ที่ใดมีธรรมะ...ที่นั่นจะพบกับทางออกของชีวิต ^_^
Group Blog
 
 
มกราคม 2560
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
25 มกราคม 2560
 
All Blogs
 
5. เจ้ากรรมนายเวรที่เป็นกายหยาบ



 

แม้หลายคนยังมีความเข้าใจว่า  เจ้ากรรมนายเวรหมายถึง

 

ผู้ล่วงลับที่ยังมีความอาฆาตพยาบาท  แต่ความจริงแล้วคนหรือ

 

สัตว์เดรัจฉานที่อยู่ในมิติเดียวกับมนุษย์  ก็เป็นเจ้ากรรมนายเวร

 

ที่เบียดเบียนให้ชีวิตคนเราต้องประสบปัญหาทั้งหนักทั้งเบา  บางคราว

 

อาจถึงขั้นเลือดตกยางออกหรือถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน

 

 

พระเทวทัตตามจองเวรพระโพธิสัตว์

 

                พระเทวทัตเป็นตัวอย่างบุคคลในสมัยพุทธกาลที่ผูกใจเจ็บต่อ

 

พระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์  และตามจองเวรกันอยู่หลายชาติ

 

เรื่องราวเกิดขึ้นในชาติที่ทั้งสองเกิดเป็นพ่อค้าค้าขายอยู่ด้วยกัน

 

ต่างฝ่ายต่างทำมาหากิน  แต่วันหนึ่งเกิดขัดแย้งกัน  พระเทวทัตจึง

 

ผูกอาฆาตพระโพธิสัตว์นับแต่ชาตินั้นเป็นต้นมา  มีการตามจองเวรกัน

 

มาจนถึงชาติสุท้ายของพระพุทธองค์

 

                เหตุการณ์ในอดีตชาติเริ่มต้นขึ้น    แคว้นสรีรัฐ  ทางภาคเหนือ

 

ใกล้เทือกเขาหิมพานต์  ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพ่อค้า

 

คนซื่อ  ส่วนพระเทวทัตเกิดเป็นพ่อค้าผู้มากเล่ห์เหลี่ยมกลโกง  คราวหนึ่ง

 

พ่อค้าทั้งสองใช้เกวียนบรรทุกสินค้าออกเดินทางไปค้าขายต่างเมือง

 

และต้องข้ามแม่น้ำนีลวาหะเข้าไปค้าขายในเมืองอริฏฐปุระ  หลังจาก

 

ตกลงแบ่งพื้นที่ค้าขายกันเรียบร้อยแล้ว  ต่างฝ่ายต่างมุ่งหน้าไปทำ

 

การค้าในหมู่บ้านที่เป็นเขตของตน  มีข้อตกลงว่า  สำหรับหมู่บ้าน

 

ที่ค้าขายไม่ดี  หากฝ่ายหนึ่งเข้าไปค้าขายเสร็จสิ้นแล้ว  อีกฝ่ายหนึ่ง

 

สามารถเข้าไปค้าขายร่วมได้

 

                ทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติตามข้อตกลง  ในหมู่บ้านที่พ่อค้าขี้โกง

 

เข้าไปเร่ขายสินค้าก่อน  มีครอบครัวเศรษฐีตกยากซึ่งมีเพียงหญิงชรา

 

กันหลานสาวอาศัยอยู่ด้วยกัน  เมื่อหลานสาวเห็นเครื่องประดับ

 

ที่พ่อค้าขี้โกงนำมาขายก็เกิดอยากได้  แต่ไม่มีเงินซื้อ  เธอรบเร้าให้ยาย

 

เอาถาดเก่าที่เป็นสมบัติชิ้นสุดท้ายของครอบครัวมาแลก  ด้วยความรักหลาน

 

หญิงชราจึงจำใจนำถาดที่เป็นสมบัติของตระกูลออกมาให้พ่อค้า

 

ขี้โกงตีราคา  ตอนแรกพ่อค้าไม่สู้เต็มใจนัก  เพราะเห็นเป็นถาดเก่า

 

แต่เมื่อลองเอาปลายเข็มขีดดูก็พบประกายสีทองสุกปลั่ง  แสดงว่า

 

ถาดเก่าใบนี้เป็นถาดทองคำ  แม้ราคาสินค้าทั้งเล่มเกวียนยังไม่

 

เทียมเท่าราคาถาดทองคำใบนี้ใบเดียวได้เลย

 

                พ่อค้าขี้โกงเกิดความโลภอยากได้ถาดทองคำแบบได้เปล่า

 

จึงแกล้งทำเป็นไม่สนใจและบอกว่าถาดใบนี้ไม่มีราคาเลย  จากนั้นก็วาง

 

ถาดลงอย่างไม่แยแส  แล้วขับเกวียนออกเร่ขายสินค้าต่อ 

 

พลางกระหยิ่มใจว่าเดี๋ยวจะหวนกลับมาเอาถาดทองคำทีหลัง  เขาต้องได้

 

ครอบครองถาดทองคำใบนี้เป็นแน่แท้  เหตุการณ์คงดำเนินไปตาม

 

ที่เขาวางกลโกงไว้  หากพ่อค้าคนซื่อไม่ขับเกวียนตระเวนขายสินค้า

 

ตามหลังมาจนถึงหมู่บ้านแห่งนั้น

 

                หญิงชราเจ้าของบ้านนำถาดใบเดิมมาเสนอแลกกับสินค้า

 

ที่หลานสาวอยากได้เหมือนอย่างเคย  พ่อค้าคนใหม่รับถาดมาดู

 

เห็นเนื้อทองสุกปลั่งจากรอยขีดเดิม  จึงบอกให้ทราบว่า

 

                “ถาดของยายใบนี้เป็นถาดทองคำ  ราคาประมาณ  100,000

 

กหาปณะ*  แต่สินค้าทั้งเล่มเกวียนมีราคาแค่  500  กหาปณะ

 

เท่านั้น”

 

                หญิงชราดีใจมากที่ได้ยินพ่อค้าคนใหม่นี้พูดถึงราคาถาดทองคำ

 

นางเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อค้าคนแรกให้ฟังทั้งหมด  พ่อค้าที่มาใหม่

 

ก็ยังยืนยันคำพูดเดิม  นางจึงตัดสินใจตอบแทนความซื่อของเขา

 

ด้วยการมอบถาดทองคำให้  ส่วนของแลกเปลี่ยนจะได้เท่าไร  นางพร้อมรับ

 

อย่างไม่มีเงื่อนไข  พ่อค้าที่มาใหม่จึงตัดสินใจยกสินค้าทั้งหมด

 

ให้นาง  พร้อมกับเงินสดอีก  500  กหาปณะ  เป็นค่าถาดทองคำ

 

เหลือไว้เพียงตาชั่งกับเงินติดตัวเพียง  8  กหาปณะ  เพื่อจ่ายค่าแพ

 

โดยสารข้ามฝั่งเท่านั้น  หลังจากถ่ายสินค้าให้หญิงชราหมดเล่มเกวียน

 

และมอบเงินสดให้แล้ว  พ่อค้าคนซื่อก็รับถาดทองคำแล้วขับเกวียน

 

กลับไปยังแม่น้ำนีลวาหะ

 

                ฝ่ายพ่อค้าขี้โกง  เมื่อขายสินค้าได้เกือบหมดเล่มเกวียนก็รีบ

 

กลับมายังบ้านของหญิงชรา  หวังจะเอาสินค้าที่เหลืออยู่น้อยนิด

 

มาแลกเปลี่ยนกับถาดทองคำ  ครั้นได้รู้ข่าวร้ายว่าพ่อค้าคู่แข่งได้

 

ถาดทองคำไปแล้ว ก็โกรธถึงขั้นคุมสติสัมปชัญญะไว้ไม่อยู่

 

ความเสียหายและเสียใจทำให้พ่อค้าขี้โกงขาดสติ  ปล่อยผ้าผ่อนหลุดลุ่ย

 

ทิ้งเกวียนทิ้งสิ่งของเงินทองแล้วเดินตามพ่อค้าคนซื่อไปยังริมฝั่งแม่น้ำ

 

นีลวาหะ  ขณะนั้นแพบรรทุกพ่อค้าคนซื่อไปถึงกลางแม่น้ำแล้ว

 

เขาหาแพตามไปไม่ได้  จึงได้แต่แสดงอาการโกรธแค้นอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ

 

การสูญเสียสิ่งที่อยากได้ซึ่งมีราคาแพงทำให้ความโกรธรุนแรงสุมแน่น

 

ในอก  กระทั่งทำให้เขากระอักออกมาเป็นเลือด  ในที่สุดพ่อค้าขี้โกง

 

ก็สิ้นใจลงด้วยจิตอาฆาต    ริมฝั่งแม่น้ำ  การจองเวรเริ่มขึ้นนับแต่นั้น

 

เป็นต้นมา  เพราะก่อนสิ้นใจ  เขาตะเกียกตะกายกอบทรายขึ้น

 

1  กำมือแล้วหลุดปากออกมาว่า  จะเกิดอีกกี่ร้อยกี่พันชาติก็ตาม  หรือ

 

จะเกิดมากภพมากชาติเท่าจำนวนเม็ดทรายในกำมือนี้  ก็จะขอตาม

 

จองล้างจองผลาญทุกภพทุกชาติไป

 

                สำหรับการจองเวรในอีกชาติหนึ่งนั้น  พระเทวทัตเกิดเป็น

 

พระเจ้ากรุงพาราณสี  ส่วนพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโอรส

 

ผู้เกิดแต่พระอัครมเหสี  ครั้นเจริญวัยแล้ว  พระโอรสได้เสด็จไปศึกษา

 

ศิลปวิทยาที่เมืองตักกสิลา  แคว้นคันธาระ  นอกจากทรงเรียนวิชา

 

การปกครองแล้ว  เจ้าชายยังทรงเชี่ยวชาญวิชา  “สรรพรุต”  คือ

 

สามารถรู้และเข้าใจความหมายในเสียงร้องของสัตว์ทั้งปวง  หลังจาก

 

ทรงอยู่ช่วยอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ระยะหนึ่งก็ลาอาจารย์กลับเมือง

 

พาราณสีบ้านเกิด  พระราชบิดาแม้ไม่โปรดพระโอรสและทรงคิด

 

กำจัดเลือดเนื้อเชื้อไขของตนตลอดเวลา  กระนั้นก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง

 

พระราชประเพณีได้  จึงทรงจำใจแต่งตั้งพระโอรสเป็นพระอุปราช

 

แต่ก็ทรงคอยจับผิดและหาทางปลงพระชนม์พระโอรส

 

                ต่อมา  พระเจ้าสามนตราช  (พระราชาบ้านใกล้เรือนเคียง)

 

พระองค์หนึ่งยกทัพมาล้อมเมืองพาราณสี  หมายยึดเป็นเมืองขึ้น

 

พระเจ้าพาราณสีทรงให้พระโอรสผู้เป็นอุปราชออกรบแทน  เจ้าชาย

 

ทรงระลึกได้ว่าเคยมีแม่สุนัขตัวหนึ่งร้องบอกพระองค์ว่า  จักมีพระเจ้า

 

สามนตราชพระองค์หนึ่งยกทัพมาล้อม  พระราชบิดาจักส่งพระองค์

 

ไปรบ  พระเจ้าสามนตราชจักจับพระองค์แล้วตัดเอาพระเศียร

 

พระโอรสจึงกราบทูลพระราชบิดาว่าไม่อยากไปรบเพราะกลัวถูกฆ่าตาย

 

แต่พระราชบิดาตรัสย้อนอย่างเย็นชาว่า

 

                “ลูกจะตายหรืออยู่ก็ไม่เห็นจะมีประโยชน์อันใด”

 

                พระโอรสจึงยกทัพออกไป  แต่ไม่ได้ยกไปประจันหน้ากับ

 

พระเจ้าสามนตราช  หากแต่ทรงเคลื่อนทัพออกทางประตูด้านข้าง

 

คล้ายกับว่าจะทรงหนี  แต่ว่าทรงหลบไปตั้งค่ายพักอยู่ในที่แห่งหนึ่ง

 

ที่ปลอดภัยสำหรับพระองค์  ชาวเมืองทราบต่างตามเสด็จไปอยู่กับ

 

เจ้าชายจนเมืองพาราณสีมีสภาพเป็นเมืองร้าง  ฝ่ายพระราชบิดาเอง

 

เห็นจวนตัวว่าภัยจะมาถึงพระองค์  จึงทรงพาพระมเหสี  ปุโรหิต  และ

 

ทาสชื่อปรันตปะหนีออกไปอยู่ป่า  แล้วทรงสร้างบรรณศาลาริมฝั่ง

 

แม่น้ำแห่งหนึ่งประทับลี้ภัยอยู่ที่นั่น

 

                ฝ่ายพระเจ้าสามนตราชทรงเห็นเหตุการณ์กลับตาลปัตรเช่นนั้น

 

ก็ย่ามพระทัยว่าตนเป็นผู้ชนะ  จึงกรีธาทัพเข้าเมืองพาราณสี

 

ซึ่งเป็นการเข้ามาอย่างง่ายดาย  ไม่มีใครขัดขวางเลย  ส่วนพระโอรสเมื่อ

 

ทราบว่าพระราชบิดาพาพระราชมารดาหนีไปแล้ว  จึงยกพลย้อนกลับ

 

เข้าไปในเมืองพาราณสีในทำนองตีตลบหลังจนเกิดการสู้รบกัน

 

ในที่สุดพระองค์ก็ขับไล่กองทัพของพระเจ้าสามนตราชจนแตกพ่าย

 

หนีไป  จากนั้นก็ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา

 

                ส่วนพระเจ้าพาราณสีพระราชบิดาถูกทาสชายชื่อปรันตปะ

 

ปลงพระชนม์ชิงพระมเหสี  ต่อมาพระราชโอรสองค์เล็กได้ฆ่าทาส

 

ปรันตปะ  แล้วพาพระมารดากับปุโรหิตกลับเมืองพาราณสีเพื่ออยู่

 

ร่วมกับพระเชษฐา

 

                คนที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรกัน  แม้เป็นพ่อลูกกัน  แต่ยังไม่วาย

 

มุ่งทำร้ายให้โทษแก่กัน  ดังเรื่องราวของพระเทวทัตในชาติที่เกิดเป็น

 

พระบิดาของพระพุทธเจ้า  หนำซ้ำยังตามจองเวรไปในชาติที่เกิดเป็น

 

สัตว์ต่อไปด้วย

 

                ในชาติที่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน  พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น

 

ลูกลิง  ส่วนพระเทวทัตเป็นพ่อลิงผู้เป็นจ่าฝูง  เนื่องจากพ่อลิงที่เป็น

 

จ่าฝูงไม่ชอบลูกลิงตัวผู้  เพราะระแวงว่าลูกตัวผู้จะมาแย่งอำนาจ

 

จากตน  จึงกำจัดด้วยการกัดกินลูกอัณฑะของลูกตัวผู้หมดทุกตัว

 

ฝ่ายแม่ลิงเมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งท้องลูกตัวผู้แน่  จึงอุ้มท้องหนีไปอยู่อีก

 

ป่าหนึ่งเพื่อคุ้มครองลูกชาย  แม่ลิงอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งให้กำเนิด

 

ลูกลิงตัวผู้และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่

 

                ฝ่ายลูกลิงพอได้รู้ว่าพ่อเป็นจ่าฝูงอยู่ที่ป่าอีกแห่งหนึ่งก็อยาก

 

พบหน้า  จึงรบเร้าให้แม่พาไปหาพ่อ  แม่ลิงพยายามอธิบายว่าไปอยู่

 

กับพ่อจะเป็นอันตราย  แต่ลูกลิงยืนยันจะไปพิสูจน์ด้วยตัวเอง  แม่ลิง

 

หมดปัญญาจะห้ามลูกได้  จึงตัดสินใจพาลูกลิงไปหาพ่อในที่สุด

 

                ทันทีที่เห็นสายเลือดของตนเป็นลูกลิงเพศผู้  พ่อลิงรู้สึกขวางหู

 

ขวางตา  ในจิตคิดแต่จะฆ่าให้ตาย  แต่พ่อลิงไม่กล้าฆ่าลูกแบบโจ่งแจ้ง

 

อย่างที่เคยฆ่าลิงคู่แข่ง  จึงแสร้งทำเป็นรักใคร่  เข้ามากอดลูกลิง

 

แต่ใจจริงหมายจะรัดให้ตาย  ลูกลิงสัมผัสแรงกอดจากพ่อก็เข้าใจทันที

 

ว่าพ่อคิดอย่างไรกับตน  จึงป้องกันตัวเองด้วยการกอดตอบและ

 

อาศัยพละกำลังที่มากกว่ากอดรัดพ่อเสียแน่นจนกระดูกแทบหัก

 

                พ่อลิงรู้ได้ทันทีเช่นกันว่าไม่สามารถฆ่าลูกได้ด้วยมือตนเอง

 

จึงหวัดยืมมือคนอื่นฆ่า  ลิงพ่อคิดถึงรากษส  (ผีเสื้อน้ำ)  นิสัยดุร้าย

 

ที่สิงสถิตอยู่ในสระน้ำ  จึงออกอุบายให้ลูกลิงไปเก็บดอกบัวที่สระน้ำนั้น

 

                “ในสระน้ำโน้นมีดอกบัวพันธุ์ต่างๆ  บานอยู่  เป็นพันธุ์โกมุท

 

2  ดอก  พันธุ์อุบล  3  ดอก  พันธุ์ปทุม  5  ดอก  ขอลูกจงไปเก็บ

 

ดอกบัวบานเหล่านั้นมาเถิด  ถ้าเก็บมาได้  พ่อจะให้เจ้าเป็นจ่าฝูง

 

แทนพ่อ”

 

                ลูกลิงรับคำพ่อโดยมิได้หวาดหวั่น  แต่ความที่ฉลาดมีไหวพริบ

 

จึงรู้ทันว่าในสระน้ำน่าจะมีภัย  เมื่อถึงสระจึงทำทีเป็นเดินดูรอบๆ

 

อย่างระวังตัว  ลูกลิงสังเกตว่าบริเวณริมสระเห็นแต่รอยเท้าคนขาลงไป

 

ในสระ  แต่ไม่เห็นรอยเท้าขาขึ้น  จึงคะเนได้ว่า

 

                “ในสระนี้จะต้องมีรากษสคอยจับคนหรือสัตว์กิน  แสดงว่าพ่อ

 

ต้องการให้เรามาถูกจับกิน”

 

                เวลานั้นลูกลิงไม่โกรธพ่อ  แต่ต้องการแสดงความสามารถ

 

ให้พ่อเห็น  จึงคิดหาวิธีลงไปเก็บดอกบัวในสระโดยไม่ถูกจับกิน

 

มีเนินดินโผล่พ้นน้ำอยู่ไม่ไกลจากขอบสระนัก  ลูกลิงเห็นแล้วคิดว่า

 

                “รากษสมีอำนาจจับกินได้ก็แต่เฉพาะคนหรือสัตว์ที่ลงน้ำในสระ

 

เท่านั้น  หากเราไม่ลงไปในสระ  แล้วเอาแต่กระโดดลงกระโดดขึ้น

 

อย่างนี้  ก็จะพ้นจากอำนาจของรากษส”

 

                ครั้นคิดตกแล้ว  ลูกลิงก็กระโดดลงไปเก็บดอกบัวในสระ

 

แล้วกระโดดกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว  รากษสเห็นแล้วยอมรับ

 

ความสามารถของลูกลิง  และรู้สึกชื่นชมคุณธรรม  3  ประการของลูกลิง  คือ

 

ความขยัน  ความกล้าหาญ  และการใช้ปัญญา  จึงยอมมอบตัวเป็น

 

ผู้รับใช้  และขออาสาหอบดอกบัวที่ลูกลิงเด็ดได้ตามมาส่งจนถึงป่าที่อยู่

 

                ฝ่ายพ่อลิงกำลังกระหยิ่มใจว่าวันนี้จะหมดสิ้นเสี้ยนหนามแทงตา

 

แทงใจเสียที  พอเห็นลูกลิงกลับมาโดยมีรากษสหอบดอกบัวเดินตาม

 

มาส่งก็รู้สึกผิดหวัง  พ่อลิงเสียใจจนกระทั่งหัวใจวาย  การตายของ

 

พ่อลิงเป็นการเปิดโอกาสให้ฝูงลิงยกลูกลิงขึ้นเป็นจ่าฝูงแทน

 

แม้เหตุการณ์ในชาตินี้เหมือนจบลงด้วยดี  แต่ความอาฆาตที่มีอยู่ในจิต

 

ของพ่อลิงผู้จองเวรไม่ได้ลดลงเลย

 

                ในชาติต่อมาต่างเกิดเป็นลิงด้วยกันอีกครั้ง  พระพุทธเจ้าเป็นลิง

 

จ่าฝูงอยู่ในป่าหิมพานต์  มีลิงบริวารถึง  80,000  ตัว  ป่าหิมพานต์

 

บริเวณนั้นมีแม่น้ำคงคาไหลผ่านและมีมะม่วงใหญ่ต้นหนึ่งขึ้นอยู่

 

ริมฝั่งแม่น้ำ  นอกจากมีใบดกและมีร่มเงาเย็นสบายแล้ว  มะม่วง

 

ต้นนั้นยังมีผลใหญ่เท่าหม้อและมีรสหวานปานรสทิพย์  ผลของกิ่ง

 

ที่อยู่ข้างบนก็หล่นลงบนบก  ผลของกิ่งซีกที่อยู่ริมแม่น้ำก็หล่นลงแม่น้ำ

 

ส่วนผลของกิ่งตรงกลางก็หล่นลงบริเวณโคนต้น

 

                ลิงจ่าฝูงมักพาลิงบริวารไปกินผลมะม่วงตอนเที่ยงคืน  เมื่อเห็น

 

ผลมะม่วงหล่นลงในแม่น้ำก็คิดว่า  สักวันหนึ่งภัยจากผลมะม่วงที่หล่น

 

ลงน้ำจักมาถึงพวกตน  จึงสั่งให้ลิงบริวารกัดกินกิ่งและผลซีกที่อยู่

 

ข้างแม่น้ำจนเหี้ยน  แต่กระนั้นก็มีผลมะม่วงที่รอดหูรอดตาของฝูงลิง

 

หล่นลงไปในแม่น้ำจนได้  ผลมะม่วงลอยไปติดตาข่ายของชาวประมง

 

คนหนึ่ง  เขานำไปถวายพระเจ้าพาราณสี  เนื่องจากผลมะม่วงลูกใหญ่มาก

 

พระองค์จึงให้เจ้าหน้าที่ปอกถวายพระองค์แล้วนำไปแจก

 

เจ้าหน้าที่ของพระองค์ด้วย

 

                ทุกคนที่ได้กินต่างติดใจในรสชาติของผลมะม่วง  พระเจ้า

 

พาราณสีเองก็เช่นกัน  จึงรับสั่งให้เที่ยวค้นหาว่าผลมะม่วงนี้มาจากที่ใด

 

เมื่อทรงทราบจากพรานป่าว่ามีต้นมะม่วงขึ้นอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา

 

ผลที่พระองค์เสวยก็หล่นมาจากมะม่วงต้นนั้นเอง  พระเจ้าพาราณสี

 

จึงพาข้าราชบริพารนั่งเรือขึ้นไปตามแม่น้ำจนถึงริมฝั่งที่มะม่วงยืนต้นอยู่

 

พระองค์รับสั่งให้ขบวนเสด็จหยุดเก็บผลมะม่วงกินอย่างสำราญ

 

เมื่อถึงเวลาพลบค่ำก็พักแรมกันบริเวณนั้น

 

                พอเที่ยงคืน  ลิงจ่าฝูงก็พาลิงบริวารมากินผลมะม่วงตามปกติ

 

พระเจ้าพาราณสีทรงตื่นบรรทม  เห็นฝูงลิงมากันมากมาย  จึงรับสั่งให้

 

ล้อมไว้  และให้นายขมังธนูช่วยกันยิงลิงเพื่อแล่เอาเนื้อ  ฝูงลิงต่าง

 

ตื่นกลัวลนลาน  ลิงจ่าฝูงปลอบลิงบริวารให้หายกลัว  พลางมองไป

 

รอบๆ  เพื่อหาตัวช่วย  ก็เห็นพุ่มไม้ที่อยู่ไกล  100  ชั่วธนูว่าเป็น

 

ความหวังได้  จึงรีบไปกัดเอาเถาวัลย์มาเครือหนึ่ง  ลิงจ่าฝูงเอาปลาย

 

เถาวัลย์ข้างหนึ่งผูกที่ต้นไม้นั้น  แล้วเอาปลายอีกข้างเตรียมผูกที่ต้น

 

มะม่วงเพื่อเชื่อมเป็นสะพานให้ฝูงลิงไต่หนีไป  แต่เถาวัลย์นั้นยาว

 

ไม่พอ  ขาดไป  1  ช่วงลำตัว  ลิงจ่าฝูงจึงเอาปลายเถาวัลย์ผูกเอว

 

ของตนแล้วยื่นมือไปเหนี่ยวกิ่งมะม่วงไว้  พร้อมตะโกนบอกลิงบริวาร

 

ให้เหยียบหลังของตัวเองแล้วรีบไต่เถาวัลย์หนีไป

 

                ลิงบริวารต่างไหว้ขอขมาลิงจ่าฝูงก่อนเหยียบหลังแล้วเกาะ

 

เถาวัลย์ไต่หนีไปโดยเร็ว  ยกเว้นลิงตัวสุดท้ายซึ่งหวังจะเป็นจ่าฝูงแทน

 

มันเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะสังหารลิงจ่าฝูงที่ตนถือว่าเป็นศัตรู

 

มาตลอดเวลา  จึงกระโดดลงบนหลังลิงจ่าฝูงเต็มแรงแล้วไต่เถาวัลย์

 

หนีไปได้สำเร็จ  แรงจากการกระโดดใส่ทำให้ลิงจ่าฝูงจุกแทบสิ้นใจ

 

แต่ยังมีสติแก้เถาวัลย์ทิ้งแล้วขยับตัวไปฟุบคากิ่งมะม่วง  พระเจ้า

 

พาราณสีทรงรู้ดีว่าลิงจ่าฝูงบอบช้ำหนัก  รุ่งเช้าจึงรับสั่งให้ข้าราชบริพาร

 

ไต่ขึ้นไปอุ้มลิงจ่าฝูงลงมาพยาบาล  แล้วตรัสถามถึงเหตุผลที่ต้อง

 

สละตัวเองเพื่อบริวารถึงเพียงนั้น  ลิงจ่าฝูงกราบทูลว่า

 

                “ถึงข้าพระองค์จะถูกจับ  ถูกฆ่า  ก็ไม่เป็นไร  ขอให้ลิงบริวาร

 

ปลอดภัย  เพราะลิงพวกนั้นเขาสู้อุตส่าห์ยกย่องข้าพระองค์ให้เป็น

 

ผู้นำ  ก็ด้วยหวังว่าข้าพระองค์จะทำให้พวกเขามีความสุขและมี

 

ความปลอดภัยในชีวิต”

 

                จากนั้นลิงจ่าฝูงก็สิ้นใจตาย  ฝ่ายลิงตัวร้ายก็หนีไปอยู่ในป่า

 

ตามลำพัง  เพราะกลัวว่าฝูงลิงทั้งหลายจะโกรธแค้นตน  เรื่องราว

 

การจองเวรในชาติที่เกิดเป็นลิงในป่าหิมพานต์จบลงเพียงเท่านั้น

 

แต่ด้วยจิตที่ผูกอาฆาต  ลิงตัวร้ายก็เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ

 

จนกระทั่งมาเกิดเป็นพระเทวทัต  พระญาติสนิทของพระพุทธเจ้า

 

คอยตามเบียดเบียนพระพุทธองค์จนทรงได้รับอันตราย

 

                พระเทวทัตทรงขัดแย้งกับเจ้าชายสิทธัตถะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

 

ทั้งนี้เป็นเพราะเคยทำกรรมไม่ดีแก่กันไว้  กรรมจึงส่งผลให้มาพบกัน

 

เจ้าชายเทวทัตมีพระชนม์แก่กว่าเจ้าชายสิทธัตถะ  แต่เจ้าชายสิทธัตถะ

 

ได้รับการยอมรับจากหมู่พระญาติมากกว่า  เจ้าชายเทวทัตจึงไม่

 

พอพระทัยนัก

 

                ความริษยาที่สะสมมาแต่อดีตชาติแสดงตัวออกมาในวันหนึ่ง

 

ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเดินพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ในพระอุทยาน

 

หงส์ตัวหนึ่งบินมาตกลงเบื้องหน้า  มีลูกศรเสียบปักคาอก  จึงทรง

 

เข้าไปประคองสัตว์เคราะห์ร้ายด้วยความสงสาร  เลือดสดๆ  ของหงส์

 

ไหลลงเปื้อนพระหัตถ์เต็มไปหมด

 

                “ใครกันนะทำลายชีวิตเจ้า”

 

                ทันใดนั้นเจ้าชายเทวทัตก็ปรากฏพระองค์  พร้อมทั้งทรงอ้าง

 

สิทธิ์ว่า

 

                “หงส์ตัวนี้เป็นของหม่อมฉัน  เพราะหม่อมฉันเป็นคนยิง”

 

                แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงค้านว่า  “คนทำลายชีวิตไม่ควรมีสิทธิ์

 

ในชีวิตของใคร”

 

                เจ้าชายทั้งสองไม่สามารถตกลงกันได้  จึงจำเป็นต้องพึ่งศาล

 

แห่งราชสำนัก  ศาลได้ประชุมพิจารณาคดีอย่างคร่ำเคร่ง  แล้วตัดสิน

 

ให้หงส์ตัวนั้นตกเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะด้วยเหตุผลว่า  “ผู้ทำลาย

 

ชีวิตไม่สมควรเป็นเจ้าของชีวิตใคร  แต่ผู้ที่ให้ชีวิตสมควรได้เป็น

 

เจ้าของชีวิต”

 

                เหตุการณ์นี้ทำให้ความขัดแย้งที่สืบต่อมาจากอดีตชาติทวี

 

ความรุนแรงขึ้นในจิตใจของเจ้าชายเทวทัต  ยิ่งต่อมาเจ้าชายเทวทัต

 

ทรงตามมาขอบวชอยู่ด้วย  เพราะเห็นประชาชนต่างเลื่อมใสศรัทธา

 

พระพุทธเจ้ากันมาก  จึงอยากเป็นพระพุทธเจ้าบ้าง  พระเทวทัตคิดร้าย

 

ถึงขั้นมุ่งปลงพระชนม์ชีพของพระองค์  แล้วท่านก็ทำบาปหนักนั้นจริง

 

โดยพยายามลอบปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายครั้ง  เช่น  ปล่อย

 

ช้างตกมันเข้าทำร้ายบ้าง  จ้างนายธนูไปลอบยิงบ้าง  แต่ทุกครั้งที่ลงมือ

 

ก็ไม่สามารถทำอะไรพระพุทธเจ้าได้  กลับกลายเป็นว่าผู้ที่ท่านส่งไป

 

ทำร้ายเกิดเปลี่ยนใจศรัทธาพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้น  พระเทวทัต

 

จึงจำต้องลงมือลอบปลงพระชนม์ด้วยตนเอง  โดยการกลิ้งหินตกจาก

 

หน้าผาเขาคิชฌกูฏหมายให้บดขยี้พระวรกาย  แต่หินกลับกระเด็นหนี

 

พระพุทธเจ้าอย่างน่าอัศจรรย์  มีเพียงสะเก็ดหินที่กระเด็นถูกข้อพระบาท

 

จนห้อพระโลหิต

 

                นอกจากนี้พระเทวทัตยังเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง  อยากเป็นพระ-

 

ศาสนาแทนพระพุทธเจ้า  จึงกระทำการถึงขั้นเสนอให้พระพุทธเจ้า

 

ออกจากการเป็นพระศาสดา  แล้วมอบพระสาวกทั้งหมดให้ท่านดูแลแทน

 

อีกทั้งยังเสนอให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยใหม่ให้

 

พระสาวกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  เช่น  ฉันมังสวิรัติตลอดชีวิต

 

อยู่ป่าตลอดชีวิต  ห่มผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต  แต่พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

 

ไม่รับข้อเสนอของท่าน  เพราะทรงเห็นว่าข้อเสนอของพระเทวทัต

 

สุดโต่ง  การเคลื่อนไหวของพระเทวทัตมีคนรับรู้กันทั่วและต่างตำหนิ

 

ท่านมาก

 

                ภายหลังพระเทวทัตเกิดสำนึกผิดและเดินทางไปขอขมา

 

พระพุทธเจ้า  แต่ทว่าด้วยกรรมที่สร้างไว้เป็นกรรมหนัก  จึงทำให้ท่าน

 

ถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีนรก    ริมสระโบกขรณี  หน้าวัดพระเชตะวัน-

 

มหาวิหาร  ขณะที่กำลังเดินทางจะเข้าไปขอขมาต่อพระพุทธเจ้า

 

พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ว่า  แม้พระเทวทัตทำบาปกรรมมาใหญ่หลวงนัก

 

แต่ด้วยผลบุญที่เคยบำเพ็ญบารมีมาในอดีต  เคยบวชเป็นภิกษุ

 

ในพุทธศาสนา  ตลอดจนสำนึกผิดในวาระสุดท้ายของชีวิต  ในอนาคต

 

อันยาวไกลเมื่อพระเทวทัตชดใช้กรรมในนรกจบสิ้น  ท่านจะได้เกิดมา

 

ในช่วงที่โลกว่างพระพุทธเจ้า  เป็นคนมีสัมมาทิฏฐิ  (ความเห็นหรือ

 

เข้าใจความดีและความชั่วได้ถูกต้อง)  และได้ออกบวชเป็นพระปัจเจก-

 

พุทธเจ้ารู้แจ้งธรรมด้วยตัวเอง

 

                ระยะเวลาที่พระเทวทัตผูกอาฆาตนั้นยาวนานหลายชาติหลายภพ

 

แต่ด้วยเมตตาบารมีของพระพุทธเจ้า  การเป็นเจ้ากรรมนายเวร

 

ซึ่งกันและกันจึงสิ้นสุดยุติลง  ทว่าผลกรรมที่ท่านได้กระทำลงไปทั้งดี

 

และชั่วยังคงให้ผลอยู่

 

 

การจองเวรเข่นฆ่าข้ามภพข้ามชาติ

 

                การผูกอาฆาตพยาบาทจนกลายมาเป็นเจ้ากรรมนายเวรในชาติ

 

ที่เกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉานที่ผมกำลังจะเล่านี้  เป็นเรื่องของนางยักษิณี

 

กับหญิงสาวที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา  เหตุการณ์เกิดขึ้น

 

ในครอบครัวหนึ่ง  สามีและภรรยาต่างอยู่กินด้วยกันมาอย่างมีความสุข

 

แต่ที่ทุกข์ก็คือ  ภรรยาเป็นหมัน  ไม่สามารถมีลูกได้  พ่อแม่ของสามี

 

จึงขวนขวายหาภรรยาคนที่สองให้ลูกชายเพราะอยากมีหลานไว้สืบสกุล

 

                ภรรยาคนแรกรับรู้ความประสงค์  จึงเสนอตัวรับหน้าที่หาภรรยา

 

อีกคนให้สามีของตนเอง  เมื่อหญิงสาวที่นางชักนำได้เข้ามาอยู่ในบ้าน

 

ในฐานะภรรยาคนที่สองแล้ว  เหตุการณ์ต่างๆ  ดูเหมือนว่าจะดำเนินไป

 

เป็นปกติสุข  ภรรยาคนแรกมีน้ำใจให้การต้อนรับดูแลเป็นอย่างดี

 

ไม่แสดงทีท่ารังเกียจหรือหึงหวงแต่อย่างใด  จนกระทั่งภรรยาคนที่สอง

 

ตั้งครรภ์  แม้ภายนอกนางแสร้งทำเป็นดีอกดีใจและช่วยปรุงยาบำรุง

 

ครรภ์ให้  แต่ภายในใจของนางกำลังวางแผนร้ายที่ไม่มีใครคาดถึง

 

                ฝ่ายภรรยาคนที่สองเห็นว่าภรรยาคนแรกเป็นคนชักนำเธอ

 

มาอยู่ในบ้านนี้เอง  จึงตายใจและกินยาตามที่ภรรยาคนแรกปรุงให้

 

แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เธอกลืนลงคอไม่ใช่ยาบำรุงครรภ์  แต่กลับเป็น

 

ยาทำลายครรภ์  แม้สูญเสียลูกในท้องเพราะน้ำมือของภรรยาคนแรก

 

แต่ภรรยาคนที่สองก็ยังไม่ได้ระแคะระคายว่าถูกปองร้าย  เมื่อตั้งครรภ์

 

อีกครั้งก็ยังแจ้งข่าวแก่ภรรยาคนแรกด้วยความยินดี  แน่นอนว่า

 

ภรรยาคนแรกปรุงยาบำรุงครรภ์ให้กินอีกครั้งและนำไปสู่การแท้งลูก

 

เป็นครั้งที่สอง

 

                การสูญเสียลูกในอุทรถึงสองครั้งสองคราทำให้ภรรยาคนที่สอง

 

เริ่มเอะใจว่าน่าจะมีคนมุ่งร้าย  นางจึงเก็บเรื่องการตั้งครรภ์ครั้งที่สาม

 

ไว้เป็นความลับเป็นเวลาหลายเดือนจนครรภ์ใหญ่ขึ้นตามลำดับ  ทำให้

 

นางไม่สามารถปกปิดความลับไว้ได้อีกต่อไป  ภรรยาคนแรกเห็นก็ทำที

 

กุลีกุจอยืนยันขอปรุงยาบำรุงครรภ์และรบเร้าให้นางกินอย่างที่นาง

 

ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  แล้วฤทธิ์ของยาก็ขับเลือด  จึงทำให้ภรรยาคนที่

 

สองตกเลือดในขณะคลอด  ภรรยาคนที่สองรู้ดีว่าเป็นฝีมือของภรรยา

 

คนแรกแน่ๆ  ความเจ็บปวดกลายเป็นความเจ็บแค้น  นางจึงผูกอาฆาต

 

ในขณะที่กำลังจะสิ้นใจว่า...

 

                “แกเป็นคนพาฉันมาอยู่กับแก  แต่แล้วแกก็ฆ่าลูกฉันทั้ง

 

สามคน  ตอนนี้แกก็กำลังฆ่าฉันด้วย  เมื่อฉันตายลง  ขอให้ฉันได้

 

เกิดมากินเลือดกินเนื้อลูกของแกบ้าง”

 

                จิตที่ผูกอาฆาตขณะสิ้นใจส่งผลให้นางมาเกิดเป็นแมวตัวเมีย

 

อยู่ในบ้านหลังเดิม  ฝ่ายสามีพอทราบว่าภรรยาคนแรกวางยาฆ่าภรรยา

 

คนที่สองกับลูกในท้องก็บันดาลโทสะทุบตีนางจนถึงแก่ชีวิต 

 

นางตายลงด้วยจิตอกุศลเกาะเกี่ยวอยู่กับบาปเวรที่เคยทำ  เมื่อตายแล้ว

 

ก็มาเกิดเป็นแม่ไก่อยู่ในบ้านหลังเดิม  การแก้แค้นแบบข้ามภพข้ามชาติ

 

จึงเริ่มขึ้น

 

                แมวไม่รู้หรอกว่าตนเองผูกใจเจ็บมาแต่หนหลัง  แต่เมื่อแม่ไก่

 

ตกไข่ก็มาขโมยกินไข่ทุกครั้ง  รวมแล้ว  3  ครั้ง  มิหนำซ้ำครั้งสุดท้าย

 

ยังจะกินแม่ไก่ด้วย  แม่ไก่สิ้นใจไปพร้อมกับความอาฆาตแค้นที่ยิ่งทวี

 

ความรุนแรงขึ้นว่า

 

                “แมวตัวนี้กินไข่ของเราถึง  3  ครั้ง  มาตอนนี้กำลังจะกินเรา

 

ชาติหน้าขอให้เราได้มีโอกาสกินมันพร้อมทั้งลูกมันด้วย”

 

                ความแค้นฝังใจบันดาลให้แม่ไก่มาเกิดเป็นแม่เสือดุร้าย 

 

ฝ่ายแมวมาเกิดเป็นกวางตัวเมีย  สัตว์ทั้งสองอาศัยอยู่ในป่าเดียวกันใน

 

อีกชาติหนึ่ง  วันที่แม่กวางตกลูก  แม่เสือก็ย่องมากินลูกกวางถึง

 

3  ครั้ง  เมื่อไม่เหลือลูกกวางให้กินอีกแล้ว  แม่เสือจึงกินแม่กวางแทน

 

แม่กวางผูกอาฆาตแม่เสือขณะจะสิ้นใจไว้ว่า

 

                “แม่เสือตัวนี้กินลูกเราถึง  3  ครั้ง  คราวนี้กำลังจะกินเรา

 

เราไม่มีทางรอดชีวิตได้  ดังนั้น  เมื่อตายจากชาตินี้แล้ว  ชาติหน้า

 

ก็ขอให้เราได้กินมันพร้อมทั้งลูกบ้าง”

 

                จิตที่ประกอบด้วยความแค้นส่งผลให้แม่กวางมาเกิดเป็นยักษิณี

 

แต่สำหรับแม่เสือ  ซึ่งคือภรรยาคนที่หนึ่งผู้เริ่มต้นวงจรกรรมใน

 

อดีตชาติ  ความอาฆาตพยาบาทในจิตเริ่มเบาบางลง  ประกอบกับ

 

กุศลกรรมที่เคยกระทำในภพชาติที่เกิดเป็นมนุษย์เริ่มให้ผล  แม่เสือ

 

จึงมาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐี  เมื่อเติบโตเป็นสาว  นางได้แต่งงานกับ

 

ลูกชายเศรษฐีและตั้งครรภ์ในเวลาต่อมา  วันที่นางคลอดลูกชาย

 

ยักษิณีก็ถูกแรงอาฆาตในชาติก่อนกระตุ้นจิตให้เที่ยวตามหาคู่แค้น

 

ซึ่งตอนนี้มาเกิดเป็นลูกสาวเศรษฐีจนพบ  จากนั้นผลกรรมก็บันดาลให้

 

เหตุร้ายเกิดขึ้น

 

                ยักษิณีแปลงตัวเป็นหญิงสาวผู้มีไมตรีจิต  ทำทีมาเยี่ยมลูกสาว

 

เศรษฐีและตีสนิทขอเข้าไปดูหน้าลูกชายที่เพิ่งคลอด  พอสบโอกาสก็จับ

 

ทารกกินต่อหน้าต่อตาผู้เป็นแม่แล้วหนีหายไป  ยักษิณีมีโอกาสได้ทำ

 

กรรมชั่วเช่นนี้ถึงสองครั้ง  ส่วนลูกสาวเศรษฐีผู้เป็นแม่ก็หัวใจสลาย

 

ที่ต้องสูญเสียลูกชายให้ยักษิณีถึงสองคนโดยหาทางป้องกันไม่ได้เลย

 

เมื่อนางตั้งครรภ์ครั้งที่สาม  นางจึงปรึกษากับสามีว่าจะขอกลับไป

 

คลอดลูกที่บ้านเกิด  เพื่อให้พ่อแม่ช่วยดูแล  ฝ่ายสามีไม่ขัดข้อง

 

นางจึงไปคลอดลูกชายที่บ้านเกิดอย่างปลอดภัย  ส่วนยักษิณีก็ตามหา

 

จนพบด้วยแรงอาฆาต  แต่ยังไม่สบโอกาสเข้าไปเยี่ยมใกล้ๆ  เหตุการณ์

 

ผ่านไปด้วยดีจนลูกสาวเศรษฐีเห็นว่าตนกับลูกปลอดภัยแน่  จึงปรึกษา

 

กับสามีว่าควรกลับไปอยู่บ้านสามีเสียที  หลังจากตระเตรียมข้างของแล้ว

 

สองสามีภรรยาก็อุ้มลูกออกเดินทาง  เส้นทางที่สามคนพ่อแม่ลูก

 

มุ่งหน้าไปเป็นทางผ่านวัดเชตะวัน  ซึ่งขณะนั้นพระพุทธเจ้าประทับอยู่

 

                ระหว่างทางมีสระน้ำมีบัวออกดอกบานสะพรั่ง  ลูกสาวเศรษฐี

 

เหนื่อยล้าจากการเดินทางจึงชวนสามีแวะพัก  นางให้สามีอุ้มลูกแล้ว

 

ลงอาบน้ำในสระ  จากนั้นจึงขึ้นมาอุ้มลูกผลัดเปลี่ยนให้สามีได้อาบน้ำบ้าง

 

ขณะที่นางยืนให้นมลูกอยู่นั้น  นางยักษ์ได้แปลงกายเป็นหญิงสาว

 

มีไมตรีเข้ามาหาเหมือนอย่างเคย  ลูกสาวเศรษฐีจำได้จึงตกใจมาก

 

นางร้องขอความช่วยเหลือเสียงหลง  เมื่อเห็นว่าหากรอให้สามีมาช่วย

 

คงไม่ทันแน่  นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าไปในวัดเชตะวัน

 

                ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมโปรดพระสาวกและ

 

ชาวบ้านอยู่  หญิงสาววิ่งอุ้มลูกไปวางลงหลังพระบาทของพระพุทธเจ้า

 

พลางกราบทูลอย่างละล่ำละลักว่า

 

                “หม่อมฉันขอยกลูกชายถวายพระองค์  ขอพระองค์ได้โปรด

 

ช่วยชีวิตลูกชายหม่อมฉันด้วย”

 

                ยักษิณีตามหญิงสาวมาติดๆ  แต่เข้าไปในวัดไม่ได้  เพราะ

 

สุมนเทพที่สถิตอยู่ที่ซุ้มประตูวัดไม่ยอมให้เข้าไป  พระพุทธเจ้าทรง

 

เห็นเหตุการณ์จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปเรียกยักษิณีเข้ามา  สุมนเทพ

 

จึงยินยอม  เมื่อลูกสาวเศรษฐีเห็นยักษิณีปรากฏตัวขึ้นในวัดก็ร้อง

 

เสียงหลงอย่างคนเสียขวัญ  แต่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกยักษิณีเข้ามา

 

ใกล้ๆ  ก่อนเทศน์สอนให้ทั้งคู่เลิกจองเวรกัน

 

                “หากเธอทั้งสองไม่ได้มาอยู่ต่อหน้าตถาคต  เธอทั้งสองจะ

 

แก้แค้นกันไม่รู้จบ  การแก้แค้นเป็นการก่อเวร  เวรของพวกเธอจักอยู่

 

ชั่วกัปชั่วกัลป์  เพราะพวกเธอเอาแต่จองเวรกันไม่จบไม่สิ้น  เวรย่อม

 

ระงับได้ด้วยการไม่จองเวรนะ  แต่ไม่มีทางระงับได้ด้วยการจองเวรเลย”

 

                เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ  ลูกสาวเศรษฐีพิจารณาธรรมจน

 

กระจ่างแจ้งและสำเร็จเป็นพระโสดาบัน    ที่นั้นเอง  ส่วนยักษิณี

 

แม้ไม่สามารถบรรลุมรรคผลได้  แต่ผลจากการได้ฟังธรรมครั้งนี้

 

ทำให้นางยุติการอาฆาตจองเวร  ทั้งสองเลิกเป็นเจ้ากรรมนายเวร

 

ต่อกันและกัน  หันมาเป็นมิตรที่คอยเกื้อหนุนกัน  ลูกสาวเศรษฐีทำ

 

พลีกรรมอุทิศผลบุญให้ยักษิณีอย่างสม่ำเสมอ  ส่วนยักษิณีก็ตอบแทน

 

ด้วยการช่วยคุ้มครองและบอกเหตุร้ายเหตุดีที่จะเกิดให้ทราบล่วงหน้า

 

ผู้คนในละแวกนั้นพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย  จึงพากันมาทำ

 

พลีกรรมเซ่นสรวงให้ยักษิณีอยู่เนืองๆ  เมื่อจิตไม่มีความพยาบาท

 

มาทำให้ขุ่นมัว  ยักษิณีก็อนุโมทนาได้เต็มที่  ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้นาง

 

ได้มีภพภูมิที่สูงขึ้นในวันหนึ่งข้างหน้า

 

                แรงอาฆาตที่เริ่มต้นจากความริษยาในชาติหนึ่ง  ทำให้ทั้งสอง

 

จองเวรทำร้ายและทำลายกันมาหลายภพหลายชาติ  แต่เมื่อมีโอกาส

 

ได้สัมผัสพระธรรม  ได้ขัดเกลาจิตให้กิเลสเบาบาง  ทั้งสองก็สามารถ

 

หลุดพ้นจากวงจรเจ้ากรรมนายเวรได้ดังที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ทางสว่าง

 

 

เวรกรรมจากความรัก

 

                กรรมที่ทำให้คนเราผูกพันข้ามชาติภพไม่ได้เกิดจากความ

 

โกรธแค้นพยาบาทเพียงอย่างเดียว  ความรักก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผล

 

ให้คนที่เคยผูกสมัครรักใคร่ตามติดกันไปในสังสารวัฏ  จนได้เกิดมา

 

พบกันในลักษณะต่างๆ  และมีส่วนในชีวิตของกันและกันไม่ทางใด

 

ก็ทางหนึ่ง  ส่วนมากคือทำให้ชีวิตได้พบกับความทุกข์ทั้งทางใจและ

 

ทางกาย

 

 

ทุกข์จากรักต่างฐานะ

 

                ความรักของหญิงชายต่างฐานะกันบ่อยครั้งไม่ได้นำมาซึ่งความสุข

 

สมหวัง  หากแต่ชักนำให้ได้พบความทุกข์ในแสนสาหัส  ดังเรื่องราว

 

ชีวิตรักของ  ปฏาจารา  ลูกสาวของเศรษฐีเมืองสาวัตถี  ปฏาจารา

 

ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีอยู่ในปราสาทชั้นที่  7  เธอมีชีวิตสุขสบาย

 

แทบไม่เคยได้พบความลำบากทางกาย  แต่ใจนั้นอาจจะทุกข์อยู่บ้าง

 

เพราะการใช้ชีวิตราวนกน้อยในกรงทองทำให้ปฏาจาราไม่มีโอกาส

 

ได้พบปะชายหนุ่มที่มีฐานะทัดเทียมกัน  เธอคุ้นเคยอยู่แต่กับ

 

ชายคนรับใช้ที่บิดาจัดหาไว้ให้คอยดูแล  ความใกล้ชิดระหว่างนายจ้างสาว

 

กับชายคนรับใช้หนุ่มก่อตัวขึ้นเป็นความพอใจรักใคร่  ในที่สุด

 

ทั้งสองก็มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน  ฝ่ายชายออกปากชวนปฏาจารา

 

ให้หนีไปอยู่บ้านนอกด้วยกัน  ด้วยความรัก  ปฏาจาราจึงทิ้งชีวิต

 

ที่หรูหราสุขสบายราวเจ้าหญิงไว้ที่ปราสาท  แล้วหนีตามชายคนรักไป

 

โดยไม่รู้ว่าชีวิตข้างหน้าจะเป็นเช่นไร

 

                เมื่อหนีออกมาจากปราสาทที่สุขสบาย  ปฏาจาราและชายคนรัก

 

ต้องเลี้ยงชีวิตด้วยการทำงานหนัก  งานทำไร่ไถนาทำให้นางลำบาก

 

เลือดตาแทบกระเด็น  ตอนตั้งครรภ์ลูกชายคนแรก  นางชวนสามี

 

กลับไปหาบิดามารดาของนางที่เมืองสาวัตถีบ้านเกิด  สามียินยอม

 

ตามที่นางชวน  แต่มาคลอดลูกในระหว่างทาง  สามีจึงชวนนางกลับไป

 

ใช้ชีวิตทำไร่ไถนาอย่างเดิม  เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องไปพึ่ง

 

ครอบครัวของนาง  แต่ตอนที่ตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง  ปฏาจาราทนความ

 

อัตคัดไม่ไหว  จึงออกปากชวนสามีกลับไปอยู่กับบิดามารดาที่เมือง

 

สาวัตถีอีกครั้ง  ซึ่งสามีก็ไม่ขัดใจนาง  ทั้งๆ  ที่ไม่อยากไปเพราะกลัว

 

ความผิด

 

                แต่ขณะเดินทางปฏาจาราลำบากมากเพราะท้องแก่  และแม้จะ

 

ได้สามีช่วยกระเตงลูกชายคนโตซึ่งมีอายุแค่  1  ขวบไปด้วย  นางก็

 

ไม่พ้นผลกรรมหนัก  เนื่องจากสามีตายจากในคืนที่นางคลอดลูกชาย

 

คนที่สอง  รุ่งเช้านางจำใจทิ้งศพสามีไว้กลางป่าแล้วหอบลูกชายทั้งสอง

 

มุ่งหน้ากลับเมืองสาวัตถีบ้านเกิดอย่างทุลักทุเล  บาปกรรมของนาง

 

ยังให้ผลไม่สิ้นสุด  เพราะลูกชายทั้งสองก็มาตายลงระหว่างทางเช่นกัน

 

ตอนข้ามแม่น้ำลึกที่มีกระแสน้ำเชี่ยวกราก  ความสูญเสียซ้ำสองทำให้

 

ปฏาจาราร้องไห้แทบขาดใจ  แต่ก็ยังมีความหวังว่าเมื่อเดินทางไปถึง

 

เมืองสาวัตถียังจะได้พบหน้าคนที่รักคือบิดามารดาและพี่ชาย

 

นางเดินทางด้วยความหวังให้ครอบครัวเป็นที่พึ่งสุดท้าย  แต่ระหว่างทาง

 

ก็ได้ทราบข่าวร้ายว่าทุกคนในครอบครัวเสียชีวิตหมดแล้วด้วยอุบัติเหตุ

 

สาเหตุจากปราสาท  7  ชั้นของนางถูกพายุพัดกระหน่ำพังลงมาทับ

 

ทุกคนตายหมด

 

                เป็นอันว่าปฏาจาราตอนนี้  คนที่รักตายจากนางไปหมดในเวลา

 

ไล่เลี่ยกัน  แม้ไม่บอกว่านางจะเสียใจเพียงไหน  ผู้อ่านก็พอจะคะเน

 

ได้ว่านางเสียใจมากจนเสียสติ  กลายเป็นคนบ้าเดินแก้ผ้าเร่ร่อนไปทั่ว

 

เป็นที่น่าเวทนาแก่ผู้พบเห็น  แต่เดชะผลบุญยังตามมาค้ำจุนนางได้ทัน

 

ทำให้นางเดินโซซัดโซเซไปตามเส้นทางที่จะได้พบพระพุทธเจ้า

 

ในวัดเชตะวัน  ขณะนั้นพระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทอยู่

 

ปฏาจาราเดินโซซัดโซเซเข้าไปในที่ฟังธรรม  มีหลายคนพยายามเข้ามา

 

ขัดขวาง  แต่พระพุทธเจ้าตรัสห้ามและทรงอนุญาตให้นางมายืน

 

ตรงหน้าของพระองค์

 

                “เอาสติคืนมา”  พระพุทธเจ้าตรัสบอกนาง  หลังจากนางได้สติ

 

คืนมาแล้ว  จึงทรงแสดงธรรมโปรดให้เห็นว่าความตายไม่มีใครหรือ

 

อะไรมาต้านทานได้  คนเราตายได้ทุกวัย  นางได้พัฒนาจิตตนเอง

 

จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน    ที่ตรงนั้น  แล้วปฏาจาราก็ทูลขอ

 

บวชเป็นภิกษุณี  และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา

 

                เจ้ากรรมหรือนายเวรใดๆ  ที่เกิดจากความรักใคร่เสน่หาก็ถึงคราว

 

สิ้นสุดยุติลง  พร้อมกับการขาดสะบั้นของสายโซ่แห่งกิเลส

 

 

ผูกพันเท่ากับผูกกรรม

 

                ในบางครั้งความเป็นเจ้ากรรมนายเวรเกิดจากการผูกพันใกล้ชิด

 

กันมาในชาติหนึ่ง  แล้วความผูกสมัครรักใคร่ส่งผลให้มาข้องเกี่ยวกัน

 

ในอีกชาติหนึ่ง  แม้มีชาติกำเนิดต่างกัน  เช่น  ฝ่ายหนึ่งเป็น

 

ฝ่ายหนึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน  แต่จิตเกาะเกี่ยวกันจนกลายเป็นเจ้ากรรม

 

นายเวร  ดังเช่นกรณีต่อไปนี้

 

                ครอบครัวชาวนาครอบครัวหนึ่ง  สามีรักภรรยามาก  วันหนึ่ง

 

สามีล้มป่วยลง  ภรรยาก็เฝ้าดูแลสามีมิห่างด้วยความห่วงใย 

 

แต่อาการเจ็บป่วยของสามีไม่ทุเลาลงเลย  กลับทรุดหนักจนไร้หนทาง

 

เยียวยา  วันที่สามีจากไป  ภรรยาเสียใจด้วยความอาลัยรักแทบใจ

 

จะขาด  ผู้เป็นสามีเองก็ตายตาไม่หลับ  เพราะยังมีภรรยาให้ต้องห่วง

 

จิตขณะสุดท้ายของเขามัวแต่พะวงว่าภรรยาจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร

 

ใครจะดูแลให้นางกินอยู่อย่างมีความสุขเหมือนดังที่เขาเคยทำเมื่อครั้ง

 

ยังมีชีวิตอยู่  เมื่อจิตขณะสุดท้ายมีความห่วงหาอาวรณ์อยู่  จึงได้

 

เป็นกรรมก่อนตาย  (อาสันนกรรม)  ส่งผลให้สามีมาเกิดในท้องสุนัข

 

ที่เขาเองและภรรยาเลี้ยงเอาไว้ที่บ้าน

 

                ความผูกพันมีอานุภาพข้ามภพข้ามชาติ  ลูกสุนัขจึงรักนายหญิง

 

ของมันมาก  คอยติดตามไปทุกหนทุกแห่ง  ไม่ว่านางไปทำไร่ทำนา

 

หรือเข้าไปในหมู่บ้าน  ลูกสุนัขจะวิ่งตามไม่เคยห่าง  และเข้าไปเคล้า

 

คลอเคลียยามที่นางนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน  การณ์เป็นไปอย่างนี้

 

จนกระทั่งลูกสุนัขโต  และเป็นที่รู้กันไปทั่ว  ใครต่อใครจึงต่างล้อว่า

 

สุนัขนี้น่าจะเป็นสามีของนาง

 

                หญิงหม้ายคิดไม่ถึงว่าลูกสุนัขนี้จะเป็นสามีของนางไปได้

 

ในขณะเดียวกันก็คิดได้แต่เพียงว่าลูกสุนัขเป็นสาเหตุทำให้นางต้อง

 

อับอายขายหน้าคนไปทั่ว  จึงพยายามไล่มันออกไปห่างๆ  แต่ไม่ว่า

 

จะพยายามไล่อย่างไร  สุนัขก็ไม่ยอมออกห่างจากตัวนางเลย

 

หรือไปก็ชั่วเวลาที่ถูกไล่  แต่พอนางเผลอมันก็กลับมาหมอบใกล้ๆ  อีก

 

จนนางเริ่มอายชาวบ้าน  ความอายทำให้นางวางแผนฆ่าสุนัข...

 

นางล่อสุนัขไปยังท่าน้ำ  สุนัขก็ตามนางไปด้วยความดีใจ  จากนั้นนางก็จับ

 

มันถ่วงน้ำโดยเอาหม้อที่บรรจุทรายเต็มผูกคอแล้วผลักลงน้ำ  สุนัข

 

ตกใจตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจนสุดกำลัง  แต่ในที่สุดก็จมน้ำตาย

 

กลายเป็นฆาตกรรมรักที่เป็นเวรกรรมผูกพันกันต่อไปในสังสารวัฏ

 

                ต้นตอที่ทำให้ทั้งสองต้องมาพบกันและมีจุดจบที่สะเทือนใจก็คือ

 

“ความรักแบบข้ามภพข้ามชาติ”  ที่ปล่อยวางไม่ได้นั่นเอง

 

                เรื่องราวจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่เล่ามาสะท้อนให้เห็นว่า

 

“เจ้ากรรมนายเวร”  ที่เกิดจากกรรมของคนเรานั้นแสดงตัวออกมา

 

ในหลายรูปแบบดังที่ได้กล่าวมา  จริงอยู่  เราไม่อาจเห็นได้ด้วยตาว่า

 

สรรพชีวิตในชาติหนึ่งเมื่อสิ้นอายุขัยแล้วไปเกิดเป็นอะไรบ้างในชาติ

 

ต่อไป  บ้างอาจเกิดเป็นโอปปาติกะ  บ้างอาจเกิดเป็นสัตว์เล็ก  สัตว์ใหญ่

 

หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก  บ้างอาจเกิดเป็นญาติ  เป็นมิตร

 

หรือเป็นศัตรูกัน  แต่ทั้งหมดนั้นเป็นไปในอำนาจกฎแห่งกรรม

 

ซึ่งเป็นคำสอนสำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ให้เราได้ตระหนัก

 

เพราะกรรมคือสิ่งที่คนเราทำและให้ผลเป็นสมบัติติดตัวตามไปจนกว่า

 

จะตัดสังสารวัฏ  คือวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้จบสิ้น

 

 

คนที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรกัน

 

แม้เป็นพ่อลูกกัน  แต่ยังไม่วาย

 

มุ่งทำร้ายให้โทษแก่กัน

 

 

                *  1  กหาปณะ  มีค่าเท่ากับทองคำหนัก  4  บาท

 

 

จากหนังสือ “เปลี่ยนเจ้ากรรมนายเวรให้เป็นมิตร”

 

ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ

 

สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ พิมพ์ครั้งที่ 1

 

 




Create Date : 25 มกราคม 2560
Last Update : 25 มกราคม 2560 17:26:36 น. 0 comments
Counter : 919 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นาคสีส้ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




วัตถุประสงค์ของ blog นี้ :

เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบได้หนังสือธรรมะมาจาก
ที่ต่างๆ และมักชอบซื้อมาอ่านเป็นประจำเสมอ
เลยทำให้หนังสือกองเต็มบ้านมากมาย
เวลาจะนำไปบริจาค ก็มักจะเสียดาย เพราะ
บางครั้ง บางที ก็หยิบเล่มเก่าๆมาอ่านอีกรอบ
เวลาใครมาขอรับบริจาคอะไรต่างๆ
มักจะหวงไว้ ไม่ค่อยส่งต่อหนังสือให้ใคร

จนมาคิดว่า ไม่ควรจะหวงไว้
เพราะเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์
นำมาปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ

เลยจัดทำ blog นี้ขึ้นมาค่ะ
ไว้เก็บรวบรวมเนื้อหาที่ได้อ่านแล้ว
มาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนหนังสือก็จะนำไปบริจาค
ให้คนอื่น ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

สำหรับเล่มไหนที่เพื่อนๆคิดว่าสนุก
ก็สามารถแนะนำได้นะคะ ^__^
Friends' blogs
[Add นาคสีส้ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.