HR Management and Self Leadership
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
28 ธันวาคม 2554

การสื่อความ หัวใจของความสัมพันธ์ที่ดี


ปัญหาในเรื่องของการบริหารคนที่เกิดขึ้นในองค์กร หรือแม้กระทั่งปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคน หรือกลุ่มคนนั้น ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเนื่องจากขาดการสื่อสารที่ดี การที่คนเราอยู่ด้วยกัน แต่ไม่คุยกัน ก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ทันที เพราะต่างคนก็จะต่างคิดกันไปเองต่างๆ นานา


พอไม่ได้คุยกัน ก็ไม่ได้มีการแสดงความคิดเห็น และมุมมองของตนเอง และก็จะไม่เข้าใจมุมมองของคนอื่นเช่นกัน ก็เลยทำให้ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา


ในหลายองค์กรมีปัญหาเรื่องของการทำงานเป็นทีม ทีมไม่เคยเป็นทีม หรือเป็นแค่บางส่วน ต้นเหตุของปัญหาก็คือ ขาดการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันนั่นเอง


หรือหัวหน้ากับลูกน้องที่มีปัญหาความขัดแย้งกัน ส่วนหนึ่งของสาเหตุก็คือคุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งนั่นก็คือ การสื่อความอยู่ดี ต่างคนต่างก็ยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก โดยไม่ฟังอีกฝ่ายหนึ่งว่าเขาคิดอย่างไร ปัญหาก็เลยเกิดขึ้น


ดังนั้นการที่คนเราจะสื่อความได้ดีนั้น จะต้องประกอบไปด้วย การรับ และการส่ง


คนส่วนใหญ่มักจะพัฒนาทักษะในการสื่อความโดยเน้นไปที่การส่งสาร หรือการสื่อไปให้คนอื่นเข้าใจ เพราะมักจะมองไปว่าเมื่อไหร่ที่พูดถึงเรื่องการสื่อความก็คือเรื่องของการส่งข้อความ หรือเนื้อหาบางอย่างไปให้กับคนอื่นเท่านั้น แต่ลืมไปว่า องค์ประกอบที่สำคัญของการสื่อความอีกด้านหนึ่งก็คือ เรื่องของ การรับฟัง นั่นเอง


ผมยังไม่เคยเห็นในบ้านเราจัดสัมมนา หรือพัฒนาคนให้มีทักษะในการฟังสักเท่าไหร่ อาจจะคิดว่าเรื่องของการฟังไม่ต้องพัฒนาหรือเปล่า ก็เลยไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญมากนัก


แต่ในชีวิตจริงแล้ว การฟังมีความสำคัญมากนะครับ เพราะคนเรามักจะฟัง แล้วตีความเข้าข้างตัวเอง ฟังแล้วคิดไปเองว่าอย่างนั้นอย่างนี้ โดยมากก็คือตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองมากกว่า ผลก็คือ เวลาที่มีใครมาสื่อสารกับเรา และต้องการจะสื่อบางอย่างให้เรารู้ แต่เรากลับคิดไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับสิ่งที่เขาสื่อมาเลย ผลก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนนั่นเองครับ


ในหนังสือเรื่องของ 7 Habits นั้น มีอยู่นิสัยหนึ่งที่นำมาปรับใช้เกี่ยวกับเรื่องของการฟังได้อย่างดี ก็นิสัยที่ 5 ที่เกี่ยวกับการเข้าใจคนอื่นก่อนที่จะให้คนอื่นมาเข้าใจเรา นิสัยนี้ได้บอกอย่างชัดเจนเลยว่า ถ้าอยากให้คนอื่นเข้าใจเราได้อย่างจริงๆ จังๆ เราจะต้องเข้าใจคนอื่นก่อนเลย มิฉะนั้นแล้ว จะไม่มีทางเข้าใจกันได้เลยครับ


ตัวอย่างจริงๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรของผมก็คือ มีอยู่วันหนึ่ง พนักงานคนหนึ่งโทรเข้ามาที่บริษัทแจ้งกับหัวหน้างานของเขาว่า “พี่ครับ รถชนครับ” หัวหน้างานสวนกลับด้วยความโกรธทันทีว่า “อีกแล้วนะคุณ! ขับรถยังไงเนี่ยะ แย่จริงๆ เลย แบบนี้ต้องตัดเงินเดือนมาเป็นค่าซ่อมรถแล้ว.....” หัวหน้าก็ระบายอย่างยาวเยียด จนพนักงานคนนั้นไม่มีโอกาส หรือช่องว่าที่จะแทรกตัวเข้ามาได้เลย จนกระทั่งหัวหน้าเงียบลง พนักงานก็ตอบกลับมาว่า


“พี่ครับ ผมโดนรถชนครับ!!”


ในกรณีนี้เราอาจจะมองว่าคนสื่อ สื่อความไม่ชัดเจนก็ได้ แต่ความสำคัญอยู่ที่คนรับด้วยว่า รับแล้วคิดไปเอง หรือรับแล้วถ้ายังไม่เข้าใจว่าคนสื่อกำลังจะบอกอะไร ก็ควรจะสอบถามให้ชัดเจนเสียก่อน ก่อนที่จะสวนกลับไปโดยที่ยังไม่เข้าใจเรื่องราวที่แท้จริง ที่หัวหน้าคนนี้สวนแบบนั้นออกไปก็เนื่องจาก เขารับรู้มาตลอดและเชื่อมาตลอดว่าพนักงานคนนี้ซุ่มซ่ามมาก และมักจะทำอะไรเสียหายเสมอ พอได้ยินประโยคดั่งกล่าวเข้า ก็เลยคิดเหมาเอาเองทันที


ดังนั้นถ้าเราจะเป็นคนที่มีประสิทธิผล เป็นหัวหน้างานที่ยอดเยี่ยม เป็นคนที่มีคนอื่นเข้าใจเรา เราก็ต้องเริ่มต้นที่การหัดฟังคนอื่นอย่างเข้าใจ เวลาที่ใครพูดอะไรมานั้น เราจะต้องหยุดคิดไปเอง หยุดคิดเข้าข้างตัวเอง หยุดคิดโดยใช้ภูมิหลังของตนเองที่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มา เราจะต้องฟังอย่างเข้าใจ เข้าใจว่าคนพูดต้องการจะสื่ออะไรให้เราฟัง ที่สำคัญก็คือ ถ้ายังไม่แน่ใจให้ถามก่อนเลยครับ อย่างเพิ่งด่วนสรุปนะครับ


แล้วปัญหา และความขัดแย้งจะน้อยลงครับ จะมีก็แต่ความเข้าใจกันในทีมงานมากขึ้นครับ


ก็เริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนอีกเช่นกันครับ “ฟังอย่างเข้าใจ”






Free TextEditor




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2554
0 comments
Last Update : 28 ธันวาคม 2554 5:57:22 น.
Counter : 1195 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]