ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
24 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
เกมดูดเด็ก ม.ปลาย เปิดโมเดลโคตรเซียนติวเตอร์

บล็อกหน้านี้ คงจะช่วยการตัดสินใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการติวหรือกวดวิชาได้อีกระดับหนึ่งนะครับ

เกมดูดเด็ก ม.ปลาย เปิดโมเดลโคตรเซียนติวเตอร์

- สถาบันกวดวิชาสุดเฟื่อง สะท้อนการศึกษาล้มเหลว หรือค่านิยมเด็ก ผู้ปกครอง
- ตามดูการสร้างแบรนด์นักติวชื่อดัง กิ๊บกิ้วไม่แพ้อะคาเดมี แฟนเทเชีย
- กลยุทธ์การตลาดสุดมันส์ แถมงัดเทคโนโลยีมาช่วย สร้างลูกค้ากลุ่มใหม่
- ติวเตอร์ท้องถิ่นเปิดศึกสู้ติวเตอร์จอเหลี่ยม ใครจะกำชัยในเกมนี้

เดือนหน้า (ก.ค.) ก็จะมีการสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) ที่จัดขึ้นโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 276,260 คน

จากนั้นไม่กี่เดือนบรรดาเหล่านักเรียนก็จะมีการสอบกลางภาคของแต่ละสถานศึกษา ตามด้วยสอบโอเน็ต เอเน็ต ตามด้วย GAT-PAT ตามด้วยแอดมิชชั่น ตามด้วยอีกหลายการสอบ-สอบ-สอบ และสอบ

เมื่อชีวิตต้องวนเวียนไปด้วยการสอบทั้งเก็บคะแนน และการแข่งขันเพื่อให้สามารถเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาในคณะ และมหาวิทยาลัยดั่งใจหวัง ความรู้ในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ฝันอันบรรเจิดนั้นเป็นจริง จึงต้องเรียนเพิ่มเติมกับบรรดาติวเตอร์ทั้งชื่อดัง และกำลังสร้างชื่อ ที่ปัจจุบันผุดขึ้นราวดอกเห็ดหน้าฝน แถมยังขยายเครือข่ายอย่างกว้างขวางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เสมือนเป็นการตบหน้าระบบการจัดการศึกษาในบ้านเรากลายๆ

"กวดวิชาไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในการจัดการศึกษาของบ้านเมืองเรา ถ้ากวดวิชาฟูเฟื่องหมายถึงการจัดการศึกษามีปัญหามาก จนทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมไม่สอนให้เหมือนกวดวิชาเสียเลย" บางคนตั้งข้อสังเกต

เชื่อหรือไม่ว่านักเรียนที่เข้าสนามสอบแต่ละคนต้องผ่านการติวมาไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง ไม่ว่าจะติวฟรีหรือติวเสียเงิน หลายรายเรียนกวดวิชาตั้งแต่ ม.4 ถึงปัจจุบันยังไม่จบ ม.6 เสียค่าใช้จ่ายไปเกือบ 1 แสน หลายรายเรียนกวดวิชาตั้งแต่เย็นวันจันทร์ถึงเย็นวันศุกร์ แถมวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ยังเพิ่มรอบพิเศษเรียนตั้งแต่รอบเช้าจนถึงค่ำเข้าไปอีก

ไม่มีชีวิตนักเรียนชาติไหนจะน่าสงสารเท่ากับนักเรียนไทยอีกแล้ว

"ปรกติไม่มีเด็กคนไหนอยากเอาเวลาว่างของตนเองไปเรียนเพิ่มจากสิ่งที่เรียนรู้มาจากชั้นเรียนในโรงเรียนของตนเอง แต่เพราะเด็กเหล่านั้นเรียนในโรงเรียนไม่รู้เรื่องบ้าง ครูที่โรงเรียนเอาเนื้อหาส่วนเกินมาออกสอบบ้าง เด็กที่อยากสอบได้เกรดดีจึงต้องดิ้นรนใช้เวลาพักของตนเองไปหาเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้เรียนรู้เรื่องและทำสอบได้คะแนนดี" ศุภฤกษ์ สกุลชัยพรเลิศ หรือครูซุปเค เจ้าของสถาบันกวดวิชา SUP'K Center หนึ่งในติวเตอร์ชื่อดังอธิบาย

บางคนเคยหวังว่าหลังเปลี่ยนการสอบเอนทรานซ์มาเป็นแอดมิชชั่นแล้ว การเรียนกวดวิชาหรือเรียนเพิ่มเติมจากชั้นเรียนปรกติจะลดลงหรือหมดไป แต่ตรงกันข้ามสถาบันกวดวิชาต่างๆ กลับผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด นอกจากเรียนเพื่อสอบแล้ว ยังเรียนเพื่อเพิ่มเกรด นอกจากเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษแล้ว ยังต้องเรียนภาษาไทย สังคมเพิ่มเติม เพราะบังคับให้ทุกคนสอบด้วย

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้สถาบันติวเตอร์บ้านเราเกิดขึ้นอย่างถล่มทลาย เพื่อชิงมูลค่าการตลาดที่วันนี้เชื่อว่าทะลุหลักหมื่นล้านบาทไปเรียบร้อยแล้ว

ใครกันทำให้ตลาดติวเตอร์บูม

นโยบายในการปฏิรูปการศึกษารอบที่สองของรัฐบาลชุดนี้ หัวใจสำคัญคือการขยายโอกาสและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน "ติวเตอร์ชาแนล" ที่เกิดขึ้นสมัย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น Student Channel เรียบร้อยโรงเรียนชินวรณ์ บุญยเกียรติ แล้ว) เป็นโครงการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใด ได้มีโอกาสเรียนกับติวเตอร์จากสถาบันกวดวิชาชื่อดัง รวมถึงอาจารย์จากโรงเรียนชั้นนำ ในการเรียนวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือเอ็นบีที ในวันเสาร์ตั้งแต่ 10.00-12.00 น. ในช่วงการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT การทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT รวมถึงสรุปบทเรียนในชั้นเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนทุกคนได้มีความรู้ทัดเทียมกับเด็กที่ได้เรียนกวดวิชากับติวเตอร์ชื่อดัง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

แม้จะมีความตั้งใจดีว่าต้องการกระจายโอกาสการศึกษา ไม่ต้องการให้ผู้ปกครองเสียเงิน แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลายคนมองว่าการตั้งช่องนี้ขึ้นมาแสดงว่ารัฐบาลส่งเสริมการกวดวิชา ถ้าการเรียนการสอนในห้องเรียนดีจริง มีคุณภาพจริงทำไมต้องมาเรียนพิเศษกันอีก แต่ไม่ว่าใครจะวิจารณ์ว่าอย่างไรแต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นจริงกับหลายคนเมื่อเรียนช่องนี้ก็คือ เรียนไม่ทัน ไม่มีหนังสืออ่านประกอบ จึงไปสมัครเรียนกับติวเตอร์คนนั้นเพิ่มอีก

"โดยส่วนตัวเห็นว่าการนำติวเตอร์ชื่อดังออกโทรทัศน์เป็นการสนับสนุนให้นักเรียนไปเรียนกวดวิชากับติวเตอร์คนนั้นมากขึ้น"เด็กนักเรียนชั้น ม.6 คนหนึ่งให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

เมื่อตลาดกวดวิชาฟูเฟื่องเช่นนี้ ทำให้ติวเตอร์แต่ละคน แต่ละค่าย แต่ละสถาบัน ต้องงัดกลยุทธ์การตลาดเพื่อสร้างแรงดึงดูดใจสารพัน สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะดึงดูดใจเด็กนักเรียนยุคนี้ที่สุดเห็นจะได้แก่ ตัวติวเตอร์เอง เนื่องจากพฤติกรรมของเด็กให้ความสนใจกับชื่อเสียงของบุคคลมากกว่าสถาบัน หลายคนจึงพยายามสร้างแบรนด์ตนเองให้คลับคล้ายกับซูเปอร์สตาร์ มีแฟนคลับคอยเชียร์ คล้ายเอเอฟ หรือเดอะสตาร์ ยังไงยังงั้น

เปลี่ยนเด็กเนิร์ดมาเป็นเด็กป๊อป

แม้จุดเริ่มต้นของติวเตอร์แต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกคนมีใจรักในการสอน อย่าง อริสรา ธนาปกิจ หรือครูพี่แนน รองผู้อำนวยการและหัวหน้าทีมเอ็ดดูเทนเนอร์ โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ อี แอคเคเดมี่ เริ่มต้นการสอนจากความชอบภาษาอังกฤษ และอยากให้เด็กไทยมีความรู้ภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น เลยจับมือกับเพื่อนอีก 2 คนร่วมกันตั้งโรงเรียนขึ้นมา ประเดิมสาขาแรกที่สะพานควายจวบถึงปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 30 สาขา

แนวทางการสร้างแบรนด์ของครูพี่แนน ใช้กลยุทธ์การเปิดใกล้สถาบันเคมีอาจารย์อุ๊ (โด่งดังด้านสอนเคมีและยังเป็นเจ้าของอาคารวรรณสรณ์แหล่งรวมสถาบันติวเตอร์ชั้นนำของไทย) แนวทางของสถาบันจะมุ่งเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในรูปแบบของพี่สอนน้อง ไม่ยึดติดเรื่องของค่านิยม และสร้างให้เด็กๆ รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งมีชีวิต ผ่านการร้องเพลง ซึ่งการนำสาระบันเทิงเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อทำให้การเรียนมีความสนุกสนานมากกว่าเดิม ซึ่งครูที่จะเข้ามาสอนที่นี้ได้จะต้องมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดี และรู้จักการสร้างความบันเทิง อย่าง ร้องเพลง เต้นได้ และต้องสร้างให้เด็กเป็นศูนย์กลางของการทำกิจกรรม เพื่อเป็นตัวเชื่อมระหว่างครูกับนักศึกษา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาเรื่องความห่างของอายุได้

ขณะที่อาจารย์เจี๋ย (ชัยรัตน์ เจษฏารัตติกร) เจ้าของสถาบันกวดวิชาเจี๋ยติวเตอร์คณิตศาสตร์ชื่อดัง แม้จุดเริ่มต้นของเขาจะแตกต่างจากครูพี่แนน คือ เริ่มจากครูสอนตามโต๊ะสู่อาจารย์สอนกวดวิชาตามสถาบัน 6-7 ปี กระทั่งมาเปิดโรงเรียนกวดวิชานวศึกษา (JIA) ที่สาขาสยาม เมื่อ 13 ปีก่อน ปัจจุบัน อ.เจี๋ย ขยายสาขาไปแล้ว 20 สาขา เป็นสาขาที่ร่วมลงทุนกับคนในพื้นที่ 10 สาขา และเปิดเองอีก 10 สาขา

ด้าน อาจารย์ปิง เจริญศิริวัฒน์ เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ปิง (ดาว้องก์) สร้างชื่อเสียงจากการเป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีและบางรัก แต่ด้วยความที่ไม่อยากทำงานในระบบการศึกษา จึงตัดสินใจออกมาตั้งสถาบันกวดวิชาของตัวเองภายใต้ชื่อดาว้องก์ แม้ว่าตนเองจะสามารถสอนได้ทั้งภาษาไทย สังคม คณิตศาสตร์ และอังกฤษ แต่ที่เลือกสอนภาษาไทยและสังคม เนื่องจากตลาดนี้มีการแข่งขันน้อย

ปัจจุบันดาว้องก์มี 24 สาขา (บางสาขาเป็นการขยายร่วมกับ อ.อุ๊) โดยสาขาหลักอยู่ที่เยาวราช (สอนสด) ในขณะที่สถาบันกวดวิชาอื่นๆ สาขาหลักจะอยู่ที่สยาม หรืออาคารวรรณสรณ์ แต่สำหรับ อ.ปิง การเลือกอยู่ที่เยาวราชเพราะใช้พื้นที่ของที่บ้าน เมื่อเด็กมาเรียนเขาก็จะได้บรรยากาศเหมือนกับอยู่บ้าน โดยครอบครัวของ อ.ปิง จะเข้ามาช่วยดูแลเด็กๆ ที่มาเรียน และมีการพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ปกครองของเด็ก

ที่สำคัญอยู่ตรงนี้ไม่ต้องแข่งขันกับใคร เพราะบริเวณนี้มีสถาบันกวดวิชาเพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ ดาว้องก์ยังจัดกิจกรรมประกวดหนุ่มสาวป๊อปดาว้องก์ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากเด็กเป็นอย่างดี การที่จัดกรรมแบบนี้เพราะมองว่าไม่อยากให้เด็กรู้สึกว่าเขาต้องมาเรียนอย่างเดียว นับว่าการจัดประกวดของ อ.ปิง ก็สามารถแรงดึงดูดให้เด็กๆ สนใจเข้ามาเรียนที่ดาว้องก์มากขึ้น

จากติวเตอร์ดังเดี่ยวสู่ติวเตอร์ดังกลุ่ม

สำหรับภาพรวมของธุรกิจติวเตอร์ปัจจุบันจากเดิมที่เป็นติวเตอร์ดังกลุ่มก็กลายมาเป็นดังเดี่ยว แต่ขณะนี้ทิศทางกำลังจะกลับไปเป็นรูปแบบเดิม ในส่วนนี้ อำนาจ สุวัตถิพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป สถาบันกวดวิชาเจี๋ย ให้ความเห็นว่า ตลาดสถาบันกวดวิชาในอดีตจะเป็นรูปแบบของผู้สอนเป็นกลุ่ม แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นแบบคนเดียวสอน ในขณะที่ปัจจุบันเริ่มกลับมาเป็นภาพหลายคนสอนอีกแล้ว การที่ตลาดกลับไปกลับมาแบบนี้ เพราะอยู่ที่พฤติกรรมของเด็ก ภาวะเศรษฐกิจ และระบบการศึกษา

"สมัยก่อนคนเดียวจะสอนเด่นวิชานั้นไปเลย ทำให้เกิดคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น อย่างคณิตศาสตร์ขณะนี้มีคนที่สอนอยู่ถึง 50 คน ทำให้มีการแบ่งมาร์เกตแชร์กันออกไป เมื่อเก้าอี้ว่างหลายสถาบันก็ต้องหาแนวทางแก้ไข อย่างเพิ่มวิชาอื่นๆ เข้าไปเพื่อดึงแชร์ให้กลับมา ไม่แน่ว่าอนาคตอาจจะกลับมาเป็นเดี่ยวดังอีกก็ได้"

แต่ปัจจุบันการจับกลุ่มกันดังจะมีโอกาสมากกว่าก็เหมือนกับโรงภาพยนตร์ถ้าฉายหนังเรื่องเดียวก็ต้องเป็นโรงเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าเอาอาจารย์ดังๆ เด่นๆ มาร่วมกันก็จะเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทำให้เด็กมีทางเลือกในการดูหนัง โดยกลุ่มที่มีการดึงอาจารย์ดังๆ จากสถาบันอื่นมาร่วมกันทำ ขณะนี้มีสถาบันของ อ.เจี๋ย กับ อ.อุ๊ เท่านั้น

สำหรับการแข่งขันต้องยอมรับว่าปัจจุบันการแข่งขันของสถาบันกวดวิชามีปริมาณที่มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ ชนกันรายวิชา เช่น คณิตชนคณิต, ชนกันต่างวิชา เช่น เด็กมีทางเลือกเรียนได้แค่วิชาเดียวเขาจะต้องเลือกว่าจะเรียนคณิต หรือวิทยาศาสตร์ และชนกับโรงเรียนของเด็ก ปัจจุบันโรงเรียนหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นจึงเปิดสอนติวหลังเลิกเรียน

หากมองกันถึงการขยายสาขาของสถาบันกวดวิชาใน
กรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัดนั้น ปัจจุบันมีมากขึ้น และจะขยายตัวไปพร้อมๆ กัน อย่าง อ.เจี๋ยกับครูพี่แนน เวลาไปติดต่อตึกหรือดูทำเลไปด้วยกัน โดยสถาบันกวดวิชาเหล่านี้จะนิยมขยายตัวไปยังจังหวัดใหญ่ๆ เป็นหลักก่อน เนื่องจากมีมหาวิทยาลัย และโรงเรียนที่มีเด็กเก่งๆ อยู่ในจังหวัด

ส่วนจังหวัดย่อยๆ บางแห่งก็ขยายไป บางแห่งก็ไม่ไป ดูตามความเหมาะสมของแต่ละสถาบัน อย่างไรก็ดี ตลาดต่างจังหวัดยังคงชอบระบบการสอนสดอยู่ แต่หากเป็นติวเตอร์ดังๆ เด็กก็พร้อมที่จะเรียนระบบเทป เนื่องจากเขาไม่มีทางเลือกทำให้ปริมาณการเรียนเทปมีมากขึ้น

แม้ว่าตลาดติวเตอร์จะมีการแข่งขันที่มากขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า ติวเตอร์เกิดใหม่ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สยามมีติวเตอร์เกิดใหม่หลายคน ที่สำคัญติวเตอร์รุ่นใหม่เหล่านี้มีโปรไฟล์ที่ดี คือ เป็นเด็กที่สอบโอลิมปิกวิชาการได้เหรียญทองเงิน หรือทองแดง จากเดิมที่ติวเตอร์ในอดีตเป็นใครก็ได้ ที่เรียนเก่ง อย่าง จบวิศวะจุฬาฯ จบสถาปัตย์จุฬาฯ แต่ปัจจุบันต้องพ่วงด้วยเกรียตินิยมอันดับหนึ่งด้วย โดยตลาดติวเตอร์ใหม่นี้มีปริมาณมากกว่าติวเตอร์รุ่นเก่าถึง 2 เท่าตัว หรือประมาณ 120 แห่ง และเป็นการเพิ่มแบบเงียบๆ

ดึงติวเตอร์อื่นเข้าเสริมเปิดสอนวิชาครบเอนท์

เมื่อการแข่งขันในธุรกิจติวเตอร์เติบโตมากขึ้น กอปรปัญหาที่เด็กจะต้องวิ่งรอบเพื่อเรียนกวดวิชา และเพื่อใช้พื้นที่ของสถาบันกวดวิชาให้คุ้มค่า ทำให้เกิดจากร่วมตัวกันของสถาบันกวดวิชา โดย 2 เจ้าใหญ่ของตลาด คือ อ.เจี๋ยกับอ.อุ๊ หันมาถึงพันธมิตรติวเตอร์รายอื่นๆ เข้าสอน

โดย อ.เจี๋ยได้ชวนครูลิลลี่ (เจ้าของสถาบัน Pinnacle) อาจารย์สงวน (เจ้าของโรงเรียนเสริมหลักสูตร อ.สงวน วงศ์สุชาติ) และอาจารย์ชัย (จากสถาบัน Pinnacle) เพื่อขยายฐานหลักสูตรจากเดิมที่สอนแต่คณิตศาสตร์ก็เพิ่มวิชาภาษาไทย สังคม และอังกฤษเข้าไป เพื่อตอบสนองความต้องการของเด็กต่างจังหวัดที่ต้องการเรียนครบทุกวิชาสอบเอนทรานซ์

"อ.เจี๋ยติดต่อไปยังครูลิลลี่เมื่อ3 ปีก่อน ซึ่งครูลิลลี่มีแต่สอนสดในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว การจะให้ครูลิลลี่สอนสดทั่วประเทศก็ไม่ไหว เลยมาจับมือกับเราซึ่งชำนาญด้านการวางระบบ โดยครูลิลลี่จะสอนสดที่สาขาตัวเองและทำเทปมาให้เรา เราก็จะส่งไปยังสาขาอื่นๆ ซึ่งเด็กที่เรียนเทปก็เรียนในราคาที่ถูกลงจาก 1,200 บาท ก็เหลือ 1,000 บาท และไม่ต้องเสียเวลาค่าเดินทางมากรุงเทพฯด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาไม่ได้อยู่ที่ค่าเรียน แต่อยู่ที่ค่าเดินทางและค่ากินของเด็ก" อำนาจ กล่าว ทั้งนี้ อ.ชัยกับครูลิลลี่เริ่มเข้ามาสอนควบคู่กับ อ.เจี๋ย พร้อมๆ กัน ส่วน อ.สงวนเข้ามาเกือบหนึ่งปีแล้ว การที่สถาบันมีวิชาที่ใช้สำหรับสอบเกือบครบทุกวิชาเท่ากับเป็นการขยายฐานการศึกษาให้กว้างขึ้น และยังทำให้สถาบันใช้ห้องเรียนได้แบบคุ้มค่า

"โรงเรียนกวดวิชาก็เหมือนกับโรงภาพยนตร์ เราต้องหาหนัง (อาจารย์สอน) ให้มีความหลากหลาย เพื่อเราจะได้บริหารเก้าอี้นั่งของเราให้หมุนเวียน เมื่อมีอาจารย์หลายๆ คนมาอยู่ในโรงเรียนก็เกิดความคึกคักในโรงเรียน เด็กก็ชอบ สนใจ เด็กก็จะเข้ามาเรียน"

นอกจากการดึงอาจารย์ดังๆ เข้ามาแล้ว สถาบันยังเพิ่มไลน์วิชา อย่าง วิทยาศาสตร์ก็มีครบทั้งชีวะ เคมี ฟิสิกส์ และความถนัดทางแพทย์ด้วยการสร้างอาจารย์ของตัวเอง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเป็นอาจารย์สอนตามโต๊ะมาก่อน และบางส่วนก็จบมาทางด้านการสอน

ส่วนกลยุทธ์ที่ใช้ในการแข่งขันถือว่าไม่แตกต่างจากสถาบันอี่นๆ คือสร้างบรรยากาศในการเรียนให้เป็นกันเอง มีเทคนิคการสอนที่ไม่เหมือนใคร เน้นการสังเกตเพื่อทำโจทย์ให้สั้นและเข้าใจง่าย มีความจริงจังและจริงใจกับเด็ก และยังมีการปรับเปลี่ยนสถานที่เรียนเพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกแปลกใหม่

ในขณะที่เอ็นคอนเซ็ปท์ไม่ดึงติวเตอร์รายอื่นเข้าขยายฐาน แต่จะใช้การขยายสาขาไปหลายจังหวัด พร้อมกับใช้ระบบส่งติวเตอร์เดินสายไปพบกับเด็กก่อนจะจบคอร์สทำให้เด็กรู้สึกผูกผันกับอาจารย์ และยังสร้างกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ใช้ภาษาอังกฤษ โดยครูพี่แนนและทีมอาจารย์จะลงพื้นที่ไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ เอง เรียกได้ว่าขยันลงพื้นที่ สร้างความรู้สึกพี่น้องกับเด็ก โดยค่าเล่าเรียนอยู่ที่คอร์สละ 2,300-3,000 บาท เรียน 17 ครั้ง

ด้าน อ.ปิงก็มีบางสาขาที่เข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับ อ.อุ๊ ทำให้เด็กในต่างจังหวัดได้รู้จัก อ.ปิง มากขึ้น และใช้การไปเยี่ยมเด็กๆ ตามสาขา ซึ่งที่ผ่านมาเด็กๆ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี

ขยายฐานการสอน สู่ประถม-ม.ต้น-ป.ตรี-โท

ด้วยการแข่งขันของระบบการศึกษาที่มากขึ้นทำให้ติวเตอร์ต้องขยายฐานการสอนลงมาที่เด็กมัธยมศึกษาตอนต้นและประถมศึกษา เห็นได้จาก อ.เจี๋ย เมื่อ 4 ปีก่อนขยายการสอนลงสู่เด็ก ม.1-3 และ ป.5-6 โดยรูปแบบการสอนจะเป็นแบบสอนสด ซึ่งมีเพียง 3 สาขาเท่านั้น คือ สยาม เซ็นทรัล พระราม 2 และรังสิต เนื่องจากกลุ่มนี้ยังไม่ชินกับการเรียนผ่านระบบทีวี

นอกจากนี้ การเพิ่มวิชาคณิตศาสตร์ในกลุ่มเด็กแล้ว ยังได้เพิ่มวิชาวิทยาศาสตร์ให้กับเด็ก ม.ต้นด้วย เพราะเด็กกลุ่มนี้จะนิยมเรียนคณิตศาสตร์ควบคู่กับวิทยาศาสตร์ และเมื่อจับมือกับ อ.สงวน ในเร็วๆ นี้จะเพิ่มการเรียนเพื่อสอบโทเฟิล และ GRD เพื่อขยายตลาดไปกลุ่มที่จบปริญญาตรี-โทแล้ว

แม้แต่ครูพี่แนนก็ยังขยายหลักสูตรใหม่ไปยังกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กเล็ก คือ โทเฟิลแต่เป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ และในอนาคตจะมีการขยายหลักสูตรไปยังกลุ่มเด็กประถมประมาณปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อรองรับเด็กรุ่นใหม่ และยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้จดจำอยู่กับเด็กตั้งแต่เล็กด้วย ส่วน อ.ปิงไม่คิดที่บุกขยายวิชาอื่นแต่หันมาเสริมการสอน GAT (การสอบความถนัดทั่วไป) ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องใช้ตรรกะ

ดึงเทคโนโลยีช่วยสอนสร้างลูกค้ากลุ่มใหม่

จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกอปรกับเด็กรุ่นใหม่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี ส่งผลให้ติวเตอร์ดังๆ หลายแห่งต้องดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก และยังเป็นการสร้างความทันสมัยให้กับธุรกิจ ที่สำคัญเป็นการความรู้สึกเดียวกันกับเด็กรุ่นใหม่ ที่ปัจจุบันใช้การพูดคุยน้อยลง และหันมาให้ความสำคัญกับการพูดคุยผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น MSN, Face Book, Hi5, Twister, BB ฯลฯ

การสร้างความรับรู้ในแบรนด์ติวเตอร์ผ่านเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้เด็กรู้สึกใกล้ชิดกับผู้สอนเท่านั้น ยังเป็นการเปิดตลาดในช่องทางนิวมีเดียให้กับธุรกิจอีกด้วย เห็นได้จากครูพี่แนนปีที่ผ่านมามีการนำเทคนิคการเรียนผ่านเพลง Memolody (Memory + Melody) ซึ่งเป็นบทเพลงที่ช่วยในการจำมาใช้สอนเด็ก เพราะเชื่อว่าการเรียนที่ดีต้องทำให้เด็กเกิดจากความสุข ยังมีการใช้ Social Media อย่าง Face book ในการสื่อสารกับเด็ก และใช้เป็นสื่อในการสอน เช่น นำหัวข้อข่าวภาษาอังกฤษมาอธิบาย หรือนำสรุปข้อสอบ Gat, Pat มาลง หรือสอดแทรกสอนเรื่องของศีลธรรม สุภาษิตสอนใจ

ล่าสุดได้นำระบบ S.E.L.F (Student Extensive Learning Fitness) หรือระบบสื่ออัจฉริยะเพื่อการเรียนภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน มาเป็นตัวช่วยเสริมสร้างความรู้ภาษาอังกฤษทางด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน และเทคโนโลยียังช่วยลดปัญหาเด็กที่ไม่สามารถมาเรียนได้ อย่าง ถ้าไม่สบายเขาก็เข้ามาเรียนระบบนี้ที่หลังได้ โดยสามารถเลือกเรียนที่บ้านเองได้ หรือจะมาเรียนที่สถาบันก็ได้ โดยการเรียนที่เอ็นคอนเซ็ปท์หากเด็กไม่เข้าใจบทเรียนสามารถ SMS สอบถามครูได้ทันที หรือจะส่งคำถามผ่านทางเมนูโค้ชส่วนตัว (My Coach) ก็ได้

ในขณะที่เอ็นคอนเซ็ปท์มี S.E.L.F สถาบันกวดวิชาเจี๋ยก็มี J-bloc (การเรียนตามความต้องการ) เพราะไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนไปจากเดิม การพัฒนาระบบการสอนให้ตรงกับความต้องการของเด็กเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สถาบันกวดวิชาหันมาให้ความสำคัญ

โดยเด็กที่เลือกเรียนคอร์ส J-bloc เขาสามารถเข้ามาเรียนได้ตามเวลาที่ตัวเองต้องการเหมือนกับเขาดูภาพยนตร์ทางดีวีดี เขาเลือกได้ว่าจะดูวันไหน หยุดตรงไหน จะย้อนกลับในบทเรียนที่ไม่เข้าใจ หรือเดินหน้าในบทเรียนที่เคยเรียแล้วก็ได้ ในขณะที่คนที่เรียนสดหรือเทปจะต้องมาตามเวลาที่สถาบันกำหนด และหลักสูตรตามที่กำหนด เพราะการเรียนคณิตศาสตร์ต้องเรียนถึง 20 ตัว แต่โรงเรียนก็มิได้สอนบทเรียนเรียงกัน ดังนั้น j-bloc จึงเป็นตัวช่วยสำคัญ

"j-blog ยังเป็นตัวที่มาชดเชยในวันที่เขาขาดเรียนได้ด้วย ซึ่งเด็กกลุ่มที่ขาดเรียนจะต้องมาติดต่อที่เคาน์เตอร์ก่อนว่าจะมาเรียนเสริมวันไหน ส่วนเด็กที่เลือกเรียนทาง j-blog เขาสามารถมาเรียนได้ตามเวลาที่เขากำหนดไว้ โดยเราจะให้ชั่วโมงเขาเพิ่มอีก 20% จากชั่วโมงทั้งหมด"

แม้ว่าการเรียน j-blog จะไม่ได้เรียนกับอาจารย์โดยตรง แต่หากไม่เข้าใจบทเรียนก็สามารถสอบถามอาจารย์ได้ทางเว็บ หรือส่งคำถามไว้ที่เคาน์เตอร์ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี อ.เจี๋ย มองว่าการเป็นครูที่ดีจะต้องตอบสิ่งที่เด็กสงสัยก่อนที่เด็กจะถาม ทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีเด็กที่ฝากข้อสงสัยไว้ทางอีเมลหรือหน้าเคาน์เตอร์มากนัก

สำหรับค่าเรียน j-blog จะแพงกว่าการเรียนในด้วยเทป ประมาณ 100-200 บาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า คอมพิวเตอร์หนึ่งตัวต่อเด็กหนึ่งคน แต่ห้องเทปทีวีหนึ่งเครื่องต่อเด็ก 40-50 คนทำให้เรียนได้ถูกกว่า ในขณะที่ห้องสดจะแพงกว่าห้องเทปประมาณ 100-200 บาท

นอกจากการมี j-blog แล้ว สถาบันยังต้องสร้างการเข้าถึงเด็กให้มากขึ้น ด้วยการให้บริการสอบถามเกี่ยวกับการเรียนผ่านทางเว็บไซต์ และในอนาคตจะทำระบบการจองเรียนผ่านทางเว็บไซต์ด้วย ปีที่ผ่านมายังได้จับมือกับ Smart Purse เพื่อทำบัตร JIA ID Smart Purse หรือบัตรนักเรียนอัจฉริยะให้กับเด็ก ซึ่งบัตรจะทำหน้าที่เก็บประวัตินักเรียน ข้อมูลการเรียน รวมทั้งสามารถนำไปใช้ชำระสินค้า หรือบริการตามร้านค้าต่างๆ แทนเงินสดได้ รวมทั้งสามารถชำระค่าเล่าเรียนของที่สถาบันผ่านเคาน์เตอร์เซเว่นอีเลฟเว่นได้ด้วย

แม้ว่าบัตรนักเรียนอัจฉริยะนี้อาจจะไม่ได้เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้กับรูปแบบของการศึกษา แต่ อ.เจี๋ย มองว่า สิ่งที่ทำให้นักเรียนแล้วเขาได้ประโยชน์สูงสุดและเป็นการเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอน ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีรูปแบบใดก็ตามถือว่าตอบจุดยืนของสถาบันแล้ว อย่างปีนี้ก็มีการนำ QR Cord คือ การใช้มือถือถ่าย QR Cord ก็สามารถลิงค์เข้าหน้าจอเว็บไซต์ได้ทันทีเลย ซึ่งตัวนี้เป็นแฟชั่นที่เด็กกำลังนิยมกันอยู่

นอกจากนี้ เมื่อปี 2551 ยังได้จับมือกับ TrueIPTV เพื่อขยายช่องทางการเรียนผ่านระบบบรอดแบนด์ ผ่านบริการ JIA on demand ซึ่งเป็นเสมือนติวเตอร์รายบุคคลที่เด็กสามารถเลือกใช้บริการผ่านทาง TrueIPTV ได้ โดยเด็กสามารถซื้อรหัสในการเข้าเรียนได้จากทรูชั่วโมงละ 39 บาท แต่หากเข้ามาลงทะเบียนที่เว็บของสถาบันจะได้เรียนฟรี 1 ชั่วโมง ยังได้จับมือกับทาโร่ภายใต้แนวคิดทาโร่สมาร์ทเลิร์นสมาร์ทเบรน เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของทาโร่คือกินแล้วฉลาด จึงจับมือกับเขาเอาความรู้ที่เป็นเล็กๆ น้อยๆ ไปใส่ไว้ที่หลังซองซึ่งทำปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว แต่ปีนี้จะเพิ่มเว็บไซต์ของสถาบันเข้าไปให้เขาด้วย ถ้าเขาซื้อทาโร่เขาจะรู้ว่าสามารถมาลงทะเบียนเพื่อรับรหัสไปเรียนฟรี 1 ชั่วโมง

ไม่ว่าสถาบันติวเตอร์ต่างๆ จะนำเทคโนโลยีใดๆ มาใช้ แต่สำหรับ อ.ปิงแล้ว ไม่นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เลย ใช้เพียงแค่การสอนผ่านเทปเท่านั้น แต่หากสอนไปแล้วเด็กเกิดคำถามที่ซับซ้อน เช่น คำถามเกี่ยวกับกฎหมาย หากไม่สามารถตอบได้อย่างลึกซึ้งก็จะโฟนอินหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายเลย ซึ่งทำแบบนี้มานานแล้ว

ระบบการศึกษาใหม่ ดันเด็กเข้ากวดวิชาเพิ่ม

สำหรับปัญหาของระบบการสอบแบบใหม่นั้นติวเตอร์ทั้งหลายมองว่ายิ่งมีการเปลี่ยนระบบใหม่ ยิ่งทำให้ไม่มีความมั่นคงเกิดขึ้นกับเด็ก เด็กจึงต้องพึ่งพิงการกวดวิชามากขึ้น เพราะกังวลกับการสอบ ที่สำคัญเด็กที่มาเรียนติวส่วนใหญ่ คือ เด็กที่เรียนเก่งอยู่แล้ว ถ้าไม่ใช่คนเก่งเขาจะเรียนไม่ทัน บางคนเป็นเด็กที่เรียนติวมาตั้งแต่อนุบาล เมื่อเขาอยากเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เขาจึงมาเรียนเพิ่ม

อย่างไรก็ดี การที่เด็กต้องเรียนกวดวิชามากขึ้น ไม่ใช่ส่งผลในเรื่องเลวร้ายเสมอไป หากดูทิศทางของประเทศเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นแล้วจะเห็นว่าเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นมีการแข่งขันด้านการศึกษาสูง สถาบันติวเตอร์ของเขามีจำนวนมาก ซึ่งไทยกำลังจะมีภาพเหมือนกับเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นนั้นแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยกำลังดีขึ้น แต่หากประเทศใดไม่มีการแข่งขันด้านการศึกษาแสดงให้เห็นว่าประเทศนั้นกำลังมีปัญหา

หลักสำคัญในการจะเลือกว่าจะเรียนสถาบันใด เด็กจะเลือกจากอาจารย์ผู้สอนก่อน หลังจากนั้น จะดูกระแสเพื่อนๆหากที่ไหนสอนดีก็ไปเรียน และมองเวลาที่ตัวเองมีว่าตรงกับสถาบันหรือเปล่า สุดท้ายมองเรื่องโลเกชั่นว่าสะดวกหรือไม่ ส่วนปัจจัยเรื่องการมาเรียนเพื่อได้ออกมาชอปปิ้งนั้นถือเป็นปัจจัยรองๆ ไปแล้ว ยกเว้นเด็กที่เลือกเรียนสาขาสยาม เขาอาจจะมองว่าจะได้มาชอปปิ้งไปในตัว ในขณะที่เด็กต่างจังหวัดยังมองว่ามาเรียนในกรุงเทพฯ เขาจะได้เข้ามาชอปปิ้งมาเที่ยวตรงนี้ยังมีอยู่

ไม่ว่าธุรกิจติวเตอร์จะโตไปในทิศทางใด สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความสำคัญ คือ การจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เป็นรูปแบบใด อยากจะให้คำนึงถึงเด็กเป็นสำคัญเพราะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนไปด้วย หากรัฐเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือกะทันหัน เชื่อว่าเด็กหลายคนต้องมีปัญหาต่อการเรียนอย่างแน่อน ในขณะเดี๋ยวกันติวเตอร์ก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว เพราะเด็กคิดอย่างเดียวว่าไม่เรียนกลัวสอบไม่ได้

************

ติวเตอร์ล้ำ วางหมากล่วงหน้า เรียนก่อน รู้ก่อน สอบติดก่อน

นพ.พิบูลย์ ลี้สกุล หรือติวเตอร์ล้ำ ในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นอีกหนึ่งติวเตอร์ที่น่าสนใจ แม้จะอยู่ในอำเภอเล็กๆ ทว่าผลงานและความสามารถในการสอนที่ได้รับการยอมรับและบอกกันแบบปากต่อปาก รวมถึงการได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรไปสอนในจังหวัดอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ และ นครพนม ทำให้ติวเตอร์ผู้นี้กลายเป็นที่รู้จักของคนเพชรบูรณ์และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงนักเรียนในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ที่ได้รับการบอกต่อจากญาติที่รู้จัก ต่างเดินทางไกลเพื่อมาติววิชาถึงที่หล่มสัก

ผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับติวเตอร์ล้ำ คือการใช้จิตวิทยาในการสร้างแรงกระตุ้น ปลุกความเชื่อมั่น โดยให้เด็กมองไปที่เป้าหมายในชีวิต และมองความเหนื่อยยากลำบากของพ่อแม่ที่ต้องหาเงินส่งลูกเรียน เมื่อใจมา กายก็พร้อมลุย ทำให้เด็กเกิดความทุ่มเท และตั้งใจเรียน

ทั้งนี้ การแข่งขันในธุรกิจติวเตอร์แต่ละรายต่างมีเทคนิคในการถ่ายทอดและการสอนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งความรู้สึกของนักเรียนส่วนใหญ่มักคิดว่าติวเตอร์ที่กรุงเทพฯ เก่งกว่าติวเตอร์ต่างจังหวัด ทำให้ ติวเตอร์ล้ำ ต้องใช้จิตวิทยาควบคู่การสอน นอกจากการสร้างแรงกระตุ้นให้กับเด็กเองแล้ว ยังต้องสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ทั้งในเรื่องความสามารถของผู้สอน และศักยภาพของตัวเด็กเอง

"เราต้องสร้างกำลังใจให้เด็กก่อน เพราะเด็กต่างจังหวัดมักคิดว่าติวเตอร์กรุงเทพฯ เก่งกว่า และเด็กที่เรียนที่กรุงเทพฯ ก็เก่งกว่าจริง ทำให้บางคนขาดความเชื่อมั่นไม่กล้าแข่งขันด้วย ดังนั้น ผมต้องคอยบอกเด็กเสมอว่า 2 มือ 10 นิ้วเท่ากัน ถ้าขยันมาก่อนก็สู้ได้ แค่รู้เท่าผมก็ติดแพทย์ได้แล้ว ไม่ต้องกลัวเด็กกรุงเทพฯ เพราะเด็กที่ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคน ที่สำคัญติวเตอร์ที่กรุงเทพฯมีสักกี่คนที่จบแพทย์ ส่วนใหญ่เรามักให้คนที่ไม่ได้สอบติดแพทย์มาสอนให้เราสอบแพทย์ ผมสร้างความมั่นใจให้กับเด็กเพราะผมเคยสอบติดทั้งแพทย์และวิศวะ หลังจากสร้างความมั่นใจแล้วเราก็ทำหน้าที่เป็นไกด์นำทางให้กับเด็ก เป็นเหมือนนายพรานที่นำทางเข้าป่า ไม่ใช่กางแผนที่แล้วให้เด็กเดินเองตามลำพัง" ติวเตอร์ล้ำ กล่าว

ในการเอนทรานซ์เด็กมักคิดถึงเรื่องสูตรลัดที่จะทำข้อสอบได้เร็ว แต่สำหรับติวเตอร์ล้ำ ย้ำเสมอว่าไม่มีสูตรลัด แต่จะเน้นให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาวิชามากกว่า จากนั้นจะวางแผนให้เด็กเดิน เริ่มจากการโฟกัสไปที่บทเรียนที่ออกสอบบ่อย คิดเป็นสัดส่วน 50% ของข้อสอบ จากนั้นหากเด็กที่มีศักยภาพสูงก็ทบทวนบทเรียนอื่นๆ ที่ออกสอบน้อย โดยมองว่าหากทำข้อสอบได้ 50% แล้ว อีก 50% อาจทำได้แต่ไม่ 100% ก็ยังมีโอกาสสอบติดได้ ซึ่งง่ายกว่าการให้เด็กท่องจำสูตรลัดโดยไม่เข้าใจเนื้อหา

ทั้งนี้ เทคนิคที่สำคัญอีกประการที่ทำให้ติวเตอร์ล้ำ นำทางจนเด็กประสบความสำเร็จในการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยตามที่คาดหวัง คือการให้เด็กตั้งเป้าให้สูง เพราะหากเด็กไม่มีเป้าหมายที่สูงอย่างแพทย์แล้ว เด็กก็จะไม่มีความพยายาม แต่เมื่อตั้งเป้าสูงแล้ว พอถึงเวลา เด็กรู้ตัวไม่ไหวก็ลดเป้าลงมา จากแพทย์ อาจเป็น เภสัชฯ หรือทันตกรรม ไม่ก็วิศวกรรม ไล่ลงไปตามความสามารถและความชอบของเด็กเอง

นอกจากนี้ยังวางแผนการศึกษาร่วมกับผู้ปกครองโดยให้เด็กเรียนล่วงหน้า เช่น ตอนอยู่ ม.1 เรียนของ ม.3 พออยู่ ม.3 ก็เรียนของมัธยมปลาย พอเด็กขึ้น ม.4 ก็เริ่มทบทวนบทเรียนของมัธยมปลาย เพราะเคยเรียนมาบ้างแล้ว ในขณะที่เด็กคนอื่นเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งติวเตอร์ล้ำ มองว่าการเรียนก่อนเป็นการชนะตั้งแต่ยกแรก

ที่สำคัญ ติวเตอร์ที่มีดีกรีเป็นถึงนายแพทย์ผู้นี้ พยายามสร้างทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องของชื่อเสียงสถาบัน ไม่ให้เด็กยึดติดมากนัก เพราะไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าใครเก่งกว่าใคร จบมาก็เป็นแพทย์เหมือนกัน เงินเดือนก็เท่ากัน แล้วทำไมต้องไปเรียนไกลๆ ห่างไกลครอบครัว เดินทางลำบาก โดยติวเตอร์ยกตัวอย่างลูกศิษย์ที่สอบติดแพทย์ พอขึ้นปี 3 ปี 6 ต้องมีการทดสอบความรู้ ซึ่งลูกศิษย์ติวเตอร์แห่งแดนมะขามหวานสามารถสอบได้อันดับที่ 20 มากกว่านักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายๆ แห่ง ที่สำคัญในต่างจังหวัดมีระบบโควตา โดยนักเรียนที่ติดอันดับต้นๆ ของโรงเรียนในพื้นที่โควตาจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนทันที เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดังนั้น ติวเตอร์ล้ำ จะแนะนำให้ผู้ปกครองส่งเด็กมาเรียนมัธยมปลายในโรงเรียนที่ได้รับโควต้ เพียงแค่เด็กทำคะแนนติดอันดับต้นๆ ของโรงเรียนในระดับมัธยมปลายก็จะมีที่เรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ให้โควตาทันที เพียงแต่อาจจะไม่ได้คณะที่ต้องการ ก็จะมาประเมินกับตัวติวเตอร์ว่าถ้าสละสิทธิ์โควตาแล้วลงแข่งขันกับส่วนกลางผ่านระบบเอนทรานซ์ จะมีโอกาสเพียงใด ซึ่งติวเตอร์ล้ำจะแนะนำให้เด็กเลือกคณะที่ได้โควตาไว้เป็นอันดับท้าย เพราะเชื่อว่าถ้าสอบคณะที่สูงกว่าไม่ได้ ก็ไม่น่าจะทำคะแนนได้ต่ำกว่าคณะที่ได้จากการสอบติดในระบบโควตา

ตลอด 6 ปีของการเป็นติวเตอร์ ติวเตอร์จากอำเภอหล่มสักผู้นี้ สามารถนำทางให้ลูกศิษย์สอบติดแพทย์กว่า 30 คน ที่เหลือก็เป็นคณะที่ลดหลั่นลงมา ไม่ว่าจะเป็น เภสัชฯ ทันตกรรม วิศวกรรม ซึ่งที่ผ่านมาจะแนะนำให้เด็กทุกคนเข้าสู่ระบบโควตา ยกเว้นคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่จะได้รับโควตา ก็ต้องไปสอบแข่งขันกับส่วนกลาง ปัจจุบัน ติวเตอร์ล้ำมีลูกศิษย์ในพื้นที่ 80% และเด็กจากจังหวัดอื่นๆ อีก 20% ซึ่งเด็กที่มาไกลๆ ก็สามารถพักที่บ้านของติวเตอร์ได้ ซึ่งจะมีการดูแล และแนะนำให้เด็กสนใจการเรียน ไม่คุยโทรศัพท์มากเกินไป พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับเด็ก เป็นเหมือนผู้ปกครอง เช่น เรื่องความรักของวัยรุ่นที่ห้ามไม่ได้ แต่ก็แนะนำเด็กว่าอย่าทะเลาะกับแฟนช่วงใกล้สอบ หากเกิดปัญหาก็ต้องใช้จิตวิทยาช่วยปลอบ ช่วยกล่อม เพื่อให้เด็กหันความสนใจเข้าสู่การสอบให้เร็วที่สุด

ธรรมะ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ติวเตอร์คนนี้ใช้กับทั้งเด็กและผู้ปกครอง โดยเปิดโอกาสให้ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง มาร่วมนั่งสมาธิในวันอาทิตย์ เพราะสมาธิทำให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ทำให้เด็กที่ขี้เกียจอ่านหนังสือ มีสมาธิในการอ่านหนังสือได้นานขึ้น ตลอดจนการปลูกฝังด้านจริยธรรม ทำให้เด็กที่เคยเกเร ติดเกม หันมาสนใจการเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติวเตอร์ล้ำได้รับการยอมรับจากผู้ปกครอง ทว่าติวเตอร์ยอมรับว่าเด็กบางคนก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จะดึงกลับมาได้ ก็ต้องปล่อยไปบ้าง


*************

ศึก CSR สงครามติวฟรีทั่วประเทศ

จากเอนทรานซ์ระบบเก่าสู่ศัพท์ทันสมัยกิ๊บเก๋อย่างแอดมิชชั่น โอเน็ต เอเน็ต ไปจนถึงแพะ/แกะ (PAT/GAT) ทำให้เด็กนักเรียนสมัยนี้ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อฟาดฟันกับข้อสอบสุดโหดสารพัดวิชา ดังนั้น วิธีที่จะเอาตัวรอดจากข้อสอบแบบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ และเสียความจุในสมองไปมากที่สุดเห็นจะได้แก่ การเลือกเข้าโรงเรียนติวเตอร์ชื่อดังสักแห่งที่มีอยู่ดารดาษในบ้านเรา

แต่การเข้าสถาบันสอนพิเศษก็จำเป็นต้องกำเงินไว้เป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งไม่ถูกนัก แถมหากเป็นคนเรียนอ่อน หรือต้องการความรู้เพิ่มในหลายวิชาก็ต้องเตรียมปัจจัยไว้ไม่น้อยเช่นกัน แม้จะมีส่วนลดให้กับผู้ที่สมัครเรียนหลายวิชาก็ตาม

ด้วยความที่แต่ละปีมีนักเรียนต้องเตรียมตัวเข้ารั้วมหาวิทยาลัยจำนวนนับแสนคน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สินค้าหลายแบรนด์พยายามสร้างความรู้จักกับเด็กกลุ่มนี้ ด้วยการทำกิจกรรมในรูปแบบ CSR (CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY) หวังให้แบรนด์เข้าไปฝังในใจ เพื่อสร้างความจงรักภักดี และเป็นที่รู้จักตั้งแต่วัยรุ่น นอกจากหวังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

ค่ายแรกที่เข้ามาลุยทำกิจกรรมทำหน้าที่เป็นติวเตอร์ให้กับเด็กนักเรียนก็คือ ค่ายเซเรบอส (ประเทศไทย) เจ้าของผลิตภัณฑ์ซุปไก่สกัดแบรนด์ ที่ริเริ่มจัดตั้งโครงการ "แบรนด์ซัมเมอร์แคมป์" ขึ้นตั้งแต่ปี 2533 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลายครั้งที่ผ่านมามีนักเรียนไปร่วมติวแล้วหลายแสนคน

ล่าสุด แบรนด์ซัมเมอร์แคมป์ ครั้งที่ 21 เพิ่มพลังสมองพิชิตแอดมิชชั่น ยังเป็นการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และเซเรบอส ณ อาคารจักรพันธุ์เพ็ญศิริ คาดว่าครั้งนี้จะมีน้อง ม.ปลายเข้าร่วมติว 4.5 หมื่นคน

รายต่อมาที่ขอเข้าร่วมวงติวฟรีด้วยคนหลังจากเห็นว่าการเอนทรานซ์คือช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กกรุงกับเด็กต่างจังหวัด ก็คือ เจ้ายุทธจักรบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "มาม่า" จัดกิจกรรม "ทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับมาม่า" ให้กับนักเรียนไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541

อันที่จริงมาม่าก็เคยจัดกิจกรรมกับวัยรุ่น หรือนำวัยรุ่นมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าบะหมี่ของตนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะมาม่าเท่านั้น แต่ไวไว ยำยำ ที่อยู่ในสถานะผู้ตามก็พยายามทำกิจกรรมกับกลุ่มวัยรุ่นด้วยเช่นกัน เนื่องจากมองว่าการจะทลายกำแพงเจเนอริกเนมอันแข็งแกร่งของมาม่าให้พังลงได้ มีอยู่วิธีเดียวคือการสื่อสารแบรนด์ของตนไปยังวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ที่ยังไม่มีความจงรักภักดีต่อมาม่ามากนัก ต่างจากคนอายุ 35 ปีขึ้นไปที่ยังมีความจงรักภักดีค่อนข้างสูง อีกทั้งแบรนด์ผู้ตามยังพยายามมุ่งทำการตลาดไปหากลุ่มผู้หญิง ที่มองว่าต่อไปเมื่อมีครอบครัวจะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในบ้านต่อการเลือกซื้อสินค้า

กลับมาที่การจัดกิจกรรมทบทวนความรู้อีกครั้ง ช่วงแรกๆ ของการจัดกิจกรรมของเจ้าพ่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังเป็นเพียงโครงการเล็กๆ มีการว่าจ้างติวเตอร์มีชื่อเสียงมาสอนก่อนสอบเพียง 4-5 วัน สอน 5-6 วิชาที่สำคัญ มีนักเรียนสนใจร่วมโครงการจำนวนหลักพันคนเท่านั้น แต่เพียงไม่นานก็เพิ่มเป็นหลักหมื่น จนถึงหลักแสนคนในปัจจุบัน จากการเขียนจดหมายสมัครเรียนมาที่บริษัท โดยไม่ต้องแนบซองมาม่าก็ขยายช่องทางสู่เว็บไซต์ สำหรับในปีนี้นอกจากการจัดติวตามปรกติแล้วยังมีการเปิดให้มีการทบทวนความรู้ออนไลน์ โดยทุกเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดให้ทบทวนความรู้กับติวเตอร์ชื่อดัง ผ่านการถ่ายทอดสดทางเว็บไซต์ //www.mamalover.net และ //www.247friend.net

สำหรับน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาในสังเวียนเตรียมเด็กสอบเอนทรานซ์ก็คือ เครื่องดื่มเปปทีนกับโครงการ "เตรียมสมองติวเข้ม Smarten by Peptein Genius Generation สู่คณะที่ใช่ สาขาที่ชอบ" เป็นโครงการที่เปปทีนร่วมกับเนชั่น กรีป ผนึกติวเข้มพิชิตสอบตรงผ่านกิจกรรมโรดโชว์ 4 ภาค ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ภาคกลาง ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อแต่ละแบรนด์กระโจนเข้าสู่สงครามเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ ด้วยจุดขายการเป็นอาหารสมองเช่นเดียวกับ "แบรนด์" ที่เข้าสู่สนามนี้เพื่อตอกย้ำ positioning ของแบรนด์ซุปไก่ที่เมื่อทานแล้วช่วยให้สมองทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ค่ายเซเรบอสต้องทำงานหนักกว่าเดิม เมื่อใครต่อใครที่ไม่ใช่สินค้าอาหารสมองสามารถเข้ามาร่วมวงในสนามนี้ได้ด้วยเช่นกัน


************

"คเณศวร" กวดวิชาท้องถิ่น เปิดศึกสู้ "ติวเตอร์" จอเหลี่ยม

ความคึกคักในวงการติวเตอร์ไม่ได้จำกัดพื้นที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ อีกต่อไป เพราะหากออกไปสำรวจบรรยากาศในต่างจังหวัด วันนี้สถาบันกวดวิชากลายเป็นธุรกิจที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วราวดอกเห็ด โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ หรือมีมหาวิทยาลัยด้วยแล้ว จะเห็นว่า บรรดาติวเตอร์ทั้งหลายต่างหลั่งไหลเข้ามาปักหมุดจับจองพื้นที่ ชนิดที่พูดได้ว่าครึกครื้นไม่แพ้เมืองหลวงแม้แต่น้อย เพราะไม่เพียงแต่เป็นการขยายฐานและสร้างชื่อเสียงให้กับสถาบันของตนเองให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น ทว่า การข้ามไปบุกแหล่งน้ำใหม่ที่ยังไม่กลายเป็นทะเลเลือด ย่อมหมายถึง โอกาสการเติบโตของรายได้นั่นเอง

แน่นอนว่า การสยายปีกของบรรดาติวเตอร์จากพื้นที่เมืองหลวงสู่นอกเมือง ที่นับวันจะไหลบ่าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าจะเบาลงเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ระดับความรุนแรงของการแข่งขันต้องเข้มข้นขึ้นตามไปด้วย เพราะนอกจากการแข่งขันระหว่างผู้เล่นที่พะยี่ห้อชื่อดังแล้ว การข้ามห้วยไปสู่พื้นที่ต่างจังหวัด ย่อมต้องปะทะกับ "เจ้าถิ่น" อย่างเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าโมเดลการบริหารหรือแม้แต่กลวิธีการสอนจะแตกต่างกัน โดยกวดวิชาจากกรุงเทพฯ จะเน้นการเรียนการสอนจากเทป ขณะที่ต่างจังหวัดจะเป็นลักษณะการสอนสด แต่ไม่ว่าจะเป็นการสอนในรูปแบบใดก็ตาม ทว่า เป้าหมายปลายทางยังอยู่ที่จุดเดียวกัน นั่นก็คือ การช่วงชิงปริมาณนักเรียน

และนี่คือ เหตุผลที่ ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์จะพาไปชมกลยุทธ์การป้องกันพื้นที่ของติวเตอร์เจ้าถิ่น โดยครั้งนี้ขอโฟกัสไปยังพื้นที่การแข่งขันในจังหวัดขอนแก่น ที่วันนี้พบว่า มีสถาบันกวดวิชาทั้งรายย่อยรายใหญ่รวมกว่า 100 ราย และหากคัดเฉพาะที่มีชื่อระดับแถวหน้าก็ยังมีมากถึง 40-50 ราย ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เติบโตขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนที่มีไม่ถึง 10 ราย ฉะนั้น เวลานี้ขอนแก่นจึงกลายเป็นสนามรบติวเตอร์ที่ร้อนแรง จนอาจพูดได้ว่าไม่ควรพลาดการชมอย่างยิ่ง

"คเณศวร" สถาบันกวดวิชาที่เปิดให้บริการในจังหวัดขอนแก่นมากว่า 20 ปี แม้จะโด่งดังและเป็นที่รู้จักในหมู่นักเรียนและผู้ปกครองในจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ทว่า เมื่อคู่แข่งจากกรุงเทพฯ เริ่มรุกบุกประชิดเข้ามาแย่งชิงเค้กอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ ทำให้ผู้เล่นที่ถือว่าเป็น 1 ในเจ้าถิ่นวงการติวเตอร์เมืองแคน ต้องเปิดเกมโต้กลับเพื่อขยายและรักษาฐานไว้อย่างเหนียวแน่น

เริ่มตั้งแต่ การนำจุดแข็งของคเณศวรออกมาตอกย้ำและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนขึ้น นั่นคือ การสอนสด ทั้งนี้ อภิญญา สุวรรณรงค์ ผู้ก่อตั้งและผู้จัดการโรงเรียนกวดวิชา "คเณศวร" กล่าวกับ ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ว่า ปัจจุบันคู่แข่งของเรา คือ ติวเตอร์ที่มาจากกรุงเทพฯ ซึ่ง 100% จะเป็นการเรียนผ่านเทป เช่น อาจารย์อุ๊ฯ, โรงเรียนกวดวิชาดาว้องก์, ครูลิลลี่ แม้ว่ารูปแบบดังกล่าวจะกลายเป็นเทรนด์หรือแฟชั่นที่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นอย่างมากในยุคนี้ แต่คเณศวรจะยังคงการสอนสดกับนักเรียนเช่นเดิม ซึ่งเป็นจุดแข็งที่เรานำมาเป็นจุดขายเชื่อมโยงไปกับตัว "คุณภาพ" ที่นักเรียนจะได้รับ

ทั้งนี้ หากเข้าไปสำรวจตรวจสอบรูปแบบการสอนของบรรดาเกจิติวเตอร์ทั้งหลาย จะเห็นว่า รูปแบบการสอนผ่านเทป กลายเป็นโมเดลที่หลายแบรนด์นำมาใช้ จนเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้เกิดความนิยมในหมู่วัยรุ่น โดยเห็นได้จากการผุดคำศัพท์ "อาจารย์ตู้" ซึ่งเป็นคำเรียกที่เด็กยุคนี้ใช้เรียก "ทีวี" ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อการสอนวิชาต่างๆแทนอาจารย์ตัวจริง ทำให้รูปแบบการสอนดังกล่าวจึงเป็นแฟชั่นยอดฮิตอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเพื่อนๆในกลุ่มเดียวกันเลือกเข้าไปใช้บริการแล้ว

ด้วยรูปแบบการเรียนจากเทปที่กลายเป็นแฟชั่น อาจารย์อภิญญา เล่าว่า ทำให้จุดประสงค์ของนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนพิเศษในยุคนี้เปลี่ยนไป เพราะนอกจากเป้าหมายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เด็กเลือกเรียนพิเศษเพราะต้องการตามเพื่อน ได้เจอเพื่อน หรือเรียนเพราะเห็นว่าเป็นแฟชั่นเท่านั้น โดยดูจากพฤติกรรมการเข้าเรียน ที่ช่วงแรกจะเห็นว่ามีนักเรียนเต็มห้อง จากนั้นก็จะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งที่ผ่านมาเด็กนักเรียนของคเณศวรที่เคยไปทดลองเรียนพิเศษแบบการสอนผ่านเทป ภายหลังก็กลับมาเรียนกับเราเช่นเดิม เพราะลักษณะการสอนแบบเทปที่เด็กไม่สามารถถาม-ตอบได้ทันทีเป็นจุดอ่อนที่ติวเตอร์จอเหลี่ยมยังไม่สามารถแก้ไขได้ 100%

ไม่เพียงแต่กลวิธีการสอนที่ถือเป็นจุดแข็งแล้ว หากพิจารณากันที่อาจารย์ผู้สอน เชื่อว่า นี่คืออีก 1 หมัดเด็ดที่ติวเตอร์เจ้าถิ่นรายนี้มั่นใจว่าจะช่วยกระชากการตัดสินของเด็กหรือบรรดาผู้ปกครองได้ไม่ยาก เพราะอาจารย์ที่เข้ามาทำหน้าที่สอนพิเศษ แม้จะไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเหมือนกับคู่แข่งในเมืองหลวง ที่วันนี้เห็นได้ชัดว่า ครูผู้สอนบางรายเป็นที่รู้จักในหมู่วัยรุ่นวัยเรียนไม่ต่างจากซูเปอร์สตาร์ หรือดารามีชื่อของยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น ครูพี่แนน สอนภาษาอังกฤษ, หรือถ้าพูดถึงภาษาไทย กับวิชาสังคมต้องอาจารย์ปิง ทว่าเมื่อจำกัดพื้นที่ชกในขอนแก่น อาจารย์ที่ดูโนเนมของคเณศวรแต่ก็เป็นที่รู้จักของเด็กนักเรียน เพราะกว่า 90% ของอาจารย์ที่นี่ก็มาจากโรงเรียนในขอนแก่น ส่วน 10% จะมาจากโรงเรียนในจังหวัดอื่นใกล้เคียง ซึ่งหากวัดความใกล้ชิด ความสนิทสนม รวมถึงการเห็นฝีมือการสอนจากห้องเรียนในโรงเรียน เชื่อว่าอาจารย์จากคเณศวรมีภาษีไม่น้อยไปกว่าคู่แข่ง

นอกจาก P-Product ที่กล่าวถึงตัวผู้สอนและวิธีการสอนแล้ว จุดขายที่ผู้เล่นท้องถิ่นรายนี้นำมาตีคู่แข่ง นั่นคือ Price หรือ "ราคา" ที่พบว่ามีราคาถูกกว่าคู่แข่งจากกรุงเทพฯ 2-3 เท่าเมื่อเทียบต่อคอร์ส ยกตัวอย่าง การจ่ายเงิน 4-5 พันบาทสามารถเรียนได้หลายวิชา ขณะที่จำนวนเงินเท่านี้หากไปใช้บริการของติวเตอร์จากกรุงเทพฯ จะได้เรียนเพียง 1 วิชาเท่านั้น ทั้งนี้ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ไม่มีการปรับขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งจากการไม่มุ่งเน้นการตลาดเหมือนเช่นคู่แข่ง ทำให้เป็นจุดที่ทำให้คเณศวรยังสามารถให้บริการได้ในราคาเดิม

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างจุดขายและป้องกันการช่วงชิงเด็ก คเณศวรจึงเปิดคอร์สสอนพิเศษในลักษณะการเข้าค่ายนอกสถานที่กับทางสถาบันเป็นเวลา 1 เดือนต่อคอร์ส ซึ่งเริ่มมาได้ราว4-5 ปีแล้ว ด้วยการเข้าไปเช่าสถานที่บริเวณคอมเพล็กซ์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมจัดหาหอพักใกล้บริเวณมหาลัยให้เด็กด้วย จากเดิมที่การเรียนการสอนของกวดวิชาแห่งนี้จะอยู่ในสถานที่กวดวิชาของตนเอง ล่าสุด การเปิดคอร์สในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เพื่อรับเด็กจำนวน 100 คน ในราคาคนละ 9,000 บาทต่อเดือน สำหรับการเรียนพิเศษ 5 วิชา พร้อมพักในสถานที่ที่จัดไว้ ทั้งนี้นอกจากจะแสดงถึงศักยภาพการเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสอนวิชาต่างๆได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็น message ที่เราต้องการสื่อว่า "คเณศวรสอนทุกวิชา มีทุกอย่างให้อย่างมีคุณภาพ" โดยต่างจากคู่แข่งที่เน้นการสอนเฉพาะวิชาเป็นจุดขายเท่านั้น ขณะเดียวกันทางคเณศวรยังสามารถป้องกันการดึงเด็กจากคู่แข่ง หรือช่วยลดภาระเด็กที่ต้องวิ่งเรียนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้ด้วย

เนื่องจากการตั้งสถานที่กวดวิชาในจังหวัดขอนแก่น หากวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าไม่ต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก โดยผู้เล่นส่วนใหญ่จะเข้าไปกระจุกตัวในโซนเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้นการแยกเด็กออกไปสอนในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่ห่างออกไปไกลพอสมควร แน่นอนว่าย่อมเป็นการป้องกันการตอดแชร์จากคู่แข่งได้ไปในเวลาเดียวกัน แม้ผู้บริหารสถาบันกวดวิชาคเณศวรจะมองว่านั่นเป็นเพียงโมเดลการสอนแบบหนึ่งที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการสอน พร้อมช่วยให้เด็กมีความคุ้นเคยกับมหาวิทยาลัยเท่านั้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การจัดคอร์สสอนพิเศษแบบเข้าค่ายของผู้เล่นรายนี้ อาจารย์อภิญญา มั่นใจว่า เด็กที่เข้ามาเรียนจะมีความรู้สึกที่ดี รวมไปถึงผู้ปกครองที่จะมั่นใจได้ว่าคเณศวรไม่ใช่กวดวิชาเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ช่วยดูแลความประพฤติด้านอื่นควบคู่ไปด้วย ซึ่งจากความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ เป็นไปได้ว่าจะทำให้เด็กตัดสินใจกลับมาเรียนพิเศษกับเราอย่างน้อย 50-80%

นอกจากนี้ เพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็เป็นการหยั่งรากของแบรนด์ให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น คเณศวรจึงเลือกขยายระดับชั้นเรียนให้กว้างขึ้น ด้วยการขยายการสอน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ระดับชั้น ป.2 จากเดิมที่จะมีระดับชั้น ป.5 ขึ้นไป เพราะนอกจากจะเป็นการขยายฐานให้กว้างขึ้นแล้ว ในมุมการทำตลาดแน่นอนว่าคเณศวรย่อมเข้าไปสร้างความคุ้นเคยกับเด็กได้ก่อนคู่แข่ง ซึ่งแบรนด์ที่อยู่ในใจและจะเป็นตัวเลือกเมื่อเด็กกลุ่มนี้โตขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระดับ ม.3-ม.6 ที่จะให้ความสำคัญกับการกวดวิชา เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของบรรดากวดวิชาทั้งหลาย แน่นอนว่าย่อมมี "คเณศวร" เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ด้วย

และนี่คือ รูปแบบการตั้งรับของติวเตอร์ท้องถิ่น ที่แม้วันนี้อาจต้องออกแรงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เพื่อตั้งรับการโจมตีจากติวเตอร์จอเหลี่ยม อีกแฟชั่นหนึ่งที่เด็กๆ ยุคนี้เรียกว่า "อาจารย์ตู้" แต่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเข้าเป็นน้องใหม่ในรั้วมมหาวิทยาลัยตามที่ฝันไว้ วันนี้ "คเณศวร" ก็ยั่งมั่นใจว่า คุณภาพจะเป็นตัวตัดสินใจของเด็กในวินาทีสุดท้ายนั้นเอง

ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ทำไมจอตู้จึงทำให้นักเรียนเรียนดีขึ้นได้ เพราะนักเรียนให้ความสนใจในการเรียนมากขึ้น เนื่องจากจ่ายค่าเรียนแพงแล้ว ถ้าหากนักเรียนตั้งใจและสนใจเรียนในห้องมากขึ้น การกวดวิชาก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป


Create Date : 24 มิถุนายน 2553
Last Update : 24 มิถุนายน 2553 10:49:45 น. 1 comments
Counter : 1422 Pageviews.

 
ขอบคุณที่แบ่งปัน ติวเลขออนไลน์


โดย: swkt (tewtor ) วันที่: 11 เมษายน 2554 เวลา:23:17:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.