เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
1 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 

ออสการ์ นะยะ

หลังจากหายหัวไปมุดอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้มานาน เนื่องจากมีการสอบอันน่าสะพรึงกลัวเกิดขึ้นกับชีวิต ซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังเลย ทำให้ไม่มีเวลามานั่งเขียนบล็อคเลย ทั้งที่ได้ดูหนังมาพอสมควรทีเดียว

ปีนี้เหมือนเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับหนังล่ารางวัล เพราะมีหนังประเด็นเพศที่สามเข้าชิงรางวัลบนเวทีใหญ่ ๆ มากขึ้น (ถ้าไม่นับพวกหนังเทศกาล) และเทรนด์นี้ดูกำลังจะมาแรงเสียด้วย ผมไม่ทราบว่าผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกกับหนังกลุ่มนี้อย่างไร หลายครั้งก็จะถูกปฏิเสธแบบทันทีทันใด แม้ว่าหนังจะไม่ได้มีฉากประเภทโจ๋งครึ่มก็ตาม ส่วนตัวขอจัดประเภทหนังเพศที่สามไว้สามหมวด (ส่วนตัว) ดังนี้

1. หนังเพศที่สามที่เอาตัวละครเพศที่สามมาใช้แสดงนำเพื่อผลของการตลาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกถึงอารมณ์ และการสำรวจตัวตนของคนเพศที่สามอย่างจริง ๆ จัง ๆ แม้ว่าจะสอดแทรกการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนกับคนเพศที่สามก็ตาม หนังกลุ่มนี้ จะเห็นดาษดื่นในช่วงสามสี่ปีก่อนในบ้านเราอย่าง สตรีเหล็ก, พรางชมพู หรือ Formula 17

2. เป็นการนำเอาตัวละครเพศที่สามมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง เช่นการสำรวจจิตใจของมนุษย์ที่ต่างจากคนอื่น หนังประเภทนี้มีทั้งผกก.ที่เป็นคนเพศที่สามเองหรือคนที่ไม่ใช่เพศที่สาม ซึ่งก็จะมีมารยาทพอกับสังคมที่จะพูดกล่าวถึงบุคคลเพศที่สามซึ่งอยู่ที่เจตนาของผกก.ที่จะวางไว้แบบพองาม โดยหนังประเภทนี้เราจะพบเห็นได้ทั่ว ๆ ไป อย่าง Happy Together, Lan Yu, หนังเจ้าป้าเปรโด, Transamerica หรือหนังดังอย่าง Brokeback Moutain

3. หนังประเภทที่ทำโดยเพศที่สาม เพื่อคนเพศที่สาม ซึ่งหนังประเภทนี้ ผมจะไม่ค่อยสันทัดสักเท่าไหร่ แต่ผู้ที่สนใจสามารถไปหาตามร้านแมวเหมียว ชั้น 3 MBK หรือแถว ๆ สีลมได้ ซึ่งหน้าปกส่วนมากก็จะนู้ดโจ่งครึ่มกันอย่างเห็นได้ชัด และเน้นไปทางนั้นโดยตรง

หนังสองประเภทแรกนั้นแม้ว่าจะมีชื่อเสียงในวงกว้าง แต่มักจะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งแน่นอนคงต้องดูเจตนาว่า ส่งเสริม ยัวยุ หรือเพียงนำเสนออีกด้านของสังคมเท่านั้น

วันนี้ผมก็จะขอกล่าวถึงหนังสองเรื่องที่เพิ่งได้ดู ซึ่งมีประเด็นเหล่านี้อยู่ และเป็นหนังเข้าชิงออสการ์ทั้งสองเรื่อง

<มีการเปิดเผยเนื้อหา ดังนั้นควรชมก่อนอ่าน>

Brokeback Mountain (A Film by Ang Lee)



ผกก.หลี่อันเคยฝากผลงานเรื่องเกย์มาแล้วจากเรื่อง The Wedding Banqute ซึ่งเป็นหนังตลก ๆ ที่กล่าวถึงประเด็นการยอมรับเพศที่สามของคนจีนรุ่นเก่าในไต้หวัน ซึ่งหลี่อันสามารถทำได้ดีแม้ว่าจะเป็นการทำหนังประเภท Drama Comedy ธรรมดา ๆ ก็ตาม แต่ประเด็นที่สอดแทรกความสัมพันธ์ในครอบครัว และทัศนคติของคนจีนในไต้หวันก็นับว่ามีคุณค่าทีเดียว

สำหรับ Brokeback Mountain นั้น มีความสวยงามทางด้านภาพเป็นพื้นฐานที่จะให้คนดูซึมซับกับบรรยากาศอันน่าหลงไหลของเทือกเขาโบรกแบก ซึ่งแม้เพียงเห็นอยู่บนแผ่นฟิล์มที่ฉายอยู่บนจอภาพยนตร์ก็ตาม แต่หากใครได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศจริง ๆ อาจจะหลงไหลจนไม่อยากจะออกมาจากที่นั่นเลยก็ได้

ทั้งตัวเอนนิส กับแจ็ค ต่างก็มาใช้เวลาในช่วงหนึ่งเพื่อมาทำงานโดยทั้งสองก็มีวัตถุประสงค์กับชีวิตของแต่ละคน ซึ่งตัวหนังนั้นเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ พัฒนาจนกระทั่งเขาทั้งสองข้ามเส้นความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงานไปเป็นการแสดงออกทางด้านร่างกาย

หนังไม่ได้บอกว่าทั้งสองร่วมรักกันด้วยเหตุผลใด อาจจะเป็นบรรยากาศ ความใกล้ชิด ความเหงา หรืออะไรก็ล้วนแต่จะเป็นเหตุผลได้ไปเสียหมด แต่สิ่งนั้นมันกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องซ่อนเร้น เนื่องจากคงจะไม่มีใครในสังคมภายนอกที่จะยอมรับในเรื่องนี้

แม้ว่าเอนนิสหลังจากกลับออกมาจากเทือกเขาโบรกแบคเขาจะต้องไปกลับไปแต่งงาน ซึ่งการแต่งงานของเขานั้นก็ไม่ได้ดูย่ำแย่ แต่ก็ไม่ได้เลอเลิศ ซึ่งตัวภรรยาเองก็เหมือนกับผู้หญิงทั่ว ๆ ไปที่ต้องการความรักและครอบครัวที่เพียบพร้อมเหมือนกับครอบครัวอื่น ๆ

ทางด้านแจ็คหลังจากนั้น เขาต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดในฐานะลูกของนักขี่วัวกระทิง และเขาก็ได้มีชีวิตแต่งงานเหมือนกับเอนนิส แต่ภรรยาของแจ็คอาจจะอยู่กับธุรกิจ หน้าตาของครอบครัว และการสร้างฐานะต่าง ๆ จนไม่อาจจะทราบได้ว่าเธอใส่ใจกับสามีเธออย่างไรกันแน่

หนังทิ้งปูมหลังของทั้งเอนนิสและแจ็คเอาไว้ในช่วงที่เขาสองคนอยู่ในเทือกเขานี้ เอนนิสมีอดีตที่ค่อนข้างโดดเดี่ยวจึงทำให้เขาเป็นคนที่เหลวแหลก ไม่ค่อยทำอะไรคิดถึงคนรอบข้าง ส่วนแจ็คมาจากครอบครัวที่คอยกดดันเขาในเรื่องต่าง ๆ อาจทำให้เขาดูเหมือนกับคนขี้แพ้และไม่ยอมโต

แต่ถึงอย่างไรความสัมพันธ์ก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นประเด็นที่จะมีทำให้เขามีความสัมพันธ์อะไรกันไม่ได้ ความสัมพันธ์นี้ไม่อาจถูกเรียกว่าความรักตั้งแต่ต้น แต่มันกลับพัฒนาไปเรื่อย ๆ แม้ว่าจะสมใจบ้างไม่สมใจบ้างก็ตาม

ตัวภรรยาของเอนนิสเองก็ระแคะระคายจนจับได้ว่าสามีของเธอไปเป็นภรรยาของคนอื่น ซึ่งเธอก็พยายามจะรักษาครอบครัวเอาไว้ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เธอกลับไม่เคยเอามาถือโทษเลยขณะที่เธออยู่กินกับสามีของเธอ หนำซ้ำเอนนิสก็ไม่ได้บกพร่องอะไรในหน้าที่ของสามี

การหย่าร้างของเอนนิสและภรรยา นับว่าประเด็นน่าจะไปจับแค่ว่า เอนนิสเป็นคนที่ไร้ซึ่งจิตสำนึกกับคนรอบข้าง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเสียมากกว่า ส่วนประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่อาจจะยอมรับได้นั้นกลับเป็นเรื่องรองเสียด้วยซ้ำ

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามหนังก็พยายามจะตัดเปลี่ยนเรื่องภายในเสี้ยววินาทีได้ในหลายครั้ง โดยเฉพาะการหย่าร้าง และตอนที่แจ็คเสียชีวิต ซึ่งก่อนแจ็คจะเสียชีวิต ตัวละครทั้งสองก็เข้ามาสู่วัยกลางคน ซึ่งความคิดก็คงจะแตกฉานกว่าสมัยหนุ่ม ๆ เนื่องจากผ่านชีวิตมานาน แม้ว่าแจ็คจะมาจากโลกที่ดูมีแต่จิตนาการและความฝัน และเอนนิส ชีวิตมักจะอยู่กับที่ จึงได้เห็นข้อสัญญาที่เขาทั้งสองพยายามผูกมัดกันมีความขัดแย้งกันในช่วงนี้

หลังจากแจ็คเสียชีวิต ตัวหนังเองไม่ได้พยายามบีบคั้นอะไรนอกจากให้เห็นเพียงชีวิตที่ดำเนินต่อไป ตอนนี้คงจะปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าความสัมพันธ์ที่ซ่อนเร้นตั้งแต่ต้นนั้น ตอนนี้มันพัฒนาเป็นความรักไปเรียบร้อยแล้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด วันนี้ทำให้ตัวเอนนิสเขาได้คิดถึงความจริงที่ว่า เขาควรจะทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง

กล่าวรวม ๆ กับหนังไม่ได้บีบคั้นอารมณ์จนกระทั่งหนังเป็นดราม่าหนัก ๆ ไป แต่หนังกลับสามารถสื่อสารบางอย่างให้คนดูได้รับรู้ถึงความรักที่มันก่อตัวมาจากความสัมพันธ์มากกว่าการก่อตัวจากปฏิสัมพันธ์จากสันชาตญาณของมนุษย์ คนทั้งสองเป็นได้ทั้งเพื่อนและคนรักได้ในคราวเดียวกัน ในขณะที่คู่รักชายหญิงหลายคู่เป็นได้เพียงคู่รักอย่างเดียวซึ่งมักจะทำให้ขาดความเข้าใจในฝ่ายตรงข้าม ทำให้ความรักของเขาทั้งสองนั้นดูจะน่าอิจฉาเสียด้วยซ้ำ

Transamerica (A Film by Duncan Tucker)



ก่อนจะได้ดูหนังเรื่องนี้ผมไม่ทราบจริง ๆ ว่า Felicity Huffman เป็นผู้หญิงแท้ ๆ ทั้งที่เธอเล่นเป็นกระเทยงามด้วยแพทย์ได้เหมือนขนาดนั้น โอวเจ้าจอร์ช....... ผมเพิ่งทราบก่อนเขียนได้ไม่กี่วันจริง ๆ นะเนี่ย ทั้งที่ดูหนังมาเกือบอาทิตย์นึงแล้ว

เอาเป็นว่า ไม่ว่าเธอจะเป็นชายไม่จริง หรือหญิงแท้ยังไงก็แล้วแต่ หนังเรื่องนี้เป็นหนังขำ ๆ ที่ดูแล้วน่าจะเรียกได้ว่า เล่นกับประเด็นที่ดูไม่น่าจะยากสำหรับคนทำหนัง

หนังเกี่ยวกับบรี สาวประเภทสองที่กำลังจะแปลงเพศสมบูรณ์แบบอยู่อีกไม่กี่วันแล้ว แต่เธอกลับได้รับโทรศัพท์ว่าให้ไปประกันตัวลูกชายเธอ ซึ่งเธอไม่รู้ว่าตัวเองสมัยที่เป็นชายเคยไปทำใครท้อง แต่แม้ว่าเธอต้องไปจัดการกับหน้าที่ที่ต้องทำในฐานะบุพการีของคนก็ตาม เธอก็ยังจะมุ่งมั่นที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการแปลงเพศต่อไป

แม้ว่าเธอต้องไปจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ของลูกชายเธอ แต่เธอไม่อาจให้ลูกชายเธอทราบได้ว่าเธอเป็นพ่อของเขา มันก็กลายเป็นลูกชายเธอสามารถกระทำการใด ๆ ก็ตามที่จะสร้างความปวดหัวโดยไม่ต้องสนใจหน้าอิฐหน้าพรหมใด ๆ ทั้งสิ้น

การเดินทางของสองพ่อ(หรือแม่)ลูกคู่นี้ก็เดินทางกลับแอลเอก็เริ่มขึ้น เมื่อตัวเธอเองต้องไปแอลเอเพื่อทำการผ่าตัด ส่วนตัวลูกก็ไปเพื่อถ่ายหนังโป๊ (ดูมัน) การเดินทางก็ไปแบบขำ ๆ อีกทั้งตัวลูกชายก็ยังหาเรื่องปวดหัวมาให้ ทั้งการไปซื้อของ การหาเพื่อนร่วมทาง การแวะข้างทางในสถานที่ที่คนไม่สมบูรณ์แบบจะอยู่ได้ยากอย่างการข้างแรมในป่าก็ตาม จนไปถึงการทำให้รถและทรัพย์สินรวมถึงฮอร์โมนที่เธอต้องใช้มันช่วยชีวิต(แบบผู้หญิง)ของเธอถูกขโมยไป นั่นเป็นประเด็นที่ทำให้เธอต้องแวะไปหาพ่อและแม่จริง ๆ

ประเด็นมันมาขำตรงที่เมื่อคุณปู่คุณย่าไม่สามารถเห็นลูกชายได้ทำหน้าที่ชายสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีความหวังกับหลานชาย ซึ่งก็ยังไม่ได้รู้จักหัวนอนปลายเท้าอะไรก็มอบความรักให้หมดใจแล้ว โดยเฉพาะตัวคุณย่า

ความสัมพันธ์ดูจะสั่นคลอนเมื่อเขาจับได้ว่ากระเทยที่ร่วมทางมาตลอดเป็นพ่อของเขา แม้ว่าตัวของบรีเองจะทำดีกับเขามาตลอดก็ตามที อย่างไรเสียเมื่อเขารับไม่ได้และรีบหนีออกไปจากโลกของบรีให้ไกลที่สุด ถึงอย่างไรพ่อกับแม่ของเธอก็ยังคอยเป็นคนที่ปลอบโยน แม้ว่าจะไม่ได้ยอมรับกับการเปลี่ยนเพศตัวเองของเธอก็ตาม

หนังเรื่องนี้โดยสรุปเมื่อหลังจากเธอแปลงเพศ ตัวลูกชายเธอก็เห็นจะหาใครที่ดีกับเขาไม่ได้นอกจากกระเทยคนนี้ ซึ่งเป็นบุพการีของเขาต่างหาก หนังก็ได้วนกลับมาที่ความสัมพันธ์แบบครอบครัวอีกครั้ง

นับว่าประเด็นที่ให้ไว้กับหนังนั้นไม่ได้มีอะไรที่ดูใหม่ และน่าสนใจ แต่เชื่อว่าการจับประเด็นอย่างนี้ จับทีไรโดนทุกครั้ง และหนังก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเหนือไปกว่าการแสดงของ Felicity Huffman เลยเสียจริง ๆ

สรุปแล้ว หนังสองเรื่องตัวเก็งออสการ์ในบางสาขาปีนี้ก็นับว่าหากไม่มองว่าประเด็นเรื่องเพศที่สามเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ก็นับว่า ปีนี้หนังออสการ์ก็มีความหลากหลายไม่ใช่น้อย ทั้งหนังอย่าง Munich, Good Night and Good Luck ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง หรืออย่าง Crash ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้านสีผิวและเชื้อชาติ หรืออย่าง Capote ที่เป็นหนังชีวประวัตินักเขียนชื่อดัง แม้กระทั่ง Walk the Line ที่เป็นชีวประวัตินักดนตรีที่มีชื่อเสียง และอีกหลายเรื่องที่ไม่อาจสาธยายหมด ก็นับว่าน่าลุ้น (ซึ่งเมื่อเช้าก็ประกาศผลไปแล้ว อิอิ) อีกทั้งน่าสนใจไม่น้อย ส่วนตัวชอบที่ให้มีหนังออสการ์หลากหลายกว่าหนังที่นอนรอมาแล้วหลาย ๆ สาขา ซึ่งมันจะทำให้เราไม่มีอะไรดู ซะงั้น




 

Create Date : 01 มีนาคม 2549
4 comments
Last Update : 6 มีนาคม 2549 19:12:37 น.
Counter : 1350 Pageviews.

 

เข้ามาเยี่ยมคร้าบผม ไม่ได้มาซะนานเลยเรา

เฮ่อหนังออสการ์นี่ผมไม่ได้ดูเลยครับ ตอนนั้นงานระดมสุดๆ คงต้องไปตามดูแผ่นน่ะครับ

 

โดย: หมื่นทิพ TRAVOLTA (เทพบุตรตบะแตก!! ) 3 เมษายน 2549 21:13:51 น.  

 

อ้าว..มาอัพบล็อกตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้วรึ?

เราพลาดไปได้ไงหว่า




สำหรับออสการ์เห็นด้วยแล้วแหละที่ Crash ได้น่ะ

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 4 เมษายน 2549 16:16:41 น.  

 

ขอบคุณครับที่ยังมีคนเข้ามา เนื่องจากตอนนี้ไม่มีเวลาเขียนใหม่เลย ทำให้บล็อกดูไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่ หวังว่าจะมีโอกาสได้อัพบล็อกเร็ว ๆ นี้ ว่าแต่จะหยิบไรมาเขียนดีหว่า ?

 

โดย: Filmism IP: 203.113.35.12 6 เมษายน 2549 10:51:13 น.  

 

 

โดย: เชษ IP: 58.10.198.51 20 สิงหาคม 2550 12:30:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.