happy memories
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2559
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
13 สิงหาคม 2559
 
All Blogs
 

เสพงานศิลป์ ๒๕๓





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










วิจิตรพัสตรา ๘๔ พรรษา บรมราชินีนาถ



ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยให้คนไทยและคนต่างชาติได้ชื่นชม โดยเฉพาะการส่งเสริมความงามของศิลปะ “งานปัก” ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ห้างเซ็นทรัลชิดลม และศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เตรียมจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “วิจิตรพัสตรา ๘๔ พรรษา บรมราชินีนาถ” ระหว่างวันที่ ๕-๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ ดิ อีเวนต์ฮอลล์ ชั้น ๓ ห้างเซ็นทรัลชิดลม และวันที่ ๕-๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี










ยุวดี จิราธิวัฒน์ บอสใหญ่กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ครั้งนี้ว่า เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตร อันงดงามของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมร่วมสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์ภูมิ– ปัญญาไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมความงามของศิลปะ “งานปัก” ซึ่งความพิเศษของงานคือการรวบรวมความหลากหลายของงานปักไว้ในที่เดียว อาทิ ความงดงามของผ้าพื้นเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ทั้งในด้านทอผ้าไหม ผ้าฝ้าย งานปักพัสตราภรณ์โขน งานปักซอยแบบไทยโบราณ การปักผ้าชาวไทยภูเขา และอีกหนึ่งไฮไลต์พิเศษที่หาชมยากมากคือ ฉลองพระองค์ใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จำนวน ๗ องค์ ที่ตัดเย็บจากผ้าไทยและโดดเด่นด้วยลายปักอันวิจิตรงดงาม ซึ่งปกติจะเห็นในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เท่านั้น










โดยนิทรรศการฯในส่วนของห้างเซ็นทรัลชิดลม จัดเป็น ๘ โซน ได้แก่ Zone A : “วิจิตรพัสตรา ๘๔ พรรษา บรมราชินีนาถ” บอกเล่าที่มาของการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ต่อด้วย Zone B : จากผ้าทอที่ใช้สอย สู่ผ้าไทยที่สร้างชื่อ จุดเริ่มต้นที่ทรงสนพระราชหฤทัยผ้าพื้นเมืองแทบทุกประเภทอย่างแท้จริง โดยทรงตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯขึ้น เพื่อส่งเสริมการทอผ้าของชาวบ้าน Zone C : ปักพัสตรา...โขนพระราชทาน ทรงมีพระราชดำริให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในการแสดงโขนพระราชทาน ทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณ รวมทั้งฟื้นฟูเทคนิคต่างๆแบบโบราณที่เกือบเลือนหายไป Zone D : ผ้าปักซอยจากแดนใต้ ทรงริเริ่มให้ชาวบ้านในภาคใต้มีอาชีพเสริมจากการปักผ้า Zone E : ผ้าปักจาก 6 ชนเผ่า นำเสนอผ้าปักของชาวไทยภูเขา ๖ ชนเผ่า Zone F : ประณีตศิลป์บนผืนผ้า สู่พัสตราฉลองพระองค์ นำเสนอความงามวิจิตร ๗ ฉลองพระองค์ใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่มีการตกแต่งด้วยงานปักอันประณีต Zone G : กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นำเสนอความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ Zone H : กิจกรรม DIY ชวนผู้ชมงานเลือกชิ้นผ้าปัก เพื่อนำมาเย็บบนถุงผ้าดิบหรือเสื้อยืด แล้วนำกลับไปเป็นที่ระลึก














ส่วนที่ ศูนย์ การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, จัดแสดงชุดผ้าไทยผสมผสานกับงานปักแบบต่าง ๆ จำนวน ๑๗ ชุด ออกแบบสร้างสรรค์โดย ๓ สุดยอดดีไซเนอร์ระดับตำนานแห่งวงการแฟชั่นไทย ได้แก่ ธีระพันธ์ วรรณรัตน์ แห่งแบรนด์ TIRAPAN, พิจิตรา บุณยรัตพันธุ์ แบรนด์ PICHITA, นคร สัมพันธารักษ์ แบรนด์ NAGARA และ ๗ ดีไซเนอร์ชั้นนำของไทย ได้แก่ อัญชลี วิกสิตนาคกุล แบรนด์ ANCHAVIKA, พลพัฒน์ อัศวะประภา แบรนด์ ASAVA, ไดน่า นิมิตรวานิช แบรนด์ CALISTA, กรัชเพชร อิสสระ แบรนด์ KEMISSARA, มลลิกา เรืองกฤตยา แบรนด์ KLOSET, ปฏิญญา เกี่ยวข้อง แบรนด์ PATINYA และ ธีร์รัฐ ว่องวัฒนะสิน แบรนด์ VICKTEERUT ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นนิทรรศการแล้ว ชุดผ้าไทยทั้งหมดจะจำหน่ายเพื่อนำรายได้สมทบมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ต่อไป นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมไฮไลต์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้มาชมงานได้ร่วมกันปักบนผืนผ้าไหมสีฟ้าอมน้ำเงิน ด้วยเส้นไหมสีทองเป็นคำว่า “Long Live The Queen” ความยาว ๗ เมตร ซึ่งจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต่อไป.



ภาพและข้อมูลจาก
thairath.co.th















เฉลิมพระเกียรติ พระราชินี ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม



วธ. จัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ เผยแพร่พระเกียรติคุณ พระราชกรณียกิจ และความเป็นเลิศด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่าน ๗ กิจกรรมทางวัฒนธรรมในหลายมิติ-ตามหาบุคคลในภาพ ๘ รายที่ถวายงาน การแสดงคอนเสิร์ต นิทรรศการผ้าไทย ตักบาตรพระสงฆ์ ๑๘๕ รูป

วันที่ ๓ ส.ค. ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ว่า วธ.กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ พระราชกรณียกิจ และความเป็นเลิศด้านศิลปวัฒนธรรม ผ่านการนำเสนอกิจกรรมทางวัฒนธรรมในหลายมิติ ๗ กิจกรรมสำคัญ ดังนี้

๑. การตามหาบุคคลในภาพที่เคยถวายงานตามพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน ๘ ภาพ ซึ่งได้มอบหมายให้ สวธ.เร่งตามหาบุคคลในภาพทั้ง ๘ จากนั้นจะเชิญมาถ่ายทอดความรู้สึกและสำนึกในพระกรุณาธิคุณในวันที่ ๑๑ สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

๒. การแสดงคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติฯ “Beethoven Gala” ในวันที่ ๑๑ ส.ค. ๒๕๕๙ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และการแสดงละคร เรื่อง ขุนช้าง - ขุนแผน ในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖o ณ โรงละครแห่งชาติ

๓. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ อาทิ นิทรรศการผ้าไทยเฉลิมพระเกียรติ นำเสนอผ้าในราชสำนัก วิธีการแต่งกายแบบโบราณ การดูแล รักษาผ้า และการปรุงแต่งผ้าให้มีกลิ่นหอม เงางามอย่างพิถีพิถัน ตลอดเดือนสิงหาคม ๒๕๕๙ ณ พระที่นั่งอุตราภิมุข พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

๔. การจัดพิมพ์หนังสือ และสารคดีเฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ หนังสือสตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย หนังสือพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส และหนังสืออัคราภิรักษศิลปิน โดยจะมอบให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) องคมนตรี และห้องสมุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสารคดียาวประมาณ ๔ นาที โดยจะเผยแพร่ในการประชุมครม.และเผยแพร่ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เว็บไซต์และยูทูป

๕. พิธีทางศาสนาเฉลิมพระเกียรติฯ ได้แก่ พิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายเป็นพระราชกุศลทุกจังหวัด ในวันที่ ๑๒ ส.ค. ๒๕๕๙ เวลา ๗.oo0 น.พร้อมกันทั่วประเทศ

๖. โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลำน้ำ ณ ลำห้วยน้ำขาว หมู่ที่ ๑๓ อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี

๗. กิจกรรม “บูชามหาธาตุ เถลิงราชย์ธรรมราชา” โดยอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ๖ ยุคสมัย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ให้ประชาชนสักการะ ตั้งแต่บัดนี้ถึง ๓o ต.ค. ๒๕๕๙

นายวีระ กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบให้ วธ. จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตั้งแต่เวลา ๗.oo น. จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๑๘๕ รูป โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จากนั้นเวลา ๒o.oo - ๒๓.๓o น.จัดการแสดงเฉลิมพระเกียรติฯ



พระฉายาลักษณ์และข้อมูลจาก
manager.co.th
photoontour.com














“งานศิลป์ของแม่” ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร



ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน จัดกิจกรรม “งานศิลป์ของแม่” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๙

ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน จะจัดกิจกรรม “งานศิลป์ของแม่” เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โดยชวนประชาชน ร่วมลงนามถวายพระพร ชมนิทรรศการ เลือกซื้อสินค้าหัตถกรรมจากศิลปาชีพฯ ชมการแสดงวัฒนธรรม กิจกรรมคอนเสิร์ต ร่วมจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และตื่นตาตื่นใจกับการแสดงพลุประกอบดนตรี “พรรษา ๘๔ บารมีพระแม่ไทย” จำนวน ๘,๔๙๙ นัด ตระการตากลางแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเปิดให้เข้าชมงานฟรีตลอดการจัดงานระหว่างวันที่ ๑๒-๑๔ สิงหาคมนี้ ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ o๘-๘๒๒๒-๔๑๔๕ หรือ o๙-๘๖๓๕-๖๓๖๕







ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














"๘๔ คำแม่สอน" The Queen of our hearts



"84 คำแม่สอน" ตลอดระยะเวลาเกือบ ๗o ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการ เคียงคู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงบำบักทุกข์บำรุงสุขอรณาประชาราฎร์บนแผ่นดินไทย ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งทรงเปรียบเสมือน "แม่ของแผ่นดิน" เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๗ รอบ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙ จึงขออัญเชิญพระราโชวาท พระราชดำรัส ที่เคยพระราชทานไว้ในโอกาสต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้และเข้าใจในพระราชกรณียกิจมากขึ้น อีกทั้งยังใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเพื่อเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทต่อไป

"สันติสุขที่ทุกคนเรียกร้องหากันนักหนานั้น จะมีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนมากประพฤติตนอยู่ในสุจริตธรรม ตราบใดที่คนเราเรียกร้องหาสันติสุขกันแต่ปาก แต่กระทำสิ่งทุกอย่างตามอำเภอใจของตนไม่เคยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมกันเลย จะเกิดความสงบสุขได้อย่างไร" - พระราชดำรัส ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรผดุงครรภ์และอนุปริญญาบัตรพยาบาลและอนามัย ณ หอประชุมราชแพทยาลัย วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๕

"ทุกคนจึงควรภูมิใจในเผ่าพันธุ์ไทย และวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของเรา และสำนึกว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่จะรักษาให้ดำรงอยู่ได้ตลอดไป" - พระราชดำรัสในวโรกาสเสด็จฯ ไปงานฉลองอายุครบ 50 ปีโรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๑๑



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














นิทรรศการเครื่องโขน



นิทรรศการเครื่องโขน เป็น ๑ ใน ๒ นิทรรศการพิเศษที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

นิทรรศการเครื่องโขน นำเสนอเรื่องราวของเครื่องแต่งกายโขน เริ่มต้นจากข้อความอันปรากฏอยู่ในกฏมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ระบุถึงพระราชพิธีอินทราภิเษก ซึ่งต้องจัดให้มีการ “เล่นชักนาคดึกดำบรรพ์” หรือ กวนเกษียรสมุทรตามคติพราหมณ์ อันถือเป็นพระราชพิธีเกี่ยวกับความเป็นพระจักรพรรดิราชของพระมหากษัตริย์ ผู้เข้าร่วมประกอบพิธีจะต้องแต่งกายเป็นเทวดา ยักษ์ และวานร โดยระบุชื่อตัวละครสำคัญไว้ คือ “พาลีสุครีพมหาชมพูแลบริวารพานร”

นอกจากนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานว่าโขนเริ่มแพร่หลายจากพราหมณ์ในราชสำนักที่เล่าหรือสาธยายเรื่องรามเกียรติ์ในที่รโหฐาน จากนั้นมีการนำดนตรีปี่พาทย์ อุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนตัวหนัง ตัวหุ่นเข้าประกอบ จนที่สุดมีการใช้ตัวแสดงแต่งเครื่อง ร่ายรำทำท่าทางต่างๆตามบท การประกอบพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์

แม้จะมิใช่การแสดงโขนอย่างชัดเจน แต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ เชื่อมโยงมาสู่การสร้างเครื่องแต่งกายตามลักษณะของตัวละคร ในเรื่องจนกลายเป็นมหรสพสำคัญของราชสำนักที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้จัดแสดงในโอกาสต่าง ๆ

ช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๙๙ - พ.ศ. ๒๒๓๑) โขนมิได้เป็นการแสดงถึงพิธีกรรมของราชสำนักเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นการแสดงที่ได้รับความนิยมและจัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานเป็นสำคัญ

นิทรรศการในส่วนแรกเล่าเรื่องประวัติที่มาของโขน เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจพร้อมจัดแสดงกฏมณเฑียรบาลจำลองในสมัยอยุธยา พร้อมด้วยภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถวัดสุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นภาพเทพชุมนุมในพัสตราภรณ์ที่เชื่อมโยงให้เห็นเค้าลางของอิทธิพลที่มีต่อเครื่องโขนในอดีต

เนื่องด้วยตัวละครหลักส่วนหนึ่งในการแสดงโขน คือ เหล่าเทวดา กษัตริย์แห่งกรุงอโยธยา และยักษ์อสุรพงศ์จากกรุงลงกาและเมืองอื่นๆเครื่องแต่งกายจึงทำขึ้นเลียนเครื่องต้นเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ และพัสตราภรณ์ของพระราชวงศ์ที่ใช้อยู่ในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและพระ ราชพิธีโสกันต์

ดังปรากฏในพระบรมฉายาลักษณ์ และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๓๙๔- พ.ศ. ๒๔๑๑) และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๓)

ความวิจิตรงดงามของเครื่องถนิมพิมพาภรณ์และพัสตราภรณ์ของเครื่องต้นเครื่องทรงเหล่านั้น ได้กลายเป็นที่มาและแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ เครื่องโขน องค์ประกอบต่างๆที่ประกอบเป็นพระเครื่องต้นเครื่องทรง อันได้แก่ฉลองพระองค์ สนับเพลา พระภูษาโจง สังวาล ทับทรวง ตาบทิศ ทองกร ปั้นเหน่ง สายรัดพระองค์ และกำไลข้อพระบาทล้วนมาปรากฏอยู่ในเครื่องโขนทั้งสิ้น

“สำหรับเครื่องโขนที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานปรากฏอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เครื่องโขนแม้ว่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากเครื่องทรงของกษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ แต่จะไม่สร้างให้ทัดเทียมกษัตริย์ โดยมีการทดทอนวัสดุลง วัสดุที่นำมาใช้ในเครื่องโขนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นเลื่อม ลูกปัด หรือ ผ้ายกส่วนใหญ่นำมาจากอินเดีย ส่วนผ้าแพรพรรณมาจากจีน ล้วนเป็นของคุณภาพดี ราคาสูง

ปัจจุบันด้วยศักยภาพของสมาชิกศิลปาชีพที่เพิ่มมากขึ้นจากการวางรากฐานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สามารถทอผ้ายกแบบโบราณได้เทียบเท่าของเดิม ไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ” วิทวัส เกตุใหม่ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ นิทรรศการเครื่องโขน กล่าว

สำหรับพัฒนาการของเครื่องโขนในยุคปัจจุบัน เกิดขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงสนับสนุนให้ฟื้นฟูการจัดแสดงโขนขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูงานหัตถศิลป์ชั้นสูงต่าง ๆ จนเกิดเป็นเครื่องโขนพระราชทาน ซึ่งถือเป็นงานประณีตศิลป์อันทรงคุณค่าของไทย

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวบรวมผู้รู้ทำการศึกษาค้นคว้า และดำเนินการจัดสร้าง “เครื่องโขน” ขึ้นใหม่ ให้งดงามสมกับเป็นโขนแบบราชสำนัก นับเป็นการฟื้นฟูประณีตศิลป์หลายสาขา ทั้งงานทอผ้ายกทองแบบราชสำนัก งานปัก งานออกแบบและประดิษฐ์เครื่องถนิมพิมพาภรณ์และพัสตราภรณ์ ครั้งสำคัญ

นิทรรศการ เครื่องโขน (Dressing Gods and Demons: Costume for Khon) เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖o ณ ห้องจัดแสดง ๓-๔ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๙.oo – ๑๖.๓o น.
















ภาพและข้อมูลจาก
FB กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์














ดูแฟชั่นแล้วย้อนดูโลก



ขอเชิญพบการเสวนาที่จะพาคุณไปพบกับเรื่องราวน่ารู้มากมายภายใต้การเปลี่ยนไปของพัสตราภรณ์สตรีไทยในการพูดคุยประกอบนิทรรศการ "พิศภาพแล้วเพลินพูด" ณ ห้องศรีอยุธยา หอวชิราวุธานุสรณ์
ในวันที่ ๒o สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๔.oo นาฬิกา

วิทยากร
๑. ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
๒. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
๓. นายลุพธ์ อุตมะ นักวิชาการอิสระ ผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องเครื่องแต่งกายในอดีตเปรียบเทียบสังคมตะวันตกและตะวันออก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและแจ้งความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมได้ทาง
Inbox Page : มูลนิธิเพชรรัตน - สุวัทนา และ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ ร.๖
Line ID : bs-69 (เพชรรัตน - สุวัทนา)



ภาพและข้อมูลจาก
FB Art Bangkok Thailand














มรดกศิลปกรรม อัมพวา



ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม คงจะมีผู้คนหลั่งไหลไปเยือนเหมือนเช่นทุกสัปดาห์ มากกว่าการไปกิน ไปชอปปิ้ง ไปท่องเที่ยว ไปพักผ่อน คนที่สนใจด้านศิลปวัฒนธรรม ระหว่างนี้หากแวะไปเยือนอัมพวา ไม่ควรพลาดแวะชม นิทรรศการ “มรดกศิลปกรรม อัมพวา” ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบางแคใหญ่ จ.สมุทรสงคราม ที่กล่าวกันว่าเป็นเพชรน้ำเอกของศิลปะยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สมบูรณ์ที่สุด

โดยผู้ที่ทำการคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ และนักศึกษา ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้รับการสนันสนุนจาก กลุ่มบริษัทนานมี เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( ผู้ทรงมีพระราชดำริให้เกิด โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์)ทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา





ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิรัญญา ดวงรัตน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปไทย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิรัญญา ดวงรัตน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีงานศิลปะไทยตามวัดวาอารามต่าง ๆได้ถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ต้องมีการอนุรักษ์ศิลปกรรมไทยที่เสียหายขั้นวิกฤตนี้อย่างเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบางแคใหญ่ จ.สมุทรสงคราม โดยศิลปิน อาจารย์และนักศึกษาภาควิชาศิลปไทยได้ร่วมมือร่วมใจกันทำการคัดลอกทั้งกระบวนการตามแบบแผนเทคนิคช่างโบราณ ทั้งการประกอบไม้ การเตรียมพื้นผิว การเตรียมสีจากวัสดุธรรมชาติ การคัดลอกลาย การปิดทอง และการตัดเส้น เป็นต้น ซึ่งกระบวนการต่างๆนี้ทำโดยวิธีแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอน เพื่อให้การคัดลอกเหมือนต้นแบบให้มากที่สุด

ขณะที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบางแคใหญ่ เป็นจิตรกรรมไทยที่มีความงดงาม มีเอกลักษณ์ และเป็นเพชรน้ำเอกแห่งศิลปะไทยในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรมไทย ดังนั้นการจัดแสดงภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบางแคใหญ่ จึงถือเป็นโอกาสดีที่คนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยวจะได้ศึกษา และเห็นคุณค่าของศิลปะไทยมากยิ่งขึ้น










ทรรศการ “มรดกศิลปกรรม อัมพวา” เปิดให้เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ - ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ บริเวณตลาดน้ำอัมพวา อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นอกจากจัดแสดงภาพคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบางแคใหญ่ ยังจัดแสดงภาพวาดผลงานของเด็กและเยาวชนในชุมชนอัมพวา จากกิจกรรมประกวดวาดภาพวาดเยาวชนในหัวข้อ “อัมพวา”

นางปรีญาณี สุพุทธิพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทนานมี กล่าวว่า ศิลปะจะยั่งยืนยาวนานสืบต่อไปได้นั้นมีรากฐานมาจากคนในสังคม อัมพวาเป็นชุมชนที่เข้มแข็งและมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะมายาวนาน กิจกรรมนี้จะช่วยปลูกฝังให้เด็กๆในชุมชนได้มีส่วนร่วม เกิดความรัก เกิดภาคภูมิใจ เกิดความหวงแหน มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ศิลปกรรม อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้คงอยู่ตลอดไป







ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














ยุโรป ประทับใจ



สาทร 11 อาร์ต สเปซ ขอเชิญชมนิทรรศการแสดงผลงานเดี่ยวของ นุกูล ปัญญาดี ชุด “ ยุโรป ประทับใจ ”
นุกูล ปัญญาดี ถือว่าเป็นหนึ่งในศิลปินสีน้ำเก่งอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย และยังมีนิทรรศการของตัวเองมานับไม่ถ้วน ทั้งในประเทศไทย รวมถึงอีกหลากหลายประเทศ

เมื่อ ๓ ปีก่อน นุกูล ปัญญาดี ได้ไปใช้ชีวิตอยู่แถบยุโรปตะวันออก เพื่อออกเดินทางตามครอบครัวไปทำภารกิจ และใช้เวลาว่างทำงานศิลปะควบคู่ไปด้วย การค้นหามุมมองใหม่ ๆ มาพัฒนาศิลปะของตนเอง เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง นุกูลได้วาดภาพสีน้ำและภาพสเก็ตหลากหลาย เสมือนหนึ่งเป็นการบันทึกการเดินทางตามสถานที่ต่าง ๆ ที่แปลก และน่าสนใจ ออกมาในสไตล์ของนุกูลเอง

บัดนี้ ผลงานทั้งหมด จะถูกเผยแพร่สู่สายตาสาธารณชนในเมืองไทย ณ สาทร 11 อาร์ต สเปซ
ในวันที่ ๑o สิงหาคม ถึง ๑o กันยายน ๒๕๕๙



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





 

Create Date : 13 สิงหาคม 2559
0 comments
Last Update : 13 สิงหาคม 2559 10:36:48 น.
Counter : 3085 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.