Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
24 ธันวาคม 2549
 
All Blogs
 
018-019 ชมผาหินงาม...ตามเส้นทางสายบุปผา (ตอนที่ 1 ผาแต้ม)

ชมผาหินงาม...ตามเส้นทางสายบุปผา (ตอนที่ 1 ผาแต้ม)
3-5 พฤศจิกายน 2549


***ข้อมูลภาพถ่าย*** Fuji Finepix S9500 ทำสีเรียนแบบฟิล์ม Fuji Provia 100

กว่า 1,700 กิโลเมตร ...นับเป็นสถิติการเดินทางท่องเที่ยวที่ยาวไกลที่สุดของคณะเดินทาง กับ "เจ้าอ้วน" พาหนะคันเก่ง ที่พิสูจน์ตนเองต่อคำครหาของผู้ที่ไม่ได้รู้ซึ้งถึงตัวตนที่แท้จริงของมัน... "ไปได้ทุกที่ๆมีทาง" เป็นคำที่เหล่าผู้ใช้รถรุ่นนี้กล้ายืนยัน แต่คำว่า... "ไปได้ทุกที่ แม้แต่ที่ๆไม่ค่อยอยากจะเป็นทาง" ดูจะเหมาะสมกับการเดินทางครั้งนี้มากกว่า...

20.00 น. / 2 พ.ย. 49 - ล้อหมุน...เจ้าอ้วนพาคณะเดินทางออกจากจุดนัดพบย่านลาดพร้าว ฝ่าการจราจรอันคับคั่งสู้ถนนวิภาวดีรังสิต

ประมาณ 21.00 น. / 2 พ.ย. 49 - แวะเตรียมความพร้อมของทั้งคนและรถ ที่ปั๊ม J แถวๆชานเมืองเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 มุ่งหน้าสู่ "จังหวัดอุบลราชธานี" จุดหมาย "ผาชนะได - อุทยานแห่งชาติผาแต้ม"



*** บันทึกสถิติ*** อุทยานแห่งชาติลำดับที่ 18 ของ "การทำสถิติเยื่อนอุทยานแห่งชาติทั่วไทย"

นี่จะเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่ผมจะต้องร่วมแรงร่วมใจกับเจ้าอ้วนฟันฝ่าความมืดมิดตลอดเส้นทางที่พี่ท่านหนึ่งประมาณเวลาไว้ให้ที่ 6-8 ชั่วโมง หากใช้ความเร็ว 100 กม./ชม. ขึ้นไป ...แต่ผมมีกฎส่วนตัวที่จำกัดความเร็วเอาไว้ที่ 90-100 กม./ชม. ยกเว้นกรณีเร่งแซง... 1-2 ชม. เป็นเวลาที่อาจจะต้องบวกเพิ่มเข้าไป

ประมาณ 22.00 น. / 2 พ.ย. 49 - แวะพักกินข้าวกินปลา... เดินเข้า Seven โชคดีเจอ CD ของ "น้าแอ๊ด คาราบาว" ชุด "รัฐฉานตำนานที่โลกลืม" ซื้อฟังซะเลย อย่างน้อยเสียงน้าแอ๊ดก็ฟังได้เพลินไม่ชวนง่วงดี (ดูๆแล้วเหมือนน้าแอ๊ดจะมีวัตถุดิบในการเขียนเพลงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร เพราะเขียนได้ดี เมื่อเทียบกับเพลงอื่นๆในช่วงหลังนี้)

ขับเรื่อยมาจนเส้นทางพาเราแยกตัวออกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 แสงดวงไฟที่สาดส่ายไปมาของรถยนต์ที่ขวักไขว่ เริ่มแปลเปลี่ยนเป็นความมืดมิดดั่งที่หวั่นใจไว้...

"นั่งทำงานมาทั้งวัน ไม่ได้นอนเอาแรงก่อน สัก 5 ทุ่ม เที่ยงคืนก็คงขับไม่ไหวแล้ว"

ผมบอกกับคณะเดินทางไว้อย่างนั้น แต่พอเอาเข้าจริงมันตรงกันข้าม...ความมืด นำพาความหวาดหวั่นเข้ามาแทนความอ่อนล้าจากการงาน ตาสว่าง ขับสนุก ...ผมชักจะติดใจการเดินทางยามค่ำคืนเข้าซะแล้วซิ


ภาพไม่ตรงกับเนื้อหา เพราะไม่มีภาพตอนกลางคืน...

03.30 น. / 3 พ.ย. 49 - เสียงน้าแอ๊ดวนไปวนมานับรอบไม่ได้...ความง่วงตามมาจนทัน ...โอ้...ผมขับมาเกือบจะ 8 ชั่วโมงแล้วคงต้องเปลี่ยนมือพลขับแล้วหละ...เจอกันอีกทีที่อุบลฯครับผม

เกือบ 06.00 น. / 3 พ.ย. 49 - ตัวเมืองอุบลฯอยู่ห่างออกไปไม่กี่กม. คณะเดินทางแวะพักล้างหน้าล้างตา ผมกลับเข้าประจำตำแหน่งพลขับอีกครั้ง คราวนี้คงต้องชดเชยเวลาช่วงที่ผมหลับไป เพราะพลขับมือสองใช้ความเร็วอยู่ที่ไม่ถึง 70 กม./ชม. บวกกับสภาพเส้นทางที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซมจึงไม่สามารถทำเวลาได้...

ระหว่างขึ้นสะพานเล็กๆเพื่อข้าม "แม่น้ำมูล" บรรยากาศสวยงามมาก หมอกลงบางๆ แสงแดดอ่อนๆ บ้านเรือนยังเงียบสงบ อยากเก็บภาพเหลือเกิน ...แต่ไม่กล้าแวะหยุดรถเพียงเพื่อถ่ายภาพ เพราะเป็นถนนแบบ 2 ช่องทางสวนกันเล็กๆพอคัน เกรงใจรถลาชาวบ้านที่ต้องออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพ...จึงมีแต่ความทรงจำมาถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือได้เพียงเท่านี้...ขออภัยทุกท่านด้วยเด้อ...



08.00 น. / 3 พ.ย. 49 - ร่วมเคารพธงชาติกับพี่ๆเจ้าหน้าที่ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม สอบถามเส้นทางพร้อมกับวางแผนเส้นทาง เท่าที่คณะเดินทางจะสามารถไปเที่ยวชมได้ โดยมีเป้าหมายคือการไปลงเต็นท์พักแรมกันที่ "หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่ 5 ดงนาทาม" เพื่อรอชมดวงตะวันขึ้นในวันต่อไป...



จุดชมวิว ก่อนลงไปดูภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นวิวแม่น้ำโขงในมุมมองที่งดงามแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 9 โมงแล้ว



...พลอยให้จินตนาการไปถึงความงดงามที่จะได้เห็น หากมายืน ณ จุดนี้ในช่วงเวลาที่ดวงตะวันขึ้นหรือลง


เมื่อเผื่อเวลาเดินเท้าขึ้นไปยังหน่วยฯ ดงนาทาม, เวลาเดินเท้าเที่ยวชมบริเวณใกล้เคียง ...เวลาในการเที่ยวชมส่วนอื่นๆของอุทยานฯ ก่อนขึ้นจึงดูจำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน... "นี่ตูมาทัวร์ชะโงกหรือเปล่าฟะเนี่ย"



ลงไปดูภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์...ทางนี้...ตามมา



ทางเจ้าหน้าที่ฯ บอกว่าภาพเขียนสีที่เห็นนั้น สีจางลงไปกว่าเดิมมาก อาจจะเพราะโดนแดดโดนลมอยู่ทุกวัน...ไม่รู้ว่าจะมีให้ชมได้อีกนานแค่ไหน...



ภาพเขียนสีแบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่มีความชัดเจนที่สุดคือ กลุ่มที่ 3



ตรงกลุ่มที่ 3 นี้ ทางอุทยานฯ จะทำรั้วกันเอาไว้ไม่ให้คนเข้าไปสร้างความเสียหาย...แม้จะดูขัดตาอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่านี้แล้ว...รู้ๆกันอยู่ว่าคนมือบอนมีมากขนาดไหน ดูได้จากรอยจารึกในแทบทุกอุทยานฯ


คณะเดินทางจบการชมภาพเขียนสีที่กลุ่มที่ 3 นี้ เพราะต้องเดินทางต่อกันแล้ว


ดูต้นไม้...ช่างพิสดารขึ้นนะ...


มีแม่ค้าหาบของมาขายในนี้ด้วย...


สิ่งนี้คืออะไร...ใครก็ได้บอกที...

แล้วคณะเดินทางก็เดินทางไป "น้ำตกสร้อยสวรรค์"


บริเวณ น้ำตกสร้อยสวรรค์ มองลงมาจากจุดชมวิว


เข้าใกล้ขึ้นอีกนิด...


น้ำตกสร้อยสวรรค์ ตัวเป็นๆ...


ยืนหน้าน้ำตกจะๆ ให้ละอองน้ำประพรมผิวกาย...โอ้...เหนือคำบรรยายหละครับพี่น้อง...



ที่บริเวณ น้ำตกสร้อยสวรรค์ มีจุดที่น่าเที่ยวชมอีกหลายจุด ร่วมทั้งจุดที่น่าจะเป็นจุดที่ได้เห็นน้ำตกในมุมเดียวกับที่ลงใน อนุสาร อสท. ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2549



แต่เมื่อดูเวลาแล้วคณะเดินทางจำเป็นต้องตัดออกไป ...ร่วมทั้งความผิดพลาดอย่างไม่น่าให้อภัย เมื่อตัดการเดินเท้าไปชม "ทุ่งดอกไม้ดิน หรือ ทุ่งดอกไม้ป่า" เพราะคิดว่าขึ้นไปบน หน่วยฯ ดงนาทาม ก็คงมี แต่หารู้ไม่...ฮือๆๆ




13.00 น. / 3 พ.ย. 49 - คณะเดินทางยังต้วมเตี้ยมๆ วนหาเส้นทางไปยัง "หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่ 4 ห้วยทราย" อยู่พักใหญ่ คิดจะถามทางก็ไม่รู้จะถามใคร เพราะชาวบ้านต่างปิดบ้านออกไปทำไร่ทำนากันเสียหมด หลงไปหลงมาในที่สุดก็ถึงจนได้



จัดเตรียมข้าวของเพื่อการพักแรม 1 คืน กับอาหาร 1 มื้อ โชคดีที่ได้พี่ๆเจ้าหน้าที่ใจดีที่ มีเต็นท์ มีอุปกรณ์ทำครัว ไว้ให้ยืมใช้ที่หน่วยฯ ดงนาทามแล้ว... เรียกว่าถ้าขึ้นไปตัวเปล่าก็ยังได้ (แบบนี้น่าจะไปขอข้าวเย็นกินด้วยสักมือก็คงจะดี...เอิ๊กๆๆ )



เจ้าอ้วนเริ่มไต่ความสูงนำพาคณะเดินทางผ่านเส้นทางตะปุ่มตะป่ำโหนกนูนของหินผาผสมปูนซีเมนต์ ...สงสารก็สงสาร แต่อีกใจก็เชื่อมั่นว่า "เจ้าอ้วนแกทำได้"



...สุดเส้นทางที่ "วัดถ้ำปาฏิหารณ์" เจ้าอ้วนจะจอดพักรออยู่ที่นี่ ที่เหลือคณะเดินทางต้องเดินเท้าต่อ...



อีก 1 ชีวิตที่เพิ่มเข้ามาในคณะเดินทางคือ "พี่อนันต์" เจ้าหน้าที่ฯผู้นำทาง


เดิน...


เดิ๊น...


เดิน...


เสาเฉียง = สะเลียง = เสาหินที่มีลักษณะแปลก


เสาเฉียง...อีก


ข้ามสะพานไม้เล็กๆนี้ไปอีกนิดก็ถึง...


เกือบ 2 ชั่วโมง ก็ขึ้นถึง หน่วยฯ ดงนาทาม


เท่าที่ทำได้คือ เดินชมทุ่งดอกไม้ดินขนาดย่อมๆ


ก็ได้มารู้จากปากพี่อนันต์เอาตอนนี้เองแหละว่า ทุ่งดอกไม้ดินบริเวณน้ำตกสร้อยสวรรค์น่ะใหญ่ที่สุดแล้ว ...โอ้ พระเจ้าช่วยกล้วยทอด!! ...ใครไปเยือนอย่าได้ทำสิ่งผิดพลาดเยี่ยงนี้เป็นอันขาด...เราเตือนท่านแล้วเด้อ...อยากจะเขกกะโหลกตัวเอง...แง่งๆๆ


สร้อยสุวรรณา...


ดุสิตา...


ดุสิตา...ระยะประชิด


มณีเทวา...


มณีเทว...ว...วา...


...จำไม่ได้...อาจจะเป็นหยาดน้ำค้าง แต่เหมือนพี่อนันต์จะบอกว่า ตอนอยู่ติดดินแบบนี้จะเรียกคนละชื่อกัน...


ถึงจะเป็นลานดอกไม้ดินขนาดเล็ก...แต่ความงามก็ไม่น้อยหน้าใคร...




เวลาประมาณการพระอาทิตย์ขึ้น 05.54 น. / 4 พ.ย. 49 – คณะเดินทางฝืนตาตื่นเพราะอากาศเย็นสบายน่านอน แต่เพื่อชม "ดวงตะวันขึ้นก่อนใคร" ต้องตื่นๆ



...เดินไปอีก 7-8 ร้อยเมตร ก็ถึงจุดชมวิว "ผาชนะได" น่าเสียดายที่เมฆและหมอกหนาไปหน่อย ภาพที่เห็นจึงลดความงามจากที่จินตนาการไว้พอสมควร แถมยังไม่มีทะเลหมอกอีกด้วย...



เจ้าหน้าที่ฯ บอกว่าฝนไม่ตกมาเป็นเดือนแล้ว (ตรงข้ามกับพื้นที่ภาคกลางของเราเลย) และอากาศก็ยังไม่หนาวพอ...ตรงนี้ทำใจไว้แล้ว



เกือบ 10.00 น. / 4 พ.ย. 49 – คณะเดินทางกลับลงมาถึง หน่วยฯ ห้วยทราย แล้วเตรียมตัวเดินทางลงสู่ "อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย"

ต่อตอนที่ 2

อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ได้รับการสำรวจโดย คณะอาจารย์ และนักศึกษาจากภาควิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร และค้นพบภาพเขียนสีโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ผาแต้ม ท้องที่บ้านกุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับสภาพป่าในบริเวณใกล้เคียงยังอุดมสมบูรณ์อยู่ จึงได้ทำหนังสือบันทึกจากภาควิชาฯ ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2524 เสนอต่อกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ขอให้จัดตั้งป่าภูผาในบริเวณผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ

ต่อมาได้รับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษหน้า 90 – 92 เล่มที่ 108 ตอนที่ 245 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 ให้เป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 74 ของประเทศไทย

***อ้างอิงข้อมูลจาก*** "การกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" //www.dnp.go.th


Create Date : 24 ธันวาคม 2549
Last Update : 13 เมษายน 2551 10:46:15 น. 0 comments
Counter : 1537 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

GoE Online
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add GoE Online's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.