Happy Hippo
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2550
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728 
 
15 กุมภาพันธ์ 2550
 
All Blogs
 
ออสเตรีย (Austria)


สถานทูตประเทศ ออสเตรีย
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ออสเตรียเป็นประเทศปิด ไม่มีทางออกทางทะเล อยู่เกือบใจกลางทวีปยุโรป โดยมีเขตแดนติดต่อกับประเทศต่าง ๆ คือ
ทิศเหนือ จรดสาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐสโลวัก และเยอรมนี
ทิศตะวันออก จรดฮังการี และสาธารณรัฐสโลวัก
ทิศตะวันตก จรดสวิตเซอร์แลนด์ และลิคเตนสไตน์
ทิศใต้ จรดสโลเวเนีย และอิตาลี
พื้นที่ 83,857 ตารางกิโลเมตร

วันชาติ 26 ตุลาคม

เมืองหลวง กรุงเวียนนา (ประชากร 1,600,000 คน)

ประชากร 8.085,905 ล้านคน (รวมชาวต่างประเทศ 728,190 คน) ส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรียที่พูดภาษาเยอรมัน มีชนกลุ่มน้อยชาวสโลวีนตอนใต้ของมณฑล Carinthia ชาวโครเอเทียและชาวฮังการีในมณฑล Burgenland

ภาษา ร้อยละ 92.3 ใช้ภาษาเยอรมันซึ่งเป็นภาษาราชการ ร้อยละ 2 ใช้ภาษาเซิร์ปโครแอท ร้อยละ 1.5 ใช้ภาษาตุรกี ร้อยละ 0.8 ใช้ภาษา โครเอเทีย ร้อยละ 0.4 ใช้ภาษาสโลเวเนีย ร้อยละ 0.4 ใช้ภาษาฮังการี และร้อยละ 0.2 ใช้ภาษาเช็ก

ศาสนา ร้อยละ 78 นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก ร้อยละ 5 นับถือนิกายโปรแตสแตนท์ ร้อยละ 2 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.2 นับถือ Old Catholic และร้อยละ 0.1 นับถือศาสนายิว

สกุลเงิน ออสเตรียเปลี่ยนสกุลเงินจากชิลลิงออสเตรีย (ATS) มาใช้สกุลยูโร (EURO) เมื่อปี 2545 1 EURO = 13.7603 ATS = 0.97 USD

ผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ 207.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (2542)

รายได้ต่อหัวของประชากร 25,655 เหรียญสหรัฐฯ (2542) สูงเป็นลำดับสามของสหภาพยุโรปรองจากเดนมาร์กและเยอรมนี

อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 2.2 (2542)

อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 0.5 (2542)

อัตราคนว่างงาน ร้อยละ 4.4 (2542)

มูลค่าการส่งออก 63.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

การส่งออกไปยัง (ร้อยละ) เยอรมนี (37.4) อิตาลี (8.3) สวิตเซอร์แลนด์ (5.4) ฝรั่งเศส (4.3) ฮังการี (4.0) สหราชอาณาจักร (3.5) สหรัฐอเมริกา (3.2) เนเธอร์แลนด์ (2.6) เช็ก (2.9) เบลเยี่ยม-ลักเซมเบอร์ก (1.9)

สินค้าส่งออกที่สำคัญ เหล็กและเหล็กกล้า ไม้ กระดาษ สิ่งทอ เคมีภัณฑ์

มูลค่าการนำเข้า 68.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2542)

นำเข้าจาก (ร้อยละ) เยอรมนี (42.9) อิตาลี (8.8) ฝรั่งเศส (4.8) สหรัฐอเมริกา (4.5) สวิตเซอร์แลนด์ (3.6%) เนเธอร์แลนด์ (3.2%) สหราชอาณาจักร (3.0) เบลเยี่ยม-ลักเซมเบอร์ก (2.3) ญี่ปุ่น (2.4) เช็ก (2.0) ฮังการี (2.7)

สินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อาหารสำเร็จรูป สิ่งทอและผ้าผืน ปิโตรเลียม

ประธานาธิบดี Dr. Thomas Klestil (ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2535 และได้รับการเลือกตั้งเป็นวาระที่สองเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2541)

นายกรัฐมนตรี Dr. Wolfgang Schuessel (4 กุมภาพันธ์ 2543)

รัฐมนตรีต่างประเทศ Dr. Benita-Ferrero Waldner (4 กุมภาพันธ์ 2543)
การเมืองการปกครอง
ระบบการเมืองและการปกครอง ออสเตรียปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี และสามารถสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ 1 ครั้ง ในทางปฏิบัติพรรคการเมืองมักเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่เมื่อดำรงตำแหน่งแล้ว ประธานาธิบดีจะบริหารงานโดยแนวทางที่ไม่เป็นของพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ

ฝ่ายบริหาร รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี โดยประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากหัวหน้าพรรค ที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากในสภาเพื่อทำหน้าที่บริหารประเทศ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ฝ่ายนิติบัญญัติ ระบบสองสภา (Bicameral Federal Assembly) ประกอบด้วยสภาสหพันธ์ (Bundesrat) มีสมาชิก 64 คน ได้รับเลือกจากสภาจังหวัด (Provincial Diet) และสภาแห่งชาติ (Nationalsrat) มีสมาชิก 183 คน ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก 4 ปี

ฝ่ายตุลาการ ศาลประกอบด้วย ศาลสูง (Oberster Gerichtshof หรือ Supreme Judicial Court) ศาลคดีแพ่ง (Verwaltungsgerichtshof หรือ Administrative Court) และศาลรัฐธรรมนูญ (Verfassungsgerichtshof Constitutional Court) ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพประชาชนจากการ ละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และศาลปกครอง ให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการละเมิดบทบัญญัติของ กฎหมายนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญหรือการกระทำมิชอบโดยฝ่ายบริหาร

การแบ่งเขตการปกครอง แบ่งเป็น 9 จังหวัด (federal province) ได้แก่ Lower Austria, Upper Austria, Salzburg, Styria, Carinthia, Tirol, Vorarlberg, Burgenland และ Vienna ซึ่งมีสถานะเป็นเมืองหลวงและเป็นจังหวัดหนึ่งของออสเตรียในเวลาเดียวกัน แต่ละจังหวัดมีอำนาจปกครองเป็นอิสระยกเว้นการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ แต่ละจังหวัดมี Governor ซึ่งได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ใช้อำนาจ นิติบัญญัติและมีศาลเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ

พรรคการเมือง พรรคการเมืองที่สำคัญของออสเตรียประกอบด้วย
- พรรค Social Democratic Party - SP เป็นพรรคใหญ่ที่สุด ออสเตรียและเป็นแกน นำจัดตั้งรัฐบาลตั้งแต่ทศวรรษ 60 ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดพรรค SP ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดแต่ไม่สามารถโน้มน้าวพรรคอื่นร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องกลับเป็นฝ่ายค้าน ปัจจุบันนาย Alfred Gusenbauer เป็นหัวหน้าพรรค
- พรรค People’s Party - VP เป็นพรรคใหญ่อันดับสอง และเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค SP มา 3 สมัย ก่อนที่จะหันมาร่วมมือกับพรรค FP จัดตั้งรัฐบาลนาย Wolfgang Schuessel นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค
- พรรค Freedom Party - FP เป็นพรรคที่มีแนวนโยบายขวาจัด เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค SP เมื่อ 13 ปีที่แล้ว แต่พรรค SP ได้ขับพรรค FP จากการร่วมรัฐบาลเมื่อพรรค FP เลือกนาย Joerg Haider นักการเมืองขวาจัดนิยมนาซีเป็นหัวหน้าพรรค ปัจจุบัน นาง Susanne Riess-Passer เป็นหัวหน้าพรรค
- พรรค Greens เป็นพรรคฝ่ายค้าน มีนโยบายอนุรักษ์นิยม หัวหน้าพรรค คือ นาย Alexander van der Bellen
- พรรค Liberal Forum เป็นพรรคที่ก่อตั้งจากกลุ่มนักการเมือง ที่มีแนวความคิดเสรีนิยมที่แยกตัวจากพรรค FP หัวหน้าพรรค คือ นาง Heide Schmidt
- พรรค the Independence เป็นพรรคใหม่ จัดตั้งโดยนาย Richard Lugner นักธุรกิจ
- พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เคยได้รับคะแนนเสียงพอที่จะมีที่นั่งในสภา

สถานการณ์ทางการเมือง
ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
รัฐบาลออสเตรียได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2542 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรค SP ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในขณะนั้นได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 33.15 ในขณะที่พรรค VP ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล และพรรค FP ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 26.91 เท่ากัน และพรรค Greens ได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 7.4 สำหรับพรรคการเมืองอื่น ๆ ได้แก่ พรรค Liberal Forum พรรค The Independents และพรรคคอมมิวนิสต์ ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ 5 จึงไม่ได้รับเลือกเข้าสภา ภายหลังการเลือกตั้ง พรรค SP ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับแรก จึงได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรค SP ซึ่งตั้งข้อรังเกียจพรรค FP ซึ่งมีแนวทางขวาจัด ได้พยายามเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค VP ซึ่งเคยจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันถึงสามสมัย อย่างไรก็ตาม พรรค VP ซึ่งมีความไม่พอใจพรรค SP อันเนื่องมาจากแนวทางการดำเนินงานในรัฐบาลผสมชุดที่ผ่านมาได้ตั้งข้อเรียกร้อง หลายประการทำให้ทั้งสองไม่สามารถตกลงตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันได้ ในการนี้ ประธานาธิบดีจึงมอบหมายให้พรรค FP ซึ่งเป็นพรรคลำดับสอง (เนื่องจากแม้ว่า FP และ VP จะได้รับคะแนนเฉลี่ยและที่นั่งในสภาเท่ากัน แต่พรรค FP ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า VP ประมาณ 400 เสียง) ให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพรรค FP ได้ทาบทามพรรค VP ร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้นาย Wolfgang Schuessel หัวหน้าพรรค VP

นโยบายต่างประเทศ
1. หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตได้บีบให้ออสเตรียประกาศนโยบายเป็นกลางเพื่อแลกเปลี่ยน กับการที่สหภาพโซเวียตจะถอนทหารออกจากออสเตรีย ทำให้ออสเตรียยึดหลักดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบเป็นกลางมาโดยตลอด นโยบายเป็นกลางเป็นประโยชน์ต่อออสเตรียเอง เพราะเป็นหลักประกันว่าออสเตรียจะไม่ต้องไปเกี่ยวพันในสงคราม และความหายนะจากสงครามดังเช่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
2. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2498 อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในสนธิสัญญา State Treaty of Vienna เพื่อรับรองฐานะความเป็นกลางถาวรของออสเตรีย และออสเตรียได้ประกาศความเป็นกลางของประเทศไว้เป็นการถาวร ในรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2498 ในมาตรา 1 ว่า “เพื่อรักษาเอกราชภายนอกและความละเมิดมิได้ในดินแดนออสเตรีย ออสเตรียจึงขอประกาศความเป็นกลางอย่างถาวร และเพื่อธำรงรักษาวัตถุประสงค์นี้ต่อไปในอนาคต ออสเตรียจะไม่ร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารและจะไม่ยอมให้ทหาร ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในดินแดนของตน”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลออสเตรียทุกสมัยจึงยึดถือนโยบายเป็นกลางถาวรเป็นพื้นฐาน ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศต่างๆ ในลักษณะที่เรียกกันว่า active neutrality โดยให้ความร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติในปฏิบัติการรักษาสันติภาพตั้งแต่ปี 2503 และร่วมมือในการรักษาเสถียรภาพยุโรปในกรอบของคณะมนตรียุโรปและองค์การ เพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (OSCE)
3. ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติในยุโรปในช่วงหลังสงครามเย็นได้ส่งผลให้ออสเตรีย เริ่มปรับนโยบายต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ไปในทิศทางที่มีบูรณาการกับประเทศยุโรปอื่นๆ มากขึ้น เนื่องจากออสเตรียเริ่มยอมรับแล้วว่าความพยายามร่วมกันของประเทศต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกรอบพหุภาคีเป็นแนวโน้มที่มีประสิทธิภาพมาก ที่สุดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ การปราบปรามผู้ก่อการร้าย และในการระงับการแพร่หลายของอาวุธที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อมนุษยชาติ (weapons of mass destruction) อย่างไรก็ตาม ออสเตรียก็ยังคงยึดถือนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด
4. นับแต่ปี 2538 ออสเตรียได้เข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ใน Western European Union และเข้าร่วมโครงการ Partnership for Peace ขององค์การนาโต้ โดยจำกัดบทบาทเฉพาะด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพและการให้ความช่วยเหลือ ด้านสิทธิมนุษยชนและการบรรเทาภัยพิบัติ
5. นอกจากนี้ การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 ทำให้ออสเตรียมีบทบาทและนโยบายที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ในการกำหนดสถานะทางการเมืองของยุโรป และได้ให้การสนับสนุนนโยบายบูรณาการระหว่างประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งในด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคง และด้านนโยบายต่างประเทศ
6. ออสเตรียสนับสนุนให้สหภาพยุโรปขยายตัวไปครอบคุลมกลุ่ม ประเทศอดีตสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก โดยที่ออสเตรียมีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และฮังการี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอดีตสังคมนิยมกลุ่มแรกที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และมีมูลค่าการค้ากับกลุ่มประเทศเหล่านี้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ ออสเตรียจึงเป็นประเทศที่จะ ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการขยายสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของออสเตรียไปยังสาธารณรัฐเช็ก สโลวีเนีย และฮังการีมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 250 จาก 35 พันล้านชิลลิ่ง เป็น 130 พันล้านชิลลิ่ง
6. นอกจากโครงสร้างร่วมของยุโรปด้านความมั่นคง การใช้แนวทางที่รวดเร็วในการสนับสนุนให้ประเทศยุโรปกลาง และตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแล้ว ออสเตรียยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรปให้สูงขึ้น การแก้ไขปัญหาการว่างงานในยุโรป การปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิทธิชนกลุ่มน้อย และความโปร่งใสและความพร้อมในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
7. ปัจจุบันออสเตรียเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ดังนี้ United Nations, Food and Agricultural Organisation, United Nations Industrial Development Organisation, International Atomic Agency, World Health Organisation, United Nations Development Program, United Nations Drug Control Program, United Nations Environmental Program, World Trade Organisation, European Union, Organisation for Security and Cooperation in Europe, Central European Initiative, Council of European Nuclear Research, Danube Commission, European Space Agency, International Atomic Energy Agency, International Institute for Applied Systems Analysis Luxemburg, International Committee of the Red Cross, International Organisation for Migration, Organisation for Economic Cooperation and Development, Partnership for Peace of the North Atlantic Treaty Organisation (since 1995) Western European Union (observer status since 1995)
8. นอกจากนี้ กรุงเวียนนายังเป็นที่ตั้งของสำนักงานสหประชาชาติ และที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ United Nations Office in Vienna - UNOV, United Nations Drugs Control Program - UNDCP, International Atomic Energy Agency - IAEA, United Nations Industrial Development Organisation - UNIDO, Comprehensive Test Ban Treaty Organisation - CTBTO, Organisation of Petrol Exporting Countries - OPEC, Organisation for Security and Cooperaion in Europe - OSCE, International Institute for Applied Systems Analysis Luxemburg, Wassenaar Arrangement


เศรษฐกิจการค้า
ภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป
1. ออสเตรียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 โดยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของตนให้สอดคล้องกับระบบของสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงการค้า เกษตรกรรม การพัฒนาส่วนท้องถิ่น การจัดเก็บภาษี และนโยบายเงินตรา นอกจากนี้ ออสเตรียยังเป็นหนึ่งในสิบเอ็ดประเทศของสหภาพยุโรปที่เข้าสู่ขั้นตอนที่สามของ สหภาพเศรษฐกิจและเงินตรา (Economic and Monetary Union - EMU) โดยประกาศใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และได้เปลี่ยนมาใช้เงินสกุลยูโรอย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2545
2. ออสเตรียเป็นประเทศที่มั่งคั่งและมั่นคงที่สุดประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามออสเตรียยังคงยึดมั่นในระบบเศรษฐกิจเสรีซึ่งให้ความสำคัญต่อปัจจัยทางสังคม การเอื้อประโยชน์แก่ผู้ด้อยโอกาส และนโยบายหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและสังคม (economic and social partnership) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในนโยบายการจ้างงานและ การกำหนดราคาสินค้าของรัฐบาลทุกยุคสมัย
3. ออสเตรียมีพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมสูงโดยเฉพาะในด้านการบริการ อุตสาหกรรมที่สำคัญได้แก่อาหารและสินค้าฟุ่มเฟือย (luxurious items) วิศวกรรมเครื่องจักรกลและการก่อสร้างโลหะ การผลิตเคมีภัณฑ์และรถยนต์ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตเครื่องจักรและระบบขับเคลื่อน (transmission) เป็นสาขาการผลิตที่สำคัญที่สุด ทำรายได้จากการส่งออกกว่าร้อยละ 90 เนื่องจากออสเตรียผลิตเครื่องจักรประมาณ 800,000 เครื่องต่อปีสำหรับผู้ประกอบรถยนต์รายหลัก ๆ ของโลก ในด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ออสเตรียมีชื่อเสียงด้านการผลิตชิ้นส่วนอิเล็คโทรนิคส์ เช่น ชิ้นส่วน microprocessors และ integrated circuits สำหรับถุงลมนิรภัย ระบบเบรค ABS และอุปกรณ์สำหรับเครื่องบินแอร์บัสและรถไฟความเร็วสูง
4. พื้นที่ร้อยละ 18 ของออสเตรียเป็นเขตเกษตรกรรม ร้อยละ 23 เป็นเขตทุ่งหญ้า และร้อยละ 39 เป็นเขตป่าไม้ พื้นที่ที่เหลือ (ร้อยละ 20) ไม่มีความเหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ประชากรร้อยละ 3 ทำงานในภาคเกษตรและป่าไม้ ออสเตรียมีชาวนาที่ทำการเกษตรแบบธรรมชาติประมาณ 20,000 คน ซึ่งทำให้ออสเตรียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ประเทศหนึ่งในสหภาพยุโรปในสาขาเกษตรกรรม
5. ออสเตรียมีวัตถุดิบและพลังงานที่สมบูรณ์ เนื่องจากมีแหล่งแร่เหล็ก อโลหะ และแร่ธาตุต่าง ๆ ตลอดจนแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเป็นผู้ผลิตพลังงาน น้ำที่สำคัญที่สุดในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรมทำให้ออสเตรียต้องนำเข้าวัตถุดิบต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
6. ธุรกิจขนาดกลางเป็นปัจจัยหลักในภาคอุตสาหกรรมและการค้าของออสเตรีย ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาการผลิตตั้งแต่สินค้าพื้นฐานจนถึงสินค้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานสูง ตลอดจนการผลิตโรงงานแบบครบวงจร (turn-key industries) ซึ่งเน้นหนักด้านการส่งออก นอกจากนี้ ออสเตรียยังมีชื่อเสียงด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น เครื่องประดับ เซรามิก และเครื่องแก้ว
7. ในปี 2542 รายได้จากภาคเกษตรกรรมและป่าไม้มีมูลค่าเพียงร้อยละ 1.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของออสเตรีย ในขณะที่รายได้จากการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค พลังงาน และเหมืองแร่ ทำรายได้ร้อยละ 32.4 ส่วนรายได้จากภาคบริการ การธนาคาร สาธารณูปโภค การค้า ขนส่ง และท่องเที่ยวมีมูลค่าร้อยละ 66.3
8. ในปี 2540 ออสเตรียมีรายได้จากการท่องเที่ยว 134.7 พันล้านชิลลิง โดยประมาณการณ์ว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของออสเตรียในช่วงปี 2542-2546 จะมีประมาณร้อยละ 1.5 ของ GDP ส่วนอัตราการเพิ่มของรายได้จากการท่องเที่ยวจนถึงปี 2553 จะอยู่ประมาณร้อยละ 3 ต่อปี
9. ในปี 2542 อัตราการว่างงานในออสเตรียอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.4 และคาดว่าอัตราการว่างงานในปีต่อไปจะมีแนวโน้มคงที่หรือลดต่ำลง
10. ในสาขาการขนส่ง ออสเตรียมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในฐานะตัวเชื่อมเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ของยุโรป ปัจจัยสำคัญคือ เส้นทางการขนส่งพลังงานของยุโรปซึ่งผ่านออสเตรีย (การขนส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า)


ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐออสเตรีย
ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยกับออสเตรียมีความสัมพันธ์ด้านกงสุลตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กงสุลออสเตรียคนแรกคือนาย Alexius Redlich และออสเตรียยังเป็นประเทศแรกที่ส่งผู้แทนทางการทูต มาประจำประเทศไทยก่อนหน้าประเทศตะวันตกอื่น ๆ โดยในปีพ.ศ. 2410 จักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 (Franz Joseph) แห่งจักรวรรดิ์ออสเตรีย-ฮังการี ได้ส่งคณะทูตมาไทยเพื่อเจริญพระราชไมตรีในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทั้งสองประเทศได้จัดทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2412 ต่อมาออสเตรีย ได้ส่งผู้แทนทางการทูตมาประจำประเทศไทยในปี พ.ศ. 2421

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยและออสเตรียได้ตกลงสถาปนาความ สัมพันธ์ทางการทูต ต่อกันในระดับอัครราชทูต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2496 ซึ่งต่อมาได้ยกสถานะเป็นระดับเอกอัครราชทูตเมื่อปี พ.ศ.2506 โดยมี พลจัตวา ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำกรุงเวียนนา สำหรับเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวียนนาคนปัจจุบันคือ นายสรยุตม์ พรหมพจน์ ส่วนเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ Dr. Georg Znidaric

ประเทศไทยได้แต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองซาลส์บูร์ก เมืองดอร์นบีร์น และเมืองอินส์บรูก ส่วนออสเตรียได้เปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีอำนาจดูแลพื้นที่จังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์

การแลกเปลี่ยนการเยือน
การเยือนระดับราชวงศ์และประมุขของรัฐ
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจักรวรรดิ์ออสเตรีย เมื่อปี 2440 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 ทรงถวายการต้อนรับ
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร
เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย เมื่อปี 2445
- Archduke George และ Archduke Konrad พระราชนัดดาของสมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟ ที่ 1 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2448
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2507
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม 2509
- นาย Franz Jonas ประธานาธิบดีออสเตรีย และภริยา เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการใน
ปี 2510
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 1-9 มิถุนายน 2525
- สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรียตามคำกราบบังคมทูลของประธานาธิบดีออสเตรีย ในปี 2532
- สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรีย เพื่อทรงเปิดนิทรรศการ 700 Years of Thailand ที่กรุงเวียนนาในปี 2536
- สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนออสเตรียเพื่อร่วมฉลองครบรอบ 10 ปีความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัย Leopold-Frenzen กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2537
- Dr. Thomas Klestil ประธานาธิบดีออสเตรียเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อปี 2538

การเยือนระดับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ
- ดร.ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนออสเตรียระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2509
- นายอุปดิศร์ ปาจรียางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนออสเตรียระหว่างวันที่ 13-14 กันยายน 2521
- นายอรุณ ภาณุพงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนออสเตรียในระหว่างการเยือนยุโรปตะวันออก ระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2523
- นาย Willibald Pahr รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย เยือนไทยระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2524
- ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนออสเตรีย ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2525
- พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนออสเตรียเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับ ASEAN-ยุโรป ในเดือนมิถุนายน 2525
- Dr. Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรีย เยือนไทยระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2532
- นาย Alois Mock รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย เยือนไทยระหว่างวันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2533
- พล.อ.อ. สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนออสเตรียระหว่างวันที่ 7-10 มีนาคม 2533
- พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี แวะออสเตรียก่อนเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-19 มิถุนายน 2533 โดยได้พบกับ ดร. Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรีย
- ดร. วิเชียร วัฒนคุณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเดินทางไปร่วมการประชุม Dialogue Congress of Europe-ASEAN ซึ่งจัดโดย Austrian College ระหว่างวันที่ 28-30 สิงหาคม 2534
- น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปร่วมการประชุมเรื่องสิทธิมนุษยชนโลกที่กรุงเวียนนา ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน 2536
- นาง Benita Ferrero-Waldner รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรีย (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการฯ) เยือนไทยระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2538
- Dr. Franz Vranitzky นายกรัฐมนตรีออสเตรีย เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEM ระหว่างวันที่ 1-2 มีนาคม 2539 โดยมีนาย Wolfgang Schuessel รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะ
- ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนออสเตรียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 10-11 กุมภาพันธ์ 2542

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความร่วมมือทางการค้า การค้าไทยและออสเตรียมีความร่วมมือทางการค้าระหว่างกัน ผ่านคณะทำงานร่วมทางการค้าระหว่างไทย-ออสเตรีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 และได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมฯ มาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2542 ที่กรุงเทพฯ

การค้าไทย-ออสเตรีย ในระยะสี่ปีที่ผ่านมา (2540-2543) การค้ารวมมีมูลค่าเฉลี่ย 200.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยลดลงร้อยละ 8.9 ในปี 2543 ปริมาณการค้ารวมมีมูลค่า 168.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2542 ร้อยละ 21.8 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุล 20.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปี 2544 การค้ารวมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 13.7

สถิติการค้าในรอบ 10 ปีระหว่างไทย-ออสเตรีย
โดยกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์

การส่งออก การส่งออกในระยะสี่ปีที่ผ่านมา (2540-2543) มีมูลค่าเฉลี่ย 97.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉลี่ยลดลงร้อยละ 3.6 ต่อปี สำหรับการส่งออกในปี 2543 มีมูลค่า 94.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6.6

การนำเข้า ในระยะสี่ปีที่ผ่านมา (2540-2543) การนำเข้ามีมูลค่าเฉลี่ย 103.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี สำหรับในปี 2543 การนำเข้ามีมูลค่า74.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 41.6

สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและนำเข้า
สินค้าออก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง อัญมณี และเครื่องประดับ ยางพารา เป็นต้น

สินค้าเข้า ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันดิบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครื่องบิน อุปกรณ์การบิน เป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรคการค้า
1. ปัญหาเรื่องการใช้ระเบียบว่าด้วยการปิดฉลากแสดงส่วนประกอบอาหาร ที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเทคนิคพันธุกรรม ออสเตรียประกาศใช้ระเบียบ ว่าด้วยการปิดฉลากแสดงส่วนประกอบ อาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเทคนิคพันธุกรรม หรือ Genetically Altered Foods เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตให้กับผู้ส่งออกของไทย
2. ปัญหาทางด้านต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากประเทศออสเตรียไม่มีเขดติดต่อทางทะเลทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูง
3. ออสเตรียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ปัญหาทวิภาคีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจะอยู่ในกรอบการเจรจากับสหภาพยุโรป
4. ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ได้แก่ปัญหาภาษีผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพลี้ยไฟในดอกกล้วยไม้ ผลิตภัณฑ์หอยสองฝา AD/CVD และ GSP

การลงทุน การลงทุนของออสเตรียในประเทศไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน มี 36 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 5,520 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนประมาณ 1,705 ล้านบาท โครงการของออสเตรียที่ได้รับการส่งเสริมฯ ในปี 2544 มี 5 โครงการ เงินลงทุน 195 ล้านบาท สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2545 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯ มี 4 โครงการ เงินลงทุน 471 ล้านบาท ได้รับอนุมัติการส่งเสริมฯ 1 โครงการ เงินลงทุน 317.6 ล้านบาท

การลงทุนของออสเตรียแม้จะมีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการลงทุนของประเทศหลัก ๆ ในยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีโครงการไม่มากแต่ก็มีการขยายโครงการเป็นจำนวนมากและประสบความสำเร็จ เช่นบริษัทสยามเซมเพอร์เมด จำกัด ผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มีการขยายกิจการและประสบผลสำเร็จ เนื่องมาจากความสามารถในการประกอบธุรกิจทั้งในฝ่ายไทยและออสเตรีย การมีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีและการผลิต แหล่งผลิตและการใช้วัตถุดิบ ตลอดจนการเอื้ออำนวยด้านการลงทุนในประเทศไทย

ลู่ทางการส่งเสริมการลงทุนออสเตรียในไทย การผลิตเครื่องจักร และโครงสร้างเหล็ก อุตสาหกรรม audiovisual และภาพยนตร์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและโลหะอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิคส์ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์ การแปรรูปไม้ การแปรรูปหินและผลิตเซรามิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร (ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)

ปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุน ออสเตรียมุ่งลงทุนในประเทศสมาชิก EU และยุโรปกลาง/ตะวันออกเป็นหลัก เนื่องจาก พัฒนาการด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองในยุโรปในทศวรรษ 1990 อาทิ การจัดตั้งตลาดร่วมและการขยายรับประเทศสมาชิกใหม่ของ EU การเตรียมการจัดตั้งสหภาพการเงินยุโรป และการเปิดประเทศยุโรปกลาง/ตะวันออก ออสเตรียจึงต้องเร่งรัดการรวมตัวทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญในยุโรป ตะวันตกและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีขึ้นในยุโรปกลาง/ตะวันออก

ความตกลงทวิภาคี
ความตกลงที่ลงนามแล้ว
- ความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 25เมษายน2509
- ความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราแก่ผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการ ลงนามเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2524
- ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทยกับออสเตรีย ลงนามเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2516 และทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือเพื่อปรับปรุงสิทธิการบินกันเป็นระยะ โดยหารือกันครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 27-28 เมษายน 2541 ปัจจุบัน บริษัทการบินไทยฯ ยังไม่ได้ทำการบินไปออสเตรีย ส่วนสายการบินเลาด้าบินมาไทยรวมสัปดาห์ละ 8 เที่ยว
- อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2528 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2529
- ความตกลงว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา ลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2535
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการรถไฟ ลงนามเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2538
- ความตกลงปฏิบัติต่างตอบแทนว่าด้วยการใช้วิทยุสมัครเล่น ไทย-ออสเตรีย แลกเปลี่ยนหนังสือเมื่อเดือนเมษายน 2545

ความตกลงที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ขณะนี้มีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ และยังคงมีประเด็นติดค้างจากการเจรจารอบที่ 4 ที่กรุงเวียนนา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2538 เพียงประเด็นเดียว คือเรื่องการสรวมสิทธิในระหว่างการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ

การท่องเที่ยว ประเทศไทยเป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวที่สำคัญของออสเตรียในเอเชีย จำนวนนักท่องเที่ยวมีการเพิ่มขึ้นโดยตลอดยกเว้นในช่วงปี 2539-2540 ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวมีการชะลอตัว อันเป็นผลจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศออสเตรีย อัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ ปัญหา
เกี่ยวกับคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย การขาดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง ก็เป็นเหตุผลที่นักท่องเที่ยวออสเตรียมาเยือนไทยน้อยลง

นับแต่ปี 2541 ตลาดท่องเที่ยวออสเตรียมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2545 มีนักท่องเที่ยวออสเตรียมาเยือนไทยจำนวน 46,980 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.81 ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความพยายามปรับตัวของประเทศไทยไปตามกระแสความต้องการ ของนักท่องเที่ยวยุโรปที่ให้ความสนใจ Green Tourism มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ไทยเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะประตูสู่ประเทศใกล้เคียง เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ
พฤษภาคม 2545





Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2550 12:02:57 น. 0 comments
Counter : 2870 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

twokings
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ปั่นบล๊อคคุณให้ Hot สุดๆ ที่ BlogYellow.com คลิ๊กโลด
Friends' blogs
[Add twokings's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.