<<
มกราคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
16 มกราคม 2560

**การสวดมนต์ ทำสมาธิ ช่วยชลอโรคความจำเสื่อม (อัลไซเมอร์) ได้**







โรคความจำเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease หรือ AD) หรือ สูญเสียความทรงจำ ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
โรคนี้ใครๆ ก็เป็นได้  ไม่ว่าจะดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันได้ดีเพียงไรก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะสามารถหลีกหนีจากโรคนี้ได้ เนื่องจากโรคนี้มิได้เป็นโรคติดต่อ ไม่ได้เกิดจากมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย แต่เกิดขึ้นจากพยาธิสภาพของร่างกายของคุณเอง ในส่วนที่เป็นเซลล์สมอง ซึ่งอาจจะเสื่อมไปตามวัย หรือ มีสิ่งเร้า กระตุ้นให้เสื่อมจากความเครียดที่สั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน

การรักษาโรคนี้ก็เป็นที่รู้กันว่า ยากพอๆ กับการหาต้นเหตุของการเกิดโรค เพราะบางคนเป็น บางคนในวัยเดียวกันอาจไม่เป็น และยังไม่มียาแผนปัจจุบันใดๆ สามารถอวดอ้างได้ว่า ใช้รักษาโรคความจำเสื่อมนี้อย่างได้ผล

ความสำคัญของบทความนี้ คือ ใช้การได้เมื่อคุณยังมีความจำดีอยู่ หรือ เมื่อคุณสงสัยว่าตัวเองอาจกำลังจะเป็น หรือ คุณเป็นแล้ว แต่อยู่ในระยะเริ่มแรก

ถ้าคุณอยู่ในขั้นที่สงสัยว่าตัวเองจะเป็นหรือเปล่าหนอ นั่นแสดงว่า บทความนี้ยังมีประโยชน์อยู่ เพราะแสดงว่าคุณยังไม่ได้เป็นจนถึงขั้น อ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ใช้สติปัญญาไตร่ตรองไม่ได้เลย

ถ้าหากแบ่งความทรงจำของเราได้เป็น 3 ระยะแบบง่ายๆ ไม่ต้องอิงทฤษฎีของนักมนุษยวิทยาให้ยุ่งยากในการอธิบาย คือ 

ความทรงจำระยะยาว หมายถึง อายุความจำ เป็นเดือน เป็นปี ยังจำความได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์์สำคัญๆ ในอดีต   
ความทรงจำระยะกลาง อายุความจำ ยาวนานเป็นวันๆ เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน สามารถจำความได้ดี รื้อฟื้นเหตุการณ์ในระหว่างเวลานั้นได้
ความทรงจำระยะสั้น อายุความจำ เป็นวินาที เป็นนาที เป็นชั่วโมง จนถึงข้ามวัน ปกติเป็นความจำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว แปรงฟัน กินยา หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งร่างกายและวาจา เหตุการณ์ที่ทำอยู่ประจำกลับนึกไม่ออก จำไม่ได้แน่นอน 

คนที่เริ่มเป็นโรคความจำเสื่อม มักจะสูญเสียความทรงจำในระยะสั้นก่อน เริ่มจากคุณต้องนึกนานขึ้นสำหรับชื่อของคนหรือสิ่งของ ที่คุณเคยคุ้นเคย แต่มันติดอยู่ที่ปาก หรือเริ่มไม่แน่ใจว่า ลืมทำบางสิ่งบางอย่างที่คุณทำอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น แปรงฟัน..ทานยาหรือยัง หรือนึกไม่ออกว่ากระเป๋า รองเท้า มือถือ ตนเองได้วางไว้ที่ไหน เป็นต้น ซึ่งบางครั้ง คุณสังเกตตัวเองไม่ได้ แต่คนรอบข้างเป็นผู้ที่สังเกตเห็นเพราะใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับคุณอยู่  ต่อมาเมื่อโรคดำเนินไปเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ สูญเสียความทรงจำในระยะกลางและระยะยาวทีละน้อยๆ ไปจนหมดสิ้น สุดท้าย ผู้ที่มีอาการเต็มขั้นจะช่วยตัวเองไม่ได้เลย และพูดจาวกวน ไม่รู้เรื่อง

ดังนั้น ในเมื่อคุณยังมีความทรงจำที่ดีอยู่พอสมควร บทความนี้จึงสนับสนุนให้คุณสร้างกำแพงปกป้องตนเองจากโรคความจำเสื่อม หรือ เมื่อคุณเริ่มรู้สึกตัวว่า มีอาการบ้างแล้ว ก็ยังอาจช่วยชลอมิให้โรคนี้คืบคลานเข้ามาทำร้ายสมองของคุณเร็วเกินไป

แม้แพทย์แผนปัจจุบันไม่อาจรักษาโรคนี้ได้ด้วยยารักษาโรค แต่ก็มีบทความทางการแพทย์เชื่อว่า การรักษาและการชลอโรคนี้อย่างได้ผลดีที่สุด คือ การกระตุ้นทางจิตใจ (Mental stimulation) การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และโภชนาการที่ถูกสุขอนามัย ถูกสุขลักษณะของโรค ณ เวลานั้น

บทความนี้ก็คือ การเสนอแนวทางในการกระตุ้นทางจิตใจให้กับคุณ เป็นการสร้างกำแพงป้องกันตัวคุณจากโรคร้ายนี้  ส่วนการออกกำลัง และโภชนาการนั้น คุณและคนรอบข้างคงดูแลกันได้เองอยู่แล้ว

การกระตุ้นทางด้านจิตใจที่ผมจะเสนอแนะ ก็คือ การสวดมนต์ ทำสมาธิ (ตามแนวพุทธศาสนา) เป็นประจำทุกวันตั้งแต่บัดนี้ จนกว่าคุณจะสิ้นลมหายใจ

การสวดมนต์ ทำสมาธิ ในกรณีนี้หมายถึง ให้ทำเป็นกิจวัตร วันนึงอาจจะ 20 - 30 นาที เป็นอย่างต่ำ ขออย่างเดียว คือ ทำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย มิใช่ทำๆ หยุดๆ หรือ นึกอยากจะทำเมื่อไรก็ทำ ไม่นึกอยากทำก็ไม่ทำ  เช่นนั้นจะไม่มีผลใดๆ ต่อการชลอโรคความจำเสื่อม

ก่อนอื่นให้คุณเลือกเวลาที่คุณพร้อมอยู๋เป็นประจำทุกวัน  โดยมากจะเป็นตอนเช้า หรือ ก่อนนอน หลีกเลี่ยงเวลาเร่งด่วน หรือ ระหว่างเวลาอาหาร และกำหนดให้เวลานี้เป็นเวลาสวดมนต์ ทำสมาธิของคุณเป็นประจำ ห้ามรบกวน

เมื่อเริ่มต้น (ถ้ามีพระพุทธรูปที่คุณบูชาอยู๋เบื้องหน้าด้วยก็จะดี) ให้นั่งขัดสมาธิ หรือ พับเพียบ หรือท่าที่คุณสบายๆ นั่งได้นานๆ แม้แต่การนั่งบนเก้าอี้ก็ยังได้ ขอให้นั่งตัวตรงไม่พิงพนัก แล้วพนมมือ หรือ วางมือซ้ายบนมือขวาในท่าทำสมาธิ แล้วภาวนาบทสวดมนต์ เรียงตามบทสวดมนต์ในหนังสือสวดมนต์เลย  หากคุณยังจำบทสวดไม่ได้ ก็ให้หนีบบทสวดด้วยหัวแม่มือทั้งสองขณะพนมมือก็ได้

**  คำบูชาพระ  **

อิมินา  สักกาเรนะ  พุทธัง   อะภิปูชะยามิ

อิมินา  สักกาเรนะ  ธัมมัง   อะภิปูชะยามิ

อิมินา  สักกาเรนะ  สังฆัง   อะภิปูชะยามิ


** คำนมัสการพระรัตนตรัย **

อะระหัง  สัมมาสัมพุทโธ  ภะคะวา  พุทธังภะคะวันตัง  อภิวาเทมิ (กราบ)

สะวากขาโต  ภะคะวะตา  ธัมโม  ธัมมัง  นะมัสสามิ   (กราบ)

สุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ  สังฆัง  นะมามิ   (กราบ)


** คำนมัสการพระพุทธเจ้า **

นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ ( สวด  ๓  จบ )

**คำอาราธนาศีล ๕** 

มะยังภันเต  วิสุง   วิสุง  รักขะนัตถายะ   ติสะระเณนะสะหะ    ปัญจะศีลานิยาจามะ

ทุติยัมปิ   มะยังภันเต  วิสุง   วิสุง  รักขะนัตถายะ   ติสะระเณนะสะหะ    ปัญจะศีลานิยาจามะ

 ตะติยัมปิ มะยังภันเต  วิสุง   วิสุง  รักขะนัตถายะ   ติสะระเณนะสะหะ    ปัญจะศีลานิยาจามะ   


ข้อห้ามศีลทั้ง 5 ข้อนั้น  ถ้าวันนี้เราทำได้เพียง 2 , 3 ,4 ข้อก็ไม่เป็นไร เพราะเราได้สวดคำว่า วิสุง วิสุง ซึ่งแปลว่า ข้อใดข้อหนึ่ง

**คำนมัสการไตรสรณคมน์**

พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ

ทุติยัมปิ       พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ  ทุติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ  ทุติยัมปิ  สังฆัง สะระณัง  คัจฉามิ

ตะติยัมปิ     พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ  ตะติยัมปิ  ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ  ตะติยัมปิ  สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ


( คำสมาทาน ศีล ๕ )

๑.  ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการฆ่าสัตว์ , ไม่ทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์กาย ทุกข์ใจ ( ตายทั้งเป็น )  , ไม่ทำให้ผู้อื่นเกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ เหมือนตกนรกทั้งเป็น )

๒.  อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการลักทรัพย์ ,ไม่ขโมยเวลา เข้างานสายกลับก่อน , ไม่เขียนเบิกสิ่งของ หรือ เงินทอง เกินความเป็นจริง , ไม่เอาของที่ทำงานกลับบ้านใช้ )

๓.  กาเมสุมิจฉาจารา เวระมณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการประพฤติผิดในกาม , มีชู้ , มีกิ๊ก ตอนแต่งงานพ่อแม่ทั้ง ฝ่ายหญิงและชาย จะต้องเห็นดีด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายถึงเรียกว่าไม่ผิดศีล )

๔.  มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทังสะมาทิยามิ  ( เว้นจากการพูดปด  / พูดใส่ร้าย / คำพูดล่อลวงอำพรางผู้อื่น )

๕.  สุราเมระยะมัจฉะปะมาทะถานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ  ( เว้นจากการดื่มสุราเมรัยเครื่องดองของเมาที่ทำให้ใจคลั่งไคล้มัวเมาต่าง ๆ จนทำให้มัวเมาตัวเอง , มัวเมา อำนาจ , ลาภยศ ,  เงินทอง และอบายมุข  )


**คำขอขมาพระรัตนตรัย**

วันทามิ พุทธัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต
วันทามิ ธัมมัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต
วันทามิ สังฆัง สัพพะเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต

** คำนมัสการ ถวายพรพระ ( อิติปิโส )  พระพุทธคุณ  ธรรมคุณ  สังฆคุณ **

อิติปิ   โส   ภะคะวา   อะระหัง   สัมมาสัมพุทโธ   วิชาชาจะระณะสัมปันโน   สุคะโต   โลกะวิทู   อะนุตตะโร   ปุริสะทัมมะสาระถิ   สัตถา   เทวะมะนุสสานัง   พุทโธ   ภะคะวาติ    ( พุทธคุณ )

สวากขาโต   ภะคะวะตา   ธัมโม   สันทิฏฐิโก   อะกาลิโก   เอหิปัสสิโก   โอปะนะยิโก   ปัจจัตตัง   เวทิตัพโพ  วิญญู***ติ   ( ธรรมคุณ )

สุปะฏิปันโน   ภะคะวะโต   สาวะกะสังโฆ   อุชุปะฏิปันโน   ภะคะวะโต   สาวะกะสังโฆ   ญายะปะฏิปันโน  ภะคะวะโต   สาวะกะสังโฆ   สามีจิปะฏิปันโน   ภะคะวะโต   สาวะกะสังโฆ   ยะทิทัง   จัตตาริ   ปุริสะยุคานิ   อัฏฐะ  ปุริสะปุคคะลา   เอสะภะคะวะโต    สาวะกะสังโฆ    อาหุเนยโย   ปาหุเนยโย   ทักขิเณยโย   อัญชะลีกะระณีโย   อะนุตตะรัง  ปุญญักเขตตัง   โลกัส   สาติ   (สังฆคุณ)

ต่อด้วย  บทสวดชัยมงคลคาถา (พาหุง)..ชัยปริตร (มหากาฯ) และคาถาชินบัญชร

จากนั้นลงท้ายด้วยบทสวดการแผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ และอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่รัก ที่ชัง และเจ้ากรรมนายเวร ดังนี้..

อะหัง สุขะโต โหตุ....อะหัง อะเวรา โหตุ..อะหัง นิททุกข โหตุ..อะหัง อัพยาปัชโฌ โหตุ..อะหัง อะนีโฆ โหตุ..สุขี อัตตานัง ปะริหารันตุ

สัพเพ สัตตา อะเวรา โหตุ....นิททุกข โหตุ...อัพยาปัชโฌ โหตุ...อะนีโฆ โหตุ...สุขี อัตตานัง ปะริหารันตุ

สำหรับคำอุทิศส่วนกุศล หากไม่ใช้ภาษาบาลี ก็มีคำอุทิศส่วนกุศลเป็นภาษาง่ายๆ ดังนี้..

ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอุทิศผล  บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงบิดา มารดา ครูอาจารย์  ทั้งลูกหลานใกล้ชิดสนิทกัน
ผู้ที่เคยร่วมงานการทั้งหลาย  ขอจงได้ส่วนกุศลผลบุญฉัน
อีกเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ  ขอทุกท่านได้กุศลผลนี้เทอญ

หมายเหตุ:
บทสวดที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด เป็นบทเต็ม ใช้เวลาส่วดประมาณ 20 นาทีสำหรับคนที่สวดได้คล่อง หากไม่มีเวลามากนัก อาจตัดทอนได้  เช่น..ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนที่ยึดมั่นในศีล5 เป็นนิจสินอยู่แล้ว ขอสวดอาราธนา และสมาทานในครั้งแรก และยึดมั่นต่อเนื่องไปตลอด ก็ไม่ต้องสวดอาราธนา หรือสมาทานทุกครั้ง เป็นต้น  หรือ ไม่มีเวลาจริงๆ ก็ตัดบทสวดหลังๆ อย่าง ชินบัญชร พระปริตร ชัยมงคลคาถา ออกเลยก็ได้ ขออาราธนา และสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยให้จบครบถ้วนก็เพียงพอ แต่การแผ่ส่วนกุศลเป็นบทลงท้ายที่สมควรทำทุกครั้ง

หลังจากสวดแบบย่อๆ ไปนานวันเข้า เมื่อมีเวลาก็ค่อยเติมบทสวด แลคาถาที่เคยถูกตัดทอนไปให้เพิ่มเข้ามาทีละบทก็ได้จนเต็มสูตร

การสวดมนต์ ทำสมาธิเป็นประจำ ช่วยเรื่องความจำเสื่อมได้อย่างไร?

ทั้งนี้ เราอาจสังเกตได้ว่า พระเกจิอาจารย์ หรือ หลวงพ่ออันเป็นที่เคารพนับถือทั้งหลายนั้น แม้แก่ชราเพียงไร แต่พระคุณท่านก็ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์เช่นปุถุชนทั่วไป  เหตุเพราะท่านมีวัตรในการสวดมนต์ทำสมาธิเป็นประจำนั่นเอง

1) การจดจำบทสวด ซ้ำ ๆ กัน ทุกวันช่วยรื้อฟื้นความจำ และกระตุ้นให้สมองต้องจดจำบทสวดอยู่เสมอ เหมือนมีงานประจำให้ทำอยู่ไม่ขาด จึงไม่ใช่ผู้เสื่อมสภาพ

2) บทสวดหลายบทต้องท่องซ้ำๆ กัน เช่น 3 จบ 9 จบ คนที่มีความทรงจำดีอยู่เท่านั้นจึงจะจดจำได้ว่า ท่องไปกี่จบแล้ว

3) บทสวดบางบทมีอุบายชวนให้หลง ให้ลืมได้ง่ายหากขาดความเอาใจใส่ และจิตหลุดลอยออกไปโดยไม่ตั้งใจ จึงไม่อาจท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองหรือบทอาขยานได้ ตัวอย่างเช่น บทสวดชัยมงคลคาถา ที่มีอยู่ 8 บทที่ต้องลงท้ายด้วย "ตันเตชะสา ภาวะตุเม ชะยะมัง คลานิ"  ซ้ำ ๆ กันถึง 8 ครั้ง ตรงนี้ทำให้ลืมได้ง่ายว่า เป็นของบทไหนใน 8 บท เพราะลงท้ายเหมือนกัน  หรือ อย่างบทสวดชัยปริตร ในท่อน..

 ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
สัพพะพุทธานุภาเวนะ สะทา โสตถี ภะวันตุเต 

ท่อนต่อมาต้องเปลี่ยนสัพพะพุทธา เป็นสัพพะธัมมา  และต่อมาอีกท่อนเป็น สัพพะสังฆา  ก็มักจะทำให้ผู้ที่ความจดจ่อหลุดไปชั่วขณะ ลืมว่า ท่อนที่กำลังสวดอยู่นี้ ควรเป็นพุทธา  ธัมมา หรือสังฆา กันหนอ ซึ่งผมเชื่อว่า คนที่สวดประจำคงรู้ดีว่า บางครั้งมันหลุดจากความจดจ่อไปจริงๆ

4) การทำสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว จะช่วยให้จิตใจสงบ เหมือนได้พักผ่อนความนึกคิด คลายจากกังวลและความเครียด (อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่สันนิษฐานว่า ทำให้สมองเสื่อม) ทำให้ความจำดีขึ้น มีสติอยู่ในทุกขณะ ไม่หลง ไม่ฟุ้งซ่าน

ผมจึงขอเชิญชวนให้ท่านผู้สูงอายุทั้งหลาย ตลอดจนผู้ที่มีหน้าที่การงานรัดตัวจนไม่มีเวลาพักสมอง ลองหันมาสร้างกำแพงป้องกันโรคสมองเสื่อม ด้วยการสวดมนต์ ทำสมาธิ กันเถอะครับ รับรองว่า ดีแน่นอน







 

Create Date : 16 มกราคม 2560
0 comments
Last Update : 24 มกราคม 2560 7:52:15 น.
Counter : 3424 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


*bonny
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add *bonny's blog to your web]