คุยกันท้ายเล่ม
เมื่อนิยายเรื่องนี้ออกสู่สายตาผู้อ่านทาง Facebook และ iampakin.bloggang.com แล้ว ปรากฏว่า มีผู้อ่านสนใจถามไถ่และติดตามอยู่ตลอดเวลา ถึงขั้นโทรศัพท์ หรือเมลมาสอบถามถึงเหตุการณ์ และเรื่องราวของตอนต่อไป รวมถึงอยากให้เฉลยว่า ตอนไหนที่เป็นเรื่องจริง หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

อันที่จริง เรื่องโรงเรียนวิชารบนี้ เป็น Reverse หรือนิยายจากอีกมุมมองหนึ่งของบทความส่วนตัวของข้าพเจ้า ที่ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีก่อน นั่นคือ บันทึกหมวกแดง ซึ่งบทความชุดนี้เป็นบทความที่กล่าวถึงชีวิตของข้าพเจ้าเมื่อครั้งเป็นพลทหารใหม่ ประจำกองพันรบพิเศษที่ ๒ กรมรบพิเศษที่ ๕ อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่โชคร้ายที่ข้าพเจ้าหยุดเขียนค้างไว้ จนกระทั่งปลายปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้เริ่มเขียนนิยายเรื่องยาวอย่างจริงจัง ช่วงที่ค้นเอกสารในตู้เพื่อหาข้อมูลมาประกอบนิยายเรื่องดังกล่าว ข้าพเจ้าได้พบกับเค้าโครงเรื่องบางตอนของนิยายเรื่อง โรงเรียนวิชารบ ซึ่งเขียนค้างไว้ ประมาณ ๘ หน้ากระดาษ A4 เมื่อเอากลับมานั่งอ่าน ก็พบว่า อยากเขียนเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงลงมือเขียนโครงเรื่อง แจกแจงตัวละคร ค้นข้อมูลจากสมุดบันทึกพลทหารใหม่ จดหมายที่ข้าพเจ้าเขียนโต้ตอบกับครอบครัวในขณะที่เป็นพลทหารใหม่ และรูปถ่ายต่าง ๆ ประกอบการเขียนนิยายเรื่องนี้

ประเด็นสำคัญก็คือ โครงเรื่องหลักของนิยาย ไม่ได้ตรงกับชีวิตจริงของข้าพเจ้า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบางตอน ตรงกับความเป็นจริง ส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ นั้น ข้าพเจ้าได้แต่งเสริมขึ้นมาเพื่อความสนุกสนาน เริ่มต้นจากการเปลี่ยนชื่อหน่วยบังคับบัญชาของกรมรบพิเศษที่ ๕ จากเดิมที่มีเพียง กองร้อยสนับสนุนการช่วยรบฯ และกองพันรบพิเศษที่ ๑ และ ๒ เป็น กองพันรบพิเศษที่ ๑, ๒, และ ๓ ตามลำดับ เพื่อหลีกเลี่ยงการพาดพิงถึงโดยตรง

การรับใช้ชาติในฐานะพลทหาร ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นครูฝึกทหารใหม่ เรียนจบสาขาเทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ไม่ใช่สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และมีเวลารับราชการเพียง ๖ เดือนเท่านั้นไม่ใช่ขยายออกไป ๒ ปีอย่างในเรื่อง (แต่ในความเป็นจริง สามารถยื่นเรื่องขอต่ออายุวันรับราชการทหารได้) เรียกได้ว่า พอขึ้นสังกัดกองพันปุ๊ป ก็เป็นผลัดปลดทันที มีอภิสิทธิ์เหมือนรุ่นพี่ผลัดปลดบางอย่าง แต่ก็ขาดโอกาสในหลาย ๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าทำงานบน บก.ร้อยฯ ของร้อย ฯ บก. แต่จ่ากองไม่ทำเรื่องเบี้ยเลี้ยงบุคคลให้ จะกินอะไรพิเศษก็อาศัยเงินตัวเองล้วน ๆ ต่างจากเพื่อนและรุ่นพี่ที่ทำงานบน บก.ร้อยฯ จะได้เบี้ยเลี้ยงบุคคลรวมในเงินเดือน เหตุผลที่แกให้ตรงกับที่บอกไว้ในช่วงต้น ของนิยาย นั่นคือ ทำเรื่องยุงยาก มันก็เลยไม่คุ้มกับพลทหารที่มีอายุราชการเพียง ๖ เดือน

อีกสองเรื่องก็คือ เรื่องแรก มีการสอนขับรถแล้วพาไปทำใบขับขี่ให้ด้วย ข้าพเจ้าสามารถขับถอยหลังเข้าซองได้ แต่เข้าเกียร์สองไม่ได้ ได้แต่เกียร์หนึ่ง เพราะยังเหยียบคลัทช์ไม่เป็น ตอนทำใบขับขี่ที่ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการรวมพลผลัดปลดไปทำทั้งหน่วยวันเดียวกัน คนทำก็เลยเยอะ เจ้าหน้าที่เลยให้ตัวแทนออกมาขับพอเป็นพิธี ข้าพเจ้าเลยไม่ได้สอบปฏิบัติ ผ่านเฉพาะอบรมกับข้อเขียนก็ได้รับใบขับขี่เลย

ส่วนอีกเรื่องก็คือ ผลัดปลดจะได้หยุดเทศกาลสงกรานต์ช่วงเวลาที่ดีกว่า กล่าวคือ ทางกองพันฯ ปล่อยพลทหารกลับบ้านได้แต่ปล่อยพร้อมกันหมดไม่ได้ ต้องมีพลทหารประจำการอยู่ครึ่งหนึ่ง จ่ากองเลยจัดง่าย ๆ ด้วยการให้ผลัดปลดกลับบ้านช่วงตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายนเป็นต้นไป และให้ผลัดที่เหลือกลับบ้านก่อนวันที่ ๑๔ เมษายน (แปลว่า ต้องเข้าค่ายในวันที่ ๑๔ เมษายนก่อนเวลา ๑๘๐๐ น.) ดังนั้น มีเวลาเล่นสงกรานต์แค่เพียงไม่กี่วัน ไม่ได้ดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ด้วย จ่ากองให้ข้าพเจ้ามีสิทธิ์เลือกได้ทั้งสองช่วงเวลา เพราะถ้ากลับช่วงแรกใช้สิทธิ์ตามปกติ ก็ได้อยู่กับเพื่อนกลุ่มเดียวกัน แต่ถ้ากลับช่วงที่สองใช้สิทธิ์ผลัดปลด ก็ได้เที่ยวมากกว่า ในที่สุด ข้าพเจ้าก็เลือกช่วงแรกเพราะอยากอยู่กับเพื่อน ๆ มากกว่า เห็นว่าพวกผลัดปลดบ่นอุบประมาณว่า ข้าพเจ้าไม่เข้ากับพวกเขา (ก็แหงละ เพิ่งขึ้นกองร้อยมาไม่กี่เดือนจะไปคุ้นกันได้อย่างไร) แถมจ่ากองก็ปิ๊งไอเดียให้มีการจับคู่กันด้วยว่า ผลัดปลด จะคู่กับผลัดที่เหลือนายไหน เมื่อพลทหารนายนั้นกลับมา ผลัดปลดที่จับคู่กันไว้ ถึงจะได้ออกไปได้ จำได้ว่า มีการแย่งตัวข้าพเจ้ากันมาก มีการซื้อตัวกันด้วย เพราะเป็นคนกลับเข้าค่ายมาเช้าเสมอ (วันที่ ๑๔ เมษายน ข้าพเจ้ากลับรถเมล์เที่ยวประมาณ ๗ โมงเช้า ต่อรถสองครั้ง ถึงค่ายทหารก่อนเก้าโมงเช้า ไม่เปียกน้ำเลยสักหยด!)

แกนหลักของเรื่อง หลายคนเข้าใจว่า เป็นเรื่องทำนองกะเทย หรืออีตุ๊ด อย่างที่ไอ้หน้าหล่อเรียกขาน ไปฝึกทหาร เช่นเดียวกับประสบการณ์มากมายที่เขียนเล่ากันอย่างเอิกเกริกในอินเตอร์เนท อันที่จริง ข้าพเจ้าตั้งใจให้เรื่องนี้ถ่ายทอดการต่อสู้ในจิตใจของตัวละครเอกเป็นสำคัญ โดยเน้นที่การใช้ชีวิตอยู่อย่างไรและแนวความคิดในการดำเนินชีวิตต่อไป ให้อยู่เหนือการมองประเด็นเรื่องเพศไปจนหมดสิ้น เหตุผลในการตัดสินใจมาเป็นทหาร ความหลงใหล และความคิดในการสมัครขอรับราชการต่อ บรรยายตรงตามอารมณ์ของข้าพเจ้าทั้งหมดอย่างไม่เกินเลย ข้าพเจ้าพยายามชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าใครต่อใครก็มีโอกาสที่จะพบกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต จนอาจนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน รวมถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก คือ มิตรภาพที่แน่นแฟ้นหล่อหลอมขึ้นภายใต้สถานการณ์เดียวกันอย่างเข้าอกเข้าใจ

ชีวิตประจำวันในขณะที่อยู่กองร้อยนั้นตรงกับความเป็นจริงทุกตอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายของรุ่นพี่ผลัดปลด การเข้าเวรผู้ช่วยสิบเวรฯ ระเบียบเรื่องการลากลับบ้านและการกลับเข้ามารายงานตัว การรับประทานอาหารที่โรงสูทกรรม รวมทั้งการทำงานบน บก.ร้อยฯ การรวมพลประจำวัน การจัดเวรยามรักษาการณ์ การโดนลงโทษ การไปทำงานตัดหญ้า ทำความสะอาดต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการรับโทรศัพท์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ตรงตามแบบแผนและธรรมเนียมทหารในสมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นพลทหารทั้งสิ้น เหตุการณ์พิเรนทร์ต่าง ๆ เช่น การฝังมุก การวิ่งไล่ปล้ำกันในโรงนอน และงานเลี้ยงผลัดปลด (รวมทั้งการสูบบุหรี่ และการจูบปากใครบางคน) ตรงกับเหตุการณ์จริงที่ข้าพเจ้าประสบมากับตัวเอง

สำหรับเหตุการณ์ช่วงอยู่หน่วยฝึกทหารใหม่นั้น ข้าพเจ้าจินตนาการเอาจากประสบการณ์จริงในฐานะเป็นพลทหารใหม่ แต่พลิกมุมมองให้อยู่ในฐานะผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่ ดังนั้น หลายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ จึงตรงกับประสบการณ์จริงที่ข้าพเจ้าได้รับจากการฝึก เช่น การรวมพลและกระจายกำลังพลในวันรับพลทหารใหม่ที่สนามม้าหนองฮ่อ การที่ครูฝึกฯ สั่งให้ลงจากรถแล้วสาบานตนก่อนเข้าค่ายก็เป็นเรื่องจริง พิธีเปิดหน่วยฝึกทหารใหม่ และการเชิญธงประจำหน่วยฝึกฯ การออกกำลังกาย หรือ พี.ที. การวิ่งไปอ่างแม่เย็น การยิงปืน การออกค่ายพักแรม การผ่านด่านทดสอบวัดใจทั้งฐานกลางวันและกลางคืน การอาบน้ำรวม เป็นต้น

เหตุการณ์เสริมอื่น ๆ ก็ล้วนตรงกับสิ่งที่มีหรือเคยเกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น เป็นต้นว่า ธงหายแล้วโดนซ่อมพร้อมกัน ต้มจืดล้อแมกซ์และการยกซดจนหมด ข้าวกล่องน้ำพริกกับไข่ต้ม ฉากบางฉากที่ตัวละครประสบในนิยายเป็นประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าได้เคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น เช่น การไต่เชือกในฐานวัดใจ (ที่ไปไม่รอดเลยตกน้ำ) การที่ได้เป็นผู้นำอ่านเข็มทิศเพื่อเดินทางไกลออกค่ายพักแรม เป็นต้น บางเรื่องก็ไม่ได้โดนไปกับเขา แต่อยู่ในเหตุการณ์แบบห่าง ๆ ก็คือ การโดนซ่อมเมื่อตนธงหาย เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นแผลที่ส้นเท้า (ดังจะได้ขยายรายละเอียดต่อไป) ผู้ช่วยผู้ฝึกฯ มาเป่านกหวีดปลุกเรากลางดึกให้ลงไป “ซ่อม” ข้าพเจ้ากำลังลุกขึ้นจากเตียง ผู้ช่วยครูฝึกฯ ท่านหนึ่งก็ตะโกนบอกให้ข้าพเจ้าไม่ต้องลงไป เพราะเจ็บเท้า เพื่อนพลทหารใหม่มารู้เข้าทีหลังก็ไม่ได้ว่าอะไร (ปกติเวลาโดนซ่อมอะไรสักอย่างแล้วโดนไม่เหมือนกันจะเป็นอะไรที่เคืองกันมาก ว่าไม่ยุติธรรม) เหมือนจะเป็นห่วงอาการมากเสียอีก ข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงรายละเอียด ตัดทอนหรือเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับความเป็นนิยาย นอกจากนี้ ข้อมูลที่ใช้ในนิยายยังได้อ้างอิงสมุดทำเนียบรายชื่อพลทหารใหม่ผลัด ๒/๔๔ กรมรบพิเศษที่ ๕ และจากสมุดบันทึกหน่วยฝึกทหารใหม่ที่ข้าพเจ้าจดไว้ถึง ๓ เล่ม เป็นสมุดบันทึกหลักสูตรการฝึกต่าง ๆ ในชั้นเรียน รายการอาหารว่างในแต่ละวัน (ซึ่งผู้ช่วย ผู้ฝึกฯ ในขณะนั้น เป็นคนสั่งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จดไว้ เพื่อจะได้ทวนสอบได้) ข้อคิดจากการอบรมในชั่วโมงจริยธรรม เพลงประจำหน่วย เป็นต้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด

สำหรับกิจวัตรประจำวันระหว่างการฝึกทหารใหม่ ข้าพเจ้าได้สอดแทรกเหตุการณ์ของข้าพเจ้าหลายอย่างลงในตัวละคร ทั้ง พัฒนรัฐ หรือพัทซี่ และภูหิน เช่น การโดนรองเท้ากัด ซึ่งในเรื่อง ภูหิน โดนรองเท้ากัดเป็นแผล ข้าพเจ้าให้ยาแก้อักเสบและสั่งให้กินตามนั้น ความเป็นจริง ข้าพเจ้าเป็นคนที่โดนรองเท้าคอมแบทกัดระหว่างการฝึก จนต้องสวมถุงเท้าสองชั้น แต่ใส่ได้ไม่ถึงสัปดาห์ก็ต้องเปลี่ยนมาใส่รองเท้าแตะอยู่นานเกือบเดือน ทั้งวิ่ง ฝึก หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้รับอนุญาตให้ใส่รองเท้าแตะทั้งหมด เนื่องจากเป็นโรคน้ำเหลืองไม่ค่อยดี แผลหายช้ามาก เสนารักษ์ในขณะนั้นต้องสั่งให้กินยาแก้อักเสบมื้อละ ๒ เม็ด จนปากขมไปหมด ก็ยังไม่ดีขึ้น สุดท้ายต้องรอแผลตกสะเก็ดไปเอง เลยโดนแซวว่าเป็นพลทหารแม้ว เพราะนอกจากต้องสวมรองเท้าแตะแล้ว ยังต้องหิ้วปิ่นโตไปเอากับข้าวให้พวกครูฝึกฯ ทั้งหลาย จึงได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องอยู่ในแถว แม้กระทั่งขึ้นทำงานบน ร้อยฯ บก. ไปแล้ว ก็ยังต้องหาถุงเท้าที่ยาน ๆ มาตัดเอาเฉพาะส่วนที่เป็นส้นเท้าสวมไว้ข้างในก่อน แล้วจึงใส่ถุงเท้าทับข้างนอกอีกชั้น เพื่อป้องกันการเสียดสี ทุกวันนี้ ที่ส้นเท้าก็ยังมีรอยแผลเป็นจากการโดนรองเท้ากัดครั้งนั้นอยู่

ส่วนการเชิญธงที่โดนล้อว่าวิ่งเหมือนเป็ดนั้น เป็นเรื่องจริง การดึงข้อไม่ได้ก็เป็นเรื่องจริง แต่ข้าพเจ้าทดสอบวิ่ง ดันพื้น และลุกนั่งผ่านทั้งหมด แถมคะแนนยิงปืนตอนฝึกซ้อมวันแรกได้สูงขนาดนั้นจริง ตอนสอบข้อเขียน หน่วยเหนือมาคุมสอบด้วยตนเอง โดยพลทหารใหม่นั่งรวมกันในชั้นเรียน แล้วโดนขานชื่อเรียกถามทีละข้อ วนไปจนครบข้อสอบทั้งหมด เพื่อน ๆ พลทหารใหม่ก็จะพากันมองมาที่ข้าพเจ้าเพื่อให้คอยพยักหน้าบอกคำตอบ จนโดนผู้บังคับบัญชาที่มาคุมสอบแซวว่า ไม่ต้องหันมามองข้าพเจ้าบ่อยก็ได้ เลยเปลี่ยนแผนให้เพื่อนที่รู้คำตอบช่วยกันบอกกระจาย ๆ ไป จะได้ไม่โดนสงสัย

การกลับบ้านไปเอาเอกสารที่สัสดีจังหวัดลำพูนก็ตรงกับเหตุการณ์จริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงฝึกทหารใหม่ เกิดขึ้นช่วงอยู่ร้อยฯ บก. เป็นการกลับบ้านที่สั้นที่สุด คือใช้เวลาจริงไม่ถึงสี่ชั่วโมง และในความเป็นจริง ไม่ได้แวะบ้านเลยด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าไปศาลากลาง ติดต่อธุระเสร็จเรียบร้อยแล้วแล้วก็กลับเลยทันที

การประสบอุบัติเหตุรถล้ม อาจไม่ได้เกิดขึ้นช่วงกลางคืน เพราะในความเป็นจริง พลทหารใหม่จะออกไปเพ่นพ่านยามวิกาลอย่างนั้นไม่ได้ แต่เกิดขึ้นตอนกลางวันของวันเนาว์ หรือวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๕ ข้าพเจ้ากลับบ้านช่วงสงกรานต์มาหมาด ๆ ในตอนเช้า อาสาสิบเวรฯ ขี่รถจักรยานยนต์ไปซื้อของ ขากลับเลี้ยวรถเข้าถนนแม่สาสายเก่า เจอกลุ่มเด็กนักเรียนเล่นน้ำ ข้าพเจ้าบีบเบรกมือกะทันหันจนล้อรถล็อก (ดิสก์เบรก) รถล้มแล้วไถลไปกับพื้น เด็กนักเรียนชายกรูเข้ามาช่วย วัยรุ่นทั้งนั้น ด้วยความอายเพราะอยู่ในชุดเสื้อทหารกางเกงพรางขาสั้น เลือดทหารขึ้นหน้าเลยปฏิเสธไป ทำเป็นแข็งแรงขี่รถไปต่อได้ ทั้ง ๆ ที่เจ็บหนักหนาสาหัสเอาการอยู่ วันรุ่งขึ้นปวดระบมหมดทั้งตัว แต่ก็สามารถแข็งใจแล้วฝืนทำงานได้ตามปกติ

การเขียนเวลาแบบไม่มีจุดระหว่างสองหน่วยเวลา การสะกดชื่อยศ ตัวย่อหน่วยงานของกรมรบพิเศษ หน่วยงานทหารอื่น ๆ ในเรื่อง การใช้เครื่องหมายไปยาลใหญ่ (ฯ) ถูกต้องตามแบบที่ข้าพเจ้าเคยพิมพ์งานเอกสารเมื่อครั้งเป็นพลทหารจริง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า บก.ร้อยฯ กับ ร้อยฯ บก. นั้น แตกต่างกัน ในประโยคที่ว่า ...พลทหารอีกนายที่ถือว่าประจำอยู่ บก.ร้อยฯ เพียงแต่ไม่ได้ประจำอยู่บน บก.ร้อยฯ เท่านั้น ก็คือ เอ เพื่อนพลทหารที่ประจำร้านค้าของ ร้อยฯ บก. นั่นเอง... บก.ร้อยฯ คำแรก หมายถึงชื่อสถานที่ บก. คือ สำนักงาน หรือออฟฟิศของหน่วยงานนั้น ๆ ส่วนคำที่สอง ร้อยฯ บก. เป็นชื่อย่อหน่วยงานที่ เอ สังกัด นั่นคือ กองร้อยกองบังคับการ กองพันรบพิเศษที่ ๓ กรมรบพิเศษที่ ๕ ดังนั้น บก.ร้อยฯ คือ สำนักงานของ ร้อยฯ บก. รพศ.๕ พัน.๓ นั่นเอง อีกคำหนึ่งที่ใช้บ่อย คือ ผู้ฝึกฯ คำเต็ม คือ ผู้ฝึกทหารใหม่ เช่นเดียวกับ ผู้ช่วยครูฝึกฯ หรือ ผู้ช่วยครูฯ มาจาก ผู้ช่วยครูฝึกทหารใหม่ เป็นต้น

ตัวละครทุกตัว ผ่านการแปลงชื่อเสียงเรียงนาม ไม่ให้พ้องกับชื่อจริง เพื่อสงวนความเป็นส่วนตัวไว้ มีตัวละครที่แต่งเพิ่มใหม่บ้าง ทว่าเหตุการณ์ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ของ พัฒนรัฐ กับใครหลายคนในเรื่อง ตรงกับเหตุการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้าที่เกิดขึ้นจริง

เหตุการณ์ระหว่างข้าพเจ้ากับหมู่เอ็ม เป็นเหตุการณ์สมมติขึ้นบางส่วน บางส่วนก็ตรงกับความเป็นจริง หมู่เอ็มไม่เคยมานอนเตียงเดียวกับข้าพเจ้า แต่เป็นนายสิบท่านอื่น มานอนในลักษณะอย่างที่บอก ส่วนที่แกถามเรื่องผลของการฝึกต่อร่างกายของแกนั้นตรงกับความเป็นจริง (กลับไปอ่านดู อยู่ในช่วงต้นของเรื่อง) แล้วพ่อของแกก็ทำงานที่ บก.พันฯ ข้าพเจ้ามีโอกาสไปพิมพ์งานให้บ่อยครั้ง

หมู่เมธ หรือไอ้หน้าหล่อ ไม่ได้หล่อเหลาอย่างที่จินตนาการไว้ แต่ก็เกือบใกล้เคียง หมู่เมธจริง ๆ เป็นผู้ช่วยครูฝึกฯ สมัยที่ฉันเข้ารับการฝึกทหารใหม่ เป็นผู้ช่วยครูฝึกฯ หมู่สุดท้าย ในขณะที่ฉันอยู่หมู่ที่ ๑ ดังนั้น แกจึงเป็นรุ่นพี่ของข้าพเจ้าเพียงปีเดียว อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่า ข้าพเจ้าได้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กน้อยให้เหมาะสมกับความเป็นนิยาย ดังนั้น จึงเสกให้ครูเมธ เป็น หมู่เมธ เสียเลย ส่วนสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเราทั้งสอง ซึ่งจนบัดนี้ มันยังคอยรบกวนจิตใจข้าพเจ้าอยู่เสมอก็คือ เหตุการณ์ที่แกมาขอโทษเรื่องที่ล้อเลียนและเสียดสีข้าพเจ้าในห้องอาบน้ำ (แต่เป็นคนละเรื่องกับการโดนสั่งให้ถอดกางเกงอาบน้ำเหมือนในนิยาย) จนข้าพเจ้าโมโหเกิดแล้วกลับขึ้นมาบนโรงนอน แกลงทุนนั่งหน้าเตียง ขณะที่ข้าพเจ้านั่งทำอะไรสักอย่างอยู่กับพื้น เท่าที่จำได้ ข้าพเจ้ายังคงบึ้งตึง แกก็เลยล่าถอยกลับไป เพื่อน ๆ พากันแซวยกใหญ่ ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือ แกถอดเสื้อมานอนในเต็นท์นั่นแหละ

เพื่อนร่วมรุ่นผู้ช่วยครูฝึกฯ ของข้าพเจ้า และเพื่อนพลทหารใหม่ของ ภูหิน ดัดแปลงมาจากเพื่อนพลทหารใหม่รุ่นเดียวกับข้าพเจ้าแทบทั้งหมด น้ำ เป็นเพื่อนเรียนโรงเรียนเดียวกันกับข้าพเจ้าสมัยชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จนบัดนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ เคยเป็นหัวหน้าตอน และทำงานบน บก.ร้อยฯ รพศ.๕ พัน.๒ ด้วยกัน วันที่ข้าพเจ้าปลดประจำการนั้น น้ำ ขอปากกาที่ข้าพเจ้าใช้ทำงานไว้ บอกว่า มันเขียนดีจริง ๆ ข้าพเจ้าก็ให้ไว้จริง ๆ ปิ๊ก เป็นบัดดี้ของข้าพเจ้าสมัยอยู่หน่วยฝึกฯ นิสัยดี และทะเล้นแบบในเรื่อง อิท หล่อที่สุดในรุ่น (แน่นอนว่า อย่ายิ้มเห็นฟัน!) ภายหลังเห็นว่าสอบติดนายสิบและได้ประจำการด้วย ยุทธ บ้า ๆ บอ ๆ ไร้สาระ ชัย เป็นเพื่อนร่วมหมู่ที่ดีของข้าพเจ้า กร น้อย เจ๋ง ก้าน ส้ม ฯลฯ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นพลทหารของข้าพเจ้า ยกเว้น บะหนุน ถังแก๊ส กับโบ๊ต เท่านั้นที่แต่งขึ้นมา ชื่อถังแก๊สนี้ ได้มาจากการเล่นเฟซบุ๊คในวันหนึ่ง เพื่อนของข้าพเจ้ามาโพสท์ประมาณว่า ขึ้นรถไฟฟ้า แล้วได้ยินเด็กนักเรียนเรียกชื่อกันว่า ถังแก๊ส เป็นชื่อประหลาดดีแท้ ข้าพเจ้าชอบชื่อนี้เลยจดไว้

นายทหาร และนายสิบทั้งหลาย พลทหารรุ่นพี่ทั้งหมด มีพื้นฐานมาจากตัวละครจริง จ่านนท์ ไม่ได้เป็นจ่ากองร้อย ในขณะที่ข้าพเจ้าทำงานอยู่ที่ ร้อยฯ บก. แต่ท่านได้รับแต่งตั้งหลังจากที่ข้าพเจ้าปลดออกไป ครั้งหนึ่งเคยกลับไปเยี่ยมค่ายทหาร ก็พบท่านทำงานอยู่บน บก.ร้อยฯ ผู้กอง จ่าแหลม จ่าคราม จ่าวิทย์ จ่าหวัด หรือแม้แต่จ่ากลิ้ง ที่ข้าพเจ้าอ้างถึงตอนพา ภูหิน ไปดูธงชัยเฉลิมพล มีที่มาจากบุคคลจริงเช่นกัน ข้าพเจ้ายังคงนึกถึง เคารพ และขอบคุณในความเมตตากรุณาของพวกเขาเหล่านั้นอยู่เสมอ

ครูสาม เป็นผู้ช่วยครูฝึกฯ ที่ดีมากคนหนึ่ง แกอาจไม่ได้พูดกับข้าพเจ้าอย่างประโยคในนิยาย แต่ความรู้สึกจากการที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากแกนั้น สามารถถ่ายทอดออกมาให้เป็นคำพูดได้อย่างนั้นจริง ๆ และอย่างที่ข้าพเจ้าทิ้งท้ายในฉากที่ข้าพเจ้าอำลาครูสามว่า ....สิบกว่าปีผ่านไป ฉันก็ยังไม่เคยเจอครูสามอีกเลยนับตั้งแต่วันนั้น เป็นต้นมา...

กว่าสิบปีที่ผ่านไป ข้าพเจ้าได้เจอเพื่อนพลทหารบ้าง ผู้ช่วยครูฝึกฯ บ้าง นายทหารนายสิบท่านอื่น ๆ บ้าง แต่ก็ไมได้ช่วยทำให้หายคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่เคยประสบเมื่อครั้งเป็นพลทหาร ณ กรมรบพิเศษที่ ๕ ชีวิตของคนเราต้องก้าวเดินต่อไป สิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวันวานก็เหมือนภาพถ่ายเก่า ๆ ที่อยู่ในลิ้นชัก คิดถึงก็ดึงออกมาดูเสียหน่อย แต่ทว่า ความคิดถึงในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำสมุดเล่าเรื่องราวขนาดใหญ่ เป็นนิยาย เป็นแกลอรี่ ที่แขวนภาพความทรงจำเหล่านั้นแบ่งปันให้ผู้สนใจท่านอื่น ๆ ได้ชื่นชม รวมทั้งเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรภาพระหว่างกันไม่เสื่อมคลาย



...วันที่ข้าพเจ้าปลดประจำการทหารนั้น ภายหลังจากมีพิธีอำลาผลัดปลดประจำการในช่วงเช้าแล้ว ตามระเบียบราชการทหาร อนุญาตให้พลทหารที่ปลดประจำการสามารถอยู่ในค่ายได้จนถึง ๑๘๐๐ น. ข้าพเจ้ากลับไปรวมตัวกับผลัดปลดประจำการของ รพศ.๕ พัน.๒ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่แทบทั้งสิ้น เพื่อถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกับผู้บังคับกองร้อยฯ และนายสิบอีกสองนาย ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าอาคาร ร้อยฯ บก. รพศ.๕ พัน.๒ นายสิบคนที่มาถ่ายแจ้งว่า ต้องเอารูปไปอัดทำกรอบใช้เวลานานพอสมควร ให้คอยโทรศัพท์มาสอบถามที่ บก.ร้อยฯ จะได้มารับด้วยตนเอง จากนั้น ข้าพเจ้าจึงเก็บเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวลงกระเป๋า พลทหารณัฐพล หรือหนุ่ม ผู้ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าตอนสมัยที่เราฝึกทหารใหม่ และเคยเรียนที่โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยกับข้าพเจ้าจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ก่อนจะแยกออกไปเรียนต่อสายวิชาชีพ เอ่ยขอปากกาที่อยู่ในลิ้นชักโต๊ะทำงานห้อง บก.ร้อยฯ หนุ่มพูดติดตลกว่า มันเขียนลื่นดี ข้าพเจ้ายิ้มพยักและยกให้ ช่วงบ่ายอันน่าเบื่อจึงไม่มีอะไรทำมากไปกว่าการนั่งและเดินเล่นบนโรงนอน พลทหารผลัดปลดต่างทยอยกลับบ้านกันหมดทุกนายแล้ว ยกเว้นตัวข้าพเจ้าเท่านั้น ความรู้สึกอาวรณ์เกิดขึ้นอย่างรุนแรง แต่จะให้ทำอย่างไรได้ เพราะถ้าจะทำเรื่องขอรับราชการต่อก็ไม่ทันเสียแล้ว จนกระทั่งถึงเวลาราว ๑๖.๓๐ น. ครูสิทธิ์ หรือพลทหารประสิทธิ์ ครูที่ข้าพเจ้านับถือมากที่สุด ก็ชวนข้าพเจ้าขึ้นรถไปโรงสูทกรรมพร้อมกับพลทหารนายอื่น ๆ เพื่อจะแวะไปส่งข้าพเจ้าที่หน้าค่ายใหญ่ ข้าพเจ้าแบกเป้ขึ้นบ่าแล้วโหนตัวขึ้นนั่งบนรถด้วยความรู้สึกเศร้าสร้อย แต่ก็ยังฝืนยิ้มทักทายเพื่อนทุกนาย ครูสิทธิ์ขับรถมาถึงหน้าค่ายใหญ่ รู้ดีว่าถึงเวลาแล้ว จึงลงจากรถ ทำความเคารพครูสิทธิ์ คำสุดท้ายที่ครูพูดก็คือ โชคดี แล้วเจอกันใหม่เมื่อชาติต้องการ ข้าพเจ้าโบกมือลาเพื่อน ๆ ที่นั่งอยู่หลังรถ แล้วออกเดินผ่านกองรักษาการณ์ พลทหารรุ่นพี่ที่ประจำการสังกัดกองร้อยสนับสนุนการช่วยรบ หรือ ร้อยฯ สสช. รพศ.๕ ตะโกนอวยพรให้ข้าพเจ้า ที่ตรงปลายสะพานข้ามคันคลองก่อนจะถึงถนนเชียงใหม่ – ฝางนั้นเอง ข้าพเจ้าก็กลับหลังหัน ยืนตรงเท้าชิด ยกมือขึ้นทำวันทยหัตถ์อย่างองอาจที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่นเป็นสิ่งสุดท้ายที่ข้าพเจ้าได้ทำในชีวิตการเป็นพลทหารตลอดระยะเวลา ๖ เดือนของข้าพเจ้า ลาจากชีวิตจริงในการเป็นทหาร แต่ไม่เคยลาจากความทรงจำดี ๆ เหล่านั้นตลอดกาล


ภ.ม. ภาคิโน
บ้านหมีแดงกับปุ้มปุ้ย
ศรีบุญยืน ลำพูน
ตุลาคม ๒๕๕๕



Create Date : 26 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2555 11:46:29 น.
Counter : 1311 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

PeeEm
Location :
ลำพูน  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สวัสดีครับ ผมชื่อ ภาคิน มณีกุล ครับ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ บริษัท ลานนาโปรดักส์ จำกัด เป็นบริษัทผลิตวาซาบิรายใหญ่ของประเทศ งานอดิเรกของผม นอกจากส่วนใหญ่จะเล่นกีฬา คือ ปั่นจักรยานและเล่นแบดมินตัน อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์และชอบเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปหรือพักผ่อนแล้ว ผมยังชอบเขียนบทความ เรื่องสั้น และนวนิยายอีกด้วยครับ

เพื่อน ๆ คนไหนเข้ามาอ่านก็สามารถติชมได้นะครับ ขอบคุณครับ
New Comments
พฤศจิกายน 2555

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
 
 
26 พฤศจิกายน 2555
All Blog