แบบอย่างการสร้างชาติเยอรมนี : หัวใจสำคัญอยู่ที่ การปฏิรูปการศึกษา
https://www.facebook.com/saneyaha?ref=hl

บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากครั้งที่แล้วที่ได้เขียนเกี่ยวกับ แบบอย่างการสร้างชาติเยอรมนี โดยมีความตั้งใจที่จะตอบคำถามว่า เพราะอะไรประเทศเยอรมนีจึงประสบความสำเร็จในการสร้างชาติบนพื้นฐานประชาธิปไตย

ก่อนอื่นก็คงต้องทำความเข้าใจก่อนในที่นี้ว่า อันที่จริงแล้ว ไม่มีระบบการเมืองใดในโลกนี้ที่ตอบได้ทุกคำถาม หรือสนองต่อความต้องการได้ทุกประการ ดังนั้น ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย จึงนับได้ว่า เป็นระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกกลุ่มคนได้มากที่สุด โดยทั้งนี้ การเคารพต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นหลักอันสำคัญที่พลเมืองของประเทศจำเป็นต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบและระเบียบนั้นๆ

เยอรมนี เป็นประเทศหนึ่งที่มีการวางรากฐานความเป็นประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยการพัฒนาสู่การเป็นรัฐสมัยใหม่ในปี 1871 เป็นต้นมา ถึงขนาดมีการพัฒนาระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ออกแบบการคัดเลือกผู้สำเร็จราชการในระดับต่างๆ ในประเทศ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นแบบอย่างที่ส่งอิทธิพลไปยังระบบรัฐสภาของประเทศต่างๆ ในยุโรป และแม้กระทั่งระบบสภาในสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าประเทศเยอรมนีจะกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงครามถึงสองครั้ง รวมถึงผจญกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเมืองภายในประเทศจากการนำของอดอลฟ์ ฮิตเลอร์ รวมถึงต้องเผชิญกับการถูกแบ่งประเทศออกเป็นสองฝั่งแบบที่เรียกว่าถูกกระชากกออกจากกันด้วยระบบการปกครองที่แตกต่างกันอย่างเหลือเกินในช่วงภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศเยอรมนีนี้ก็ยังสามารถกลับมาเป็นผู้นำในความสำเร็จหลายๆ ด้านได้อย่างน่าเหลือเชื่อ อย่างนี้หากไม่เรียกว่าความอัศจรรย์ก็คงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ความอัศจรรย์นี้ คงไม่ได้อาศัยฤทธิ์เดชใดๆ นอกจากความเพียร มุมานะ และความร่วมใจของคนในชาติ รวมถึงการนำประเทศอย่างมีทิศทางของผู้นำของเขา รวมถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การปฏิรูปการศึกษา”

ผู้นำของประเทศเยอรมนีตระหนักว่า หากจะพัฒนาประเทศไปอย่างมีทิศทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนพื้นฐานของประชาธิปไตย อันจะยังประโยชน์อย่างมหาศาลมาสู่ประเทศบนรากฐานสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ทั้งประเทศเยอรมนีต้องพร้อมใจกันปฏิรูปการศึกษา โดยพวกเขาริเริ่มทำกันอย่างไร ขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

1. หลักพื้นฐานสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของประเทศเยอรมนี คือ การพัฒนาระบบการศึกษาให้เป็นระบบที่มีคุณภาพสูงสุด โดยพลเมืองภายในประเทศทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน หากนำมาเกี่ยวข้องกับหลักประชาธิไตยแล้ว ก็ถือได้เป็นหลักยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากหากพลเมืองภายในประเทศมีความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนภายในประเทศก็จะมีอำนาจในการตัดสินใจที่มีคุณภาพ จะไม่ถูกซื้อขายสิทธิกันให้วุ่นวาย รวมถึงเมื่อรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลข่าวสารใดๆ ก็อันเป็นที่แน่ใจว่าจะไม่มีกลุ่มคนใดที่ตกสำรวจ

2. ประเทศเยอรมนี ได้พัฒนาระบบการศึกษา หรือหลักสูตรการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ประชาธิปไตย ให้แก่สถาบันการศึกษาทั่วทั้งประเทศอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยทั้งนี้ ความร่วมมือร่วมใจนี้เกิดขึ้นในทุกระดับ เรียกได้ว่า เป็นแบบอย่างของความสามัคคีในระดับชาติเลยก็ว่าได้ น่านับถือจริง ๆ ในจุดนี้ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องจะร่วมใจประสานนโยบายต่าง ๆ จากภาครัฐได้อย่างประสบความสำเร็จเช่นนี้

3. เป้าหมายที่ประเทศเยอรมนีในครั้งที่มุ่งปฏิรูประบบการศึกษาบนรากฐานประชาธิปไตยนี้ ได้กำหนดแผนการณ์เพื่อพัฒนาระบบและเครือข่ายที่สำคัญไว้อย่างครบถ้วน จนทำให้เห็นถึงความรอบคอบและความร่วมมือกันของทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพัฒนาความรู้ที่ใช้สอนภายในสถาบันการศึกษา การวางแผนสร้างโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนและต่อยอดแบบแผนการปฏิรูปการศึกษา การคำนึงถึงการออกแบบระบบบริหารการจัดการที่เอื้อประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษา การออกแบบหลักสูตรวิชาการต่าง ๆ รวมถึงวิธีการสอนและถ่ายทอดวิชาการอย่างมีคุณภาพและนำไปใช้ปฏิบัติได้ รูปแบบหรือสไตล์การสอน ทัศนคติที่มีต่อการสอนหรือการศึกษาของครูบาอาจารย์ ผู้ปกครอง และนักเรียน

4. ผู้นำของประเทศผลักดันการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยของท่านคอนราด อเดเนา (Konrad Adenauer) ที่ได้พยายามสร้างระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้การศึกษาภายในประเทศสร้างคนที่มีคุณภาพ อาทิ การคัดเลือกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษโดยเฉพาะมาเพื่อทำการอบรมเพิ่มเติมโดยเฉพาะในด้านการเมือง รวมถึงการให้ทุนเพื่อไปศึกษาต่อยังประเทศต่างๆ ในยุโรป นอกจากนี้ ท่านยังได้สนับสนุนการสร้างฉันทามติในเรื่องประชาธิปไตยให้กับคนในชาติ การออกแบบนโยบายการพัฒนาประเทศที่เป็นลักษณะเฉพาะของเยอรมนีโดยทำการผสมผสานระหว่างการค้าแบบเสรีและการตลาดแบบสังคมนิยม (Free market and Social-market policies) และการพยายามผลักดันให้ประเทศเยอรมนีเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในสหภาพยุโรป รวมถึงการสร้างประเทศให้เป็นปึกแผ่นภายใต้การเคารพกฎหมายสูงสุด หรือ Rule of Law ของประเทศอย่างเข้มแข็งอีกด้วย

5. การปฏิรูปการศึกษาของประเทศเยอรมนีนั้น มีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงการเมืองแบบประชาธิปไตยให้เป็นวัฒนธรรมหนึ่งในการดำเนินชีวิตของพลเมืองภายในประเทศ

6. การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพ ครู ภายในประเทศ และจากการที่ได้อยู่อาศัยในประเทศเยอรมนี ข้าพเจ้าพบว่าอาชีพครู เป็นอาชีพที่คนเยอรมันอยากจะเป็นและให้เกียรติ ทั้งนี้เนื่องจากค่าตอบแทนที่ดี รวมถึงวันหยุดยาวที่ได้รับพร้อมเด็กๆ นักเรียน

อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจอย่างรอบด้าน นอกเหนือจากความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปตามแนวทางของตนเองอย่างมุ่งมั่นตามหลักการประชาธิปไตยของประเทศเยอรมนีดังกล่าวข้างต้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นแรงขับเคลื่อนประการสำคัญที่ทำให้ประเทศเยอรมนีกลายเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้แล้ว การปฏิรูปและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศเยอรมนี คงจะประสบความสำเร็จมิได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ท้ายที่สุดนี้ ก็ขอปิดท้ายบทความด้วยคำกล่าวอันน่าฟังของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ที่ชื่อว่า Giovanni Satori เขากล่าวไว้อย่างน่าฟังในบทความเรื่อง “Governed democracy and governing democracy” ว่า
การศึกษา เป็นกระบวนการที่เปลี่ยนพลเมืองจากในฐานะที่ถูกปกครองเท่านั้น ให้กลายเป็นผู้ที่สามารถปกครองตนเองได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า การศึกษาเป็นกระบวนการจำเป็นที่ใช้เวลายาวนานที่ไม่มีการอัศจรรย์ใดๆ มาช่วยให้คุณภาพเกิดขึ้น หากไม่ลงมือทำตั้งแต่ในวันนี้

หวังว่า บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ให้เราได้ฉุกคิดร่วมกันในการพัฒนาและปฏิรูประบบต่างๆ โดยเฉพาะระบบการศึกษาให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพื่อลูกหลานของเราในวันข้างหน้า



Create Date : 05 พฤษภาคม 2557
Last Update : 5 พฤษภาคม 2557 16:18:55 น.
Counter : 677 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

onceuponatime
Location :
  Germany

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]



ชีวิตของผู้หญิงไทยในต่างแดนคนหนึ่ง ที่เป็นทั้งคุณแม่ลูกสามที่มีดีกรีด๊อกเตอร์จากประเทศเยอรมนี เปิดบันทึกเพื่อเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ผจญภัยที่แสนจะตื่นเต้นของเธอในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น การสอบเข้าและเรียนปริญญาเอกที่สุดหิน ความรักข้ามขอบฟ้าที่แสนโรแมนติก การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น แถมพ่วงด้วยลูกเล็กอีกสามที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรีอย่างเหลือเชื่อ พร้อมทั้งแบ่งปันเคล็ดลับและแรงดลบันดาลใจที่นำไปสู่ความสำเร็จแบบ
"นกอินทรีต้องบินสูง" ของเธอ
พฤษภาคม 2557

 
 
 
 
1
2
3
4
8
10
11
12
16
17
18
19
20
23
24
25
26
29
31
 
All Blog