Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
21 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
โขน มรดกของชาติที่ต้องไม่ตาย



หากใครได้มีโอกาสชมการแสดง โขนเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งงานมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา
เชื่อว่าคงจะยังรู้สึกชื่นชมกับความงดงามและภาคภูมิใจในศิลปะชั้นสูงของไทย รวมทั้งได้เห็นถึงการรวบรวมองค์ความรู้ด้านโขนที่ยังคงมีการสืบทอดกันอยู่ ที่มีสถาบันการศึกษาเฉพาะด้าน อย่างสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานบ่มเพาะบุคลากรโขนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะในงานสำคัญของประเทศ อย่างโขนเฉลิมพระเกียรติ ชุด เฉลิมพระบารมี เนื่องในงานสโมสรสันนิบาต ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น รัฐบาลก็มอบหมายให้สถาบันแห่งนี้เป็นผู้ดำเนินการ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเห็นความสำคัญของเหล่าเด็ก และเยาวชนคนโขนเหล่านี้ ได้มีโอกาสทำงานรับใช้บ้านเมือง

เกริ่นมาพอสมควรย้อนกลับมาศึกษาประวัติของโขนกันดีว่า ว่ามีความเป็นมากันอย่างไร โขน มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากหลักฐาน จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวถึงการแสดงโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทาง ประกอบกับเสียงซอและเครื่องดนตรีประเภทต่าง ๆ ผู้แสดงจะสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าตนเองและถืออาวุธ โขนเป็นจุดศูนย์รวมของศาสตร์และศิลป์หลากหลายแขนง เช่น วรรณกรรม วรรณศิลป์ นาฏศิลป์ คีตศิลป์ หัตถศิลป์ในการแสดงโขน ลักษณะสำคัญอยู่ที่ผู้แสดงต้องสวมหัวโขน ซึ่งเป็นเครื่องสวมครอบหุ้มตั้งแต่ศีรษะถึงคอ เจาะรูสองรูบริเวณดวงตาให้สามารถมองเห็น แสดงอารมณ์ผ่านทางการร่ายรำ สร้างตามลักษณะของตัวละครนั้น ๆ เช่น ตัวยักษ์ ตัวลิง ตัวเทวดา ฯลฯ ตกแต่งด้วยสี ลงรักปิดทอง ประดับกระจก บ้างก็เรียกว่าหน้าโขน


สำหรับความรุ่งเรืองของโขน ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ เสนาอำมาตย์ เข้ารับการฝึกหัดโขนเพื่อเป็นการประดับเกียรติยศแก่ตนเองและวงศ์ตระกูล และทรงโปรดฯให้หัดไว้เฉพาะแต่เพียงผู้ชายตามประเพณีดั้งเดิม ทำให้ผู้ที่ฝึกหัดโขน มีความคล่องแคล่วว่องไว สามารถใช้อาวุธต่าง ๆ ในการต่อสู้ได้อย่างชำนาญ รวมทั้งทรงโปรดให้มีการแต่งบทละครสำหรับแสดงโขนขึ้นอีกด้วย ทำให้เจ้านายชั้นสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากต่างหัดโขนไว้ในคณะของตนเองหลากหลายคณะ

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครั้งเสด็จดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประทับ ณ พระราชวังสราญรมย์ ได้ทรงโปรดให้มีการฝึกหัดโขนขึ้นตามแบบโบราณ โดยมีชื่อคณะว่า “โขนสมัครเล่น” ทรงให้การสนับสนุนในการแสดงโขนมาโดยตลอด เคยนำออกแสดงในงานสำคัญ ๆ หลายครั้งเช่น งานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ร.ศ. 128 พ.ศ.2453 และได้มีพระราชดำรัสในสูจิบัตรจัดงานไว้ความว่า
“โขนโรงนี้ เรียกนามว่า ‘โขนสมัครเล่น’ เพราะผู้เล่นเล่นโดยความสมัครใจเอง ไม่ใช่ถูกกะเกณฑ์หรือเห็นแก่สินจ้าง มีความประสงค์แต่จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่ลืมว่า ศิลปะวิทยาการเล่นเต้นรำ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย โขนโรงนี้ได้เคยเล่นแต่ที่พระราชวังสราญรมย์เป็นพื้น แต่ครั้งนี้เห็นว่าผู้ที่เป็นนักเรียนนายร้อย ก็เป็นคนชั้นเดียวกัน และเป็นที่หวังอยู่ว่าจะเป็นกำลังของชาติเราต่อไป พวกโขนจึงมีความเต็มใจมาช่วยงาน เพื่อให้เป็นการครึกครื้น ถ้าแม้ว่าผู้ที่ดูรู้สึกว่าสนุกและแลเห็นอยู่ว่า การเล่นอย่างไทยแท้ก็ยังเป็นสิ่งที่ควรดูอยู่แล้ว ผู้ที่ออกน้ำพักน้ำแรงเล่นให้ดูก็จะรู้สึกว่าได้รับความพอใจยิ่งกว่าได้ สินจ้างอย่างใด ๆ ทั้งสิ้น”

จะเห็นได้ว่า โขน มีการสืบทอดและอนุรักษ์ให้คงอยู่ถึงจะผ่านร้อนผ่านหนาว มรสุมมามากมาย จนทุกวันนี้อาจจะกล่าวได้ว่า ในประเทศของเรานี้ มีสถาบันการศึกษาที่สอนเฉพาะด้านนาฏศิลป์เหลืออยู่ไม่มากนัก ซึ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ก็ถือได้ว่า เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ทำหน้าที่นี้อยู่ ในการสืบทอดโขนของชาติ โดย นายกมล สุวุฒโท อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ บอกว่า สถาบันมีวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่อยู่ในสังกัดทั่วประเทศจำนวน 12 แห่ง สืบทอดการแสดงโขนมานานมากกว่า 30 – 40 ปี ถือเป็นสถาบันการศึกษาเดียวที่มีการฝึกสอนการแสดงโขน ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมไปจนถึงระดับชั้นปริญญาตรี ซึ่งเป็นการฝึกรากฐานของโขนทุกชนิด ไม่ว่า จะเป็นพระ นางยักษ์ ลิง โขนที่ฝึกมาตั้งแต่เด็กมีการพัฒนาไปจนมีความชำนาญ โขนยังมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ดนตรีไทย เพื่อให้เข้ากับการแสดง รวมถึงการใช้คีตศิลป์ คือ การร้อง และการพากย์ ซึ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มีการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันเรามีครูฝึกสอนโขนที่มีความเชี่ยวชาญ สถาบันจึงต้องเตรียมรวบรวมผู้ที่มีองค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ให้มากที่สุด รวมถึงการหาผู้เชี่ยวชาญในการกำหนดตอน เนื้อเรื่อง เพื่อให้มีชุดการแสดงที่มีความหลากหลายมากขึ้นด้วย

ขณะที่ น.ส.กมลทิพย์ สารดี หรือ น้องแนน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปะนาฏดุริยางค์ เอกนาฏศิลป์ไทย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สวมบทนางสีดา ในงานแสดงโขน ชุด “เฉลิมพระบารมี” ต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่าว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งต่อตนเอง ครอบครัว และสถาบันการศึกษา ที่ได้แสดงโขนต่อหน้าพระพักตร์ และถือเป็นความปรารถนาตั้งใจที่ได้มีโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ทำความดี ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในความสามารถที่เราถนัด จึงฝึกซ้อมการแสดงด้วยความมุ่งมั่น และตั้งใจอย่างเต็มที่ ทั้งทีมคณาจารย์ และเพื่อน ๆ จาก คณะศิลปะนาฏดุริยางค์ และ คณะศิลปศึกษา ร่วม 200 คน

“การแสดงครั้งนี้มีความวิจิตรตระการตาของขบวนเสด็จของพระรามและความ ไพเราะ ความงดงาม ของบทถวายพระพรของเหล่าเทพบุตรนางฟ้า เป็นการผสมผสานระหว่าง วงปี่พาทย์และวงดนตรีสากล แต่ยังคงรักษาจารีตแบบแผนไว้อย่างมั่นคง สำหรับอนาคต ได้ตั้งความหวังว่าอยากที่จะเป็นครูสอนนาฏศิลป์ หรือ ทำในสิ่งที่สามารถสืบทอดการแสดง ประเพณี และวัฒนธรรมไทยเอาไว้ หรืออีกความฝันก็คือ อยากมีโอกาสได้เดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมยังต่างประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ต่อ สายตาชาวโลก”

โขน สำหรับคนไทยอาจจะหาดูไม่ง่ายนักในยุคนี้ นอกจากงานมหามงคล หรืองานสำคัญของประเทศ แต่อยากให้รู้ว่า สถาบันการศึกษาที่สอนด้านโขนยังมีอยู่ และรัฐบาลควรเอาใจใส่ เพราะเอกลักษณ์สำคัญของชาติเช่นนี้ กว่าจะฝึกได้คนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก.

credit : admin


Create Date : 21 มกราคม 2555
Last Update : 21 มกราคม 2555 19:10:38 น. 0 comments
Counter : 2757 Pageviews.

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.