happy memories
Group Blog
 
 
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
เบื้องหลังบทภาพยนตร์ "Beauty And The Beast"

ช่วงที่ซีรีส์เรื่องนี้ยังฉายอยู่ หาเรื่องราวเกี่ยวกับเบื้องหลังอ่านได้ยากมาก พอดีอ่านเจอบทความในนิตยสาร Starlog ผู้เขียนเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทของเรื่องนี้ เลยแปลแล้วลองส่งไปที่ Starpics ดีใจมาก ๆ เพราะได้ลงในหนังสือด้วย

The First Time I Loved Forever by Lisa Angelle










นับตั้งแต่ Ron Koslow ผู้สร้าง "Beauty and The Beast” ประเดิมเริ่มเรื่องนี้ คำถามที่ผู้เขียนบทหนังเรื่องนี้ทุกคน รวมทั้งผมและนักเขียนคู่หูกับผม Alex Ganza ต้องหาคำตอบให้ได้คือ “จะดำเนินเรื่องต่อไปอย่างไร” หนังขึ้นปี ๒ แล้วเราสองคนก็ยังต้องถามตัวเองอยู่และผมคิดว่าได้คำตอบแล้ว

การตัดสินใจสร้างหนังแนว fantasy อย่าง "Beauty and The Beast” เพื่อฉายในช่วงเวลาดี ๆ ของแต่ละอาทิตย์เป็นงานที่ท้าทายสำหรับพวกเรา คิดกันไว้ว่า เราจะทำหนังสักเรื่องให้ต่างไปจากที่เคยดูกันมาแล้วอย่างสิ้นเชิง ผมว่าแค่พูดก็ง่ายหรอก ปกติแล้วหนังชุดใหม่ ผู้สร้างพยายามสรรหาสิ่งที่แปลกใหม่มาให้ดูกันอยู่แล้ว ตัวกำหนดอื่นที่ผมว่าสำคัญกว่าอย่างฝ่ายบริหารหรือ Network ที่ทำท่าว่าจะเข้ามายุ่งในตอนแรก เกือบจะทำให้เรื่องเสียไปเหมือนกัน แต่ก็ผ่านมาได้เรียบร้อย

นวนิยายเรื่องนี้แต่งโดย Jean Cocteau ในปี ๑๙๔๖ C.B.S. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์ พอเราเริ่มคิดจะทำหนังปี ๒ ทาง Network ก็เกิดไม่แน่ใจว่าจะให้หนังออกมาในรูปใด คงกลัวว่าเราจะเปิดเผยโลกเบื้องล่างมากเกินไป กลัวปฏิกริยาของคนดู จริง ๆ แล้วผมว่าพวกเขาคงไม่เข้าใจโลกของ Vincent เท่าไหร่เลย แทนที่จะไปมัวคิดว่าโลกแบบนี้มีจริงหรือเปล่า คงง่ายกว่าถ้าให้คนดูยอมรับว่าเรื่องแบบนี้อาจเกิดขึ้นได้ เนื้อเรื่องมันกึ่งความจริงกึ่ง fantasy อยู่แล้ว เราไม่ได้สร้างฉากขึ้นมาอย่างเดียว ได้ไปถ่ายทำกันบนถนนจริง ๆ บนถนน Manhattan ก็หลายฉาก และที่เห็นกันบ่อยคือฉากสำนักอัยการของรัฐที่ทำงานของ Catherine

สิ่งที่เราพยายามเลี่ยงกันคือ ฉากซ้ำซากที่ให้ Vincent เกาะรถใต้ดินหรือกลายเป็นไอ้ตัวเขียวทุบทลายกำแพงเพื่อไปช่วยนางเอก คนดูคงเบื่อแย่ แต่บุคคลิกแบบฮีโร่ของเขาถือได้ว่าเป็นจุดสำคัญของเรื่องนี้ หากเรายังเพิ่มเติมเนื้อหาในด้านอื่น เช่น ธรรมชาติความเป็นสัตว์ในตัว Vincent มีทั้งเหตุผล ความละอายและสัญชาติญาณ รวมไปถึงความลึกล้ำของจิตใจ เราไม่ได้ตั้งใจจะแข่งกับหนัง action รุนแรงที่ฉายกันอยู่แล้ว แต่หัวใจของหนังเรื่องนี้คือความสัมพันธ์ของ Vincent และ Catherine (ซึ่งเป็นเรื่องยากเย็นสำหรับนักเขียนบทหลายคน) ที่ทำให้หนังเรื่องนี้แตกต่างไปจากเรื่องอื่น

อีกข้อที่หินสำหรับนักเขียนและทีมงานคือ การหาเนื้อเรื่องที่จับใจคนดูและการพัฒนาความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ผู้เขียนไม่เพียงแต่จะต้องเข้าใจความสัมพันธ์ของพระเอกและนางเอกเท่านั้น ยังต้องมีความเชื่อด้วย เรื่องดั้งเดิมเป็นเรื่องของความรักและการยอมรับของสาวสวย ได้เปลี่ยนสัตว์ร้ายให้กลายเป็นมนุษย์ในทันทีทันใด แต่ในหนังเราจะให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง มีความลึกซึ้งจนกลายมาเป็นความรักในแบบอุดมคคิที่ไม่น่าจะเป็นไปได้




จากการที่ได้ร่วมงานกันมา ผมพูดได้ว่า ผู้เขียนบทของหนังเรื่องนี้เป็นทีมงานที่พิเศษสำหรับหนังชุดที่ฉายทางทีวี เห็นจะเป็นเพราะพวกเราเคยผ่านงานที่มีความหลากหลายกัน เช่น
Ron Koslow ประสบความสำเร็จในอาชีพเขียนบท มีผลงานในหนังใหญ่ เช่น “First Born” และ “Into The Night”
David Peckinpah มีผลงานมาแล้วมากมาย
George R.R. Martin เคยได้รับรางวัล Hugo และ Nebular Award ขึ้นชื่อในด้านการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์มานาน ก่อนจะได้ร่วมงานกับหนังทีวีชุด Twilight Zone
Alex Ganza และผมหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยในปี ๑๙๘๔ ก็เป็นนักเขียนอิสระอยู่ ๒ ปี เขียนบทให้หนังตำรวจและนักสืบ

ดังนั้นบทของ "Beauty and The Beast” จึงสะท้อนให้เห็นความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มีลักษณะเฉพาะตัว ผสมผสานกันเป็นงานที่โดดเด่น มีอยุ่ ๒ - ๓ ตอนที่เราและ C.B.S. คิดว่าคนดูชอบมาก

“Seige” เขียนโดย David Peckinpah เป็นตอนที่ Catherine พบรักกับชายหนุ่มรูปงาม ร่ำรวยที่ชื่อ Elliot Burch (แสดงโดย Edward Albert)

“Song Of Orpheus” Alex และผมเขียนเรื่องเปิดปูมหลังของคุณพ่อ (แสดงโดย Roy Detrice) รวมทั้งงานอาชีพที่ล้มเหลว และความรักที่เศร้าไม่แพ้ชีวิตที่อาภัพของ Vincent เลย เราไม่ได้สรุปเรื่องราวของคุณพ่อหรือบอกอะไรให้ชัดแจ้ง เผื่อว่าเราจะหยิบเรื่องราวของคุณพ่อมาเขียนถึงได้อีก

บทเริ่มของหนังทำได้อย่างยอดเยี่ยม เลยทำให้การหาเนื้อเรื่องใหม่และน่าสนใจยิ่งยากขึ้นไปอีก เราช่วยกันวิจารณ์งานของพวกเรากันเอง ใช้เวลานานคุยถึงแนวทางและโทนของหนัง มีคนให้ชื่อที่ประชุมของเราว่า “สมาคมคนเจ็บ” ใครก็ตามที่ออกความเห็นใหม่ ๆ เราจะยกให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ไปเลย ไม่ว่าจะเป็น Linda, Ron หรือนักเขียนอื่น ๆ ที่ช่วยกันเค้นเรื่องออกมาได้ ส่วนใหญ่บทหนังจะเป็นฝีมือของนักเขียนอิสระ ซึ่งก่อนจะมีโอกาสโชว์ฝีมือ ก็ต้องเสนอผลงานไปทางเอเยนต์ของพวกเขาก่อน เราจะพิถีพิถันกับบทที่ส่งเข้ามา บทที่ให้อารมณ์และความรู้สึกจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

โชคดีที่ผลงานของพวกเขาได้รับการยอมรับ ทำให้รู้สึกว่างานง่ายขึ้น พวกเขาเข้าใจภาษาที่ใช้และคุมโทนของหนังได้ดี เป็นผลมาจากการช่วยกันคิด ถกเถียงกัน แล้วปล่อยให้พวกเขาลุยงานกันเอง ที่สำคัญ การเป็นสมาชิกสมาคมคนเจ็บก็ช่วยได้เยอะ มีอยู่หลายครั้งเหมือนกันที่พวกเขาเห็นว่างานออกมาใช้ได้แล้ว แต่พวกเรายังเห็นว่ายังไม่ถึงขั้นและต้องเริ่มกันใหม่




การใช้ภาษาของ Vincent ก็เป็นความยากลำบากอีกอย่างของคนทำบทหนัง คงยอมรับกันว่าภาษาของเขาอยู่ในขั้นที่ดีมาก ถ้อยคำกระชับ ฟังรื่นหู จับใจ แต่ไม่พูดพร่ำเพรื่อ อาจแค่พูดเป็นนัย ๆ เท่านั้น เป็นเพราะได้รับการสั่งสอนจากคุณพ่อหรือความใฝ่รู้ของเขาเองก็ได้

จะเขียนบทพูดของ Vincent ให้ได้ดีนั้นต้องเลือกใช้คำในการสร้างประโยคให้เป็น ต้องจินตนาการให้ออกว่าเขามองสิ่งต่าง ๆ อย่างไร แต่ถึงเขาจะใช้ภาษาได้ยอดเยี่ยม มีความเก่งกาจแค่ไหนก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่เขาไม่รู้จัก ไม่เข้าใจแต่อยากรู้อยากเห็น คือวิถีชีวิตของคนปกตินั่นเอง

ถ้าจะให้ผมแยกประเภทของหนังเรื่องนี้คงพูดได้ว่ามีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ

๑. ตัวเอกของเรื่องตกอยู่ในอันตรายต้องการความช่วยเหลือ สถานการณ์แบบนี้จะเน้นตัวละครให้เด่นขึ้น และเปิดโอกาสให้เราพัฒนาตัวละครด้วย เช่น
"Shades of Gray” Vincent และคุณพ่อติดอยู่ในถ้ำที่ถูกถล่มปิดปากทางเข้า
"No Way Down” Vincent ไปหา Catherine แล้วถูกจับตัวได้
"To Reign in Hell” Paracellcus ลักพาตัว Cathy ไปเพื่อล่อให้ Vincent มาติดกับ

๒. เป็นเหตุการณ์ที่ Vincent และ Cathrine ต้องเข้าไปช่วยเหลือบุคคลที่สาม
"China Moon” เขาและเธอช่วยคุ่รักที่ถูกขัดขวางความรัก
"Everything Is Everything” ทั้งคู่ช่วยเด็กชายชาวยิปซีที่ต้องการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของพ่อ และความเป็นทายาทหัวหน้ายิปซีที่แท้จริงของตนเอง

๓. เป็นเรื่องคุณงามความดี เราจับประเด็นเกี่ยวกับศีลธรรม โดยใช้เรื่องราวของผู้คนในเมืองอุโมงค์ซึ่งเป็นสังคมที่ค่อนข้างจำกัดและคับแคบ แสดงให้เห็นแนวเรื่องลักษณะแบบนี้
”Fever” ชาวอุโมค์ไปพบสมบัติที่ถูกฝังไว้แล้วเกิดแก่งแย่งกัน ภายหลังตัดสินใจมอบสมบัติให้โบสถ์ที่ช่วยเหลือคนจนไป เนื้อเรื่องตอนนี้ดูเรียบง่ายแต่ก็มีเสน่ห์

คงไม่ผิดถ้าผมจะพูดว่ากฏเกณฑ์ในการเขียนบทหนังเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีกฏเกณฑ์นั่นเอง เพราะกฏยังไงก็ต้องมีข้อยกเว้นและเปลี่ยนแปลงได้ ผมพอใจที่สถานที่ถ่ายทำของหนังเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ บางทีก็ถ่ายทำบนถนน Manhattan ทั้งอาทิตย์ พออีกอาทิตย์ก็มีแต่ฉากใต้ดิน มีตัวละครที่ลึกลับอย่าง Paracellsus ที่อยู่ในตอน “The Alchamist” และ “To Reign in Hell”

บทของตัวเอกทั้งสองเป็นบทที่เด่น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเท่ากันเสมอทุกตอน มันยากตรงที่ จะเขียนบทอย่างไรให้โลกทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องกัน โดยไม่ดูเป็นเหตุบังเอิญจนเกินไป สอดแทรกด้วยความรู้สีกไว้วางใจกัน มีทั้งความหวัง ความเสียสละ ยกตัวอย่างในตอน

“Ozymandias” (เขียนโดย George R.R. Martin) Elliot ฝันที่จะสร้างตึกใหญ่ที่สุดในเมือง New York ซึ่งทำให้โลกของ Vincent ต้องถูกเปิดเผย Cathy พยายามทุกวิถึทางที่จะช่วยเหลือ ท้ายสุดเธอเลือกที่จะแต่งงานกับเขาเพื่อยับยั้งการสร้างตึก เป็นอีกตอนที่พัฒนาเนื้อเรื่องได้อย่างมีพลัง

Elliot กับ Catherine



คำถามที่อยู่ในใจของใครหลายคนคือ โลกของ Vincent เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีคนอาศัยอยู่กี่คน กินอยู่อย่างไร ทำไมต้องแต่งตัวกันแบบนั้นด้วย เป็นคำถามที่ดี ถ้าจะตอบ คงต้องท้าวความถึงความคิดดั้งเดิมของ Ron Koslow

แต่เดิม Ron คิดอยากจะถ่ายทำกันใน New York (แล้วก็ได้ไปถ่ายทำที่นั้นจริง ๆ) เขาอยากจะอยู่ที่นั่นสักพัก เผื่อจะช่วยคิดโครงเรื่องใหม่ ๆ โดยไม่ปัดเป๋จากแนวเดิมที่วางไว้ได้บ้าง อย่างฉากเมือง New York ที่สับสนวุ่นวาย เต็มไปด้วยผู้คน Ron อยากจะเน้นแบบเจาะลึกว่ามันมีผลกระทบกับตัวละครอย่าง Catherine อย่างไรบ้าง มีเสียงอึกทึก ความเคลื่อนไหวที่ดูอึดอัด ตึกสูงระฟ้ามากมาย ซึ่งดูตัดกับโทนนุ่มนวลเต็มไปด้วยความรักของโลกเบื้องล่าง มีเสียงที่เคาะท่อสื่อสารกัน บรรยากาศทึม ๆ แสงนวลตาอบอุ่น ในบางครั้งคนดูจะทราบถึงโลกของ Vincent ผ่านตัวละครบางตัว เช่น ในตอนที่เขียนโดย Richard Franklin ให้ Vincent อธิบายโลกของเขาให้ Catherine ฟังว่า “เป็นสถานที่ลึกลับอยู่ใต้เมืองลงไป เหตุที่เป็นความลับ เพราะมีคนดี ๆ หลายคนต้องหลบหนีไปอยู่ที่นั่น และอยู่ได้อย่างมีความสุข” และเสริมอีกว่า “ไม่มีแผนที่บ่งชี้ว่าเราอยู่ตรงไหน เป็นที่ ๆ ไม่มีใครจดจำได้ แต่ก็อบอุ่นและปลอดภัยสำหรับทุกคน พวกเราอยู่ที่นั่น ช่วยกันสร้างความดี พยายามเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

จากบทในตอนนี้สะท้อนให้เห็นว่าใต้ถนน Manhattan ลงไปมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ เป็นสังคมแบบอุดมคติ ทีนี้ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่า ทำไมถึงมีคนลงไปอยู่ด้วยในตอน “An Impossisble Silence” คุณพ่อบอก Laura (แสดงโดย Terrylene) ว่า “ที่นี่เป็นโลกของเรา มีความหมายต่างกันไปสำหรับผู้คนที่ต่างกัน บ้างก็ถือเป็นบ้าน บ้างก็ถือเป็นที่พักรักษากายและใจ ทุกคนทราบดีว่าที่นี่มีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร” ดังนั้นในเมืองอุโมงค์จึงเป็นทั้งที่พักอาศัย เป็นที่หลีกลี้จากความยากลำบาก ความอยุติธรรม และชีวิตที่เต็มไปด้วยการแข่งขันของโลกเบื้องบน Vincent เองก็ถือว่าที่นี่เป็นบ้านเพียงแห่งเดียวของเขา ไม่มีข้อเลือกที่จะกลับไปข้างบนเหมือนคุณพ่อหรือ Laura กฏระเบียบเป็นอีกสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่มีสักตอนที่จะเอ่ยถึงเนื้อหาของกฏอย่างชัดเจน ตอน “China Moon” Vincent บอก Lin ว่า “กฏของเราเข้มงวดกับผู้ที่มาอยู่ด้วย” Lin ย้อนถามเขาว่า “แล้วกฏของคุณกับความรักล่ะ” แค่นี้คนดูก็เข้าใจได้ว่า สำหรับเขาความรักก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว

ถ้าจะถามว่าใคร ๆ ก็ลงมาอยู่ที่โลกเบื้องล่างได้ใช่ไหม คงได้ถ้าเพียงแต่ให้ยึดมั่นในคำมั่นว่าจะเก็บเป็นความลับ และต้องการสิ่งที่เมืองใต้ดินพร้อมจะมีให้คือ ความสันโดษ ความสงบเงียบ และรักที่จะช่วยเหลือผูกพันเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

เรื่องเวทย์มนต์และความมหัศจรรย์ คงเป็นเรื่องที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโลกใต้ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นเพียงส่วนที่เพิ่มเข้ามาเพื่อช่วยให้เนื้อเรื่องมีน้ำหนักขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ลักษณะของ Vincent จะเอื้ออำนวยให้เราเสริมแต่งบุคคลิกของเขา รวมไปถึงสถานที่ต่าง ๆ ในโลกของเขาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ผู้ที่ชอบหนังแนว fantasy คงถูกใจตัวละครอย่าง Paracellcus, Narcissa (แสดงโดย Bech Richard) และ Mouse (แสดงโดย David Greenlee)

สิ่งที่เรานำเสนอบางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่จริง ๆ แล้วใต้มหานคร New York ลงไปมีอุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันยาวกว่า ๓oo ไมล์ และมีคนลงไปพักพิงชั่วคราว ลงไปทำอาหารบ้าง หลบลมหนาวบ้าง กระทั่งลงไปตากผ้าตามท่อไอน้าก็มี ฉากในเมืองอุโมงค์ที่ออกมาอยู่เหนือเหวที่ลึกสุดหยั่ง ซึ่งสรรพสำเนียงจะผ่านลงมา ก่อให้เกิดเสียงคล้ายดนตรีที่ฟังได้ไม่รู้จบ บันใดเวียนในคูหาช่องลม และที่รวมของท่อที่ใช้เคาะสื่อสารถึงกันในคูหาของ Pascal เราสร้างฉากให้ดูวิจิตรเหนือจริงได้โดยไม่ทำให้โทนของหนังเสียไป เราสนุกกับงานนี้ มันทำให้ความรู้สึกที่ยอดเยี่ยม

หนังคงจะไม่ออกมาดีอย่างที่เห็นถ้าขาดหลายฝ่ายเช่น Production Design โดย John Mansbridge ดนตรีโดย Don Davis (Lee Holdridge เป็นผู้แต่งเพลง theme ของเรื่องและดนตรีใน ๖ ตอนแรก) และดารานำทั้งสามคือ Linda Hamilton, Ron Pearlman, Roy Detrice ที่แสดงกันได้อย่างวิเศษทำให้บทพูดมีชีวิตชีวา

“Beauty And The Beast” ได้กลายเป็นสิ่งพิเศษสำหรับพวกเราไปแล้ว ยิ่งทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังและคำนึงถึงความเป็นจริงด้วย เราจะไม่หยุดยั้งที่จะคิดค้นเนื้อเรื่องเพื่อทำให้ผู้ชมพึงพอใจ

แปลจาก “In The Belly of The Beast”
เขียนโดย Howard Gordon


มีข่าวในหนังสือ Star ฉบับวันที่ ๒๔ ตค. ๑๙๘๙ ลงข่าวหนังเรื่องนี้ว่า Linda Hamilton ปฏิเสธบทของ Catherine เพราะอยากใช้เวลาอยู่กับลูกชาย Dalton Abbot ให้เต็มที่ และเธอกับสามี Bruce Abbot ก็คืนดีกันแล้ว บทของเธอจบลงที่ Catherine ถูกฆ่าตายหลังจากให้กำเนิดลูกชายที่เกิดกับ Vincent สาวสวยที่เข้ามาแทนที่ในหนังปีสุดท้าย (ปี๓) คือ Jo Anderson เล่นเป็น Diana Bennett เข้ามาสืบสวนการตายของ Cathy และช่วย Vincent ค้นหาลูกชายที่ถูกตัวร้าย Gabriel ลักพาตัวไป

Jo Anderson ดาราที่มาแสดงแทน Linda Hamilton




Free TextEditor





Create Date : 08 มกราคม 2549
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 11:44:03 น. 0 comments
Counter : 2464 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.