ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
10 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
กรรมฐาน ๔๐ : กำหนดรู้ลม

กรรมฐาน ๔๐ : กำหนดรู้ลม

สำหรับวันนี้ก็มาศึกษาต่อจากวันก่อน วันก่อนๆได้พูดกันถึงพื้นแห่งการปฏิบัติพระกรรมฐานในเบื้องต้น ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าใจถึงวิธีของการปฏิบัติ วันนี้ก็มาศึกษาต่อเรื่องอารมณ์ของสมาธิ การฟังพระกรรมฐานในตอนกลางคืน ก็ขอได้โปรดให้ถือว่า ให้ฟังติดต่อกันไปตามลำดับ ถ้าหากว่าท่านมีอะไรไม่เข้าใจ ก็ไปเปิดคู่มือพระกรรมฐานอ่านดู จะมีอยู่ในนั้นทั้งหมด เวลากลางคืนต่อแต่นี้ไป ก็จะสอนตามลำดับไปจนกว่าจะจบ เพราะว่าถ้าขืนย้อนกันไปย้อนกันมา คนเก่าอยู่ คนใหม่มา แล้วก็ย้อนต้นกันอยู่เสมอๆ ความรู้ก็คงจะรู้กันไม่จบ สำหรับบางท่านมีหนังสือก็ไม่ได้อ่าน อันนี้ก็น่าตำหนิอยู่มาก ตำรับตำรามีอยู่ไม่ได้อ่านนี่ก็รู้สึกว่าจะหยาบเกินไป เป็นการปฏิบัติไม่หวังดีในการปฏิบัติ สักแต่ว่าทำ อย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์ การศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามหลักตามเกณฑ์ จำจะต้องรู้กันไปให้ตลอด ถ้าไม่รู้แล้วก็เหมือนกับการดำน้ำหาเข็ม มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นการบังเอิญเท่านั้นที่เราจะทำได้ดี ระเบียบปฏิบัติของเรามีครบถ้วน นักศึกษานักปฏิบัติน่าจะมีความฉลาดมานานแล้ว

ต่อนี้ไปก็จะพูดถึงอารมณ์สมาธิ เรื่องเบื้องหลังจะไม่ขอพูดต่อไป ใครมาศึกษาใหม่ก็ไปค้นคว้าเอาตามตำรา คำว่าสมาธินี้มีอยู่ด้วยกันสามระดับคือ

ขณิกสมาธิ แปลว่า สมาธิเล็กน้อย

อุปจารสมาธิ แปลว่า สมาธิปานกลาว เฉียดฌานเข้าไป

อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิอันดับหนัก คือเริ่มตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปถึงฌานสี่ เป็นสมาธิที่มีความมั่นคง

การเจริญพระกรรมฐาน เราควรจับจุดเอาอานาปานสติกรรมฐานเป็นสำคัญ เพราะว่าอานาปานุสสติกรรมฐานนี้ จะเป็นคนประเภทไหนก็ตาม มีความจำเป็นทั้งหมด เพราะว่าอานาปานสติกรรมฐานเป็นกรรมฐานระงับอาการฟุ้งซ่านของจิต เราจะเจริญอะไรก็ตาม ถ้าเราไม่สามารถระงับความฟุ้งซ่านของจิตได้ สมาธิมันก็ไม่เกิด แล้วใครที่ไหนเล่า มีบ้างไหม ที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่าน มีบ้างหรือเปล่า หาไม่ได้ คนที่มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านจริงๆ ก็มีพระอรหันต์เท่านั้น องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ คือพระพุทธเจ้าท่านเป็นสัพพัญญูรู้ความจริง ฉะนั้นในมหาสติปัฏฐานสูตร ท่านจึงขึ้นอานาปานสติก่อน นี่เป็นแบบฉบับของการสอน ที่เราสอนกันก็สอนตามแบบของพระพุทธเจ้า เรื่องแบบของชาวบ้านชาวเมืองที่เขาสร้างขึ้นมาใหม่นี่ไม่เอาด้วย เพราะอะไร เพราะว่าคนสร้างไม่ใช่พระพุทธเจ้า ดีไม่ดีคนสร้างก็ไม่ใช่พระอรหันต์ ในเมื่อคนสร้างแบบไม่ได้อะไรแล้วคนปฏิบัตตามแบบมันจะได้อะไร


ในเมื่อพระพุทธเจ้าเห็นว่าอานาปานสติเป็นของสำคัญ ถึงได้ขึ้นต้นไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร เมื่อทรงอานาปานสติถึงอารมณ์ฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอานาปานสตินี้ทรงอารมณ์ได้ถึงฌานสี่ สำหรับผู้มีอุปนิสัยเป็นสาวกภูมิ ถ้าผู้มีอุปนิสัยเป็นพุทธภูมิก็ทรงได้ถึงฌานห้า จัดว่าเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญมาก แล้วก็เป็นกรรมฐานระงับกายสังขาร ในเมื่อร่างกายของเราป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนา เราใช้อานาปานสติกรรมฐานทรงฌานเข้าไว้ ทุกขเวทนามันจะคลายลงไป ดีไม่ดีก็ไม่รู้สึกในทุกขเวทนานั้นถ้าได้ถึงฌานสี่


อีกประการหนึ่ง ท่านที่คล่องในอานาปานสติกรรมฐาน รู้เวลาตายของตัว ว่าเราจะตายเวลาไหนแน่ ตายด้วยอาการแบบไหน ตายเมื่อไร นี่เรารู้ ก็กลายเป็นคนไม่มีความหวาดหวั่นในความตาย แล้วยิ่งไปกว่านั้นอานาปานสติกรรมฐานยังเป็นกรรมฐานมีความสำคัญใหญ่ เราจะทำกรรมฐานกองอื่นๆในสมถภาวนา หรือว่าวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ต้องใช้อานาปานสติกรรมฐานเอาเป็นพื้นฐานให้จิตสงบเสียก่อน ถ้ามิฉะนั้นการเจริญกรรมฐานในกองอื่นๆในด้านสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา จะไม่มีอะไรเป็นผล องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นคุณของของอานาปานสติกรรมฐานแบบนี้ ฉะนั้นองค์สมเด็จพระมหามุนีจึงให้ขึ้นต้นอานาปานสติกรรมฐานก่อนในมหาสติปัฏฐานสูตร


การเจริญอานาปานสติกรรมฐานตามแบบปฏิบัติที่นิยมกัน ก็ให้ใช้พุทธานุสสติกรรมฐานควบคุมไปด้วย ช่วยให้กำลังใจเกิดขึ้น การทำความดีในพระพุทธศาสนา ถ้าขาดกำลังใจเสียอย่างเดียวไม่มีอะไรเป็นผล เพราะการฝึกนี่เราฝึกใจ เราไม่ได้ฝึกกาย ถ้ามีแต่การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เราก็คิดว่าจิตมันว่างไป นึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระจอมไตรใช้คำ ‘พุทโธ' รู้สึกว่าจิตใจมันมั่นคง อันนี้อาตมาก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นความดีเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง คือ หนึ่งเราได้อานาปานสติกรรมฐาน สองเราได้พุทธานุสสติกรรมฐาน ได้เป็นกรรมฐานสองอย่างร่วมกัน คือไม่สร้างความเหน็ดเหนื่อยเพราะใช้คำเพียงสองคำ หายใจเข้านึกว่า ‘พุท' หายใจออกนึกว่า ‘โธ' อย่างนี้ ไม่ขัดกับอานาปานสติกรรมฐาน


ในเมื่อรู้คุณสมบัติของอานาปานสติกรรมฐานแล้ว สำหรับคุณสมบัติของพุทธานุสสติกรรมฐาน กรรมฐานกองนี้เป็นกำลังใหญ่มาก มีอานิสงส์สูงมาก ถ้าตายเป็นเทวดาก็มีรัศมีกายผ่องใสยิ่งกว่าเทวดาที่บำเพ็ญกุศลอย่างอื่น เทวดาเขาถือว่าใครมีรัศมีกายผ่องใสมาก เทวดาองค์นั้นมีบุญญาธิการมาก แล้วการเจริญพุทธานุสสติกรรมฐานเป็นเหตุดึงใจให้บรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงพระนิพพานได้รวดเร็ว นี่จำไว้ด้วย นี่เป็นอานิสงส์หรือเป็นผล


คราวนี้เรามาว่ากันในตอนต้น การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เรียกว่าอานาปานุสสติกรรมฐาน พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่าให้เรากำหนดรู้ว่า นี่เราหายใจเข้า นี่เราหายใจออก เราหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ก็ให้รู้ด้วย เป็นการทำจิตให้สะดวก ทำจิตให้มีความละเอียดลออ ทำสติสัมปชัญญะให้ทรงตัว ท่านมีอุปมาไว้ว่าคล้ายๆกับนายช่างกลึงชักเชือกกลึง เวลาที่ชักเชือกกลึงยาวหรือสั้น ก็รู้อาการชักเชือกกลึงนั้นยาวหรือสั้น นี่ทำจิตให้รู้อยู่


ถ้าจะถามว่าจิตรู้อยู่นี่ใช้กันกี่เวลา ก็จะต้องขอตอบว่า ให้รู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออกตั้งแต่ตื่นจนกว่าจะหลับนั่นแหละเป็นการดี การเจริญพระกรรมฐานแบนี้ ก็รู้สึกว่าหนักอยู่สำหรับคนใหม่หรือยังไม่ได้ฌาน อานาปานสติกรรมฐานไม่ใช่ของกล้วยๆ มีกำลังมากอยู่ แต่ว่าถ้ามากไปจนแบกไม่ไหว ก็ไม่มีใครเขาได้กัน เมื่อมีคนเขาได้นับไม่ถ้วนก็แสดงว่าไม่หนักเกินไป พอกำลังของท่านพุทธบริษัทที่มีศรัทธาจริงจะพึงทำได้


แล้วเรามาเจริญกันแบบไหน จึงจะมีคุณ นี่เราควบพุทธานุสสติ เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้าพร้อมกับนึกว่าพุท เวลาหายใจออกนึกว่าโธ อย่างนี้ไม่เหนื่อยเพราะไม่ต้องเร่งการหายใจ นี่ก็ต้องปล่อยการหายใจให้เป็นไปตามปกติ อย่าเร่งรัดให้เร็วหรือว่าอย่าผ่อนให้ช้า อย่ากลั้นลมหายใจ ปล่อยไปตามสบาย บางทีสติสัมปชัญญะของเราไม่ดีพอ การหายใจธรรมดาไม่รู้สึก ก็เร่งหายใจให้หนักๆอันนี้ใช้ไม่ได้ ต้องปล่อยลมหายใจไปตามธรรมดา แล้วเอาจิตของเรานี้เข้าไปวัด จับมันเข้าไว้ นี่หายใจเข้า นี่หายใจออก ถ้าอารมณ์ธรรมดามันเผลอ ก็แสดงว่าสติสัปชัญญะของเรามันเฟือนไป จิตใจไม่ทรงอยู่ในสมาธิ นี่เป็นเครื่องสังเกต นี่เป็นคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์


การเจริญสมาธิจิต ในด้านอานาปานสติเป็นศัตรูกับอารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน และรำคาญในเสียงภายนอก ตามธรรมดาของจิตเรานี่มันท่องเที่ยวมาหลายแสนกัป ไม่มีใครบังคับมันหรือว่าเรามีเกณฑ์บังคับอยู่บ้างในชาติก่อนก็อาจเป็นได้ แต่ทว่าในชาตินี้เราเพิ่งมาใช้ เพิ่งบังคับ มันก็ลืมท่าลืมทางเหมือนกัน ในระยะต้นๆเราจะมาตั้งเวลาครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง บังคับจิตให้อยู่ตามใจชอบนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ต้องดูแบบฉบับที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอธิบายไว้ในวิสุทธิมรรค เพราะว่าในวิสุทธิมรรคท่านอธิบายถึงวิธีบังคับจิตไว้ละเอียดดี ว่าให้สังเกตการพิจารณาจิต ถ้าเรากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมด้วยคำภาวนา หรือไม่ภาวนาก็ตาม ถ้าใช้ระยะเวลาที่ไม่จำกัด จิตมันฟุ้งซ่านไม่ทรงตัว ไม่สามารถจะควบคุมอารมณ์จิตให้มันทรงตัวอยู่ได้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้ปฏิบัติแบบนี้ คือให้นับลมหายใจเข้าออก นับไปด้วย หายใจเข้าหายใจออกนับเป็นหนึ่ง นี่เป็นจังหวะที่หนึ่ง แล้วก็หายใจเข้าหายใจออกหนึ่ง หายใจเข้าหายใจออกสอง นับไปถึงสอง แล้วก็มาขึ้นต้นใหม่นับไปถึงสาม ขึ้นต้นใหม่นับไปถึงสี่ ขึ้นต้นใหม่นับไปถึงห้า แล้วขึ้นต้นใหม่นับไปถึงหก เจ็ด แปด แล้วก็ถึงสิบ พอถึงสิบแล้วก็ย้อนมาขึ้นต้นใหม่นับหนึ่ง แล้วขึ้นต้นใหม่นับหนึ่งถึงสองไปตามลำดับ ท่านให้ทำอย่างนี้ จะได้เป็นการควบคุมกำลังจิตคือนับไปด้วยจะได้ห่วงนับ อารมณ์แห่งการรู้ของจิตมันจะหยาบไปหน่อยก็ช่างมัน เราเอาผลกัน เราไม่ใช่ปฏิบัติเอาปริมาณของเวลา เราต้องการอารมณ์จิตเป็นสมาธิจริงๆ


คราวนี้เราก็มาตั้งต้นกันว่า ขั้นแรกเราตั้งใจนับ 1 ถึง 5 ในเกณฑ์ 1 ถึง 5 นี้เราจะไม่ยอมให้อารมณ์จิตของเราฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์อื่นเป็นอันขาด ต้องมีความเข้มแข็งการสร้างความดีเพื่อสวรรค์ เพื่อพรหมโลก หรือเพื่อนิพพาน ถ้าอ่อนแกสักแต่ว่าทำละก็ตระวังจะหลงตัวว่าเป็นผู้ได้ดีแล้วลงนรกไป พวกนี้ไปกันมาก คนเจริญกรรมฐานนี่ไม่ใช่ไปสวรรค์เสมอไป ถ้าหลงตัวเมื่อไรลงนรกเมื่อนั้น คนที่จะมีดีหรือไม่มีดีนี่เราสังเกตกันง่าย ค้นที่มีความดี มีสมาธิเข้าถึงใจ เขาไม่พูดฟุ้งส่งเดช มีจริยาเรียบร้อย ถ้าจะพูดก็มีเหตุมีผล ไม่สักแต่ว่าพูด นี่เป็นเครื่องสังเกตภายนอก สังเกตง่าย คนที่ทรงสมาธิ ถ้ายิ่งทรงสมาธิเป็นฌาน ทรงฌานอยู่ด้วยแล้ว พวกนี้ขี้เกียจพูดมากที่สุด เห็นหน้คนแล้วก็เบื่อในการพูด ไม่อยากจะพูด เพราะถ้าไปพูดเข้าละมันเสียเวลาทรงสมาธิของเขา ดีไม่ดีไปชวนเขาพูดเหลวไหลเป็นการทำฌานเขาเสื่อม พวกนี้รังเกียจในการพูด ถ้าไม่มีความจำเป็นแล้วเขาจะไม่พูด นี่เป็นเครื่องสังเกต


ถ้าเราจะกำหนดให้รู้ง่าย ตั้งนับ 1 ถึง 5 ขึ้นต้น 1 แล้วขึ้นต้น 1 2 ขึ้นต้น 1 2 3 ขึ้นต้น 1 2 3 4 ขึ้นต้น 1 2 3 4 5 เอาแค่ 5 นี่เท่านั้น นี่ตามแบบฉบับของพระพุทธเจ้าในช่วง 1 ถึง 5 นี่เราจะไม่ยอมให้อารมณ์อื่นมายุ่งกับอารมณ์จิตของเราเป็นอันขาด ในเมื่อทรงได้ดีแล้ว เวลานับทรงตัวอยู่ได้ดีแล้ว อารมณ์อื่นไม่ยุ่งถึง 5 แล้ว เลิกเลย นี่หมายถึงว่าจิตของเรายังไม่ทรงอารมณ์พอ ยังไม่แน่นิ่งพอ เลิกเสียเป็นการผ่อนคลาย ในเมื่อเรามีความสบายใจ แล้วก็มาว่ากันใหม่ นับ 1 ถึง 5 อีกสักครั้ง ตอนเลิกนี่เลิกให้มันสบาย คุยกันบ้าง อ่านหนังสือบ้าง นอนเล่นบ้าง ฟังวิทยุบ้าง ปล่อยมันตามสบาย เราบังคับมันชั่วขณะหนึ่งแล้วปล่อยมันวิ่งเล่นไปตามสบาย แล้วต่อมาก็มานับตั้งต้น 1 ถึง 5 ใหม่ จนตั้งต้น 1 ถึง 10 ในจังหวะรอบแรก รู้สึกว่าทรงตัวได้ดี แต่พอจิตเริ่มจะส่ายก็เลิกเสียต่อไปสักสองสามวันมีอารมณ์ชิน มาตั้งต้น 1 ถึง 10 สัก 2 วาระ คุมให้มันอยู่ตามจังหวะนี้ นี่ตามแบบฉบับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ปฏิบัติตามนี้ นี่เขาลองทำกันมาแล้ว คนที่ผ่านมาแล้ว แล้วได้อยู่นี่ บุคคลผู้ใดจะไม่ปฏิบัติตามกระแสพระดำรัสขององค์สมเด็จพระบรมครูนี่ไม่มี เขาไม่ฝืนกัน ถ้าพวกฝืนที่บอกว่าได้ นั่นก็คือหลง ไม่ใช่ของจริง เป็นความหลงผิด ความจริงไม่ได้จริงคิดว่าได้ นี่เป็นวิธีหนึ่งที่เราจะรวบรวมกำลังใจในด้านอานาปานสติกรรมฐาน


อีกแบบฉบับหนึ่ง นั่นก็คือว่า เวลาที่จิตมันซ่านจริงๆ 1 ถึง 5 หรือ 1 ถึง 3 มันก็ทนไม่ไหว อย่างนี้มันมีอยู่เหมือนกัน บางทีวันนี้มีความสบายใจ พรุ่งนี้จะเอาให้ได้ดีมันกลับไม่เอาเรื่องเอาราวฟุ้งซ่านบอกไม่ถูก บังคับมันไม่อยู่อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมครูทรงแนะนำให้บรรดาท่านพุทธบริษัทพากันปล่อยจิตไปตามอารมณ์ มันอยากคิดนี่ ควบคุมไม่อยู่แล้ว ปล่อยให้มันคิดไป แล้วเราเอากำลังใจเข้าควบคุมไว้ มันจะคิดไปไหนให้มันคิดไป แล้วถ้ามันเลิกคิดเมื่อไร เราจะใช้งานให้เป็นสมาธิทันที ท่านอุปมาเหมือนกับคนที่ฝึกม้า ม้าตัวพยศ ทำยังไงขณะที่มันมีแรง เอาเข้าทางไม่ได้ จะฝึกให้เป็นไปตามอัธยาศัยที่เราต้องการไม่ได้ ในเมื่อไม่ได้จริงๆก็กอดคอมันไว้ ปล่อยให้มันวิ่งไปตามอัธยาศัย มันอยากพยศ วิ่งไปวิ่งไป ถ้ามันหมดแรง เราก็จูงเข้าทาง มันหายพยศเพราะไม่มีแรงจะพยศ นี่กำลังจิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันซ่านจริงๆบังคับไม่อยู่ก็อย่าไปยุ่งกับมัน ดีไม่ดีจะเป็นโรคประสาทตาย ท่านบอกให้ปล่อยไป ปล่อยมันแล้วก็ควบคุมเข้าไว้ มันเลิกคิดก็ไม่เกิด 20 นาทีเป็นอย่างมาก นี่เคยลองมาแล้ว พอเลิกคิดปั๊บจับอารมณ์เป็นสมาธิ กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก คราวนี้เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น อารมณ์มันจะดึงเข้าเป็นฌานทันที มันจะนิ่งสบาย ดีไม่ดีครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงไม่อยากเลิก อารมณ์มันสบาย มันเป็นฌาน


นี่เป็นการฝึกสมาธิเบื้องต้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทจำไว้ ถ้าจะพูดมากไปมันก็ไม่มีอะไรมาก ก็มีเท่านี้แหละ วิธีฝึก เรื่องอารมณ์สมาธิในแต่ละขั้นในวันต่อไปค่อยพูดกัน


ต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


ที่มา
//www.luangporruesi.com/4.html


Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 21:35:32 น. 0 comments
Counter : 736 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.