ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
29 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 
คนรุ่นใหม่ฮิตเรียนครู ภาพลวงตาหรือความจริง

'ครู' วลีสั้นๆ ที่รวบรวบคุณูปการไว้ในตนเอง แต่เมื่อเวลาล่วงเลยคุณค่าของความเป็นครูกลับดูลดลง พระคุณที่สาม ซึ่งสมัยหนึ่งชาวไทยเคยยกย่องและให้ความเคารพกลับถูกอารยะบางอย่างทางสังคมกลบความสำคัญ

ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะวิถีของครูบางประเภทที่ทำการขุดหลุมฝังคุณค่าแห่งวิชาชีพตน บทบาทของครูจึงถูกมองเป็นเพียงอาชีพหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่แค่ 'สอน' และถูกลดคุณค่าทางสังคมไปโดยปริยาย

กลายเป็นปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะเป็นครู อาจเพราะเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ มีความรับผิดชอบ และสละเวลาส่วนตัว รวมถึงด้านสวัสดิการและรายได้ที่ค่อนข้างน้อย เพราะฉะนั้นปัจจุบันครูที่กำเนิดโดยจิตวิญญาณจึงเป็นเรื่องที่ยากเสียเหลือเกิน

ซึ่งทางรัฐบาลเองก็มองเห็นถึงปัญหาของวิชาชีพจึงมีนโยบายยกระดับวิชาชีพครู รวมถึงทุนการศึกษา และรับประกันการมีงานทำ ด้านยอดของผู้สมัครเข้าเรียนครุฯ ในปีนี้ จึงสูงเป็นประวัติการณ์ ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่งที่มียอดเด็กสมัครเรียนครุศาสตร์กว่า 7,000 คน แต่รับเพียง 400 คนเท่านั้น

และรัฐบาลก็เผยถึงอัตราว่างตำแหน่งครูที่มีรองรับกว่า 30,000 อัตรา ก็ได้แต่หวังว่าเมื่อมีผู้สนใจศึกษาในทางครุศาสตร์มากขึ้น ด้าน 'จิตวิญญาณความเป็นครู' ก็จะถูกปลูกฝังแก่ 'ว่าที่ครู' ในอนาคตอย่างเต็มเปี่ยม และนำความศรัทธาแก่วิชาชีพครูให้กลับคืนมาสู่สังคม

เรื่องของ ครู!?

ประหยัด พิมพา ประธานคณะกรรมการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขตที่ 20 จังหวัดอุดรธานี ให้ทัศนะเกี่ยวกับปัจจัยที่เด็กยุคใหม่เลือกเรียนสายวิชาชีพครูว่า เป็นเพราะปัจจัยเรื่องโอกาสในเรื่องการประกอบอาชีพ เพราะต้องยอมรับว่า ภายในระยะอีก 4-5 ปีนี้จะมีข้าราชการครูเกษียณอายุราชการนับแสนราย ส่งผลให้บุคคลากรด้านนี้ขาดแคลนอย่างหนัก

"ข้าราชการครูทุกวันนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะเงินประจำตำแหน่งและเงินสวัสดิการที่โดดเด่นกว่าสายงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร หรือครูผู้สอนจะทำงานทางวิชาการขั้นพิเศษ ขั้นเชี่ยวชาญ แถมเวลาทำงานยังน้อยกว่า บางทีมีปิดเทอม หรือจังหวะพักผ่อนเยอะ แล้วงานก็ไม่ได้ยากอะไร เหมือนเป็นอาชีพสบายๆ พูดง่ายๆ คือเลือกเพราะปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าความอยาก คนที่อยากเป็นครูจริงๆ ตอนนี้มีน้อยมาก"

ทั้งนี้ย่อมกระทบต่อจิตวิญญาณของความเป็นครู เพราะกลายเป็นว่าครูนั้นห่วงแต่เรื่องของตัวเอง เลยไม่ได้ใส่ใจว่า คุณภาพเด็กที่ต้องเรียนกับตัวเองจะเป็นเช่นใด และบางครั้งยังแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วย

"อย่างเรื่องเรียนพิเศษเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะในโรงเรียนประจำจังหวัด หรือโรงเรียนใหญ่ เพราะเวลาครูสอนพิเศษสอนดีกว่าในห้องเรียน เช่น สอนในห้องอาจจะกั๊กๆ เอาไว้ แต่ถ้าอยากรู้มากกว่าให้ไปสมัครเรียนที่นี่นะ ตรงนี้แหละที่ทำให้จิตวิญญาณมันหายไป กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปจากการสอนสมัยโบราณที่ครูต้องเป็นแม่แบบให้ลูกศิษย์นำไปเป็นแบบอย่าง”

หากเปรียบกับครูในประเทศนั้น พวกเขายังมีจิตวิญญาณอยู่มาก การสอนก็ให้ความรู้แก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่

ไม่เพียงแค่นั้น เรื่องค่านิยมที่ชอบบูชาคนเก่งหรือเน้นการแข่งขันสูงๆ ซึ่งไทยได้รับอิทธิพลจากการเรียนการสอนในประเทศญี่ปุ่น ก็ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้จิตวิญญาณความเป็นครูในสังคมไทยปัจจุบันสั่นคลอนอย่างมาก เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้สังคมเลือกปฏิบัติแต่เฉพาะคนที่มีผลงานดีๆ ทางวิชาการเท่านั้น

มิติ 'ครู' บ้านนอก

ศิริพร ผาจันทร์ ครูโรงเรียนบ้านสวาท จังหวัดอุบลราชธานี เล่าว่า ปัจจุบันชุมุชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารการเรียนการสอนมากขึ้น รวมทั้งการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น วันเด็ก วันปีใหม่ วันสงกรานต์ วันพ่อ วันแม่

ทั้งนี้โรงเรียนและครูก็ต้องเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างชุมชนกับโรงเรียน เมื่อชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะครู ศิริพร มองว่า ต้องมีการคุยกับผู้ปกครองถึงแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

“เราก็มีการคุยกับชุมชนผู้ปกครองว่าจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้ดีกว่าเดิม เพราะเด็กตามชนบทเราเรียนไม่ค่อยเก่ง อ่านหนังสือไม่ค่อยออกกัน”

ทางชุมชนเองก็มีคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งมาจากคนในหมู่บ้านมาร่วมกับทางโรงเรียนเพื่อเสนอแนะแนวทางการเรียนการสอนให้แก่ครูและโรงเรียน ซึ่งครูเองก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชนนั้น เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้แก่เด็กๆ ต่อไป

“แต่ละที่เด็กไม่เหมือนกัน ต้องคุยกับเขาว่าเขาต้องการอะไรนอกจากการเรียนการสอน เดี๋ยวนี้เขามีการเปิดหลักสูตรท้องถิ่นที่กำหนดขึ้นมาเองจากชุมชน แต่ก็ยังทำไม่ได้ตามที่ต้องการเพราะขาดปัจจัยร่วมหลายอย่าง เช่น บางทีเราบอกว่าเราเอาความคิดเห็นชุมชนเป็นที่ตั้งแต่จริงๆ ในทางปฏิบัติ เราเอาความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่างหาก”

จะเห็นได้ว่าความป็นครูในต่างจังหวัดนั้นมีบทบาทต่อชุมชนอย่างมาก และครูก็ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความศรัทธาเสมอมา

ดัชนีความเป็นครู ถดถอย-คงที่-ก้าวหน้า

หากกล่าวถึงความหมายอย่างคราวๆ ของ จิตวิญญาณครู นั้นหมายถึง จิตสำนึก ความคิด ทัศนคติ พฤติกรรมการแสดงออกที่ดีที่สงบเย็น เป็นประโยชน์ตามกรอบของจริยธรรม และความคาดหวังของสังคม เป็นส่วนประกอบของบุคคลผู้ใฝ่รู้ สร้างสรรค์ ฯลฯ

“ผมมองว่าการที่ใครสักคนจะเลือกเรียนครูเขาต้องมีความรักในรูปแบบวิชาชีพนี้เป็นทุนครับ ซึ่งเราก็สามารถเลือกศึกษาในสาขาเรียนวิชาที่เราสนใจเพื่อมาต่อยอดอาชีพการสอนของตัวเองในอนาคต และคนที่เรียนครูมาโดยตรงก็จะมีการสอนเรื่องจรรยาบรรณครับ จะสอดแทรกในรายวิชาที่เรียนมาตลอด 4 ปี ซึ่งหลังจากรุ่นผมเรียนก็จะเป็นหลักสูตร 5 ปีแล้ว นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มศว จะถูกปลูกฝังเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครูกันทุกคน”

อรรควิช จารึกจารีต อาจารย์หนุ่มประจำคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต อดีตนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เปิดเผยว่าตนรักในวิชาชีพครูและได้แรงบันดาลใจมาจากญาติฝั่งคุณแม่ที่เป็นครู เมื่อได้เข้ามาปฏิบัติงานสอนก็ยิ่งรู้สึกรักในวิชาชีพ

ด้วยความที่เพิ่งเริ่มต้นในวิชาชีพได้เพียง 2 ปี ประสบการณ์ในการสอนนั้นยังถือว่าน้อย แต่ก็สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ เช่นเดียวกับจิตวิญญาณครูที่สามารถเพิ่มเติมตามประสบการณ์

“ผมคิดว่าครูทุกคนต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครูนะ แต่อยู่ที่ว่าแนวทางที่อาจารย์แต่ละท่านใช้สอน เราก็ได้รับการปลูกฝังมาจากอาจารย์ที่ท่านก็มีจิตวิญญาณมีความเป็นครูสูง ผมว่าพอยิ่งทำงานไปเรื่อยๆ มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นเราก็น่าจะมีจิตวิญญาณความเป็นครูเพิ่มขึ้นอีก”

สำหรับอรรควิช อาชีพครูไม่ได้จำกัดเพียงการสอนเท่านั้น แต่ยังเป็นการแนะนำให้คำปรึกษา ช่วยเหลือลูกศิษย์ตามกำลังและความสามารถ

ด้าน ภัทรพล ขาวสอาด อดีตนิสิตสาขาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนพิเศษ และวิทยากรพิเศษแนะแนวการศึกษา เพราะมองเห็นว่าการเป็นครูนั้นไม่จำกัดเพียงในรั้วของสถาบันการศึกษา

'ครู' ในนิยมของเขาเปรียบดั่งเครื่องมือที่ค่อยสร้างชิ้นงานหนึ่งๆ ที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง จากเด็กหนุ่มที่อยากพิสูจน์ตัวเองว่าตนจะเป็นครูที่เด็กนักเรียนยอมรับได้หรือไม่ ทำให้ก้าวเขาเข้ามาเป็นครูอย่างภาคภูมิ และรูปแบบงานที่ได้สัมผัสถึงมุมมองนักเรียนส่วนหนึ่งที่กำลังจะเข้ามาศึกษาทางด้านครุศาสตร์

“แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม หนึ่ง-กลุ่มที่เรียนครูเพราะอยากเป็นครู ซึ่งจะเป็นเด็กต่างจังหวัดเยอะ อยากลงพื้นที่เป็นครูที่จังหวัดของเขา และสอง-มองอาชีพครูว่าเป็นช่องทางที่ทำเงินให้เขาโดยการเป็นติวเตอร์ จนหลายๆ คนก็พุ่งเป้าเลยว่าเป็นครูเพื่อจะเป็นติวเตอร์ ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่ตอนเป็นนิสิตเลยครับ ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมงและจะเพิ่มมากขึ้นตามชั่วโมงบิน”

แต่พอเข้ามาเรียนครูบางคนก็มีความคิดที่เปลี่ยนไป อย่างหนึ่งเพราะการปลูกฝังด้านจรรยาบรรณวิชาชีพครูของสถาบัน

ด้าน วาสนา พุ่มโพธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่าอยากนำความรู้ความสามารถในวิชาชีพครูมาให้พัฒนาการศึกษาของประเทศ เพราะมองว่าครูนั้นเป็นอาชีพที่มีคุณค่าแต่กลับขาดแคลน

“เราจะเป็นครูเราต้องรักในอาชีพนี้ไม่ใช่เพราะว่ามีตำแหน่งรองรับในอนาคต อยากทำงานในสายอาชีพนี้ มันเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำอยากจะนำความรู้และประสบการณ์ที่เรามีที่ได้เรียนรู้ได้สะสมมาตลอดนำมาเผยแพร่ให้แก่นักเรียน เราศรัทธาในอาชีพครูและตั้งใจว่าจะเป็นครูด้วย”

เมื่อเด็กรุ่นใหม่หันมาเห่อเรียนครูกันเยอะ ไม่ว่าด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือความจำเป็นทางวิชาชีพหรืออุดมการณ์ก็แล้วแต่ ซึ่งคงได้เวลามาทบทวน 'จิตวิญญาณครู' จรรยาบรรณแห่งแม่พิมพ์ (รุ่นใหม่) ของชาติกันเสียที


ที่มา
//www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000039260

เงินเดือนอาจจะน้อยไปหน่อยสำหรับการครองชีพยุคปัจจุบันและความคาดหวังของสังคมก็ยิ่งทำให้เกิดความเครียดสูงมากขึ้น


Create Date : 29 มีนาคม 2554
Last Update : 29 มีนาคม 2554 9:08:23 น. 0 comments
Counter : 1500 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.