LOVE ACTUALLY
Group Blog
 
 
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
29 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
โภคภัณฑ์ร้อนแรง แซงหุ้น


เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอกดค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าระยะยาว ส่งผลดีต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ย้ำผลตอบแทนดีกว่าหุ้นมานานแล้ว ระบุ 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 15% ส่วนหุ้นมีเพียง 9.8%
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : "กรุงเทพธุรกิจ" ได้จัดเสวนา Money Forum ครั้งที่ 2 เรื่อง "สินค้าโภคภัณฑ์ร้อนแรงแซงหุ้น" (ดูวิดีโอ)
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นายธีระ ภู่ตระกูล ประธานกรรมการ บลจ.ฟินันซ่า นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ และ ดร.ศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี ซึ่งทั้งสามท่าน ต่างลงความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า สินค้าโภคภัณฑ์ น่าลงทุนมากขึ้น เนื่องจากในอนาคตมั่นใจได้ว่าจะให้ผลตอบแทนดีกว่าลงทุนในหุ้น และตราสารหนี้
นายธีระ เปิดเผยว่า สินค้าโภคภัณฑ์เป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจลงทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะเสื่อมค่าลงในอนาคตอีก 3-10 ปีข้างหน้า จากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐเอง ซึ่งการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในหุ้นมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมาดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ถ้าดูผลตอบแทนของดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ Rogers International Commodities Index (RICI) ที่จัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 1998 ถึงปัจจุบันให้ผลตอบแทน 342.1% ในขณะที่ผลตอบแทนของหุ้นวัดจากดัชนีเอสแอนด์พี 500 อยู่ที่ 52.5% และผลตอบแทนของพันธบัตรอยู่ที่ 88.2% ซึ่งจะเห็นว่าสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นและตราสารหนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาแซงตอนนี้
ในประเทศไทยเองตั้งแต่ปี 1998-ก.ค.2008 ตลาดหุ้นไทยบวก 9.8% มีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 30% ในขณะที่การลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทน 15.4% และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเพียง 18.4% ซึ่งจะเห็นว่าการลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในหุ้น ในขณะที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าด้วย
“ในยุคข้าวยากหมากแพงจะลงทุนอะไรก็แพ้เงินเฟ้อ ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันติดลบไปประมาณ 30% ซื้อพันธบัตรก็ขาดทุน ฝากธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยน้อย เงินเฟ้ออยู่ที่ 6-7% ฝากเงินไปผลตอบแทนจากการฝากเงินก็ติดลบ แทนที่จะเก็บไว้เป็นเงินก็เก็บไว้เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้นเอง
โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้สะดวกเพราะมีกองทุนรวมที่ไปลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์พวกนี้ อย่าลืมว่าสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ใช่ธุรกิจ ไม่มีผู้บริหาร ไม่มีกำไร ไม่มีขาดทุน ไม่มีเงินปันผล เพราะฉะนั้นจะใช้วิธีวิเคราะห์หุ้นมาวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ไม่ได้”
นายธีระ ยังกล่าวอีกว่า การผสมสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้แล้วหมดไป (Hard Commodity) และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลิตทดแทนใหม่ได้ (Soft Commodity) ผสมกันไว้ในพอร์ตเป็นตะกร้าของสินค้าโภคภัณฑ์จะดีกว่าการเลือกลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์เพียงประเภทใดประเภทหนึ่ง
จากการศึกษาพบว่าการผสม Hard Commodity และ Soft Commodity เข้าไว้ด้วยกันในพอร์ตการลงทุนจะทำให้ความเสี่ยงลดลงในขณะที่ผลตอบแทนเท่าเดิม
นายธีระ กล่าวเสริมว่า นักเก็งกำไรไม่สามารถไปปั่นราคาน้ำมันได้ถึงขนาดนี้ มันไม่เหมือนกับปี 1973 ที่เกิดวิกฤติน้ำมัน (Oil Shock) เราไปเติมน้ำมันต้องเข้าคิว ตอนนี้ไปเติมน้ำมันไม่เคยต้องเข้าคิว แต่ที่ราคาขึ้นมาก็มีเหตุผลมีเรื่องราว (Story) รองรับที่ราคาขึ้นมาขนาดนี้ได้ และราคาน้ำมันที่เหวี่ยงตัวผันผวนค่อนข้างรุนแรงนี้ยังคงอยู่ในกรอบการแกว่งตัวของราคาน้ำมันที่ประมาณ 30% อยู่
ราคาน้ำมันที่ผันผวนในช่วงที่ผ่านมาจึงถือว่าเป็นปกติ ถ้าคุณจะไปซื้อหุ้น Exxon Mobil บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 480 พันล้านดอลลาร์ แต่ถ้าจะไปซื้อน้ำมันจะเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าตลาดเล็กมากประมาณ 177 พันล้านดอลลาร์ เล็กกว่าหุ้นของบริษัท Exxon Mobil อีก
“ดังนั้นเวลาคนกระโดดเข้าไปในตลาดน้ำมันอัดเงินเข้าไปจึงทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาสูง 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมา 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะตลาดยังเล็กอยู่ ตื้นและแคบเรียกว่ามีที่มาที่ไปว่าทำไมราคาถึงแกว่งตัวขนาดนี้ ราคาทองคำเมื่อคนหนีตายเรื่องเงินดอลลาร์ราคาเคยขึ้นไปแล้ว 900-1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์”
ด้านนายธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า สินค้าโภคภัณฑ์เป็นเรื่องของความต้องการซื้อความต้องการขาย ถ้าดูราคา ณ วันนี้เทียบกับอดีตที่ผ่านมา ข้าวราคาเท่าไร ถ้าปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อวันนี้ราคาข้าวควรจะเท่าไร น้ำมันตอนเด็กๆ เคยซื้อขายกี่ดอลลาร์ต่อบาร์เรล วันนี้ควรจะซื้อขายที่ราคาเท่าไร พอจะเป็นไกด์ไลน์ให้กับนักลงทุนได้บ้างว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ควรจะเป็นเท่าไร
ในช่วงที่ผ่านมา Hard Commodity ราคาวิ่งขึ้นมาค่อนข้างมากอาจจะเป็นเพราะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดในโลกก็ได้ แต่ Soft Commodity ราคากลับไม่ค่อยเพิ่ม ส่วนตัวชอบ Soft Commodity มากกว่าเพราะยังไงคนต้องบริโภค และราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวในระดับที่สูงจะส่งผลดีต่อ Soft Commodity เ
พราะสินค้าบางประเภทสามารถนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ ซึ่งจะทำให้มีอุปสงค์ในการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นสูงมากจากส่วนนี้
“ประกอบกับประชากรโลกที่โตเพิ่มขึ้นทุกปี บริโภคดีขึ้นกว่าเดิมเคยกินข้าววันละ 2 มื้อ เดี๋ยวนี้กินวันละ 3 มื้อ แถมไม่ได้กินข้าวอย่างเดียว ยังกินหมู กินเนื้อด้วย ซึ่งกว่าจะได้เนื้อมาก็ต้องบริโภคสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นอุปสงค์ในส่วนของ Soft Commodity ยังมีต่อเนื่อง อีกทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป แม้แต่จิม โรเจอร์ยังชอบ Soft Commodity เพราะราคายังวิ่งช้ากว่าสินค้าโภคภัณฑ์ตัวอื่น”
อย่างไรก็ตาม ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่าควรมีสินค้าโภคภัณฑ์ในพอร์ตเท่าไร แต่ควรเป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
“มีเงิน 100 บาท มีสินทรัพย์ 5 ประเภท ก็หารเอา ชอบอะไรเป็นพิเศษก็ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนั้นมากหน่อย ขี้กลัวมากไม่อยากรับความผันผวนยังไงเงินมีพอใช้แน่จะลงในตราสารหนี้มากกว่าก็ได้ ขึ้นกับเป้าหมายและความชอบของแต่ละคนแตกต่างกันออกไป ไม่ลงทุนก็มีความเสี่ยง ลงทุนก็มีความเสี่ยง แต่ถ้ากระจายความเสี่ยงได้ดีก็อาจจะช่วยลดความเสี่ยงได้”
นายธีรนาถ กล่าวเสริมว่า ถ้ากลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) รู้ว่าราคาน้ำมัน 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นไป ดีมานด์ทรุดเลย เชื่อว่าเขาฉลาดพอที่จะทำให้ปริมาณการซื้อขายน้ำมันยังดีอยู่ในระดับราคาที่เขาพอใจ เช่น ที่ระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทดสอบตลาดแล้วคนก็ยังบริโภคกันอยู่ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ยังเอาอยู่
แต่ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดีมานด์เริ่มลดลง เขาก็คงเลี้ยงระดับราคาน้ำมันไว้ที่ระดับ 120-13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพราะว่าเขาคงไม่อยากให้ราคาแพงแต่ไม่มีคนซื้อเพราะไม่มีประโยชน์ ไม่มีกำไรกลับเข้ามาในประเทศเขา วันนี้เชื่อว่าเขาได้ทดสอบตลาดแล้วว่า ณ ระดับที่ผู้บริโภคและผู้ผลิตรับกันได้ ราคาก็จะวิ่งอยู่บริเวณนั้น คิดว่าที่ระดับราคา 120-130 ก็ยังมีคนซื้อ
...แต่ไม่เชื่อว่าจะเกิน 140 เพราะขึ้นไปแล้วดีมานด์หดตัวทันที เพราะว่าสหรัฐและยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกๆ ที่เลิกบริโภคน้ำมัน
ส่วนทองคำเชื่อว่าจะมาดีเพราะว่า ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าต่อเนื่อง ทองคำปัจจุบันไม่ใช่เป็นแค่สินค้าโภคภัณฑ์แต่เป็นอีกสกุลเงินหนึ่ง ถ้าธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่เคยถือเงินดอลลาร์แล้วรู้ทั้งรู้ว่าสหรัฐถังแตกความเชื่อถือลดน้อยลง หากเครดิตของประเทศสหรัฐถูกลดอันดับลงมาจะเกิดอะไรกับค่าเงินดอลลาร์ น่าจะอ่อนค่าลงมาแรงมาก แต่ไม่คิดว่าจะขนาดนั้น
“สมมติเราเป็นธนาคารกลางที่เคยถือเงินดอลลาร์วันนี้อาจจะอยากกระจายไปถืออย่างอื่นบ้าง เคยถือ 100% ของพอร์ต อาจจะถือแค่ 80% ที่เหลือกระจายไปถือสกุลเงินอื่นและหนึ่งในนั้นต้องมีทองคำ ถ้าธนาคารกลางทุกประเทศคิดเหมือนกันราคาทองก็น่าจะไปได้ นี่ยังไม่นับคนเอเชียที่รวยมากขึ้นเพราะโดยนิสัยของคนเอเชียชอบซื้อทอง ราคาน่าจะเห็นหลัก 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์”

ที่มา: //www.bangkokbiznews.com


Create Date : 29 กันยายน 2551
Last Update : 29 กันยายน 2551 17:03:45 น. 0 comments
Counter : 282 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

illuminant
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




1.Cut loss
2.Looking forward
3.Market move by sentiment
4.The crowd usually wrong
5.Stick to the plan
6.Patience
Friends' blogs
[Add illuminant's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.