อ่านประวัติพระโมคคัลลานะ (อัครสาวกฝ่ายซ้ายผู้เลิศด้วยฤทธิ์) กันบ้างน่ะครับ เดี๋ยวผมรวบรวมมาให้อ่าน
<<
มีนาคม 2552
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
14 มีนาคม 2552

ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้รับพุทธบัญชา ให้ไปแก้ทิฏฐิของ อัคคิทัตพราหมณ์ และเหล่าสาวก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ หน้าที่ 340


เรื่องปุโรหิตชื่ออัคคิทัต


พระศาสดา (เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน) ประทับนั่งบนกองทราย ทรงปรารภปุโรหิตของพระเจ้าโกศล ชื่ออัคคิทัต ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " พหุง เว สรณัง ยันฺติ " เป็นต้น.


อัคคิทัตได้เป็นปุโรหิตถึง ๒ รัชกาล


ดังได้สดับมา อัคคิทัตนั้น ได้เป็นปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศล ครั้นเมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้ว พระราชาทรงพระนามว่า ปเสนทิโกศลทรงดำริว่า " ผู้นี้เป็นปุโรหิตแห่งพระชนกของเรา " จึงตั้งเขาไว้ในตำแหน่งนั้นนั่นแล ด้วยความเคารพ ในเวลาเขามาสู่ที่บำรุงของพระองค์ทรงทำการเสด็จลุกรับ. รับสั่งให้พระราชทานอาสนะเสมอกัน ด้วยพระดำรัสว่า " อาจารย์ เชิญนั่งบนอาสนะนี้. "


อัคคิทัตออกบวชนอกพระพุทธศาสนา


อัคคิทัตนั้น คิดว่า " พระราชานี้ทรงทำความเคารพในเราอย่างเหลือเกิน, แต่เราก็ไม่อาจเอาใจของพระราชาทั้งหลายได้ตลอดกาลเป็นนิตย์เทียว; อนึ่ง พระราชาก็เยาว์วัย ยังหนุ่มน้อย, ชื่อว่าความเป็นพระราชากับด้วยคนผู้มีวัยเสมอกันนั่นแล เป็นเหตุให้เกิดสุข; ส่วนเราเป็นคนแก่, เราควรบวช " เขากราบทูลให้พระราชาพระราชทานพระบรมราชานุญาตการบรรพชาแล้ว ให้คนตีกลองเที่ยวไปในพระนครแล้ว สละทรัพย์ของตนทั้งหมดในเพราะการให้ทานเป็นใหญ่ตลอด ๗ วันแล้ว บวชเป็น นักบวชภายนอก. บุรุษหมื่นหนึ่งอาศัยอัคคิทัตนั้น บวชตามแล้ว. อัคคิทัตนั้นพร้อมด้วยนักบวชเหล่านั้น สำเร็จการอยู่ในระหว่างแคว้นอังคะ แคว้นมคธะและแคว้นกุรุ (ต่อกัน) ให้โอวาทนี้ว่า " พ่อทั้งหลาย บรรดาเธอทั้งหลาย ผู้ใดมีกามวิตกเป็นต้น เกิดขึ้น, ผู้นั้นจงขนหม้อทรายหม้อหนึ่ง ๆ จากแม่น้ำ (มา) เกลี่ยลง ณ ที่นี้. " พวกนักบวชเหล่านั้นรับว่า " ดีละ " ในเวลากามวิตกเป็นต้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำอย่างนั้น. โดยสมัยอื่นอีก ได้มีกองทรายใหญ่แล้ว. นาคราชชื่อ อหิฉัตตะ หวงแหนกองทรายใหญ่นั้น. ชาวอังคะ มคธะ และชาวแคว้นกุรุ นำเครื่องสักการะเป็นอันมากไป ถวายทานแก่พวกนักบวชเหล่านั้นทุกๆเดือน.


อัคคิทัตสอนประชาชนให้ถึงสรณะ


ครั้งนั้น อัคคิทัตได้ให้โอวาทแก่ชนเหล่านั้น ดังนี้ว่า " พวกท่านจงถึงภูเขาเป็นสรณะ, จงถึงป่าเป็นสรณะ, จงถึงอารามเป็นสรณะ, จงถึงต้นไม้เป็นสรณะ; พวกท่านจักพ้นจากทุกข์ทั้งสิ้นได้ด้วยอาการอย่างนี้ " กล่าวสอนแม้ซึ่งอันเตวาสิกของตน ด้วยโอวาทนี้เหมือนกัน.


พระมหาโมคคัลลานะไปทรมานอัคคิทัต


ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิแล้ว ในสมัยนั้น ทรงอาศัยกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตะวัน ในเวลาจวนรุ่งทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นอัคคิทัตพราหมณ์พร้อมด้วยอันเตวาสิก ผู้เข้าไปภายในข่ายคือพระญาณของพระองค์แล้ว ทรงทราบว่า " ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัต "ในตอนเย็น ตรัสกะพระมหาโมคคัลลานเถระว่า " โมคคัลลานะ เธอเห็นอัคคิทัตพราหมณ์ผู้ยังมหาชนให้เเล่นไปโดยทางไม่ใช่ท่าไหม ? เธอจงไป, ให้โอวาทแก่มหาชนเหล่านั้น. " พระเถระ. “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชนเหล่านั้นเป็นอันมาก ข้าพระองค์ผู้เดียวพึงข่มขี่ไม่ได้ ถ้าแม้พระองค์จักเสด็จมาไซร้. ชนเหล่านั้นจักเป็นอันพึงข่มขี่ได้” พระศาสดา. “โมคคัลลานะ แม้เราก็จักมา. เธอจงล่วงหน้าไปก่อน” พระเถระ กำลังเดินไปเทียว พลางคิดว่า " ชนเหล่านั้น ทั้งมีกำลัง ทั้งมีมาก, ถ้าเราจักพูดอะไร ๆ ในที่ประชุมของชนทั้งปวงไซร้; ชนแม้ทั้งหมดพึงลุกขึ้น โดยความเป็นพวกๆ กัน " ยังฝนมีเม็ดหยาบให้ตกลงแล้ว ด้วยอานุภาพของตน. ชนเหล่านั้น เมื่อฝนมีเม็ดหยาบตกอยู่, ต่างก็ลุกขึ้นแล้ว ๆ เข้าไปยังบรรณศาลาของตน ๆ. พระเถระยืนอยู่ที่ประตูบรรณาศาลาของอัคคิทัตกล่าวว่า “อัคคิทัต” เขาได้ยินเสียงของพระเถระแล้ว กล่าวว่า " นั่นเป็นใคร ? " เพราะความเป็นผู้กระด้างเพราะมานะว่า " ในโลกนี้ใคร ๆ ชื่อว่าผู้สามารถเรียกเราโดย (ออก) ชื่อ ไม่มี, ใครหนอแล ? เรียกเราโดย (ออก) ชื่อ. " พระเถระ. “ข้าพเจ้า พราหมณ์” อัคคิทัต. “ท่านพูดอะไร ?” พระเถระ. “ขอท่านจงบอกสถานที่พักอยู่ในที่นี้แก่ข้าพเจ้าสิ้นคืนหนึ่ง ในวันนี้” อัคคิทัต. “สถานที่พักอยู่ในที่นี้ ไม่มี, บรรณาศาลาหลังหนึ่งก็สำหรับคนหนึ่งเท่านั้น.” พระเถระ. “อัคคิทัต ธรรมดาพวกมนุษย์ ย่อมไปสู่สำนักของพวกมนุษย์. พวกโคก็ไปสู่สำนักของโค พวกบรรพชิตก็ไปสู่สำนักของพวกบรรพชิต, ท่านอย่าทำอย่างนั้น, ขอจงให้ที่พักอยู่แก่ข้าพเจ้า.” อัคคิทัต. “ท่านเป็นบรรพชิตหรือ ?” พระเถระ. “เออ ข้าพเจ้าเป็นบรรพชิต.” อัคคิทัต. “ถ้าท่านเป็นบรรพชิตไซร้. สิ่งของคือสาแหรกบริขารแห่ง บรรพชิต ของท่านอยู่ไหน ?” พระเถระ. “บริขารของข้าพเจ้ามีอยู่. ข้าพเจ้าคิดเห็นว่า ' ก็การถือบริขารนั้นเป็นแผนก เที่ยวไป ลำบาก ' ดังนี้แล้ว จึงถือบริขารนั้นไว้โดยภายในนั้นแลเที่ยวไป พราหมณ์. " พราหมณ์นั้นโกรธพระเถระว่า " ท่านจักถือบริขารนั้นเที่ยวไปหรือ ? " ลำดับนั้น พระเถระจึงพูดกะเขาว่า " (จงหลีกไป) อัคคิทัตท่านอย่าโกรธ (ข้าพเจ้า). จงบอกสถานที่พักอยู่แก่ข้าพเจ้า. " อัคคิทัต. “สถานที่พักอยู่ที่นี้ไม่มี.” พระเถระ. “ก็ใคร ? อยู่บนกองทรายนั่น.” อัคคิทัต. “นาคราชตัวหนึ่ง.” พระเถระ. “ท่านจงให้ที่นั้น แก่ข้าพเจ้า.” อัคคิทัต. “ข้าพเจ้าไม่อาจให้ได้. กรรมของนาคราชนั่นร้ายกาจ.” พระเถระ. “ช่างเถอะ, ขอท่านจงให้แก่เราเถิด.” อัคคิทัต. “ถ้าเช่นนั้น ท่านจงรู้เองเถิด.”


พระเถระผจญกับนาคราช


พระเถระ ผินหน้าตรงกองทรายไปแล้ว. นาคราชเห็นพระเถระนั้นมา จึงดำริว่า " พระสมณะนี้มาข้างนี้, เห็นจะไม่ทราบความที่เรามีอยู่; เราจะบังหวนควัน ให้สมณะนั้นตาย " บังหวนควันแล้ว. พระเถระคิดว่า " นาคราชนี้เห็นจะเข้าใจว่า ' เราเท่านั้นอาจบังหวนควันได้. พวกอื่นย่อมไม่อาจ ' ดังนี้แล้ว บังหวนควันแม้เอง. ควันทั้งหลายพุ่งออกจากสรีระแห่งนาคราชและพระเถระ แม้ทั้งสองฝ่าย ตั้งขึ้นจนถึงพรหมโลก. ควันทั้งสองฝ่ายไม่เบียดเบียนพระเถระ เบียดเบียนแต่นาคราชฝ่ายเดียว. นาคราชไม่อาจอดทนกำลังแห่งควันได้ จึงให้ลุกโพลง(เป็นไฟ). ฝ่ายพระเถระเข้าสมาบัติมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์แล้ว ให้ลุกโพลง (เป็นไฟ) พร้อมกับนาคราชนั้นเหมือนกัน. เปลวไฟพุ่งขึ้นไปจนถึงพรหมโลก. เปลวไฟแม้ทั้งสองฝ่ายไม่เบียดเบียนพระเถระ เบียดเบียนแต่นาคราชฝ่ายเดียว.


นาคราชแพ้พระเถระ


ลำดับนั้น สรีระทั้งสิ้นของนาคราชนั้น ได้เป็นราวกะว่าถูกคบเพลิงทั้งหลายลนทั่วแล้ว. หมู่ฤษีแลดูแล้วคิดว่า " นาคราชเผาสมณะ, สมณะคนดีหนอ ไม่เชื่อฟังคำของพวกเรา จึงฉิบหายแล้ว. " พระเถระ ทรมานนาคราชทำให้หมดพยศแล้ว นั่งบนกองทราย. นาคราชเอาขนดรวบกองทราย แผ่พังพานประมาณเท่าห้องโถงแห่งเรือนยอด กั้นอยู่แล้วเบื้องบนแห่งพระเถระ. หมู่ฤษีไปยังสำนักของพระเถระแต่เช้าตรู่ ด้วยคิดว่า " พวกเราจักรู้ความที่สมณะตายแล้วหรือยังไม่ตาย "เห็นท่านนั่งอยู่บนยอดกองทรายแล้ว ประคองอัญชลีชมเชยอยู่ กล่าวว่า " สมณะ นาคราชไม่เบียดเบียนท่านแลหรือ ? " พระเถระ. “ท่านทั้งหลายไม่เห็นนาคราชแผ่พังพานดำรงอยู่เบื้องบนแห่งเราหรือ ?” ฤษีเหล่านั้น พูดกันว่า " น่าอัศจรรย์หนอ ! ท่านผู้เจริญ. อานุภาพแห่งสมณะ ชื่อเห็นปานนี้. พระสมณะนี้ทรมานนาคราชได้แล้ว " ได้ยืนล้อมพระเถระอยู่แล้ว. ในขณะนั้น พระศาสดาเสด็จมาแล้ว. พระเถระเห็นพระศาสดาแล้วลุกขึ้นถวายบังคม. ลำดับนั้น ฤษีทั้งหลาย พูดกะพระเถระนั้นว่า " สมณะนี้ เป็นใหญ่แม้กว่าท่านหรือ ? " พระเถระ. พระผู้มีพระภาคเจ้านั่น เป็นพระศาสดา, ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านี้.


พวกฤษีชมเชยพระศาสดา


พระศาสดาประทับนั่งบนยอดกองทรายแล้ว. หมู่ฤษีประคองอัญชลีชมเชยพระศาสดาว่า " อานุภาพของสาวกยังถึงเพียงนี้, ส่วนอานุภาพของพระศาสดานี้ จักเป็นเช่นไร ? " พระศาสดาตรัสเรียกอัคคิทัตมาแล้ว ตรัสว่า " อัคติทัต ท่านเมื่อให้โอวาทแก่สาวกและอุปัฏฐากทั้งหลายของท่าน ย่อมกล่าวว่า ' อย่างไร ? ' อัคคิทัต. "ข้าพระองค์ให้โอวาทแก่สาวกและอุปัฏฐากเหล่านั้น อย่างนี้ว่า ่ท่านทั้งหลาย จงถึงภูเขานั่นว่าเป็นที่พึ่ง, จงถึงป่า อาราม, จงถึงต้นไม้ ว่าเป็นที่พึ่ง; ด้วยว่าบุคคลถึงวัตถุทั้งหลาย มีภูเขาเป็นต้นนั้นว่าเป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้.' "


สรณะที่เกษมและไม่เกษม


พระศาสดาตรัสว่า " อัคคิทัต บุคคลถึงวัตถุทั้งหลายมีภูเขาเป็นต้นนั่นว่าเป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ได้เลย, ส่วนบุคคลถึงพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะทั้งสิ้นได้ " ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :- ๖. " มนุษย์เป็นอันมาก ถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อม ถึงภูเขา ป่า อาราม และรุกขเจดีย์ว่าเป็นที่พึ่ง; สรณะนั่นแลไม่เกษม, สรณะนั่นไม่อุดม, เพราะ บุคคลอาศัยสรณะนั่น ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้. ส่วนบุคคลใดถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ (คือ) ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และมรรค มีองค์ ๘ อันประเสริฐ ซึ่งยังสัตว์ให้ถึงความสงบ แห่งทุกข์ ด้วยปัญญาชอบ; สรณะนั่นแลของ บุคคลนั้นเกษม, สรณะนั่นอุดม, เพราะบุคคลอาศัย สรณะนั่น ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้. " ในกาลจบเทศนา ฤษีเหล่านั้นแม้ทั้งหมด บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ทูลขอบรรพชาแล้ว. พระศาสดา ทรงเหยียดพระหัตถ์ออกจากกลีบจีวร ตรัสว่า " ท่านทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์."


ชาวเมืองเข้าใจว่าอัคคิทัตใหญ่กว่าพระศาสดา


ในขณะนั้นเอง ฤษีเหล่านั้นได้เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งบริขาร ๘ ดุจพระเถระมีพรรษาตั้งร้อย. ก็วันนั้นได้เป็นวันที่ชาวแคว้นอังคะ แคว้นมคธะและแคว้นกุรุ แม้ทั้งปวงถือเครื่องสักการะมา. ชนเหล่านั้นถือเครื่องสักการะมาแล้ว เห็นฤษีเหล่านั้นแม้ทั้งหมดบวชแล้ว คิดว่า " อัคคิทัตพราหมณ์ของพวกเราเป็นใหญ่ หรือพระสมณโคดมเป็นใหญ่หนอแล ? " ได้สำคัญว่า " อัคคิทัต เป็นใหญ่แน่ เพราะเหตุที่พระสมณโคดมมาหา."


อัคคิทัตตัดความสงสัยของชาวเมือง


พระศาสดา ทรงตรวจดูอัธยาศัยของชนเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า อัคคิทัต เธอจงตัดความสงสัยของบริษัท. " พระอัคคิทัตนั้นกราบทูลว่า แม้ข้าพระองค์ ก็หวังเหตุมีประมาณเพียงนั้นเหมือนกัน " ดังนี้แล้วเหาะขึ้นไปสู่เวหาสด้วยกำลังฤทธิ์ แล้วลงมาถวายบังคมพระศาสดาบ่อย ๆ ถึง ๗ ครั้งแล้ว กล่าวประกาศความที่ตนเป็นสาวกว่า " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของข้าพระองค์. ข้าพระองค์เป็นสาวก " ดังนี้แล. เรื่องปุโรหิตชื่ออัคคิทัต จบ.






Free TextEditor


Create Date : 14 มีนาคม 2552
Last Update : 23 ตุลาคม 2552 0:26:55 น. 1 comments
Counter : 481 Pageviews.  

 
อนุโมทนาบุญค่ะ ที่รวบรวมประวัติพระพุทธสาวกมาให้อ่าน


โดย: yaam วันที่: 18 มีนาคม 2552 เวลา:20:01:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สัก ณ ศรีสิขเรศวร
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สมัยเด็ก ๆ เคยสัญญากับตัวเองไว้ว่า จะรวบรวมประวัติท่านพระมหาโมคคัลลานะไว้เยอะ ๆ ด้วยความชอบในทางอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ นับว่า เทคโนโลยีปัจจุบัน ช่วยทำให้สัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองสมัยเด็ก ๆ นั้นเป็นจริงขึ้นมาได้

ผมไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจธรรมะมากมายน่ะครับ ได้แต่พยามรวบรวมพระสูตร อรรถกถาต่าง ๆ ที่มีท่านพระโมคคัลานะเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมดมาไว้ใน blog นี้ ให้ได้มากที่สุด หลาย ๆ พระสูตรก็เกินปัญญาที่จะให้เข้าใจได้แม้จะอ่านทวนซ้ำหลายรอบแล้วก็ตาม

ถ้าท่านผู้ใดที่ผ่านไปผ่านมา อ่านแล้วเกิดแง่คิด มุมมองใด ที่จะฃ่วยเสริมสร้างความเข้าใจในเรื่องราวนั้นขึ้นมาได้อีก โปรดอย่าลังเลที่จะเสนอและให้ความเห็นน่ะครับ ขอบพระคุณล่วงหน้าขอรับ

อีกอย่างถ้าช่วยแนะนำพระสูตร หรือเรื่องราวอื่น ๆ ที่ผมยังหาไม่เจอให้ด้วยจะขอบพระคุณเป็นอย่างสูงน้อครับน้อ
[Add สัก ณ ศรีสิขเรศวร's blog to your web]