ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กันยายน 2555
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
4 กันยายน 2555
 
All Blogs
 
เป็นพ่ออย่างไรให้ได้ใจลูกและภรรยา



เมื่อต้องเป็น"พ่อ" คำ ๆ นี้ทำให้ผู้ชายหลายคนเปลี่ยนแปลงไป บางคนก็เปลี่ยนไปในทางที่ดี แต่บางคนก็เปลี่ยนไปในทางที่แย่ลง ที่สำคัญ มีคุณพ่อหลาย ๆ คนประสบปัญหาในการปรับตัวเมื่อต้องมีลูกคนแรก เพราะการกินอยู่หลับนอน กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง คุณพ่อหลายคนเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองรับมือไม่ทันนี้เข้าไป ก็กลายเป็นคนขี้รำคาญ โมโหง่าย ไม่น่ารักเหมือนในอดีต แถมบางทียังพาลใส่คุณแม่ในลักษณะต่าง ๆ เช่น ต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง นอกใจ ซึ่งคุณแม่พอเจอสามีแบบนี้เข้าไปก็ย่อมเสียใจ และหมดความอดทน เพราะไหนตนเองจะเหนื่อยเลี้ยงลูก ยังต้องมาเหนื่อยใจกับสามีที่เปลี่ยนไปอีก พาลแยกทางกันได้ง่าย ๆ

แท้จริงแล้ว การสร้างครอบครัว และการเลี้ยงลูกให้ดีได้นั้น ทั้งพ่อและแม่ไม่สามารถโยนหน้าที่ความรับผิดชอบนี้ให้พ้นตัวไปได้ หรือการจะแบ่งหน้าที่แยกกันให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปเลยว่า สามีทำงานนอกบ้านแล้ว งานในบ้านและการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของภรรยา ก็เป็นความคิดที่ล้าหลังมากเกินไปสำหรับสมัยนี้

ดังนั้น สำหรับคนที่ยังไม่ทราบจะปรับตัว - เตรียมตัวอย่างไร เราจึงมีคำแนะนำเบื้องต้นในการเป็น "พ่อที่ดี" มาฝากกันค่ะ เริ่มจาก

1. ไม่แสดงทีท่ารำคาญต่อเสียงร้องไห้ของลูก หรือแสดงความรังเกียจลูก

คุณพ่อหลายคนต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่บ้างกับการมีเสียงร้องไห้ของลูกในตอนดึก ๆ จากที่เคยนอนท่ามกลางความเงียบสงบก็กลายเป็นนอนไม่ได้ พออดนอนก็นำไปสู่ความหงุดหงิด โมโหง่าย ฉุนเฉียว และเมื่อเจอกับสถานการณ์ลูกร้องกลางดึกบ่อยเข้า ก็ทำให้คุณพ่อบางคนอดไม่ได้ที่จะแสดงความรำคาญ บ่น หรือแสดงความรังเกียจ (เสียงร้อง) ลูก รวมถึงตำหนิภรรยาของตนเองว่าทำไมถึงไม่สามารถทำให้ลูกเงียบเสียงลงได้ (ทั้ง ๆ ที่ภรรยาก็เพิ่งคลอดลูกมาได้ไม่นานด้วย) ขณะที่คุณพ่อบางคนถึงกับหนีไปนอนห้องอื่น ปล่อยให้ภรรยารับมือกับการร้องไห้ของลูกแต่เพียงลำพัง สุดท้ายต่างฝ่ายต่างเหนื่อย ส่งผลให้สามีภรรยาต้องทะเลาะกันด้วยเรื่องนี้ก็มี

หากครอบครัวใดกำลังเจอปัญหานี้ จะให้ตำหนิคุณพ่อว่าเห็นแก่การนอนของตัวแต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ เพราะการนอนหลับพักผ่อนของคุณพ่อก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อย่าลืมว่าคนเป็นแม่ก็ต้องการการพักผ่อนไม่แพ้กัน ดังนั้น การจะรับมือกับปัญหาเสียงลูกร้องกวนจึงต้องผนึกกำลังกันทั้งพ่อและแม่ ช่วยกันอุ้มลูก ปลอบลูก เหนื่อยก็ให้กำลังใจกัน อย่าโมโหใส่กัน อีกอย่าง เด็กเขาก็ไม่ร้องแบบนี้ไปตลอดหรอกค่ะ พอผ่าน 2 - 3 เดือนแรกไปได้ ส่วนมากก็จะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ไม่ร้องกลางดึกกันแล้ว

2. เข้ามาเล่นกับลูก

แม่ทุกคนแม้จะเลี้ยงลูกเหนื่อยแค่ไหน หรือเจ็บแผลหลังคลอดอย่างไร แต่ถ้าได้เห็นว่า ลูกน้อยกับพ่อของเขาเข้ากันได้ดี ไม่มีปัญหา กำลังใจจะตามมาอีกเป็นกอง ดังนั้น คุณพ่อสามารถใช้จุดนี้เพิ่มกำลังใจให้ภรรยาได้ด้วยการหมั่นมาอุ้มลูก เล่นกับลูก หอมลูก กล่อมลูก บ่อย ๆ ค่ะ

3. หาพูดดี ๆ มาพูดกับภรรยา

ไม่มีใครชอบการโดนตำหนิ แม้แต่ตัวคุณพ่อเอง ดังนั้น เมื่อใจของเรายังไม่ชอบ ก็อย่าหยิบยกคำพูดประเภท "เป็นแม่ภาษาอะไร เรื่องแค่นี้ก็ไม่รู้, เธอนี่ใช้ไม่ได้เลย, ไม่ไหวจริง ๆ, แย่, น่าเบื่อ, น่ารำคาญ" ฯลฯ มาต่อว่าภรรยาที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกกันเลยค่ะ เพราะมีแต่จะทำร้ายจิตใจของคนฟังกันเสียเปล่า ๆ อีกทั้งการหาคำพูดดี ๆ เรื่องขำ ๆ เรื่องของความสุขมาคุยกับภรรยาไม่ใช่เรื่องยากเลย โดยเฉพาะหากคุณพ่ออยู่ที่ทำงานก็น่าจะได้พบเจอเรื่องราวมากมาย คงมีอะไรดี ๆ เก็บมาเล่าเป็นแน่ หรือระหว่างวันหากมีใจโทรศัพท์มาไต่ถามทุกข์สุขบ้างน่าจะดีกว่าเป็นไหน ๆ ยิ่งโทรศัพท์สมัยนี้ไฮเทค คุยแบบเห็นหน้ากันก็ได้ หรือหากนึกคำพูดไม่ออกจริง ๆ ก็บอกไปเลยว่ารัก คิดถึง และเป็นห่วง สามคำนี้มีความหมายอย่างมากกับภรรยาที่อยู่บ้านเลี้ยงเจ้าตัวเล็กค่ะ ส่วนคำพูดที่ทีมงานหยิบขึ้นมาเอ่ยด้านบน อย่าเอ่ยได้เป็นดีค่ะ เพราะสามารถทำให้ภรรยาที่เลี้ยงลูกอยู่คิดมาก วิตกกังวล เครียด ครบสูตรอาการซึมเศร้าหลังคลอดเลยทีเดียว

4. ไม่ยึดติดในกิจวัตรเดิมของตน

การมีสมาชิกใหม่ในบ้าน ย่อมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายหลายประการ ดังนั้น คุณพ่อไม่ควรยึดติดอยู่กับกิจวัตรประจำวันเดิมของตน เช่น เคยตื่นแปดโมงเช้า ก็ยังอยากตื่นแปดโมงเช้า ใครมาทำให้ตื่นก่อนจะโมโห กระฟัดกระเฟียด ฮึดฮัด (ส่วนมากเด็ก ๆ มักจะร้องตอนเช้าตรู่เพราะหิวนม ต้องลุกมาอุ้มกันให้อลหม่าน) หรือเคยมีภรรยาหาข้าวหาปลาให้รับประทาน ตอนนี้ภรรยาต้องไปดูลูกก่อนเป็นอันดับแรก คุณพ่อจะมาน้อยอกน้อยใจ ประชดภรรยาก็ไม่ควร เพราะเป็นเรื่องของความจำเป็น และต้องเห็นอกเห็นใจกันให้มาก ๆ ในช่วงแรกของการเลี้ยงลูก อย่าปล่อยให้ภรรยาเหนื่อยอยู่คนเดียว หรือรู้สึกว่าคุณพ่อกลายเป็นภาระที่เธอต้องแบกเอาไว้ด้วยอีกคนนอกจากลูกอ่อน

ทางที่ดี หากคุณพ่อมีโอกาสเตรียมตัวเตรียมใจตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ควรคิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดเหล่านี้เอาไว้ด้วย ว่าถ้าลูกคลอดแล้ว กิจวัตรใดบ้างที่ต้องเปลี่ยนไป คุณจะทำอะไรเพื่อแบ่งเบาภาระของภรรยาได้บ้าง และจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ภรรยาของคุณไม่เหนื่อยในการเลี้ยงลูกจนเกินไป

5. ช่วยเลี้ยงลูก อุ้มลูกยามร้องไห้

ขอเรียนว่า ผู้ชายที่สามารถเลี้ยงลูก อุ้มลูก กล่อมลูกยามร้องไห้ให้สงบลงได้นั้นจะได้ใจภรรยาไปอีกมาก เพราะไม่มีแม่คนไหนไม่รู้สึกปลื้มใจกับภาพที่เห็นหรอกค่ะ โดยเฉพาะเป็นภาพของความอ่อนโยนที่ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าพ่อแสดงต่อลูกด้วยแล้ว โดนใจคุณแม่เต็ม ๆ ค่ะ แต่ถ้าลูกงอแง คุณพ่อเข้าไปอุ้มแล้วลูกโวยวายไม่ยอมให้อุ้ม ก็อยู่ข้าง ๆ เป็นเพื่อนภรรยา คอยให้กำลังใจก็ยังดี





6. แสดงความรักต่อลูกและภรรยา

เมื่อคลอดลูก นอกจากเจ้าตัวเล็กที่ยังไม่ประสีประสาแล้ว ภรรยาของคุณก็ต้องการการดูแลอย่างมากด้วยเช่นกัน แม้ภรรยาบางคนจะบอกตัวเองว่าเป็นหญิงแกร่ง อึด ฉันทำได้ ฉันสู้ไหว แต่อย่าลืมว่า งานเลี้ยงลูกเป็นงานที่เหนื่อย (เหนื่อยกว่าการเข้าประชุมของคุณพ่อทั้งหลายมากมายนัก) หากพวกเธอได้กำลังใจดี ๆ จากสามีอย่างคุณผู้ชายทั้งหลายด้วยแล้ว เธอจะยิ่งมีแรงสำหรับการเลี้ยงลูกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี คุณพ่อหลายคนมักเอางานมาอ้าง ว่าประชุมเหนื่อยมาก ต้องรับมือกับลูกค้าทั้งวัน กลับถึงบ้านอยากจะนอนอย่างเดียว ไม่อยากเล่นกับลูก ไม่อยากอุ้ม ฯลฯ แต่ก็อย่าลืมว่า ลูกค้าเหล่านั้น พอเขาได้สิ่งที่เขาต้องการ เขาก็ไป คุณพ่อก็หมดความหมายสำหรับลูกค้าแล้ว แต่กับภรรยาและลูกที่บ้านเขามีแต่คุณพ่อ รอแต่คุณพ่อคนเดียว หากคุณพ่อไม่กลับบ้าน หรือกลับดึก หรือในอนาคตแก่เฒ่าลง คนที่ห่วงและอยู่คอยดูแลคุณพ่อก็คือครอบครัวนั่นเอง ไม่ใช่ลูกค้าหรอกค่ะ

7. คอยให้ความช่วยเหลือภรรยา

อย่าลืมว่าหลังคลอด ภรรยายังต้องกลับไปพบแพทย์อีกเป็นระยะ เพื่อตรวจบาดแผล และความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย ในกรณีนี้ หากคุณพ่อเป็นผู้พาภรรยาไปพบแพทย์ได้ควรเป็นฝ่ายพาไป อย่าละเลย หรือมองว่าภรรยาสามารถไปเองได้ ฉันนอนอยู่บ้านดีกว่า เพราะการไปพบแพทย์ มีหลายครั้งที่แพทย์จะแจ้งข้อมูลสำคัญ หรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพ การที่คุณพ่อซึ่งเป็นสามี และเป็นคนที่แต่งงานกับคุณแม่โดยตั้งใจว่าจะดูแลกันและกันไปตราบนานเท่านาน (น่าจะเป็นเช่นนั้นทุกคู่ใช่ไหมคะ) ไปรับฟังความเป็นไปของภรรยาก็น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว

8. ดูแลความเป็นไปต่าง ๆ ในบ้าน

บางครอบครัว ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่การจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเก็บขยะ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าหนังสือพิมพ์ เปลี่ยนหลอดไฟ สั่งแก๊ส จ่ายบัตรเครดิต ฯลฯ เรียกว่าหน้าที่จิปาถะในบ้านเธอรับผิดชอบหมด แต่ในช่วงหลังคลอด - เลี้ยงลูก คุณแม่ต้องการการพักผ่อน และอาจไม่ได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เหล่านั้นได้สะดวกเหมือนเคย คุณพ่อควรรับหน้าที่นี้แทน ซึ่งเราเชื่อว่า หากทำได้ดี ก็จะช่วยให้คุณแม่พักผ่อน - เลี้ยงลูกได้อย่างสบายใจอีกด้วย

9. ลดความคาดหวังเรื่องงานบ้านในช่วง 3 ปีแรก

บ้านอาจจะรกหน่อย เพราะคุณแม่ไม่ว่างพอจะเก็บ อาจจะมีฝุ่นเยอะขึ้นบ้าง เพราะไม่ได้ถูบ่อยเหมือนเคย ต้นไม้อาจจะเหี่ยวไปบ้าง ตายไปบ้าง กับข้าวอาจจะไม่ได้ทำบ่อยเหมือนเมื่อก่อน ฯลฯ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายครอบครัวที่มีลูกและไม่ได้จ้างคนทำงานมาช่วยดูแลลูก - ดูแลบ้าน

สำหรับคุณพ่อที่เจอกับสภาพนี้แล้วรับไม่ได้ แทนที่จะบ่นภรรยาว่าทำไมไม่ทำ อาจลองควักเงินไปจ้างคนงานมาช่วยทำความสะอาด ช่วยซักผ้า ถูบ้าน กวาดบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ขัดรองเท้า รีดผ้า ทำกับข้าว ฯลฯ ดูก็ดีค่ะ เพราะจะช่วยผ่อนแรง - ผ่อนใจให้ภรรยาได้อีกเยอะมากเลยทีเดียวเพราะการทำเช่นนั้นก็ช่วยให้ภรรยารู้สึกดีที่คุณพ่อไม่ลืมว่าคุณพ่อแต่งงานกับเธอเพราะอะไร ไม่ใช่เพื่อต้องการให้เธอมาทำงานบ้าน รับใช้เยี่ยงทาส แต่แต่งงานมาเพราะต้องการดูแลกันและกัน ดังนั้นวันที่เธอเหนื่อยหรือวุ่นกับการเลี้ยงลูก ถ้ายังไม่สะดวกจะจ้างคนมาช่วยงานบ้าน ก็อย่าเพิ่งคาดหวังในเรื่องที่เพิ่มความเหนื่อยให้เธอก็จะดีค่ะ

10. รับมือกับคำวิจารณ์จากคนรอบข้าง

เชื่อแน่ว่าต้องมีกับการวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้ภรรยาไม่สบายใจ เป็นทุกข์ ซึ่งบางทีคนที่พูดก็เป็นคนใกล้ตัว ญาติพี่น้อง พ่อแม่ทั้งฝ่ายสามีหรือฝ่ายภรรยานี่เอง หากเป็นการวิจารณ์จากฝ่ายญาติสามี คุณพ่อควรเป็นคนออกหน้ารับแทน หรือแก้ตัวให้ภรรยาจะดีกว่าปล่อยให้ภรรยาต้องทนฟังสิ่งที่ทำให้เธอไม่สบายใจ โดยเฉพาะการพูดในลักษณะเปรียบเทียบ เช่น การเป็นแม่ในยุคนี้สบาย มีคนทำให้ทุกอย่าง การเป็นแม่ในยุคก่อนลำบาก ต้องทำทุกอย่างเอง และมักจะมาจบลงที่ความต้องการให้แม่ยุคนี้ทำให้ได้เหมือนที่แม่ในยุคก่อนเคยทำ

หรือบางครั้งก็เรื่องอื่น ๆ เช่น ทำไมไม่ตั้งชื่อแบบนี้ ทำไมต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ทำไมไม่ให้ทารกดื่มน้ำ ทำไมปล่อยให้บ้านรก ทำไมและทำไม ฯลฯ คำวิจารณ์บางส่วนอาจออกแนวต้องการเอาชนะคะคาน หรือต้องการให้ทำตามด้วยซ้ำ หากไม่ทำตามก็จะนำไปสู่ความไม่พอใจ และอื่น ๆ อีกหลายอย่างตามมา ทั้ง ๆ ที่ผู้วิจารณ์นั้นก็เป็นญาติสนิทมิตรสหายกันทั้งสิ้น ดังนั้น การจะปลดชนวนความเครียดเหล่านี้ได้ คุณพ่อควรโดดเข้ามารับมือเสียแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรให้ภรรยาที่เหนื่อยจากการคลอด - เลี้ยงลูกมารับฟังเรื่องราวที่ทำให้ไม่สบายใจเหล่านี้ค่ะ

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่านี่คือคำแนะนำเบื้องต้นของการเป็นพ่อที่ดี ทีมงานเชื่อว่าในแต่ละครอบครัวยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก หรือบางครอบครัว ทำได้แค่ครึ่งหนึ่งของ 10 ข้อนี้ก็ทำให้ภรรยาชื่นใจได้แล้ว


ที่มา
//www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000108560


Create Date : 04 กันยายน 2555
Last Update : 4 กันยายน 2555 0:26:13 น. 0 comments
Counter : 1190 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.