Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
5 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
ใครคือคนไทยพลัดถิ่นเชื้อสายไทยจากเกาะกง..

โดย ฐานิดา บุญวรรโณ (1)


ใครคือคนไทยพลัดถิ่นเชื้อสายไทยจากเกาะกง...




คนเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา
หรือที่เรียกทั่วไปตามคำนิยามตนเองของชาวบ้านคือ คนไทยเกาะกงนั้น กลายเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ไทยในจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ครั้งเมื่อรัฐบาลกรุงสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (2411-2453) ได้ลงนามในอนุสัญญาฝรั่งเศสสยาม เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 1904 (2) กับรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อแลกเปลี่ยนจันทบุรีซึ่งถูกฝรั่งเศสยึดครองมากว่าสิบปีกับตราดและเกาะต่างๆจนกระทั่งถึงเกาะกูดและเกาะกง ต่อมาในปี 1907 รัฐบาลสยามและรัฐบาลฝรั่งเศสได้ลงนามร่วมกันอีกครั้ง (3) เพื่อแลกเปลี่ยนพระตะบอง เสียมราฐและศรีโสภณกับด่านซ้าย ตราดและเกาะอื่นๆ โดยไม่ได้กล่าวถึงดินแดนเกาะกงแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านเชื้อสายไทยในจังหวัดเกาะกงซึ่งเฝ้ารอวันที่ดินแดนส่วนนี้จะได้กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของสยามอีกครั้งจึงกลายเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ไทยที่ตกค้างติดแผ่นดิน ต่อมาเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสประเทศอาณานิคมแม่มอบอิสรภาพให้แก่ประเทศกัมพูชา เกาะกงจึงเปลี่ยนผ่านมาอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศกัมพูชาโดยสมบูรณ์

ก่อนปีพุทธศักราช 2447 เกาะกงหรือจังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์คือดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศสยาม จังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์ในเวลานั้นคือ จังหวัดสุดท้ายปลายสุดแห่งบูรพาทิศของสยาม อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดของประเทศไทยในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์ในเวลานั้น


หลังจากที่จังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมฝรั่งเศสก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดกาปอต ประเทศกัมพูชา ชาวบ้านเชื้อสายไทยเมื่อได้ทราบความว่าตนเองไม่ได้เป็นชาวสยามอีกต่อไปแล้วก็รู้สึกเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก บ้างก็พากันยอมทิ้งบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาของตนเองและอพยพกลับเข้ามาอยู่ในดินแดนสยาม แต่ส่วนมากก็ยังรู้สึกผูกพันและเสียดายบ้านเรือนและทรัพย์สินของตนเอง จึงไม่ยอมอพยพออกจากพื้นที่ที่สาคัญมากไปกว่านั้นก็คือ ชาวบ้านยังไม่มีภาพของความเป็นพรมแดนรัฐ-ชาติชัดเจนมากนักว่าในอนาคตเส้นพรมแดนที่ถูกปักปันดังกล่าวบนแผนที่จะกลายมาเป็นสิ่งที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตของพวกเขาและลูกหลานสักเพียงใด

หลังจากการเข้ายึดครองของฝรั่งเศสในดินแดนนี้ มีคนไทยจำนวนหนึ่งได้ตัดสินใจอพยพกลับเข้ามาในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ของจังหวัดตราด
แต่ก็ยังมีคนเชื้อสายไทยอีกจำนวนมากทีเดียวที่ไม่ได้อพยพข้ามพรมแดนมา การอพยพเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทยของคนเชื้อสายไทยจากเกาะกง กัมพูชา สามารถแยกย่อยออกได้เป็นสี่ยุคใหญ่คือ หนึ่ง หลังจากที่ชาวบ้านทราบว่าจังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกงไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลสยามอีกต่อไปแล้ว ชาวบ้านบางส่วน โดยเฉพาะหมู่บ้านที่ติดกับชายแดนไทยอย่างหมู่บ้านเกาะปอ ก็อพยพกันเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ สอง สมัยเจ้านโรดม สีหนุ (2484-2498 ในฐานะกษัตริย์, 2503-2513 ในฐานะนายกรัฐมนตรี) สาม สมัยนายพลลอนนอล (2513-2518) และ สี่ สมัยพอลพตในยุคเขมรแดง (2518-2522) ซึ่งยุคสุดท้ายนี้เกิดการอพยพของคนเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชามากที่สุด โดยทุกครั้ง ชาวบ้านไทยจากเกาะกงก็จะอพยพข้ามพรมแดนเข้ามาอาศัยอยู่กับญาติในอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งก็มีบริเวณครอบคลุมทั้งตำบลไม้รูด ตำบลคลองใหญ่และตำบลหาดเล็ก จึงไม่น่าแปลกใจหากเราไปเยี่ยมเยียนพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชาในปัจจุบันแล้วพบว่า มีชาวบ้านที่พูดภาษาไทยได้ (ในกรณีนี้ยกเว้นชาวกัมพูชาที่พูดภาษาไทยได้)

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นด้วยจุดประสงค์หลายประการ
ประการแรก เพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการกำเนิดของไทยพลัดถิ่นที่เกิดจากการปักปันเขตแดนของสยามกับประเทศเพื่อนบ้าน อันนำมาซึ่งปัญหาต่างๆที่ตามมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ประการที่สอง ผู้เขียนเห็นว่า ในทางมานุษยวิทยา กลุ่มคนเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชาถือเป็นงานที่ต้องเร่งศึกษา (urgent anthropology) เนื่องจากว่าผู้ที่จะสามารถให้ข้อมูลเชิงลึกส่วนใหญ่นั้นเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่นับวันจะมีจำนวนน้อยลง และกลุ่มลูกหลานของคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงที่เกิดในประเทศไทยก็ไม่ค่อยได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของบรรพบุรุษเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่เกาะกง

คนไทยเกาะกงมิใช่กลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ความจริงแล้ว คนไทยเกาะกงก็คือคนสยามหรือคนไทยที่เกิดบนแผ่นดินของสยามประเทศก่อนการปักปันเขตแดน ลองจินตนาการง่ายๆว่า จังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์ในอดีตครอบคลุมพื้นที่ของอำเภอคลองใหญ่ในปัจจุบันและเลยไปถึงพื้นที่ของจังหวัดเกาะกง แล้วอยู่มาวันหนึ่ง เราทั้งสองสยามและฝรั่งเศสก็กำหนดเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่งแล้วลากลงไปในแผนที่โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับรู้และเข้าใจถึงที่มาและที่ไปเลยแต่มารู้ตัวอีกทีก็คือ พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้อยู่บนแผ่นดินสยามแล้ว ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงทุกคนบอกตรงกันว่า ในอดีตนั้น บรรพบุรุษของพวกเขาเคยเล่าว่าเส้นแบ่งเขตแดนของสยามและกัมพูชาอยู่ที่อ่าวสุริยวงศ์ คลองปอ ชาวบ้านทั่วไปรับรู้ตรงกันว่าที่นั่นมีต้นไม้แยกเป็นสองสาขา อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการแบ่งเส้นเขตแดน แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ยังเป็นเพียงแค่คำบอกเล่าในหมู่คนเชื้อสายไทยจากเกาะกงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบเอกสารภาษาฝรั่งเศสชื่อ Monographie de la Résidence de Kampot et de la côte cambodgienne du Golfe de Siam (4) ระบุว่า ตรงแหลม Samit เคยถือเป็นชายแดนที่แบ่งแยกกัมพูชาจากสยาม ตรงที่ดังกล่าวเคยมีที่ทำการทหารไทย และต่อมากลายเป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่เมืองกาปอต

ชื่อว่า คนไทยเกาะกง เป็นชื่อที่คนเหล่านี้ใช้เรียกตัวเองเสมอไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่อำเภอคลองใหญ่หรืออยู่ที่เมืองเกาะกงก็ตาม คำว่า "ไทย" คือ ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ในขณะที่คำว่า "เกาะกง" คือ ชื่อของถิ่นกำเนิดและถิ่นที่พักอาศัยของพวกเขา คำว่า "ไทยเกาะกง" จึงเป็นนามที่บอกได้ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิด ถิ่นที่มาของกลุ่มชนเหล่านี้ได้โดยชัดเจน (ethno-toponym) ในอดีต คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกเรียกและเรียกตัวเองว่า "คนไทยเกาะกง" แต่พวกเขาคือ "เสียมเกาะกง" หรือ "สยามเกาะกง" นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเสียมเกาะกงหรือไทยเกาะกง คนเหล่านี้ก็ยังนิยามตนเองเช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ความเป็นจริงแล้วคนไทยเกาะกงคือใคร? คนไทยเกาะกงก็คือคนเชื้อสายไทยที่อยู่ในจังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์หรือเกาะกงอันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศสยาม ก่อนปี 2447 คนเหล่านี้ก็คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเดียวกับชาวบ้านของอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดในปัจจุบัน ชาวบ้านในจังหวัดปัจจันตคีรีเขตร์มีทั้งคนไทยและคนจีนที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่และมาขึ้นสำเภาที่ชายฝั่งของเกาะกง

แม้ว่าการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับประเทศกัมพูชาจะทำให้ชาวบ้านต้องกลายเป็น เสียมเกาะกง ตั้งแต่สมัยอดีต จนกระทั่งเป็น ไทยเกาะกง ในปัจจุบันนั้น มีเพียงสิ่งเดียวที่เส้นเขตแดนไม่สามารถตัดขาดหรือกีดขวางพวกเขาได้นั่นคือ อัตลักษณ์ จากการศึกษาภาคสนามทางมานุษยวิทยาในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ประเทศไทยและจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา พบว่า ประวัติศาสตร์ร่วม (histoire commune) เป็นสิ่งที่ยึดโยงคนเชื้อสายไทยเกาะกงเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างเหนียวแน่นที่สุด พวกเขาเหล่านี้ผ่านช่วงชีวิตที่ต้องประสบกับการตกเป็นคนอื่นบนแผ่นดินอื่นมาด้วยกัน พบเห็นและมีประสบการณ์ที่ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลเจ้าสีหนุที่ห้ามพูด อ่าน มีหนังสือไทยไว้ในบ้านด้วยกัน ผ่านการต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองมาด้วยกัน ผ่านการพลัดพรากจากคนที่รัก ความอดอยาก และการอพยพข้ามพรมแดนอย่างยากลำบากโดยการเดินเท้าและเดินเรือมายังประเทศไทยด้วยกัน ฯลฯ ประวัติศาสตร์ร่วมดังกล่าวทำให้คนเชื้อสายไทยจากเกาะกงเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าพวกเขามาจากที่เดียวกัน ผ่านประสบการณ์มาแบบเดียวกัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถถ่ายทอดได้ดีเท่ากันคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงอีกแล้ว ประวัติศาสตร์ร่วม ทำให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันและในขณะเดียวกันก็ทาให้พวกเขารู้ด้วยว่าใครไม่ใช่คนเชื้อสายไทยจากเกาะกงจริงๆ

ประการที่สอง
ชาวบ้านในสองพื้นที่ข้ามพรมแดนดังกล่าวมีความสัมพันธ์ฉันเครือญาติกันและมักจะรู้จักคุ้นเคยกันอย่างดีเนื่องจากมีบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมาก่อน อย่างไรก็ดี การใช้นามสกุลเดียวกันในพื้นที่อำเภอคลองใหญ่ไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าคนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตอย่างแท้จริง ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ต้องอาศัยการสืบเครือญาติและใช้พยานชุมชน ความสัมพันธ์ทางเครือญาติถือเป็นปัจจัยประการที่สองที่ยึดเหนี่ยวคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงเข้าไว้ด้วยกัน

ประการที่สาม
เป็นปัจจัยที่สาคัญมากๆอีกประการหนึ่งคือ ภาษา คนเชื้อสายไทยจากเกาะกง พูดภาษาไทย ด้วยสำเนียงเหมือนกับคนไทยในอำเภอคลองใหญ่ ซึ่งก็แตกต่างกับสำเนียงของคนเขมรที่พูดภาษาไทย ความสามารถในการจำแนกสำเนียงเสียงพูดเหล่านี้ต้องอาศัยคนในพื้นที่หรือคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงเป็นผู้ฟัง ชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงหลายคน พูดภาษาเขมรได้ เนื่องจากเกิดและประกอบอาชีพที่เกาะกง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถอ่านและเขียนภาษาเขมรได้ สำหรับเรื่องการพูดภาษาเขมร พบว่า ชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงหลายคนเล่าว่าในยุคเขมรแดง พวกเขาแทบจะต้องกลายเป็นใบ้เนื่องจากไม่กล้าพูดภาษาเขมรสำเนียงไทย มิฉะนั้นจะโดนฆ่าเนื่องจากภาษาเขมรสำเนียงไทยจะทำให้ทหารเขมรแดงทราบว่าทันทีว่าพวกเขาเป็นคนไทย

ประการที่สี่
ความเชื่อทางศาสนา คนเชื้อสายไทยที่เกาะกงนับถือศาสนาพุทธ ในยุคของเจ้าสีหนุที่พระสงฆ์ไทยและคนไทยถูกบังคับให้สวดมนต์แบบเขมร ทำให้ชาวบ้านอึดอัดใจมาก ดินแดนเกาะกงในอดีต มีพระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างมากของชาวบ้านไทยเกาะกงอยู่ 3 องค์ด้วยกันคือ หลวงพ่อหมึก วัดปากคลองสนามควาย หลวงพ่อรอด วัดพนมกรุง และหลวงพ่อเวียน วัดเกาะกะปิ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเกาะกง กัมพูชา ปัจจุบันนี้หลวงพ่อทั้งสามองค์ก็ยังเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านไทยเกาะกงทั้งที่อยู่ที่เกาะกงและที่คลองใหญ่ โดยเฉพาะหลวงพ่อหมึก ที่ชาวบ้านเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก รูปปั้นจำลองของหลวงพ่อหมึกที่วัดคลองใหญ่ก็เปรียบเสมือนการสืบทอดความเชื่อของคนเชื้อสายไทยจากฝั่งเกาะกงมาสู่ฝั่งคลองใหญ่เช่นกัน

ประการที่ห้
า ความรู้สึกร่วมกัน สิ่งนี้เป็นผลพวงมาตั้งแต่การมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีคำพูดประโยคหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะได้ยินเสมอๆจากชาวบ้านเชื้อสายไทยจากเกาะกงเวลาที่พวกเขาเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของตนเองว่า "คนไทยเกาะกง อยู่เขมรเขาเรียกว่าไทย อยู่ไทยเขาเรียกว่า เขมร" ซึ่งคำพูดประโยคนี้ถือเป็นข้อความที่แสดงความรู้สึกน้อยใจ และ บ่งบอกถึงความเป็นคนอื่นบนแผ่นดินอื่นและบนแผ่นดินแม่ของบรรพบุรุษพวกเขาได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายนี้ คนไทยพลัดถิ่นในสังคมไทยที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันนี้นั้นต่างก็เกิดขึ้นจากการปักปันเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกกับประเทศพม่าอย่างคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และทางตะวันออกกับประเทศกัมพูชาอย่างคนไทยพลัดถิ่นในจังหวัดตราด

ประวัติศาสตร์เกี่ยวการปักปันเขตแดนเป็นตัวการสำคัญในการทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของคนกลุ่มนี้ และก็เป็นประวัติศาสตร์อีกเช่นกันที่ยึดเหนี่ยวคนกลุ่มนี้เข้าไว้ด้วยกัน สำหรับคนเชื้อสายไทยจากเกาะกงแล้ว พรมแดนทางวัฒนธรรมดูจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคสำหรับการดำเนินชีวิตของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย คงจะมีเหลือแต่พรมแดนทางนิติศาสตร์เท่านั้นที่ยังเป็นเส้นกั้นบางๆระหว่างพวกเขากับพวกเราที่เรียกว่าตัวเองว่าคนไทย

เชิงอรรถ


(1) อาจารย์ประจำภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร , นักศึกษาปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโปรว๊องซ์ เอ็กซ์ มาร์แซย 1 ( Université de Provence Aix-Marseille 1)
(2) La Convention Franco-Siamoise du 13 Février 1904. นอกจากนั้นยังมีกติกา (Protocole du 29 juin 1904) ต่อท้าย ที่ระบุขอบเขตในการปักปันเขตแดน
(3) ในสนธิสัญญาฝรั่งเศสสยาม ลงนามที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 1907
(4) A. Rousseau 1918 Monographie de la Résidence de Kampot et de la côte cambodgienne du Golfe de Siam. Saigon : Imprimerie-Librairie de l’Union, p.19.

credit : matichon news


Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2555 17:04:24 น. 0 comments
Counter : 1579 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.