::FunGiG::เทศนาโวหาร พิสดารเหลือหลาย พรรณามากมาย เข้าถึงได้หรือยัง??
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2553
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 

ข้าว

เขียนส่งอาจารย์รังสรรค์ แสงสุข ประกอบรายวิชา RU 603

“ข้าว”

ผมเลือกหยิบยกเอาเรื่อง “ข้าว” มาเขียน ก็เพราะผมเป็นคนบ้านนอก เป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ทั้งสายเลือดและจิตใจ ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็จะนำเอาความเป็นชาวนาไปด้วย บรรพบุรุษของผมเท่าที่จำได้ล้วนเป็นชาวนาด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าจะไม่ได้ทำนาเป็นอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว แต่ก็ไม่เคยทิ้งอาชีพทำนาไปได้เลย นั่นก็เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ ต้องอาศัยข้าวหล่อเลี้ยงชีวิตทั้งสิ้น แม้ว่าบางคนจะไม่ได้กินข้าวเป็นอาหารโดยตรง แต่ก็กินสิ่งที่เป็นผลผลิตซึ่งแปรรูปมาจากข้าว เช่น ขนมปัง เส้นหมี่ แป้ง เครื่องดื่มธัญพืชชนิดต่างๆ เป็นต้น

เว็บไซต์วิกิพีเดียอธิบายว่า “ข้าว” เป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้าที่สามารถกินเมล็ดได้ ถือเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเช่นเดียวกับหญ้า ต้นข้าวมีลักษณะภายนอกบางอย่าง เช่น ใบ กาบใบ ลำต้น และรากคล้ายต้นหญ้า ในประเทศไทย ข้าวหอมมะลิมีสายพันธุ์ในประเทศและเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

พันธุ์ของข้าว

ข้าวที่นิยมบริโภคมีอยู่ 2 สปีชีส์ใหญ่ๆ คือ

•Oryza glaberrima ปลูกเฉพาะในเขตร้อนของแอฟริกาเท่านั้น
•Oryza sativa ปลูกทั่วไปทุกประเทศ ข้าวชนิด Oryza sativa ยัง แยกออกได้เป็น
•indica มีปลูกมากในเขตร้อน
•japonica มีปลูกมากในเขตอบอุ่น
•Javanica
ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยเป็นพวก Indica ซึ่งแบ่งออกเป็นข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ ข้าวยังได้ถูกมนุษย์คัดสรรและปรับปรุงพันธุ์มาโดยตลอดตั้งแต่มีประวัติ ศาสตร์การเพาะปลูก ข้าวในปัจจุบัน จึงมีหลายหลายพันธุ์ทั่วโลกที่ให้รสชาติและประโยชน์ใช้สอยต่างกันไป พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงระดับโลกของไทย คือ ข้าวหอมมะลิ

ลักษณะทั่วไป

ลักษณะที่สำคัญของข้าวแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต และลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ดังนี้

ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต

ลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของต้นข้าว ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ

•ราก รากเป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน ใช้ยึดลำต้นกับดินเพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีรากฝอยแตกแขนงกระจายแตกแขนงอยู่ใต้ผิวดิน
•ลำต้น มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้องๆ โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว ปกติมีประมาณ 20-25 ปล้อง
•ใบ ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับสังเคราะห์แสง เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ
ลักษณะ ที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์

ต้นข้าวขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้และเกสร ตัวเมีย ลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ได้แก่ รวง ดอกข้าวและเมล็ดข้าว

•รวง รวงข้าว (panicle) หมายถึง ช่อดอกของข้าว (inflorescence) ซึ่งเกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว ระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องอันสุดท้ายกับข้อต่อของใบธง เรียกว่า คอรวง
•ดอกข้าว หมายถึง ส่วนที่เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ดอกข้าวประกอบด้วยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่นประสานกัน เพื่อห่อ หุ้มส่วนที่อยู่ภายในไว้ เปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก เรียกว่า เลมมา (lemma) ส่วนเปลือกนอกใหญ่แผ่นใน เรียกว่า พาเลีย (palea) ทั้งสองเปลือกนี้ ภายนอกของมันอาจมีขนหรือไม่มีขนก็ได้
•เมล็ดข้าว หมายถึง ส่วนที่เป็นแป้งที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม (endosperm) และส่วนที่เป็นคัพภะ ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่น เอ็นโดสเปิร์มเป็นแป้งที่เราบริโภค คัพภะเป็นส่วนที่มีชีวิตและงอกออกมาเป็นต้นข้าวเมื่อเอาไปเพาะ
ประเภทของข้าว

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเจ้า และ ข้าวเหนียว ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันเกือบทุกอย่างแต่ต่างกันตรงที่เนื้อแข็งในเมล็ด

•เมล็ดข้าวเจ้าประกอบด้วยแป้งอมิโลส (Amylose) ประมาณร้อยละ 15-30
•เมล็ดข้าวเหนียวประกอบด้วยแป้งอมิโลเพคติน (Amylopectin) เป็นส่วนใหญ่และมีแป้งอมิโลส (Amylose) ประมาณร้อยละ 5-7
การค้าข้าว

โลกมีความต้องการข้าวความต้องการบริโภคของโลกประมาณ 417.7 ล้านตัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 36 รองลงมาคือ เวียดนาม ร้อยละ 20 อินเดีย ร้อยละ 18 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ14 ปากีสถาน ร้อยละ 12 ตามลำดับ (ข้อมูลจาก : //th.wikipedia.org/wiki/ข้าว)

การใช้ประโยชน์จากข้าว

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2543 การใช้ประโยชน์จากข้าวของประเทศไทย ส่วนใหญ่ใช้บริโภคเป็นข้าวในประเทศกว่า 10.31 ล้านตัน หรือร้อยละ 42.67 ของข้าวที่ผลิตได้ ทำพันธุ์ประมาณ 1 ล้านตันหรือร้อยละ 4.23 ในขณะที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น แป้งและก๋วยเตี๋ยว ใช้ในประเทศ ประมาณ 2.12 ล้านตัน หรือร้อยละ 8.79 และส่งออกในลักษณะต่างๆ ทั้งหมดประมาณ 10.07 ล้านตัน หรือแบ่งเป็นส่งออกข้าวที่ยังไม่แปรรูปประมาณ 9.83 ล้านตัน หรือร้อยละ 97.68 ของปริมาณข้าวที่ส่งออก และส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์เพียงประมาณ 0.24 ล้านตัน หรือร้อยละ 3.32 ของปริมาณข้าวที่ส่งออก

เมื่อพิจารณาเฉพาะผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งใช้ในประเทศและส่งออก ที่มีปริมาณรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.35 ล้านตัน หรือประมาณเพียงร้อยละ 9.72 ของข้าวที่ผลิตได้ทั้งหมด เป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าที่ควร ซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของอุตสาหกรรมเกษตรโดยรวมของไทย (ข้อมูลจาก :// //www.oie.go.th/industrystatus2/rice_2.doc)

ในส่วนของข้อมูลและคำนิยามต่างๆเกี่ยวกับข้าว สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ //kkn-rsc.ricethailand.go.th/

“ข้าว” ถือได้ว่าเป็นอาหารหลักของโลก เพราะสามารถแปรรูปเป็นอาหารชนิดอื่นได้สารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะคนไทยด้วยแล้ว มักจะบอกเสมอว่า “..กินอะไรก็ไม่อยู่ท้อง เหมือนไม่ได้กิน ยังไงก็ต้องกินข้าว..”

อีกทั้งคนไทยยังให้ความสำคัญกับข้าวเป็นอย่างมาก มีการระลึกถึงบุญคุณของข้าว บางคนถึงกับสอนลูกหลานว่า อย่าลืมบุญคุณข้าว ไม่ให้เอาข้าวไว้ในเบื้องต่ำ ห้ามเทข้าวทิ้ง หรือบางพื้นที่ เช่นทางภาคอีสานนั้น จะมีบุญกุ้มข้าวใหญ่ และงานบุญอื่นๆที่เกี่ยวกับการแสดงถึงการระลึกถึงบุญคุณข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีงานสำคัญเกี่ยวกับข้าวอีกงานหนึ่งที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดีคือ งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญซึ่งแสดงให้เห็นว่า “ข้าว” เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนไทยและคนทั่วโลก

เมื่อพูดถึงข้าวแล้ว อย่างหนึ่งที่เราจะลืมเสียมิได้ก็คือ ชาวนาผู้ผลิตข้าวให้เราได้รับประทานกันจนอิ่มหนำสำราญอยู่ทุกวัน

หากใครไม่ได้เป็นชาวนาหรือไม่ได้ทดลองลงมือทำนาแล้ว ย่อมไม่มีทางรู้และเข้าใจได้ถึงความเหนื่อยยากของชาวนา แม้ว่าตัวผมเองจะเป็นลูกชาวนา แต่ก็ไม่ได้ทำนาอย่างจริงจังเลย จะทำก็เพียงบางสิ่งบางอย่างที่พอจะทำได้เท่านั้น แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้รู้ซึ้งและเข้าใจดีว่า ชาวนานั้นต้องเหนื่อยยาก ต้องเสียสละทั้งเวลาและความสุขส่วนตัวหลายอย่าง ไม่มีวันหยุดที่กำหนดได้ตายตัว ไม่ต้องลงชื่อหรือลงเวลามาทำงาน ทำงานโดยไม่มีใครมาบังคับหรือควบคุม แต่ทำด้วยความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตน ซึ่งในหนึ่งวันชาวนาต้องทำงานไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง เพราะครั้งหนึ่ง ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก พ่อเคยฝึกให้ทำนาโดยพาออกไปทำนาตั้งแต่ตีสองทุกวัน กว่าจะเลิกงานกลับมาถึงบ้าน ก็เป็นเวลาสองสามทุ่มเข้าไปแล้ว ถ้าเป็นบางช่วงของการทำนา คือฤดูเก็บเกี่ยว ไม่มีเวลาใดที่จะได้กลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะเรายึดเอา ที่นาเป็นบ้านของเรา เวลานี้จะนอนไม่เป็นเวลา เพราะกลางคืนเป็นช่วงเวลาที่อากาศเย็น เหมาะแก่การทำงานในท้องทุ่งเป็นอย่างยิ่ง ตกเย็นหลังจากกินมื้อเย็นกันแล้วนั่งพัก ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าให้ข้าวเรียงเมล็ดกันก่อน จากนั้นทุกคนก็ลงไปที่ท้องทุ่ง เพื่อเกี่ยวข้าว หรือมัดข้าวตามหน้าที่ของแต่ละคน

หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวมาจากท้องนาแล้ว กว่าจะมาเป็นข้าวสวยในจานให้เราได้กินกัน ก็จะต้องมีขั้นตอนอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสีข้าว ซึ่งการสีข้าวนั้นก็เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะหากโรงสีบางแห่ง สีข้าวโดยการขัดข้าวมากเกินไป หรือน้อยเกินไปก็จะทำให้ข้าวสวยหรือไม่สวยต่างกัน โรงสีบางแห่งอาจจะบดข้าวมากเกินไป ข้าวอาจจะออกมาเมล็ดไม่สวยทำให้ไม่น่ารับประทาน เป็นต้น

ไม่เพียงข้าวจะมีมากมายหลายชนิดเท่านั้น แต่เมื่อข้าวชนิดต่างๆได้ผ่านกระบวนการหลายอย่างจนกลายมาเป็นเมล็ดข้าวที่พร้อมสำหรับการนำไปบริโภคแล้ว ข้าวก็จะถูกแปรสภาพให้เป็นมากกว่าข้าวหลากหลายชนิดจนนับไม่ถ้วนเลยทีเดียว

“ข้าว” ไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารที่เลี้ยงชีวิตต่างๆบนโลกนี้เท่านั้น แต่ข้าวยังเป็นสิ่งที่ก่อกำเนิดวัฒนธรรมต่างๆในโลกอีกด้วย อย่างเช่นประเทศไทยของเรา ข้าวได้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามต่างๆมากมาย เช่น ก่อนลงมือทำนาก็จะมีประเพณีเซ่นแม่โพสพและผีบรรพบุรุษเพื่อขอขมา และอ้อนวอนให้ช่วยปกปักรักษาคนและส่งเสริมให้การทำนาได้ผลดี เช่น บุญเบิกบ้านทางภาคอีสาน ในระหว่างการทำนาขั้นตอนต่างๆ ก็มีการลงแขกอันเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชน และคนในชุมชนจะถือเอาโอกาสเช่นว่านี้ พบปะสังสรรค์กัน หลังเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะมีการขอบคุณแม่โพสพและผีบรรพบุรุษ เช่น การจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้ “ข้าว” ยังก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆอีกมายมาก จากการศึกษาของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2552 เรื่อง นวัตกรรมข้าวไทย : ศักยภาพในอนาคต พบว่า แนวทางการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมข้าวไทย สามารถพัฒนาได้ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้

1.นวัตกรรมในระบบการเพาะปลูกข้าว โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตและมีสารอาหารเพิ่มขึ้น เช่น Golden Rice เป็นข้าวที่มีสารเบต้า-แคโรทีนสูง รวมถึงการนำระบบเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ในการปลูกข้าว และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในการปลูกข้าว

2.นวัตกรรมข้าวไทยในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ข้าวที่ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณค่าสารอาหาร (nutrient-enriched rice) และแป้งข้าวเจ้าที่เหมาะสำหรับการควบคุมน้ำหนัก (resistant starch) เป็นต้น

3.นวัตกรรมข้าวไทยในอุตสาหกรรมยาหรืออาหารเสริม เช่น การสกัดสารสำคัญออริซานอล (oryzanol) ไฟโตสเตอรอล (phytosterol) จากข้าว และการใช้ประโยชน์จากข้าวแดงได้จากการหมักข้าวด้วย red yeast (Monascus purpureus)

4.นวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง การนำสารสกัดจากข้าวไปใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น การนำกรดโคจิก (kojic acid) ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเม็ดสี (melanin) ของผิวหนัง และโปรตีนข้าว (hydrolyzed rice brand protein) เมื่อถูกนำผสมกับโปรตีนถั่วเหลืองจะมีคุณสมบัติในการลดรอยขอบตาดำ เป็นต้น

5.นวัตกรรมข้าวไทยกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การนำแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมยางรถจักรยานเพื่อ ให้มีลักษณะเบาและมีความยืดหยุ่นดี การนำแกลบไปเป็นส่วนผสมในการทำพื้นผิวถนน ตลอดจนการนำแกลบหรือฟางข้าวไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับข้าวอีกมากมาย อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการผลิตข้าว เช่น รถไถนา ปุ๋ยชีวภาพ รถเกี่ยวนวดข้าว ไปจนถึงการพัฒนาเครื่องสีข้าว เป็นต้น

เหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสที่ดีและถือเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยของเรา ที่มีทรัพยากรอันทรงคุณค่าอยู่ในมือ สำหรับการดำรงชีวิตและการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพียงเพื่อต้องการให้เราทุกคนได้มองเห็นคุณค่าของข้าวทุกเมล็ด เวลากินข้าวทุกจานทุกมื้อก็ขอให้กินให้หมด ตักแต่พอกินอิ่ม “ไม่กินทิ้งกินขว้าง” เพื่อเป็นการสำนักในบุญคุณข้าว และให้ชาวนามีกำลังใจในการผลิตข้าวที่ดี เราจะได้มีข้าวที่อร่อยกินไปชั่วลูกชั่วหลาน




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2553
0 comments
Last Update : 23 พฤษภาคม 2553 18:48:11 น.
Counter : 977 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


fungig
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่...โลกแห่งความสุขนิรันดร์... ในที่นี้คือโลกแห่งภูมิปัญญา ภายใต้แนวคิดของผู้เขียนที่ว่า ...การนับหนึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีเสมอ... ขอให้ทุกท่านมีความสุขเมื่อเข้ามา ณ ที่ตรงนี้

สร้างเว็บบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อเผยแพร่แนวคิดของตนเองและแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ซึ่งเชื่อแน่ว่า นี่เป็นหนทางแห่งปัญญาที่แท้จริงอีกทางหนึ่ง

และผู้เขียนมีความต้องการอย่างมากจากทุกท่านคือ ข้อคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม หรือแม้แต่การเสนอแนะ ติชมใดๆทั้งสิ้นทั้งปวง ท่านสามารถกระทำได้ตามวิธีการที่ผู้เขียนอำนวยความสะดวกไว้ให้แล้วทุกช่องทาง เชิญครับ....
Friends' blogs
[Add fungig's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.