ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
เมษายน 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
2 เมษายน 2555
 
All Blogs
 
นิติกรรมอำพราง ขายที่ดิน 1 ใน 3 ของแผ่นดินไทยในมือต่างชาติ

คงเป็นเรื่องน่าตกใจ ถ้าจะบอกว่าทุกวันนี้พื้นที่ 1 ใน 3 ของประเทศไทย หรือกว่า 100 ล้านไร่ ได้ตกไปอยู่ในมือของชาวต่างชาติเรียบร้อยแล้ว ทั้งๆ ที่ ตามกฎหมายไทยในความเข้าใจของคนทั่วไป ชาวต่างชาตินั้นไม่สามารถเข้ามาซื้อหรือถือครองที่ดินในประเทศไทยได้ แต่ก็บ่อยครั้งที่ในทางปฏิบัติ มักจะเห็นชาวต่างชาติมีสิทธิและอำนาจเหนือที่ทางหลายๆ แห่งโดยเฉพาะผืนดินที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวตางๆ อย่างเช่นภูเก็ต พัทยา เกาะสมุย เชียงใหม่ และอีกหลายๆ เมือง

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แม้กฎหมายจะระบุถึงระเบียบในการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติไว้อย่างชัดเจน แต่เหตุใดเรื่องราวมันจึงล่วงเลย ลุกลามมาจนถึงขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ประการแรกก็ต้องยอมรับว่ามันคงเกิดมาจากตัวกฎหมายของบ้านเมืองเราที่ไม่รัดกุม มีช่องว่างให้เล็ดลอด และเอื้อต่อการทำนิติกรรมอำพราง ส่วนประการต่อมาก็คงต้องโทษคนไทยบางคนบางกลุ่มที่รู้เห็นเป็นใจในการทำนิติกรรมอำพรางดังกล่าวของชาวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาหาผลประโยชน์ในไทย

แผ่นดินนี้ของใคร?

ประเด็นเรื่องการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติที่ว่ามานั้น ถูกจุดขึ้นโดย ศ.ดร.ศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้กล่าวไว้ในงานสัมมนาที่คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา จัดขึ้นในหัวข้อเรื่อง ‘นิติกรรมอำพรางต่างชาติกับการถือครองที่ดิน’ โดยอธิบายว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานนับ 10-20 ปีแล้ว โดยเฉพาะหลังปี 2540 ที่ไทยเจอวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง และจากการคาดคะเนเอาไว้ของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอและนักวิจัย ก็เชื่อว่า ปัจจุบันพื้นที่เกือบ 100 ล้านไร่ หรือราว 1 ใน 3 ของประเทศนั้นถูกชาวต่างชาติยึดครองไปหมดแล้ว

"เรื่องพวกนี้ คนไทยต้องไม่ประมาท เพราะเอาง่ายๆ ประมาณ 2 ปีมาแล้ว ผมไปประชุมที่ประเทศสวีเดน ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำสวีเดน บอกว่าในแต่ละปี มีชาวสวีเดนขอวีซ่าเข้าเมืองไทยประมาณ 400,000 กว่าราย ซึ่งถือเป็นจำนวนมหาศาล และทำให้เราเข้าใจได้ว่า กว่าครึ่งอาจจะมีฐานที่อยู่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งสึนามิ เขามายังพบข้อมูลเลยว่า ชาวสวีเดนนเสียชีวิตมากที่สุด กว่า 800-900 ราย"

โดยพื้นที่ที่ถูกจับจองมากเป็นพิเศษก็คือ พื้นที่สำหรับการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชายทะเล อย่างภูเก็ต สมุย เกาะช้าง พัทยา พังงา กระบี่ หรือระยอง พบว่าที่ดินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่ของคนไทยแล้ว ซึ่งชาวต่างชาติพวกนี้จะมาประกอบกิจการอย่างโรงแรม บังกะโล หรือไม่ก็รวมกลุ่มกันตั้งเป็นหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านเยอรมนี หมู่บ้านออสเตรีย หมู่บ้านสวิตเซอร์แลนด์ และอีกไม่น้อยที่เข้ามาสร้างอิทธิพลเป็นมาเฟียในพื้นที่ แถมตอนนี้ยังมีการรุกไปยึดพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย อีกต่างหาก

ส่วนการเข้ามาจับจองที่อีกแบบ ก็คือการเข้ามาใช้เป็นพื้นที่สำหรับการเกษตร ดังเช่นที่มีนักการเมืองบางคนก็ไปเชิญชวนให้ชาวอาหรับเข้ามาปลูกข้าวในประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหามันลุกลามไปไกลกว่านั้นแล้ว เพราะตอนนี้มีชาวสิงคโปร์เข้ามาเช่าที่กว่า 2,000-3,000 ไร่ ทำพืชผักผลไม้ แล้วส่งกลับไปขายที่ประเทศตัวเอง จากนั้นก็โฆษณาว่า 'หากต้องการกินผลไม้อร่อยๆ ต้องมากินที่สิงคโปร์' ทั้งๆ ที่สิงคโปร์ไม่มีพื้นที่ปลูก

หรืออีกกรณีหนึ่งที่ชาวต่างชาติเข้าไปสวมสิทธิ์ใน ส.ป.ก. ซึ่งที่ดินมีหลักฐานส.ป.ก. เป็นที่ดินของรัฐที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดูแล คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร ออกหลักฐานสำหรับที่ดินคือ ส.ปก.4-01 เพื่อเป็นหลักฐานให้ผู้มีชื่อใน ส.ป.ก. สามารถเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่สามารถโอนกันได้ (ซื้อขาย-แลกเปลี่ยน-ยกให้ไม่ได้) เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก หากฝ่าฝืนอาจจะเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนได้ เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังเป็นของรัฐ กรณีทำสัญญาซื้อที่ดินที่มีหลักฐานส.ป.ก. จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย สำหรับกรณี ส.ป.ก.ก็คือชื่อยังเป็นของคนไทย แต่เจ้าของชื่อเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นลูกจ้างแทน เพราะถูกซื้อสิทธิ์ไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นมากกับพื้นที่ปลูกผลไม้เมืองหนาว

"ประเทศที่มีน้ำมัน เมื่อน้ำมันหมดเขาหากินอย่างไร ดังนั้นก็ต้องเล็งเอาไว้เหมือนกัน ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าที่ดินในอยุธยา สุพรรณบุรีถูกซื้อไปเท่าไหร่แล้ว แล้วยิ่งมีนักการเมืองไปเชิญชวนมันก็เหมือนเป็นการเปิดช่องใหญ่ เพราะเราต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร ใครๆ ก็ต้องหันมามอง ยิ่งมีภัยพิบัติมากขึ้นเท่าไหร่ หรือมีแหล่งเพาะปลูกจำกัดลงเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ก็จะแพงขึ้นอัตโนมัติ และยิ่งเปิดเสรีอาเซียน ก็จะมีกลุ่มบริษัทต่างชาติเข้ามาเยอะแยะไปหมด ฉะนั้นถ้าเราปล่อยตามสบายก็โดนหมดแน่นอน"

ช่องโหว่ทางกฎหมายคือเครื่องมือ

สำหรับช่องทางการซิกแซ็กเข้ามาของชาวต่างชาตินั้น ทนายความ นวพล ผ่องอำไพ จากสำนักงานทนายความเอ็นพีลีเกิ้ลเซอร์วิส ได้อธิบายถึงการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติโดยถูกต้องตามกฎหมายว่า จริงๆ แล้วมีกฎหมายหลายตัวที่รองรับในเรื่องดังกล่าว แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนรองรับการเข้ามาลงทุนที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

“มันใช้เงินเยอะพอสมควร ซึ่งการได้มาซึ่งสิทธิที่ดินของคนต่างด้าวมันจะมี 2 ทางด้วยกันตามประมวลกฎหมายที่ดินและก็มีในส่วนของกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติออกมาให้รองรับจุดนี้ อย่างในกฎหมายที่ดินเขากำหนดเอาไว้ว่า การที่คนต่างชาติจะได้ที่ดินมา ต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในธุรกิจซึ่งระบุไว้ เช่น การซื้อพันธบัตรของรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในเรือนหุ้นของนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน หรือตาม พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็จะระบุเอาไว้เหมือนกันว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมอาจจะเป็นคนธรรมดาหรือคนต่างด้าวก็อาจมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้แต่ต้องเกี่ยวกับการทำนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น”

ซึ่งเท่ากับว่าชาวต่างชาติผู้ต้องการถือสิทธิที่ดินต้องเข้ามาประกอบธุรกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ก็จะมีสิทธิถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินอย่างถูกต้อง แต่ถ้าจะเข้ามาอาศัยในประเทศเฉยๆ แล้วอยากครอบครองที่ดินนั้น ไม่สามารถทำได้ แน่นอนการครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของต่างชาติตามระเบียบนั้นต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย ก็เลยมีกลโกงอาศัยช่องว่างทางกฎหมายกระทำ ‘นิติกรรมอำพราง’

“การสมรสเป็นช่องโหว่ที่ง่ายที่สุด เพราะว่าตามกฎหมาย พ.ร.บ.ต่างๆ นั้น ล้วนเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนเยอะ เพราะฉะนั้นชาวต่างชาติบางกลุ่มก็ไม่อยากเสียเงินตรงนี้ เขาก็จะมาอาศัยช่องทางที่ว่าง่ายที่สุด เช่น แต่งงานกับคนไทยบ้าง หรือเปิดบริษัทเล็กๆ ขึ้นมา”

ในเรื่องของช่องว่างทางกฎหมายนั้น ศ.ดร.ศรีราชา เจริญพานิช ได้กล่าวเสริมไว้อีกว่ารูปแบบการเปิดบริษัทเล็กๆ ที่ว่านั้น เรียกอีกอย่างว่าถือครองในรูปแบบของนอมินีหรือตัวแทน โดยในนั้นจะมีคนไทยถือหุ้น 51 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนต่างชาติ 49 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย เพราะหลักๆ หน่วยราชการดูที่สัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณากันลึกๆ จะพบว่า หุ้นส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มีอำนาจเสียงข้างมากจริง โดยอาจจะทำสัญญาผูกพัน จำนอง หรือค้ำประกัน เพื่อให้สิทธิ์ของเขาไม่สูญ โดยคนที่แนะนำก็คือบรรดานักกฎหมายไทยนั่นเอง

หรือจะเป็นการเสียกรุงครั้งที่ 3?

จากรูปการแล้ว ในขณะนี้คล้ายกับว่าประเทศไทยกำลังดำเนินไปสู่สภาวะที่คล้ายกับการเสียเอกราชทางผืนแผ่นดินเข้าไปทุกที ในประเด็นนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดินอย่าง ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นไว้ว่า มันไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นเสียกรุงหรอก หากแต่มันทำให้บ้านเมืองสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ไป

“ไม่ถึงกับเป็นการเสียกรุงหรอก แต่มันทำให้ประเทศชาติสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ไปต่างหาก ประการแรก จำนวนของการถือครองที่กล่าวมานั้น เป็นจำนวนโดยประมาณ ซึ่งเราชี้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเท่าไหร่กันแน่ แต่การทำเหล่านี้ ถ้าลองมันเป็นเรื่องที่ไม่ชอบตามกฎหมายเสียแล้วก็คงจะไม่ใช่เรื่องดีสักเท่าใด มันมีผลเสียในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความมั่นคง และที่สำคัญมากๆ ก็เป็นเรื่องของรายได้ที่จะเอามาพัฒนาประเทศในรูปของภาษีต่างๆ และถ้ามันยังเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้การจัดการที่ดินในประเทศไทยออกไปในแนวมั่วๆ กันต่อไป มีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายหาผลประโยชน์ โดยการรู้เป็นเป็นใจทั้งจากตัวเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง”

ดร.โสภณ กล่าวต่อไปว่าทางออกของปัญหานี้ นอกจากการไปอุดช่องโหว่ทางกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีระบบการเปิดเผยข้อมูลว่า มีการซื้อขายกันอย่างไรบ้าง และใครซื้อใครขายที่ราคาเท่าไหร่ขึ้นมาอีกด้วย เพราะถ้ายิ่งมีกระบวนการโปร่งใสการจะมาอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายก็ทำได้ยากขึ้น

“คือบ้านเรากลับมองว่า ตรงนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้เปิดเผยข้อมูลตรงนี้ นั่นยิ่งทำให้เรื่องของการตรวจสอบการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการฟอกเงินหรือตรวจสอบเรื่องภาษีกลับกลายเป็นเรื่องยาก มันไม่เคยเกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจทั้งหลายตั้งแต่นักการเมืองไปจนถึงคนที่ไม่ใช่นักการเมืองที่ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ๆ ทั้งหลาย เขาไม่ยอมเพราะเขาเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ยังไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องภาษีอัตราก้าวหน้าเลยนะ เอาแค่ให้ทุกคนเสียภาษีโดยเท่าเทียมกันนี่ก็ยากแล้ว

“ประการต่อมาถ้าหากจะแก้ปัญหาการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย มันต้องมีบทลงโทษกับคนที่เข้าไปดำเนินการตรงนั้นให้ชัดเจนด้วย เพราะเท่าที่ผ่านมามันก็มีการลงโทษอยู่แต่ไม่ได้มีการบังคับใช้จริงจังสักเท่าไร”

…………

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น มันล้วนเกิดจากช่องว่างทางกฎหมายที่เอื้อต่อกระบวนการทำนิติกรรมอำพราง ซึ่งนอกจากแนวทางแก้ไขด้วยการอุดช่วงว่างทางกฎหมายแล้ว อีกเรื่องหนึ่ง ที่ศ.ดร.ศรีราชาในฐานะคนจุดประเด็นอยากให้มีควบคู่ไปก็คือการเสนอให้สำนักนายกรัฐมนตรีตั้งระเบียบเพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมนอมินีขึ้นมาช่วยตรวจสอบกันอีกแรง

เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่โลกปัจจุบัน คือโลกที่เงินคืออำนาจซึ่งสามารถบันดาลทุกอย่างให้เป็นจริงได้ แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับกฎระเบียบบ้านเมืองก็ตาม คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องย้อนไปดูถึงช่องว่างของกฎหมายและหันไปใส่ใจกับ ‘คน’ ที่มีหน้าที่รักษากฎหมายเหล่านั้นให้มากกว่านี้


ที่มา
//news.hunsa.com/detail.php?id=40919


Create Date : 02 เมษายน 2555
Last Update : 2 เมษายน 2555 21:57:32 น. 1 comments
Counter : 860 Pageviews.

 
เรื่องนี้ อ่านแล้วรุ้สึกแน่ค่ะ


โดย: ไม่ปรากฏนาม IP: 118.173.163.137 วันที่: 3 เมษายน 2555 เวลา:20:53:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.