ข้าคือ...... " อ้ า ย จั น ! " I'm Jan The Man
Group Blog
 
 
มกราคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
30 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

เล่าเรื่อง อส.มศ.

อส.มศ. คืออะไร..?..


อส.มศ.ย่อมาจาก
"อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม"


ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน มีหลักฐาน ร่องร่อยของบรรพบุรุษสืบทอดมาหลายยุคหลายสมัย เรามีโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดีจำนวนมากมายทั่วประเทศ มีวัดวาอารามเก่าแก่ บางวัดร้างไปแล้ว บางวัดยังมีพระสงฆ์จำพรรษาให้เราได้ทำบุญกุศลกันอยู่ ตามสถิติในปัจจุบันประเทศไทยมีโบราณสถานที่ทำการสำรวจขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ ๑,๕๑๓ แห่ง ที่พบใหม่อีกกว่า ๓,๕๐๐ แห่ง แต่โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีส่วนมากกำลังประสบปัญหาถูกทอดทิ้ง เสื่อมโทรม ปรักหักพังไปตามกาลเวลา โบราณสถานที่เป็นเจดีย์ พระธาตุ ธาตุ กู่ร้าง ตามนอกเมืองหรือหมู่บ้านห่างไกลถูกขุดเจาะทำลายเพื่อหาพระพิมพ์หรือของมีค่า มีราคา โบราณสถานส่วนใหญ่ถูกบุกรุก เบียดบัง หรือไม่ก็ถูกไถทิ้งไปเพื่อเอาที่ดินสร้างบ้าน ตึกแถว หรือไม่ก็สร้างโรงเรียน เมืองโบราณ และแหล่งโบราณคดีจำนวนมาก ตามป่าเขา ถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อน แต่ภัยที่ร้ายแรงที่สุดซึ่งทำให้โบราณสถานถูกทำลายอย่างย่อยยับภายในเวลาไม่นาน คือ การลักลอบขุดโดยฝีมือมนุษย์ปัจจุบันเพื่อหาของมีค่าไปขาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีอย่างมากมายเกินกำลังความสามารถของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรที่จะเข้าไปดูแลอย่างทั่วถึง

ในอดีตที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าบรรดาโบราณสถาน โบราณวัตถุ ทั้งหลายนั้นเป็นของกรมศิลปากร หากโบราณสถานหรือโบราณวัตถุแห่งใดชิ้นไหนชำรุดทรุดโทรมหรือพังทลาย กรมศิลปากรมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปดูแลรับผิดชอบ ซ่อมแซมบูรณะโดยที่ประชาชนไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เป็นความเข้าใจผิด เพราะในความเป็นจริงแล้วโบราณวัตถุ โบราณสถานทั้งหลายล้วนเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนในชาติร่วมกัน ผู้หนึ่งผู้ใดถือเอามาครอบครองเป็นสมบัติเฉพาะตัวไม่ได้และกรมศิลปากรเองก็เป็นเพียงหน่วงยงานของทางราชการที่คอยสอดส่องดูแลรักษาสมบัติของปวงชนและของชาติ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายคือ พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นแนวทางปฏิบัติเท่านั้น และไม่ได้หมายความว่า ประชาชนทั่วไปจะไม่มีสิทธิหรือโอกาสในการดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นมรดกตกทอดมาในหมู่บ้านหรือตำบลของท่านแต่อย่างใด กรมศิลปากรและรัฐบาลตระหนักดีว่า โบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาและมีความสำคัญยิ่งต่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัดต่าง ๆ นั้น ประชาชนในท้องถิ่นย่อมอยากแสดงความเป็นเจ้าของด้วยการช่วยกันดูแลรักษาป้องกันการขุดทำลายหรือต้องการจะใช้ประโยชน์จากโบราณสถานโบราณวัตถุนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ยังเกรงอยู่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย หรือเกรงว่าจะมีความผิดถูกจับติดคุกติดตะราง หรือไม่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยดูแลอย่างไรจึงจะถูกต้อง ไม่เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานโบราณวัตถุนั้น ๆ

รัฐบาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ลำพังกรมศิลปากรซึ่งมีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คน(จำกัดจริงๆ สำนักงานหนึ่งๆ มี นักโบราณคดี อยู่ 2 - 3 คน พนักงานดูแลรักษาโบราณสถาน 1-2 คน ดูแลพื้นที่ 4 - 5 จังหวัด) ไม่สามารถแก้ปัญหาการเสื่อมโทรมและการถูกบุกรุกทำลายของโบราณสถาน และโบราณวัตถุได้ทั่วถึงและทันต่อเหตุการณ์ และได้พบว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็น่าจะประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็วก็คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของร่วมในโบราณสถาน โบราณวัตถุได้เข้ามามีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือ เป็นหูเป็นตาสอดส่องป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่อยู่ในหมู่บ้านของเขา โดยรัฐบาลจะได้จัดอบรมให้ความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนแนวปฏิบัติงานในรูปของ “อาสาสมัคร” เรียกว่า “อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม” ทั้งนี้ ได้กำหนดจุดประสงค์กว้าง ๆ ให้อาสาสมัคร ฯ ดังกล่าวได้ทำหน้าที่ช่วยดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุในพื้นที่หมู่บ้านไม่ให้ชำรุดหักพังหรือสูญหายและสามารถปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรได้ในกิจกรรมการสำรวจทางวิชาการหรือการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุได้ทั่วประเทศ และจะแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของโบราณสถาน โบราณวัตถุได้อย่างเป็นผลดีอีกด้วย

อส.มศ.ได้ทำความเข้าใจเรื่องมรดกทางศิลปวัฒนธรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ และหลักเกณฑ์การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งจะเห็นว่าโบราณสถานและโบราณวัตถุนั้นมีคุณค่า ความสำคัญ และประโยชน์ต่อหมู่บ้านต่อท้องถิ่น ต่อประเทศชาติ ส่วนรวมมากมาย แต่โบราณสถาน โบราณวัตถุ ตลอดจนแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ของชาติกำลังถูกบุกรุกทำลายสูญหายและเสื่อมค่าไปมากมาย และการทำลายเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการดูแลมีน้อย การอนุรักษ์ทำยากและทำได้ช้ากว่าการทำลาย อย่างไรก็ตามเราก็เชื่อว่ายังมีประชาชนจำนวนมากที่เห็นคุณค่าและประโยชน์ของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และยินดีที่ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษาและช่วยเหลือรัฐบาลในการอนุรักษ์ เพราะประชาชนทุกคนรู้ดีว่าโบราณสถานโบราณวัตถุที่มีอยู่นั้น เป็นสมบัติและมรดกของเขาด้วย

ปัจจุบันนับเป็นนิมิตหมายอันดียิ่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงใส่พระทัยและเสด็จพระราชดำเนินไปยังทุกตำบลหมู่บ้านที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ไม่ว่าโบราณสถาน โบราณวัตถุนั้นจะอยู่ห่างไกลแค่ไหนเพียงไร และพระองค์ท่านทรงรับเป็น “อัคราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” เป็นองค์อุปถัมภ์ค้ำชูกิจการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุของชาติ ดังนั้นหากประชาชนทุกคนจะปฏิบัติตามพระองค์ท่าน โบราณสถานและโบราณวัตถุของชาติก็จะปลอดภัยยิ่งขึ้น
อส.มศ. จึงเป็นตัวแทนของหมู่บ้านที่กรมศิลปากรได้ตระหนักถึงความสำคัญ และหวังจะได้รับความร่วมมือและความช่วยเหลือในการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุที่อยู่ในหมู่บ้าน เพราะหาก อส.มศ.สามารถดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ ได้ดีเพียงใดก็เท่ากับว่า ได้ช่วยกันรักษาเกียรติภูมิ ศักดิ์ศรี เผยแพร่ชื่อเสียงของหมู่บ้านได้มากขึ้นเพียงเท่านั้น และยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าหมู่บ้านของท่านได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันแล้ว


วิธีการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุโดย อส.มศ.

๑. อส.มศ. จะมีส่วนร่วมในการศึกษาได้อย่างไร

๑. การสำรวจ อส.มศ. สามารถสำรวจข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานในพื้นที่ของตนได้ เพราะมีผู้ที่รู้ข้อมูลหรือตำนานเรื่องราวต่าง ๆ และเป็นคนในพื้นที่ จึงรู้ว่าพื้นที่บริเวณใดเคยพบโบราณวัตถุบ้าง หรือพื้นที่ใดเคยมีกู่เก่า วัดร้างกลางทุ่ง (ปัจจุบันอาจไม่เหลือแล้ว) ก็สามารถบอกข้อมูลซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาได้อย่างมาก ส่วนการบันทึกข้อมูลนั้นจะมีแบบการบันทึกสำหรับ อส.มศ.ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในหมวดที่ ๔ ต่อไป

๒. การขุดค้น การขุดแต่ง การมีส่วนร่วมในข้อนี้นั้น ได้กล่าวแล้วว่าเทคนิคและขั้นตอนจะต้องทำตามหลักวิชาการ และโดยผู้เชี่ยวชาญจึงนับว่าเป็นการศึกษาข้อมูลอย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์ต่อการศึกษาเพราะมีส่วนร่วมหรือให้ความช่วยเหลือได้ในกรณีที่นักโบราณคดี นักวิชาการได้เลือกที่จะขุดค้นในพื้นที่ของ อส.มศ. โดยอาจใช้ข้อมูลว่าบริเวณใด พบเศษภาชนะดินเผาหรือโบราณวัตถุอื่นเป็นจำนวนมาก นักวิชาการจึงตัดสินใจเลือกบริเวณที่ขุดค้นได้ใกล้เคียงกับแหล่งดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด และอส.มศ. สามารถช่วยเหลือในระหว่างที่นักวิชาการทำการขุดค้นแล้ว โดยอาจช่วยทำหน้าที่ผู้ขุดค้น ช่วยในการควบคุมดูแลคนงาน(ซึ่งคงเป็นคนในหมู่บ้าน) หรืออาจช่วยจำแนกประเภทโบราณวัตถุในชั้นเบื้องต้น โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของนักโบราณคดี ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาภาระให้แก่นักโบราณคดีได้มาก เป็นต้น

๓. การรายงาน ในกรณีที่ อส.มศ. ทำการสำรวจในพื้นที่ของตน และพบโบราณวัตถุหรือสิ่งของที่คิดว่าเป็นของเก่าของโบราณ ก็ให้ทำรายงานโดยละเอียดเสนอตามขั้นตอน โดยให้บอกพื้นที่สิ่งของที่พบ ตำแหน่งที่พบ วันที่ ชื่อผู้สำรวจ แผนที่ หรือแผนผังประกอบให้ละเอียด เท่าที่สามารถทำได้

๒. การตรวจสอบโบราณสถานในพื้นที่รับผิดชอบของ อส.มศ.

โครงการจัดตั้งอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าโบราณสถาน ๑ แห่ง จะมีอาสาสมัครดูแลจำนวน ๑๐–๒๐ คน ซึ่งอาสาสมัครเหล่านี้จะต้องมีหน้าที่ในการไปตรวจสอบโบราณสถานที่กลุ่มของตนรับผิดชอบ เพราะการตรวจสอบจะได้สังเกตเห็นความแตกต่างเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน ทั้งนี้เพื่อเพราะการเปลี่ยนแปลงบางประการอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานอันเป็นมรดกวัฒนธรรมของชาติคงอยู่ต่อไปไม่เสื่อมสลายไปก่อนเวลาอันควร และเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ จึงขอแยกวิธีการตรวจสังเกตสภาพโบราณสถานเป็น ๔ แบบ ตามลักษณะวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง

๑. โบราณสถานที่สร้างด้วยดิน

ได้แก่ กำแพงเมือง คันดิน คูเมือง ถนนโบราณ เนินดิน โบราณสถานที่ปรากฏเศษอิฐหรือซากโบราณสถานบางส่วนไปถึงเนินดินทางโบราณคดีที่มีเศษถ้วยชามแตกหรือลูกปัดกระจัดกระจายอยู่โบราณสถานนี้ อส.มศ. จะต้องตรวจสภาพโดยสังเกตในสิ่งต่อไปนี้

๑.๑ มีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น บ้าน กระท่อม เถียงนา เพิง นั่งร้าน เล้า คอกเลี้ยงสัตว์ ศาลา หรือปักป้าย ปักเสารั้ว เสาไฟฟ้า หรืออื่นใดบนตัวโบราณสถาน หรือขอบเขตพื้นที่โบราณสถาน เพราะจะเป็นการผิดกฎในข้อที่มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข ซ่อมแซม โบราณสถาน

๑.๒ มีการกระทำ เช่น การขุดหลุม ขุดบ่อ ขุดร่องระบายน้ำ ขุดดินไปใช้ประโยชน์ ไถพรวนตักหน้าดินออกไป ปลูกต้นไม้บนเนินดินโบราณสถานเหล่านี้จะกระทำไม่ได้เช่นกัน
๑.๓ มีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุหรือของมีค่าบนตัวโบราณสถานหรือบริเวณโบราณสถาน

๑.๔ เกิดการพังทลายตามธรรมชาติ อันอาจจะเกิดจากฝนตกหนัก พายุพัดแรง น้ำท่วม ต้นไม้ใหญ่โค่นล้ม เนินดินยุบตัวเป็นผลให้โบราณสถานเกิดความเสียหาย

๑.๕ มีหญ้า วัชพืช (พืชที่ไม่เป็นที่ต้องการ) หรือต้นไม้ขึ้นจนบดบังสภาพที่แท้จริง หรือมีผู้นำขยะ มูลฝอย หรือสิ่งของต่างๆ มาทิ้งวางเกะกะ ทำให้เกิดความสกปรก รกรุงรัง ไม่สวยงาม

๑.๖ การนำสัตว์มาเลี้ยง เช่น หมู วัว ควาย แพะ ในบริเวณโบราณสถานก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อโบราณสถานได้

๒. โบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐ
ได้แก่ โบสถ์ วิหาร ปรางค์ เจดีย์ ธาตุ อาคารเก่า กำแพง ป้อม ประตูเมือง และอื่น ๆ โบราณสถานประเภทนี้ อส.มศ.จะต้องตรวจตราโดยสังเกตสิ่งเหล่านี้ คือ

๒.๑ มีการก่อสร้างเพิ่มเติมจากของเดิมหรือไม่ เช่น ต่อหลังคายื่นออกไป ทำหลังคาคลุมใหม่ต่อหรือกั้นห้องเพิ่มขึ้น ตั้งหรือเปลี่ยนเสาใหม่ ทำหน้าต่างประตูใหม่ ปูพื้นใหม่ โบกปูนใหม่ ทาสีใหม่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง แก้ไขโบราณสถานซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

๒.๒ มีการรื้อ ถอด ถอน ขุด เจาะ ภายในตัวโบราณสถาน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อประสงค์จะซ่อมแซมให้ดีขึ้น หรือเพื่อเป็นการทำลาย รวมทั้งการขุดค้นหาโบราณวัตถุหรือของมีค่าภายในตัวโบราณสถานและบริเวณโบราณสถานเป็นการผิดกฎหมายเช่นกัน

๒.๓ มีการขีด เขียน ทำให้เกิดภาพหรือร่องรอยต่าง ๆ หรือ ขูด ลบ ภาพที่มีอยู่เดิม เช่น ภาพวาดในโบสถ์ หรือการทำให้เกิดความสกปรกรกรุงรัง เช่น การทิ้งขยะ ของเหลือใช้ หรือการปิดปักป้ายต่าง ๆ ในตัวโบราณสถาน

๒.๔ มีเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุภายในโบราณสถาน

๒.๕ มีการผุกร่อน เสื่อมสลาย พังทลาย ของตัววัสดุก่อสร้างในโบราณสถานเอง เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น อิฐเปื่อยหักหลุดลงมา ปูนล่อนกะเทาะ เกิดรอยร้าว รอยแตกแยก หลังคารั่ว กระเบื้องหลุดแตกยอดเจดีย์หักล้ม ฐานร้าวทรุด โครงสร้างที่เป็นไม้ผุพังและอื่น ๆ

๒.๖ มีหญ้า ตะไคร้ พืช วัชพืช หรือต้นไม้ขึ้นรกรุกรังในตัวโบราณสถาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ดูไม่สวยงามสะอาดตาแล้ว ต้นไม้ใหญ่บางต้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานได้ เช่น รากซอนไชไปในตัวโบราณสถาน เกิดการผุร้าว หรือต้นไม้ใหญ่โค่นล้มลงโบราณสถานเกิดการพังทลาย เช่นนี้ เป็นต้น


๓. โบราณสถานที่สร้างด้วยหิน (รวมทั้งศิลาแลง)

ได้แก่ ปราสาท เจดีย์ ปรางค์ กำแพง มณฑป ธรรมศาลา สระน้ำ โบราณสถาน ประเภทนี้ อส.มศ. ควรตรวจสภาพดังต่อไปนี้

๓.๑ มีการลักลอบขุดหรือค้นหาโบราณวัตถุหรือของมีค่าในโบราณสถานหรือไม่

๓.๒ มีการรื้อ ถอด ถอน หรือ เคลื่อนย้ายชิ้นส่วนของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่อยู่ในโบราณสถาน เช่น หน้าบัน ทับหลัง รูปสิงห์ เศียรนาค พระพุทธรูป เทวรูป หรืออื่น ๆ หรือมีการนำหินมาจากโบราณสถานไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ๆ เช่น ไปวางเป็นแนวรั้งเขต ไปรองตุ่มน้ำ รองตั้งกระถาง หรือภาชนะอื่น ๆ หรือนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย

๓.๓ การขูด ขีด เขียน หรือกระทำให้เกิดร่องรอยใด ๆ ต่อโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ รวมทั้งการทุบ กะเทา หรือการลบ หรือทำให้สิ่งที่มีอยู่เดิมเปลี่ยนสภาพ หรือสูญหายไป เป็นการทำให้เสื่อมค่าโบราณสถานเช่นกัน ซึ่ง อส.มศ.จะต้องดูแลในเรื่องเหล่านี้

๓.๔ มีการสร้างสิ่งก่อสร้างบริเวณโบราณสถานหรือชิดติดกับโบราณสถาน หรือต่อเติมส่วนต่าง ๆ เช่น ทำเพิง ทำหลังคา กั้นห้องภายในโบราณสถาน หรือแม้แต่การซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร หรือเป็นการผิดกฎหมาย

๓.๕ การหลุดร่วง ล้ม ทลาย ของโบราณวัตถุหรือโบราณสถาน อันเกิดจากธรรมชาติ เช่น ลมพายุ ฝนตก น้ำท่วมขัง อุบัติเหตุ รวมไปจนกระทั่งการเกิดร่องรอยหรือสภาพที่มีทีท่าว่าทำให้โบราณสถานเกิดการพังทลายในอนาคตอันใกล้ จากการผุกร่อนของวัสดุก่อสร้างเอง เช่น เกิดรอยร้าว หรือหินมีรอยแตกแยก ทำท่าจะพังลงมา เหล่านี้ อส.มศ. จะต้องสังเกตและรายงาน

๓.๖ ดูแลอย่าให้มีการทิ้งขยะ สิ่งของเหลือใช้ หรือมีหญ้าวัชพืช ต้นไม้ขึ้นรกในโบราณสถานรวมทั้งมีสิ่งกีดขวางอื่น ๆ เช่น กิ่งไม้หักร่วงหล่น ต้นไม้ล้ม หรือมีการนำสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย ไปเลี้ยงบนโบราณสถาน

๔. โบราณสถานที่สร้างด้วยไม้

ได้แก่ ปราสาท ราชวัง จวน บ้าน ศาลา หอไตร หอระฆัง โบสถ์ และอื่น ๆ โบราณสถานประเภทนี้จะมีน้อยกว่าประเภทอื่น เพราะไม้ส่วนใหญ่จะมีอายุไม่ยืนยาว เสื่อมพังได้ง่าย ซึ่ง อส.มศ. จะต้องตรวจสอบดังต่อไปนี้

๔.๑ ดูแลมิให้ผู้ใดสร้างสิ่งก่อสร้างอื่นๆในตัวโบราณสถาน หรือชิดติดกับโบราณสถาน หรือต่อเติมโบราณสถาน เช่น ต่อห้องใหม่ กั้นแบ่งห้องเดิมออกเป็นห้องย่อย ต่อหลังคาหรือเปลี่ยนใส่ของใหม่แทนของเก่าที่เสื่อมสภาพ

๔.๒ การรื้อ ถอน ทำลาย เคลื่อนย้ายส่วนของโบราณสถาน หรือโบราณวัตถุ ที่อยู่ร่วมกับโบราณสถานให้ผิดไปจากสภาพเดิม หรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

๔.๓ มีการขีด ขูด ลบ ฆ่า ปิด ปักป้ายหรือทิ้งขยะมูลฝอย ในเขตโบราณสถานเป็นการทำให้เสื่อมค่าโบราณสถาน

๔.๔ มีการลักลอบขุดหรือค้นหา หรือนำออกไปซึ่งโบราณสถาน หรือของมีค่า หรือชิ้นส่วนของโบราณสถาน เช่น ธรรมาสน์ หน้าบัน ลวดลายไม้ฉลุ บานประตู บานหน้าต่าง เหล่านี้ เป็นต้น

๔.๕ การผุพังเสื่อมสลายตามธรรมชาติของตัวโบราณสถาน เช่น ไม้ผุ พื้นกระดานหัก ฝาผนังพัง หลังคารั่ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับตัวโบราณสถานหรือไม่ อันตรายมาน้อยเพียงใด

๔.๖ การเกิดอันตรายจากสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยงที่นำมาเลี้ยงในโบราณสถาน เช่น หมู วัว ควาย หรือสัตว์อื่น ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ปลวก มอด ตุ่น หนู ซึ่งอาจกัดกินทำลายเนื้อไม้โบราณสถานได้

๔.๗ มีหญ้า วัชพืช ต้นไม้ ขึ้นบนโบราณสถาน หรือบริเวณโบราณสถานหรือไม่
จากการแบ่งโบราณสถานตามลักษณะวัสดุก่อสร้างแบบ อส.มศ. จะต้องพิจารณาว่า โบราณสถานที่ตนจะต้องรับผิดชอบตรวจสอบดูแลนั้นอยู่ในประเภทไหน ต้องสังเกตดูแลอย่างไร แต่ทั้งนี้ อส.มศ. จะใช้หลักเกณฑ์ของโบราณสถานทั้ง ๔ แบบก็ได้ และถ้าโบราณสถานที่ต้องรับผิดชอบไม่อยู่ในแบบใดแบบหนึ่งก็ให้พิจารณาใช้หลักเกณฑ์รวม ๆ ในการตรวจสอบ ดูแล
ในการตรวจโบราณสถานของ อส.มศ. หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือกระทำใด ๆ ตามลักษณะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อันอาจจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อโบราณสถานให้ อส.มศ.ปฏิบัติดังนี้


๑. กรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือกระทำที่ยังไม่เกิดผลร้ายแรงต่อโบราณสถานในทันที เช่น มีรอยร้าวบนตัวโบราณสถาน หรือมีผู้กำลังจะสร้างสิ่งก่อสร้างบนโบราณสถานหรือมีผู้นำสัตว์ไปเลี้ยงหรือจะก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ บนโบราณสถานว่าไม่ควรกระทำหรือกระทำไม่ได้ จากนั้นให้รายงานตามปกติในแบบรายงานประจำเดือน

๒. กรณีเร่งด่วน คือ มีการเปลี่ยนแปลง หรือกระทำใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานทันที เช่น เกิดการพังทลายของโบราณสถาน มีผู้ลักลอบขุดค้นหรือเคลื่อนย้ายหรือโจรกรรมโบราณวัตถุหรือชิ้นส่วนของโบราณสถาน ให้ อส.มศ. รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่ใกล้หรือสะดวกที่สุดทันที เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายอำเภอ แต่ทั้งนี้ อส.มศ. ไม่จำเป็นต้องเข้าไปกระทำการใด ๆ เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น หากการกระทำนั้น ๆ จะเป็นอันตรายต่อตนเอง เช่น พบว่ามีการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุในโบราณสถานที่รับผิดชอบ อส.มศ. ไม่ต้องเข้าไปห้ามปรามเพราะอาจถูกทำร้ายได้ แต่ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทันที เช่นนี้ เป็นต้น หลังจากนั้นให้รายงานในแบบรายงานประจำเดือนด้วย

ระยะเวลาในการตรวจตราโบราณสถาน

ระยะเวลาความถี่ห่างในการไปตรวจตราโบราณสถานในความรับผิดชอบของ อส.มศ. แต่ละแห่งนั้นขึ้นอยู่กับการจัดแบ่งหน้าที่ในกลุ่มของ อส.มศ. เองว่าจะสามารถกำหนดไปตรวจตราโบราณสถานมากหรือน้อยครั้งในแต่ละเดือนอย่างไร ซึ่งการไปตรวจตราดังกล่าวจำนวนมากครั้งหรือถี่เท่าไรก็จะเป็นการดี เพราะหากพบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับโบราณสถานจะได้รีบหาทางแก้ไขป้องกันได้ทันแต่ทั้งนั้นไม่ว่าจะแบ่งหน้าที่กันอย่างไร อส.มศ. จะต้องตรวจโบราณสถานในความรับผิดชอบของกลุ่มตนเองอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง


๓. การถากถางกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถาน

วัชพืช
ในความหมายนี้รวมความตั้งแต่ หญ้า พืช และต้นไม้อื่นใดที่ไม่ต้องการให้ขึ้น หรือเจริญเติมโตบนโบราณสถาน (แม้ว่าต้นไม้บางชนิดที่มีประโยชน์ต่อคนก็ตาม เช่น ไม้ผลต่าง ๆ ) ทั้งนี้เพราะเมื่อวัชพืชเหล่านี้เติบโตและงอกงามบนโบราณสถาน นอกจากจะทำให้เกิดความรกรุงรัง ความไม่เหมาะสม ความไม่สวยงาม และบดบังโบราณสถานแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความเสียหายตามมาอีก เช่น พืชจำพวกหญ้า ตะไคร่ จะทำให้เกิดการผุกร่อนกับตัววัสดุก่อสร้าง โบราณสถาน ส่วนต้นไม้ทั่วไปทั้งขนาดเล็กและใหญ่ รากจะชอนไชเข้าไปทำให้เกิดรอยแตกร้าวหรือทรุดตัว หรือดันตัวโบราณสถานให้เสียสภาพเดิมและนำไปสู่การพังทลายในที่สุดหรือต้นไม้บางต้นซึ่งขึ้นอยู่ใกล้กับโบราณสถาน ก็อาจล้มลงบนตัวโบราณสถานสร้างความเสียหายได้

สิ่งกีดขวาง

หมายความถึง วัสดุหรือสิ่งใด ๆ ก็ตามที่มิได้ติดกับโบราณสถาน หรือมิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน และไม่มีประโยชน์หรือส่วนเกี่ยวข้องสำคัญใด ๆ กับตัวโบราณสถานนั้น แต่มาปรากฏอยู่ในโบราณสถาน รวมเรียกว่าสิ่งกีดขวางทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ขยะมูลฝอยสิ่งของเหลือใช้ที่ชาวบ้านนำมาวางทิ้งไว้ กิ่งไม้แห้งที่หักตกหล่นหรือมีผู้นำมากองไว้ ป้ายโฆษณาต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโบราณสถาน เศษอิฐ เศษกระเบื้องหลังคา หรือชิ้นส่วนโบราณวัตถุ โบราณสถานที่แตกหักหลุดร่วงอยู่ตามพื้น โต๊ะ ม้านั่ง เก้าอี้ (ที่นำไปวางไว้ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม) และอื่น ๆ แม้ว่าสิ่งกีดขวางเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงกับโบราณสถานเหล่านี้ก็ตาม ทำให้คุณค่าของโบราณสถานลดน้อยลงไป อีกทั้งอาจมีผลกระทบทางอ้อม เช่น หนู แมลงสาบ มด ปลวก มาอยู่อาศัยบริเวณที่รกรุงรังดังกล่าว และกัดกินทำลายวัสดุก่อสร้างบางส่วนของโบราณสถาน
เมื่อ อส.มศ. ทำการตรวจตราโบราณสถานพบว่า มีวัชพืช หรือสิ่งกีดขวางปรากฏบนตัวโบราณสถานหรือบริเวณโบราณสถานที่รับผิดชอบ อส.มศ. จะต้องดำเนินการอย่างไรอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นการกำจัดสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้หมดไป โดยใช้หลักปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. หญ้าและวัชพืชขนาดเล็ก อส.มศ. ควรเลือกใช้วิธีการ หรือเครื่องมือต่าง ๆ กันในกรณีดังนี้

๑.๑ ถอนด้วยมือหรือกรรไกรตัดหญ้า ใช้สำหรับกรณีการกำจัดหญ้าหรือวัชพืชที่ขึ้นอยู่ติดกับโบราณสถานหรือขึ้นบนตัวโบราณสถานหรือพื้นที่ที่จำกัดไม่กว้างใหญ่มากนัก แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้เครื่องมือพลาดไปเกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน

๑.๒ ใช้มีด พร้า เสียม จอบ เครื่องตัดหญ้า หรือรถตัดหญ้า (ถ้ามี) สำหรับถากถางกำจัดวัชพืชที่ขึ้นบริเวณรอบโบราณสถาน หรือใช้กับโบราณสถานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ แต่ต้องระมัดระวังอย่าให้เครื่องมือพลาดไปเกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน

๒. ต้นไม้ขนาดต่าง ๆ หาก อส.มศ. พบว่ามีต้นไม้ขึ้นบนโบราณสถานหรือบริเวณใกล้เคียงอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโบราณสถานได้ อส.มศ. จะต้องทำการกำจัดต้นไม้เหล่านั้นโดยใช้วิธีการให้เหมาะสมซึ่งต้องจะต้องพิจารณาดังนี้

๒.๑ ต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นบนตัวโบราณสถาน (ขนาดลำต้นไม่เกินท่อนแขน) หากเป็นต้นไม้ที่มี
ประโยชน์ เช่น ไม้ผล หรือมีเจ้าของปลูกไว้ สามารถจะขุดเคลื่อนย้ายโดยไม่รบกวนเป็นอันตรายต่อโบราณสถานก็ให้ขุดเคลื่อนย้ายออกไป แต่ถ้าเป็นต้นไม้ที่ไม่มีประโยชน์หรือสามารถขุดย้ายได้ จำเป็นต้องโค่น ตัด ให้ใช้มีด หรือ ขวาน หรือเลื่อย ตัดโค่นให้ชิดส่วนโคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องระวังไม่ให้กระเทือนหรือทำให้โบราณสถานเสียหาย หากจำเป็นต้องตัดสูงเหลือตอไว้มากก็ต้องยอม หลังจากนั้นอาจจะใช้สารเคมีราดที่โคนต้นให้ตาย หรือจะใช้วิธีคอยตรวจตัดกิ่งที่จะงอกออกมาใหม่ ห้ามใช้วิธีฉุด ดึง ถอน เพราะรากของต้นไม้ที่เกาะติดกับโบราณสถานอาจจะทำความเสียหายแก่โบราณสถานได้

๒.๒ ต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นบนตัวโบราณสถาน (ขนาดลำต้นใหญ่กว่าท่อนแขน) ในการกำจัดโค่นล้มให้ อส.มศ.ใช้เลื่อย (ไม้ควรใช้มีดหรือขวาน เพราะถ้าต้นไม้มีขนาดใหญ่ต้องออกแรงฟันมากจะกระทบกระเทือนถึงโบราณสถานได้) ทำการตัดลิดกิ่งจากส่วนยอดลงก่อนทีละส่วนลงมาเรื่อยๆ จนถึงขั้นสุดท้ายคือ โค่นลำต้น โดยใช้เลื่อยเช่นกัน โดยเหลือความสูงของตอไว้ตามความเหมาะสมหรือเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ต้องตัดจนชิด เพราะอาจกระทบกระเทือนโบราณสถาน และในขณะโค่นล้มต้องระวังและหาวิธีป้องกันไม่ให้กระแทกกับโบราณสถานโดยตรง หลังจากนั้นอาจจะใช้สารเคมีราดที่ตอที่เหลือเพื่อป้องกันไม่ให้เติบโตขึ้นมากอีกได้ ส่วนต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่มาก หากเห็นว่าโค่นล้มแล้วจะเป็นอันตรายต่อโบราณสถาน ให้ อส.มศ. ทำเพียงแต่ลิดกิ่งก้านด้านบนออกให้มากที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้เจริญงอกงามเกินไป และป้องกันการโค่นล้มจากธรรมชาติด้วย กรณีต้นไม้หวงห้ามบางชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ยาง อส.มศ. จะต้องระวังอย่าไปตัดโค่นเพราะผิดกฎหมาย

๒.๓ ต้นไม้ที่ขึ้นบริเวณหรือรอบโบราณสถานและอยู่ในพื้นที่โบราณสถาน ให้ อส.มศ. พิจารณาว่าต้นไม้ดังกล่าวขึ้นใกล้มากเพียงใด และจะเป็นอันตรายต่อโบราณสถานหรือไม่ เช่น รากอาจจะชอนไชถึงโบราณสถานหรือต้นอาจโค่นล้มใส่โบราณสถาน หากเป็นเช่นนั้นให้ อส.มศ. ทำการถากถางกำจัดตัดโคน หรือลิดรอนกิ่งก้านตามวิธีข้อ ๒.๑ หรือ๒.๒ เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน

๓. สิ่งกีดขวาง
เมื่อ อส.มศ. พบว่า มีสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถาน ให้ อส.มศ. ทำการจัดเก็บเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ออกจากพื้นที่โบราณสถานเพื่อให้ดูสวยงาม สะอาดตา และเป็นระเบียบเรียบร้อยโดยแยกประเภทการปฏิบัติดังนี้

๓.๑ ขยะมูลฝอย สิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่มีเจ้าของ ให้เคลื่อนย้ายออกจากโบราณสถานและนำไปกำจัดทำลายให้เป็นที่เรียบร้อย เช่น ฝัง หรือเผา เป็นต้น
๓.๒ สิ่งของต่าง ๆ ที่มีเจ้าของผู้ครอบครองหรือยังมีประโยชน์ใช้สอย ให้ อส.มศ แจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองเคลื่อนย้ายหรือนำไปจัดเก็บนอกพื้นที่โบราณสถาน

๓.๓ ชิ้นส่วนโบราณวัตถุ โบราณสถานที่แตกหักชำรุดหลุดร่วงกระจัดกระจายอยู่บนพื้น ให้ อส.มศ.รวบรวมเคลื่อนย้ายนำไปจัดเก็บไว้ที่หนึ่งที่ใดภายในบริเวณพื้นที่โบราณสถานให้เป็นที่เหมาะสม และเป็นระเบียบเรียบร้อย ห้ามนำไปทิ้งหรือทำลาย หรือต้องรายงานไว้ในแบบรายงานประจำเดือนด้วย

ข้อควรคำนึง ในการปฏิบัติหน้าที่ถากถางกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถาน อส.มศ.ควรคำนึงดังต่อไปนี้

๑. การปฏิบัติงานจะต้องอยู่ภายในเขตพื้นที่โบราณสถานเท่านั้น เพราะถ้าไปกระทำการใด ๆ นอกพื้นที่โบราณสถานอาจมีปัญหาทางกฎหมายกับผู้อื่นได้

๒. การจะตัดโค่นต้นไม้หรือย้ายสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถานให้ อส.มศ. ตรวจสอบให้แน่นอนชัดเจนว่า ต้นไม้หรือสิ่งของเหล่านั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือไม่ หากมีจะต้องแจ้งและตกลงกับเจ้าของผู้ครอบครองเสียก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะดำเนินการได้ หากไม่ได้รับอนุญาตหรือเจ้าของผู้ครอบครองไม่ตกลงใจ อส.มศ.จะต้องงดเว้นไม่ดำเนินการไปโดยพลการ แต่ให้แจ้งปัญหาขัดข้องไว้ในรายงานประจำเดือนเพื่อจะได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขต่อไป

๓. ก่อนจะดำเนินการในแต่ละครั้ง ควรแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ทราบเสียก่อน และควรกระทำในลักษณะกลุ่ม อย่าทำคนเดียว

๔. ให้กระทำการด้วยความระมัดระวังอย่าให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน หรือเกิดอันตรายต่อตนเอง เช่น อส.มศ.ตรวจพบว่ามีหญ้าและวัชพืชบนยอดเจดีย์ แต่หากปีนขึ้นไปอาจทำให้เจดีย์พังทลายหรือเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงมาได้ ให้ อส.มศ.ใช้วิธีอื่น เช่น ใช้บันไดพาดหรือทำนั่งร้านขึ้นไปทำความสะอาด กำจัดหญ้า และวัชพืชดังกล่าว และทั้งนี้อาจจะใช้สารเคมี เช่น ยาฆ่าหญ้าในการกำจัด เพราะการใช้เครื่องมือจำพวกมีดหรือกรรไกรตัดหญ้า อาจไม่สะดวกหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณสถานได้

๕. นอกจากจะระมัดระวังจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานหรือผิดกฎหมาย ทั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือเจตนา เช่น อย่าขูด งัด ดึง ถอดถอนโบราณวัตถุหรือชิ้นส่วนของโบราณสถานที่ยังอยู่ในสภาพเดิมให้หลุดออกหรือเปลี่ยนแปลงไป อส.มศ. ควรกระทำแต่เพียงจัดเก็บและเคลื่อนย้ายเฉพาะชิ้นส่วนที่แตกหักชำรุดหลุดพังแล้วเท่านั้น

๖. หากพบโบราณวัตถุอื่นใดในขณะปฏิบัติหน้าที่ให้รีบแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูใหญ่ นายกอปต./เทศบาล ปลัดอปต./เทศบาล นายอำเภอ วัฒนธรรมปรจำอำเภอ วัฒนธรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ผู้ใดผู้หนึ่งทราบในทันที
ระยะเวลาในการดำเนินการ

การถากถางกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถานนั้น ควรจะได้มีการปฏิบัติเป็นระยะ ๆ เพราะถ้ามีการปฏิบัติบางครั้งโบราณสถานอยู่ในสภาพที่สวยงามสะอาดตา สมคุณค่าความเป็นโบราณสถานและไม่ทรุดโทรมผุพังไปก่อนเวลาอันสมควร ตั้งใจปฏิบัติงานและกำหนดเวลาของ อส.มศ.เอง อย่างไรก็ตาม อส.มศ. ต้องถากถางกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางในเขตโบราณสถานในความรับผิดชอบของตนเองอย่างน้อยสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง
บทบาทหน้าที่ของ อส.มศ. และการมีส่วนร่วม
ของชุมชนในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม

หน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางในการปฏิบัติงานของ อส.มศ.

๑. ประพฤติตนให้สมเกียรติของ อส.มศ.

๒. เป็นมิตรที่ดีและให้ความช่วยเหลือแก่ข้าราชการและประชาชนในการดูแลมรดกศิลปวัฒนธรรม

๓. ออกตรวจสอบโบราณสถานตามแผนปฏิบัติงาน บันทึกผลการตรวจสอบ และรายงาน

๔. แจ้งข่าวการชำรุดเสียหายของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่กลุ่ม อส.มศ. ดูแลอยู่

๕. ร่วมมือกันกำจัดวัชพืชบนโบราณสถานและบริเวณโดยรอบ

๖. ร่วมมือในการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่มีความรัก หวงและเห็นคุณค่าโบราณสถาน โบราณวัตถุในท้องถิ่นของตน

๗. ป้องกันการลักลอบขุดทำลายโบราณสถานและแหล่งโบราณคดีหรือความเสียหายที่จะเกิดกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ด้วยสาเหตุอื่น ๆ

๘. อส.มศ.ไม่มีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิดโดยตรง เว้นแต่เจ้าพนักงานจะขอร้องให้ช่วยเหลือ หรือความผิดเกิดขึ้นต่อหน้าซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย

๙. รายงานข่าวเมื่อทราบการทำลาย การลักลอบขุดค้น การขโมยโบราณวัตถุ ให้รายงานต่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งต่อไปนี้

๙.๑ ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่พนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการจับกุม

๙.๒ วัฒนธรรมจังหวัดหรือวัฒนธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอำเภอ

๙.๓ สำนักงานศิลปากร ที่ ๑–๑๕ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรืออุทยานประวัติศาสตร์ที่ใกล้ที่สุด

๑๐. ยินดีเป็นพยานในศาล ถ้าเจ้าพนักงานขอร้องหรือเห็นความจำเป็น

ข้อควรปฏิบัติสำหรับ อส.มศ.

๑. การประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรในการสำรวจวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ อส.มศ.สามารถมีส่วนร่วมในการสำรวจแหล่งที่คาดว่าน่าจะเป็นโบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดีด้วยการสืบหาหรือพบเห็นว่าอาจะเป็นโบราณสถาน แล้วรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการสำรวจต่อไป

๒. การปราบปรามโดยกฎหมายตามพระราชบัญญัติอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น อส.มศ.สามารถกระทำได้เพียงตักเตือน ห้ามปราม มิให้ผู้ใดรื้อทำลายโบราณสถาน อส.มศ.มีหน้าที่จะต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบโดยทันที

๓. การอนุรักษ์โบราณสถานเป็นการปฏิบัติงานทางเทคนิคตามหลักวิชาการโดยนักอนุรักษ์เท่านั้น การต่อเติมใด ๆ บนโบราณสถานอาจจะนำไปสู่ความเสื่อมค่าของโบราณสถาน ซึ่งทำให้ผู้กระทำมีความผิดตามกฎหมายได้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อส.มศ.สามารถช่วยเหลือ ปกป้องโบราณสถานได้ ได้แก่

๓.๑ ป้องกันการเสื่อมสภาพของโบราณสถาน ด้วยการถากถางวัชพืชที่ขึ้นอยู่ในบริเวณโบราณสถานเป็นประจำโดยสม่ำเสมอ

๓.๒ ประคับประคอง ค้ำยัน ป้องกันมิให้โบราณสถานหักพัง เช่น อาจใช้วิธีเข้าเฝือกโบราณสถานที่มีสภาพทรุดโทรม กำลังจะพังทลายลง และรายงานให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยทันที ฯลฯ

๓. เป้าหมายหรือกิจกรรมที่จะทำ
เมื่อ อส.มศ. รู้ว่ากลุ่มของตัวเองจะต้องรับผิดชอบดูแลโบราณสถานกี่แห่ง โบราณวัตถุกี่ชิ้น อยู่ที่ไหนบ้าน ก็จะต้องมากำหนดเป็นข้อๆ ว่าจะทำอะไรที่ไหนบ้าง เช่น อส.มศ. กลุ่มหนึ่งมีโบราณสถานต้องดูแลรักษา ๓ แห่ง ขนาดพื้นที่ ๒ ไร่ ๓ ไร่ และ ๔ ไร่
โบราณสถานดังกล่าว กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะเสร็จแล้ว งานที่จะต้องทำคือการดูแลถากถางวัชพืชป้องกันคนลักลอกขุดและการตรวจสอบเป็นระยะๆ ว่า โบราณสถานชำรุดเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า และโบราณสถานทั้งสามแห่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของอำเภอ มีการจัดงานประจำปีในเทศกาลสงกรานต์
จากข้อมูลสมมุติข้างต้นนี้ อส.มศ. ก็จะมาพิจารณาร่วมกันว่าจะวางแผนและกำหนดเป้าหมายอย่างไรจึงจะสามารถดูแลโบราณสถานได้ตลอดทั้งปี และทำกิจกรรมด้านการประชาสัมพันธ์และจัดงานประจำปีได้ด้วย อส.มศ. อาจจะกำหนดเป้าหมายกิจกรรมดังนี้

๑. ถากถางกำจัดวัชพืชในเขตโบราณสถาน ๓ แห่ง พื้นที่ ๙ ไร่ ปีละ ๔ ครั้ง
๒. ตรวจสอบสภาพโบราณสถานป้องกันการบุกรุกทำลายเดือนละ ๒ ครั้ง
๓. จัดงานประจำปี ๑ ครั้ง
๔. จัดทำรายงานเดือน ปีละ ๒ ครั้ง
๕. วิธีการปฏิบัติงาน

เมื่ออส.มศ.กำหนดกิจกรรมว่าจะทำอะไรบ้างแล้วก็จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสม สะดวก ประหยัด มาใช้ในการปฏิบัติงาน ยกตัวอย่างจากกิจกรรมในข้อ ๓ ทั้ง ๔ กิจกรรม อส.มศ. อาจจะใช้วิธีดำเนินการดังนี้

๑. กิจกรรมการถากถางกำจัดวัชพืชในเขตโบราณสถาน ๓ แห่ง พื้นที่ ๙ ไร่ ซึ่งต้องทำงานปีละ ๔ ครั้ง อส.มศ. จะใช้วิธีทำเองโดย อส.มศ. ช่วยกันทำ หรือ อส.มศ. เป็นหัวหน้ากลุ่มและขอแรงชาวบ้านช่วยกันทำ หรืออาจจะแบ่งกลุ่ม อส.มศ. ให้รับผิดชอบไปกลุ่มละแห่ง เป็นต้น

๒. การตรวจสอบสภาพโบราณสถานเดือนละ ๒ ครั้ง ทำโดยการแบ่ง อส.มศ. เป็นชุด ๆ รับผิดชอบการตรวจสอบเป็นคราว ๆ แบบจัดเวรตรวจหมุนเวียนกันไป

๓. การจัดงานประจำปี ๑ ครั้ง อส.มศ. ก็อาจจะใช้วิธีระดมชาวบ้านจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานแบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ โดย อส.มศ. เป็นผู้รับผิดชอบประสานงาน และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถาน

๔. การรายงาน ให้ทำตามแบบที่กำหนด

๕. ระยะเวลาปฏิบัติงาน

เมื่อรู้วัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือกิจกรรมที่จะต้องทำ รู้วิชาการแล้ว อส.มศ. จะต้องมากำหนดว่ากิจกรรมแต่ละอย่างทำเดือนไหน เช่น การถากถางครั้งที่ ๑ จะทำในเดือนอะไร ครั้งที่ ๒ ,๓,๔ จะทำเมื่อไร ในหน้าฝนอาจจะทำ ๒ ครั้ง ในระยะเวลา ๒ เดือน ส่วนหน้าแล้งอาจจะทำเว้นช่วงห่างออกไปส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ก็กำหนดเวลาตามความเหมาะสมที่ อส.มศ. จะสามารถปฏิบัติให้ ทั้งนี้จะต้องให้เกิดประโยชน์กับโบราณสถาน ๑ ปี ในที่นี้อาจจะถือเอารอบปีงบปีงบประมาณตามระบบราชการ ก็จะเป็นการสะดวกและส่วนมากเราจะกำหนดกิจกรรม วิธีการ และระยะเวลาลงในตารางแผนปฏิบัติงาน ซึ่งจะทำให้ดูง่ายปฏิบัติตามได้สะดวก

๖. งบประมาณ

อส.มศ. อาจจะสงสัยว่า ให้ อส.มศ. ทำแผนเสนอแล้วจะเอางบประมาณที่ไหนมาทำงาน ในที่นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในกิจกรรมทที่จำเป็น เช่น การถากถางดูแลความสะอาดโบราณสถาน เป็นค่าเครื่องมือ จอบ มีด บุ้งกี๋ ไม้กวาดแต่ไม่มีค่าจ้างแรงงานเพราะอส.มศ.เป็นผู้ทำงานด้วยความเสียสละแรงกาย แรงใจอย่างไรก็ตามในแผนการปฏิบัติงาน อส.มศ. อาจจะเสนอของบประมาณ เพื่อจัดซื้อเครื่องใช้ตามความจำเป็นก็ได้ซึ่งกรมศิลปากรจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรให้แต่ละแห่งตามความจำเป็น

อส.มศ. จะทำอย่างไรเมื่อพบเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ


๑. เหตุการณ์สำหรับเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ในที่นี้หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน เร่งด่วน หรือเป็นเหตุฉุกเฉิน ร้ายแรงหรือเป็นเหตุที่มีการค้นโบราณสถาน โบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดีสำคัญ ๆ ใหม่ ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโบราณสถานที่ อส.มศ. ดูแลอยู่ หรือในที่ใกล้เคียงหมู่บ้าน ของ อส.มศ. เช่น การขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ฝังอยู่ร่วมกับภาชนะดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับต่าง ๆ การขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญ พระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์ หรือเหตุการณ์ที่โบราณสถานพังทลาย ชำรุดเสียหายถูกลักลอบขุดค้น มีการพบโบราณวัตถุสำคัญในซากโบราณสถานที่พังทลายนั้นด้วย หรือเป็นกรณีคนจำนวนมากพากันเข้าไปขุดค้นหาของมีค่า โบราณวัตถุมีราคาในแหล่งโบราณคดีสำคัญ เช่น ค้นหาลูกปัด ค้นหาเครื่องถ้วยชามสังคโลก เครื่องถ้วยชามสังคโลก เครื่องถ้วยเคลือบต่าง ๆ ตามแหล่งเตาเผาสมัยโบราณ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อโบราณสถานและแหล่งโบราณคดี

๒. วิธีปฏิบัติของ อส.มศ.
เมื่อ อส.มศ.พบเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวเกิดขึ้นกับโบราณสถานโบราณวัตถุ และแหล่งโบราณคดีที่ อส.มศ. ดูแลอยู่ และโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือแหล่งโบราณคดีที่ค้นพบใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านของ อส.มศ.ให้ อส.มศ. ถือปฏิบัติตามลักษณะของเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

๒.๑ เมื่อโบราณสถานประเภทสถาปัตยกรรม เช่น เจดีย์ วิหาร โบสถ์ พระธาตุ กู่ ปรางค์ ปราสาทที่ อส.มศ. ดูแลอยู่ เกิดการพังทลาย หรือชำรุดอย่างปัจจุบันทันด่วน อาจจะเนื่องจากฝนตกหนัก พายุ แผ่นดินไหว ไฟไหม้ เจดีย์ หรือพระธาตุทรุดล้มลง วิหาร โบสถ์ ถูกต้นไม้ล้มทับเสียหาย ฯลฯ และอาจจะพบโบราณวัตถุปูชนียวัตถุมีค่า เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุ พระพุทธรูป เทวรูป และสิ่งของอื่น ๆ ที่บรรจุอยู่ในเจดีย์หรือพระธาตุนั้น ๆ อส.มศ. ต้องดำเนินการดังนี้

๒.๑.๑ รีบแจ้งข่าวไปทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องคนใดคนหนึ่ง ได้แก่ ผู้ใหญ่ กำนัน นายอำเภอ ศึกษาธิการอำเภอ เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือแจ้งข่าวโดยตรงไปยังอธิบดีกรมศิลปากร โดยทางโทรศัพท์ โทรสาร โทรเลข จดหมายด่วนพิเศษ และการเดินทางไปแจ้งข่าวด้วยตนเอง

๒.๑.๒ รีบจัดกำลัง อส.มศ. เข้าไปดูแลรักษาและควบคุมมิให้มีการขุดค้นรื้อย้ายโบราณวัตถุและชิ้นส่วนของโบราณสถานจนกว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะเดินทางมาถึง แต่ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุต่าง ๆ ไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยก่อน ก็ให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจนับและทำบัญชีโบราณวัตถุและเป็นพยานรับรู้ร่วมกันว่ามีโบราณวัตถุอะไรบ้างจำนวนเท่าไร อส.มศ. จะต้องบันทึกในสมุดบันทึกการปฏิบัติการเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมด เช่น โบราณสถานแห่งไหน ส่วนไหนพังทลาย เพราะอะไร ใครพบเหตุการณ์เป็นคนแรก ใครเป็นคณะกรรมการทำบัญชีและเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ และหาก อส.มศ. สามารถถ่ายภาพเหตุการณ์ทั้งหมดและโบราณวัตถุตลอดจนสภาพโบราณสถานไว้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินงานต่อไป ซึ่ง อส.มศ. จะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายเป็นฟิล์ม ค่าอัดล้าง ขยายภาพ ในส่วนนี้ได้จากวัฒนธรรมจังหวัด

๒.๑.๓ อส.มศ. ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้มีการรื้อย้ายเอาชิ้นส่วนของโบราณสถานที่พังทลายออกไปจากพื้นที่จนกว่าเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรจะเดินทางมาถึง แต่ถ้าพบว่าบริเวณใดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตคนหรืออาคารอื่น ก็ให้ อส.มศ. พิจารณารื้อย้ายเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นอีกเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

๒.๒ เมื่อมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุสำคัญ ๆ โดยบังเอิญ เช่น ในการไถนา ขุดหลุมปลูกบ้าน ปลูกต้นไม้ ทำสวน ขุดบ่อน้ำ ฯลฯ ในบริเวณแหล่งโบราณคดีหรือเนินดิน ซากโบราณสถานในกรณีนี้ชาวบ้านอาจจะพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น โครงกระดูกมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ บางแห่งอาจจะพบพระพุทธรูป เทวรูป พระพิมพ์ ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้วต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งโดยปกติแล้วโบราณวัตถุดังกล่าวเป็นที่ต้องการของนักสะสมของเก่า และเมื่อมีการขุดค้นพบอาจจะทำให้มีการตื่นมีคนหลั่งไหลเข้ามาขุดค้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งโบราณคดี ในกรณีนี้ อส.มศ. ควรจะปฏิบัติดังนี้

๒.๒.๑หากเป็นการค้นพบใหม่ ๆ ข่าวการพบยังไม่แพร่ออกไป ให้ อส.มศ รีบแจ้งข่าวไปยังประธานกลุ่ม อส.มศ.และประธานกลุ่มฯ แจ้ง ข่าวด่วนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยทันที

๒.๒.๒ ให้ อส.มศ.เดินทางไปยังบริเวณที่มีรายงานว่า โบราณวัตถุหรือโบราณสถานนั้นทำการตรวจสอบสภาพบริเวณ จดบันทึกทำข้อมูลลงในสมุดบันทึกการปฏิบัติงานฯ ว่าบริเวณที่พบนั้นเป็นอะไร เช่น เป็นถ้ำ เป็นเพิงผา ภูเขา ริมฝั่งแม่น้ำ ลำห้วย เนินเขา ในป่าริมหนองน้ำ ริมบึง เนินดินในทุ่งนา และบันทึกข้อมูลลงในแบบตรวจสอบหรือแบบสำรวจแหล่งโบราณคดีที่กรมศิลปากรจัดไว้ให้ พร้อมทั้งจดรายละเอียดว่าใครเป็นคนพบ พบเมื่อไรโบราณวัตถุที่พบมีอะไรบ้าง ขนาดกว้างยาวเท่าไร ขณะนี้โบราณวัตถุอยู่ที่ไหน

๒.๒.๓ ให้ อส.มศ. พยายามยับยั้งการขุดค้นนั้นไว้ก่อนจนกว่าเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปถึงแต่หากไม่สามารถยับยั้งได้ และพิจารณาแล้วเห็นว่าการเข้าไปยับยั้งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเอง อส.มศ. เอง ก็ไม่ต้องเข้าไปขัดขวาง แต่ให้ประสานงานขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ให้เข้ามาดำเนินการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

๒.๒.๔ อส.มศ. ต้องไม่ลงมือขุดค้นหาโบราณวัตถุเองโดยเด็ดขาด เว้นแต่จะได้รับการขอร้องจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร หรือเป็นการช่วยเหลืองานของกรมศิลปากร

สรุปแนวทางและวิธีปฏิบัติของ อส.มศ. เมื่อพบเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับโบราณวัตถุและโบราณสถาน

๑. รีบแจ้งข่าวโดยใช้โทรศัพท์ โทรเลข จดหมายด่วนพิเศษ หรือการเดินทางไปแจ้งข่าวด้วยตนเองแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือ แจ้งทันทีที่พบเหตุการณ์

๒. เข้าไปตรวจสอบพื้นที่และยับยั้งการบุกรุก การขุดค้น (หากสามารถทำได้)

๓. ทำบันทึกสภาพโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี โบราณวัตถุที่พบ ผู้ขุดค้นพบสถานที่เก็บและทำการถ่ายภาพ (ถ้าทำได้)

๔. หากเป็นบริเวณโบราณสถานสำคัญ ต้องจัดตั้งคณะกรรมการทำบัญชีโบราณวัตถุนำไปเก็บรักษาในที่ปลอดภัยก่อนตามความจำเป็น

๕. ไม่รื้อย้ายชิ้นส่วนโบราณสถานโดยไม่จำเป็น

๖. หากพบโครงกระดูกมนุษย์และเครื่องใช้ไม้สอยอื่น ๆ ให้ อส.มศ. แนะนำผู้ขุดค้นพบว่าอย่างเพิ่งเอาโครงกระดูกและสิ่งของขึ้นจากหลุม ควรรอเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบก่อน

๗. พยายามยับยั้งชาวบ้านหรือกลุ่มคนจำนวนมากที่จะเข้าไปขุดค้นโดยสันติวิธีและประสานงานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรโดยเร็วที่สุด โดยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัว อส.มศ. หรือบุคคลอื่น ๆ

๘. อส.มศ.ช่วยประสานงานในระดับท้องถิ่นและให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในการตรวจสอบโบราณสถานที่พังทลาย ถูกขุดค้นหรือที่ค้นพบใหม่ ๆ เป็นต้น




 

Create Date : 30 มกราคม 2549
11 comments
Last Update : 31 มกราคม 2549 12:17:20 น.
Counter : 3949 Pageviews.

 

วิธีปฏิบัติในการติดตามและรวบรวมข่าวสารเกี่ยวกับโบราณสถานและโบราณวัตถุ

๑.ทำไม อส.มศ. จึงต้องติดตามข่าวโบราณสถาน โบราณวัตถุ
ในฐานะที่ อส.มศ. เป็นบุคคลที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ซึ่งเป็นทรัพยากรและมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่นโดยตรง และแม้ว่า อส.มศ. จะได้ผ่านการอบรมตามกหลักสูตรอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอ อส.มศ. ควรจะต้องศึกษาและให้ความสนใจเรื่องราวของโบราณวัตถุ โบราณสถานอื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเรื่องดังกล่าวมากขึ้น อส.มศ. จะได้รู้ว่าจังหวัดอื่น ๆ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุสำคัญ ๆ อะไรบ้าง แต่ละแห่งมีการดูแลรักษากันอย่างไร และมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับโบราณวัตถุ โบราณสถานของชาติบ้าง ซึ่งเมื่อ อส.มศ. รู้และเข้าใจแล้วก็สามารถนำความรู้ความเข้าใจนั้น ไปบอกกล่าวให้ญาติสนิทมิตรสหายเข้าใจด้วย และยังสามารถนำความรู้ความเข้าใจมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่ อส.มศ. รับผิดชอบอยู่ได้ด้วย เป็นการก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งตัว อส.มศ. คือทำให้มีหูตากว้างไกล และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย

๒. อส.มศ.ติดตามและรวมรวมข่าวสารได้อย่างไร
แหล่งข่าวสารหรือข้อมูลเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ อส.มศ.สามารถติดตามและรวบรวมได้ ได้แก่

๒.๑ โทรทัศน์ เป็นสื่อข่าวสารที่รวดเร็วและอยู่ใกล้ตัว อส.มศ. มากที่สุด อส.มศ. สามารถเห็นทั้งภาพและเสียง ปัจจุบันในรายการโทรทัศน์มีเรื่องเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุมากมาย ส่วนมากเป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน รายการพิเศษเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินทรงทัศนศึกษาหรือทรงเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑสถานต่าง ๆ ซึ่งเป็นรายการยาว ๆ อส.มศ. สามารถติดตามดูได้ นอกจากนี้ยังมีรายการข่าวภาคค่ำที่เสนอเรื่องราวการค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุใหม่ ๆ อยู่เสมอ รวมทั้งข่าวการพังทลายของโบราณสถาน การโจรกรรมโบราณวัตถุต่าง ๆ ทั้งข่าวดี ๆ และข่าวร้าย
เมื่อ อส.มศ. ผู้ใดได้ดูรายการหรือดูข่าวแล้วควรจะบันทึกไว้ว่าเป็นข่าวเรื่องอะไร เกิดขึ้นที่ไหน มีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แล้วนำไปเล่าให้เพื่อน อส.มศ. และเพื่อนบ้านฟัง หรือเป็นไปได้ก็ให้นำสรุปบันทึกส่งให้ประธานกลุ่ม อส.มศ. เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลของกลุ่ม

๒.๒ วิทยุ เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวโบราณวัตถุ โบราณสถานทางเสียง ในปัจจุบันส่วนมากเนื้อหาเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถาน มักจะนำมาจากหนังสือพิมพ์ซึ่งในบางหมู่บ้าน อส.มศ. ไม่สามารถหาหนังสือพิมพ์อ่านได้ก็จะได้รับรู้ข่าวสารจากวิทยุ
เมื่อ อส.มศ. ได้ฟังข่าวเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถาน จากวิทยุเมื่อใด ก็ควรบันทึกรายละเอียดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วส่งสรุปข่าวให้ประธานเก็บเป็นข้อมูลของกลุ่ม

๒.๓ หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อและแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่แพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน นอกจากหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ยังมีหนังสือรายสัปดาห์ รายเดือนจำนวนมากที่ลงตีพิมพ์ เรื่องโบราณวัตถุ โบราณสถาน เป็นประจำ
เมื่อ อส.มศ.อ่านพบข่าวเกี่ยวกับโบราณวัตถุ โบราณสถาน ในหนังสือพิมพ์ฉบับใดก็ควรตัดข่าวนั้นนำไปติดที่ป้ายประกาศของหมู่บ้าน เป็นการประชาสัมพันธ์อีกทางหนึ่ง และเมื่อติดประกาศไว้ระยะหนึ่งแล้วก็ให้เก็บข่าวนั้นไว้เป็นข้อมูล

๒.๔ เอกสารจากหน่วยงานราชการและเอกชนอื่น ๆ นอกจากแหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่สามารถหาได้ในหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนแล้ว ในบ้านเรายังมีเอกสารที่ตีพิมพ์เรื่องราวของโบราณวัตถุ โบราณสถาน อีกจำนวนมากโดยหน่วยงานราชการ เช่น นิตยสารกรมศิลปากร เอกสารเผยแพร่ของกรมศิลปากร เอกสารเผยแพร่ของสำนักงานคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของเอกสารที่จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากรนั้น กรมจะจัดส่งให้ อส.มศ. ส่วนเอกสารของหน่วยงานอื่น ๆ อส.มศ. อาจจะขอจากหน่วยงานนั้น ๆ โดยตรง หรือขอให้กรมศิลปากรเป็นผู้จัดขอให้ก็ได้
๒.๕ การแลกเปลี่ยนข่าวสารกับ อส.มศ.กลุ่มอื่น ๆ อส.มศ. อาจจะมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารกับ อส.มศ.กลุ่มอื่นๆ ในจังหวัดเดียวกันหรือจังหวัดข้างเคียงเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์โดย อส.มศ.อาจจะจัดส่งข่าวกันเอง หรือส่งผ่านกรมศิลปากรและดำเนินงานในรูปเอกสาร ที่เรียกว่า “อส.มศ.สัมพันธ์” ก็ได้

การประชาสัมพันธ์

๑. ความหมาย
การประชาสัมพันธ์ คือ การสร้างความเข้าใจ การกระจายข่าวโดยอาศัยวิธีการ และอื่น ๆ เช่น ปิด
ประกาศ หอกระจายข่าว วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การบรรยาย การบอกข่าว พูดคุย โดยเป็นการส่งหรือถ่ายทอดข่าวจากคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งไปสู่คนอื่น ๆ เพื่อให้มีความรู้และมีความเข้าใจในแนวทางเดียวกัน
๒. ทำไมต้องประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากในการอนุรักษ์โบราณสถานโบราณวัตถุของชาติ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของโบราณสถานไม่ดีพอ จึงทำให้เกิดการทำลายและบุกรุกพื้นที่โบราณสถานและการโจรกรรมโบราณวัตถุบ่อย ๆ ดังนั้นในฐานะที่ อส.มศ. เป็นผู้ที่ได้รับการอบรมและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องคุณค่า ความสำคัญ ตลอดจนหลักเกณฑ์วิธีการที่ถูกต้องในการอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ อส.มศ. จึงเป็นหน่วยประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนในครอบครัว คนในหมู่บ้าน ในตำบล และแผ่ขยายไปในอำเภอ จังหวัด ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเข้าใจอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

๓. อส.มศ. จะทำประชาสัมพันธ์ได้อย่างไร

วิธีประชาสัมพันธ์ที่ อส.มศ. สามารถดำเนินการได้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ได้แก่

๓.๑เมื่อเสร็จสิ้นการอบรม อส.มศ. ต้องนำเอาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญ คุณค่าหลักเกณฑ์การอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณวัตถุไปเล่าและอธิบายให้คนในครอบครัวและเครือญาติ พี่ ป้า น้า อา เข้าใจ เพื่อจะให้มีแนวร่วมในการปฏิบัติงานมากขึ้น

๓.๒ ในโอกาสสำคัญ ๆ ที่มีชาวบ้านมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เช่น การประชุมหมู่บ้าน การทำบุญตามประเพณี การจัดเทศกาลรื่นเริงต่างๆ อส.มศ. ควรขอเวลาเล่าเรื่องและอธิบายถึงความสำคัญประโยชน์ของการอนุรักษ์โบราณสถานในหมู่บ้าน

๓.๓ อส.มศ. ควรจัดนิทรรศการแสดงประวัติภาพถ่ายเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุต่าง ๆ โดยเฉพาะที่ อส.มศ. ดูแลอยู่ไว้ที่สถานที่กลางหมู่บ้าน เช่น ศาลาประชาคม ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือที่โบราณสถานเพื่อที่ชาวบ้านทุกคนหรือผู้ที่ผ่านไปมาจะได้เข้ามาอ่าน

๓.๔ มีการจัดนิทรรศการ การบรรยายพิเศษในโอกาสหรือเทศกาลสำคัญต่าง ๆ เช่น วันอนุรักษ์มรดกไทย (๒ เมษายน ของทุกปี) โดยขอความสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศิลปากร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น

๓.๕จัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนในหมู่บ้านได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่เรื่องราวของโบราณสถาน โบราณวัตถุ และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาตามโอกาสสำคัญ ๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันอนุรักษ์มรดกไทย วันเข้าพรรษา วันลอยกระทง เป็นต้น

๓.๖ อส.มศ. อาจจัดตั้งศูนย์เอกสาร ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุในภูมิภาคของตัวเองและของประเทศ โดยรวบรวมข่าวจากหนังสือพิมพ์และเอกสารจากทางราชการที่จัดส่งมาให้และมีการเผยแพร่ข่าวโดยหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน

๓.๗ อส.มศ. อาจจะจัดส่งข่าวสารความเคลื่อนไหวในการปฏิบัติงานของกลุ่มไปยังสื่อมวลชนในท้องถิ่นให้ออกข่าวได้

 

โดย: อ้ายจัน 30 มกราคม 2549 18:08:09 น.  

 

อ้าววว เอามาให้อ่านทันใจดีจัง
แต่แปะไว้ก่อนนะน้อง ง่วงแล้ว เดี๋ยวพรุ่งนี้เข้ามาอ่าน

ขอบใจหลายๆ เด้อ

 

โดย: T_Ang 31 มกราคม 2549 0:54:17 น.  

 

ขออนุญาต จขบ. save เอาไว้อ่าน
ขอบใจมากๆ น้อง

 

โดย: T_Ang 31 มกราคม 2549 13:15:55 น.  

 

ฟิตไม่เสื่อมคลาย...เลยนะพี่

 

โดย: tongdigy 3 กุมภาพันธ์ 2549 23:33:04 น.  

 

แวะมาเยี่ยมครับ

 

โดย: T_Ang 16 กุมภาพันธ์ 2549 14:38:31 น.  

 

อยากขอเอกสารหรือคู่มือหลักเกณฑ์การอนุรักษ์โบราณสถาน จะไปใช้ในการทำภาคนิพนธ์ ค่ะ หรือจะส่งข้อมูลให้ทางเมลก็ได้นะค่ะ lettuce_218@hotmail.com

 

โดย: น้องชมพู่ IP: 124.157.183.39 15 สิงหาคม 2550 13:52:08 น.  

 

สวัสดีจะ

 

โดย: film IP: 58.9.193.4 26 พฤศจิกายน 2550 19:12:04 น.  

 

อยากได้ข้อมูลของโบราณสถานแบบ.....เจาะจงมีไหมคะ

 

โดย: ดวงใจสุดสวย IP: 203.113.67.69 11 ธันวาคม 2550 16:47:36 น.  

 

ต้องการข้อมูลแบบเป็นที่ๆเลยได้มั้ย...ไม่รู้จะไปหาจากเว็บอะไรดีแบบเจาะจงเนี้ย

 

โดย: สวัสดีเมืองไทย IP: 203.113.67.69 11 ธันวาคม 2550 16:51:13 น.  

 

จะรับข้อมูลโบราณสถานที่ไหนละบอกชื่อมาอาจหาให้ได้ แต่ถ้าไม่เจาะจงก็ดูที่

เว็บไซต์ ไทย-โบราณคดี.อินโฟ
//archaeology.thai-archaeology.info/


เว็บไซต์ สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี
//www.fad1.go.th/

เว็บไซต์ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี
//www.fad2.go.th/

เว็บไซต์ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
//www.fad14.go.th/

เว็บพวกนี้มีบทความโบราณสถานบางแห่งอยู่

 

โดย: อ้ายจัน 22 ธันวาคม 2550 0:20:12 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆแบบนี้น่ะครับ

 

โดย: นายวัลลภ IP: 180.183.64.24 28 พฤศจิกายน 2556 21:12:06 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


อ้ายจัน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add อ้ายจัน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.