ที่ใดมีธรรมะ...ที่นั่นจะพบกับทางออกของชีวิต ^_^
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2560
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
7 กุมภาพันธ์ 2560
 
All Blogs
 
4. ท่ามกลางกองโจร



 

“คนทำชั่ว

 

ย่อมเดือดร้อนในโลกนี้

 

คนทำชั่ว

 

ย่อมเดือดร้อนในโลกหน้า

 

คนทำชั่ว

 

ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง

 

เมื่อคิดได้ว่า

 

ตนทำแต่กรรมชั่ว

 

ตายไปเกิดในทุคติ

 

ยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น”

 

“คนทำชั่ว

 

ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้

 

คนทำชั่ว

 

ย่อมเศร้าโศกในโลกหน้า

 

คนทำชั่ว

 

ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง

 

คนทำชั่ว

 

ย่อมเศร้าโศก  เดือดร้อนยิ่งนัก

 

เมื่อมองเห็นแต่กรรมชั่ว

 

ของตน”

 

“ละอาย

 

ในสิ่งที่ไม่ควรละอาย

 

ไม่ละอาย

 

ในสิ่งที่ควรละอาย

 

ผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างนี้

 

ย่อมไปสู่ทุคติ

 

เห็นโทษ  เป็นโทษ

 

เห็นถูก  เป็นถูก

 

ผู้ที่มีความเห็นชอบเช่นนี้

 

ย่อมไปสู่สุคติ”

 

“ไม่ว่าบนท้องฟ้า

 

ไม่ว่าท่ามกลางมหาสมุทร

 

ไม่ว่าในหุบเขา

 

ไม่มีแม้แต่แห่งเดียว

 

ที่ผู้ทำกรรมชั่วอาศัยอยู่

 

จะหนีพ้นกรรมไปได้

 

ผู้ใดทำบาปไว้แล้ว

 

ละได้ด้วยการทำดี

 

ผู้นั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง

 

เหมือนพระจันทร์

 

ที่พ้นจากเมฆ”

 

                วันและเวลาได้ผ่านไปตามวิถีของมัน  แต่มิใช่เพียง

 

วันและคืนเท่านั้นที่ผ่านไป  ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายก็ย่อม

 

ล่วงเลยผ่านไปด้วย  ต่างกันแต่ว่าผ่านไปด้วยความดี  หรือ

 

ความร้ายเท่านั้น  แต่จะอย่างไรก็ตาม  ทั้งความดีและความร้าย

 

ต้องมีปฏิกิริยาเป็นผลของมันแน่นอนเสมอ

 

                มหาทุตตะผู้อาฆาตร้าย  คิดมุ่งอยู่แต่อย่างเดียวว่า

 

ในชั่วชีวิตของเขานี้  เขาจักต้องตอบสนองการกระทำของ

 

พันทุให้จงได้  ดังนั้น  เมื่อเขาได้ลอบหนีออกจากบ้านพันทุ

 

ผู้เป็นนายแล้ว  เขาก็ตรงไปสมัครอยู่กับพวกโจรในป่า  ด้วยความหวังว่า

 

วันหนึ่งเขาจักยืมมือพวกโจรนี้แก้แค้นให้เขา

 

                เพราะเหตุที่มหาทุตตะเป็นคนใจต่ำ  เขาจึงนึกถึงแต่

 

ความทารุณของนายอย่างเดียวเท่านั้น  เขาหาได้คิดไม่ว่านอกจาก

 

ความทารุณครั้งนั้นนายได้กรุณาเขาตลอดมา  ถึงแม้จะ

 

ใช้ให้ทำงานก็มีเงินทองให้เป็นรางวัล  มีที่ให้พักพิงอาศัย

 

เวลาเจ็บป่วยก็รักษาพยาบาลให้  ความดีของนายมีอยู่  แต่คนอย่าง

 

มหาทุตตะมองไม่เห็น  พอนายร้ายกับเขาเพียงครั้งเดียว

 

เขาก็ผูกใจเจ็บ  คิดแก้แค้น  นี่คือสภาพของจิตใจที่ทรามกว่าสัตว์

 

เดียรัจฉาน  เพราะสัตว์เดียรัจฉานเช่นสุนัข  เจ้าของให้อาหารมันกิน

 

ให้มันอาศัยอยู่ใต้ร่มไม้ชายคา  มันก็รักเจ้าของ 

 

แม้จักดุจักเฆี่ยนตีมันก็ไม่โกรธ  ยอมให้ทุบตีโดยดี  แล้วก็แสดง

 

อาการประจบนายต่อไปอีก  อย่างนี้จะว่า  สุนัขดีกว่าคนบางคน

 

จักได้หรือไม่

 

                มหาทุตตะ  เป็นคนที่มีร่างกายกำยำล่ำสันและฉลาดกว่า

 

พวกโจร  ความแข็งแรงของเขานั้นนับว่าเป็นเอกในหมู่

 

เขาอาจสู้คนได้ถึงแปดคน  อีกทั้งเขามีความรู้ในการใช้อาวุธอยู่ด้วย

 

ดังนั้น  ในการออกปล้นทุกครั้ง  พวกโจรจึงได้เห็นว่า

 

มหาทุตตะเป็นผู้มีความสามารถเหนือกว่าตน  ในที่สุดพวกโจร

 

ก็พร้อมใจกันตั้งให้มหาทุตตะเป็นหัวหน้า  มหาทุตตะก็ปล่อย

 

ชีวิตของตนให้ผ่านไปอย่างชั่วร้ายทุจริตตลอดมา

 

                ตรงข้ามกับมหาทุตตะ  พันทุผู้เป็นนายเมื่อกลับจาก

 

พาราณสีแล้ว  ก็เริ่มงานกุศลสาธารณประโยชน์ทันที

 

เขาได้เลือกสถานที่อันเป็นป่าแห่งหนึ่ง  ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก

 

เป็นสถานที่ที่เหมาะแก่ผู้ที่ต้องการความสงบในทางหลีกเร้น

 

เขาจึงได้สร้างกุฏิน้อยๆ  พออยู่ได้  แล้วส่งข่าวไปยังพระนารทะ

 

นิมนต์ให้ไปจำพรรษาอยู่    ที่นั้น  พระนารทะก็รับนิมนต์

 

เดินทางไปประกาศคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยความเต็มใจ

 

                ทุกเช้าทุกเย็น  เศรษฐีพันทุได้มาหาพระเถระ

 

เพื่อสนทนาธรรมบ้าง  เพื่อรับใช้ตามหน้าที่ของอุปถัมภกที่ดีบ้าง

 

งานธรรมทูตที่นั้นก็จำเริญกว้างขวางออกไป  มีคนเป็นอันมาก

 

เริ่มเข้าใจพุทธธรรม  เข้าใจความเท็จจริงแห่งชีวิต

 

และคนเหล่านั้นก็ประพฤติตนตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม  บ้านเมืองก็สงบ

 

ร่มเย็น  เป็นสุขเพราะการปฏิบัติธรรมของประชาชน

 

                วิหารของพันทุจึงเป็นสถานแห่งความสุข  ความสว่าง

 

ความสะอาด  พระภิกษุสงฆ์จากทุกสารทิศก็มาพัก  และประกาศ

 

แสงแห่งสัจธรรมแก่ประชาชนเสมอมา

 

                พระนารทเถระได้ให้การอบรมแก่เด็กหนุ่มมากมาย

 

และเขาเหล่านั้นที่ได้เข้ามาบวชอุทิศตนให้แก่งานของโลกต่อไป

 

ก็มีเป็นจำนวนมาก  อาจกล่าวได้ว่าคำสอนของพระตถาคตเจ้า

 

ได้แผ่ปกคลุมนครโกสัมพีแล้ว

 

                ในด้านการครองเรือน  พันทุก็กลายเป็นพ่อเรือนที่ดี

 

เมื่อก่อนเคยเป็นคนดุก็กลับกลายเป็นคนใจเย็น  เมื่อก่อนเคยเป็น

 

คนเห็นแก่ตัวเอาเปรียบคนใต้ปกครองเสมอ  แต่บัดนี้

 

เขากลับสงสารคนโง่  ช่วยป้องกันผลประโยชน์ของคนโง่ไว้เสมอ

 

ธรรมะได้กลับใจเขาให้เป็นคนดีขึ้นมาก  จนใครๆ  ก็แปลกใจ

 

ชื่อเสียงในการค้าเพชรพลอยของเขาก็โด่งดัง  ใครๆ  ก็พากันให้

 

สมญาเขาว่า  “พันทุ  พ่อค้าเพชรผู้มีใจบริสุทธิ์ประดุจเพชร”

 

                การค้าของเขาก้าวหน้าเจริญขึ้นมาก  มีชาวต่างแคว้น

 

มาติดต่อมากขึ้น  และยิ่งมีคนมาติดต่อมากขึ้นเท่าใดเขาก็ยิ่ง

 

เป็นคนซื่อตรงมากขึ้นเท่านั้น  เพียงระยะสองสามปีเขาก็มั่งคั่งขึ้น

 

กว่าเก่าหลายเท่า

 

                แต่ทว่า  ชีวิตไม่เป็นของแน่นอน  อนาคตอันยังมาไม่ถึงนั้น

 

ใครไม่อาจจะคาดหมายเอาตามใจชอบได้  อนาคต

 

จึงเป็นเสมือนภาพมืดที่น่ากลัว  เว้นแต่ผู้รู้ธรรมประพฤติชอบ

 

ประกอบด้วยเหตุผลเท่านั้น  จึงจักไม่หวาดหวั่นต่อเหตุการณ์

 

ที่อาจจักพึงบังเกิดในทางร้าย

 

                พระราชาแห่งแคว้นหนึ่ง  ได้ทราบว่าพันทุเป็นพ่อค้าเพชร

 

ที่มีสินค้าดีๆ  และเป็นคนซื่อตรงต่อลูกค้ามาก  พระองค์

 

ปรารถนาจักทำมงกุฎด้วยทองคำบริสุทธิ์ประดับรัตนะอันล้ำค่า

 

ของชมพูทวีป  จึงได้ส่งคนไปติดต่อ  ตกลงกันว่าเมื่อทำแล้ว

 

พันทุจักต้องจัดส่งไปให้พระองค์  พันทุยินยอมตามเงื่อนไขนั้น

 

ทุกประการ  แต่มิใช่เพื่อค่าจ้างจำนวนมากมายนั้น  เขาต้องการ

 

จักสนองความประสงค์ของทุกคนโดยเสมอกัน  ตามหลักธรรม

 

ของผู้ค้าที่ดี

 

                เพียงสามเดือน  ช่างทองของพันทุก็สร้างมงกุฎประดับเพชร

 

อันงามเลิศล้นค่านั้นสำเร็จ  พอสิ้นฤดูฝน  ทางสะดวก

 

สมควรจักเดินทางได้แล้ว  เขาจึงไปสู่วิหารเพื่อลาพระเถระ

 

ผู้เป็นอาจารย์และเพื่อรับโอวาทด้วย  แล้วเขาก็จัดกองเกวียน

 

ประกอบด้วยเกวียนหลายสิบเล่มบรรทุกสินค้าทองคำเป็น

 

จำนวนมากเพื่อเอาไปขายในแคว้นนั้น  ซึ่งมีหวังจักได้กำไรงาม

 

เพราะเขาเป็นผู้ที่พระราชาแห่งแคว้นยอมรับนับถือฝีมืออยู่แล้ว

 

การค้าทองในโอกาสนั้นก็จักเป็นผลพลอยได้อีกไม่ใช่น้อย

 

                พันทุมิได้ประมาทในการเดินทาง  เขาได้จ้างชายฉกรรจ์

 

เป็นจำนวนร้อย  มีอาวุธครบมือ  เป็นผู้คุ้มกันกองเกวียน

 

เพราะระยะทางเดินต้องผ่านป่าเปลี่ยว  อันเป็นที่พำนักของ

 

บรรดาโจร  เมื่อการตระเตรียมเรียบร้อยแล้ว  กองเกวียนของ

 

พันทุก็เคลื่อนขบวนไปในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น

 

                การเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ตลอดเวลาห้าวัน

 

ในวันที่หกขณะที่กองเกวียนเข้าทางแคบระหว่างภูเขา

 

ต้องเดินเรียงแถวกันเป็นขบวนยาว  ตามทางขรุขระและคดเคี้ยวขึ้นสู่

 

ที่สูง  พันทุรู้ดีว่าโจรภัยอาจจะมี    สถานที่เช่นนี้  จึงสั่งให้

 

เตรียมพร้อมไว้เสมอ  แต่วันนั้นก็ได้ผ่านไปด้วยดี

 

                ตอนพลบค่ำ  คณะเดินทางก็ตั้งค่ายพักแรมบนเนินสูง

 

ซึ่งพันทุเห็นว่าเป็นทำเลเหมาะ  ยากแก่การจู่โจมตีของพวกโจร

 

เขาจัดเกวียนสินค้าเรียงรายเป็นรูปวงกลม  กองไฟไว้รอบนอก

 

แล้วจัดเวรอยู่ยามอย่างแข็งขัน  ราตรีเริ่มต้นเพียงครู่เดียว

 

ชาวกองเกวียนทั้งหมดที่ได้เดินทางมาด้วยความเมื่อยล้า  ก็พากัน

 

หลับหมด  เหลืออยู่แต่คนยามเพียงแปดคนเท่านั้น

 

                พอดึกสงัด  พวกโจรป่าอันมีมหาทุตตะเป็นหัวหน้า

 

ซึ่งได้สะกดรอยตามกองเกวียน  คอยหาโอกาสปล้นมาตลอดห้าวัน

 

แล้วนั้นก็ได้ที  แยกย้ายกำลังเข้าล้อมขบวนเกวียน  ซึ่งมหาทุตตะ

 

คาดว่า  ทุกคนในคณะเดินทางกำลังเหนื่อยอ่อนเต็มที่

 

เพราะต้องเดินทางขึ้นที่สูงอยู่ตลอดวัน

 

                ฝ่ายถูกปล้นรู้สึกตัวก็ต่อเมื่อพวกโจรเข้าประชิดกองเกวียน

 

เสียแล้ว  ถึงกระนั้นก็ได้ต่อสู้อย่างทรหด  สู้เพื่อรักษา

 

กรรมสิทธิ์ในทรัพย์  และที่สำคัญคือชีวิตตน  ฝ่ายโจรก็สู้เพื่อให้

 

ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ  ทั้งสองฝ่ายต่างไม่ยอมถอยหลัง

 

                มหาทุตตะร้องตะโกนสั่งการเสียงก้องป่า  พันทุก็ใจเด็ด

 

นำหน้าพรรคพวกออกต่อสู้อย่างห้าวหาญ  แต่ทว่าเป็น

 

ธรรมดา  “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ”  กองโจรมีกำลังมากกว่า

 

หนุนล้อมเข้ามาเสมอไม่ขาดสาย  พวกกองเกวียนถูกฆ่าตายไปเรื่อยๆ

 

แม้พันทุเองต้องอาวุธหลายแผล  เขาได้รับบาดเจ็บมาก

 

คิดว่าถ้าขืนสู้ต่อไปก็ต้องตาย  ชีวิตเป็นของหายาก  ตัวไม่ตาย

 

เงินทองยังหาได้

 

                เขาจึงผละหนีไปซุ่มอยู่ในลำธาร  กระทั่งพวกโจรถอยกลับ

 

ไปหมด  เขาจึงออกเดินทางกลับบ้าน  เขาหนีรอดมาเพียง

 

คนเดียวเท่านั้น  พวกพ้องของเขาถูกโจรฆ่าตายหมดสิ้น

 

                พันทุได้รับความเจ็บปวดขนาดหนัก  เขาได้สูญเสีย

 

ทรัพย์ไปเป็นจำนวนเหลือคะเนนับ  แม้ตัวเองก็เกือบต้องเสียชีวิต

 

การสูญเสียครั้งนี้  ทำให้เขาเกือบล้มละลายเลยทีเดียว

 

                แต่เขาเสียใจหรือ  แน่นอน..ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาคง

 

เสียใจจนนอนไม่หลับ  และอาจจะยกกำลังไปต่อสู้กับโจรอีก

 

เป็นแน่  บัดนี้เขาได้เป็นสาวกของพระพุทธองค์แล้ว  แม้จัก

 

ได้รับทุกข์ขนาดหนักจนเหลือทน  เขาก็ยังทนได้  ไม่บ่นเพ้อ

 

รำพันอันใดทั้งสิ้น  เพราะตนทราบหลักกรรมอยู่ดีแล้วว่า

 

                “ทุกคนต้องเก็บเกี่ยวผลที่ตนหว่านไว้  จักหนีจากผล

 

ที่ตนทำไว้  ไม่ได้เป็นอันขาด”

 

                เขาทราบดีว่า  นี่มันเป็นผลกรรมของเขาเอง

 

เพราะเมื่อสมัยยังอยู่ในวัยหนุ่มนั้นเขาเป็นคนหยาบคาย

 

มักดุมักด่าคนด้วยโทสะ  ใครทำอะไรให้ไม่ถูกใจก็ตบเขาเตะเขา

 

แม้ใน  ด้านการค้าขายก็ชอบเอาเปรียบผู้อื่น  เคยผิดสัญญา

 

เคยยักยอกฉ้อโกงมามากแล้ว  ถึงทรัพย์ที่ถูกปล้นไปนั้น  บางส่วน

 

ก็ได้มาโดยมิชอบธรรม  ได้มาเช่นไรมันก็สูญไปเช่นนั้น

 

เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับชีวิตแล้ว  ไม่มีอะไรจักต้องเสียใจ  ดีเสียอีก

 

ที่ถูกปล้นถูกทำร้าย  จักได้เป็นการปลดเปลื้องหนี้  อันเป็น

 

กรรมเก่าไปเสียบ้าง  และจักเป็นเครื่องเตือนใจให้เป็นคนดีต่อไป

 

ในอนาคต  พระมหาเถระก็ได้เคยบอกไว้แล้วว่า

 

“เราจักต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นแน่แท้

 

เราทำกรรมชนิดใดไว้ก็จักต้องได้รับผลกรรมนั้น”  ข้อนี้เป็น

 

ความจริงยิ่งกว่าจริงเสียอีก  ชีวิตของคนที่คลุกเคล้าอยู่กับความชั่ว

 

ยังไม่เคยเห็นผลของความชั่ว  ย่อมสำคัญผิด  คิดผิดว่าความชั่วนั้น

 

จักไม่ให้ผล  ก็มัวเมา  ประกอบกรรมชั่วเรื่อยไปไม่หยุดยั้ง

 

เมื่อใดเขาได้เห็นผลของกรรมชั่วบ้าง  เมื่อนั้นแหละ

 

เขาจักรู้ตัวว่าไม่ควรเลยที่จักกระทำความชั่ว

 

                ความเสียหายในครั้งนี้  กลับเป็นประโยชน์แก่พันทุ

 

เพราะมันเป็นประดุจน้ำทิพย์มาชโลมล้างใจของเขาให้สะอาดขึ้น

 

และเพราะเขาเคยได้ศึกษาธรรมะอยู่บ้างแล้ว  ความจริง

 

ในเรื่องของชีวิตก็ปรากฏแก่เขา

 

                พอเขากลับมาถึงบ้านก็ไปหาพระมหาเถระที่วิหาร

 

และเล่าเหตุการณ์ให้ท่านฟังทุกประการ  เขาได้รับคำปลอบใจว่า

 

“สิ่งไรที่ผ่านพ้นไปแล้วจงปล่อยให้ผ่านไปเถิด  อย่าเอา

 

มาคิดให้เป็นทุกข์เลย  ความคิดที่เป็นทุกข์นั้น  ไม่อาจทำให้

 

สมปรารถนาได้  จงคิดว่านั่นเป็นบทเรียนตอนหนึ่งซึ่งไม่ควร

 

ที่จักทำซ้ำเช่นนั้นอีก  จงก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยดวงใจใหม่

 

ตามแนวทางที่ไปสู่ความสงบสุขเถิด”

 

                พันทุปฏิบัติตนตามคลองธรรมเคร่งครัดยิ่งขึ้น

 

เขาสร้างคุณความดีอันประกอบด้วยเมตตากรุณาต่อคนทุกชั้น

 

แม้แต่กับคนที่เคยเป็นศัตรูกันในทางค้าขาย  เขาก็พยายามทำดีต่อ

 

ไม่มีความหวังอันใดเหลืออยู่สำหรับพันทุ  เขาให้อภัย

 

ในความผิดของผู้อื่น  และถ้ารู้ตัวว่าได้ทำความผิดพลั้งอันทำให้

 

ผู้อื่นเดือดร้อนแล้ว  เขาจักรีบไปขอขมาโทษจากผู้นั้นทันที

 

                เขาเป็นมิตรของคนทุกคน  มีใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความ

 

กรุณาเสมอ  จึงมีคนเคารพนับถือมาก  การค้าของเขาก็เจริญขึ้น

 

ฐานะที่ตกต่ำไปเพราะถูกปล้นก็กลับคืนดีจนกระทั่งมั่งคั่ง

 

เท่าเดิม  เป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนในเมืองนั้น  ทำให้

 

คนสนใจหันมาดำเนินชีวิตทางธรรมมากขึ้น

 

                หลายปีต่อมา  พระภิกษุหนุ่มชื่อปันถกะ  ศิษย์ของ

 

พระนารทะได้ท่องเที่ยวประกาศธรรมไปในแคว้นต่างๆ

 

บังเอิญหลงทางไปสู่หมู่โจร  ที่มหาทุตตะเป็นหัวหน้า

 

พระปันถกะก็ถูกกระทำทารุณจากพวกโจรนั้น  เพราะเหตุที่ท่าน

 

ไม่มีสมบัติอะไรติดตัว  และเพราะโจรเห็นว่าเป็นพระไม่เป็น

 

อันตรายอะไร  จึงได้ปล่อยตัวไป

 

                วันรุ่งขึ้น  หลังจากโจรปล่อยตัวมาแล้ว  พระปันถกะ

 

ซึ่งถูกทุบตีฟกช้ำ  และอ่อนเพลียมาก  เดินซัดเซอยู่ในป่าได้ยินเสียง

 

ทะเลาะกันอื้ออึงป่า  ท่านจึงแอบเข้าไปใกล้  ได้เห็น

 

โจรหมู่นั้นกำลังอยู่ในอาการเมามันประดุจสัตว์ร้าย  พวกโจร

 

แตกแยกกันออกเป็นสองฝ่าย  กำลังต่อสู้ประหารกันเอง

 

                ส่วนมหาทุตตะก็กำลังป้องกันตัวเองให้พ้นจากการถูก

 

ทำร้ายรอบด้าน  ถึงแม้เขาจักตกอยู่ในที่ล้อมหนาแน่น

 

เขาก็สามารถฟาดฟันศัตรูล้มตายลงมากมาย  แต่มหาทุตตะกับพวก

 

มีเพียงไม่กี่คน  จึงไม่อาจสู้คนหมู่มากได้

 

                ในที่สุดมหาทุตตะก็ถูกอาวุธล้มลงท่ามกลางกองศพ

 

ของบริวาร  พวกโจรที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก็ละทิ้งศพเหล่านั้น

 

พากันออกเดินทางไป  โดยไม่รู้ว่ามหาทุตตะยังมีชีวิตอยู่

 

                พระปันถกะซุ่มดูเหตุการณ์อยู่ด้วยใจอันสงบ  ครั้นเห็น

 

พวกโจรไปกันหมดแล้ว  ก็ออกจากที่ซ่อนตรงไปที่ร่างของมหาทุตตะ

 

ซึ่งยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว

 

                ด้วยเมตตาจิต  พระปันถกะก็เข้าพยาบาล  ตักน้ำมา

 

เช็ดหน้าเช็ดโลหิตและชำระล้างแผลให้  โดยมิได้คิดว่าโจรผู้นี้

 

เป็นผู้ที่ทำร้ายท่านเกือบสิ้นชีวิต  ท่านคิดอย่างเดียวว่า 

 

“ขอให้รอดพ้นจากความเจ็บปวดและความตายเถิด”

 

                สักครู่หนึ่งมหาทุตตะฟื้นขึ้น  ยังมิทันลืมตาก็เข่นเขี้ยว

 

เคี้ยวฟันคำรามด้วยความแค้นว่า  “อ้ายหมาอกตัญญู  อ้ายหมา

 

ทรยศ  อ้ายพวกเนรคุณ  มันไม่รู้จักบุญคุณนายของมัน  สิ้นข้าแล้ว

 

มันจักต้องตายอย่างหมาพลัดฝูง”  เขาลืมตาขยับกายทำท่า

 

จะลุกขึ้น  พร้อมกับขู่คำรามออกมาอย่างอาฆาตว่า  “ข้าจัก

 

ต้องตามไปเอาเลือดอ้ายสัตว์ทรยศเซ่นคมดาบให้ได้”  พูดจบ

 

มหาทุตตะก็ผงะหงายลงไปนอนอยู่ท่าเดิมอีก

 

                พระปันถกะเห็นว่าเขาอ่อนเพลียมากและคงกระหายน้ำ

 

จึงเอาน้ำหยอดให้ที่ปาก  พอมหาทุตตะรู้สึกตัวก็ผงกศีรษะ

 

ขึ้นดื่มน้ำอย่างกระหาย  สักครู่หนึ่งเขาค่อยมีแรงสดชื่นขึ้น

 

แต่ยังคงแสดงกิริยาดุร้ายตามเดิม  เขาพูดอะไรพึมพำเหมือนเพ้อ

 

พระปันถกะจึงก้มลงกระซิบที่หูว่า  “สงบเถิดสหาย  อย่าคิดถึง

 

เพื่อนผู้ทำบาปร่วมกับท่านเลย  จงคิดถึงชะตากรรมของท่านเอง

 

ดีกว่า  จงมารับเอาอมฤตธรรมในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

 

ของท่านดีกว่า  มันจักช่วยให้ท่านหลุดรอดพ้นจากความทุกข์ได้

 

จงนอนนิ่งๆ  และทำใจให้สงบเถิด  บางทีท่านอาจมีชีวิต

 

รอดไปได้  อาตมภาพจะพยายามช่วยท่าน”

 

                มหาทุตตะเริ่มรู้สึกตัว  รู้สึกเจ็บปวดบาดแผล  เขาครวญคราง

 

ออกมาอย่างอ่อนระโหย  เมื่อสายตาของเขาหายฝ้าฟาง

 

เขาก็มองเห็นร่างที่ห่มด้วยสีเหลืองอย่างชัดเจนนึกได้ว่า

 

“สมณะรูปนี้  ดูเหมือนจักเป็นบุคคลเดียวกันกับที่เราได้ทุบตี

 

เมื่อวันวาน  วันนี้ทำไมจึงกลับมาหาเราอีก  เห็นจักมาแก้แค้น

 

เรากระมัง”  เขาคิดดังนี้แล้วก็แสดงอาการตกใจหวาดกลัว

 

                พระปันถกะรู้ที  จึงปลอบด้วยน้ำเสียงอันอ่อนโยนว่า

 

“โปรดสงบใจเถิดสหาย  อันตรายจากผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์

 

ไม่มีในโลกนี้”

 

                “อันตรายไม่มี”  เขาทวนคำ  “อันตรายไม่มีแล้วหรือ?”

 

                พระปันถกะไม่ตอบคำถาม  เป็นแต่รีบจัดแจงห้ามเลือด

 

และตกแต่งบาดแผลของเขาอย่างประณีต  มหาทุตตะยังไม่แน่ใจ

 

ถามอีกว่า  “ท่านใช่ไหมที่ข้าพเจ้าจับได้และทำร้ายจนบอบช้ำ

 

เมื่อวานนี้?  ทำไมจึงกลับมาช่วยเหลือข้าพเจ้าเล่า? 

 

ท่านผู้เมตตา..ทำไมท่านจึงไม่โกรธ?  ท่านมาช่วยข้าพเจ้าทำไม?

 

คนอย่างข้าพเจ้าไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับท่าน  ไม่มีประโยชน์

 

อะไรแก่ใครๆ  ทั้งนั้น  ปล่อยให้ข้าพเจ้าตายเถอะ  สมควรแล้ว

 

ดาบของข้าพเจ้าฆ่าตัวเองแล้ว”

 

                พระปันถกะฟังคำพูดประโยคท้ายของนายโจรแล้วก็

 

รู้สึกว่าบุคคลผู้นี้ยังมิใช่โจรใจเหี้ยมโดยแท้  ยังมีหวังที่จะชำระ

 

จิตใจของเขาให้สะอาดได้  ก่อนที่เขาจักตายไป  หรือถ้าหาก

 

เขายังมีชีวิตอยู่ได้  เขาก็จักเป็นคนดีต่อไป  ท่านจึงกล่าวว่า

 

“ไม่ต้องคิดอะไรให้มากดอกสหาย  ขณะนี้ท่านจงคิดแต่เพียงว่า

 

ท่านกำลังเก็บเกี่ยวผลที่ท่านได้หว่านไว้  จริงหรือไม่เล่า

 

ถ้าท่านให้ความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์  ท่านก็จักได้รับ

 

ความเมตตากรุณาตอบแทน  แต่นี่ท่านให้ความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน

 

แก่เพื่อนร่วมโลกตลอดมา  ท่านจึงต้องได้รับความ

 

เจ็บปวดตอบแทนเช่นเดียวกัน  ท่านสอนลูกน้องของท่านให้

 

ปล้น  ให้เผา  ให้ทำลาย  ให้ฆ่าคน  แต่ท่านลืมนึกไปว่า  ท่านก็

 

เป็นคนๆ  หนึ่ง  และวันหนึ่งลูกน้องก็จะฆ่าท่าน  บัดนี้ผลกรรม

 

ประจักษ์แล้ว  ขอจงทำใจให้สงบเถิด”

 

                เมื่อพระปันถกะกล่าวจบ  มหาทุตตะก็พยายามยกมือขึ้น

 

ประณมคารวะด้วยรู้สึกสำนึกผิด  เขากล่าวสารภาพว่า 

 

“จริงทีเดียวท่านสมณะ  ข้าพเจ้าได้รับทุกข์ความเดือดร้อนเพราะ

 

ข้าพเจ้าชั่วเอง  และข้าพเจ้ารู้ตัวว่า  ผลกรรมนั้นยังหาได้จบลงไม่

 

มันยังไม่คุ้มกับความชั่วร้ายของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าทราบดีว่า

 

ข้าพเจ้าจักต้องใช้หนี้กรรมอีกต่อไป  บอกข้าพเจ้าเถิดสมณะ

 

ผู้เมตตา  ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์รู้แจ้งในโลก  ท่านคงจักบอกข้าพเจ้าได้ว่า

 

ข้าพเจ้าควรจักทำอย่างไร  ให้บาปอันหนักประดุจแผ่นหินใหญ่

 

ที่ทับอกข้าพเจ้านี้เบาบางลงได้บ้าง”

 

                “ดวงตาท่านเริ่มสว่างแล้ว  บัดนี้ท่านคิดชอบแล้ว

 

ท่านไม่ใช่นายโจรคนเก่า  ฉะนั้น  จงฟังและจงปฏิบัติตามทันที

 

จำไว้ว่า  ความพยาบาท  ความคิดในทางร้าย  ย่อมเป็นเหตุ

 

ให้ใจเศร้าหมอง  ความเมตตาอารีไม่จองเวรแก่ใครๆ

 

ย่อมทำให้จิตใจบริสุทธิ์  รู้เช่นนี้แล้วจงถอนความคิดในทางบาป

 

ของท่านออกเสียจากใจเถิด  แล้วจงทำจิตใจให้เปี่ยมด้วย

 

ความรัก  ความเมตตา  และให้อภัยแม้แต่ศัตรูเถิด  บาปของท่าน

 

จักบรรเทาได้เป็นแน่”

 

                เมื่อมหาทุตตะได้ฟังถ้อยคำปลอบประโลมใจดังนั้นแล้ว

 

เขาก็เริ่มสำนึกและรู้จักตัวของตัวเองดีขึ้น  เขานึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ

 

ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว  ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุการณ์

 

ที่ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น  นับตั้งแต่เขาเกิดมา  เขาต้องทำงานหนัก

 

ในฐานะลูกจ้าง  ได้รับสิ่งตอบแทนเพียงอาหารมื้อหนึ่งๆ

 

เสื้อผ้าเพียงพอปกปิดร่างกาย  มีที่อยู่เพียงพอกันแดดกันฝน

 

เขาไม่เคยได้ยินคำอ่อนหวานจากใคร  ไม่มีใครเห็นใจเขา

 

ทุกคนมองเขาอย่างเหยียดหยาม  จักใช้ทำอะไรก็มีแต่การบังคับ

 

ขู่เข็ญ  ราวกับว่าเขามิใช่คนเหมือนผู้อื่น  ในสมัยนั้นเขาจึงคิดว่า

 

ตัวเขาเป็นผู้ไม่มีความหมายอะไร  จะทำดีหรือทำเลวก็ไม่

 

สำคัญอะไร  ทั้งนี้เพราะเขาไม่ทราบว่า  “สัตว์โลกย่อมเป็นไป

 

ต่างๆ  กัน  ตามอำนาจของกรรม”  เขาไม่รู้ว่าผลดีและผลร้าย

 

ทั้งหลายเป็นเพราะเหตุที่เขาได้ก่อเอาไว้นั้นเอง

 

                เขาได้คิดต่อไปถึงสมัยที่ออกเป็นโจร  จิตใจของเขา

 

เปลี่ยนจากสภาพมนุษย์ไปเป็นสัตว์ป่า  สิ้นความเมตตากรุณา

 

คิดแต่จักหาทางทำลายผู้อื่นอย่างเดียวเท่านั้น  เขาคิดถึง

 

ความอกตัญญูที่เขามีต่อนาย  คิดถึงความอกตัญญูของลูกน้องที่ทำร้ายเขา

 

แล้วเขาก็รู้สึกว่ามันเป็นการสมควรแล้ว  ที่เขาต้องได้

 

รับทุกข์ทรมานเช่นนี้

 

                ในชั่วชีวิตของมหาทุตตะเป็นคนใจแข็งไม่เคยร้องไห้

 

แต่คราวนี้น้ำตาของเขาไหลพราก  เขามิได้ร้องไห้เพราะความ

 

เจ็บปวด  พ่ายแพ้  แต่เขาร้องไห้เพราะเสียดายโอกาสเสียดาย

 

เวลา  เขาเพิ่งจะมารู้จักหนทางแห่งความสุขเมื่อใกล้จะสิ้นลม

 

หายใจอยู่แล้ว  และยิ่งกว่านั้นในระยะเวลาเพียงเล็กน้อยนี้

 

เขาก็ไม่สามารถจักทำกิจการอันใดที่จักเป็นการชำระล้าง

 

กรรมชั่วของเขาได้  เขาคิดว่า  แม้เขาตายไป  เขาก็คงจักต้อง

 

ลากแอกแห่งความชั่วของเขาติดตัวไปด้วย...ไปนรก

 

                นรก..เขารู้จักนรกมานานแล้ว  แต่เขาไม่เคยสนใจ

 

และไม่คิดว่าคำๆ  นี้มันจักมีสาระสำคัญอะไรกับชีวิต  มาขณะนี้

 

เขาเริ่มสงสัยว่า  นรกอาจมีจริง  และด้วยผลแห่งกรรมชั่ว

 

ของเขาอาจทำให้เขาตกนรกสักกี่ชาติกี่กัลป์ก็รู้ไม่ได้

 

                เมื่อนึกถึงพระสมณะผู้ช่วยเหลือ  เขาก็รู้สึกอิ่มเอิบใจ

 

และคิดว่า  บางทีเขาอาจมีหวังรอดพ้นจากสิ่งที่เขากำลังหวาดกลัวนั้น

 

เขามองดูพระปันถกะอย่างวิงวอน  ร้องขอน้ำอีกครั้ง

 

แล้วได้กล่าวว่า  “ท่านผู้เมตตา  กรุณาเถิด  ชีวิตของข้าพเจ้า

 

เห็นจักสิ้นสุดในไม่ช้านี้แล้ว  แต่กรรมอันหนักที่ข้าพเจ้าก่อไว้

 

ยังหาได้สิ้นสุดไม่  จักมีวิธีอันใดบ้างที่จักช่วยให้ข้าพเจ้าพ้นกรรม

 

อันหนักนั้นได้?”

 

                พระปันถกะกล่าวว่า  “อย่าวิตกเลย  บาปมลทินเป็นสิ่งที่

 

เรานำมันมาพอกดวงใจของเราเองด้วยความเขลา  เมื่อเรา

 

พอกมันได้  ก็ย่อมชำระล้างมันได้ด้วยความฉลาด  จงตั้งใจ

 

ฟังเถิด  อาตมภาพจักเล่าเรื่องให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง...

 

                ......นานมาแล้ว  มีโจรใจร้ายคนหนึ่งในแคว้นมคธ

 

เขาเป็นโจรที่มีใจกระหายเลือด  มีมืออันชุ่มด้วยเลือดอยู่เป็นนิตย์

 

ชื่อของเขาเป็นที่สะดุ้งหวาดกลัวแก่ชาวเมืองทั่วไป  พระราชา

 

จึงประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่จับโจรนั้นได้  ไม่ว่าจะจับตายหรือ

 

จับเป็น  คำสั่งของพระราชาทำให้โจรผู้โอหังนั้นทวีความดุร้าย

 

ยิ่งขึ้น  แต่ว่าอย่างไรก็ตาม  ผลกรรมชั่วของเขาก็ตามสนอง

 

ในที่สุดก็ถูกกองทหารล้อมรบและถูกอาวุธตาย

 

                ขณะที่นายโจรดับจิตด้วยความทุกข์เศร้าหมองจึงไป

 

บังเกิดเป็นสัตว์นรก  ได้รับทุกข์ทรมานสิ้นหลายกัลป์

 

                ครั้นต่อมาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก

 

ในวันที่พระองค์ได้ตรัสรู้ภายใต้ควงไม้มหาโพธิ์  ที่ตำบล

 

พุทธคยานั้น  แสงสว่างอันประหลาดได้ปรากฏขึ้นทั่วโลกธาตุ

 

เบื้องบนถึงพรหมโลก  เบื้องล่างถึงอเวจีมหานรก  สัตว์ทุกตน

 

ได้เห็นแสงนั้นแล้ว  ก็ถามกันว่าเป็นแสงอะไร  มีสัตว์ที่รู้ว่า

 

แสงนั้นคือ  แสงแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า  ต่อไปโลก

 

จักประสบสันติสุขเพราะธรรมานุภาพ  และแม้ชาวนรกก็จัก

 

ได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น

 

                ต่อมามีพระมหาเถระผู้หนึ่งมีฤทธิ์มาก  สามารถเที่ยว

 

ไปได้ในสามโลก  วันหนึ่งพระมหาเถระรูปนั้นลงไปเยี่ยมเมือง

 

นรก  นายโจรที่ไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็มาหา  ขอให้ท่านช่วยให้

 

พ้นบาป  พระมหาเถระกล่าวกับนายโจรว่า

 

                “ตนเป็นที่พึ่งของตน  ตนจักต้องช่วยตนเอง  จักให้คนอื่นช่วย

 

หาได้ไม่  เราเพียงแต่มาชี้บอกหนทางให้เท่านั้น

 

จงขวนขวายหาทางช่วยตนเองเถิด”

 

                สัตว์นรกสงสัยจึงถามว่า  “วิธีช่วยตัวเองนั้นจักต้อง

 

ปฏิบัติอย่างไรเล่าพระคุณเจ้า?”

 

                พระเถระย้อนถามว่า  “จงคิดดูเถิด  ในขณะที่มีชีวิต

 

อยู่ในโลกมนุษย์  พวกเธอได้กระทำความดีอันใดบ้าง  จงรำลึกถึง

 

ความดีอันนั้น”

 

                สัตว์นรกต่างพากันนิ่งคิด  ฝ่ายนายโจรนั้นก็นึกขึ้นมา

 

ได้ว่า  ครั้งหนึ่งเขาได้เคยช่วยแม่นกที่กำลังกกไข่ให้พ้นอันตราย

 

จึงได้บอกแก่พระมหาสมณะตามจริง  พระมหาสมณะจึงว่า  “ดีแล้ว

 

บัดนี้เธอจงลืมความทุกข์เสียเถิด  จงนึกถึงแต่นกตัวที่เธอ

 

เคยช่วยเหลือ  และนึกถึงแต่ความดี  อย่าได้คิดอะไรอื่น”

 

                นายโจรนั้นก็ทำตาม  สักครู่หนึ่งก็ปรากฏภาพนกใหญ่

 

ร่อนลงมาที่ตัวเขา  กางอุ้งตีนขยุ้มตัวเขาไว้แล้วพาบินสูงขึ้นไป

 

เกือบจะพ้นเขตนรกอยู่แล้ว  ด้วยความดีใจเขาก็คิด  แล้วพูดว่า

 

“พ้นแล้ว  เราพ้นนรกแล้ว”  พูดมิทันขาดคำนกนั้นก็ปล่อยเขา

 

ลอยลิ่ว  ตกลงไปในขุมนรกตามเดิม  และคราวนี้ไม่มีพระมหาเถระ

 

อยู่ที่นั่นแล้ว”

 

                พอจบเรื่อง  พระปันถกะก็กล่าวกับมหาทุตตะว่า

 

“นี่แหละ..เห็นหรือไม่ว่าหนทางสว่างของท่านก็ยังมีอยู่  นายโจร

 

ที่ต้องตกนรกนั้น  ทำบาปร้ายยิ่งกว่าท่านยังมีโอกาสพ้นจาก

 

นรกได้  แต่เพราะหวนนึกถึงตน  กลับมัวเมาในตนอีก  เขาจึง

 

ต้องตกนรกตามเดิม  ตัวท่านนี้ก็กำลังเจ็บปวดเพราะยึดถือตน

 

ตนของตนจึงเป็นตัวหลอกหลอนให้รู้สึกเจ็บปวดอยู่  ถ้าละตน

 

เสียได้  ปล่อยวาง  อย่าคิดเข้าข้างตน  คิดว่าร่างกายนี้เป็นเพียง

 

ส่วนผสมของธาตุเท่านั้น  จิตก็จะเป็นอิสระบริสุทธิ์ได้”

 

                แต่มหาทุตตะยังคิดวิตกอยู่เช่นเดิมว่า  “ข้าพเจ้าจัก

 

ปฏิบัติตามธรรมะอันปฏิบัติได้ยากนั้นอย่างไรในเวลากะทันหัน

 

เช่นนี้  การเลิกยึดถือตนเช่นนั้น  น่าจะต้องมีการฝึกหัดจิต

 

นานมิใช่น้อย  คงไม่มีประโยชน์อะไรแก่ข้าพเจ้าเลย”

 

                พระปันถกะจึงย้อนถามว่า  “เวลานี้ท่านยังมีใจโกรธ

 

ใครบ้างหรือเปล่า?”  มหาทุตตะตอบว่า  “ไม่มีแล้ว  ข้าพเจ้า

 

รู้สึกผิดแล้ว”

 

                “ถ้าเช่นนั้น  ท่านยังจักคิดแก้แค้นใครอีกไหม?”

 

                “ไม่คิดแล้ว  แค่นี้ก็เป็นทุกข์เหลือทนแล้วพระคุณเจ้า”

 

                พระปันถกะ  ถามต่อไปว่า  “ถ้าท่านได้พบกับนายเก่า

 

ของท่าน  ท่านจักทำอย่างไร?”

 

                มหาทุตตะตอบว่า  “ข้าพเจ้าจักคลานเข้าไปกราบแทบเท้า

 

ของเขา  และขออภัยผิดที่ได้กระทำต่อเขา  เพื่อให้สิ้นเชื้อ

 

สิ้นซากแห่งเวรกรรมกันเสียที”

 

                พระปันถกะจึงกล่าวความจริงให้มหาทุตตะฟังว่า

 

                “พันทุ  นายของท่านนั้น  เขาอโหสิกรรมให้แก่ท่านแล้ว

 

จิตใจของเขาบริสุทธิ์แล้ว  จงสบายใจเถิด  และจงทำใจให้สงบบ้าง

 

จงภาวนาถึงพระนามอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าเถิด”

 

                กล่าวแล้วพระปันถกะก็สอนให้มหาทุตตะภาวนาว่า

 

“อะระหัง  อะระหัง”  เมื่อเขาจำได้และกล่าวถูกต้องแล้ว

 

มีอาการแสดงว่าใกล้จักสิ้นลมปราณแล้ว  พระปันถกะจึงรีบถาม

 

ขึ้นว่า  “ก่อนที่ท่านจักจากอาตมภาพไป  ท่านมีอะไรจักสั่งเสีย

 

บ้างไหม?”

 

                มหาทุตตะจึงนึกขึ้นได้ว่า  เขาควรจะส่งคืนสมบัติทั้งหมด

 

ที่เขาได้ทำโจรกรรมมาซุกซ่อนไว้  ให้แก่เจ้าของเดิม

 

เขาจึงบอกให้พระปันถกะทราบถึงที่ซ่อนสมบัตินั้น  และขอให้ท่าน

 

ไปสู่โกสัมพี  นำความไปบอกแก่พันทุให้จัดการเรื่องนี้ด้วย

 

                เมื่อสั่งธุระเสร็จแล้ว  มหาทุตตะก็รู้สึกอิ่บเอิบใจ

 

เขาเพ่งจิตนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า  ปากก็กล่าวคำว่า

 

“อะระหัง  อะระหัง”  จนกระทั่งขาดใจ

 

จากหนังสือกรรมสนองกรรม

 

ผู้แต่ง  พระธรรมโกศาจารย์  (ปัญญานันทภิกขุ)

 

เรียบเรียง  :  พ.ศ. 2499

 

จัดพิมพ์โดย  กองทุนปัญญานันทธรรม  ศูนย์สืบอายุพระพุทธศาสนา

 

                     วัดชลประทานรังสฤษฏ์

 

 




Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2560 17:12:39 น. 0 comments
Counter : 132 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นาคสีส้ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




วัตถุประสงค์ของ blog นี้ :

เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบได้หนังสือธรรมะมาจาก
ที่ต่างๆ และมักชอบซื้อมาอ่านเป็นประจำเสมอ
เลยทำให้หนังสือกองเต็มบ้านมากมาย
เวลาจะนำไปบริจาค ก็มักจะเสียดาย เพราะ
บางครั้ง บางที ก็หยิบเล่มเก่าๆมาอ่านอีกรอบ
เวลาใครมาขอรับบริจาคอะไรต่างๆ
มักจะหวงไว้ ไม่ค่อยส่งต่อหนังสือให้ใคร

จนมาคิดว่า ไม่ควรจะหวงไว้
เพราะเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์
นำมาปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ

เลยจัดทำ blog นี้ขึ้นมาค่ะ
ไว้เก็บรวบรวมเนื้อหาที่ได้อ่านแล้ว
มาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนหนังสือก็จะนำไปบริจาค
ให้คนอื่น ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

สำหรับเล่มไหนที่เพื่อนๆคิดว่าสนุก
ก็สามารถแนะนำได้นะคะ ^__^
Friends' blogs
[Add นาคสีส้ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.