ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
 
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
คลองอู่ตะเภา

ตลาดนัดริมคลองและที่มาของชื่อคลองอู่ตะเภา



ผมยืนอยู่ตรงหน้าป้ายชื่อ สถานที่ซ่อมเรือโบราณ ของบ้านอู่เภา หมู่ที่ 8 ตำบลคูเต่า ในท่ามกลางแสงแดดจ้า ใกล้เที่ยงวัน เขม้นจ้องสายน้ำในลำคลอง ที่มีเขียวเข้ม ใกล้ๆ มีต้นไทรใหญ่ ชะโงกง้ำออกไปริมคลอง ทอดเงาตระหง่าน มีคำถามหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจ ตลอดเวลาในการค้นหาข้อมูล คือผมอยากรู้ว่าคลองสายนี้ ทำไมจึงได้ชื่อว่าคลองอู่ตะเภา

คำถามนึ้คล้ายกับว่า เป็นการตั้งคำถามแก่ตัวเองเช่นกัน การค้นพบที่มาของคลองสายนี้ อาจทำให้ผมค้นพบคำตอบอะไรบางอย่าง...

แน่นอนละว่า ทุกชีวิตย่อมไม่ได้งอกงามก่อเกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ ราวกับกำเนิดออกมาจากปุยเมฆบนท้องฟ้า เพราะต่างย่อมมีที่มาและที่ไป คนเราก็เช่นกัน ผมคิด ผมเชื่อเหลือเกินว่า มนุษย์จำเป็นต้องรู้จักรากเหง้าของตน เพื่อที่จะได้รู้ประวัติศาสตร์แต่ละก้าวย่าง จนเกิดความภาคภูมิใจ และจะได้เป็นฐานในการก้าวต่อไปอย่างมั่นคงในอนาคต

ผมกับฮาริสเมื่อสักครู่เราเดินไปตามถนนลูกรังใกล้วัดอู่ตะเภา ซึ่งเป็นวัดเก่า มีอายุกว่า 500 ปี ชาวบ้านที่นี่เรียกวัดนี้ว่า 'วัดเก่า' ผมถามหาวัดอู่ตะเภาเด็กที่ปั้มน้ำมันบอกไม่รู้จัก โชคดีว่ามีพระที่วัดใหม่บอกทางมา ด้วยความอยากรู้ที่มาของคลองอู่ตะเภา คล้ายกับว่ามีเสียงเพรียกอันเร้นลับนำพาเรามาที่นี่

ผ่านเพิงพักของยายคนหนึ่งที่ยึดอาชีพปลูกผัก ตรงหน้าท่าผมเห็นถังน้ำใบย่อมวางคว่ำอยู่ เราเข้าไปคุยกับยาย แกชื่อเนือม บอกว่าอาศัยน้ำในคลองนี้แหละมารดแปลงผัก

ผักที่แกปลูกมีผักกาดนกเขา ผักกาดสายซิ้ม มีผักโหมบ้างนิดหน่อย

ผมถามเรื่องน้ำเสีย

"มันมาครั้งหนึ่งก็วันสองวัน บางทีน้ำมาตอนกลางคืน ตอนเช้าก็เห็นเด็กไปหาปลาที่ลอยขึ้นมาตามริมคลอง" ยายเนือมว่า

สุดขอบด้านซ้ายมือของถนนเป็นแนวคลองคู่ขนานกันไปกับกำแพงวัด น้ำในคลองมีสีเขียวเข้ม ด้วยผลของน้ำเค็มในทะเลสาบรุกล้ำเข้ามา จากแรงอัดของลมนอกในทะเลอ่าวไทย

ก่อนมาถึงที่นี่ เราผ่านบ้านเรือนที่แซมแทรกมาเป็นระยะ พระในวัดบอกว่าที่นี่มีป้ายบอกสถานที่อันเป็นที่มาของคลองอู่ตะเภา

ผมนึกอะไรขึ้นมาได้ ตัดสินใจลองแวะถามที่บ้านหลังหนึ่ง ว่าป้าอยู่แถวนี้รู้ไหมว่าคลองอู่ตะเภามีที่มาอย่างไร คุณป้าที่ดูสูงอายุหน่อยนั่งเล่นกับหมาอยู่กลอกตาส่ายหน้า พลางหันไปถามคุณตาเพื่อนบ้านก็บอกว่าไม่รู้ ผมแวะถามอีกหลายบ้าน ก็ได้ผลไม่ต่างกัน ทำให้ผมนึกแปลกใจ

เป็นไปได้อย่างไรคลองสายนี้ออกจะใหญ่โต มีอายุหลายร้อยปี คนที่อยู่ริมคลองแท้ๆกลับไม่มีใครรู้ประวัติที่มาของมัน

หรือว่าคนสมัยนี้ไม่สนใจที่มาของสิ่งใด ! พวกเขาสนใจแต่ตัวเอง ผมคิด พวกเขาสนใจแต่วันนี้ อยู่อย่างไม่มีอดีตและอนาคตกระนั้นรึ?


ผมเก็บความสงสัยนี้ไว้ จนกระทั่งผมได้พบกับหลวงตาพร้อม ถาวรเจริญ ที่วัดอู่ตะเภา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า 'วัดเก่า' คำตอบทุกอย่างก็คลายปมกระจ่างแจ้งออกมา

หลวงตาพร้อมเป็นพระลูกวัด บวชมาหลายสิบพรรษา ในวันนี้แกอายุ 85 ปีแล้วแต่ความจำยังคงดีเลิศ แกมีประสบการณ์จากวัยหนุ่มอันโชกโชน ที่สำคัญก็คือความรอบรู้ของหลวงตา เป็นผลมาจากความใส่ใจในสิ่งที่อยู่รอบตัว ทุกวันนี้แม้จะลุกเดินไปไหนไม่ได้ แต่ก็ยังบำเพ็ญบุญด้วยการเป็นหมอจับเส้น อาศัยความรู้ทางการแพทย์รักษาผู้ป่วย มีคนไข้หนักมารอคิวให้หลวงตานวดไม่เว้นว่าง

หลวงตาอาศัยในกุฎิหลังย่อมที่มืดสลัว แล้วก็ทรุดโทรม มีเพียงหน้าต่างบานเดียวเปิดรับแสงจากดวงตะวัน หลวงตาเพิ่งจะเสร็จกิจทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติของคนที่ล่วงลับไปแล้ว ได้เวลาฉันเพลพอดี เรานั่งรออยู่ด้านนอก หลวงตาพอรู้ว่าผมมาด้วยเรื่อง อยากรู้ประวัติความเป็นมาของคลองอู่ตะเภา แกบอกให้ผมนั่งลง แล้วก็ผลักจานผลไม้มาวางตรงหน้า บอกให้ผมใจเย็นๆ

"เรื่องนี้ต้องคุยกันนานๆ" หลวงตาว่า

ความเป็นมาของคลองอู่ตะเภา

"เมื่อก่อนที่ตรงนี้เป็นหาด ที่เขาเรียกปลายบางที่ว่า แล้วค่อย ๆ ยื่นออกไปๆ ทะเลที่เหลือ ก็เป็นทะเลสาบสงขลา ที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนคลอง มีมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว"

คำบอกเล่าของหลวงตา ทำให้ผมวาดภาพท้องทุ่งกว้างโล่ง อันไพศาลแห่งนี้ ในอดีตเป็นผืนแผ่นดิน อันเขียวชอุ่มค่อยๆ ผุดงอกขยายตัว ไล่ผืนน้ำออกไปทีละนิด ก่อนที่จะกลายเป็น แหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรือง และที่สำคัญ มีลำคลองนี้ เป็นเส้นทางสัญจรสายหลัก

"ส่วนที่เป็นคลองนี้มีมาตั้งแต่สมัยไหน?"

"ไม่รู้ น้ำมันสร้าง ธรรมชาติมันสร้างมาด้วยตัวของมัน ไม่ได้มีมนุษย์ไปขุดไปลอก"

ผมเพิ่งรู้ในวันนี้เองว่าชุมชมละแวกวัดอู่ตะเภาซึ่งเป็นวัดแรกของอำเภอหาดใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนที่เมืองหาดใหญ่จะเกิด เนื่องจากคนสมัยก่อนใช้เรือในการสัญจร ลำคลองอู่ตะเภาจึงทำให้ชุมชนอู่เภาหรือ 'โอเภา' พลอยคึกคักไปด้วย กระทั่งวันหนึ่ง รถไฟและรถยนต์ก็ได้เข้ามาแทนที่เรือ

พอผมถามถึงที่มาของชื่อคลองอู่ตะเภา หลวงตาขยับแข้งขยับขา ก้มลงบ้วนปากในกระโถน ผลักจานข้าวออกห่างตัว กระแอมเบาๆ


"มันมีเรื่องเล่ากันมาว่า มีเรือสำเภาลำหนึ่งเข้ามาค้าขาย" หลวงตาเริ่มเล่า "ขายถ้วยขายชามแบบนั้นน่ะ แล่นมาจากเมืองจีน -สมัยนั้นหาดใหญ่ยังไม่มีนะ ส่วนที่นี่เป็นที่ๆมีความเจริญมาก เผอิญว่าไม่สันทัดเส้นทาง เรือแล่นมาติดตอไม้เข้า เรือเกิดรั่ว เจ้าของเรือก็กังวลว่าเรือจะล่ม พวกสินค้าที่เป็นถ้วยชามสินค้า มีราคาอักโขก็อยู่ข้างใน กังวลว่าจะเสียหาย ขณะที่บนฝั่งชาวบ้านก็มามุงออ รอจะฉวยโอกาสเอา ชาวจีนจึงคิดแก้ปัญหา ถามหาที่น้ำตื้นพอจะนำเรือขึ้นได้ แต่ก็คุยกันคนละภาษา คนจีนก็พูดภาษาจีน ชาวบ้านก็พูดภาษาไทย คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่ก็พอจับความได้ ชาวบ้านชี้ไม้ชี้มือไปที่หัวหาดซึ่งมีน้ำแค่เอว ลูกน้องเรือมีอยู่ราวๆ 40-50 คน กับชาวบ้านที่เขาว่าจ้าง ช่วยกันลากเรือไปยังที่น้ำตื้นแล้วคิดกันว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายเอาไม้ขัดให้เรือเกยขึ้น เรียกว่า 'วัวดีด' คือยกไม้มาจากข้างหลังแล้วอัดไม้เข้าไปเรื่อยๆ พอท้องเรือพ้นน้ำก็ไม่ต้องวิดน้ำ ให้น้ำมันไหลลงเอง ต่อมาก็คิดกันอีกว่าจะซ่อมยังไง มีคนเสนอว่าหาไม้มะพร้าว ตัดเป็นท่อนๆ สอดเข้าไปแล้วลากให้ไม้กลิ้ง ลากสอด สากสอด ไปเรื่อยๆ เรือก็อยู่ตรงที่เป็นอู่ จนกระทั่งซ่อมเสร็จ ก่อนเรือออกจีนก็ถามว่าที่นี่ที่ไหน ชาวบ้านก็ไม่รู้จะบอกยังไง เห็นเรือสำเภาลำใหญ่มาซ่อมที่นี่ ก็บอกไปว่า 'อู่เภา' แต่ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น 'อู่ตะเภา' จริงๆไม่ใช่ตะเภาที่เป็นชื่อของหนู ชื่อมันมาจากเรือสำเภา"

ผมนึกถึงขณะยืนอยู่ที่หน้าป้ายที่หลวงตาเป็นคนไปสร้างไว้ ซึ่งบัดนี้เป็นเพียงหน้าท่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ นึกไม่ถึงเลยว่าครั้งหนึ่งจะเป็นที่ซ่อมเรือสำเภาจากเมืองจีน

"แล้วที่ซ่อมเรือในอดีตนั้นปัจจุบันอยู่ที่ไหน?"

"แถว ๆ นั้น (ที่ปักป้าย)"

"ตาหลวงเคยไปดูไหมว่ามันจะอยู่ตรงไหน?

"ไม่ มันเปลี่ยนสภาพมาเรื่อยๆ ไม้แฝก สาคู ต้นคล้าขึ้นเต็มไปหมด แต่ยังคงมีหาดไว้จนกลายมาเป็นท่ามีคนมาอาบน้ำ ตักน้ำไปกิน หน้าท่าตรงนั้นก็สะดวกสบาย อันที่จริงที่ดินตรงนั้นจะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านมากๆ ที่ปักป้ายไว้เพราะอยากให้ชาวบ้านรู้ที่มาของคลองอู่ตะเภา เป็นสิ่งที่จะมีประโยชน์กับชาวบ้านมาก ให้รู้ว่าอู่เภาอยู่ตรงไหน ถ้าไม่เก็บเอาไว้คนอยู่ใกล้ ๆ ก็ไม่รู้ ลองคิดดูซิ ต้องบอกเล่าให้เด็กรุ่นหลัง แต่ไม่มีใครบอกเล่ากัน ใคร ๆ ก็พาแต่ตัวเอง"

คำพูดประโยคสุดท้ายทำเอาผมนิ่งอึ้ง

ตลาดนัดริมคลอง

นั่งฟังหลวงตา เล่าความหลังเมื่อครั้งยังหนุ่ม ที่ตะลอนไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมหลวงตาจึงรอบรู้เรื่องราว ในอดีตเป็นอย่างดี

"สมัยก่อนเท่าที่หลวงตาเห็น สภาพคลองเป็นอย่างไร"

"อุดมสมบูรณ์" หลวงตาว่า "ลงคลองไปสักประเดี๋ยวก็ได้ปลาได้กุ้งมาแล้ว ตั้งไฟรอไว้เถอะ การทำมาหากินกับคลองมันคล่องตัว ส่วนอาชีพของคนแถวนี้ หนึ่ง-ปลูกหมาก สอง-ปลูกกระท้อน สาม-ปลูกส้มโอ สี่-ลูกส้มแป้น ห้า-ปลูกอ้อย หก-ปลูกกล้วย นั่นที่พอนับได้ ที่นี่มีคนรวย ๆ เยอะ หาดใหญ่เพิ่งมาเจริญเอาทีหลัง"

ผมถามว่า ณ วันนี้ชาวบ้านใช้คลองนี้ทำประโยชน์อะไรอีกบ้าง?

"ไม่มีแล้ว แต่เมื่อก่อนเป็นตลาดนัด ที่คูเต่าทุกวันพฤหัส วันศุกร์ที่ท่าศาลา ตอนนี้เลิกเสียแล้ว วันเสาร์ท่าหยี ตอนนี้เลิกเหมือนกัน วันอาทิตย์ท่าหาดใหญ่ ทุกวันนี้ยังมี ที่โคกเสม็ดชุนนัดวันอังคาร"

ผมนึกถึงหน้าท่าที่หลังอำเภอขึ้นมาตระหงิดๆ ในอดีตคงจะเป็นตลาดขายสินค้าขนาดใหญ่ ผมมองเห็นความคึกคักตลอดสายน้ำได้ไม่ยาก และบัดนี้ทุกสิ่งเหลือเพียงตำนานให้เด็กรุ่นหลังได้ควานหาร่องรอยความรุ่งเรืองแต่ในอดีต

"ตลาดนัดหาดใหญ่อยู่ฝั่งไหนละครับ?"

"เมื่อก่อนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับศาลาลุงทอง แต่ทุกวันนี้อยู่ตรงฝั่งศาลาลุงทองนั้นแหละ อยู่ทางขวา"

"อ้าว แล้วคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามละ เขาใช้วิธีข้ามไปตลาดนัดยังไง?"

"ขึ้นเรือ ค่าโดยสารแค่สตางค์ครึ่ง"

คนไร้ราก?

หน้าท่าเงียบสงบ สายน้ำเขียวขรึมของลำคลอง ทอดไหลเอื่อยเงียบสงบ ป้ายประกาศที่มาของบ้านอู่เภา ปักโดดเด่นออกมาจากสีเขียว ของต้นไทรและกอไผ่ ผมนึกถึงสีหน้างุนงง ไม่ใส่ใจของชาวบ้าน ที่ผมถามตลอดทางที่ผ่านมา

"ถ้าอย่างนั้น ฝั่งศาลาตาทองเมื่อก่อนเขาใช้ทำอะไร?"

"เป็นป่าโท๊ะ เป็นที่นา ความเจริญยังไม่เห็น เขาลากไม้มาแต่ควนลังมาลงที่นั่น"

"ไม้ที่ควนลังมีมากหรือครับ?"

"ที่ควนลังเมื่อก่อนเป็นป่าดึกดำบรรพ์ เขาจะลากไม้มาลงแพ แล้วล่องมาตามลำน้ำ แล้วพาขึ้นมาสร้างบ้าน"

"ถ้าอย่างงั้น ผมถามอีกอย่าง ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในครัวเรือน เมื่อก่อนเขาซื้อหากันยังไง? ที่ไหน?"

"ถ้าเป็นไม้ก็ควนลัง ถ้าเป็นกระเบื้องก็บางโหนด ปูนตราหัวควายของญี่ปุ่นไปซื้อที่สงขลา ใส่ลังไม้ลงเรือกลับมา ที่นิยมไปซื้อที่สงขลาก็มี เกลือ เคย น้ำผึ้งรวง ส่วนสินค้าที่ขึ้นชื่อของที่นี่ที่ชาวบ้านนำไปขายคือ ส้มโอ มะพร้าว"

ผมถามเรื่องอนาคตของคลองอู่ตะเภา

"ฉันเคยแนะนำนายบ้านไปแล้ว ว่าให้ต่อเรือจ้างสักลำหรือสองลำ แล้วให้คนนั่ง ต่อเข้าสัก 10 ที่นั่ง ไม่ขาดทุนหรอก เรือมันกินน้ำมัน ถ้าเราไม่วิ่งมันก็ไม่ต้องจ่ายอะไร ไปจากนี่ถึงเกาะยอ แล้วกลับมา คิดชั่วโมงละกี่บาทก็ว่ากันไป"

ผมนั่งฟังอย่างสงบ นึกอะไรขึ้นได้ ผมถาม "หลวงตาว่าคลองขุดใหม่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ไหม?

หลวงตาหัวเราะ "แก้ได้ยังไง คลองลึกกว่าทะเล น้ำก็ขังอยู่ตรงนั้น ต้องขุดทะเลให้ลึกกว่าคลอง คลองลึก 5 เมตร แต่น้ำทะเลแค่เอว น้ำมันไม่โง่กว่าคนหรอก"

ผมใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับหลวงตา ก่อนที่จะออกจากกุฏิหลวงตาด้วยความรู้สึกเศร้าใจ ผมกลับมายืนตรงหน้าป้ายที่หลวงตาสร้างไว้ มีบางสิ่งที่ทำให้ผมสะทกสะท้อนใจ เวลานี้ผมเข้าใจแล้วว่า ทำไมหลวงตาจึงทำท่าดีใจนักหนา เมื่อรู้ว่าผมมาหาด้วยเรื่องความเป็นมาของคลองอู่ตะเภา

นึกถึงสีหน้าและแววตาว่างเปล่าของชาวบ้านละแวกนี้ ผมมองเห็นความเป็นไปของผู้คน เอ หรือว่าคนสมัยนี้เขาไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัวกันแล้วจริงๆ.

ที่มา โดย ชาคริต โภชะเรือง
//www.khlong-u-taphao.com/index.php?file=story&show=story/name


Create Date : 15 เมษายน 2553
Last Update : 15 เมษายน 2553 23:01:01 น. 0 comments
Counter : 778 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.