ที่ใดมีธรรมะ...ที่นั่นจะพบกับทางออกของชีวิต ^_^
Group Blog
 
 
มกราคม 2560
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 มกราคม 2560
 
All Blogs
 
4. เจ้ากรรมนายเวรที่เป็นโอปปาติกะ



 

การเป็นเจ้ากรรมนายเวรกัน  ย่อมหนีไม่พ้นเหตุและผล

 

ตามหลักกฎแห่งกรรม  ไม่เพียงแต่กรรมในชาติปัจจุบันเท่านั้น 
หาก
ยังรวมถึงกรรมที่สืบต่อเป็นสายยาวข้ามภพข้ามชาติ  เช่น 

ความโกรธแค้นฝังใจจนกลายเป็นการผูกอาฆาตจองเวร*

 

                น่าแปลกใจไหม  หากเราจะเริ่มศึกษาเรื่องเจ้ากรรมนายเวรด้วย

 

เรื่องราวของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรม

 

ไม่น่าเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเองก็ทรงมีเจ้ากรรมนายเวรในรูปโอปปาติกะ

 

ซึ่งอยู่ต่างมิติกับมนุษย์  คือ  มาร  ที่มาคอยขัดขวางการสร้าง

 

พระบารมี

 

พญามารผจญ

 

                ตอนศึกษาพุทธประวัติ  เราจะได้ยินเรื่องพระพุทธเจ้าผจญมาร

 

ตั้งแต่วันที่เสด็จออกบวชเรื่อยไปจนถึงวันตรัสรู้  แม้ตรัสรู้ธรรม

 

อันประเสริฐแล้ว  มารยังติดตามขัดขวางพระองค์จนกระทั่งเสด็จ

 

ดับขันธปรินิพพาน  ในพระไตรปิฎาเรียกมารตนนี้ว่า  “มารผู้มีบาป”

 

(มาโร  ปาปิมา)  ส่วนในวรรณคดีไทยมักเรียกว่า  “พญาปรนิมมิต-

 

วสวัตดีมาร”  หรือ  “พญาวสวัตดีมาร”  ส่วนคนทั่วไปนิยมเรียกว่า

 

“พญามาร”

 

                พญามารตนนี้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี  ชั้นสูงสุด

 

ของสวรรค์ชั้นฉกามาพจร**  ที่มีทั้งหมด  6  ชั้นด้วยกัน  เทวดาในสวรรค์

 

ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอายุยืนยาวกว่าภพภูมิอื่นๆ  เพราะเหตุที่ตรวจดูแล้ว

 

เห็นว่าสรรพสัตว์ในภพภูมิที่ต่ำกว่าต่างมีอายุสั้นกว่าตน  พญามาร

 

จึงเข้าใจผิดว่าตนเองมีชีวิตที่เที่ยงแท้ยั่งยืนยิ่งใหญ่กว่าสรรพสัตว์

 

ทั้งปวง  นอกจากนี้สวรรค์ที่พญามารอาศัยอยู่ยังมีความวิจิตรงดงาม

 

กว่าสวรรค์ชั้นรองลงมา  ด้านฤทธานุภาพก็มีมาก  อยากได้สิ่งใด

 

ไม่ต้องเนรมิตเองก็ได้  เพราะจะมีเทวดาชั้นรองลงมาเนรมิตทุกอย่าง

 

ให้ได้ตามความปรารถนา  จึงทำให้เกิดมิจฉาทิฐิ  สำคัญตนผิดว่า

 

ตนเองคือผู้เป็นใหญ่กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งปวง

 

                ด้วยความที่มีมานะถือตัวว่าตนเองมีอำนาจเหนือเทวดา  มนุษย์

 

และสัตว์ทั้งหลายในฉกามาพจรภูมิด้วยกัน  เมื่อมีผู้ใดทำความดี

 

ได้ยิ่งใหญ่กว่า  พญามารจึงเกิดความริษยาและหาทางขัดขวางอย่าง

 

สุดกำลัง  เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยเสด็จออกบวช  พญามาร

 

เดือดร้อนใจจนต้องมาพูดจาหว่านล้อมให้เจ้าชายสิทธัตถะยินดี

 

ในการครองราชย์ครองเรือนต่อไป  เพราะเกรงว่าหากพระองค์ตรัสรู้

 

ก็จะหลุดพ้นไปจากอำนาจของตน

 

                “เจ้าชาย  พระองค์จะทรงออกบวชเพื่อสิ่งใด  พระองค์จะทรง

 

ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอีกไม่เกิน  7  วันนี้แล้ว”

 

                นี่คือคำที่พญามารกราบทูลขัดขวางไม่ให้พระองค์ออกบวช  แต่

 

คำพูดขัดขวางดังกล่าวก็ไม่เป็นผล  เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสวงหาความ

 

หลุดพ้นจนตรัสรู้ตามที่พระองค์ทรงตั้งความปรารถนาไว้  ครั้นตรัสรู้

 

แล้วพญามารเกรงว่าหากปล่อยให้พระองค์เผยแผ่คำสอน  มนุษย์และ

 

เทวดาจะได้บรรลุมรรคผลจนพ้นไปจากความยิ่งใหญ่ของตน  จึงมาขอ

 

ให้พระองค์รีบด่วนเสด็จดับขันธปรินิพพานหลังจากที่ตรัสรู้ได้ไม่นาน

 

                พระพุทธเจ้าทรงตอบปฏิเสธพญามารว่า  พระองค์จักยังไม่

 

นิพพานจนกว่าในศาสนาของพระองค์จะมีพุทธบริษัทครบ  4  กลุ่ม

 

คือ  กลุ่มนักบวช  2  กลุ่ม  ได้แก่  ภิกษุและภิกษุณี  กลุ่มคฤหัสถ์

 

2  กลุ่ม  คือ  อุบาสกและอุบาสิกา  ทั้งนี้เพื่อให้พุทธบริษัททั้ง  4

 

ช่วยเผยแพร่และคุ้มครองศาสนาของพระองค์ให้ยั่งยืนสืบไป

 

                หลายคนอาจสงสัยว่า  พญามารตามรังควานขัดขวางพระพุทธเจ้า

 

ถึงเพียงนั้น  ไฉนจึงไม่ได้รับผลกรรมสักที  คำตอบที่พอมองเห็น

 

คือ  การตามรังควานของมารไม่สำเร็จเสร็จสิ้น  เป็นการเบียดเบียน

 

ทางมโนกรรมและวจีกรรม  แต่ไม่ได้ทำการขัดขวางทางกายให้

 

พระพุทธเจ้าทรงต้องลำบากหรือบาดเจ็บ  นอกจากนี้การได้มาเกิดใน

 

สวรรค์ชั้นสูงย่อมบ่งบอกได้ว่า  พญามารยังคงได้เสวยผลของกรรมดี

 

กรรมไม่ดีที่ขัดขวางพระพุทธเจ้าจึงยังไม่ให้ผล

 

                แม้ไม่ปรากฏว่าพญามารตามจองเวรพระพุทธเจ้ามาแต่ชาติใด

 

แต่กระนั้น  เรื่องราวของพญาปรนิมมิตวสวัตดีมารก็สะท้อนให้เห็นว่า

 

แม้พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์มาหลายภพ

 

หลายชาติ  แต่ยังทรงถูกพญามารตามรังควาน  แรงผลักดันแม้

 

ไม่รุนแรงเหมือนความอาฆาตพยาบาท  แต่ความริษยาของพญามาร

 

นับเป็นกิเลสสายโทสะ  (ความไม่พอใจ)  ที่เกี่ยวพันกับกิเลสสายโลภะ

 

(ความอยากได้ใคร่ดี)  ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว  ย่อมกัดกร่อนจิตใจของ

 

มนุษย์และเทวดาให้หลงผิดได้ไม่ต่างกัน

 

มารพิเรนทร์

 

เจ้ากรรมนายเวรของพระโมคคัลลานะ

 

                พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายที่ช่วยพระพุทธเจ้า

 

เผยแผ่ศาสนาเคียงคู่กับพระสารีบุตรผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวา  แม้

 

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะว่าเป็นเลิศด้านมีฤทธิ์มาก

 

แต่กระนั้นมิได้หมายความว่า  ท่านจะรอดพ้นจากการรังควานของ

 

เจ้ากรรมนายเวร

 

                คราวหนึ่ง  พระโมคคัลลานะเดินทางไปประกาศพระธรรมทาง

 

ภาคตะวันตกของชมพูทวีป  และถือโอกาสจำพรรษาอยู่ที่ป่าเภสกฬา-

 

มิคทายวัน***  ใกล้ภูเขาสุงสุมารคิระ  แคว้นภัคคะ  ซึ่งอยู่ในปกครอง

 

ของแคว้นวังสะ  ขณะที่พระโมคคัลลานะเดินจงกรมอยู่กลางแจ้ง

 

มารตนหนึ่งได้เนรมิตกายแอบหายตัวเข้าไปในช่องท้องของท่าน

 

พระโมคคัลลานะรู้สึกถึงความผิดปกติจึงเข้าไปนั่งพักในวิหาร  เมื่อ

 

ตั้งสติกำหนดรู้ก็เห็นว่ามารได้แทรกตัวอยู่ในช่องท้อง  อันเป็นเหตุ

 

ให้ท่านรู้สึกหนักท้องผิดปกติ  ท่านจึงกล่าวเตือนมารอย่างมีเมตตาว่า

 

                “อย่าเบียดเบียนพระตถาคตและพระสาวกของพระตถาคตเลย

 

เพราะจะทำให้ได้รับความเสื่อมความทุกข์สิ้นกาลนาน”

 

                แม้ได้รับคำเตือนอย่างมีเมตตาเช่นนั้น  แต่มารมิได้สำเหนียก

 

เลยว่าการกระทำของตนเป็นบาปเพียงใด  ยังคงสำคัญผิดว่าการกระทำ

 

ของตนจะรอดพ้นจากสายตาของพระสาวกไปได้  พระโมคคัลลานะ

 

ทราบความคิดของมารจึงสำทับซ้ำไปอีกครั้งให้มารเลิกการกระทำนี้เสีย

 

คราวนี้มารรู้ตัวว่าพระเถระรู้เห็นการกระทำอันแสนพิเรนท์ของตน

 

อยู่ตลอด  จึงยุติการกระทำนั้นแล้วรีบออกมาจากช่องท้องของ

 

พระเถระ  พระโมคคัลลานะเห็นมารออกมาปรากฏกายยืนอยู่จึงเล่า

 

เรื่องราวในอดีตชาติของท่าน  เพื่อให้มารได้สติและไม่ทำบาปด้วย

 

ความคึกคะนองเช่นนี้อีก

 

                “เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ากกุสันธะ****  เสด็จอุบัติขึ้นในโลก  อาตมา

 

เกิดเป็นมารชื่อ  ทูสิ  มีน้องสาวชื่อ  กาฬี  ตัวเธอเองเป็นลูกของกาฬี

 

น้องสาวของอาตมา  ดังนั้นจึงเป็นหลานของอาตมา”

 

                พระโมคคัลลานะเริ่มเล่าเกี่ยวกับภูมิหลังอดีตชาติระหว่างท่าน

 

กับมารแล้วขยายความว่า...พระพุทธเจ้ากกุสันธะทรงมีพระอัครสาวก

 

2  รูป  คือ  พระวิธุระ  กับ  พระสัญชีวะ  พระวิธุระเป็นเลิศด้าน

 

แสดงธรรม  ส่วนพระสัญชีวะเป็นเลิศด้านเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ*****

 

ซึ่งหมายถึงการเข้าสมาธิดับความรู้สึก

 

                พระสัญชีวะเจริญสมาธิอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าอยู่ที่ไหน 

 

คนทั้งหลายจึงเห็นท่านเข้านิโรธสมาบัติตามป่าบ้าง  ตามโคนต้นไม้บ้าง

 

ตามเรือนว่างบ้าง  คราวหนึ่งท่านเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่ที่

 

โคนไม้ต้นหนึ่ง  เวลานั้นผู้คนที่ผ่านไปมามีทั้งคนเลี้ยงโค  ชาวนา

 

และคนเดินทาง  เมื่อทุกคนเห็นท่านนั่งแน่นิ่ง  จึงต่างเข้าใจผิดว่า

 

พระสัญชีวะนั่งมรณภาพเป็นแน่  จึงชวนกันมาเผาศพท่าน  ต่างช่วยกัน

 

หาหญ้าแห้ง  เศษไม้  และขี้วัว  มาเป็นเชื้อเพลิงสุมตัวท่านจนท่วม

 

แล้วจุดไฟเผา  จากนั้นต่างคนต่างแยกย้ายกันไป  เพราะเข้าใจว่า

 

ในไม่ช้าร่างของท่านจะมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านไปเอง

 

                แต่ด้วยอานุภาพของสมาบัติ  เปลวไฟที่พวกเขาก่อขึ้นจึงไม่

 

ระคายผิวหนังของพระสัญชีวะแม้แต่น้อย  หลังจากนั้นเมื่อออกจาก

 

สมาบัติ  ท่านก็ลุกขึ้นสะบัดสบงจีวรเดินเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

 

ตามปกติ  ผู้คนที่ช่วยกันเผาท่านเห็นแล้วต่างประหลาดใจและเกิด

 

ความเลื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง

 

                “อัศจรรย์จริง  พระสมณะรูปนี้นั่งมรณภาพอยู่โทนโท่  แต่บัดนี้

 

กลับฟื้นคืนชีพมาเดินบิณฑบาต”

 

                ครั้งนั้น  ทูสิมารเห็นพระสัญชีวะแล้วไม่ชอบใจ  จึงดลใจให้

 

ชาวบ้านเกิดความเข้าใจผิดจนถึงขั้นรุมด่ารุมสาปแช่งท่านว่า

 

                “สมณะหัวโล้นพวกนี้  ที่แท้คือคนครองเรือน  เป็นคนชั้นต่ำ

 

เกิดจากพระบาทของพรหม  ขี้เกียจ  นั่งก้มหน้าคอตก  เอาแต่คิดอยู่

 

แต่ว่า  เราเข้าฌาน  เราเข้าฌาน  ทำตัวเป็นนกฮูกคอยจ้องจับหนู

 

อยู่ตามกิ่งไม้...ทำตัวเป็นเหยี่ยวจ้องจับปลาอยู่ตามริมฝั่งน้ำ...ทำตัว

 

เป็นแมวจ้องจับหนูอยู่ตามที่ต่อของเรือน  ตามท่ออุจจาระ  และ

 

ตามกองขยะ...และทำตัวเป็นลาแก่จ้องหากินอยู่ตามที่ต่อของเรือน

 

ตามท่ออุจจาระ  และตามกองขยะ”

 

                ชาวบ้านผู้หลงทำตามที่ถูกมารดลใจนั้น  เดิมทีอาจมีความ

 

หมกมุ่นอยู่กับพฤติกรรมเลวร้ายหรือเกลียดพระสาวกอยู่ก่อนแล้ว

 

แม้มารเลิกดลใจแล้วก็ยังไม่เลิกละพฤติกรรมดังกล่าว  เมื่อตายแล้ว

 

ก็ตกอบายภูมิ  ได้รับผลจากอกุศลกรรมที่ตนทำโดยถ้วนหน้า

 

                พระพุทธเจ้ากกุสันธะทรงเห็นพระสาวกลำบากเพราะถูกมาร

 

เบียดเบียน  จึงตรัสสอนว่า

 

                “ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด  ตามป่า  โคนต้นไม้  หรือเรือนว่าง  ขอให้ทำ

 

พรหมวิหาร  4  ให้เกิดให้ได้แบบไม่เจาะจงใคร  คือทำเมตตาจิต

 

ให้เกิดจนมีกำลังมาก  ไม่มีเวร  ไม่พยาบาท  แล้วแผ่ไปยังทุกแห่ง

 

โดยเริ่มจากทิศที่ทั้งสี่  ทิศเบื้องบน  ทิศเบื้องล่าง  ทิศเบื้องขวาง

 

โลกทั้งหมด  ทำกรุณาจิตให้เกิด  ทำมุทิตาจิตให้เกิด  ทำอุเบกขาจิต

 

ให้เกิด”

 

                พระสาวกปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนได้สำเร็จ  ทำให้

 

ผู้คนและเทวดาในทุกทิศเกิดเมตตาจิตรักเคารพในท่าน  ฝ่ายทูสิมาร

 

เห็นพระพุทธเจ้าทรงแก้ทางให้พระสาวกอย่างนั้น  จึงเปลี่ยนความคิดใหม่

 

หวังทำลายอีกรูปแบบหนึ่ง  คือทำให้พระสาวกขาดสติ  เกิดหลงใหล

 

ในลาภสักการะ  มารจึงหันมาดลใจคนทั้งหลายให้เกิดศรัทธา

 

แล้วพากันสักการะถวายสิ่งของแด่พระสาวกของพระพุทธเจ้า

 

                พระพุทธเจ้ากกุสันธะทรงเห็นพระสาวกถูกทำให้หลงใหลใน

 

ลาภสักการะ  จึงทรงใช้ลาภสักการะนั้นเองเป็นอุบายสอนธรรม

 

ทรงแนะนำให้พระสาวกเจริญวิปัสสนาด้วยการดูร่างกายของตัวเองและ

 

คนอื่นให้เห็นเป็นของไม่งาม  ดูความน่าเกลียดที่ซ่อนอยู่ในอาหาร

 

เช่น  เหงื่อไคลจากมือของคนทำ  ดูโลกทั้งหมดไม่ว่าคน  สัตว์  หรือ

 

สรรพสิ่งให้เห็นเป็นไม่น่ายินดี  และดูความเกิดดับที่มีอยู่ในสังขาร

 

(สิ่งปรุงแต่ง)  ทั้งปวง  จนเกิดวิปัสสนาญาณปล่อยวางตามลำดับจนถึง

 

ขั้นปล่อยวางสังขาร  คือนามธรรมที่ละเอียด  ที่ปรุงแต่งจิตของตนเอง

 

ทำให้รอดพ้นจากการรังควานของทูสิมาร

 

                เมื่อทำลายพระสาวกไม่สำเร็จ  ทูสิมารจึงคิดผูกพยาบาทไว้ใน

 

ส่วนลึก  ครั้นรุ่นเช้า  พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

 

มีพระวิธุระเป็นผู้ติดตาม  ทูสิมารผู้มีความแค้นสุมอกจึงดลใจให้

 

เด็กชายคนหนึ่งหยิบก้อนหินขว้างศีรษะของพระวิธุระเข้าอย่างจัง

 

แต่พระวิธุระยังคงเดินตามเสด็จทั้งที่ศีรษะแตกเลือดไหลอาบ

 

พระพุทธเจ้าทรงเหลียวกลับมาดู  เห็นพระวิธุระมีสภาพอย่างนั้น

 

ทรงทราบดีว่าเป็นการทำของทูสิมาร  จึงตรัสเชิงตำหนิว่า  “ทูสิมารนี้

 

ช่างไม่รู้จักประมาณ  ทำเกินไปแล้ว”

 

                ทันทีที่พระพุทธเจ้าทรงเหลียวกลับมาดู  ทูสิมารก็จุติ  (ตาย)

 

ในนาทีนั้นแล้วไปเกิดยังมหานรก  ในสภาพมีตัวเป็นคน  มีหัวเป็นปลา

 

เพื่อให้ถูกทุบถูกแทงเป็นการชดใช้กรรม  เร่าร้อนทุกข์ทรมานอยู่

 

หลายร้อยหลายพันปี  มหานรกนั้นประกอบด้วย

 

                1.  ฉผัสสายตนิกนรก******  คือนรกที่รับทุกขเวทนาทางอายตนะ

 

ทั้ง  6  คือ  ทางตา  จากการได้เห็นรูปที่ไม่งาม  ทางหู  จากการได้ยิน

 

เสียงไม่ไพเราะ  ทางจมูก  จากการได้กลิ่นเหม็น  ทางลิ้น  จากการ

 

ได้ลิ้มรสอาหารที่เผ็ดร้อน  ทางกาย  จากการได้จับต้องสิ่งที่ไม่น่า

 

สัมผัส  และทางใจ  จากการนึกคิดถึงแต่เรื่องที่ทำให้เร่าร้อน

 

                2.  สังกุสมาหตนรก*******  คือนรกที่มีหลาวกระทบกันอยู่ตลอด

 

เวลาและ

 

                3.  ปัจจัตตเวทนียนรก********  คือนรกที่ได้รับรูปผลกรรมเฉพาะตัว

 

ในนรกนั้นมีนายนิรยบาลเฝ้าดูแลอย่างเคร่งครัด

 

                สัตว์ที่เกิดในนรกนั้นมีร่างกายใหญ่  3  คาวุต+  ทันทีที่ทูสิมาร

 

ไปเกิดในมหานรก  ฝูงนายนิรยบาลก็ถือหลาวเหล็กไฟลุกโชนขนาด

 

เท่าลำตาลแกว่งฉวัดเฉวียนเข้าหาพลางบอกว่า

 

                “คราวใดที่หลาวเหล็กกับหลาวเหล็กมาชนกันที่หัวใจ  คราวนั้น

 

ก็ให้รู้ไว้ด้วยว่า  เจ้าไหมอยู่ในนรกนี้ได้  1,000  ปีแล้ว”

 

                ขาดคำนายนิรยบาลก็เอาหลาวเหล็กที่ควงมาตอกลงกลางหัวใจ

 

ของทูสิมาร  ขณะที่นายนิรยบาลอีก  50  คนตอกหลาวเข้าที่เท้าทะลุ

 

ขึ้นไปถึงศีรษะ  และอีก  50  คนตอกหลาวลงที่ศีรษะทะลุลงมาถึงเท้า

 

เวลาผ่านไป  500  ปี  นายนิรยบาลทั้งหมดจึงตอกหลาวเหล็กลงไป

 

ได้สุดอย่างที่หวัง  จากนั้นหลาวเหล็กที่ตอกลงไปก็หมุนกลับคืนมา

 

ต้องใช้เวลาอีก  500  ปี  จึงจะตอกถึงกลางหัวใจ++

 

                การกระทำที่ทูสิมารดลใจให้เด็กชายขว้างก้อนหินถูกศีรษะ

 

พระอัครสาวก  นับเป็นอกุศลกรรมหนัก  เพราะเป็นการทำร้าย

 

พระอรหันต์  แม้ไม่ถึงแก่มรณภาพ  แต่ก็ทำให้ท่านเลือดตกยางออก

 

บาปกรรมส่งผลให้ทูสิมารตายแล้วตกมหานรกในทันที  ต้องรับ

 

ผลกรรมทุกข์ทรมานอยู่หลายร้อยหลายพันปีอย่างที่กล่าวมาแล้ว

 

เมื่อชดใช้กรรมจนพ้นจากมหานรกแล้ว  กุศลกรรมที่สั่งสมไว้ในชาติภพ

 

ก่อนๆ  ก็ส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์  จึงมีโอกาสได้สร้างกุศลกรรมอย่าง

 

ต่อเนื่อง  เมื่อถึงพุทธุปบาทกาล+++  ของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน

 

ทูสิมารในอดีตจึงได้มาเกิดในตระกูลพราหมณ์  ได้ออกบวชเป็น

 

พระสาวกและสำเร็จเป็นพระอรหันต์  ซึ่งก็คือพระโมคคัลลานะ

 

แต่อาจเพราะเศษกรรมในอดีตยังหลงเหลือ  จึงทำให้มารที่เป็นหลาน

 

ของท่านในอดีตชาติหาโอกาสทำร้ายท่านในชาตินี้ได้

 

                สาเหตุที่มารตนหนึ่งจองเวรพระโมคคัลลานะในชาตินี้

 

อาจเป็นเพราะตัวท่านเองก็เคยจองเวรผู้อื่นในชาติอื่นมาก่อน  ตอกย้ำให้

 

เห็นว่า  แม้เวลาผ่านไปกี่กัปกี่กัลป์  แต่ผลของกรรมที่ยังไม่ให้ผล

 

ไม่เคยสูญหายไปไหน

 

จิตริษยาของเทวดาหลงผิด

 

                ในศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ  ซึ่งอุบัติก่อนหน้าศาสนา

 

ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  มีพระสาวก  2  รูป  อยู่จำพรรษาด้วยกัน

 

รูปหนึ่งเป็นมหาเถระ  (พระผู้ใหญ่ที่บวชตั้งแต่  20  พรรษาขึ้นไป)

 

และอีกรูปหนึ่งเป็นพระอนุเถระ  (พระผู้น้อย  บวชได้  10  พรรษา

 

แต่ไม่ถึง  20  พรรษา)  ทั้งสองรูปต่างคุ้นเคยสนิทสนมเอื้ออาทร

 

เหมือนพี่น้องท้องเดียวกัน  แต่เมื่อเทวดาองค์หนึ่งรู้เห็นวัตรปฏิบัติ

 

ของท่านกลับเกิดจิตริษยา  จึงหาโอกาสทำให้ท่านทั้งสองแตกกัน

 

                เจตนาร้ายของเทวดาสำเร็จลงในวันอุโบสถหรือวันพระใหญ่

 

ขณะที่พระมหาเถระและพระอนุเถระกำลังเดินทางไปยังวัดแห่งหนึ่ง

 

เพื่อฟังการสวดพระปาติโมกข์  ซึ่งเป็นสังฆกรรมที่พระพุทธเจ้าทรง

 

บัญญัติไว้ให้พระสาวกทำร่วมกัน  ระหว่างทางพระอนุเถระเกิดปวด

 

ปัสสาวะ  ท่านจึงบอกพระมหาเถระให้คอยอยู่ข้างทางก่อน  ส่วนตัว

 

ท่านเองหลบเข้าไปถ่ายปัสสาวะริมพุ่มไม้

 

                เทวดาเจ้าริษยาติดตามพระเถระทั้งสองรูปมาตลอดทาง

 

เมื่อเห็นโอกาสที่จะทำลายความสามัคคีได้  จึงเนรมิตกายทิพย์ให้เป็น

 

กายหยาบ  แล้วแปลงกายเป็นหญิงสาวเดินตามหลังพระอนุเถระ

 

ออกมาจากริมพุ่มไม้ที่ท่านเข้าไปถ่ายปัสสาวะ  พร้อมทั้งแสดงกิริยา

 

อาการจัดมวยผมและจัดผ้านุ่ง  ส่อไปในทางที่ทำให้พระมหาเถระ

 

ที่คอยอยู่เข้าใจผิดว่าพระอนุเถระกับเธอได้ทำสิ่งบัดสีด้วยกัน  จากนั้น

 

เทวดาจอมริษยาก็หายวับไป  ปล่อยให้พระเถระทั้งสองมีเรื่องขัดใจกัน

 

อย่างรุนแรง

 

                “ท่านศีลขาดแล้ว...”

 

                สิ้นเสียงต่อว่าของพระมหาเถระ  พระอนุเถระก็รู้สึกเหมือนถูก

 

สายฟ้าฟาด  จึงย้อนถามอย่างมึนงงว่า

 

                “ทำไมหลวงพี่พูดอย่างนั้นเล่าครับ”

 

                “ก็เห็นทนโท่ว่ามีหญิงสาวเดินตามท่านออกมาจากพุ่มไม้

 

แถมยังจัดผ้าจัดผมยุ่งเหยิงไปหมด”  พระมหาเถระยังคงเสียงแข็ง

 

                แม้พระอนุเถระจะพยายามพูดชี้แจงอย่างไร  แต่พระมหาเถระ

 

ก็ไม่ยอมเข้าใจ  และสุดท้ายก็ปฏิเสธไม่ขอร่วมสังฆกรรมด้วย  ในที่สุด

 

มิตรภาพอันยาวนานก็ขาดสะบั้นลง

 

                แม้จะสมความปรารถนาในแผนการอันเป็นบาป  แต่เทวดา

 

กลับไม่มีความสุขที่แท้จริง  เพราะบาปหนักที่ต้องใช้ความพยายาม

 

อย่างมากในการทำร้ายผู้มีศีลให้แตกสามัคคีกัน  แม้เวลาจะล่วงเลย

 

มานาน  แต่ความสำนึกผิดก็คอยตามหลอกหลอนอยู่ตลอดเวลา

 

ในที่สุดเมื่ออดรนทนไม่ไหว  เทวดาจึงปรากฏตัวเพื่อเล่าความจริง

 

ให้พระมหาเถระทราบ  แม้พระเถระทั้งสองจะยอมร่วมทำอุโบสถร่วมกัน

 

อีกครั้ง  แต่กระนั้นท่านทั้งสองก็มิได้มีไมตรีจิตต่อกันเหมือนเช่นเคย

 

ต่อมาพระเถระทั้งสองรูปมรณภาพแล้วต่างก็ไปเกิดในสวรรค์

 

ส่วนเทวดาผู้กิเลสหนาจุติแล้วไปเกิดในอเวจีนรกจนสิ้นพุทธันดร++++

 

หนึ่งเมื่อพ้นจากนรกแล้วจึงมาเกิดเป็นชาวเมืองสาวัตถี  ครั้นโตเป็นหนุ่ม

 

ก็ออกบวชเป็นภิกษุ  เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

 

                ทว่าผลกรรมที่เหลือยังคงตามมาส่งผล  ตั้งแต่วันที่บวชท่านมี

 

รูปหญิงปรากฏตามหลังจนเป็นที่ครหาไปทั่ว  เป็นเหตุให้ท่านถูก

 

เรียกขานว่า  “โกณฑธานะ”  แปลว่า  ผู้มีสิ่งชั่วช้าติดตาม  ภิกษุ

 

รูปอื่นๆ  ทนไม่ไหว  จึงพากันไปร้องเรียนอนาถบิณฑิกเศรษฐีและ

 

นางวิสาขา  ขอให้ช่วยขับไล่ท่านโกณฑธานะออกจากวัดเชตะวัน

 

โดยอ้างว่าท่านทำให้พระรูปอื่นเสื่อมเสียไปด้วย  อนาถบิณฑิกเศรษฐี

 

และนางวิสาขาไม่รับข้อร้องเรียน  เหล่าภิกษุจึงไปกราบทูลพระเจ้า

 

ปเสนทิโกศลให้ทรงช่วยจัดการ

 

                พระราชารับข้อร้องเรียนแล้วเสด็จมาหมายจัดการตรวจสอบ

 

ข้อเท็จจริง  ทว่าพระราชาก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้  เพราะเวลาอยู่

 

ห่างจากพระโกณฑธานะจะเห็นว่ามีรูปหญิงอยู่ข้างหลังของท่านก็จริง

 

แต่เมื่อเสด็จเข้าไปใกล้  รูปหญิงสาวที่เห็นก็หายไป  พระองค์ทรง

 

พิจารณาว่าน่าจะไม่ใช่รูปจริง  แต่อาจจะเกิดจากเวรกรรมบางอย่าง

 

ของท่าน  ก็ทรงเห็นใจพระโฏณฑธานะมาก  เพราะต้องอยู่ท่ามกลาง

 

แรงบีบคั้นต่างๆ  เช่น  การรังเกียจของเพื่อนพระด้วยกันและการพูด

 

เหน็บแนมจากผู้ใส่บาตร  จึงทรงรับเป็นโยมอุปัฏฐาก  นิมนต์ท่าน

 

เข้าไปบิณฑบาตในวัง

 

                เมื่อไม่ลำบากเกี่ยวกับความเป็นอยู่  พระโกณฑธานะก็ตั้งใจ

 

ปฏิบัติกัมมัฏฐานจนบรรลุธรรม  ทันทีที่ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์

 

ภาพหญิงที่ตามหลังท่านอันเกิดจากเศษของกรรมเก่าที่ทำไว้แต่ครั้ง

 

เกิดเป็นเทวดาก็พลันหายไป”+++++

 

                แม้เวลาผ่านไปหลายภพชาติ  แต่เศษกรรมที่เทวดาริษยาเคย

 

ขัดขวางความสามัคคีของพระเถระทั้งสองรูปไม่ตกหล่นหายไป

 

ขนาดว่าท่านตกนรกแล้ว  แต่ผลกรรมที่เหลืออยู่ก็ยังคงตามคิดให้ผลเป็น

 

“เจ้ากรรมนายเวร”  ในรูปแบบหนึ่ง  แม้ในชาตินี้ได้มาบวชเป็นพระ

 

เศษกรรมก็ยังตามให้ผล  ต่อเมื่อได้ชดใช้กรรมจนอ่อนกำลังแล้ว

 

ก็เปิดทางให้กรรมดีให้ผล  ขัดเกลากิเลสจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์

 

และวันที่สำเร็จนั้นเองคือวันที่หมดเศษกรรม

 

รุกขเทวดากับภิกษุ  500  รูป

 

                เมื่อครั้งพุทธกาล  ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี

 

มีภิกษุ  500  รูปเข้าไปทูลขอกัมมัฏฐานแล้วลาไปบำเพ็ญสมณธรรม

 

  หมู่บ้านแห่งหนึ่ง  ซึ่งอยู่ห่างไกลจากเมืองสาวัตถี  ชาวบ้านต่างยินดี

 

ที่มีภิกษุมาโปรดเป็นจำนวนมาก  เพราะจะมีโอกาสได้ถวายทาน

 

รักษาศีล  และได้ทำประโยชน์อีกมากมาย  ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้ภิกษุ

 

ทั้งหมดจำพรรษาอยู่    ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลายพิจารณา

 

เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีสิ่งสัปปายะ  (สิ่งอำนวยความสะดวก)

 

เหมาะสมกับการบำเพ็ญสมณธรรม  จึงรับนิมนต์อยู่ฉลองศรัทธา

 

ของชาวบ้าน

 

                ทว่าในป่าใหญ่แห่งนั้นใช่ว่าจะไร้เจ้าของเสียทีเดียว  เนื่องจาก

 

มีรุกขเทวดาจำนวนมากสถิตอยู่ตามต้นไม้  ในวันแรกเหล่าเทวดา

 

ต่างยินดีที่ได้ต้อนรับผู้มีศีล  จึงพาลูกหลานลงมาสถิตอยู่ตามพื้นดิน

 

ด้วยเกรงว่าคงไม่เหมาะสมนักหากตนอยู่ในที่สูงกว่าพระสงฆ์ 

 

แต่ถึงจะมีจิตกุศลเช่นนั้น  เทวดาก็เข้าใจว่าภิกษุทั้งหลายคงจะอาศัย

 

ราวป่าแห่งนี้เป็นสถานที่บำเพ็ญเพียรเพียงคืนเดียวเท่านั้น

 

                กุศลจิตของเหล่าเทวดาเริ่มคลอนแคลนเมื่อพบว่าพระภิกษุยังคง

 

นั่งสมาธิและเดินจงกรมอยู่ในป่า  โดยไม่มีทีท่าว่าจะออกจาริกต่อไป

 

เทวดาเกรงว่าภิกษุเหล่านั้นอาจจำพรรษาอยู่ที่นี่  หากเป็นเช่นนั้นจริง

 

เทวดาและลูกหลานย่อมได้รับความลำบากเพราะต้องนอนบนดิน

 

กินบนทรายเป็นแน่  เทวดาจึงออกอุบายไล่พระคุณเจ้าให้หนีไปจาก

 

ราวป่า  เช่น  ปรากฏตัวเป็นผีหัวขาดเพื่อหลอกให้ท่านหวาดกลัว

 

ส่งเสียงดังโหวกเหวกแต่ไม่ปรากฏตัว  หนักที่สุดคือก่อกวนให้พระเกิด

 

เจ็บป่วย  ทั้งจามทั้งไอวุ่นวายกันไปหมด  ไม่นานหมู่ภิกษุก็เกิดความ

 

ปั่นป่วน  จึงพากันออกจากป่ากลับไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลว่า

 

                “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ขณะที่พวกข้าพระองค์อยู่ในป่านั้น

 

พบแต่สิ่งที่น่ากลัว  ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข  พวกข้าพระองค์จึงตัดสินใจ

 

ชวนกันทิ้งป่านั้นกลับมาหาพระพุทธองค์”

 

                เมื่อทรงได้ฟังเรื่องราวโดยตลอด  พระพุทธเจ้าตรัสบอกภิกษุ

 

ทั้งหมดให้กลับไปอยู่ในป่าตามเดิม  โดยทรงสอนให้ภิกษุตั้งเป้าหมาย

 

บรรลุนิพพาน  ด้วยการปฏิบัติตนให้มีเมตตา  กล้าหาญด้วยศีล

 

ซื่อตรง  ว่าง่าย  อ่อนโยน  และไม่หยิ่งทะนง  จากนั้นทรงสอนเรื่อง

 

การเจริญเมตตาแก่ภิกษุให้สาธยายจนจำขึ้นใจ#  และสุดท้ายทรง

 

แนะนำวิธีปฏิบัติตนเมื่อไปถึงป่าที่เทวดาอยู่ด้วย

 

                เหล่าภิกษุล้วนปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ  ครั้น

 

ไปถึงป่าก็รวมกลุ่มกันสวดเจริญเมตตา  เทวดาในป่าพอได้ฟังคำ

 

สาธยายต่างเข้าใจความหมายและรับรู้สัมผัสแห่งเมตตาจิต  จึง

 

ปรากฏตัวเป็นกายหยาบออกมาต้อนรับและอุปัฏฐากพระภิกษุด้วย

 

ความศรัทธา  ทั้งยังปรึกษาหารือในการจัดการคุ้มครองถวาย

 

                บรรดาภิกษุไม่พบเห็นภาพที่ทำให้หวาดกลัวขณะบำเพ็ญเพียร

 

อีกเลย  จิตจึงเป็นสมาธิ  ท่านอาศัยสมาธิเป็นฐานเจริญวิปัสสนา

 

พิจารณาร่างกายตัวเองจนเห็นว่า  ร่างกายนี้เหมือนภาชนะดิน  มีการ

 

แตกสลายไม่ยั่งยืนเป็นสภาวะ  ท่านพัฒนาวิปัสสนาญาณให้แก่กล้า

 

ตามลำดับ  จนกระทั่งสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ทั้งหมด  500  รูป##

 

                แม้ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเทวดาเป็นเจ้ากรรมนายเวรกับภิกษุทั้ง

 

500  รูปมาแต่ชาติใด  แต่พฤติกรรมที่ทำลงไปอาจกลายเป็นกรรมใหม่

 

เวรใหม่สำหรับเทวดาก็เป็นได้  โชคดีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุ

 

เหล่านั้นได้ทันเวลา  ทำให้เทวดาเปลี่ยนความคิดและหันมามีจิตไมตรี

 

ซึ่งเป็นการทำบุญที่สำคัญ  ไม่เช่นนั้นอาจมีการจองเวร  เป็นบาป

 

ข้ามภพข้ามชาติต่อไปไม่สิ้นสุด

 

 

ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้ว

 

ย่อมกัดกร่อนจิตใจของมนุษย์

 

และเทวดาให้หลงผิดได้ไม่ต่างกัน

 

 

                *  ในภาษาบาลี  คำว่า  เวร  น่าจะมาจากคำว่า  วาระ  หมายถึง

 

การสืบสาย  ในที่นี้น่าจะหมายถึงการสืบสายมาหลายต่อหลายชาติ

 

                **  สำหรับความเชื่อเรื่องภพภูมิในพุทธศาสนานั้น  “กามภพ”

 

คือที่เกิดที่อยู่ของสัตว์ที่เกี่ยวข้องอยู่กับการเห็นรูป  ฟังเสียง  ดมกลิ่น

 

ลิ้มรส  และถูกต้องสิ่งสัมผัสทางกาย  ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่า

 

ปรารถนา  ต่างยังคงมีกิเลส  หมกมุ่นอยู่กับสุขและทุกข์จากรูป  เสียง

 

กลิ่น  รส  และสิ่งสัมผัสทางกาย

 

                กามภพประกอบด้วย  11  ภูมิ  ได้แก่  ฉกามาพจรภูมิ  หรือ

 

สวรรค์  6  ชั่น  คือ  1.  จาตุมหาราชิกา  2.  ดาวดึงส์  3.  ยามา

 

4.  ดุสิต  5.  นิมมานรดี  และ  6.  ปรนิมมิตวสวัตดี  สรรพสัตว์ที่

 

อาศัยในสวรรค์ทั้ง  6  ชั้นส่วนใหญ่ได้สัมผัสกับสิ่งที่น่าปรารถนา

 

นอกจากนี้กามภพยังประกอบด้วยอบายภูมิ  4  แห่ง  คือ  นรก

 

ภพของเปรต  ภพของอสุรกาย  สัตว์เดรัจฉาน  ส่วนอีกหนึ่งภพภูมิ

 

ที่เหลือได้แก่โลกมนุษย์นั่นเอง

 

                ***ออกเสียงว่า  เภ-สะ-กะ-ฬา-มิ-คะ-ทา-ยะ-วัน  แปลว่า

 

ที่พระราชทานเป็นรางวัลแก่สัตว์ที่ไม่ดุร้าย  เช่น  กวาง

 

แต่มีความน่ากลัว  ความน่ากลัวอาจมาจากความเงียบสงบ

 

                ****พระพุทธเจ้าองค์แรกของภัทรกัป  ซึ่งมีพระพุทธเจ้า

 

เสด็จอุบัติต่อกัน  5  พระองค์  ได้แก่  พระพุทธเจ้ากกุสันธะ

 

พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ  พระพุทธเจ้ากัสสปะ  พระพุทธเจ้าโคตรมะ

 

(โคดม)  และพระพุทธเจ้าเมตเตยยะ  (พระศรีอารียเมตเตยะหรือพระศรีอาริย์)

 

ซึ่งจะเสด็จอุบัติในอนาคต

 

                *****ออกเสียงว่า  สัญ-ญา-เว-ทะ-ยิ-ตะ-นิ-โร-ธะ-สะ-มา-บัติ

 

หมายถึง  การเข้าสมาบัติแบบดับความรู้สึกทั้งหมดจนมีสภาพคล้ายคนตาย

 

ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น  เพราะจิตดับด้วย

 

                ******ออกเสียงว่า  ฉะ-ผัส-สา-ยะ-ตะ-นิ-กะ-นรก

 

                *******ออกเสียงว่า  สัง-กุ-สะ-มา-หะ-ตะ-นรก

 

                ********ออกเสียงว่า  ปัจ-จัต-ตะ-เว-ทะ-นี-ยะ-นรก

 

                +  คาวุต  แปลว่า  เสียงวัวร้อง  เป็นมาตราวัดระยะทางของอินเดีย

 

โบราณ  เสียงวัวร้องไปสิ้นสุด    ที่ใด  ที่นั่นนับเป็น  1  คาวุต

 

                ++  มัชฌิมนิกาย  มูลปัณณาสก์  มารดัชชนียสูตร.  ส่วนเรื่อง

 

นายนิรยบาล  ดูเพิ่มเติมได้จากหนังสือโอปปาติกะ  ชีวิตหลังความตาย

 

ของบรรจบ  บรรณรุจิ  สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

 

                +++  พุทธุปบาทกาล  คือ  ช่วงเวลาที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

 

                ++++  พุทธันดร  คือ  ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า

 

ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น  มีแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า

 

                +++++  อรรถกถาธรรมบท  ภาค  5  เรื่องพระโกณฑธานะ

 

                #  ต่อมามีการตั้งชื่อบทสวดนี้ว่า  “กรณียเมตตสูตร”

 

                ##  อรรถกถาธรรมบท  ภาค  3  เรื่องภิกษุผู้เจริญวิปัสสนา

 

จากหนังสือ “เปลี่ยนเจ้ากรรมนายเวรให้เป็นมิตร”

 

ดร.บรรจบ  บรรณรุจิ

 

สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ พิมพ์ครั้งที่ 1

 

 v




Create Date : 24 มกราคม 2560
Last Update : 24 มกราคม 2560 17:19:20 น. 0 comments
Counter : 1114 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นาคสีส้ม
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




วัตถุประสงค์ของ blog นี้ :

เนื่องจากส่วนตัวเป็นคนชอบได้หนังสือธรรมะมาจาก
ที่ต่างๆ และมักชอบซื้อมาอ่านเป็นประจำเสมอ
เลยทำให้หนังสือกองเต็มบ้านมากมาย
เวลาจะนำไปบริจาค ก็มักจะเสียดาย เพราะ
บางครั้ง บางที ก็หยิบเล่มเก่าๆมาอ่านอีกรอบ
เวลาใครมาขอรับบริจาคอะไรต่างๆ
มักจะหวงไว้ ไม่ค่อยส่งต่อหนังสือให้ใคร

จนมาคิดว่า ไม่ควรจะหวงไว้
เพราะเนื้อหาค่อนข้างมีประโยชน์
นำมาปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี
เลยอยากจะแบ่งปันความสุขให้คนอื่นๆ

เลยจัดทำ blog นี้ขึ้นมาค่ะ
ไว้เก็บรวบรวมเนื้อหาที่ได้อ่านแล้ว
มาเก็บไว้ที่นี่ ส่วนหนังสือก็จะนำไปบริจาค
ให้คนอื่น ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปค่ะ

สำหรับเล่มไหนที่เพื่อนๆคิดว่าสนุก
ก็สามารถแนะนำได้นะคะ ^__^
Friends' blogs
[Add นาคสีส้ม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.