ และคนไทยร่วมกับเทศบาล เมืองเคมบริดจ์ ได้จัดสร้างจัตุรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ( King Bhumibol Adulyadej Square)ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสถานที่เสด็จพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว






พระสูติบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว











โซนที่ ๔ พระบรมวงศานุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ ๗

จัดแสดงพระราชประวัติสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระเมตตาที่ทรงมีต่อเจ้านายราชสกุลมหิดลเป็นล้นพ้น ทรงห่วงใยและทรงคำนึงถึงอยู่เสมอ ทรงเป็นที่ปรึกษาพระราชทานคำแนะนำต่าง ๆ แก่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แม้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ยังมีพระทัยที่มั่นคง ทรงคุ้มครองอุปถัมภ์พระราชวงศ์ทั้งปวงด้วยพระเมตตาธรรม โดยเฉพาะช่วงเวลาที่สมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชนัดดาทั้ง ๓ พระองค์ประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเลื่อนพระอิสริยยศหม่อมเจ้า ที่เป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้า ซึ่งพระมารดามิได้เป็นเจ้า ขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า โดยประกาศเฉลิมพระยศพระองค์เจ้าต่าง ๆ และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระบรมราชสมภพในปีนั้น จึงมีพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช






อาคาร ๓ ชั้นที่ ๒






โซนที่๑ ณ วังสระปทุม

นำเสนอเหตุการณ์ พุทธศักราช ๒๔๗๑ เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนก ทรงสอบไล่ได้ปริญญาแพทยศาสตร์ชั้นเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงพาครอบครัวมหิดล เสด็จกลับประเทศไทย ประทับ ณ พระตำหนักที่สร้างขึ้นใหม่ ภายในวังสระปทุม ตำหนักซึ่งชาววังเรียกว่า “ ตำหนักใหม่ ” สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงตั้งพระทัยไปเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ด้วยพระอิสริยยศเป็นอุปสรรค และเมื่อโรงพยาบาลแมคคอร์มิคที่เชียงใหม่กราบบังคมทูลเชิญไปเป็นแพทย์ประจำบ้าน พระองค์ก็ทรงรับ ต่อมาทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ รวมพระชนมายุ ๓๗ ปี







โซนที่ ๒ ขณะเยาว์พระชันษา ณ วังสระปทุม

นำเสนอพระราชจริยวัตรในวังสระปทุมของเจ้านายพระองค์น้อย ภายหลังจากสมเด็จ พระบรมราชชนกเสด็จสวรรคต ในช่วงพุทธศักราช ๒๔๗๑ - พุทธศักราช ๒๔๗๖ เจ้านายพระองค์น้อย ทั้ง ๓ พระองค์ ทรงได้รับการอภิบาลอย่างดีจากสมเด็จพระบรมราชชนนี และทรงได้รับความรักความเมตตาอย่างสูงจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จนกระทั่งทรงเจริญพระชันษาและเข้ารับการศึกษาชั้นต้น พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๑๕๐ ปี มีพระราชพิธีเปิดพระปฐมบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเปิด ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงพระเยาว์ได้เสด็จ พระราชดำเนินไปในพระราชพิธีด้วย นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชในการฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ความผันแปรครั้งใหม่ในบ้านเมือง ส่งผลต่อสถานภาพของพระบรมวงศานุวงศ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงพาพระราชโอรส พระราชธิดา ไปต่างประเทศ เพื่อทรงศึกษา และรักษา พระพลานามัยของพระราชโอรสองค์โต ทรงเลือกประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์









จำลองพระตำหนักวิลล่าวัฒนา




โซนที่ ๓ พระตำหนักในแดนไกล

จัดแสดงเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยทรงสละราชสมบัติขณะประทับอยู่ประเทศอังกฤษ และรัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล เสด็จขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระราชมารดา พระเชษฐภคินี และพระอนุชา ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศตามฐานันดรศักดิ์อันสมควรแห่งพระราชวงศ์รัฐบาลได้ถวายคำแนะนำให้ทรงเปลี่ยนที่ประทับจากแฟลตมาประทับที่บ้านเช่าที่หลังใหญ่ขึ้น ณ เมืองพุยยี (Pully) ทรงตั้งชื่อบ้านหลังใหม่ว่า วิลล่าวัฒนา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงอภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยให้ทรงกีฬาประเภทต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามฤดูกาล เช่น สกี สเก็ตน้ำแข็ง ไต่เขา ว่ายน้ำ กรรเชียงเรือ หัดเรือใบ เทนนิส เป็นต้น และงานอดิเรกที่โปรด เช่น การเลี้ยงสัตว์ การประดิษฐ์รถแข่งและเรือรบ การถ่ายรูป ดนตรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมีความสนพระราชหฤทัยทางด้านการช่างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่างกล ช่างไฟฟ้า ช่างอิเลกทรอนิก









โซนที่ ๔ ตามเสด็จนิวัตพระนคร


นำเสนอเหตุการณ์ การเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินี และพระอนุชา จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สู่ประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลประทับในพระนคร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ โดยมีพระอนุชาตามเสด็จด้วยเสมอทั้ง ๒ พระองค์ มีพระราชจริยวัตร อันงดงาม ยังความชื่นชมโสมนัสมาสู่ผู้ที่ได้เฝ้าฯ โดยถ้วนหน้า ทรงเป็นยุวกษัตริย์ที่รักของปวงชนชาวไทย กระทั่งเสด็จฯ กลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ นำเสนอสภาพการณ์โดยทั่วไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเจ้านายในราชสกุลมหิดล พระราชจริยวัตรด้านต่าง ๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเริ่มสนพระราชหฤทัยเรื่องการต่อเรือ พุทธศักราช ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ เสด็จนิวัติพระนครครั้งที่ ๒ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี และพระอนุชา การเสด็จนิวัตพระนคร ครั้งที่ ๒ นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๘ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ การเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องที่ต่าง ๆ นอกเขตพระนคร เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี เป็นต้น สร้างความปลื้มปิติและบำรุงขวัญกำลังใจแก่ราษฎร เช้าวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ต้องพระแสงปืนสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ได้นำความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงมาสู่คนไทยทั้งชาติ









โซนที่๕ เถลิงถวัลยราชสมบัติ

นำเสนอเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ตามลำดับในการสืบราชสันตติวงศ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นทรงประกอบพิธีหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ณ โรงแรมวินด์เซอร์ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พุทธศักราช ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติประเทศไทย เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ ๘ จากนั้นโปรดเกล้า ฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส การประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ต่อมามีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี หลังการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินกลับสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อรักษาพระพลานามัย จนกระทั่ง พุทธศักราช ๒๔๙๔ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ พระราชธิดาพระองค์โตที่ประสูติ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวไทยมีความสุขมากที่สุด ด้วยนับแต่นี้พระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักจักประทับในเมืองไทยอย่างเป็นการถาวร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส และ พระราชธิดาอีก ๓ พระองค์ คือ
๑.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
๒.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์
๓.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์




อาคาร ๓ ชั้น ๓







โซนที่ ๑ ดำรงราชย์ ดำรงรัฐ

จัดแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความหมายและความผูกพันกับสังคมไทยนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อหรือคตินิยมที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาทหน้าที่หรือพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยต่าง ๆ นับแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์

โซนที่ ๒ พระราชพิธีสำคัญในรัชกาล

จัดแสดงถึงความหมายและความสำคัญของพระราชพิธี รวมถึงรูปแบบและขั้นตอนการจัดพระราชพิธีโดยสังเขป ประกอบด้วย
๑. พระราชพิธีและงานพระราชกุศลประจำปี
๒. พระราชพิธีเนื่องในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพิเศษ ดังนี้
- พระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ
- พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบสำคัญ
- พระราชพิธีสมโภชพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสเสด็จนิวัติพระนคร
- พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส
- พระราชพิธีทรงพระผนวช
๓. พระราชพิธีเนื่องในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสพิเศษ
๔. พระราชพิธีเนื่องในพระบรมวงศานุวงศ์
- พระราชพิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ
- พระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย และสถาปนาพระอิสริยศักดิ์
- พระราชพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และทรงผนวช
- พระราชพิธีอันเนื่องด้วยพระบรมศพ และพระบรมอัฐิ
๕. พระราชพิธีอันเนื่องด้วยความสำคัญของพระศาสนาและบ้านเมือง
- พระราชพิธีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา
- พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
- พระราชพิธีสมโภชหลักเมือง
- พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ
- พระราชพิธีด้านการทหาร
- พระราชพิธีด้านการปกครอง
๖. พระราชพิธีด้านนาฏศิลป์และการแสดง
๗. รัฐพิธีประจำปี





มาต่อกันที่อาคาร ๔ ค่ะ


จัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชปณิธานอันมั่นคงในการพัฒนาประเทศ ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ พระบรมราโชบายในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โครงการพระราชดำริฝนหลวง การบริหารจัดการน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีพระมหากรุณาธิคุณแก่งานด้านการศึกษา ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านการทหารและตำรวจตระเวนชายแดน ด้านกฎหมายและการปกครอง ด้านการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานและทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย



ชั้นที่ ๓(ทางนิทรรศการให้เราเริ่มชมที่ชั้น ๓ ไล่ลงมาค่ะ)


ส่วนที่ ๑ ศูนย์แห่งการทดลอง ศึกษา และพัฒนา








จัดแสดงประวัติความเป็นมาของพระตำหนัก ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์ในพระราชอิริยาบถต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะประทับและทรงงานภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รวมถึงการพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน การก่อตั้งวงดนตรีลายครามและสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับประชาชน ซึ่งปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงเป็น “สถานีวิทยุส่วนพระองค์” ที่มีบทบาทในการนำเสนอทั้งข่าวและรายการสาระบันเทิงต่าง ๆ อย่างครบครันแก่ผู้ฟังทุกระดับ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว





ส่วนที่ ๒ พระราชปณิธานอันมั่นคง

















จัดแสดงโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาที่ทรงมุ่งหวังให้เป็นโครงการตัวอย่าง เป็นแหล่งรวมความรู้และแนวทางการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ พระบรมราโชบายในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ รวมทั้งทรงติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานและกระบวนการการผลิตของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้แก่ โรงโคนม โรงนมผง สวนดุสิต โรงนมเม็ด โรงสีข้าวตัวอย่าง โรงบดแกลบ โครงการผลิตน้ำเย็นจากพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาแกลบ โรงน้ำผลไม้ พาสเจอร์ไรส์และโรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง โรงผลิตภัณฑ์อบแห้ง โรงปุ๋ยอินทรีย์ โครงการค้นคว้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจัดแสดงแบบจำลองแสดงกระบวนการทำงานและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่ในบริเวณสวนจิตรลดาให้เป็นที่ทดลองต่าง ๆ ได้แก่ นาข้าวทดลอง ป่าไม้สาธิต บ่อเพาะเลี้ยงปลานิล และสวนพืชสมุนไพร






ส่วนที่ ๓ โครงการพระราชดำริฝนหลวง


















นำเสนอพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ ที่ก่อเกิดเป็น โครงการพระราชดำริฝนหลวง ทรงประดิษฐ์ ภาพตำราประมวลขั้นตอนกรรมวิธีการทำฝนหลวง และพระราชทานให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการ และพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้นำ “ ตำราฝนหลวง” ไปร่วมจัดแสดงในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางเทคโนโลยี “Brussels Eureka ๒๐๐๑” และได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นด้านสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสาธารณชน นอกจากนี้ ยังได้แสดงถึงพัฒนาการของโครงการฝนหลวงตั้งแต่พระราชทานพระราชดำริในพุทธศักราช ๒๔๙๘ จนถึงปัจจุบัน ประมวลภารกิจฝนหลวงที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ จนถึงปัจจุบัน และรวบรวมภาพเครื่องบินปฏิบัติการรุ่นต่าง ๆ




ส่วนที่ ๔ การบริหารจัดการน้ำ







จัดแสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรูปแบบและพระราชดำริ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการแก้มลิง แนวพระราชดำริ “น้ำดีไล่น้ำเสีย” โครงการปรับปรุงบึงมักกะสันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่บึงพระราม ๙ รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินตรวจพื้นที่น้ำท่วมและทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานโครงการสร้างเขื่อนและพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ในภูมิภาค ต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก โครงการชลประทานแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำแม่อาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม โครงการพัฒนาลุ่มน้ำพระยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ




ส่วนที่ ๕ ทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง













นำเสนอแนวคิดและขั้นตอนการดำเนินงาน “ทฤษฎีใหม่” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างแบบที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาแบบยั่งยืน ผสมผสานความต้องการของราษฎรกับสภาวะแวดล้อม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้แบบจำลอง “ทฤษฎีใหม่” ในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จัดแสดงผ่านแบบจำลองการใช้ประโยชน์พื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่และแสดงตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการใช้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่






ส่วนที่ ๖ พระปรีชาสามารถด้านศิลปะ















แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะไว้ถึง ๖ สาขา ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพถ่าย หัตถกรรม ดนตรี และวรรณศิลป์ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ปรากฏต่อชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นอัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ของแผ่นดินและของโลก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๙ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน”




ส่วนที่ ๗ พระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม






นำเสนอเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนต่าง ๆ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างโรงเรียน เพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษาตามโอกาสอันควร รวมทั้งพระราชกรณียกิจด้านการศึกษา ได้แก่ การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยของรัฐ การพระราชทานทุนการศึกษา การจัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โครงการพระดาบส โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ตามพระราชประสงค์ เป็นต้น

ด้านศาสนาแสดงให้เห็นว่าทรงเป็นองค์พุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก ทั้งยังทรงส่งเสริมศาสนาทั้งในเรื่องการศึกษาพระปริยัติธรรม การส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนาทุกศาสนาที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน

ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านงานโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทรงฟื้นฟูและสืบสานพระราชประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ทรงเห็นความสำคัญและคุณค่าด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย ทรงสนพระราชหฤทัยและตระหนักถึงความสำคัญของงานด้านสถาปัตยกรรมและช่างศิลป์ไทย ส่วนด้านวรรณกรรม หอสมุด และจดหมายเหตุ ทรงห่วงใยการใช้ภาษาไทยของคนในชาติ ทรงส่งเสริมกิจการห้องสมุดและหอสมุดแห่งชาติ และ ทรงห่วงใยการจัดเก็บเอกสารเก่าที่เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อใช้ในการศึกษา วินิจฉัยหรืออ้างอิง




อาคาร ๔ ชั้นที่ ๒

ส่วนที่ ๑ สาธารณสุขมวลชน







จัดแสดงพระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงบำเพ็ญเพื่อประโยชน์ ทางด้านการสาธารณสุขของประเทศ และเพื่อความกินดีอยู่ดีของราษฎรจากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ทรงมีพระราชดำริหาทางช่วยเหลือราษฎรจนก่อเกิดเป็นมูลนิธิและโครงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ มูลนิธิราชประชาสมาสัย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทางน้ำหรือเรือเวชพาหน์ โครงการหน่วยแพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการแพทย์พิเศษ ตามพระราชประสงค์ โครงการศัลยแพทย์อาสาราชวิทยาลัยแพทย์แห่งประเทศไทย โครงการหน่วยแพทย์ทันตกรรมเคลื่อนที่พระราชทาน โครงการแพทย์หู คอ จมูก และโรคภูมิแพ้พระราชทาน โครงการอบรมหมอหมู่บ้านในพระราชประสงค์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เป็นต้น



ส่วนที่ ๒ พระมหากรุณาธิคุณสู่ชายแดน







แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำรงตำแหน่ง “จอมทัพไทย” ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่มีเพียงตำแหน่งเดียวในกองทัพไทย ทรงประกอบพระราชพิธีและพิธีด้านการทหารได้แก่ พระราชพิธีตรึงหมุดและพระราชทานธงไชยเฉลิมพล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ พิธีพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย ๓ เหล่าทัพและโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ยามปกติได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมค่ายทหารและตำรวจตระเวนชายแดน และมีพระราชดำริให้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนร่มเกล้าขึ้นในจังหวัดชายแดนทั่วทุกภูมิภาค แต่เมื่อมีการสู้รบ ทหารและเจ้าหน้าที่ที่สูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ อีกทั้งสร้างความเดือนร้อนแก่ราษฎรในพื้นที่ ทรงห่วงใยในปัญหาดังกล่าว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “มูลนิธิสายใจไทย” ขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ และรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์



ส่วนที่ ๓ ในหลวงกับการปกครอง






จัดแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เมื่อใดที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรม ราษฎรสามารถทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระเมตตาพระราชทานความช่วยเหลือ และเมื่อใดที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตพระองค์จะทรงเป็นหลักชัยของคนทั้งชาติ พลังแห่งพระบารมีของพระองค์ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบ เรียบร้อย ร่มเย็น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช๒๕๑๖ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พุทธศักราช ๒๕๓๕ และเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง สมัยนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร เป็นต้น



ส่วนที่ ๔ เจริญพระราชไมตรี






นำเสนอเหตุการณ์สำคัญ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา อย่างเป็นทางการ เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศ พร้อมทรงนำความปราถนาดีของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศเหล่านั้น โดยเริ่มเสด็จฯ ไปทรงเยือนประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๒ ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะ ซึ่งเป็นพระประมุขและประมุขของประเทศต่าง ๆ จากทั่วโลก ที่มาเยือนประเทศไทยด้วยสันถวไมตรีอันอบอุ่นตามแบบอย่างประเพณี อันดีงามของไทย ยังความปลาบปลื้มและประทับใจแก่พระราชอาคันตุกะเป็นอย่างยิ่ง การต้อนรับพระราชอาคันตุกะครั้งสำคัญมีขึ้นในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศที่สำคัญอีกประการคือการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เอกอัครราชทูตจากต่างประเทศที่เข้ามาประจำประเทศไทยเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง หรืออักษรสาส์นตราตั้ง พระมหากรุณาธิคุณนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้นและสร้างความร่วมมือที่ดียิ่งขึ้น



อาคาร ๔ ชั้นที่ ๑

พระตำหนักที่ประทับทรงงานในแต่ละภาค นำเสนอเหตุการณ์การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงนัยยะของคำกล่าวที่ว่า “ไม่เคยมีพื้นที่ใดในประเทศไทย ที่พระองค์ไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปถึง”








ส่วนที่ ๑ แสงประทีปจากไกลกังวล


นำเสนอ เรื่องราวเกี่ยวกับวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ประทับแรมในช่วงฤดูร้อนของทุกปี นอกจากจะทรงใช้เป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถแล้ว ยังใช้เป็นสถานที่ทรงงานและเสด็จออกรับพระราชอาคันตุกะ ซึ่งในระยะแรกที่เสด็จฯ ประทับแรม ณ วังไกลกังวล ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่เสด็จ ฯ ไปทอดพระเนตรสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในพื้นที่นี้ ได้แก่ โครงการสหกรณ์หุบกะพง ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ๓ แห่ง ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่น ๆ ในพื้นที่อีกหลายโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรกรรม ทั้งเรื่องดิน น้ำ และ ป่าไม้ในพื้นที่นั้น ๆ งานอดิเรกที่ทรงโปรด เมื่อประทับ ณ วังไกลกังวล ได้แก่ ทรงออกแบบและต่อเรือใบหลายลำหลายประเภท ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือใบเวคาให้แก่กองทัพเรือ ต่อมาได้พระราชทานเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะการแข่งขัน เรือใบทางไกล “หัวหินรีกัตต้า” นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริให้นำสุนัขไทยพันธุ์ทางมาฝึก เพื่อรักษาความปลอดภัย ตรวจตราเวรยามเขตพระราชฐาน ร่วมกับกำลังช่วยพิทักษ์วังไกลกังวล และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเศวตอดุลยเดชพาหน ฯ ช้างเผือกประจำรัชกาลมายืนโรง ณ โรงช้างต้น วังไกลกังวลด้วย



ส่วนที่ ๒ มุ่งพัฒนาอุดรทิศ

นำเสนอประวัติการก่อสร้างพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือครั้งแรก เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ และมีพระราชดำริอันเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ ได้แก่ โครงการหลวง โครงการพัฒนาชาวเขา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการฟาร์มตัวอย่างในพระราชดำริ สถานีโครงการหลวงอินทนนท์ และแนวพระราชดำริฝายกั้นน้ำหรือฝายชะลอความชุ่มชื่น (Chek Dam)


ส่วนที่ ๓ พระราชกรณียกิจในภาคอีสาน

นำเสนอประวัติการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมหัวเมืองอีสานอย่างทั่วถึง เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีของมวลพสกนิกรยิ่งนัก การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรทำให้ ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากแร้นเเค้นของราษฎร ทรงห่วงใยและทรงหาทางช่วยเหลือด้วยการพระราชทาน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่ราษฎร ซึ่งแบ่งออกเป็นโครงการในอีสาน เหนือ และอีสานใต้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” มีภารกิจดำเนินงานสนองพระราชดำริ ศึกษาทดลองหาวิธีการทำการเกษตรแบบใหม่ ด้วยวิธีการแบบผสมผสาน และจัดระบบการชลประทาน นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชดำริให้ช้างสำคัญได้มีชีวิตอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น จึง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างโรงช้างต้นขึ้น ซึ่งมีพื้นที่ติดกับอุทยานแห่งชาติภูพานที่เป็น ป่าธรรมชาติ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ช้างสำคัญจากพระราชวังดุสิตไปยืนโรง ณ สถานที่ดังกล่าว นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นพระบรมราโชบายที่สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ สมควรที่พสกนิกรจะเจริญตามรอยเบื้องพระยุคลบาท



ส่วนที่ ๔ ทรงงานทักษิณภาค

นำเสนอประวัติการก่อสร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ การเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ได้ทอดพระเนตรเห็นทุกข์สุขของราษฎร ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ประทับอยู่ในความทรงจำชาวภาคใต้จนกลายเป็นสายใยแห่งความจงรักภักดีที่นำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคี ระหว่างพสกนิกรไทยในภาคใต้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด และทรงหาทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของราษฎรอันเป็นที่มาของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ได้แก่ โครงการศึกษาป่าพรุโต๊ะแดง โครงการขุดคลองบาเจาะ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ทั้งโครงการด้านชลประทาน เกตรกรรม ปศุสัตว์ และประมงอีกด้วย และด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวไทยมุสลิมภาคใต้ ชาวมุสลิมภาคใต้จึงได้ถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “ รายอกีตอ ” แปลว่า “ ในหลวงของเรา ”







ส่วนที่ ๕ ห้องสุดท้ายพระบารมีปกเกล้าชาวไทย




รูปที่มีทุกบ้าน



จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหัวข้อ รูปที่มีทุกบ้านของประชาชนชาวไทย และทรงเป็นหลักชัยเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทยทั้งชาติตลอดมา






เพลง รูปที่มีทุกบ้าน เป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ประพันธ์คำร้องโดย นิติพงษ์ ห่อนาค ทำนองโดย อภิไชย เย็นพูนสุข เรียบเรียงเสียงประสานโดย วีรภัทร์ อึ้งอัมพร และขับร้องโดย ธงไชย แมคอินไตย์
(ขอขอบคุณ https://www. youtube.com และ SUANSILPMONEY2551 โพสท์เตอร์ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)


หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีการออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารสวยงาม และจัดแสดงนิทรรศการ พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจได้สมบูรณ์แบบ ทำให้ดิฉันอยากจะบอกผ่านบล็อกนี้อีกคนและอีกครั้งค่ะว่า "โชคดีที่มีในหลวง" ขอขอบพระคุณผู้จัดทำและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มา ณ ที่นี้อีกครั้งค่ะ


 และขอขอบคุณรายละเอียดคำบรรยาย รวมทั้งภาพบางส่วนจากหน้าเวป FB ของ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ค่ะ


Create Date : 24 สิงหาคม 2554
Last Update : 16 มิถุนายน 2562 13:32:40 น. 6 comments
Counter : 1741 Pageviews.

 
ขอบคุณมากที่อัพบล็อกนี้นะคะ ดีมากเลยค่ะ เพิ่งจะรู้ว่ามีหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ น่าไปชมมาก ๆ เขารวบรวมเรื่องราวและพระราชกรณียกิจของในหลวงไว้ครบถ้วนจริง ๆ ต้องหาโอกาสไปชมด้วยตาสักหนค่ะ


โดย: haiku วันที่: 25 สิงหาคม 2554 เวลา:21:45:05 น.  

 
โอ้โห ...ลงรายละเอียดเต็มที่ ขอบคุณนะคะ.
แล้วจะตามรอยทางไปค่ะ


โดย: จิบ IP: 115.87.114.16 วันที่: 26 สิงหาคม 2554 เวลา:10:54:34 น.  

 
คุณคนผ่านทางมาเจอ เค็นไปโหวตเรียบร้อยแล้วนะคะ

ยินดีค่ะ คุณ haiku กับคุณจิบ หาเวลาไปนะคะ ขนาดเด็ก ๆ ยังขอไปซ้ำเลยค่ะ


โดย: chinging วันที่: 26 สิงหาคม 2554 เวลา:23:07:32 น.  

 
คุณเค็น

ได้รู้จักสถานที่เรียนรู้....เพิ่มอีกแล้วค่ะ

และจะแวะไปสถานที่จริงตามหลังด้วยนะค่ะ


โดย: 3K-guy วันที่: 27 สิงหาคม 2554 เวลา:16:50:04 น.  

 
งานนิทรรศการใหญ่ ๆ อย่างนี้

สงสัยคงต้องไปหลายเที่ยวเลยกว่าจะดูหมด ^^"


โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 28 สิงหาคม 2554 เวลา:9:56:29 น.  

 
แวะไปนะคะ ไม่ไกลบ้านคุณเก๋เท่าไหร่ แค่ 50 กิโลเองค่ะ



ใช่แล้วค่ะคุณทุเรียน จำได้ว่าไปมา 4 ครั้งแล้วค่ะ ไปจนจำหน้าเจ้าหน้าที่ได้ แต่ไม่รู้เจ้าหน้าที่จำหน้าเราได้ไหมค่ะ


โดย: chinging วันที่: 28 สิงหาคม 2554 เวลา:12:15:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

chinging
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]








INVITING THE BELL TO SOUND


Body, speech, and mind in perfect oneness-
I send my heart along with the sound of the bell,
May the hearers awaken from forgetfulness
and transcend all anxiety and sorrow.


HEARING THE BELL


Listen, listen,
this wonderful sound
bring me back
to my true self.


THICH NHAT HANH






9 Latest Blogs
ขอขอบคุณ คุณSevenDaffodils
ในคำแนะนำวิธีการทำ Latest Blogs ค่ะ



New Comments
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2554
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
24 สิงหาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add chinging's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.