<<
เมษายน 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
15 เมษายน 2558

**เทคนิกการจดจำบทสวด"พาหุง" และ "มหากา" ให้จำได้ง่ายและขึ้นใจ**

บทสวดพุทธชัยมงคลคาถา หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า บทสวดพาหุง และ บทสวดชัยปริตร หรือที่นิยมเรียกกันว่า บทสวดมหากา (บางทีก็เรียกรวมทั้งสองบทเป็นบทสวดชัยมงคลคาถา) เนื่องจากเป็นบทสวดที่มักจะสวดต่อเนื่องควบคู่กันเสมอ
บทสวดทั้งสองนี้ใช้สวดเพื่อเสริมสิริมงคล เอาฤกษ์เอาชัย ณ เวลาที่ประกอบกิจกรรมอันเป็นมงคล ฤกษ์งามยามดีต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เปิดธุรกิจใหม่ หรือในวันคล้ายวันเกิด วันมงคลสมรส เป็นต้น
ในสมัยก่อน พุทธชัยมงคลคาถาเป็นคาถาที่พระสงฆ์สวดเพื่อเบิกฤกษ์นำชัยให้กับกองทัพก่อนยกไปทำศึกสงคราม เพื่อปลุกขวัญทหารให้ฮึกเหิม ไม่เกรงกลัวข้าศึก

ความหมายในบทสวดพาหุงจะเป็นบทสวดเพื่อพิชิตมาร ขจัดอุปสรรคโพยภัยทั้งหลายทั้งปวงด้วยวิถีพุทธคุณ และธรรมคุณ ส่วนมหากาเป็นบทสวดสำทับว่า ณ บัดนี้ เวลานี้ เป็นฤกษ์งามยามดีแล้ว หนทางสว่างไสวแล้ว ขอทุกท่านจงประกอบกิจกรรมด้วยกาย วาจา ใจที่งดงามอันเป็นมงคลที่ได้มุ่งหวังไว้ ให้สัมฤทธิ์ผลด้วยเถิด

ในชีวิตประจำวัน เราสามารถสวดคาถาพาหุง มหากา ได้ทุกวัน ตราบใดที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่ต้องดิ้นรน แข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกันเพื่อความก้าวหน้าในสาขาอาชีวะ และเพื่อให้เกิดความร่มเย็นในครอบครัว ถือเป็นการปลุกเสกศุภมงคลให้กับตัวเองทุกๆ วัน ตราบใดที่ไม่ได้สวดเพื่อให้ตนเองไปทำเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามให้สำเร็จ คาถาก็ยังคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ตราบนั้น

การท่องคาถาในพุทธศาสนาเป็นการบำเพ็ญเพียรกิริยาอย่างหนึ่งเพื่อให้พลังของพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ คุ้มครอง ป้องภัย และอวยชัยให้กับคนที่คิดดี ทำดี เท่านั้น หากคิดมิชอบและมุ่งหวังจะให้คาถาส่งเสริมให้ทำให้สำเร็จก็เท่ากับนำวิชชาอันพิสุทธิ์ไปทำให้เป็นอวิชชานั่นแล

ถ้าหากต้องสวดบทสวดพาหุง มหากาทุกวันแล้ว ก็ควรสามารถท่องจำบทสวดภาษาบาลีได้ด้วย การจดจำบทสวดทั้งสองนี้ สามารถทำได้ ใช้เวลาไม่นานนักขึ้นอยู่กับสติปัญญาของแต่ละบุคคล 
ผมขอแนะนำเทคนิกที่ผมใช้เพื่อให้จดจำบทสวดทั้งสองได้ง่ายและขึ้นใจดังนี้..

1..แบ่งบทสวดเป็นหัวข้อๆ
ปกติหนังสือสวดมนต์ทั่วๆ ไป ก็มักจะแบ่งหัวข้อเป็นบทๆ อยู่แล้วสำหรับคาถาพาหุง แต่หากต้องแบ่งเองก็สามารถทำได้ โดยบทหนึ่งๆ ก็จะมีความหมายถึงอุปสรรคและมารชนิดหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิฤทธิ์๑ คำสั่งสอนในพุทธศาสนา๑ สติปัญญา๑ ขันติธรรม๑ เมตตาธรรม๑ จริตอันงดงาม๑ และความวิสุทธิ์ทั้งกาย ใจ๑ เพื่อสยบมารทั้งหลายเหล่านั้น
ส่วนคาถามหากา เป็นบทสวดสั้นๆ ขึ้นต้นและลงท้ายของแต่ละบาทก็มีความหมายสำหรับบาทนั้นๆ อยู่แล้ว จงไม่นิยมแบ่ง แต่ให้ท่องเหมือนขับกลอน ขับเสภา มากกว่า แต่หากจะใส่หัวข้อก็ใส่ได้ โดยบาทหนึ่งก็จะเป็นหัวข้อหนึ่ง ซึ่งใส่แล้วดูมันจะถี่เกินไป

2..ใส่ทำนองสรภัญญะลงไป
ทำนองสรภัญญะเป็นทำนองไทยเดิมเรียบง่ายและมีความไพเราะ ไม่ต้องเอื้อนคำยาวๆ จดจำฉันทลักษณ์ได้ง่ายเพราะใช้แค่เสียงสูงและต่ำธรรมชาติ เมื่อวรรคต้นลงท้ายด้วยเสียงสูง ในวรรครองก็จะจบด้วยเสียงต่ำในบาทเดียวกัน  จากตัวอย่างในบทสวด วรรคต้นลงท้ายอักษรสีแดงเป็นเสียงสูง ส่วนวรรครองเป็นสีน้ำเงินเป็นเสียงต่ำปกติ

3..แบ่งวรรคตอนให้เข้ากับจังหวะจะโคนของทำนองสรภัญญะที่ใส่
การแบ่งวรรคตอนก็เหมือนเวลาขับกลอนหรือร้องเพลง จำเป็นต้องมีวรรคตอนที่เหมาะเจาะ สามารถขับเป็นกลอน ร้องเป็นเพลงโดยไม่ติดขัด เพื่อความราบรื่นเวลาสวดมนต์ และเพื่อให้จดจำง่าย สามารถรำลึกได้หากลืมบทสวดในตอนใดตอนหนึ่ง

หมายเหตุ* หากผู้ใดไม่รู้จักทำนองสรภัญญะก็สามารถหาฟังตัวอย่างได้จากในยูทูป แต่ตัวอย่างในยูทูปอาจต้องการความไพเราะมากกว่า จึงมีการเอื้อนคำที่ยาว ซึ่งเราสามารถทำให้กระชับได้

 4..รู้ความหมายของบทสวดแต่ละบท
ในการสวดมนต์ทุกบท จำเป็นที่ผู้สวดจะต้องรู้ความหมายของบทสวดนั้น ไม่จำเป็นต้องท่องจำคำแปลภาษาบาลีให้ขึ้นใจ แต่ต้องรู้ว่า แต่ละบทนั้นกล่าวถึงอะไร เพื่อสามารถสืบสาวด้วยปัญญาต่อไปได้ว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงใช้วิธีการและหลักธรรมนั้นๆ เพื่อพิชิตมาร
อีกทั้ง ทำให้สามารถรื้อฟื้น เรียกคืนความจำกลับมาได้ง่าย เมื่อลืมบทสวดในขณะใดขณะหนึ่ง

การที่จะรู้ความหมายของบทสวดได้ จำเป็นต้องสะกดตัวอักษรของแต่ละคำได้อย่างถูกต้อง ชนิดว่า เมื่อหลับตาลงและภาวนาบทสวดนั้น จะต้องมีมโนภาพของคำสะกดที่ถูกต้องของหนังสือสวดมนต์ที่ใช้อยู่ปรากฏขึ้นมาเลย
เนื่องจากในภาษาไทย มีคำที่ออกเสียงคล้ายกันแต่ความหมายไม่เหมือนกันอยู่มาก ในขณะที่ภาษาบาลีก็ใช้ตัวอักษรบางตัวที่ภาษาไทยทั่วไปอาจไม่ได้ใช้แล้ว ถ้าไม่จดจำตัวอักษรที่ถูกต้อง เวลาสวดก็อาจทำให้ความหมายผิดเพี้ยนไปได้

ตัวอย่างเช่น..
ในบทแรก  พาหุง สะหัสสะมะ ภินิมมิตะ สาวุธันตัง คำแปลคือ พญามารผู้มีฤทธิ์เนรมิตแขนตั้งพันพร้อมสรรพาวุธครบมือ  คำว่า ภินิมมิตะ คือ มีอภินิหารเนรมิต.. แต่หากสะกดเป็น พินิมมิตะ ความหมายอาจผิดแผกไป แปลออกมาไม่ได้ก็เป็นได้

บรรทัดถัดมา ครีเมขะลัง อุทิตะ โฆระสะ เสนะมารัง แปลว่า ขี่ช้างชื่อครีเมขละ พร้อมเสนามารโห่ร้องกึกก้อง  คำว่า โฆระสะ  หากสะกดเป็น โคระสะ  ความหมายอาจไม่ใช่โห่ร้องกึกก้อง แต่อาจเป็นอื่นที่ไม่มีความหมายได้ เป็นต้น

ส่วนในบทมหากายิ่งมีศัพท์ที่คำไทยไม่มีใช้แต่สามารถสะกดให้ออกเสียงพ้องกันได้  เช่น สุนักขัตตัง แปลว่า ฤกษ์ดียามดี หรือ สุ(ดี)+นักขัตตัง(นักขัตฤกษ์) ถ้าไม่รู้จัก อาจท่องเป็น สุนัขขัตตัง ซึ่งความหมายผิดเพี้ยนไป หรือ ไม่มีความหมายอะไรเลย  เป็นต้น

หมายเหตุ* การหลงหรือลืมบทสวดในขณะใดขณะหนึ่งเป็นเรื่องปกติของการสวดมนต์ อะไรที่ทำซ้ำๆ ซากๆ เรื่อยไป อาจกลายเป็นนกแก้วนกขุนทองที่สักแต่ว่าพูด สักแต่ว่าสวดไปตามที่เคยชิน ก็อาจจะมีช่วงที่สติล่องลอยไปจากบทสวด ไม่ดำรงอยู่กับความหมายและถ้อยคำในบทสวดเหมือนสมัยแรกๆ เนื่องจากยังเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ยังเวียนว่ายอยู่กับพฤติกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันด้วย ขณะสวดมนต์จึงมีพันธะ สัญญา อันไม่พึงปราถนาหลุดเข้ามาทำลายสมาธิในการสวดมนต์ ทำให้หลง และลืมบทสวดได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด (หากนานๆ เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง)  แต่ผู้สวดที่ช่ำชองบทสวดแล้ว จะสามารถเรียกคืนสติกลับมาได้เร็ว และรำลึกบทสวดที่ถูกต้องได้ในที่สุด
วิธีการให้รำลึกได้ คือ ดึงสติกลับมาก่อน รู้ว่าผิดพลาดตรงไหนก่อน จากนั้น สวดซ้ำในวรรคก่อนหน้าที่หลงลืมไป ถายังไม่ได้ ก็ให้สวดซ้ำย้อนกลับขึ้นไปอีกวรรคหนึ่ง บาทหนึ่ง บทหนึ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรำลึกได้

ตัวอย่างข้างล่างนี้เป็นบทสวดพาหุง และมหากา ที่ผมนำมาเรียบเรียงตามเทคนิกที่เสนอแนะข้างต้น สีแดงคือลงเสียงสูง ขีดเส้นคั่นคือเว้นวรรคตอน  ไม่ขีดเส้นแต่เว้นวรรคยาวคือ ขึ้นต้นวรรครอง ซึ่งเป็นสีน้ำเงิน
ผู้ใดจะนำไปใช้ก็ได้ หรือจะแก้ไขดัดแปลงให้เหมาะกับจริตของตนเองก็ได้เช่นกัน


๑ พาหุง_สะหัสสะมะ ภินิมมิตะ_สาวุธันตัง

ครีเมขะลัง_อุทิตะ  โฆระสะ_เสนะมารัง

ทานาทิ_ธัมมะวิธินา ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๒ มารา_ติเรกะมะ ภิยุชฌิตะ_สัพพะรัตติง

โฆรัมปะนา_ฬะวะกะ มักขะมะ_ถัทธะยักขัง

ขันตีสุ_ทันตะวิธินา ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเต ชะยะมัง_คะลานิ


๓ นาฬาคิริง_คะชะวะรัง อะติมัตตะ_ภูตัง

ทาวัคคิ_จักกะมะ สะนีวะ_สุทารุณันตัง

เมตตัมพุเส_กะวิธินา ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๔ อุกขิตตะ_ขัคคะมะ ติหัตถะ_สุทารุณันตัง

ธาวันติโย_ชะนะปะ ถังคุลิมา_ละวันตัง

อิทธีภิสัง_ขะตะมะโน ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๕ กัตตะวานะ_กัฏฐะมุทะรัง อิวะคัพ_ภินียา

จิญจายะ_ทุฏฐะวะจะนัง ชะยะกา_ยะมัชเฌ

สันเตนะ_โสมะวิธินา ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๖ สัจจัง_วิหายะ มะติสัจจะ_กาวาทะเกตุง

วาทาภิโร_ปิตะมะนัง อะติอันธะ_ภูตัง

ปัญญาปะที_ปะชะลิโต ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๗ นันโท_ปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง_มะหิทธิง

ปุตเตนะ_เถระภุชะเคนะ ทะมา_ปะยันโต

อิทธูปะเท_สะวิธินา ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๘ ทุคคาหะ_ทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะ_หัตถัง

พรัหมัง_วิสุทธิชุติ มิทธิพะกา_ภิธานัง

ญาณา_คะเทนะวิธินา ชิตะวา_มุนินโท

ตันเตชะสา_ภะวะตุเม ชะยะมัง_คะลานิ


๙ เอตาปิ_พุทธะชะยะ มังคะละ_อัฉฐะคาถา

โย_วาจะโน_ทินะทิเน สะระเต_มะตันที

หิตวานะ_เนกะวิวิธานิ   จุปัททะวานิ

โมกขัง_สุขัง_อะธิคะเมยยะ นะโร_สะปัญโญ



มะหาการุณิโก_นาโถ หิตายะ_สัพพะปาณินัง 

ปูเรตวา_ปาระมีสัพพา ปัตโต_สัมโพธิ_มุตตะมัง

เอเตนะ_สัจจะวัชเชนะ โหตุเม_ชะยะมังคะลัง

ชะยันโต_โพธิยามูเล สักยานัง_นันทิวัฑฒะโน

เอวัง_อะหัง_วิชะโย_โหมิ ชะยัสสุ_ชะยะมังคะเล

อะปะราชิตะ_ปัลลังเก สีเส_ปะฐะวิ_โปกขะเร

อะภิเสเก_สัพพะพุทธานัง อัคคัปปัตโต_ปะโมทะติ

สุนักขัตตัง_สุมังคะลัง สุปะภาตัง_สุหุฏฐิตัง 

สุขะโณ_สุมุหุตโต_จะ สุยิฏฐัง_พรัมหมะจาริสุ

ปะทักขิณัง_กายะกัมมัง วาจากัมมัง_ปะทักขิณัง

ปะทักขิณัง_มะโนกัมมัง ปะณิธีเต_ปะทักขิณา

ปะทักขิณานิ_กัตวานะ ละภันตัตเถ_ปะทักขิเณ

ภะวะตุ_สัพพะมังคะลัง รักขันตุ_สัพพะเทวะตา

สัพพะพุทธา_นุภาเวนะ สะทาโสตถี_ภะวันตุเม

ภะวะตุ_สัพพะมังคะลัง รักขันตุ_สัพพะเทวะตา

สัพพะธัมมา_นุภาเวนะ สะทาโสตถี_ภะวันตุเม

ภะวะตุ_สัพพะมังคะลัง รักขันตุ_สัพพะเทวะตา

สัพพะสังฆา_นุภาเวนะ สะทาโสตถี_ภะวันตุเม






Create Date : 15 เมษายน 2558
Last Update : 6 พฤษภาคม 2558 8:56:13 น. 6 comments
Counter : 27982 Pageviews.  

 
ขอบคุนค่ะ


โดย: ปณิชา IP: 1.46.227.210 วันที่: 29 ตุลาคม 2558 เวลา:23:44:58 น.  

 
คำว่าโฆระสะ ถ้าไม่อ่านเป็น โคระสะ ต้องให้อ่านยังไงคะ? ขอความกรุณาด้วยค่ะ ไม่แตกฉานเลยจริงๆค่ะ


โดย: May IP: 192.99.14.34 วันที่: 21 พฤศจิกายน 2558 เวลา:8:06:44 น.  

 
ถ้าใสเสียงสวดของผู้เขียนไปด้วย จะดีมากครับ ขอบคุณครับ
ถ้ามีแล้วบอกด้วยนะครับ aloha3577@gmail.com


โดย: เอ IP: 58.137.3.226 วันที่: 16 มีนาคม 2559 เวลา:8:15:18 น.  

 
สวดแบบนี้ได้ครับ
อุทิตะโคระสะเสนะมารังแบบนี้เลยก็ได้ครับ


โดย: เอ IP: 49.228.71.132 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:20:57:09 น.  

 
ภะวะตุ เต ท่าน ไม่ใช่ ภะวะตุ เม


โดย: Oyu IP: 182.232.39.140 วันที่: 25 เมษายน 2561 เวลา:15:40:00 น.  

 
สวนมีฝึกสมาธิ


โดย: สุภกิณ์จันพรม IP: 110.168.249.127 วันที่: 16 สิงหาคม 2563 เวลา:8:41:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

*bonny
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add *bonny's blog to your web]