Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
16 กันยายน 2551
 
All Blogs
 

โค้งท้ายเศรษฐกิจไทย 'ความเสี่ยง' กลบ 'โอกาส' จีดีพีโตแย่สุด



ในที่สุด ! รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ต้องออกมายอมรับว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (จีดีพี) ปี 2551 ที่ระดับ 6.0% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้นั้น 'เป็นไปไม่ได้'แล้ว

แม้ว่า 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.)ของปีนี้ อานิสงส์ของภาคส่งออกจะช่วยขับเคลื่อนจีดีพีให้โตได้ถึง 5.7% (จีดีพีไตรมาสแรก 6.1% และไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 5.3 %) แต่ความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้ เห็นปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก

อย่างน้อยที่สุดอย่างที่รู้ๆกันว่า ตราบใดที่'การเมือง' หาข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายไม่ได้ ความเสี่ยง 'ด้านลบ'ดังกล่าวยังเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นในสายตาของต่างชาติ

ผลที่เกิดขึ้นขณะนี้แม้จะมีเพียงเสียง 'ขู่'จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้ง 'เอสแอนด์พี' และ ' บริษัทฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย)ฯ' ที่เตรียมปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทยลง หากการเมืองรุนแรงและยืดเยื้อ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือ การสูญเสียโอกาสจากรายได้ท่องเที่ยว ที่เคยเป็นรายได้หลักของประเทศ และความเชื่อมั่นซึ่งนานวันก็นับแต่จะลดถอยลงไปเรื่อยๆ ผลกระทบเหล่านี้จะสะท้อนผ่านเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา


จีดีพีไทยไปไม่ถึง6%

ท่ามกลางความเชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ต่อความแข็งแกร่งของพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เป็นจังหวะเดียวกับที่สำนักวิจัยเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มทยอยปรับลดประมาณการจีดีพีของไทยปี 2551 ลงแล้ว

ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 'น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี' ก็ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าทำงานว่า "จีดีพีของไทยปีนี้อาจโตไม่ถึง 6% ตามเป้าหมาย เพราะปัญหาการเมือง โดยเฉพาะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คิดว่าสถานการณ์การเมืองไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น "

จนถึงขณะนี้มุมมองต่อจีดีพีไทยจากประมาณการกรณีต่ำสุดและสูงสุด มองต่ำสุดอยู่ที่ 3.6% และสูงสุดอยู่ที่ 5.8%

ภาคเอกชนที่ออกมาปรับประมาณการจีดีพี เป็นหน่วยงานแรกๆ เช่น ม.หอการค้าไทยออกมาประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากสถานการณ์การเมือง (เมื่อ 9 ก.ย.)เป็น 3 โมเดล คือ 1. การเมืองยืดเยื้อ 1-3 เดือน ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 73,000- 130,000 ล้านบาท ทำให้จีดีพีอยู่ที่ 4.5-4.8% 2. การเมืองจบภายในเดือนกันยายน มีความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 40,000-62,000 ล้านบาท จีดีพีโต 4.9-5.1% ซึ่งเป็นกรณีที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด และ 3. การเมืองยุติทันทีและไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอีก มีความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 19,000-35,000 ล้านบาท จีดีพีโต 5.2-5.3%

หลังจากนั้น (10 ก.ย.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประมาณการผลกระทบจากการเมืองต่อเศรษฐกิจไว้ 2 โมเดล (ดูจากตารางประกอบด้านล่าง) กรณีพื้นฐาน (การเมืองจบภายในสิ้นก.ย.) จีดีพีปีนี้จะโต 4.9-5.0% และกรณีเลวร้าย (การเมืองมีผลไปถึงสิ้นปี) จีดีพีปีนี้อาจโตแค่ 3.6-4.0% หรือครึ่งหลังของปีจีดีพีโตแค่ 1.5-2.4%

โดยก่อนหน้านี้ ทั้งแบงก์ชาติและสภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการจีดีพีไปแล้ว โดยที่แบงก์ชาติปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ จาก 4.8-6.0 % เหลือ 4.8-5.8% และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เพิ่งปรับจีดีพีจาก 4.5-5.5% เป็น 5.2-5.7% ไปเมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นระดับของประมาณการจีดีพีที่สูงที่สุดในขณะนี้

ในมุมมองของต่างชาติที่ปรับลดจีดีพีของไทยลงแล้ว เมื่อ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์(ประเทศไทย )ฯ จัดสัมมนาประจำปี ซึ่ง 'นายเจมส์ แม็ก คอร์แมก' หัวหน้าฝ่ายจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า " ที่น่าห่วงคือประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่มีแนวโน้มอ่อนแอลงเรื่อยๆ เพราะมีแต่ปัจจัยลบ หากปล่อยให้ปัญหายาวนานหรือมีเหตุการณ์รุนแรง ฟิทช์อาจจำเป็นต้องปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ระดับ BBB+ ก่อนเวลาปกติที่จะมีการประเมินปรับอันดับความน่าเชื่อถือต้นปี 2552"

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)ได้ประมาณการจีดีพีของไทยจาก 5.0% เหลือ 4.6% ขณะที่ 16 ก.ย.นี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เตรียมประเมินและทบทวนภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน

และในวันเดียวกันนั้นเอง ธนาคารโลกและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้จัดบรรยายสรุปสาระสำคัญของรายงาน Doing Business 2009 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อชี้วัดความยากง่ายของการดำเนินธุรกิจในประเทศทั้งหมด 181 ประเทศทั่วโลก โดยวัดจากกฎระเบียบของราชการและจากการปกป้องสิทธิของผู้ลงทุน โดยที่ 'ประเทศไทย' ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 13 เรื่องของความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่อันดับ 19

ซึ่ง 'กิริฎา เภาพิจิตร'นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นถึงสถานการณ์การเมืองว่า มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และไม่ได้มีผลต่อการลงทุนมากนักเพราะนักลงทุนมองพื้นฐานเศรษฐกิจและความต่อเนื่องของนโยบาย


โค้งท้ายศก.ไทยโตต่ำสุด

นับเป็นความโชคดีของเศรษฐกิจไทย ขณะที่7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) 'ภาคส่งออก' ยังเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ บนตัวเลขมูลค่าส่งออกที่ทุบสถิติแทบทุกเดือน และตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังทำรายได้หลักเข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ

แต่ 3-4 เดือนท้ายของปีนี้ 'โอกาส' จะพลิกกลับเป็น 'สูญโอกาส'แทน เพราะประเมินปัจจัยด้านบวกและลบแล้ว ความเสี่ยงด้านลบมีมากกว่าทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน

ความเสี่ยงด้านลบ ประกอบด้วย
1. การเมืองยืดเยื้อ
2. การส่งออกชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
3. รายได้จากการท่องเที่ยวชะลอ
4. ราคาสินค้าเกษตรลดลง
5.ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ถึงจุดต่ำสุด
6.ผลกระทบต่อความเชื่อมั่น

ความเสี่ยงด้านบวก ประกอบด้วย
1.รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551 นี้
2. รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
3. ราคาน้ำมันเริ่มลดลง
4. แนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวลง

ขณะที่ "ฐานเศรษฐกิจ" สำรวจความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ เช่น ดร.อมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ แบงก์ชาติ , กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ,ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ เห็นเหมือนกันว่า ปัจจัยภายนอก 'น่าวิตก'มากกว่าปัจจัยภายใน

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขคาดการณ์ภาคส่งออกที่สะท้อนถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะต่อไป เห็นได้จากคาดการณ์การเติบโตของภาคส่งออกในปี 2552 ที่แต่ละค่ายมองการเติบโตไว้ที่หลักเดียว เช่น สภาพัฒน์ ประมาณการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 8.5% บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ ประมาณการปีนี้ไว้ที่ 17% แต่ปีหน้าเหลือ 5-12% เท่านั้น

ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นว่า "เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะเป็นไตรมาสที่โตแย่ที่สุด เมื่อเทียบกับ 3 ไตรมาส เพราะการขยายตัวของภาคส่งออกที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา จากการที่เศรษฐกิจโลก ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นโตติดลบ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรซึ่งเคยเป็นตัวผลักดันให้ภาคส่งออกเติบโตมีราคาลดลง และความเชื่อมั่นที่มีผลกระทบจากปัญหาการเมืองมาโดยตลอด กระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ที่ 5.0-5.5% อยู่

สอดรับกับความเห็นของ ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังสี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ที่มองเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายไว้ว่าจะอยู่ในภาวะ 'แย่ถึงแย่มาก' และมีความเป็นไปได้ที่จีดีพีไตรมาส 4 อาจโตไม่ถึง 4.0% แต่ยังเชื่อว่าจีดีพีทั้งปีจะอยู่ที่ 4.0-5.0% ได้

ขณะที่ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย 'กอบสิทธิ์ ศิลปชัย'ให้ความเห็นว่า "ปัจจัยนอกยังส่งผลกระทบค่อนข้างมาก อย่าไปดูแค่ว่าการเมืองส่งผลให้เงินทุนไหลออก เพราะเงินทุนมันไหลออกทั้งภูมิภาค สูตรที่จะพึ่งการส่งออกอย่างเดียว ก็ต้องใช้กลยุทธ์อื่นในการช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอาจจะต้องอดทนว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจคงต้องชะลอตัวออกไป "


ผลโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้จะต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 17 ก.ย.นี้แทน จึงจะทราบว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป ขณะที่โจทย์ของรัฐบาลปัจจุบัน คือ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นทั้งภายในและนอกประเทศ การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องผสานความแตกแยกที่เกิดขึ้นภายในประเทศให้กลับสู่ภาวะสมานฉันท์โดยเร็ว เพื่อพยุงให้


เศรษฐกิจผ่านโค้งท้ายของปีนี้ ที่หลายๆคนมองตรงกันว่า'เป็นที่สุดของความเสี่ยง'





จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2357 14 ก.ย. - 17 ก.ย. 2551




 

Create Date : 16 กันยายน 2551
0 comments
Last Update : 16 กันยายน 2551 17:42:48 น.
Counter : 573 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


IBMgang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Bu ความรู้คู่ความดี.mp3 - Bu
Friends' blogs
[Add IBMgang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.