happy memories
Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
20 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
ความหมายของไฮกุ




ภาพจาก pinterest.com



ลองหาคำอธิบายภาษาไทยของคำว่า "ไฮกุ" ใน google แล้วเจอเวบของวิกิพีเดีย บอกไว้ว่าอย่างนี้ค่ะ

ไฮกุ (Haiku) เป็นบทกวีญี่ปุ่น เป็นสุดยอดของบทกวีทั้งหลาย ซึ่งบทกวีอื่นมีความยาวมากน้อยต่างกันและมีบังคับสัมผัสตามหลักฉันทลักษณ์ ทำให้บทกวีดังกล่าวไม่เหมาะกับการแสดงออกถึงปรากฏการณ์ทางจิต-วิญญาณและความลึกซึ้งออกมาได้ เนื่องจากบทกวีได้ถูกบังคับยึดติดกับรูปแบบและข้อจำกัดตายตัว แต่บทกวีไฮกุได้ตัดทอนลงให้เหลือเพียงตัวอักษร ๓ วรรค ยาว ๕ - ๗ - ๕ รวมเป็นตัวอักษรเพียง ๑๗ ตัวเท่านั้น ไฮกุ มีพื้นฐานคือ เรียบง่าย และ ดั้งเดิม จึงไม่ยึดติดกับแบบแผน ไม่มีข้อจำกัด ไหลเรื่อยตามธรรมชาติ สั้นกระชับที่สุด ตรงที่สุด และเป็นไปอย่างฉับพลัน ตามสภาวะสัจจะล้วน ๆ เรียบง่ายและตรงความรู้สึก ออกมาจากใจของกวี โดยปราศจากอุปสรรคขวางกั้น แสดงความงาม ความเศร้า ความสงบ ความปิติ ความเก่าแก่ เปลือยเปล่าอยู่ภายใต้แสงแดดอันอบอุ่น ในวินาทีแห่งการสร้างสรรค์สิ่งอัศจรรย์ที่ไฮกุได้ถือกำเนิดขึ้น


อา เจ้าดอกซากา
ถังน้ำถูกเถาของเจ้าพัวพัน
ฉันวอนขอน้ำน้อยหนึ่งได้ไหม
--ชิโย


ในครั้งกระนั้นกวีหญิงชิโยมาตักน้ำในบ่อน้ำเธอได้พบว่าที่ตักน้ำได้ถูกเกี่ยวกระหวัดไว้ด้วยเถาของดอกซากา (มอร์นิ่งกลอรี่ Morning Glory) เธอได้ตะลึงงันด้วยความงามของมันจนลืมนึกถึงงานที่จะต้องทำ เมื่อมีสติ จึงนึกถึงภาระที่ต้องทำขึ้นมาได้ แต่เธอก็ไม่อยากจะไปรบกวนดอกไม้นั้น เธอจึงไปตักน้ำที่บ่อของเพื่อนบ้านแทน


เริงรำจากใบหญ้าใบนี้
สู่ใบโน้น
ไข่มุกหยาดน้ำค้าง
--รานเชตสุ


บทกวีรานเชตสุแสดงออกถึงความปิติรื่นเริงเบิกบานอย่างแท้จริง เมื่อชีวิตได้รับการหล่อเลี้ยงจากความงาม ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยปิติสุข น้ำค้างเป็นตัวแทนของความปิตินี้ ไหลหยดย้อยด้วยลีลาของธรรมชาติ ดั่งการร่ายรำของหยาดน้ำค้าง จากใบหญ้าใบนี้สู่ใบโน้น น้ำค้างที่บริสุทธิสะอาดและประกายแวววับดุจไข่มุกเมื่อต้องแสงอาทิตย์ จิตวิญญาณของกวีไฮกุ ได้ถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมาและมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิเต๋าและนิกายเซนอย่างที่สุด


รายชื่อนักกวีไฮกุที่สำคัญ
มะสึโอะ บะโช (Matsuo Bash)

เอกสารอ้างอิง
พจนา จันทรสันติ, "วิถีแห่งเต๋า"







มะสึโอะ บะโช



มะสึโอะ บะโช [ ญี่ปุ่น : พ.ศ. ๒๑๘๗ (ค.ศ. ๑๖๔๔) – ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๒๓๗ (ค.ศ. ๑๖๙๔) ] หรือ บะโช เป็นนามแฝงของ มะสึโอะ มุเนะฟุซะ (Matsuo Munefusa) เป็นกวีชาวญี่ปุ่น ผู้ซึ่งได้รับสมญานามเป็นปรมาจารย์ทางด้านบทกวีไฮกุ (Haiku) ในงานกวีที่เขาได้แต่งขึ้นเขียนเพียงชื่อ (ฮะเซะโอะ) เขาเป็นหนึ่งในกวีที่อยู่ในช่วงยุคสมัยเอะโดะ (Edo)

บะโช เกิดในอิงะ (Iga) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมิเอะ (Mie prefecture) ในตระกูลซามูไร ภายหลังจากการใช้ชีวิตหลายปีภายใต้วิถีชีวิตซามูไร เข้าได้ค้นพบว่าการเป็นนักประพันธ์นั้นเหมาะกับเขามากกว่า เขาจึงได้ละทิ้งวิถีชีวิตซามูไร บะโชได้เริ่มใช้ชีวิตแบบกวีเมื่อได้รับใช้เจ้านายในฐานะซามูไร ในตอนแรกเขาได้ตั้งชื่อตนเองว่า โทะเซ (Tosei ตามบทกวีโทะเซ ซึ่งหมายถึงผลพีชเล็ก ๆ (unripe peach) ด้วยบะโชมีความยกย่องนับถือในตัวกวีจีนชื่อหลี่ไป๋ ซึ่งหมายถึงลูกพลัมสีขาว

ในปี ค.ศ. ๑๖๖๖ เมื่อเจ้านายเก่าได้สิ้นชีวิตลง และมีเจ้านายใหม่ซึ่งเป็นพี่น้องของเจ้านายเดิมขึ้นมาปกครอง เขาได้เลือกกลับไปบ้าน แทนที่จะรับตำแหน่งต่อในฐานะซามูไร และย้ายไปเอะโดะในปี ค.ศ. ๑๖๗๕ (ปัจจุบันคือโตเกียว) ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๖๗๘ ที่เอะโดะ เขาได้รับตำแหน่งให้เป็นปรมาจารย์ไฮกุ Haiku master (Sosho) และเริ่มชีวิตของกวีอาชีพ ในปี ค.ศ. ๑๖๘o ได้ย้ายไปยังฟุกุงะวะ (ส่วนหนึ่งของเอะโดะ) และได้เริ่มปลูกต้นบะโช (ต้นกล้วย) ที่เขาชื่นชอบในบริเวณสวน ภายหลังจากเขาที่ได้ใช้ชื่อตัวเองว่าบะโช

ในช่วงชีวิต บะโชได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปหลายแห่ง สถานที่ ๆ มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และสถานที่ที่ปรากฏในงานประพันธ์ การท่องเที่ยวเหล่านี้มีส่วนสำคัญในงานเขียนของเขา สถานที่บางแห่งได้ส่งเสริมให้มีจินตนาการที่ยิ่งใหญ่ ในการเดินทางบะโชได้พบสานุศิษย์ และสอนพวกเขาด้วยเร็งงะ (renga)

หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เส้นทางสายเล็ก ๆ ไปสู่ทางเหนือ (The Narrow Road Through the Deep North, Oku no Hosomichi) เขียนขึ้นภายหลังจากการเดินทางของบะโชและลูกศิษย์ ซึ่งเริ่มจากเอะโดะในวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๖๘๙ และพวกเขาเดินทางไปโทโฮะกุและโฮะกุริกุ จากนั้นจึงกลับสู่เอะโดะในปี ค.ศ. ๑๖๙๑ การเดินทางในหนังสือนี้จบลงที่โองะกิและมิโนะ (ปัจจุบันคือจังหวัดกิฟุ) ด้วยบทหนึ่งในไฮกุที่เขาแสดงความหมายโดยนัยว่า จะเดินทางไปศาลเจ้าอิเซะต่อ ภายหลังจากการพักอยู่ที่โองะกิ บะโชเสียชีวิตเพราะโรคภัยไข้เจ็บในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. ๑๖๙๔ ที่โอซากา ภายในบ้านของลูกศิษย์ที่เขาร่วมเดินทางไปด้วย ก่อนสิ้นใจ บะโชได้เขียนไฮกุสุดท้าย




ป้ายหลุมศพของบาโช
ภาพจากเวบ wikipedia









ลายมือของบาโช


ในการเดินทางฉันป่วย
ความฝันวิ่งอยู่รอบกาย
ในทุ่งที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้ง

Tabini yande
Yume ha kareno wo
Kake meguru

On travel I am sick
My dream is running around
A field covered with dried grasses.



บทกวีที่มีชื่อเสียงของบะโช

"ในสระเก่า" "furuike ya" ("oh, old pond!")
อา ในสระเก่า
กบกระโดด
ป๋อม!

Furuike ya
Kawazu tobikomu
Mizu no oto

Oh, an old pond!
A frog jumps in
The sound of water.



เกร็ดเกี่ยวกับ บะโช Basho หรือ ต้นกล้วย


เนื่องจากสภาพอากาศนั้นหนาวเย็นเกินกว่าที่กล้วยจะมีผลได้ ว่ากันว่า เขาตั้งใจว่าจะสื่อความหมายของบทกวีที่มิอาจมีผล หรือไร้ผล (useless poet) และเนื่องจากบะโชได้ศึกษาเซน เช่นนี้ เป็นไปตามแนวคิดของเซน



มะสึโอะ บะโช


บทความและลิงก์ที่เกี่ยวข้อง

มะสึโอะ บะโช
anoca.org

เร็งงะ
www.anoca.org/renga

มะสึโอะ บะโช
poetry-chaikhana

มะสึโอะ บะโช
wwu.edu

ไฮกุ
simplytom

เส้นทางสายเล็ก ๆ ไปสู่ทางเหนือในภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ
uoregon.edu









ภาพจาก urania-josegalisifilho.blogspot.com


กลอนจากใจ 'ไฮกุ'


'ไฮกุ' คำประพันธ์ของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง หลายคนอาจเคยผ่านสายตามาบ้าง ส่วนใหญ่ก็มักจะสะดุดตาและสะดุดใจที่ 'ไฮกุ' เป็นคำประพันธ์ที่ใช้คำง่าย ๆ น้อย ๆ มีเพียง ๓ บรรทัด รวม ๑๗ พยางค์เท่านั้น แต่มีผลให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์มากทีเดียว

สายการบินแจแปนแอร์ไลน์ (เจเอแอล) ร่วมกับเจแปนฟาวเดชั่น กรุงเทพฯ จัดโครงการประกวดบทกลอนไฮกุสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.๔ - ป.๖) ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมานานกว่า ๑๕ ปี และเคยจัดครั้งแรกที่อเมริกาเมื่อ ๔o ปีที่แล้ว กระทั่งเผยแพร่โครงการไปทั่วยุโรป

การจัดประกวดบทกลอนไฮกุสำหรับเด็กไทยในปีนี้ (๒๕๔๘) มีผลงานส่งเข้ามาบ้างแล้ว หัวข้อเกี่ยวกับเรื่อง 'บ้าน' ความหมายครอบคลุมไปถึงคนและสัตว์เลี้ยงในบ้าน ทั้งวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน และบ้านในจินตนาการ โดยให้เด็ก ๆ เขียนเป็นกลอนไฮกุ ๑ บท พร้อมวาดภาพประกอบ

ทางโรงเรียนได้ชักชวนเด็กๆ ให้เขียนเข้ามา จากนั้นคุณครูคัดเลือกบทกลอนไฮกุที่ดีที่สุดจำนวน ๑o บทกลอน (คนละ ๑ บทกลอน) แล้วส่งเข้ามายัง แจแปนแอร์ไลน์ ภายในวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ เพื่อให้คณะกรรมการตัดสินคัดเลือกบทกลอนที่ดีที่สุดเพื่อรับเงินรางวัล

สำหรับเด็กๆ ที่กำลังจะเขียนกลอนไฮกุ ม.ร.ว.อรฉัตร ซองทอง ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กรรมการในการพิจารณาครั้งนี้ มีข้อแนะนำในการเขียนกลอนไฮกุ อาจจะส่งเข้ามาประกวดในครั้งนี้ หรือหัดเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราวของตัวเอง เพราะไฮกุ ไม่ได้เป็นคำประพันธ์ที่ต้องการสัมผัสหรือมีฉันทลักษณ์ที่รัดกุม แต่ไฮกุเริ่มต้นเขียนง่ายๆ มีเพียงกติกาเรื่องจำนวนคำเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

ไฮกุ เป็นคำประพันธ์ของญี่ปุ่นชนิดหนึ่ง เป็นบทกลอนขนาดสั้นในหนึ่งบทประกอบด้วยถ้อยคำรวม ๑๗ พยางค์เท่านั้น เขียนแบ่งเป็น ๓ บรรทัด เริ่มจาก ๕ พยางค์ ๗ พยางค์ และ ๕ พยางค์ ตามลำดับ ไม่ได้บังคับฉันทลักษณ์แต่ประการใด แต่ในบรรทัดสุดท้ายให้มีการจบแบบหักมุม เป็นจุดที่จะทำให้ผู้อ่านได้คิดหรือเกิดความประทับใจ

ส่วนใหญ่กลอนไฮกุ มักเขียนขึ้นจากความประทับใจที่มีต่อธรรมชาติและมนุษย์ มีเพียง ๓ วรรค แม้จะเป็นคำประพันธ์ที่ไม่มีสัมผัสสระหรือพยัญชนะ สิ่งที่พิเศษนอกจากวรรคสุดท้ายที่ผู้เขียนต้องหักมุมจบแล้ว การเลือกใช้คำง่าย ๆ สื่อความหมายตรง ๆ ก็เป็นอีกประเด็นของความโดดเด่นไฮกุ

"แต่ละคำก็ให้ความหมาย เด็ก ๆ จะแต่งได้ง่าย ไม่ต้องห่วงสัมผัส เด็ก ๆ ชั้นประถมก็แต่งได้ และเขียนได้ดีมาก เด็กจะแสดงความประทับใจจากสิ่งที่เขามองเห็นออกมา บางทีเขาก็มองได้ลึกมาก ผู้ใหญ่ก็คิดไม่ถึง เด็กที่เขียนไฮกุจะแสดงความรู้สึกออกมาซื่อ ๆ ไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยการใช้ศัพท์หรูหรา เป็นคำพูดแบบเด็ก ๆ" ม.ร.ว.อรฉัตร พูดถึงความพิเศษของไฮกุ บทกลอนที่เรียบง่าย




ตลอด ๑๕ ปีที่มีการจัดการประกวด มีบทกลอนน่ารัก ๆ ของเด็ก ๆ ที่ยังอยู่ในความประทับใจของผู้จัดและคณะกรรมการ อย่างการประกวดเมื่อปี ๒๕๓๓ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ก็ทรงเข้าร่วมประกวดด้วย และผลงานก็ได้รับการคัดเลือกให้ชนะการประกวดในปีนั้นด้วย ในหัวข้อ 'ความเขียวขจีของพืชพรรณ ต้นไม้ ใบไม้ ฯลฯ' มีพระนิพนธ์ไว้ว่า


"ฝนโปรยลงมาแล้ว
ดอกไม้บานรับแสงอาทิตย์
ต้นไม้ผลิใบเขียว"


อย่างสำนวนของ ด.ญ.สุวิดา สงวนพันธุ์ จากโรงเรียนวัดบางน้ำชน กรุงเทพฯ เขียนในหัวข้อ 'มุมหนึ่งของชีวิต' เมื่อปี ๒๕๔๓ ว่า "ฉันขึ้นรถไฟฟ้า ตึกสูงต่ำสวยงามแปลกตา กลับบ้านใต้สะพาน"

"วรรคแรกจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำกัด ปล่อยตามจินตนาการ ขณะที่แต่งออกมาให้อ่าน เพื่อจะได้รู้ว่า การพูดออกมาเป็นช่วง ๆ มันจะไปได้ราบรื่นแค่ไหน และให้ความไพเราะแค่ไหน หูจะได้ฟังแล้วจินตนาการตามไป เขาถึงบอกว่ากลอนไฮกุเขียนด้วยหัวใจ ใส่ความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนเข้าไปในนั้นเลย" ม.ร.ว.อรฉัตร บอกเทคนิคการเขียนไฮกุ

การหักมุมในวรรคสุดท้ายนั้นสำคัญ เป็นความงดงามของไฮกุ ในวรรคแรกอาจพูดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ถัดมาวรรคที่สองอาจเป็นข้อความที่เสริมกัน ความประทับใจอยู่ที่วรรคสุดท้าย อย่างผลงานของ ด.ญ.ขจีวรรณ ตาเอื้อย อายุ ๑๒ ปี ชั้นป.๖ โรงเรียนสวนลุมพินี กรุงเทพฯ แต่งไฮกุออกมาได้ดีมาก เธอเขียนในหัวข้อ 'ฤดูกาลบ้านเรา' เมื่อปี ๒๕๔๖ บอกว่า


"ลมหนาวใบไม้ร่วง
เช้าตรู่พ่อปลุกใส่บาตร
แม่จะได้ไม่หิว"


ไฮกุใช้คำง่าย ๆ แต่ส่งผลสะเทือนอารมณ์มาก

"เพราะเด็กใส่ความรู้สึกและจินตนาการเข้าไป ความรู้สึกของเด็กๆ จะสอดแทรกอยู่ในแต่ละคำ ในแต่ละความหมาย จะเป็นความรู้สึกตรง ๆ แบบเด็ก ๆ" กรรมการคนสำคัญ กล่าว

นอกจากไฮกุของไทยแล้ว ในต่างประเทศก็มีไฮกุเช่นกัน ม.ร.ว.อรฉัตร ถอดความบทกลอนไฮกุของเด็กจากสโลวาเนียมาให้ได้อ่านว่า


"เศษเสี้ยวของดวงดาว
คือส่วนหนึ่งของสรวงสวรรค์
สัมผัสในความมืด"


ส่วนอีกบทกลอนหนึ่งคือ
"ปลายคลื่นคือฟองขาว
สายน้ำสัมผัสบนทรายชื้น
ปราสาททรายถล่ม"


นอกจากผู้เขียนได้หัดใช้คำแทนความรู้สึกสื่อสารออกมาแล้ว เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากการเขียนไฮกุอีกด้วย

"เด็กๆ ก็ได้เรียนรู้เรื่องกติกา เขาต้องเขียนให้ครบ ๕ คำหรือ ๗ คำ และที่สำคัญคือเขามีโอกาสที่จะเขียนได้มากกว่า เพราะเราไม่จำกัดเรื่องสระหรือพยัญชนะ จะเขียนอะไรก็ได้ มีเงื่อนไขนิดเดียวเอง ให้เขียนออกมาจากหัวใจง่าย ๆ" ม.ร.ว.อรฉัตร ทิ้งท้าย ว่า คนที่มีอารมณ์กวี ย่อมอยากเขียนอยู่แล้ว แต่ถ้าเริ่มต้นยากเกินไปอาจท้อ ไม่อยากจะทำ

เด็ก ๆ พอได้ทราบเทคนิคการเขียนกลอนไฮกุแล้ว คันไม้คันมืออยากจะเขียนก็ลองเขียนดูเล่น ๆ หรือจะส่งประกวดกันขณะนี้ก็ยังมีเวลาจนถึงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙

หลักการเขียนกลอนไฮกุ

๑. ควรกล่าวถึงสิ่งใกล้ตัวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาขณะใดขณะหนึ่ง ไม่ควรกล่าวถึงช่วงเวลายาวนาน

๒. ต้องเอาใจใส่ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วนำมาแต่งเป็น ไฮกุ เลือกใช้คำที่กระชับได้ใจความ ไม่ใช้คำเยิ่นเย้อ หรือคำขยายความ

๓.ไฮกุ ไม่ใช่การพูดถึงเหตุผล หรือปรัชญาทางความคิด แต่เป็นการถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาตามธรรมชาติ ดังนั้นต้องพยายามหลีกเลี่ยงถ้อยคำเปรียบเทียบหรือคำอุปมาอุปไมย

๔.บรรทัดสุดท้ายของกลอนไฮกุ มักใส่ความแปลกลงในบทกลอน โดยมักจะมีถ้อยคำที่แสดงความรู้สึกนึกคิดชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือจินตนาการของผู้ประพันธ์ก็ตาม


หมายเหตุ สอบถามเพิ่มเติมการประกวดบทกลอนไฮกุ โทร.o-๒๒๕๗-๔o๑o-๑๑ จากเวบ bangkokbiznews


linkที่เกี่ยวกับไฮกุ
palungjit






ชอบคำอธิบายความหมายของไฮกุที่คุณก๋าทำบล๊อคไว้ มีรูปพร้อมคำอธิบาย อ่านแล้วเข้าใจง่าย เลยขออนุญาตแฮ่บมาไว้ในบล๊อคนี้ซะเลย นำรูปมาจากบล๊อค หมื่นตากับไฮกุ ขอบคุณคุณก๋ามา ณ ที่นี้ด้วยค่า

















ลายเส้นพู่กันเดียวประกอบบทกวีไฮกุฝีมือคุณก๋าค่ะ























บีจีจากคุณยายกุ๊กไก่ ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 20 มกราคม 2549
Last Update : 29 ธันวาคม 2564 23:44:05 น. 0 comments
Counter : 15644 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.