ที่ใดมีธรรมะ...ที่นั่นจะพบกับทางออกของชีวิต ^_^
Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2560
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
3 กุมภาพันธ์ 2560
 
All Blogs
 
2. ความรักที่แท้จริงคืออะไร



 

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้  อาตมาต้องขอทบทวนความรักและ

 

พัฒนาการของความรักเสียก่อน

 

                คือถ้าเราเห็นพัฒนาการของความรัก  เราก็จะตอบได้ว่า  อะไรคือ

 

รักที่แท้ในทรรศนะพระพุทธศาสนา  ความรักนั้นใน

 

ทรรศนะของอาตมภาพจัดเป็นสี่ระดับด้วยกัน  คือ

 

                1.  รักตัวกลัวตาย

 

                2.  รักใคร่ปรารถนา

 

                3.  รักเมตตาอารี

 

                4.  รักมีแต่ให้

 

1.  รักตัวกลัวตาย

 

                เป็นความรักขั้นพื้นฐานที่สุดของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน  และที่เรียกว่า

 

สรรพชีพ  สรรพสัตว์ทุกชนิด

 

                สรรพชีพ  หมายถึง  สิ่งมีชีวิตทั้งหลายซึ่งเราไม่สามารถมองเห็นด้วยตา

 

ทั้งอยู่ในโลกเดียวกันกับเราหรืออยู่ในโลกอื่นออกไป

 

                สรรพสัตว์  หมายถึง  สัตว์ทั้งปวงที่เรามองเห็นได้ด้วยตา  สิ่งมีชีวิต

 

ทั้งหมดไม่ว่าจะเรียกว่าคน  หรือไม่เรียกว่าคนก็ตาม  ล้วนแล้วแต่มีความรัก

 

ขั้นพื้นฐานคือรักตัวกลัวตาย  ความรักอย่างนี้เป็นความรักอิงสัญชาตญาณ

 

การดำรงชีวิตรอด

 

                สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเกิดมาก็มีความรักชนิดนี้อยู่กับตัวแล้ว  แต่ยังไม่ใช่

 

รักแท้  เพราะในแง่ลบมันมีโอกาสสูงมากที่จะกลายเป็นความเห็นแก่ตัว

 

นั่นคือด้วยเหตุที่พยายามที่จะเอาตัวรอด  ก็เป็นเหตุให้ต้องทำร้ายทำลายชีวิตอื่น

 

ดังนั้นความรักตัวกลัวตายจึงไม่เพียงพอ  และยังไม่ใช่รักที่แท้  ต้องพัฒนาต่อไป

 

2.  รักใคร่ปรารถนา

                เป็นความรักในเชิงชู้สาว  เกิดขึ้นทั้งกับคนและกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย

 

ทั้งปวง  ซึ่งคือสรรพชีพ  สรรพสัตว์ทั้งหลาย  ที่มีความผูกพันกันในเชิงชู้สาว

 

ความรักชนิดนี้อิงอยู่กับสัญชาตญาณการสืบพันธุ์

 

                แท้ที่จริงรากฐานของความรักชนิดนี้ก็มาจากความรักชนิดที่  1  คือ

 

รักตัวกลัวตายนั่นเอง  แต่ว่าประณีตขึ้น  แสดงออกละเมียดละไมมากขึ้น

 

ดูหมือนว่าแทนที่จะรักตัวกลัวตายอย่างเดียว  ก็เผื่อแผ่ใจออกไปรักคนอื่นด้วย

 

แต่แท้ที่จริงที่รักคนอื่นก็เพื่อให้คนอื่นนั้นมารักตัวเอง  หากมองอย่างลึกซึ้ง

 

รักใคร่ปรารถนาก็ยังเป็นความรักที่มีความเห็นแก่ตัวปนอยู่นั่นเอง  ฉะนั้น

 

รักใคร่ปรารถนาจึงยังไม่พอ

 

3.  รักเมตตาอารี

 

                คือความรักอิงความผูกพันทางสายเลือด  นามสกุล  ศาสนา  ชาติพันธุ์

 

ชนชั้นวรรณะ  ภาษาและวัฒนธรรม  พูดง่ายๆ  ว่า  เป็นความรักซึ่งเกิดขึ้นจาก

 

การที่มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย  ตระหนักรู้ว่าผู้ที่ร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

 

กับตนนั้นเป็นพวกเดียวกันกับตน  ความรักชนิดนี้บางครั้งเราก็เรียกว่า

 

ความรักอิงสายเลือดบ้าง  ความรักอิงความเมตตาบ้าง  เช่น  พ่อแม่รักลูก

 

ครูบาอาจารย์รักลูกศิษย์  เพื่อนรักเพื่อน  นายรักลูกน้อง  มนุษย์ด้วยกันรักมนุษย์

 

สัตว์ด้วยกันรักสัตว์  คนชาติเดียวกันรักคนชาติเดียวกัน  เช่นคนไทย

 

รักคนไทยมากกว่าฝรั่ง  ฝรั่งก็จะรักฝรั่งมากกว่าคนไทย  จีนก็จะรักจีน

 

มากกว่าแขก  นี่เรียกว่ารักเมตตาอารี  แม้จะเป็นความรักที่มีรากฐานอยู่บน

 

พื้นฐานของเมตตา  แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยอยู่นั่นเอง  เพราะยังมีข้อจำกัดว่า

 

เลือกรักเลือกเมตตาเฉพาะเผ่าพันธุ์พงศาคณาญาติของตน  แม้จะดู

 

กว้างขวางแต่ก็ยังไปไม่พ้นพรมแดนของการถือเขาถือเราอยู่นั่นเอง

 

4.  รักมีแต่ให้

 

                เป็นความรักของมนุษย์ผู้ที่ได้ค้นพบภาวะความเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน

 

ในหัวใจอย่างลึกซึ้ง  แล้วหลุดพ้นจากกิเลสขึ้นมากลายเป็นอารยชน  ความรัก

 

ชนิดนี้เกิดขึ้นจากการมองเห็นความไร้แก่นสารหรือความไม่มีตัวตนของ

 

ตนเอง  จึงไม่มีตัวตนไว้สำหรับเห็นแก่ตัว  เมื่อไม่เห็นแก่ตัว  จึงเห็นแก่โลก

 

ทั้งผอง  หัวใจไร้พรมแดน  เกิดเป็นความรักขั้นสูงสุด  มองคน  มองสรรพชีพ

 

มองสรรพสัตว์ทั้งหลายในลักษณะโลกทั้งผองพี่น้องกัน

 

                ความรักชนิดนี้เป็นความรักแท้  เปิดเผย  บริสุทธิ์  จริงใจ  โดยไม่

 

เรียกร้องการตอบแทน  เปรียบเสมือนแสงเดือนแสงตะวันที่สาดโลมผืนโลก

 

โดยไม่เคยเรียกร้องสิ่งตอบแทน  เปรียบเสมือนสายฝนและดงดอกไม้

 

ที่ชโลมผืนโลก  ให้ความชุ่มเย็น  งดงาม  และไม่ต้องการให้ใครมองเห็น

 

คุโณปการของตัวเอง  เป็นดอกไม้ก็ส่งกลิ่นหอม  แล้วร่วงโรยไปตามวันเวลา

 

อย่างสงบเงียบ  ไม่ปรารถนาจะเป็นที่ปรากฏอะไร

 

                เช่นเดียวกัน  พระอรหันต์ทั้งหลาย  อริยชนทั้งหลาย  ตั้งแต่พระโสดาบันบุคคลขึ้นไป

 

ก็ทำงานเพราะมีความรักที่แท้เป็นแรงผลักดัน  ทำงานก็เพราะว่า

 

งานนั้นเป็นสิ่งที่วิถีชีวิตของท่านควรทำ  ไม่มีแรงจูงใจในลักษณะเกิดจาก

 

ลาภสักการะ  หรือผลประโยชน์ใดๆ  ทั้งสิ้น  เหมือนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็

 

หายใจ  ที่เราหายใจเพราะการหายใจคือส่วนหนึ่งของชีวิต  เราหายใจโดย

 

ไม่จำเป็นต้องเรียกร้อง  ไม่จำเป็นต้องบังคับ  การหายใจก็คือการหายใจ

 

การหายใจมีความสมบูรณ์อยู่แล้วในตัวเองฉันใด  ผู้ที่มีรักแท้ในหัวใจก็พร้อม

 

รักคนทั้งโลกโดยไม่เรียกร้องอะไรตอบแทนฉันนั้น  ทั้งนี้เพราะมันเป็น

 

ธรรมชาติอันเป็นธรรมดานั่นเอง

 

                ด้วยเหตุนั้นรักแท้จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า  “กรุณา”  หรือ  “การุณยธรรม”

 

เกิดขึ้นหลังจากที่ปัจเจกบุคคลผู้หนึ่งได้ค้นพบปัญญา  คือความตื่นรู้

 

แล้วเกิดวิสุทธิภาวะ  คือจิตใจที่หลุดพ้น  เป็นอิสรภาพจากอวิชชาอย่างสิ้นเชิง

 

ปัญญาที่ตื่นรู้  และวิสุทธิภาวะของจิตที่หลุดพ้นจากอวิชชาอย่างสิ้นเชิง

 

ก่อให้เกิดคุณธรรมชนิดใหม่ซึ่งเปรียบเสมือนธารน้ำที่หลั่งไหลมาของความรัก

 

ก็คือ  กรุณา

 

                ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า  “มหาการุณิกะ”  แปลว่าบุคคล

 

ผู้เปี่ยมด้วยความรักอันไพศาล  นั่นแหละ  รักแท้คือกรุณา

 

                “มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะค้นพบรักแท้ในหัวใจของตัวเองได้

 

เพราะรักแท้หรือกรุณามาจากพุทธภาวะในหัวใจของเราทุกคน

 

ฉะนั้นขอแค่เราเป็นคนเท่านั้นแหละ  เราก็มีธรรมชาติเดิมแท้เป็น

 

ความรักแท้ที่จำพรรษาในใจอยู่แล้ว  รอแต่ว่าเมื่อไหร่เราจะค้นพบ

 

เท่านั้นเอง  เขารอเราอยู่ตลอดเวลา  ทุกภพทุกชาติทุกวินาที”

 

                พรหมวิหาร  4  ก็เป็นวิธีอธิบายพัฒนาการของความรักในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

คนที่จะปฏิบัติพรหมวิหาร  4  ให้สมบูรณ์ได้นั้นต้องใช้ปัญญาขั้นสูง

 

พอสมควร  ยกตัวอย่างง่ายๆ  คือ  เมตตา  (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก)

 

กรุณา  (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก)  มุทิตา  (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก)

 

อุเบกขา  (ต่อคนและสรรพสัตว์ทั้งโลก)

 

                พรหมวิหาร  4  เป็นหลักธรรมที่เป็นคุณสมบัติของบุคคลผู้เป็นพรหม

 

คนที่จะเป็นพรหมได้จึงต้องใช้ปัญญากันมากพอสมควร  เป็นที่รู้กันว่า

 

ในวัฒนธรรมความเชื่อแบบอินเดียโบราณ  พรหมคือพระผู้สร้างโลกและสร้าง

 

สรรพสิ่ง  เพราะฉะนั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็นพรหมก็ต้องมีคุณธรรมของพรหม

 

4  ประการ  คือ  เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขา  ให้สมบูรณ์

 

                แต่เมตตา  กรุณา  มุทิตา  และอุเบกขานั้น  จะปฏิบัติให้สมบูรณ์เป็น

 

เรื่องยากมาก  เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะเมตตาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก

 

คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  กรุณาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก  คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง

 

มุทิตาเฉพาะคนที่ตัวเองรัก  คนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  เห็นไหม  สามข้อนี้

 

ปฏิบัติยากมากเพราะเป็นเรื่องของคนกับคน  คนกับอารมณ์  พอมาถึง

 

อุเบกขา  ยิ่งยากมากกว่านั้นนับร้อยนับพันเท่า  เพราะอุเบกขาเป็นเรื่องของ

 

คนกับธรรม  หรือคนกับหลักการ

 

                ธรรมชาติของมนุษย์มักจะมีความโน้มเอียงตกเป็นฝักเป็นฝ่าย

 

ไม่บวกก็ลบ  ไม่สูงก็ต่ำ  ไม่ขวาก็ซ้าย  ไม่เธอก็ฉัน  แต่อุเบกขา  คนที่จะปฏิบัติได้นั้น

 

ต้องมีลักษณะหรือพฤติกรรมในทางจิตใจ  สามารถมองทะลุสมมุติ

 

บัญญัติทั้งปวง  มีโลกทัศน์ในลักษณะที่เรียกว่า  Duality  คือ  เหนือสิ่งซึ่งเป็น

 

คู่ตรงข้ามทั้งหมดทั้งปวง  สามารถทะลุทะลวงสิ่งสมมุติ  แล้วลอยเด่นอยู่เหนือ

 

สิ่งสมมุติทั้งหลายทั้งปวง  มองโลกได้ทั้งในแง่ดีทั้งในแง่ร้าย  มองคนได้

 

ทั้งคนดีและคนร้าย  มองสรรพสัตว์ทั้งดีและร้าย  ด้วยระดับเดียวกัน  ไม่มีใคร

 

สูงกว่าใคร  ไม่มีใครต่ำกว่าใคร  และตัวเองก็ไม่เลือกเข้าข้างใคร

 

                การที่จะปฏิบัติตัวให้เป็นคนที่อยู่ในโลกแต่มีภาวะจิตใจเหนือโลก

 

เช่นนี้ได้นั้น  ต้องการปัญญาขั้นสูง  ฉะนั้นพรหมวิหารธรรมจึงเป็นธรรมที่

 

ทำให้บุคคลเป็นพรหม  ไม่ใช่ธรรมะตื้นๆ  ธรรมดาๆ  แต่เป็นธรรมะขั้นสูง

 

ผู้ที่จะบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้ครบสมบูรณ์จึงหาไม่ได้ง่ายๆ  แต่ใครก็ตาม

 

สามารถบำเพ็ญพรหมวิหารธรรมได้สมบูรณ์  ต้องถือว่าคนนั้นมีคุณค่า

 

เท่ากับเป็นพรหมทีเดียว  เพราะคนๆ  นั้นสามารถสร้างโลกสร้างชีวิตได้อย่าง

 

ร่มเย็นเป็นสุข  พอๆ  กับที่พระพรหมสร้างโลกทั้งผองให้มีความลงตัวสมบูรณ์

 

สร้างครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกลับมาสร้างใหม่  เห็นไหม  ใครก็ตามที่มีพรหม

 

วิหารธรรมในหัวใจก็สามารถปฏิบัติต่อคนทั้งโลก  สามารถปฏิบัติต่อธรรมะ

 

ซึ่งเป็นแกนกลางที่ทำให้โลกนี้มีความร่มเย็นเป็นสุขอยู่ได้อย่างสมดุล

 

                โดยสรุปคนที่จะปฏิบัติพรหมวิหารธรรมในหัวใจได้นั้น  ต้องมี

 

พุทธภาวะ  คือมีปัญญา  มีวิสุทธิภาวะ  คือมีจิตซึ่งหลุดพ้นจากอวิชชา  และ

 

แน่นอนที่สุดก็ต้องมีกรุณาภาวะ  คือรักที่แท้เป็นเรือนใจ  จึงจะสามารถ

 

ปฏิบัติพรหมวิหารธรรมได้อย่างสมบูรณ์

 

                ไปๆ  มาๆ  ทั้งพรหมวิหารธรรมและรักสี่ประการที่อาตมภาพกล่าวมา

 

ข้างต้นทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกัน

 

                อุเบกขาจึงเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากปฏิบัติได้ยาก  และทั้งๆ  ที่ปฏิบัติ

 

ได้ยาก  ถึงกระนั้นก็ยังปฏิบัติกันผิดๆ  ไหนๆ  ถามแล้วก็ขออธิบายลงลึกใน

 

รายละเอียดว่า  พรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการนั้น  ต้องปฏิบัติให้สอดคล้อง

 

กับบริบทหรือสภาพแวดล้อมนั้นๆ  ดังนี้

 

                เมตตา  ใช้ในสถานการณ์ปกติ  คือมองดูคนทั้งโลก  มองดูสรรพชีพ

 

สรรพสัตว์ทั้งโลกด้วยสายตาแห่งไมตรีจิต  และเป็นมิตร  ในลักษณะ

 

“We  are  the  world”  หรือ  “โลกทั้งผองพี่น้องกัน”

 

                กรุณา  ใช้ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่ข้างหน้าเรา  สรรพชีพ  สรรพสัตว์

 

กำลังตกทุกข์ได้ยาก  เราจึงยื่นมือเข้าไปช่วย  ถ้าเขาอยู่เฉยๆ  เรายื่นมือ

 

เข้าไปช่วย  อาจจะโดนข้อหาหวังดีแต่ประสงค์ร้าย  ใช่ไหม  เขาไม่ต้องการ

 

อาหาร  เรายกอาหารไปให้เขา  ก็อาจถูกข้อหายัดเยียดอาหารให้เขาทั้งๆ 

 

ที่เราหวังดี  แต่เพราะทำไม่ถูกกาลเทศะ  กลายเป็นหวังดีประสงค์ร้าย  ฉะนั้น

 

กรุณาถ้าไม่ถูกกาลเทศะ  อาจกลายเป็นยุ่งเรื่องคนอื่นได้

 

                มุทิตา  ใช้ในสถานการณ์ที่คนซึ่งอยู่เบื้องหน้าของเราได้ดีมีความสุข

 

เราให้กำลังใจเขา  ทำไมต้องให้กำลังใจเขา  เพราะถ้าเราไม่รีบให้กำลังใจ

 

ใจของเราจะพลิกจากมุทิตาเป็นริษยา  คือจะทนต่อคุณงามความดีของคนอื่น

 

ไม่ได้  เมื่อปล่อยให้ริษยาก่อตัวขึ้นในใจ  ริษยานั้นจะเผาไหม้ใจของเราให้

 

เป็นจุณ  จากนั้นจะลุกลามไปเผาไหม้คนที่เราริษยา  พระพุทธเจ้าแนะให้

 

มุทิตาก็เพื่อป้องกันริษยา  และเพื่อยกระดับจิตใจเราให้สูงขึ้น  ปรารถนาให้

 

คนอื่นดีกว่าตน  นั่นคือ  เป็นปฏิบัติการที่ฝึกใจให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์น้อยๆ

 

                มุทิตาเป็นรอยต่อทำให้คนเป็นพระโพธิสัตว์นะ  ถ้าเราเห็นคนอื่นได้ดี

 

แล้วเข็มไมล์หัวใจของเราไม่กระดิกด้วยริษยา  แสดงว่าเราเริ่มมีพัฒนาการที่

 

จะเป็นพระโพธิสัตว์เกิดขึ้นแล้ว  ฉะนั้นใครอยากเป็นพระโพธิสัตว์ให้บำเพ็ญ

 

มุทิตาจิตให้มากๆ  เห็นคนอื่นได้ดีมีสุขแล้วเข็มไมล์หัวใจนี่ไม่กระดิกในทาง

 

ลบเลย  มีแต่เบิกบาน  ผ่องใสกับเขา  เหมือนสายฝนตกมาแล้ว  หลังฝนพรำ

 

เห็ดก็งอกออกจากพื้นดิน  เพราะมุทิตาต่อสายฝน  เห็ดจึงสามารถผุดออกมา

 

จากผืนดินได้  เช่นเดียวกันเพราะมุทิตาต่อคนอื่น  หัวใจจึงสามารถหลุดพ้น

 

จากความคับแคบของโซ่ตรวจแห่งความริษยาได้

 

                อุเบกขา  ใช้ในสถานการณ์ที่คนกำลังขัดแย้งกับหลักธรรม  หลักการ

 

แห่งความจริง  ความถูกต้อง  ความดีงาม  และหลักกฎหมาย  เราควรปล่อยให้

 

คนเหล่านั้นได้รับผิดรับชอบจากผลแห่งการกระทำด้วยตัวของเขาเอง

 

โดยปราศจากการแทรกแซง  เราวางตัวเป็นกลางด้วยความตื่นรู้  แล้วก็กัน

 

ตัวเองออกมา  เฝ้าดูคนทำผิดหลักการ  ผิดหลักกรรม  ผิดหลักธรรมนั้น

 

รับผลแห่งการกระทำของเขาเองอย่างตรงไปตรงมา  ตามลักษณะของความ

 

เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ว่า  “สิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี  สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้

 

ดับไปก็เพราะสิ่งนี้ดับไป”

 

                เราเป็นผู้ดู  ผู้สังเกตการณ์  ปล่อยให้คนที่สวนทางกับหลักการ  หลักธรรม

 

หลักกรรมทั้งหลายนั้น  รับผลซึ่งเขาได้ก่อเหตุเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

 

นั่นแหละคือการวางตัวเป็นกลาง  การวางตัวเป็นกลางอย่างนี้ต้องใช้ปัญญา

 

ขั้นสูง  เพราะมีคนจำนวนมากที่พยายามวางตัวเป็นกลาง  แต่เนื่องจากปราศจาก

 

ปัญญา  การพยายามวางตัวเป็นกลาง  เลยกลายเป็นการปล่อยปละละเลย

 

                “ฉะนั้นอุเบกขาจึงมีสองลักษณะ  หนึ่ง  อุเบกขาที่มาพร้อมกับ

 

ปัญญา  เป็นอุเบกขาที่แท้จริง  พึงประพฤติปฏิบัติ  สอง  อุเบกขาที่มา

 

พร้อมกับความโง่  เรียกว่า  อัญญานุเบกขา  เป็นอุเบกขาที่ควรหลีกเลี่ยง

 

เพราะหากวางอุเบกขาด้วยความโง่  ยิ่งพยายามวางอุเบกขา

 

กลายเป็นว่ายิ่งทอดธุระ  ยิ่งปล่อยปละละเลย”

 

                ฉะนั้นการปฏิบัติพรหมวิหารธรรมทั้งสี่ประการให้สมบูรณ์ต้องดู

 

สภาพแวดล้อมด้วยเสมอ  ถ้าไม่ดูสภาพแวดล้อม  แล้วจู่ๆ  ก็มีเมตตา  อาจกลายเป็น

 

เมตตาจนเกินพอดี  เขามีปัญหาช่วยเหลือมากเกินไป  กลายเป็นแบก

 

ภาระแทนเขา  เขาได้ดีมีสุข  มุทิตาไม่ดูกาลเทศะ  ทำให้คนที่ถูกมุทิตา

 

หลงตัวเอง  หากใช้อุเบกขาโดยไม่ใช้ปัญญาก็อาจกลายเป็นการทอดธุระ

 

ปล่อยปละละเลย  เฉยมั่ว  เฉยเมย  และเฉยเมิน

 

                ในการฝึกมุทิตากับคนอื่น  ให้เรามองตัวเรากับมองตัวเขาว่า  เราทั้งคู่

 

นี่ช่างโชคดีจังเลยนะ  ได้เกิดมาเป็นมนุษย์  ทั้งที่กว่าจะเกิดมาก็แสนยาก 

 

กว่าจะดำรงชีวิตรอดก็แสนยาก  แล้วทั้งๆ  ที่เกิดแสนยาก  ดำรงชีวิตแสนยากนั้น

 

ก็ยังอุตส่าห์สู้ฟันฝ่าอุปสรรคมาได้จนประสบความสำเร็จ  คนเช่นนี้ช่างน่า

 

นับถือในความวิริยะอุตสาหะจังเลย  ฉันขอชื่นชมต่อคุณนะ  แล้ววันหนึ่ง

 

ฉันจะพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็นเหมือนคุณบ้าง

 

                นี่เห็นไหม  มองกว้างๆ  อย่างนี้แล้วเราจะไม่อิจฉาไม่ริษยาเขาเลย

 

เพราะอะไร  เพราะเขาก็คือเพื่อนร่วมโลกเหมือนกับเรา  ให้มองคนที่อยู่ตรงหน้าว่า

 

เขากับเราต่างก็เป็นเพื่อนผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายในสังสารวัฏเดียวกัน

 

การที่เราชิงชังรังเกียจเขา  ริษยาเขา  ก็คือเรากำลังโกรธเกลียดชิงชังเพื่อน

 

ของเรานั่นเอง  แล้วคนที่เกลียดเพื่อน  สุดท้ายก็จะเสียเพื่อน  และกลายเป็น

 

คนไม่มีเพื่อน  ดังนั้นการทำร้ายเพื่อน  การริษยาเพื่อน  แท้ที่จริงก็คือการ

 

ทำร้ายตัวเรานั่นแหละ  เรื่องอะไรเราจะทำร้ายตัวเราด้วยการทำร้ายเพื่อ

 

แต่หากเราแผ่มุทิตาต่อเขา  ใจของเราก็เบิกบาน

 

                เหมือนดอกไม้  ทันทีที่แสงตะวันสาดมาต้อง  ดอกไม้ไม่ขังตัวเองไว้

 

แต่เปิดใจรับแสงตะวัน  ดอกตูมจึงกลายเป็นดอกบาน  เห็นไหม  ถ้าดอกไม้ตูม

 

ไม่เปิดใจรับแสงตะวัน  ทั้งปีทั้งชาติก็ตูมอยู่อย่างนั้น  แล้วกลิ่นหอมจะมาแต่ไหน

 

ความเป็นดอกไม้ก็ไม่สมบูรณ์  ความสมบูรณ์ของดอกไม้อยู่ที่เป็น

 

ดอกไม้แล้วได้บาน  ได้ร่วงโรยไปตามกาลเวลา  ความสมบูรณ์ของคนก็อยู่ที่

 

คุณเป็นคน  มีจิตใจเบิกบานเพราะปราศจากไฟริษยา

 

                “ความริษยานับเป็นคุกชนิเดหนึ่ง  เมื่อเราเติมมุทิตาเข้าไป

 

จิตใจของเราก็เบิกบาน  เมื่อเบิกบาน  ความเป็นมนุษย์ของเราก็

 

สมบูรณ์  ดุจเดียวกับดอกไม้  เมื่อเปิดใจรับแสงตะวัน  กลีบของ

 

ดอกไม้ก็คลี่บานแล้วส่งกลิ่นหอม  ความเป็นดอกไม้ก็สมบูรณ์

 

เมื่อคนๆ  หนึ่งสามารถเปิดหัวใจให้กว้าง  ผลิบานต่อความเจริญ

 

ก้าวหน้าของเพื่อนมนุษย์  แสดงว่าเขากำลังก้าวสู่ความเป็นมนุษย์ที่

 

สมบูรณ์  เพราะว่ามุทิตาซึ่งเป็นภาวะของจิตใจของคนที่กำลังเป็น

 

พระโพธิสัตว์องค์น้อยๆ  ได้เกิดขึ้นแล้ว”

 

จากหนังสือรักแท้  คือ  กรุณา

 

ผู้แต่ง   ว.วชิรเมธี

 

ดำเนินการพิมพ์โดย บริษัท สำนักพิมพ์สุภา จำกัด  (กลุ่มลูกพุทธะ)

 




Create Date : 03 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2560 17:25:49 น. 0 comments
Counter : 402 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นาคสีส้ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




วัตถุประสงค์ของ blog นี้ :

เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบได้หนังสือธรรมะมาจาก
ที่ต่างๆ และมักชอบซื้อมาอ่านเป็นประจำเสมอ
เลยทำให้หนังสือกองเต็มบ้านมากมาย
เวลาจะนำไปบริจาค ก็มักจะเสียดาย เพราะ
บางครั้ง บางที ก็หยิบเล่มเก่าๆมาอ่านอีกรอบ
เวลาใครมาขอรับบริจาคอะไรต่างๆ
มักจะหวงไว้ ไม่ค่อยส่งต่อหนังสือให้ใคร

จนมาคิดว่า ไม่ควรจะหวงไว้
เพราะเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์
นำมาปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ

เลยจัดทำ blog นี้ขึ้นมาค่ะ
ไว้เก็บรวบรวมเนื้อหาที่ได้อ่านแล้ว
มาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนหนังสือก็จะนำไปบริจาค
ให้คนอื่น ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

สำหรับเล่มไหนที่เพื่อนๆคิดว่าสนุก
ก็สามารถแนะนำได้นะคะ ^__^
Friends' blogs
[Add นาคสีส้ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.