บทตั้งของวิธีเจริญสติ



ดังตฤณ

บทตั้งนี้มีไว้เพื่อให้ทราบว่าจะเอาประโยชน์อะไรจากการเจริญสติตามวิธีของพระพุทธเจ้า ตลอดจนเข้าใจชัดๆกันแต่แรกว่าการเจริญสติคือการเอาสติไปรู้อะไรบ้าง จะได้ไม่ไขว้เขวออกนอกทางในภายหลัง

วิธีเจริญสติของพระพุทธเจ้านั้น เป็นไปเพื่อพบบรมสุขอันมหัศจรรย์ การจะรู้จักรสสุขอันมหัศจรรย์นั้น จิตต้องแปรสภาพเป็นดวงไฟใหญ่ล้างผลาญเชื้อแห่งทุกข์ให้สิ้นซาก ไม่หลงเหลือส่วนให้กลับกำเริบเกิดเป็นทุกข์ทางใจขึ้นได้อีก

จิตที่สว่างเป็นไฟใหญ่ล้างกิเลสนั้น คือภาวะแห่งการบรรลุมรรคผล เราไม่อาจบรรลุมรรคผลด้วยการควบคุมดินฟ้าอากาศหรือร่างกายภายนอกให้เป็นไปในทางใดๆ ทางเดียวที่จะทำได้คือเจริญสติ เพื่อพัฒนาจิตให้อยู่ในสภาพที่มีกำลัง มีความผ่องใส เป็นอิสระไม่หลง ‘ติดกับ’ เหยื่อล่อทั้งหลาย กระทั่งแก่กล้าพอจะยกระดับปฏิวัติตนเอง หมุนทวนกลับจากวังวนอุปาทานขึ้นสู่สภาพหลุดพ้นที่เด็ดขาด

หลุดพ้นจากอะไร? หลุดจากสิ่งที่นึกว่าเป็นตัวเรา หลุดพ้นจากความเกาะเกี่ยวที่ไร้แก่นสารทั้งปวง สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงให้กำหนดรู้นั่นแหละ คือสิ่งที่เรากำลังเกาะเกี่ยว โดยนึกว่าเป็นเรา หรือสำคัญมั่นหมายว่าเป็นของเรา

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงให้กำหนดรู้มีอยู่ ๔ ประการ ได้แก่

๑) กายในกาย

หมายถึงให้รู้ส่วนใดส่วนหนึ่งของความเป็นกาย เช่น ขณะนี้หลังงอหรือหลังตรง รู้เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่ามีสติเห็นองค์ประกอบหนึ่งของกายแล้ว และเมื่อรู้เช่นนั้นได้ก็ให้ตามรู้ตามดูต่อไป ว่าจะมีสิ่งใดให้เห็นภายในขอบเขตของกายได้อีก เช่นในกายนั่งหลังตรงหรือหลังงอนี้ กำลังต้องการลากลมเข้า หรือระบายลมออก หรือหยุดทั้งลมเข้าและลมออกสงัดนิ่งอยู่

ถ้าเพียรรู้กายในกายได้เสมอๆ ก็ย่อมเกิดสติเห็นตามจริงว่ากายไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะส่วนย่อยหรือส่วนใหญ่โดยรวม เราจะรู้สึกอย่างที่กายปรากฏให้รู้สึก ไม่ใช่หลงยึดว่ากายเป็นเราอย่างที่กิเลสมันบงการให้ยึด และในความไม่ยึดกายนั่นเอง จิตย่อมคลาย มีความผ่องใสไม่เป็นที่ตั้งของความโลภโมโทสันและความเศร้าโศกทั้งหลาย



๒) เวทนาในเวทนา

หมายถึงให้ทราบความรู้สึกหนึ่งๆ เช่น ขณะนี้กำลังสบายหรืออึดอัด รู้เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่ามีสติเห็นหนึ่งในความรู้สึกแล้ว และเมื่อรู้เช่นนั้นได้ก็ให้เฝ้าตามรู้ตามดูต่อไป ว่าจะมีสิ่งใดให้เห็นภายในขอบเขตของความรู้สึกสุขทุกข์ได้อีก ไม่จำกัดว่าต้องดูภาวะใดภาวะหนึ่งของเวทนาเพียงอย่างเดียว

ถ้าเพียรรู้เวทนาในเวทนาได้เสมอๆ ก็ย่อมเกิดสติเห็นตามจริงว่าเวทนามีอยู่หลากหลาย และเหล่าเวทนาก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะสบายหรืออึดอัดเพียงใด เราจะรู้สึกอย่างที่เวทนาปรากฏให้รู้สึก ไม่ใช่หลงยึดว่าความสบายเป็นของเรา กับทั้งไม่หลงยึดว่าความอึดอัดเป็นเรื่องที่ต้องรีบกำจัดทิ้งไปจากเรา และในความไม่ยึดเวทนานั่นเอง จิตย่อมคลาย มีความผ่องใสไม่เป็นที่ตั้งของความโลภโมโทสันและความเศร้าโศกทั้งหลาย



๓) จิตในจิต

หมายถึงให้รู้ภาวะของจิตในขณะหนึ่งๆ เช่น ขณะนี้กำลังสงบนิ่งหรือขัดเคืองรำคาญ รู้เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่ามีสติเห็นภาวะของจิตขณะหนึ่งแล้ว และเมื่อรู้เช่นนั้นได้ก็ให้เฝ้าตามรู้ตามดูต่อไป ว่าจะมีสิ่งใดให้เห็นภายในขอบเขตของความเป็นจิตได้อีก ไม่จำกัดว่าต้องดูภาวะใดภาวะหนึ่งของจิตเพียงอย่างเดียว

ถ้าเพียรรู้จิตในจิตได้เสมอๆ ก็ย่อมเกิดสติเห็นตามจริงว่าจิตมีอยู่หลากหลาย และบรรดาจิตก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะสงบนิ่งหรืออยู่ในภาวะขัดเคืองรำคาญ เราจะรู้สึกอย่างที่จิตปรากฏสภาพให้รู้สึก ไม่ใช่หลงยึดว่าความสงบนิ่งควรเป็นสภาพดั้งเดิมของจิตเรา กับทั้งไม่หลงยึดว่าความขัดเคืองรำคาญต้องไม่เกิดขึ้นกับจิตของเรา และในความไม่ยึดจิตนั่นเอง จิตย่อมคลาย มีความผ่องใสไม่เป็นที่ตั้งของความโลภโมโทสันและความเศร้าโศกทั้งหลาย



๔) ธรรมในธรรม

หมายถึงให้รู้สภาพธรรมต่างๆในแต่ละขณะ เช่น ขณะนี้ระลอกความคิดผุดขึ้นหรือดับลง รู้เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่ามีสติเห็นสภาพธรรมในแต่ละขณะแล้ว และเมื่อรู้เช่นนั้นได้ก็ให้เฝ้าตามรู้ตามดูต่อไป ว่าจะมีสิ่งใดให้เห็นภายในขอบเขตของสภาพธรรมต่างๆได้อีก ไม่จำกัดว่าต้องดูภาวะใดภาวะหนึ่งของสภาพธรรมเพียงอย่างเดียว

ถ้าเพียรรู้ธรรมในธรรมได้เสมอๆ ก็ย่อมเกิดสติเห็นตามจริงว่าธรรมมีอยู่หลากหลาย และปวงธรรมก็ไม่ใช่เรา ไม่ว่าสิ่งที่ผุดขึ้นขณะนี้หรือสิ่งที่ลับล่วงไปแล้ว เราจะรู้สึกอย่างที่ธรรมปรากฏสภาวะให้รู้สึก ไม่ใช่หลงยึดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผุดขึ้นเป็นเรา กับทั้งไม่หลงยึดว่าสิ่งที่ลับล่วงไปแล้วเคยเป็นเรา และในความไม่ยึดธรรมนั่นเอง จิตย่อมคลาย มีความผ่องใสไม่เป็นที่ตั้งของความโลภโมโทสันและความเศร้าโศกทั้งหลาย

จากความรู้สึกว่ากาย เวทนา จิต ธรรมไม่ใช่เรา จะพัฒนาจนกลายเป็นความรู้ชัดว่าไม่มีสิ่งใดเป็นเรา และเมื่อรู้ชัดอย่างต่อเนื่องย่อมคลายจากอาการยึดทั้งปวง เมื่อคลายจากอาการยึดทั้งปวงย่อมลิ้มรสความว่าง ว่ายอดเยี่ยมกว่ารสทั้งปวงปานใด




รู้ลมหายใจ
ขั้นแรกของการฝึกมีสติอยู่กับกาย


การเริ่มปฏิบัติที่ง่ายที่สุด คือการเข้าไปรู้สิ่งที่มีติดตัวอยู่แล้ว และปรากฏให้รู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องดัดแปลง ไม่ต้องสร้างใหม่ นั่นก็ได้แก่ลมหายใจ การฝึกมีสติอยู่กับลมหายใจนับเป็นบาทฐานของการฝึกมีสติอยู่กับกายเสมอๆ

ลมหายใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับลงอยู่ตลอดเวลา ทว่าเพียงบางขณะเท่านั้นที่เราเข้าไปรู้สึกถึงลมหายใจ เช่นเมื่อเหนื่อยหอบต้องหายใจถี่ หรือเมื่อถอนใจโล่งอกเมื่อเรื่องร้ายๆผ่านไปเสียได้ นอกนั้นลมหายใจมีก็เหมือนไม่มี เพราะไม่เคยเป็นที่สนใจรับรู้

การฝึกรู้ลมหายใจให้ได้เรื่อยๆนับเป็นความแปลกใหม่ แน่นอนว่าแรกๆเมื่อยังไม่คุ้นก็อาจทำไม่ค่อยถูก จับจุดไม่ค่อยถนัด หรือกระทั่งอึดอัดได้ ต่อเมื่อฝึกสั่งสมประสบการณ์จนกระทั่งเริ่มมีใจรักที่จะอยู่กับลมหายใจ เห็นลมหายใจเป็นเครื่องเล่นของสติ ถึงเวลานั้นสติจะตั้งรู้อยู่อย่างผ่อนคลาย และกลายเป็นศูนย์กลางของความรู้สึกตัวอย่างสำคัญ

การฝึกรู้ลมหายใจทำได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนดังนี้



๑) ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น

เมื่อเริ่มฝึกช่วงแรกสุดควรอยู่ในที่สงัดสบาย มีสติไม่เหนื่อยล้า ขอให้สังเกตว่าถ้าส่วนหลังตั้งตรงจะช่วยสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกถึงลมหายใจชัดเจนกว่าเมื่อหลังงอ กล่าวอย่างย่นย่อเพื่อให้จำง่ายคือเมื่อใดอยู่ในที่ปลอดคน ขอให้สังเกตว่ากำลังหลังตรงหรือหลังงอ เพียงเท่านั้นก็จะเกิดสติพร้อมรู้ตัวขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว และถ้าสตินั้นดันหลังให้ตั้งตรงโดยไม่ฝืน ก็นับเป็นสติพร้อมรู้สึกถึงลมหายใจในทันที จะปิดตาหรือเปิดตาไม่สำคัญ สำคัญที่ให้แน่ใจว่าจิตไม่ซัดส่ายเพราะการเคลื่อนของดวงตาเป็นพอ

๒) มีสติหายใจออก

ลากลมหายใจเข้าสบายๆ แต่อย่าเพิ่งกำหนดรู้ เพราะถ้ารีบตั้งสติกำหนดลมเข้าเสียแต่แรก คนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสายลมเข้าจนกลายเป็นเพ่งจับแรงเกินไป จึงอึดอัดคัดแน่น หรือมีกายกำเกร็งด้วยความคาดหวังเร่งรัดให้เกิดความสงบทันที แต่หากลากลมหายใจเข้าจนสุดแบบผ่อนพัก แล้วจึงกำหนดสติรู้ลมขณะผ่อนออก ก็จะไม่รีบรีดลมจนท้องเกร็ง และรู้สึกว่าลมหายใจเป็นสิ่งถูกเห็นได้ง่าย ขอให้จำไว้ว่าถ้าสบายขณะรู้สึกถึงลมหายใจออก แปลว่ามีสติขณะหายใจออกแล้ว

๓) มีสติหายใจเข้า

เมื่อผ่อนลมหายใจออกหมด ขอให้สังเกตว่าร่างกายต้องการหยุดลมนานเพียงใด เมื่อสังเกตจะทราบว่าร่างกายไม่ได้ต้องการลมเข้าทันที แต่จะมีช่วงหยุดพักหนึ่ง เมื่อรู้สึกถึงช่วงพักลมนั้นได้ตามจริง ก็จะเกิดความผ่อนคลายสบายใจ และสำคัญที่สุดคือพอร่างกายต้องการลมเข้าระลอกต่อไป ก็จะเกิดสติรู้ขึ้นเอง โปรดจำไว้ว่าการรีบดึงลมเข้าก่อนความต้องการของกายไม่ถือว่าเป็นสติ แต่นับเป็นความอยาก และขอให้สังเกตด้วยว่าอาการทางกายที่เกื้อกูลกันกับลมเข้าได้ดีที่สุด คืออาการที่หน้าท้องค่อยๆพองออกทีละน้อยกระทั่งลมสุดปอด

๔) รู้ทั้งลมยาวและลมสั้น

ช่วงลมหายใจแรกๆที่กำหนดสติรู้ ขอให้สังเกตว่าจะมีความลากเข้ายาว ผ่อนออกยาวได้อย่างสบาย ลมยาวเป็นสิ่งถูกรู้ได้ง่าย แต่เมื่อชักลมยาวได้เพียงครั้งสองครั้ง ร่างกายก็จะต้องการลมสั้นลง ซึ่งก็ต้องตั้งสติมากกว่าเดิมจึงรู้ได้ สติจะขาดตอนหรือไม่จึงมักอยู่ที่ช่วงลมสั้น หากยังรักษาสติไว้ได้ก็จะเกิดความรู้ต่อเนื่อง เมื่อฝึกจนไม่มีความอยากบังคับเอาแต่ลมยาว กับทั้งไม่เหม่อลอยขณะหายใจสั้น ก็นับว่าฝึกข้อนี้ได้สำเร็จ อุบายง่ายๆคือควรรู้สึกถึงช่วงลมหยุดให้ดีๆ อย่ารีบร้อนเร่งรัดลมเข้า ให้กายเป็นผู้บอกว่าจะเอาลมเข้าเมื่อไร สมควรยาวหรือสั้นแค่ไหน เท่านี้จะช่วยได้มาก

๕) เห็นว่าจิตเราเป็นผู้รู้ลม

ให้สำรวจเสมอๆว่าเราเพ่งจ้องลมแรงเกินไปหรือเปล่า หากเพ่งไปข้างหน้าแรงเกินพอดี ก็จะพบว่าความรับรู้ทั้งหมดมีขนาดเท่าๆกับลมหายใจ เป็นความรับรู้แน่นๆคับแคบไม่สบาย แต่หากเฝ้ารู้อยู่เบื้องหลัง ก็จะพบว่าความรับรู้มีขอบเขตกว้างเกินลมหายใจเข้าออก เช่นรู้สึกถึงท่าทางที่นั่งอยู่ด้วยว่ากำลังหลังงอหรือหลังตรง ในสภาพจิตที่รับรู้สบายๆได้เกินลมหายใจนั้น เราจะเห็นตนเองเป็นผู้รู้ทั่วถึง คือทราบลมแบบต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เพ่งเฉพาะขาเข้า ไม่รู้ชัดเฉพาะตอนยาวเหมือนเมื่อก่อน

๖) ระงับความกวัดแกว่งทางกาย

ให้เท่าทันเมื่อมีความกระดุกกระดิกทางกาย ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อเท่าทันอาการกระดุกกระดิกส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็ย่อมเห็นกายโดยรวมว่ามีความนิ่ง ในความนิ่งนั้นรู้อยู่เห็นอยู่ว่าลมกำลังออก กำลังเข้า หรือกำลังหยุดอยู่ เหมือนกายเป็นฐานที่ตั้งอันมั่นคงของลมหายใจที่เริ่มประณีต จิตก็จะพลอยระงับไม่กวัดแกว่งตามกายยิ่งๆขึ้นไปด้วย

๗) เพียรต่อเนื่องจนเกิดภาวะรู้ชัด

เมื่อทำมาตามลำดับจะรู้สึกตื่นตัวขึ้นเรื่อยๆ กายกับจิตทำงานรับกันกระทั่งเกิดภาวะรู้ชัด เปรียบเหมือนช่างกลึงผู้ชักเชือกอย่างฉลาดและขยัน เมื่อชักยาวก็รู้ชัดว่าชักยาว เมื่อชักสั้นก็รู้ชัดว่าชักสั้น สติที่ต่อเนื่องขึ้นเรื่อยๆย่อมก่อให้เกิดพลังรับรู้ไม่ขาดสาย ถึงจังหวะนี้จะรู้สึกว่าเรามีสองตัว ตัวหนึ่งเป็นรูปธรรมคือลมเข้าออกปรากฏชัดอยู่ตรงหน้า ส่วนอีกตัวหนึ่งเป็นนามธรรมคือจิตที่ตื่นตัว เต็มไปด้วยความพร้อมรู้กระจ่างใสอยู่ทุกขณะ

๘) พิจารณาลมโดยความไม่เที่ยง

ให้พิจารณาลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง เช่นมันมาจากภายนอก เข้ามาสู่ภายใน แล้วต้องคืนกลับออกไปสู่ความว่างภายนอกเหมือนเดิม หรืออาจมองว่าลมเข้าออกขณะก่อนก็ชุดหนึ่ง ลมเข้าออกขณะนี้ก็อีกชุดหนึ่ง ไม่เหมือนกัน เป็นคนละตัวกัน เห็นอย่างไรให้พินิจไปเรื่อยๆอย่างนั้น แก่นสำคัญของการเห็นคือรู้สึกชัดว่าลมหายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่อันเดิมแล้วก็แล้วกัน

๙) พิจารณาความระงับกิเลสเพราะรู้ลมอยู่

เมื่อรู้จักลมหายใจของตนเองดีพอ เราจะรู้สึกถึงลมหายใจของคนอื่นแม้เพียงมองด้วยหางตา และเห็นว่าไม่ต่างกันเลยกับของเรา นั่นคือมีออกแล้วมีเข้า มีเข้าแล้วมีออก สักแต่เป็นภาวะพัดไหวครู่หนึ่งแล้วหยุดระงับลงเหมือนๆกันหมด ถึงตรงนี้เราจะเกิดภาวะความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากสามัญ นั่นคือลมหายใจมีอยู่ก็สักว่าเพื่อระลึกรู้ และตราบใดที่จิตอยู่ในอาการสักแต่ระลึกรู้ ตราบนั้นย่อมไม่เกิดอาการทะยานอยาก ปราศจากความถือมั่นในอะไรๆในโลกชั่วคราว

เพียงด้วยขั้นแรกของการฝึกมีสติอยู่กับกายนี้ เราก็จะได้ความเชื่อมั่นขึ้นมาหลายประการ ประการแรกคือไม่ต้องออกเดินทางไปไหน เพียงกำหนดใจเข้ามาภายในกาย ดูแต่ลมหายใจ ก็ยุติความทะยานอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ได้แล้ว

ประการที่สอง เมื่อดูลมหายใจเป็น เราจะได้ราวเกาะของสติชั้นดีที่มีติดตัวอยู่ตลอดเวลา ตราบใดยังมีลมหายใจ ตราบนั้นเราได้แหล่งเจริญสติเสมอ ไม่ต้องเปลืองแรงเดินทางไปไหน

และอีกประการที่สำคัญและไม่ควรนับเป็นประการสุดท้าย เราจะได้ความเข้าใจว่าที่ลมหายใจมีความเหมาะสมสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกเจริญสติ ก็เพราะเราสามารถใช้เป็นเครื่องตรวจสอบสติได้อย่างชัดเจน ว่ากำลังอยู่กับปัจจุบันอย่างถูกต้องหรือผิดพลาด เนื่องจากลมหายใจมีได้เพียงสามจังหวะ คือเข้า ออก และหยุด ไม่มีนอกเหนือไปจากนี้ หากขณะหนึ่งๆเราบอกไม่ถูกว่าลมกำลังอยู่ในจังหวะไหน ก็แปลว่าสติของเราขาดไปแน่ๆ และเมื่อรู้ว่าสติขาด ก็จะได้รู้ต่อว่าควรนำกลับมาตั้งไว้ตรงไหนด้วย





Create Date : 16 ตุลาคม 2550
Last Update : 21 กันยายน 2553 16:54:34 น. 6 comments
Counter : 838 Pageviews.

 
4 ข้อที่พระพุทธเจ้าท่าสั่งให้กำหนดรู้ นี่ใช่ สติปัฏฐาน 4 ใช่ไหมครับ จำได้ตอนที่ก่อนจะถือศีลทุกครั้ง ต้องท่องว่า กาย เวทนา จิต ธรรม น่ะครับ

ผมเองเมื่อก่อนปฏิบัติธรรมบ่อยมากเลยครับ เน้นสาย พอง-ยุบ ปัจจุบัน ทำงานแล้ว ไม่มีเลยครับ โอกาสที่จะไป

และสุดท้าย เมื่อไหร่ คำว่าไม่มีเวลา มันจะไปจากตัวผมซะทีหนอ 55555


โดย: null (เข็มขัดสั้น ) วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:16:06:55 น.  

 


กำลังทำอยู่จ้า


โดย: maxpal วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:16:21:16 น.  

 
กำลังพยายาม แต่มันยากจัง เมี้ยว


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:16:54:30 น.  

 
ปุ๊ก ช่วงนี้สติไม่ค่อยอยู่กะเนื้อกะตัวพอดี 555 แต่ช่วงที่ได้ไปยุวพุทธ เราว่าเราได้อยู่กะตัวเองมากๆ ปีนี้ยังไม่ได้ไปยาวๆเลย ไปแค่ 3 - 4 วัน เหมือนยังไม่ค่อยได้อะไร จะหมดปีแย้ว ไม่รู้จะมีเวลาได้ไปปฏิบัติธรรมอีกอะป่าว อยู่บ้านแล้วจิตใจมันวุ่นวายเหลือเกิน 555


โดย: eeh (คิตตี้น้อยสีชมพู ) วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:17:10:41 น.  

 
คือว่า เดี๋ยวกลับมาอ่านน้า
พอดีง่วงมากค่ะ


โดย: Piterek วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:21:15:58 น.  

 
ชอบเป็นพิเศษตรง 9 ข้อด้านล่าง มีเคล็ดที่เป็นประโยชน์ทุกข้อเลย


"นั่นคือลมหายใจมีอยู่ก็สักว่าเพื่อระลึกรู้ และตราบใดที่จิตอยู่ในอาการสักแต่ระลึกรู้ ตราบนั้นย่อมไม่เกิดอาการทะยานอยาก ปราศจากความถือมั่นในอะไรๆในโลกชั่วคราว"
ชอบตรงนี้ด้วย เห็นด้วยว่าใช่เลย เป็นเช่นนี้จริงๆ


โดย: อะไรคือสิ่งหายาก แต่ไม่มีค่า วันที่: 16 ตุลาคม 2550 เวลา:22:46:25 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Hobbit
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]











ตามรอยพระอริยะ
หลวงพ่อชา สุภัทโท
พระโพธิญานเถระแห่งหนองป่าพง





ฺประมวลธรรมเทศนา
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
อ่านออนไลน์ได้ที่นี่ค่ะ

ขอบคุณครูซุปเคมากนะคะที่ส่งให้ (-/l\-)
http://www.supkcenter.com






MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
16 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Hobbit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.