Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
18 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
My Little Cabbage and His Pleasurable Activities

ทุกวันนี้ฉันพยายามหากิจกรรมต่างๆให้ตัวเอง เพื่อจะได้เป็นแม่ที่มีคุณภาพขึ้นบ้าง ไม่ใช่วันๆจับเจ่าอยู่บ้านและเดินไปจ่ายตลาดแค่นั้น ตั้งแต่มีลูกเวลาเหมือนติดปีกบินผ่านไปเร็วเหลือเกิน เผลอแพลบเดียวน้องกะหล่ำ 5 เดือนกว่าแล้ว อีกแค่ไม่กี่เดือนก็คงรู้เล่นรู้คุย อย่ากระนั้นเลย หากิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งแม่และน้องกะหล่ำในอนาคตดีกว่า

บางครั้งการที่ต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมกับบรรดาแม่ๆญี่ปุ่นมันก็เป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับฉัน นอกจากอุปสรรคทางด้านภาษาแล้ว มารยาททางสังคมก็ต้องพึงระวังอีกด้วย ขนาดกับคนไทยเอง การทำความรู้จักกันครั้งแรกก็ยังต้องดูท่าทีใช้เวลาเรียนรู้นิสัยใจคอเลย ถึงจะพูดภาษาเดียวกันก็ใช่ว่ามิตรภาพจะเบ่งบานขึ้นมาแค่ชั่วข้ามคืนเสียเมื่อไหร่ แล้วนี่ยิ่งกับคนต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรม การผูกสัมพันธ์ หรือเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆได้อย่างไม่เคอะเขิน หรือรู้สึกเป็นส่วนเกินแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่ฉันก็ต้องก้าวข้ามพ้นบททดสอบนี้ไปให้ได้ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อลูก....

นั่งคิดนอนคิดมาหลายสิบตลบ แม่ๆญี่ปุ่นนี่แหล่ะ จะเป็นที่พึ่งได้เป็นอย่างดีสำหรับแม่กะเหรี่ยงตกดอยพลัดถิ่นอย่างฉัน ทั้งข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงผลประโยชน์ที่แม่ลูกอ่อนพึงจะได้จากรัฐ อย่าหวังเลยว่าตาอ้วนจะมามีเวลาแจกแจงให้ฟัง ทำงานกลับค่ำๆมืดๆทุกวันอย่างนี้ ก็มีแต่แม่ญี่ปุ่นที่จะช่วยเหลือฉันได้

เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ฉันก็พาน้องกะหล่ำร่อนหากิจกรรมรวมกลุ่มแม่ญี่ปุ่นมากขึ้น อย่าให้รู้นะว่าที่ไหนใกล้บ้านมีกิจกรรมทั้งอาสาสมัครและเสียสตางค์ที่เกี่ยวกับแม่และลูก ฉันต้องพาน้องกะหล่ำโฉบไปมันทุกที่

เมื่อตอนน้องกะหล่ำอายุได้ 4 เดือนกว่า คุณIwamotoคุนแม่ของน้องRiiko คลอดโรงพยาบาลเดียวกับฉัน วันเดียวกันด้วย (เรามีกลุ่มmamatomoที่คลอดวันเดียวกัน รพ.เดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกันตลอด6วันที่อยู่ในรพ. 6 คน ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่ คอยแลกเปลี่ยน และupdateพัฒนาการของลูกซึ่งกันและกัน) เมลมาบอกฉันว่า วันพุธของเดือนๆละครั้ง(กำหนดวันแน่นอนตลอดทั้งปี)ทางเขตที่ฉันอาศัยอยู่ จะมีเจ้าหน้าที่มาจัดakachan no kyoushitsu(babies’ classroom)ให้ที่横浜保育福祉専門学校(คลิ๊กลิงค์)แหร่มมากเลย...เพราะเซนมงกักโคที่ว่านี้ อยู่ห่างบ้านฉันเดินไป-2นาทีเท่านั้น

Photobucket

แต่ละเดือนthemeจะต่างกันออกไป เช่นของเดือนนี้ทางเขตเชิญพนักงานดับเพลิง(รถพยาบาลญี่ปุ่นสังกัดหน่วยดับเพลิง ไม่ใช่โรงพยาบาล)มาให้ความรู้เกี่ยวกับหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินกับเด็ก วิธีปฐมพยาบาล หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยๆกับเด็กเล็กพร้อมทั้งวิธีป้องกัน โดยยกcase studyต่างๆมาเล่าให้ฟัง และของเดือนหน้าจะมีwidwifeมาให้ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับเด็กเล็ก(พลาดไม่ได้งานนี้)

Photobucket

กิจกรรมakachan no kyoushitsuนี้ เป็นกิจกรรมที่ไม่เสียสตางค์ แม่ๆที่มีลูกระหว่าง 0 เดือน – 1 ขวบ สามารถพามาเข้ากลุ่มได้ แต่เด็กที่เล็กที่สุดที่เห็นก็ราว 3 เดือนขึ้นไป

Photobucket

คนที่มาใหม่จะถูกขอให้แนะนำตัว...ไม่ใช่ตัวแม่นะ แต่เป็นตัวลูก เช่น ชื่ออะไร เกิดเมื่อไหร่ บ้านอยู่ไหน เมื่อบอกไปว่าบ้านอยู่ไหน พิธีกรดำเนินรายการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเขตก็จะขอให้แม่ๆคนอื่นยกมือขึ้นว่าใครอยู่ละแวกนั้นบ้าง เพื่อแม่ๆจะได้มีเพื่อนรวมกลุ่มกันไปมาหาสู่กัน มีแม่ๆที่อยู่ร่วมคอนโดเดียวกับฉันอีก 3 คนแน่ะ แต่ส่วนใหญ่แม่ๆที่มาร่วมกิจกรรมนี้ก็อยู่สถานีเดียวกันหมดแหล่ะ

Photobucket

รูปนี้ฉันไปมาเดือนที่แล้ว ตอนนั้นน้องกะหล่ำอายุ 4 เดือนกว่า ซึ่งฉันยังไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย เพลงก็ร้องกับเค้าไม่เป็น ได้แต่ทำท่าทางตามคุณIwamotoและแม่คนอื่นๆไป

แม่ๆทุกคนต้องนำผ้าปูนอนของลูกมา เพื่อให้ลูกนอนบนนั้นเวลาร้องเพลงและเล่นสัมผัสลูก แต่ละเพลงที่ร้องจะมีท่าประกอบ เช่น เพลงラララ ぞうきん (ที่พวกเราร้องกันเพราะกว่าคุณป้าคนนี้นิดนึง)

ร้องกันราว4-5เพลง พร้อมท่าประกอบเพื่อนเล่นกับลูก เด็กๆสนุกสนานหัวเราะยิ้มร่ากันใหญ่ ครั้งแรกน้องกะหล่ำเฉยเมยมาก(ในใจคงคิด นี่แม่ทำอะไรกับตูวะ) แต่ครั้งที่สองเริ่มมีปฏิกิริยายิ้มอ้าปากน้ำลายยืดแล้ว

Photobucket

เด็กที่นอนข้างๆน้องกะหล่ำคือน้องRiikoลูกสาวคุณIwamoto ลูกชายอิฉันเจ้าชู้มากค่ะ ทันทีที่คุณIwamotoวางน้องRiikoลงบนผ้า พ่อลูกชายรีบเอื้อมมือไปจับมือน้องRiiko แถมมือตุ๊กแกอีกต่างหากไม่ยอมปล่อยง่ายๆ แม่ๆกรี๊ดกร๊าด รีบมาถ่ายรูปใหญ่เลย

Photobucket

เมื่อร้องรำทำเพลงเสร็จ เค้าก็จะให้แม่ๆพัก5นาที เผื่อใครอยากให้นมลูก เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก หรือไปดื่มน้ำ ไปห้องน้ำ พอครบ5นาที เค้าก็จะให้แบ่งกลุ่มย่อยตามอายุลูก ตอนไปครั้งแรก ฉันได้อยู่กลุ่ม 3-4 เดือน แต่ครั้งนี้ฉันอยู่กลุ่ม 4-5 เดือนแล้ว ก็จะเป็นกลุ่มเดิมแหล่ะ เพราะเด็กโตขึ้นไปเรื่อยๆตามกัน หรืออาจจะมีแม่ที่เพิ่งมาร่วมเป็นครั้งแรกเพิ่มขึ้นมา

Photobucket

แต่ละกลุ่มย่อยจะมีพี่เลี้ยง1คนมาคอยดูแลกำกับกิจกรรม เช่น ให้แม่แต่ละคนบอกปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก พัฒนาการของลูก วิธีการเลี้ยง หรืออะไรก็ได้ที่แม่ๆอยากจะร่วมแชร์ข้อมูลและประสบการณ์

Akachan no kyoushitsuใช้เวลา 1.30 ชม. (10:00น.-11:3น.)
คลิปนี้ฉันใช้มือถือถ่ายตอนไปร่วมครั้งแรก น้องกะหล่ำ 4 เดือน

จากนี้ฉันก็คงจะไปเรื่อยๆ จนน้องกะหล่ำครบ 1 ขวบ เด็กที่อายุครบ 1 ขวบในเดือนนั้น พิธีกรจะเชิญออกมาข้างหน้าเพื่อกล่าวอะไรนิดหน่อย แล้วทุกคนจะร้องเพลงhappy birthday(เวอร์ชั่นญี่ปุ่น)ให้เด็กคนนั้น

-------------------------------------------------------------------------

แมนชั่นใหม่หน้าสถานี (คนละฝั่งกับบ้านฉัน เดินจากบ้านใช้เวลา 3-4 นาที)เพิ่งสร้างเสร็จราว 1 เดือนที่ผ่านมา ข้างล่างของแมนชั่นจะมีร้านค้า เช่น ร้านตัดผม ร้านขนมปัง ร้านรับอัดรูป ซุปเปอร์มาร์เก็ต(Tokyu Stores) ร้านขายยา ร้านหนังสือ สถานีวิทยุคลื่นlocal ฯลฯ รวมไปถึงที่ทำการของ市民活動センター(ที่ฉันอุ้มน้องกะหล่ำไปนั่งเรียนภาษาญี่ปุ่นกับครูอาสาสมัครทุกวันอังคารตอนนี้)และplayroom อย่างtotto no me (とっとの芽)(คลิ๊กลิงค์)ด้วย

Photobucket

ครั้งนี้ก็ได้คุณIwamotoอีกนั่นแหล่ะ ที่จู่ๆก็เมลมือถือมาบอกฉันว่าให้รีบไปลงทะเบียนเป็นสมาชิกที่นี่ตอนที่ฉันกำลังจะกินข้าวกลางวัน แล้วเหลือเวลาอีกเพียง 30 นาทีก่อนจะปิดทำการ (รีบสวาปามสปาเก็ตตี้ภายใน 5 นาที) แล้วฉันจับน้องกะหล่ำใส่เบบี้คาร์(stroller)รีบวิ่งจู๊ดไปทันที

Photobucket

(มุมให้นม)

totto no meนี้เป็นสวัสดิการของเขตโยโกฮาม่า สร้างขึ้นมาเพื่อให้เด็กวัยก่อนอนุบาลมีที่เล่นที่หาเพื่อน และเพื่อแม่ๆได้คลายเครียดจากการเลี้ยงลูกโดยมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและปัญหากับแม่คนอื่นๆด้วยกัน

วันนี้ฉันได้คุยกับคุณป้า(หนึ่งในเจ้าหน้าที่ๆดูแลสถานที่)ที่เคยไปเที่ยวเมืองไทย และชอบเมืองไทยมาก เรื่องของเรื่องคือ ฉันอยากจะถามข้อมูลเผื่อน้องต๋อย ว่าแถวบ้านน้องมีplayroomแบบนี้หรือไม่ จะได้ให้น้องต๋อยพาน้องยูริไปเล่น คุณป้าน่ารักสุดๆ รีบถ่ายเอกสารพร้อมมานั่งอธิบายให้ฉันฟัง

playroomแบบนี้ในเขตโยโกฮาม่าจะสร้างทั้งหมด 18 แห่ง ตอนนี้สร้างไปแล้ว 11 แห่ง (ในปีหนึ่งจะได้งบประมาณจากเขตสร้าง 2 แห่ง...ตั้งแต่จ่ายภาษีlocal taxแพงสุดๆทุกเดือนเปล่าๆปลี้ๆ ครั้งนี้แหล่ะเพิ่งรู้สึกว่าคุ้มกับภาษีที่จ่ายไป) แต่ละที่ใช้ชื่อเรียกต่างกันออกไป แต่ว่าจะมีกฏเดียวกัน คือ ห้ามแม่ๆนำของเล่น และหนังสือภาพของลูกจากบ้านมาที่นี่ ทุกคนต้องมาใช้ของplayroomเท่านั้น (เรี่ยมเลย...ชอบๆๆ จะได้ไม่ต้องเสียสะตุ้งสตางค์ซื้อของเล่นให้น้องกะหล่ำ)

Photobucket

สำหรับฉัน การที่ได้พาน้องกะหล่ำมาที่นี่ นอกจากจะมาใช้facilitiesที่ทางนี้มีให้ฟรีแล้ว สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ น้องกะหล่ำจะได้คุ้นเคยกับเด็กคนญี่ปุ่นอื่นๆไว้ ฉันอยากให้ลูกได้เพื่อน ขอให้เป็นเพื่อนที่จะทรี้ตน้องกะหล่ำอย่างจริงใจ อย่างเพื่อนแท้โดยไม่เกี่ยงงอนว่าน้องกะหล่ำเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น อยากให้ทรี้ตน้องกะหล่ำเฉกเช่นเป็นคนญี่ปุ่นทั่วๆไปโดยไม่มีอคติว่าน้องมีแม่เป็นต่างชาติ ฉันอยากให้ลูกเติบโตขึ้นมามีหัวใจที่เต็ม100ไม่ขาดไม่เกิน อยากให้เค้ารู้สึกว่าเค้าเป็นคนญี่ปุ่นเต็มขั้นเมื่ออยู่ญี่ปุ่นและภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนญี่ปุ่น เป็นคนไทยเต็มขั้นเมื่ออยู่เมืองไทยและภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ไม่อยากให้เป็นอะไรที่ครึ่งๆกลางๆแบบ”ลูกครึ่ง”

Photobucket

ฉันอาจจะเตรียมความพร้อมให้ลูกเร็วไปหน่อย แต่อย่างน้อยการที่ได้พาลูกมาพบปะเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกันหรือวัยใกล้เคียงกัน เค้าก็จะคุ้นคนง่าย ไม่ตื่นไม่เหนียมอาย(ไม่人見知り)อะไรก็แม่ๆๆคนเดียว แล้วยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการน้องอีกด้วย เพราะน้องจะเลียนแบบพัฒนาการจากเด็กคนอื่น

Photobucket

totto no meมีมุมให้นมลูก มีที่เปลี่ยนผ้าอ้อม มีห้องน้ำ มีน้ำร้อนให้สำหรับชงนม มีที่จอดรถเข็นเด็กให้วางเป็นระเบียบ มีของเล่น มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลให้ความสะดวก และที่สำคัญที่สุด มีเพื่อนเล่นของลูก และเพื่อนคุยของแม่

Photobucket

มุมของเด็กอ่อนจะถูกกั้นไว้เป็นสัดส่วน มีแผ่นรองคลานนุ่มๆปูทับพื้นไม้อีกชั้นกันกระแทก น้องกะหล่ำนอนคว่ำเล่นได้ราว 20 นาทีก็เริ่มงอแงง่วงนอน ฉันก็ให้กินนม น้องก็หลับไป ฉันจึงอุ้มน้องวางนอน คุณป้ารีบเดินเข้ามาบอกให้ฉันหยิบผ้าห่ม(มีโลโก้ของtotto no me)มาห่มให้น้อง แล้วก็หมั่นเดินมาดูมาคุยกับฉันเป็นระยะๆ มีคุณแม่อีกคนที่ลูกโตหน่อยเล่นอยู่ด้านนอกเดินมาดูน้องกะหล่ำด้วย ทุกคนทึ่งในความหลับง่ายของน้อง ขนาดเด็กคนอื่นเล่นกันเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว วิ่งตึงตังๆ น้องก็ยังหลับสนิท

Photobucket

ระหว่างที่น้องหลับ ฉันก็นั่งดูแฟ้มเอกสารที่เกี่ยวกับกิจกรรมแม่-ลูกไป ราว30นาที น้องก็ตื่น ไม่ร้องไห้เลย...totto no meปิด 4 โมงเย็น ลูกชายแม่ตื่นมาได้เวลาพอดีเลย...

บางครั้งหากฉันขี้เกียจออกนอกบ้าน หรือเป็นวันที่ฝนตก ฉันก็จะพาน้องกะหล่ำลงลิฟต์ไปชั้น 7 ของคอนโด ที่นั่นมีkids' plazaให้เด็กมาเล่น บางวันเด็กเยอะ โดยเฉพาะช่วงเด็กปิดเทอม บางวันเด็กน้อย หรือไม่มีใครเลยนอกจากฉันและน้องกะหล่ำ

Photobucket

มันจะมีมุมให้กระโดดโลดเต้นโดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านห้องใกล้เคียง มีแผ่นปูรองนิ่มๆเพื่อเวลาล้มจะได้ไม่เจ็บตัว มีมุมเล่นทำกับข้าว มีมุมโซฟาและหนังสือภาพให้นั่งอ่าน มีตุ๊กตาผ้า มีห้องน้ำที่มีโถส้วมเด็ก+ผู้ใหญ่แยกกัน มีที่ให้เปลี่ยนผ้าอ้อม และยังให้เอาอาหารและน้ำเข้ามากินได้ด้วย แต่ต้องช่วยกันรักษาความสะอาด เก็บเศษขยะไปทิ้งที่บ้าน มีแอร์-ฮีตเตอร์ปรับอุณหภูมิเมื่อถึงหน้าร้อนหน้าหนาว มีทุกอย่างแบบที่totto no meมี ขาดแต่เจ้าหน้าที่ๆคอยให้การดูแล

Photobucket

ช่วงนี้ฉันพาน้องกะหล่ำไปฝึกคว่ำบ่อยๆ คงพาไปเรื่อยๆจนกว่าน้องจะคลานได้

คลิปนี้ใช้มือถือถ่าย ในช่วงวันที่เด็กปิดเทอม ฉันไม่คิดว่าเด็กที่เห็นนี้จะอาศัยอยู่ในคอนโดทั้งหมด คงจะมีคนพาเพื่อนเข้ามาเล่นด้วย เพราะแม่ๆราว 10 คนนั่งปาร์ตี้กันไประหว่างที่ลูกๆเล่น เจี๊ยวจ๊าวกันใหญ่ ดูแล้วสนุกดี

แม่บางคนเตือนลูกให้ระวังเวลาเล่น เพราะน้องกะหล่ำคว่ำอยู่ เดี๋ยวจะเผลอไปเหยียบน้อง ลูกแม่ก็พยายามฝึกคว่ำเต็มที่เลย คว่ำนานๆอึดอัดก็ร้องแงๆ แม่ก็จับให้นอนหงายสักที ตอนนี้น้องคว่ำเองได้แล้ว แต่ยังพลิกกลับไปกลับมาไม่เป็น ฉันคงไม่เร่งพัฒนาการลูกหรอก ปล่อยให้เค้าเป็นไปตามธรรมชาติ เรื่องนี้คนญี่ปุ่นหลายคนเตือนมาว่า "อย่าเร่งพัฒนาการลูก" ไม่งั้นเมื่อเค้าโตไปอาจจะเกิดปัญหา

ฉันมันเป็นแม่ขาดประสบการณ์ ก็ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง บางครั้งก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ไม่ได้เรื่องเลย แต่ตาอ้วนก็ให้กำลังใจเสมอว่า ฉันเป็นแม่ที่เยี่ยมสุดของน้องกะหล่ำแล้ว

หนูคิดอย่างป่าป๊าหรือเปล่าลูกแม่....

(ภาพทั้งหมดฉันใช้มือถือถ่าย อาจจะไม่ชัดและเล็กไปหน่อยนะคะ)

*หากจะฝากข้อความ เชิญที่ ปราศรัย นะคะ*

mahalo Image hosted by Photobucket.com





Create Date : 18 เมษายน 2552
Last Update : 18 เมษายน 2552 8:14:38 น. 0 comments
Counter : 1524 Pageviews.

fudge-a-mania
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add fudge-a-mania's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.