ดาวน์โหลดโปรแกรม ดูละครย้อนหลัง อ่านเรื่องราวของความรู้รอบตัว วิทยาศาสตร์ ท่องเที่ยว สุขภาพ อาหาร รถยนต์ต่างๆ ไม่ทิ้งเรื่องราวความบันเทิงและเรื่องส่วนตัวอีกด้วย
Group Blog
 
<<
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
2 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
จำเป็นแค่ไหน? โจ๋มหา'ลัยกับ "รถส่วนตัว"

จำเป็นด้วยหรือ...ที่เด็กๆ ต้องมีรถขับ..ค่านิยมผิดๆ อาจส่งลูกไปตายก่อนกำหนด



หลังเกิดเหตุการณ์สยองขวัญส่งท้ายปีเสือ รถเก๋งฮอนด้าซีวิค ขับชนท้ายรถตู้โดยสารบนทางด่วนโทลล์เวย์ หน้า ม.เกษตรศาสตร์ ขาเข้าเมือง ทำให้ผู้โดยสารบนรถตู้กระเด็นตกลงมามีผู้เสียชีวิต 8 รายและเพิ่มเป็น 9 รายในเวลาต่อมา และบาดเจ็บ 7 ราย โดยเหตุเกิดเมื่อเวลาประมาณ 21.45 น.ของวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความสะเทือนใจให้กับญาติผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในครั้งนี้ รวมไปถึงผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ยังสร้างประเด็นสำคัญให้กับสังคม โดยพุ่งเป้าไปยังผู้ขับรถซีวิค ซึ่งเป็นสาววัยรุ่นอายุแค่ 16 ปีเท่านั้น ขับรถมาด้วยความเร็วสูง ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บสาหัส จึงมีคำถามมากมายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะ

“ทำไมคนอายุไม่ถึง 20 ปี มาขับรถมาบนถนนสายหลักได้อย่างไร”,

“ทำบัตรขับขี่แล้วหรือยัง”,

“เด็กจะรับผิดชอบต่อการสูญเสียครั้งนี้หรือไม่",

"พ่อแม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลไหวหรือเปล่า”

กลายเป็นประเด็นสำคัญให้กับสังคม โดยเฉพาะหมู่วัยรุ่นวัยเรียนที่เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะในการเดินทาง

“อิ่ม”เจษฏา ทิมอิ่ม นิสิตชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งในกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนที่เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะในการเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัย เจ้าตัวสารภาพว่า ขับรถเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี แต่ทุกครั้งที่ขับรถจะมีคุณแม่ตามมาคอยดูแลทุกครั้ง หากครั้งไหนที่จำเป็นต้องขับรถคนเดียว จะพยายามขับอย่างระมัดระวัง

“ผมเริ่มขับรถตั้งแต่อยู่ม.ปลาย เพราะที่บ้านไว้ใจให้ขับพาไปทำธุระอยู่บ่อยๆ ถามว่ากลัวไหม ก็ต้องกลัวเป็นเรื่องธรรมดาเพราะยังไม่มีใบขับขี่ แต่เรามั่นใจว่าเราขับได้และไม่เคยประมาท พอถึงกำหนดเวลาทำใบขับขี่ได้ก็รีบไปทำทันที จากนั้นก็ขับรถไปเรียนตลอด และทุกครั้งจะบอกกับตัวเองว่า อย่าขับรถประมาท”

อิ่มบอกต่ออีกว่า บ้านอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย จึงเลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวไปเรียน หากที่บ้านมีเรื่องฉุกเฉินจะได้รีบกลับบ้านได้ทันที “เวลากลางวันผมจะขับรถไม่เกิน 100/ ชม. หรือบางช่วงที่เร่งด่วนก็มีบ้างที่ต้องขับเกิน 100/ชม.แต่จะคอยระมัดระวังอยู่เสมอ ดูกระจกข้าง กระจกหลัง และให้สัญญาณไฟก่อนเลี้ยวทุกครั้ง พยายามขับชิดซ้าย และที่สำคัญต้องมีสติ ตอนนี้น้องสาวผมเพิ่งจะหัดขับรถมาได้ 1 ปี เราในฐานะที่เป็นพี่ชายก็จะคอยเตือนน้องตลอด เพราะผู้หญิงกับผู้ชาย เวลาขับรถอารมณ์จะต่างกัน จึงต้องคอยดูแลทั้งรถและคนขับ”

สำหรับ “กัสเบล” ชวนภ โพธิ์ประเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในนักศึกษาที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว บอกถึงเหตุจำเป็นที่ต้องใช้รถเป็นประจำ เพราะเดินทางไปเรียนและทำงานไปพร้อมๆ กัน

“ผมเลือกที่จะเรียนและทำงานไปพร้อมๆ กัน จึงมีบางช่วงเวลาที่เราเร่งรีบที่จะต้องไปทำงานหลายที่ บางครั้งเหนื่อยก็อยากรีบกลับบ้าน แต่คำว่า “รีบ” จะไม่นำไปใช้ในเวลาขับรถเด็ดขาด เพราะผมคิดว่า เวลาที่เราอยู่บนท้องถนน เราต้องระวังชีวิตเป็นอย่างมาก ต้องมีสติและสมาธิ มือจับพวงมาลัย เท้าเหยียบเบรคและคันเร่ง และไม่ลืมที่จะคาดเข็มขัดนิรภัย"

นอกจากนี้ กัสเบล ยังบอกต่ออีกว่า เด็กนักศึกษาทุกคนไม่จำเป็นต้องมีรถขับเสมอไป ต้องดูฐานะทางครอบครัว มากกว่าความต้องการของตนเองที่อยากมีรถขับเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ “เหตุผลของการมีรถขับของเพื่อนๆ นักศึกษาหลายคนมักจะแตกต่างกันไป บางคนก็ต้องยอมรับว่า ฐานะทางบ้านดี มีรถยนต์ใช้ หรือมีความจำเป็นที่ต้องใช้รถ บ้านไกล หรือไม่ก็ทำงานหลังเลิกเรียน แต่บางคนที่ครอบครัวมีฐานะไม่ดี แต่กลับเรียกร้องอยากมีรถขับเหมือนคนอื่น ผมว่า มันเป็นความต้องการที่ไม่ถูกต้องเลย”ส่วนอีก 1 สาวห้าวจากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต “เมย์”สุภารัตน์ ขาวศรี นักศึกษาชั้นปี 3 หลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ เลือกขับรถยนต์และรถมอเตอร์ไซต์ส่วนตัวไปเรียน เหตุเพราะบ้านอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัย และเลี่ยงการขึ้นรถประจำทางที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย

“ตอนอยู่ปี 1ก็ขับรถไปเรียน เพราะบ้านอยู่แถวรามอินทรา แต่หลังจากเจอปัญหารถติดบนท้องถนนก็ทนไม่ได้ อึดอัดอารมณ์เสีย และอีกอย่างเราไม่ชอบที่จะขึ้นรถประจำทาง เพราะไม่ชอบเสียเวลามานั่งคิดว่าจะต้องขึ้นรถสายอะไร ต้องต่อรถสายไหน จากนั้นจึงตัดสินใจเลือกขี่มอเตอร์ไซต์ไปเรียน ช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เห็นด้วย แต่เรายืนยันว่าเราจะระมัดระวัง ไม่ประมาท ท่านก็ไว้ใจแต่ก็ยังคอยเป็นห่วงอยู่ตลอด”

สำหรับเรื่องการขับขี่รถส่วนตัวบนท้องถนนสายหลักที่เต็มไปด้วยอันตราย และอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เมย์จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบสภาพรถ น้ำมัน ยางรถ ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง “เมย์ต้องประคองสติตัวเองทุกครั้งที่ขับรถ จะประมาทไม่ได้ ไม่ว่าจะขับรถใหญ่หรือรถเล็ก พยายามที่จะไม่ฟังเพลงหรือเหม่อลอย เพราะเราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะมีสุนัข หรือรถวิ่งตัดหน้าเราหรือเปล่า อย่างเวลาที่ขับมอเตอร์ไซต์ ยิ่งต้องหูตาเป็นสัปปะรด เพราะเราเป็นรถเล็ก หนังหุ้มเหล็ก ต้องตั้งสติทุกครั้ง”

ทิ้งท้ายด้วยกูรูทางด้านการขับขี่รถยนต์ส่วนตัวมาเป็นเวลา 10 ปี อย่าง “ตั๋ม” กอบเกียรติ์ ไกรพิบูลย์ นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้คำแนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรเอาใจใส่เรื่องของบัตรขับขี่รถยนต์ให้กับเด็กวัยรุ่นที่ใช้รถ และในส่วนของวัยรุ่นที่เลือกใช้รถยนต์ส่วนตัว ต้องประคองสติทุกครั้ง พยายามอย่าขับรถเร็วหรือแข่งกับใคร

“ในความเป็นจริงแล้วการขับรถไม่ใช่ว่าขับไม่เกินความเร็วที่กฎหมายกำหนดจะปลอดภัย

เพราะประเทศไทยเราเป็นเรื่องแปลกมากที่การสอบใบขับขี่ คุณสามารถที่จะสอบผ่านจนได้ใบขับขี่ทั้งๆ ที่บางคนไม่เคยขับออกถนนจริงเลยเเม้แต่ครั้งเดียวในขณะที่หลายๆ ประเทศคุณต้องขับรถให้เจ้าหน้าที่นั่งไปกับคุณ เพื่อดูว่าคุณมีความสามารถมี่จะควบคุมรถได้หรือไม่ เข้าใจกฎจราจรหรือไม่ และต้องขับรถโดยมีเจ้าหน้าที่นั่งไปด้วยเป็นจำนวนกี่ชั่วโมง แต่ไม่เหมือนกับประเทศเราที่ได้ขับขี่ก็ออกถนนได้ทันทีดังนั้นก็ควรจะแก้ไขเรืื่องการออกใบขับขี่เสียก่อน

ส่วนเรื่องน้องๆ นักศึกษาที่ขับรถไปเรียน อันนี้ไม่ใช่เรื่องผิดแต่ปัญหาก็คือวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งมันไม่เพียงพอเหมือนผู้ใหญ่ น้องๆ ต้องระวังในการขับรถอย่าใจร้อน ไม่ต้องไปแข่งกับใคร"

นอกจากนี้ พี่ใหญ่อย่าง “ตั๋ม” ก็ไม่ลืมที่จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขับรถบนท้องถนน หากเกิดอุบัติเหตุเมื่อใดต้องตั้งสติ อย่าตกใจ ประคองรถให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ “ถ้าเจอรถคันหน้าเบรคกระทันหันก็อย่าตกใจ เพราะรถใหม่ๆ ก็มีระบบ ABS ให้มาแทบทุกคันอยู่แล้ว ควรขับรถเลนซ้ายสุด ยกเว้นเวลาแซงรถที่ช้ากว่า เเละเมื่อแซงแล้วก็เข้าซ้ายตามเดิม และที่สำคัญอย่าขับด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เพราะความเร็วที่กฎหมายกำหนดนั้น ไม่ใช่อัตราความเร็วที่ใช้ในการตัดสินใจเบรค หรือแก้ไขสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ

ควรขับอยู่ที่ระยะ80-90 /ชม. อย่าขับรถจี้ท้ายคันหน้าควรมีระยะห่างจากคันหน้าราวๆ 5 เมตร เพื่อจะได้มีพื้นที่ในการเบรคอย่างเพียงพอเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สำหรับเวลาขับรถบนทางยกระดับ จะต้องระวังเรื่องแรงลมปะทะ หากขับเร็วมากๆ รถจะเกิดอาการส่าย จึงไม่ควรขับเร็วกว่ากฎหมายกำหนด มิเช่นนั้น รถอาจจะร่อนเนื่องจากเเรงยกของอากาศ ขับระมัดระวัง จะถึงที่หมายอย่างปลอดภัย”

ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่และเงิน...

ที่มา
//www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000183017


Create Date : 02 มกราคม 2554
Last Update : 2 มกราคม 2554 9:38:18 น. 1 comments
Counter : 1005 Pageviews.

 


โดย: haihui (หน้าใหม่อยากกรอบ ) วันที่: 8 สิงหาคม 2554 เวลา:7:45:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

scimovie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 108 คน [?]




แหล่งรวบรวมความรู้ โปรแกรม เพลง หนัง เกมส์ วิทยาศาสตร์ ดูละคร เรื่องย่อ ภาพยนตร์ การเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย สุดท้ายขอกำลังใจให้มีแรงอัพเดทตลอดๆ ครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกันครับ
Friends' blogs
[Add scimovie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.