พฤศจิกายน 2554

 
 
1
7
8
9
11
12
14
16
18
20
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
อุทกภัยฉุดยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศระยะสั้น.....คาดธุรกิจรับอานิสงส์หลังน้ำลด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

วิกฤตอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ ทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งนี้ เป็นปัจจัยลบสำคัญที่กระทบต่อยอดขายเฟอร์นิเจอร์และของ ตกแต่งบ้านในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2554 ส่งผลให้ภาพรวมของตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านปี 2554 มีมูลค่าตลาดประมาณ 55,000 ล้านบาท ขยายตัวเพียงร้อยละ 3-4 เมื่อ เทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่หดตัวลงเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น และมีแนวโน้มว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2555 (หลังจากช่วงที่น้ำลดประมาณ 1 -3 เดือน) โดยคาดว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่เพื่อทดแทนที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วม จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยขยายตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในปี 2555

ทั้งนี้ ผลกระทบจากอุทกภัยต่อธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ สามารถสรุปรายละเอียดของประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้

» มหาอุทกภัยปี 2554....ชะลอยอดขายเฟอร์นิเจอร์ช่วงไตรมาส 4/54

อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4/54 เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายขยายบริเวณลงมายังเขตพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านที่สำคัญของประเทศ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในประเทศปี 2554 ปรับลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในประเทศปี 2554 มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 3-4 (YoY) จากเดิมคาดการณ์ไว้ว่าปี 2554 ตลาดเฟอร์นิเจอร์ฯ ในประเทศมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 56,000 ล้านบาท หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 5-6 (YoY) โดยวิกฤตน้ำท่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ฯ ชะลอลงในช่วง ไตรมาสสุดท้ายของปี สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

• ความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านของกลุ่มลูกค้าลดลงอย่างมาก โดยปกติช่วงไตรมาส 4 นับว่าเป็นช่วงฤดูขายของ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ แต่จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลให้ความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ฯ ของลูกค้าส่วนใหญ่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่กำลังประสบอุทกภัยและกลุ่มลูกค้าที่อยู่อาศัยใน พื้นที่เสี่ยงที่อาจประสบภัย (เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล) ซึ่งมีความกังวลว่าเฟอร์นิเจอร์ฯ ที่ซื้อมาใหม่อาจได้รับความเสียหาย หากเกิดน้ำท่วม ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องชะลอการซื้อเฟอร์นิเจอร์ออกไป

• ปริมาณการผลิตเฟอร์นิเจอร์ในช่วงที่เกิดอุทกภัยมีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ และแหล่งวัตถุดิบได้รับความ เสียหายจากน้ำท่วม โดยน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายแก่พื้นที่โรงงาน ทั้งที่เป็นโรงงานขนาดเล็กระดับท้องถิ่น และโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำและส่งจำหน่ายทั่วประเทศ จนทำให้โรงงานต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ประกอบกับแหล่งวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ โดยเฉพาะร้านค้าไม้ ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม นครสวรรค์ และอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการจำหน่าย การกระจายไม้ และการลำเลียงไม้จากภาคเหนือและภาคกลาง ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ไม่สามารถเปิดกิจการและส่งสินค้าได้ ส่งผลให้ โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์บางรายขาดแคลนวัตถุดิบ จนต้องลดปริมาณการผลิตลง

• ช่องทางการจัดจำหน่ายลดลง เนื่องจากบริษัทตัวแทนจำหน่าย และโชว์รูม/ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ จำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำ ท่วมพื้นที่ขายและคลังสินค้า ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว ประกอบกับถนนหลายเส้นทางมีน้ำท่วมสูงจนไม่สามารถเปิดการจราจรได้ ทำให้เป็นอุปสรรคแก่การเดินทางของลูกค้า การขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าหน้าร้านและลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์

» เฟอร์นิเจอร์ไม้ตกแต่งบ้านเรือนและสำนักงานเสียหายหนัก....จากเหตุอุทกภัยที่มีพื้นที่เสียหายเป็นวงกว้างและน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

นอกจากอุทกภัยจะส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านในช่วงไตรมาส 4/54 ลดลงแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับโรงงานผลิต เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้งานและตกแต่งบ้านเรือนของประชาชน และอาคารสำนักงานต่างๆ โดยคาดว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมมีจำนวนมาก เนื่องจาก

• เหตุอุทกภัยสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างแก่บ้านเรือน อาคารสำนักงาน ร้านค้าและกิจการต่างๆ ของประชาชน ประกอบกับระดับ น้ำที่ท่วมสูงและท่วมขังนานในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบางพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และโครงการหมู่บ้านจัดสรรต่างๆ จำนวนมาก โดยจากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ พบว่ามีบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้มากกว่า 7 แสนหลังคาเรือน ซึ่งเฟอร์นิเจอร์นับว่าเป็นของใช้และของตกแต่ง บ้านที่มีอยู่ทุกครัวเรือน ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ธุรกิจ จึงสร้างความเสียหายให้แก่เฟอร์นิเจอร์เป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อน ไม่ทนน้ำ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก ยากแก่การขนย้ายหรือหาที่จัดเก็บให้พ้นน้ำได้เพียงพอ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ Build-in ที่ไม่สามารถถอดและเคลื่อนย้ายได้

• คนไทยส่วนใหญ่นิยมใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้ในการตกแต่งบ้าน เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ไม้มีความสวยงาม ไม้บางชนิดมีราคาไม่สูงมาก และยัง คงเป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในประเทศ ประกอบกับตลาดเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง (ร้อยละ 60 ของการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด) โดยไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้แผ่นเรียบ (ปาร์ติเคิ้ล บอร์ด และเอ็มดีเอฟ บอร์ด) ซึ่งจะไม่ทนน้ำ บวมและชำรุดได้ง่าย เมื่อโดนน้ำและแช่ในน้ำเป็นเวลานาน ทำให้เฟอร์นิเจอร์ที่โดนน้ำท่วมส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย

» ความต้องการเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำลด....ปัจจัยหลักช่วยกระตุ้นตลาดในปี 2555

แม้ว่าเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่จะส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ช่วงปลายปี 2554 หดตัวอย่างมาก แต่ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาด เฟอร์นิเจอร์ในระยะสั้น และคาดว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์จะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังจากช่วงน้ำลดประมาณ 1-3 เดือน ภายหลังจากที่ประชาชนซ่อมแซมและทำความสะอาดบ้านที่ได้รับความเสียหาย

จากความเสียหายของเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ตกแต่งบ้านเรือน และอาคารสำนักงาน ที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้า คาดว่าความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่จะมีจำนวนมาก โดยการซื้อเพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์ที่ชำรุดเสียหายจากเหตุน้ำท่วม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นตลาดเฟอร์นิเจอร์ในช่วงต้นปี 2555 ประกอบกับปัจจัยบวกจากการเริ่มทยอยจัดส่งสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าที่เคยชะลอคำสั่งซื้อและการจัดส่งสินค้าในช่วงที่เกิดอุทกภัย อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากอานิสงส์ที่ได้รับจากการฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนหลังน้ำท่วมแล้ว ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศในปี 2555 ยังได้รับปัจจัยหนุนจากนโยบายบ้านหลังแรก และแนวโน้มการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งจะช่วยเสริมให้ตลาดเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านขยายตัวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สำหรับแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์หลังน้ำลด คาดว่ากลุ่มลูกค้าบางส่วนจะเริ่มคำนึงถึง “คุณสมบัติในการทนน้ำ” ในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ กล่าวคือ

• กลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ตามประโยชน์ของการใช้สอย อาจจะมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุที่ทนน้ำมากขึ้น อาทิ เหล็ก อลูมิเนียม และพลาสติก

• กลุ่มลูกค้าระดับบน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามของเฟอร์นิเจอร์ คาดว่ายังคงเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ และหนังเป็นวัสดุหลัก แต่อาจจะต้องการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบของวัสดุที่ทนน้ำ เช่น เหล็ก และพลาสติกแข็งคุณภาพสูง เป็นฐานรอง นอกจากนี้ ลูกค้าอาจต้องการการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่คล้ายกับการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์แบบ Build-in แต่สามารถถอดเคลื่อนย้ายได้

» การปรับตัวของผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตอุทกภัย....รับอานิสงส์หลังน้ำลด

สำหรับแนวทางรับมือกับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ เพื่อรองรับทั้งความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปี 2555 และรอง รับกับการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงในตลาด ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ในการขยายตลาดเชิงรุก ดังต่อไปนี้

ด้านการผลิต

• เร่งฟื้นฟูพื้นที่ผลิตที่ได้รับความเสียหาย (กรณีโรงงานผลิตได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม) รวมทั้งบริหารเส้นทางการจัดส่งสินค้าใหม่ โดยปรับเส้นทางการขนส่งเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ปิดซ่อมพื้นผิวจราจร และเส้นทางที่ชำรุด เพื่อที่จะสามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างปกติ และมีต้นทุนการขนส่งสินค้าต่ำ

• เร่งปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าหลังน้ำท่วม
     • โดยยังคงเน้นการออกแบบ เฟอร์นิเจอร์ให้มีความสวยงาม ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า และเพิ่มคุณสมบัติที่สามารถทนน้ำ และแช่อยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน โดยเลือกใช้วัสดุคุณภาพดีที่สามารถโดนน้ำได้ มาผลิตเป็นฐานรองสำหรับเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ และสำหรับเฟอร์นิเจอร์ไม้ ควรเพิ่มการทาสารเคลือบสี และกันน้ำที่มีคุณภาพสูง หลังขั้นตอนการทาสี

     • นอกจากนี้ ผลจากน้ำท่วมอาจทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุด/คอนโดมีเนียม จึงมีแนวโน้มที่ ความต้องการเฟอร์นิเจอร์สำหรับคอนโดมีเนียมจะมีเพิ่มมากขึ้น (เน้นความทันสมัย และประหยัดพื้นที่ใช้สอย)

• เพิ่มรูปแบบการให้บริการทั้งก่อนและหลังการขาย สืบเนื่องมาจากการนิยมเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ Build-in ของกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะ กลุ่มบ้านจัดสรร และทาว์นโฮมต่างๆ ผู้ผลิตควรเพิ่มโอกาสทางการขาย โดยการขยายรูปแบบการให้บริการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีลักษณะคล้ายกับเฟอร์นิเจอร์ Build-in พอดีกับตัวบ้าน และห้องต่างๆ แต่ออกแบบพิเศษเพื่อให้สามารถถอดได้ รวมทั้งเพิ่มบริการเสริมหลังการขายในราคาพิเศษแก่ลูกค้า เช่น บริการถอด เคลื่อนย้าย และรับฝากเฟอร์นิเจอร์

ด้านการตลาด

• ผู้ผลิตควรเร่งฟื้นฟูช่องทางการจำหน่าย โดยการปรับปรุงพื้นที่ขายที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเร่งฟื้นฟูธุรกิจของบริษัทที่เป็นตัวแทน จำหน่าย โดยการให้ส่วนลดและการสนับสนุนสินค้าล่วงหน้าสำหรับวางโชว์หน้าร้าน แก่ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ขอบเขตของการช่วยเหลือ ควรขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการ

• เร่งจัดโปรโมชั่นในการส่งเสริมการขาย อาจจัดโปรโมชั่นลดราคาสำหรับชุดเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งห้องในราคาประหยัด เช่น ชุดห้องรับแขก ชุดห้องครัว รวมทั้งอาจให้ส่วนลดแก่ลูกค้าที่ต้องการปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ภายในชุดที่ลดราคา และให้ส่วนลดพิเศษสำหรับลูกค้าที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์จำนวนมาก

• เร่งประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ ผู้ประกอบการควรเร่งทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและการให้บริการ หลังจากที่ทางบริษัท ได้ปรับกลยุทธ์ทางการผลิตและการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้าหลังน้ำลด เพื่อสร้างความรับรู้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

โดยสรุป อุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านนับว่าเป็น อุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านการผลิต การตลาด ตลอดจนความต้องการของกลุ่มลูกค้า ส่งผลให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์ในช่วงสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูขาย กลับมียอดขายที่ชะลอลง โดยอุทกภัยสร้างความเสียหายแก่พื้นที่โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ แหล่งจัดหาและการขนส่งวัตถุดิบในการผลิต จนทำให้ต้องหยุดการผลิตหรือลดปริมาณการผลิตลง ในขณะที่บริษัทตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็ต้องปิดกิจการเนื่องจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และเผชิญกับปัญหาในการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดอุทกภัยส่งผลให้ความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ของลูกค้าลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ประสบภัย หรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น โดยคาดว่าความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่เพื่อทดแทนเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ชำรุดเสียหายจากน้ำท่วม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมให้ยอดขายเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านฟื้นตัวภายในช่วงต้นปี 2555 (ใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือนหลังน้ำลด ภายหลังจากที่ประชาชน ซ่อมแซมและทำความสะอาดบ้านเรือน) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกด้านการผลิตและการตลาด เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ โดยกลยุทธ์ทางด้านการผลิต ผู้ประกอบการควรเร่งฟื้นฟูกำลังการผลิตและช่องทางการขนส่งสินค้า ปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าหลังน้ำลด ขยายขอบเขตการให้บริการก่อนและหลังการขายเพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของกลุ่มลูกค้า สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาด ควรเร่งฟื้นฟูช่องทางการจัดจำหน่าย การจัดโปรโมชั่นสินค้าลดราคาพิเศษ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ เพื่อสร้างความรับรู้แก่กลุ่มลูกค้า

เฟอร์นิเจอร์จากพลาสติกก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในอนาคต



Create Date : 21 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2554 17:26:42 น.
Counter : 1009 Pageviews.

2 comments
  
ธุรกิจหลายอย่างจะเติบโตหลังน้ำลดนะ ผมว่า..............................
โดย: backhold วันที่: 21 พฤศจิกายน 2554 เวลา:20:21:08 น.
  
โดย: maramba1 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2554 เวลา:21:50:20 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

konglha7
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]