<<
กันยายน 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
5 กันยายน 2558
 

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

 ขออนุญาตนำข้อมูลเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา ดังนี้

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติพรุ่งนี้ว่าจะรับหรือไม่รับ 
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร 
 ttp://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635500#sthash.vgFfeIrz.dpuf
คนไทยก็ยังต้องตั้งคำถามว่า : “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”


หาก สปช. ยกมือให้ผ่าน ก็ไม่ได้แปลว่าร่างนี้จะสามารถพาประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤตการเมืองเข้าสู่ภาวะ “ปกติ” ได้

เพราะยังจะต้องเข้าสู่การลง “ประชามติ” ซึ่งนอกจากจะมีคำถามว่า “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ยังจะมี “คำถามเพิ่ม” ที่มาจาก สปช.

คำถามจะเป็นว่า “ควรมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่?” หรือ “ควรให้รัฐบาลปฏิรูปสองปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่?”

หรือ สปช. อาจจะตกลงกันไม่ได้จนไม่เสนอคำถามที่สอง ให้ประชาชนต้องลงมติกันก็เป็นไปได้

แต่หากพรุ่งนี้ สปช.ส่วนใหญ่มีมติไม่ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็จะต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างใหม่ ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่าจะต้องถกแถลงกันในประเด็นเดิมๆ ที่ทำให้ร่างนี้ไม่ผ่านอยู่ดี

หากไม่ผ่าน Roadmap หรือ “แผนที่เดินทาง” การเมืองของประเทศก็จะต้องกลับมาปรับปรุงใหม่ เพราะจะไม่ใช่เป็นการเดินทางเส้นตรงเหมือนที่วางเอาไว้ จะต้องเลี้ยวเข้าตรอกเข้าซอยก่อนที่จะโผล่มาบนถนนสายใหญ่อีกครั้งหนึ่งก่อนจะถึง “จุดหมายปลายทาง” ของ คสช.

ผมไม่เชื่อเรื่อง “ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ” เพราะ “แป๊ะ” เองก็รู้ว่าจะต้องเอาเรือนี้ไปถึงฝั่งให้ได้เพื่อส่งให้คนบนฝั่งที่รออยู่ 60 ล้านคน จะพายเรือวนไปมาอย่างไร ท้ายสุดก็ต้องขึ้นฝั่ง เพราะหากล่มเสียก่อน แป๊ะเองนั่นแหละที่จะถูกถล่ม

แต่คำถามที่ว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?” นั้นคือหัวใจของประเด็นที่คนไทยจะต้องถกแถลงเพื่อตกผลึกและหาข้อสรุปให้ได้

นั่นคือทำไมเราไม่สามารถสร้าง “กระบวนการ” ของการอยู่ร่วมกันที่มีกติกาที่ “ป้องกัน” และ “แก้ไข” ความขัดแย้งโดยไม่ต้องเข้าสู่ “ภาวะไม่ปกติ” จนมี “อำนาจนอกระบบ” เข้ามากำหนดความเป็นไปอย่างที่เป็นอยู่?


เรามาถึงจุดที่มีคนอ้างได้ว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ นักการเมืองก็จะตีกันเอง ประชาชนจะแบ่งฝ่าย และความรุนแรงก็จะกลับมาอีก

แปลว่าสังคมไทยไม่มีกลไกใดที่มีประสิทธิภาพพอ ในการที่จะป้องกันความรุนแรง อันเกิดจากการขัดกันของผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ที่มีคนอ้างว่าความรุนแรงจะกลับมาอีก เพราะกลุ่มการเมืองจะยกพวกตีกัน เพื่อแย่งอำนาจในการปกครองบ้านเมืองนั้น เขาเน้นปัญหาไปที่นักการเมืองและนักเลือกตั้ง แต่ประชาชนเองไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกัน ยกเว้นเสียแต่กลุ่มประชาชนที่นักการเมืองเหล่านี้ไปปลุกปั่น หรือใช้วิธีการล่อด้วยคำมั่นสัญญาอะไรบางอย่าง


แปลว่าทหารอ้างว่าที่ต้องมีอำนาจต่อแม้หลังเลือกตั้งแล้ว

 (จะในรูปคณะกรรมการยุทธศาสตร์หรือ กลไกอะไรก็ตามแต่) ก็เพราะนักการเมืองจะห้ำหั่นด้วยกำลังใส่กันจนบ้านเมืองวุ่นวายล่มสลาย

เราจะแก้ข้อกังขานี้ได้อย่างไร?

เขาอ้างว่าที่ต้องมี “นายกฯจากคนนอก” นั้นก็เพราะหากไม่มี “บันไดหนีไฟ” นี้ เกิดวิกฤตการเมืองขึ้นมา บ้านเมืองถึงทางตันอย่างที่เคยเกิดมาแล้ว ใครจะรับผิดชอบ?

เรามีคำตอบไหมว่าพรรคการเมือง ที่ควรจะเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงจะเป็นผู้รับผิดชอบ กองทัพไม่ต้องอาสาเข้ามาแก้ปัญหาให้?

คนไทยเรากี่ส่วนที่เชื่อว่าสังคมไทยสามารถแก้ปัญหานี้ได้เอง ไม่ต้องมีใครใช้ “อำนาจพิเศษ” มา “ช่วยชาติ”? และกี่ส่วนที่ไม่เชื่อ? ประสบการณ์สิบปีที่ผ่านมาทำให้เรามั่นใจหรือไม่มั่นใจในคำตอบนี้เพียงใด?

คนไทยเราพร้อมจะลุกขึ้นยืนยันว่า “เราแก้ปัญหาเองได้ 

เราสร้างประชาธิปไตยเองได้ ไม่ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งคนใดมาอาสาใช้อำนาจพิเศษมาแก้ให้” หรือยัง?

ใครตั้งคำถามว่าคนไทยพร้อมสำหรับประชาธิปไตยแบบตะวันตกหรือไม่ จะถูกโห่ จะถูกด่าว่าเลื่อมใสเผด็จการ

แต่ถ้าถามว่าประชาธิปไตยแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยคืออย่างไร ความเงียบงันก็ยังคงดังก้องกังวานไปทั่ว

เราไม่ต้องการให้ใครมาทำรัฐประหารอีก เราไม่ต้องการให้ใครอ้างเป็นเจ้าของความเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงกลุ่มเดียว และเราก็ไม่ต้องการให้ใครใช้เงินซื้อประเทศนี้เป็นของเขาคนเดียว

เราตกลงกันได้หรือยังว่า “ประชาธิปไตย”

ที่กล่าวอ้างกันในทุกวงการในสังคมไทยนั้นมันคืออะไรกันแน่?

เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?/จบ

.................................................................................................................................

ขอนำข้อเขียนนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการสึกษา ดังนี้

เปิดค่าใช้จ่าย "สปช." หลังโหวตคว่ำร่างรธน. 11 เดือน รวม 419 ล้านบาท

//www.bangkokbiznews.com/news/detail/664256

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำหน้าที่ของสปช.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ยุติการทำหน้าที่ในวันนี้ เพราะเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น กฎหมายกำหนดให้มีสปช. 250 คน แต่ล่าสุดเหลืออยู่ 247 คน ทำงาน 11 เดือนนั้น จากการคำนวณคร่าวๆ ประธาน สปช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 74,420 บาท เงินเพิ่ม 45,000 บาท รวม 119,920 บาท รองประธาน สปช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาท สปช. กำหนดเงินประจำตำแหน่งไว้ที่ 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 รวม 113,560 บาท 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากคำนวณคร่าวๆในวงเงิน 1.7 ล้านบาทที่นายสิระ เจนจาคะ สปช.ระบุจะคืนเงินเดือนและค่าเบี้ยการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชุมกันมากกว่า 160 ครั้ง ซึ่งคิดเป็นเบี้ยประชุมกว่า 9 แสนบาทหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านนั้น เท่ากับว่า สปช. 247 คน ทำงาน 11 เดือนจะรับเงิน 419,900,000บาท (ใช้ตัวเลข1.7ล้านบาทที่นายสิระระบุจะคืนให้เป็นฐานคำนวณ คูณกับสปช.247คน ) ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจัดประชุมและสัมนาต่างจังหวัด ค่าเดินทาง ค่าจัดพิมพ์เอกสาร/จบ

................................................................................................................................

ขออนุญาตกรุงเทพธุรกิจรายวันนำเนื้อหาต่อไปนี้มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป ดังนี้......

ภาคประชาชนผิดหวัง'สปช.'คว่ำร่างรธน.

//www.bangkokbiznews.com/news/detail/664249

ภาคประชาชนผิดหวัง สปช.คว่ำร่างรธน.ชี้เหมือนถูกหลอก 

คาด ปชช.ไม่มั่นใจให้ทหารทำร่างรธน.ต่อ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน กล่าวถึงผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญของสปช. ที่มีผลไม่ผ่านความเห็นชอบว่า เหมือนกับภาคประชาชนถูกหักหลังจากฝ่ายผู้มีอำนาจ เพราะดูหน้าฉากทางนัั้นให้การสนับสนุน แต่ลับหลังกลับพบว่า ทางนั้นเดินเกมไม่ให้ผ่านความเห็นชอบของสปช. ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาด้วยว่า หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรมนูญ อีก 21 คน ประชาชนจะเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ได้อย่างเดิมหรือไม่ อีกทั้งการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังไม่มีสิ่งใดเป็นหลักประกันที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนกับที่ให้สปช. เป็นผู้ให้ความเห็นข้อเสนอแนะและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด 

“ผมเข้าใจว่าผลที่ออกมา เป็นเพราะสปช. ที่อยู่ฝั่งราชการ เขาไม่พอใจในเนื้อหา โดยเฉพาะการเพิ่มสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชนที่มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆ มา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นผมก็พูดอะไรไม่ได้มาก็ต้องคอยดูต่อไป” นายหาญณรงค์ กล่าว/จบ

..............................................................................................................................

ขอนำข้อเขียนต่อไปนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้ ดังนี้

'ขุนศึก'ผนึก'นักเลือกตั้ง' คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

สปช.,ขุนศึก,นักเลือกตั้ง,เบื้องลึก,คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ,ต่ออายุ,คสช.,บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,ไพศาล พืชมงคล,เอกราช ช่างเหลา,สุเทพ เทือกสุบรรณ,อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ,เพื่อไทย,นปช.,จตุพร พรหมพันธุ์


เบื้องลึก! "ขุนศึก" ผนึก "นักเลือกตั้ง" คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ "ต่ออายุ" คสช.

.เป็นไปตามความคาดหวังของ “สปช.” สายทหารสังกัด“บ้านพี่ใหญ่” เมื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 135 คน โหวต “ไม่เป็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป ในขณะที่ สปช.ก็สิ้นสุดสถานภาพทันที


สัญญาณ “คว่ำรัฐธรรมนูญ” มีความชัดเจนขึ้น หลังจาก“นายทหาร” 2 คน สังกัด “บ้านพี่ใหญ่” ร่วมกับ “อดีตนายทหาร” ที่เป็น สนช. เดินสายขอเสียง “คว่ำ” จากสมาชิก สปช. กลุ่มจังหวัด โดยมีรายงานข่าวว่า ได้มีการนัดสังสรรค์กันที่โรงแรมแห่งหนึ่ง ย่านซอยรางน้ำ

ที่น่าสนใจ ไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัว Paisal Puechmongkol ก่อนวันลงมติ 1 วันดังนี้

“ด่วนมาก เสียงส่วนใหญ่ของ สปช. เวลานี้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแล้วครับ”

โดย “ไพศาล” ได้ร่ายถึงเหตุผลว่า “1.เป็นไปตามโรดแมป 2.ตามความปรารถนาของประชาชนและพรรคการเมืองที่มีเสียงทางเดียวกัน แม้สำเนียงต่างกัน 3.หลีกเลี่ยงความขัดแย้งรอบใหม่และเคลียร์ระเบิดให้หมดก่อน 4.ไม่เสี่ยงเรื่องร่างไม่สมบูรณ์ 5.ห่วงกระทบเศรษฐกิจช่วงพีคการท่องเที่ยว 6.ไม่ต้องเสียเงินงบประมาณลงประชามติ3,300ล้าน ภาคประชาชนคงสมใจ นายกตู่จะได้ช่วยชาติปฎิรูปไปอีกระยะ”

ทันทีที่การลงมติของ สปช.จบลง “ไพศาล” ได้ข้อความว่า “ประชาชนไชโยโห่ฮิ้วกันลั่นบ้านสนั่นเมืองที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พากันไปฉลองตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าเต็มไปหมด เป็นการประกาศชัยของประชาชนที่ต้องการให้นายกตู่ปฏิรูปบ้านเมืองไปนานๆ”

ไม่ต้องแปลความ นั่นหมายถึงการคว่ำเพื่อต่ออายุ คสช.ให้ปฏิรูปบ้านเมือง ตามคำเรียกร้องของกลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณ เมื่อสองปีที่แล้ว

3 กลุ่มโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ

เมื่อคลี่คะแนนโหวต 135 เสียงออกมา ก็จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม สำหรับ สปช.สายที่ไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ

กลุ่มแรก คือ สมาชิก สปช.ที่เป็นนายทหารและนายตำรวจ นำโดย พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก ,พล.อ.พอพล มณีรินทร์สองนายทหารที่เป็นน้องรัก “บิ๊กป้อม” และ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เพื่อนรักของ “บิ๊กตู่” และแกนนำพรรคชาติพัฒนา

จะว่าไปแล้ว สปช.สายทหาร-ตำรวจ มีไม่เกิน 20 คน ฉะนั้น แกนหลักในการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จึงพุ่งเป้าไปที่ “กลุ่ม สปช.จังหวัด” ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนมากที่สุด

เหนืออื่นใด สปช.จังหวัดในภาคอีสาน และภาคใต้ จำนวนหนึ่งมีความใกล้ชิด “นักเลือกตั้ง” ที่มีความสนิทสนมกับ “บิ๊ก คสช.”

กลุ่มที่สอง เป็นสายนักวิชาการ ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่เห็นว่าหลายมาตราในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มีความไม่เป็นประชาธิปไตย
กลุ่มที่สาม ถือว่าเป็น “เสียงชี้ขาด” คือ “กลุ่ม สปช.จังหวัด” ที่มีถึง 60 เสียง โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิก สปช.อีสาน 2 คน อย่าง เอกราช ช่างเหลา สปช.ขอนแก่น กับ ทิวา การกระสัง สปช.บุรีรัมย์ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเลี้ยงสังสรรค์ขอบคุณ สปช.ภาคอีสาน ณ โรงแรมหรูใจกลางกรุงเทพฯ

“เอกราช-ทิวา” ประกาศตัวชัดเจนว่า อยู่ในฝ่ายคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับให้ข่าวผ่านสื่อก่อนถึงวันลงมติว่า กลุ่มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมีเสียงอยู่ 140 เสียง และ สปช.สายจังหวัด โหวตไม่รับร่างด้วยจำนวนมาก

ผ่า 60 เสียงไม่รับร่างฯ

เมื่อส่องเข้าไปในจำนวนเสียงโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า สปช.จังหวัดเกือบทุกภาค แสดงตัวไม่เห็นชอบ โดยเฉพาะในภาคอีสาน และภาคเหนือ

อย่าง วีระศักดิ์ ภูครองหิน กาฬสินธุ์ เอกราช ช่างเหลา ขอนแก่น จิรวัฒน์ เวียงด้าน นครพนม กษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด นครราชสีมา ทิวา การกระสัง บุรีรัมย์ กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ มหาสารคาม พรชัย มุ่งเจริญพร สุรินทร์ ชัยพร ทองประเสริฐ อำนาจเจริญ ฯลฯ

ปฏิเสธไม่ว่า สปช.สายอีสาน หลายคนมีสายสัมพันธ์กับ “พรรคการเมืองขนาดกลาง” ที่อยู่คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทย บางคนเคยเป็น “แนวร่วมคนเสื้อแดง” แต่ภายหลังได้พลิกขั้วมาอยู่กับนักการเมืองใหญ่ที่ใกล้ชิดทหาร

ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ “กลุ่ม สปช.จังหวัด” สายอีสาน จะเป็นแกนหลักในการระดม สปช.จากภาคเหนือ และภาคกลาง ให้มาร่วมสังสรรค์กันมากกว่า 40 คน ก่อนหน้าวันโหวตร่างรัฐธรรมนูญ
 สปช.สายใต้ “คว่ำยกภาค”

แม้ว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนฯ จะเปิดโรงแรมแถลงข่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” ดีพอที่จะผ่านไปให้ประชาชนลงประชามติ แต่ ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา กลับเห็นต่าง และเชื่อว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำใน สปช.

มินับ ท่าทีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหากปล่อยผ่านไป จะก่อให้ความขัดแย้งอย่างรุนแรง

ว่ากันว่า พรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. เห็นต่างกัน แต่มิได้แตกแยก ซึ่งลึกๆแล้ว “สุเทพ” ยังต้องการเห็น “การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

เมื่อพิจารณารายนาม สปช. 14 จังหวัดภาคใต้ ปรากฏว่า ส่วนใหญ่โหวตคว่ำ และมีเพียงคนเดียวที่งดออกเสียง อาทิ โกวิท ศรีไพโรจน์ สุราษฎร์ธานี, พล.อ.จริพันธ์ เกษมศานติ์สุข กระบี่ ไพฑูรย์ หลิมวัฒนา ชุมพร สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ ตรัง ชาลี เอียดสกุล พัทลุง ประเสริฐ ชิตพงศ์ สงขลา ฯลฯ

นับจากนี้ ก็ต้องจับตาดูว่า สปช. 135 คนที่โหวตคว่ำรัฐธรรมนูญ จะได้รับโบนัสเป็น “สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ” ตามที่มีแหล่งข่าวใน สปช.เคยนำมาแฉเรื่องเค้ก 200 ก้อน

เหนืออื่นใด โฉมหน้า “21 อรหันต์” ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นใคร? ซึ่งชื่อชั้นคนเหล่านี้ก็จะให้คำตอบได้ว่า หนทางข้างหน้าของ คสช.และการร่างรัฐธรรรมนูญใหม่จะเป็นเช่นใด

...................................

(ล้อมกรอบ) เพื่อไทย-นปช. รอย้ำแผลเก่า

จุดยืนของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็สนับสนุนให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีเหตุผลต่างจาก “บิ๊ก คสช.” เพราะ นปช.ต้องการ “ประชาธิปไตยเต็มใบ” ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทย ของกลุ่มอำมาตย์

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. จึงวิเคราะห์การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า

“ถ้านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ร่างรธน. จบลงที่การเขียนรัฐธรรมนูญปี 40 ประวัติศาสตร์ประเทศไทยต้องจดจำว่าได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่พอมาจบที่รัฐธรรมนูญปี 2558 กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกันเหลือเกิน เพราะการอธิบายรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ ไม่ต่างจากการคว่ำรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ เพราะอาศัยกระบวนการแบบไทยๆ”

ประธาน นปช. กล่าวถึงเบื้องหลังการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า มีใครจะเชื่อว่า ลำพังน้ำหน้า สปช. บางคน จะไปสามารถรวบรวมสมาชิกได้เกินครึ่งในการโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้ ถ้าแป๊ะไม่เปิดทางตรงนี้

ด้วยเหตุนี้ “จตุพร” จึงแถลงผ่านยูทู้ปว่า ให้คนเสื้อแดงอยู่ในความสงบนิ่ง เพราะ “เราประกาศชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า เราไม่มีหน้าที่จะไปแย่งชิงอำนาจ แต่เราปรารถนาที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยเท่านั้น คสช. อยากจะอยู่ก็อยู่ไป” /จบ

..............................................................................................................................

ขออนุญาตนำข้อมูลเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป

เบื้องหลังการคว่ำร่างรธน. : เดาอย่างไรก็ถูกทุกข้อ/สุทธิชัย หยุ่น

ไม่ว่าคุณจะวิเคราะห์เบื้องหลัง ของการที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ //www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635513#sthash.b5azQTlC.dpuf

ด้วยคะแนน 135-105 โดยงดออกเสียง 7 ท่านเมื่อวันอาทิตย์ไปทางไหน อย่างไรเสียคุณก็คาดเดาไม่ผิด


เพราะทุกทฤษฎีที่นำมากล่าวอ้างกันนั้นล้วน “ถูกทุกข้อ”


ที่ว่าถูกทุกข้อเพราะไม่มีใครบอกความจริงกับใคร ทุกคนรู้เหตุผลส่วนของตน ทุกคนรู้ว่าใครมาล็อบบี้กับใคร และทุกคนก็ตัดสินใจว่าจะสนับสนุน หรือคัดค้านก็ด้วยเหตุผลที่ตนเท่านั้นที่รับรู้
ไม่ว่าเหตุผลนั้นจะเป็นเพราะ


1. เขียนด้วยมือ จะลบด้วยเท้าได้อย่างไร
2. รู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเขาร่างเพื่อไม่ให้ผ่าน
3. ถ้าผ่านจะวุ่นวาย ความขัดแย้งจะสูงขึ้น ถ้ามีการรณรงค์ให้คว่ำในการทำประชามติ
4. ก็ คสช. เขาขอมานี่นา
5. ไม่ผ่านได้อย่างไรในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้เขียนให้ “พลเมืองเป็นใหญ่”
6. ถ้าผ่าน ประชาธิปไตยของไทยก็ล่มสลาย
7. ถ้าไม่ผ่าน ก็เข้าทาง คสช.
8. ถ้าผ่าน ก็เข้าทาง คสช.
9. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อต่อต้านนักการเมืองโดยตรง
10. ถ้าร่างนี้ไม่สกัดความชั่วร้ายของนักการเมืองโกงกิน จะเรียกว่าปฏิรูปได้อย่างไร


ไม่ว่าสมาชิก สปช. ยกมือสนับสนุนหรือคัดค้านเมื่อวันลงคะแนนเสียง ก็เข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งข้อทั้งสิ้น


เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในโลกที่ถือว่า “สมบูรณ์แบบ” ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันได้ในทุกประเด็น


มีแต่กฎหมายสูงสุดที่เป็นกรอบกติกาที่เหมาะสมสำหรับสังคมนั้นๆ โดยต้องมีหลักการตรงกันประการหนึ่งว่าประชาชนต้องมีอำนาจใหญ่ที่สุด และต้องสามารถตรวจสอบและควบคุมพฤติกรรม ของผู้อาสามาทำงานเพื่อประเทศชาติให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด


ยิ่งประเทศไหนต้องเขียนลงรายละเอียดมาก ก็ยิ่งแปลว่าประเทศนั้นมีปัญหาของพฤติกรรมของคนในสังคมมาก


สหรัฐแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของเขา เมื่อมีประเด็นสังคมที่ต้องการจะวางกติกาให้ชัดเจน หรือเสริมจากที่เคยมีเรียกเป็น Amendments


ของอังกฤษ เขาเคารพในความเป็น “พลเมืองผู้รับผิดชอบร่วมกัน” จึงไม่ต้องมีอะไรเป็นรัฐธรรมนูญทางการ เรียกเป็น Common Law หรือ “Unwritten Constitution” (“รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องเขียนเป็นตัวหนังสือ”)
ยิ่งต้องเขียน “ล้อมคอก” มากก็ยิ่งแปลว่าคนในวงการการเมืองประเทศนั้น มีลูกเล่นลูกล่อลูกชนที่จะพยายามหลบหลีกกฎกติกามาก


เนื้อหาของรัฐธรรมนูญประเทศไทยที่ผ่านมาจึงสะท้อนถึงสภาพปัญหาสังคมในขณะนั้น ๆ อย่างเห็นได้ชัด


ร่างฉบับที่เพิ่งถูกคว่ำไปก็เข้าทำนองเดียวกัน นั่นคือการพยายามจะเขียนล้อมหน้าล้อมหลัง เพื่อไม่ให้นักการเมืองฉ้อฉลเข้ามาทำร้ายบ้านเมืองอีก


มิหนำซ้ำ เนื้อหาของร่างนี้ยังสะท้อนถึงความกลัวว่ากระบวนการรัฐสภาปกติ ไม่อาจจะดูแลปัญหาของบ้านเมืองได้ หากเกิดความวุ่นวายเพราะความขัดแย้ง จึงมีกลไก “อำนาจพิเศษ” เพื่อจะ “รับสถานการณ์” เช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “นายกฯคนนอก” หรือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ” ที่กลายเป็น “รอยตำหนิ” ที่ชัดเจนของร่างนี้


ทั้งผู้ร่างและผู้ต้องยกมือรับหรือไม่รับ ต่างก็มีอาการกระอักกระอ่วนต่อการทำหน้าที่ของตนเอง และหากไปถึงชั้นทำประชามติ ก็อาจกลายเป็นความพะอืดพะอมของประชาชนทั่วไป


สรุปแล้วไม่มีอะไรต้องตื่นเต้นกับการที่ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเป็นเกมการเมืองที่ความจริงถ้าไม่ติด “กับดัก” กับความหมกมุ่นกับการ “ออกข่าว” ของแต่ละฝ่ายตั้งแต่ต้น ก็น่าจะเห็นภาพนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้งวงยกร่างเมื่อ 9 เดือนก่อนแล้วด้วยซ้ำไป


จากนี้ไปไม่มีอะไรจะสร้างความแปลกใจให้กับใครได้อีกแล้ว... เพราะความน่าแปลกใจที่แท้จริง คือความเชื่อที่ว่าการร่างรัฐธรรมนูญคือการ “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง”


เพราะยังไม่มีสัญญาณอะไรที่จะบอกว่า กระบวนการที่เราเห็นอยู่ขณะนี้ จะนำไปสู่สองเป้าหมายนี้เลยแม้แต่น้อย/จบ

..............................................................................................................................

ขออนุญาตนำเนื้อหาเรื่องนี้จากมติขนรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา ดังนี้

//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1441865038

คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดย วีรพงษ์ รามางกูร



การที่สภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดร่างขึ้น ที่ใช้เวลาเกือบปีจึงมาถึงจุดนี้ ด้วยคะแนนเสียงที่ก้ำกึ่งคือ 135 ต่อ 105 ไม่ออกเสียง 7 เสียง ที่ว่าก้ำกึ่งก็เพราะว่าถ้าหากสมาชิกสภาปฏิรูปจำนวนไม่มาก กล่าวคือประมาณ 25 เสียง ย้ายข้างจาก "ไม่รับ" เปลี่ยนมาเป็นลงมติ "รับ" ร่างรัฐธรรมนูญก็คงผ่านไปให้ประชาชนลงมติ รับหรือไม่รับต่อไป
หลายคนตั้งข้อสังเกตด้วยความสงสัยว่า คสช.หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คงจะมีเป้าหมายที่จะไม่ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหลายคนเดาเอาว่าเพื่อจะได้ยืดเวลาของรัฐบาลรัฐประหารออกไปอีก 6 เดือน เพราะ คสช.ต้องตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จำนวน 21 คน เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งไม่น่าจะจริง
บางคนก็ตั้งข้อสังเกตด้วยความสงสัยว่า อาจจะเป็นเพราะทางคณะทหารไม่กล้าเสี่ยงให้มีการจัดประชามติ เพราะฟังเสียงดูแล้วว่าหากลงประชามติแล้ว ปรากฏว่าไม่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ที่มาลงคะแนนเสียงประชามติ ความชอบธรรมของคณะทหารที่ทำการรัฐประหารก็จะหมดลงทันที ฝ่ายประชาธิปไตยที่ต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารก็จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากคณะทหารที่ทำการปฏิวัติรัฐประหาร และอาจจะลุกลามไปถึงการขาด "ความชอบธรรม" ที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปด้วย
ระยะหลังๆ นี้ การวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมีมากขึ้นตามลำดับ ประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีมากมายหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ยกให้ "พลเมืองเป็นใหญ่" อย่างที่ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญพยายามอรรถาธิบาย
เพราะจะมีการสถาปนาองค์กรที่มีอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎร เหนือคณะรัฐมนตรีและอาจจะเหนือฝ่ายตุลาการด้วย อีกทั้งจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาก็มิได้มาจากประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้ง
ยังมีบทบัญญัติอื่นๆ ที่ขัดกับหลักที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและประชาชนชาวไทยเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น แต่จะมีองค์กรสูงสุดอีกองค์กรหนึ่งที่เรียกว่า คปป.หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ ที่มาจากการแต่งตั้ง ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง
แม้ว่าจะบัญญัติว่า คปป.จะใช้อำนาจนี้เมื่อมีวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนเกิดทางตันไม่มีทางออกก็ตาม เห็นอย่างนี้จะบอกว่า "พลเมืองเป็นใหญ่" ได้อย่างไร
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร ที่ร่างขึ้นแล้วไม่ผ่านสภาปฏิรูปที่ตั้งโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติ เสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรกลับเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป ที่เป็นนายทหารประจำการและบางส่วนจากทางทหารที่เกษียณอายุราชการแล้ว เสียงกลุ่มนี้หากเทไปให้ฝ่ายที่ออกเสียงให้ความเห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะผ่านให้ประชาชนลงประชามติ
การลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีผลกระทบต่อพันธมิตรของคณะรัฐประหารหลายคณะ เป็นต้นว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปที่มาจากเอ็นจีโอและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งจะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่แก้ไขเพิ่มเติม
คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ เหตุใดคณะรัฐประหาร จึงเปลี่ยนใจอย่างกะทันหัน โดยการให้สมาชิก สปช.กับทหารลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาเกือบปีจึงจะมาถึงจุดนี้ได้ และเมื่อร่างใหม่จะยังคงหลักการสำคัญๆ ของร่างฉบับที่ถูกคว่ำไปหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบ
แนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ก็น่าจะมีเพียง 2 แนวทางเท่านั้น แนวทางแรกก็คือการมีรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติแบบปกติ ตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่บัญญัติให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย มีสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและตุลาการเป็นผู้ใช้อำนาจแทน
อีกแนวทางหนึ่งคือเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐประหารเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยคณะรัฐประหารยังคงอยู่ในรูปคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือ คปป.
ทั้ง 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายที่ไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตยโดยสภาผู้แทนราษฎร เห็นว่ารัฐบาลคณะรัฐประหารปัจจุบันควรอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปี เพื่อดำเนินการปฏิรูปและเพื่อสลายฝ่ายที่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา
กับอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าขณะนี้บรรยากาศเปลี่ยนไปมาก การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ การไปเจรจาเพื่อให้เข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ ขอความร่วมมือเพื่อไม่ให้กีดกันประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีในสนธิสัญญาการค้าและการลงทุนเสรี ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นเหตุให้การส่งออกสินค้าและบริการของเราหดตัว หรือมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าอัตราที่ควรจะเป็น จนเกิดความกดดันภายในประเทศ เพราะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาการล่มสลายของวิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง และกำลังกลายเป็นหนี้เสียที่กำลังลุกลามเป็นปัญหาของธนาคารพาณิชย์
ซึ่งถ้าไม่ตระหนักป้องกันก็อาจจะกลายเป็นวิกฤตทางการเงินได้อีก แม้ประเทศไทยจะมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงแข็งแรงอยู่ เพราะยังมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในอัตราที่สูง
ความเป็นห่วงในเรื่องเศรษฐกิจจะนำไปสู่ความยุ่งยากทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผล ถ้าแนวโน้มทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปอย่างนี้ สถานการณ์ก็อาจจะลุกลามไปถึงเสถียรภาพทางการเงิน ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนตัวลงผ่านทางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การเคลื่อนย้ายของเงินทุนทำให้ดุลการชำระเงินขาดดุล เพราะการเกินดุลบริการไม่ใหญ่พอที่จะชดเชยการขาดดุลการค้าและการเคลื่อนย้ายของเงินทุน
สิ่งเหล่านี้อาจจะแปลออกไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองได้โดยง่าย หากขาดการบริหารจัดการ การประชาสัมพันธ์ การทำความเข้าใจกับประชาชนระดับรากหญ้าในภาคเกษตร กับประชาชนในเมืองที่ถูกกระทบจากรายได้ที่เคยมี ความมั่นคงก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพและขาดความมั่นคง
ขณะนี้ผู้คนยังรู้สึกแปลกใจว่า เหตุใดคณะทหารที่ทำการรัฐประหารจึงเปลี่ยนใจไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แล้วร่างใหม่หน้าตาจะเป็นอย่างไร ข้อจำกัดในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงจะยิ่งมีมากขึ้น กระแสเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เดินตามแนวทางประชาธิปไตย ยอมรับหลักการว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนชาวไทย ผู้ใช้อำนาจอธิปไตยต้องอยู่ใต้อาณัติของปวงชน จะมีกระแสสูงขึ้น
การปฏิเสธระบอบการปกครองประชาธิปไตยของหัวหน้าคณะรัฐมนตรี จะเป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับไม่ได้ กระแสการเรียกร้องต่างๆ จะยกระดับสูงขึ้นตามลำดับ แม้ว่าขณะนี้จะยังสามารถพูดได้อย่างไม่เคอะเขินเลยก็ตาม เหตุการณ์ต่างๆ คงจะเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดดุลยภาพและเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้าหากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 ท่านที่นายกรัฐมนตรีกำลังจะแต่งตั้งขึ้นร่างรัฐธรรมนูญ แล้วไม่ผ่านประชามติอีกแม้ว่าท่านผู้รู้อ้างว่าหัวหน้า คสช.อาจจะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 44 พิจารณาหยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือฉบับปี 2540 มาปรับปรุงก็ได้ แล้วประกาศใช้ไปเลย ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหา
โดยเฉพาะความชอบธรรมของผู้ตัดสินใจว่าทำไมจึงหยิบมาใช้ จะหยิบฉบับใดมาใช้ ใช้อย่างไร แก้ไขปรับปรุงอย่างไร ทุกเรื่องยังมีปัญหาและเวลาการอยู่ในอำนาจคงจะเกินแผนการที่วางเอาไว้

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่มีใครเข้าใจว่าทหารสั่งคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างเสร็จแล้วทำไม เพื่ออะไร ดึงกันไปดึงกันมาระวังจะหมดเวลาตามโรดแมป/จบ

.....................................................................................................

ขออนุญาตนำเนื้อหาเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวันมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไป ดังนี้

"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" ชี้ปัญหาในประเทศไทยคือ"การหลอกตนเอง"

//www.bangkokbiznews.com/news/detail/664973

คณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้จัดงาน ครบรอบ 50 ปี  และในงานได้มีการปาฐกถาโดย "ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในหัวข้อ การจัดการความจริง-ความลวงในสื่อกับศานติภาวะของสังคมไทย" 

โดยเขา ได้ระบุว่า ความสำคัญระหว่างนิเทศศาตร์กับความจริงถือว่าเป็นผลผลิตของการสร้างชุมชน ซึ่งในภาควิชาสสังคมศาสตร์ ในศตวรรษที่ 20 ถึง ปัจจุบันได้ให้เหตุผล เกี่ยวกับความจริงว่าเป็นความเข้าใจในอำนาจของคำหรือการเปลี่ยนแปลง ในอำนาจของภาษา  หากจะอธิบายความจริง ผ่านถ้อยคำ อาจทำให้เกิดปััญหาที่ว่าจะเผชิญความจริงได้อย่างไร เพราะการสื่อสารผู้พูดมักจะเลือกคำมาพูด แต่ผู้ฟังจะเข้าใจอย่างไรเป็นเรื่องของผู้ฟัง ซึ่งถือว่าเป็นธรรมชาติ ที่ผู้พูดไม่สามารถทำให้คนเข้าใจอย่่างที่คำพูดได้ ดังนั้นการสื่อสารจึงมีความสัมพันธ์กับความจริง

ในประเทศไทยมีปัญหากับการจัดการทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งคน ทั้งเรื่องที่ดิน หรือ 21 อรหันต์ ที่จะเข้ามาทำงาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมักจะมีกระบวนการจัดการกับความจริง ซึ่งทีผ่านมาการจัดการกับความจริงเกิดขึ้นมาตลอด ทั้งเรื่องความจริงทางการค้า ความขัดแย้งทางการเมือง การสงคราม สิ่งแรกที่มักจะถูกจัดการก็คือความจริง แต่ในปัจจุบันปัญหาของความขัดแย้งที่รุนแรงท่ามกลลางสังคมที่แตกแยกเป็นส่วนๆ ตนไมก็ไม่ทราบว่าาความจริงอยู่ตรงไหน

"นอกจากนั้น ปัญหาโลกทางการเมืองเหตุผลข้ออ้างมากจะนำมาถูกจัดการกับความจริงซึ่งทำให้เกิดความสับสนว่าเหตุที่นำมาอ้างนั้นเป็นความจริงหรือไม่ เช่นการยึดอำนาจล้วนมีปรากฏการณ์ มีเหตุผล มีข้ออ้างจนทำให้ ประเด็นต่างๆนั้นกลายเป็นความจริงทั้งที่จะจริงหรือไม่ก็ยังไม่ชัดเจน"  

ดร.ชัยวัฒน์ ระบุว่า ขอยกตัวอย่างว่าในภ่าวะสงครามที่มีการใส่ร้ายป้ายสี มีโฆษณาชวนเชื่อ แต่โจทย์ที่นำมากล่าวอ้างมักจะถูกผลิตออกมา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแยกประเด็นของข้อเท็จจริง ออกจากความจริง ทั้งนี้ข้อเท็จจริงจะหมายถึงการโยงกับประสาทสัมผัส แต่ความจริงจะมีนัยยะทางสังคมมากกว่าเพราะการรับรู้ ตามเหตุผลของแต่ละบุคคล ซึ่งในข้อเท็จจริง หรือความเป็นจริง เมื่อมาถึงบุคคลเดียวกันเมื่อมาถึงช่วงเวลาที่ต่างกัน ความหมายก็จะไม่เหมือนกันคล้ายกับปรากฏการณ์ของฝนตกที่บางคนบอกว่าให้คงวามชุ่มฉ่พ แต่ในบางเวลาก็ถูกมองว่าสร้างความเปียกแฉะ  

การมีอยู่กับการไม่มีอยู่พึงพิจารณาไตร่ตรงเช่น  การเมืองมักมีตัวแทน แต่อาจจะไม่ใช่ตัวจริง ซึ่งตัวแทนที่เราเห็นเขาอาจไม่ใช่ตัวจริง วันนี้หากพูดถึงจำนวน และสิทธิของคนที่สามารถลงคะแนนประชามติได้ จะมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน แต่ปัญหาคือการมีตัวแทนก็จะมีอยู่เท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด  

ซึ่งตรงนี้มีข้อถกเถียงในเรื่องของคนที่จะมาทำประชามติ โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้ชี้แจงว่า ผลโหวตต้องดูจากคนที่มาลงคะแนน ไม่ได้ดูจากคนที่มีสิทธิ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น เรื่องความเป็๋นตัวแทนในประเทสไทยยังมีปัญหา ทั้งนี้ในทางการเมืองของระบบตัวแทน  ที่ผ่านมาย่อมมีเป้าหมาย แต่การจะนำไปสู่เป้าหมายทางสังคมย่อมขึ้นอยู่กับตัวแปร โดยปัจจุบันเราต้องยอมรับว่าสังคมแบ่งเป็นสองขั้ว และแต่ละขั้วก็มีตัวแทนและตัวจริงอยู่จริง ซึ่งสังคมไทย ในประเด็นเรื่องตัวแทนในระบบการเมือง  มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การเมืองมักจะสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อมากลบประวัติศาสตร์ในส่วนอื่นๆเช่นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ดังนั้นประเด็นดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการขัดแย้งที่เกิดขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ เช่นในพื้นที่ภาคใต้ ดังนั้นสังคมที่มีตัวแทนมักมีความจริงที่ต่างกัน เป็นความต่างที่ดำรงอยู่ไม่ใช่  ซึ่งถือเป็นธรรมชาติฐานะตัวแทนของความจริง  

"ในปี 2540 มีผู้พยายามจัดการกับความจริงด้วยสันติวิธีแต่ก็ถูกนำไปไว้บนหิ้ง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการจัดการความจริงอีกรูปแบบหนึ่ง  อย่างไรก็ตามความจริงในเชิงข้อเท็จจริงจะมีลักษณะเป็นเผด็จการจะทำใ้หสังคมต้องตั้งคำถามว่าความจริงอยู่ที่ไหน และในสังคมทางการเมืองมักจะมีการทำลายข้อเท็จจริงด้วยการเขัียนประวัติศาสตร์ใหม่หรือการสร้างภาพพจน์หรือการโกหก ซึ่งการโกหกทางการเมืองที่นำไปสุ่การรับรู้ของสาธารณะถือว่าเป็นการลบประวัติศาตร์ของบุคคลออกไป ทั้งนี้การใช้ความพยายามเพื่อให้กลุ่มคนเงียบก็ถือเป็นการจัดการความจริงอีกรูปแบบ" 

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาและส่งผลกระทบตามมาได้ แต่จะมีผลอะไรตามมาต้องช่วยกันพิจารณา ซึ่งการศึกษาเรื่องการโกหกยุคใหม่ ที่เกี่ยวกับการซ่อนจะมีผลน้อยกว่าการทำลายเรื่อง ส่วนตัวมองว่าผู้ที่ทำหน้าที่บอกความจริงถือเป็นตัวกลางของคนสองฝ่าย โดยงานวิจัยสามารถที่จะบ่งบอกได้ว่าความรุนแรงอยู่ตรงไหนและวิธีการจัดการกับความจริงการ การที่บอกว่าสังคมไทยมีความรุนแรงแม้จะมีผลกระทบแต่ก็จะนำไปสู่จุดเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ปัญหาในประเทศไทยก็คือ "การหลอกตนเอง" 

ในปี 2553 มีรายงานที่ศึกษาเรื่องข้อเท็จจริงของการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งในรายงานมีข้อมูลที่เลือกจะบอกรายละเอียดไม่เหมือนกัน ทำให้เห็นว่าแม้การศึกษาความจริงก็ยังมีความลับ มีข้อมูลไม่ตรงแม้จะเป็นเหตุการณ์เดียวกัน เรื่องเดียวกันในสถานการณ์เดียวกัน จึงทำให้ไม่แน่ใจงว่าความจริงอยู่ตรงไหน ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองจะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตัวละครที่หลากหลาย  ทำให้ความเป็นจริงมีหลายชั้น อย่างไรก็ตามเมื่อถามเรื่องมุมมองทางการเมืองต่อสถานการณ์ความขัดแย้ง

ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังเผชิญหน้าอยู่กับความอันตรายเนื่องจากความซับซ้อนชของความขัดแย้งที่จะนำพาประเด็นไปสู่การไม่สามารถที่จะประสานสัมพันธ์หรือประสานประโยชน์ของบุคคลในฝ่ายต่างๆได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ โดยตนมองถึงตัวปัญหามากกว่าตัวบุคคล ดังน้ั้นสิ่งที่สาธารณะต้องติดตามในข้อมูลที่มีความซับซ้อนนั้นต้องมองให้เห็น ถึงความขัดแย้ง ที่อาจจะมองไม่เห็นอย่างชัดเจนในปัจจุบัน  

"ประเทศไทยอาจจะเข้าสุ่จุดอันตรายหากเพราะด้วยความศับซ้อนของข้อมูลที่ไม่ยอมเปิดเผยออกมา และนำมาซึ่งการไม่สานสัมพันธ์ของหลายฝ่าย และในที่สุดอาจะไม่มีทางออก"/จบ

...............................................................................................................................

ขออนุญาตบีบีซีไทย นำเนื้อหามารวบรวมไว้ เพื่อการศึกษาดังนี้

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสเครือเดอะเนชั่น ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย หลังประกาศลาออกจากต้นสังกัด เขาให้เหตุผลว่าต้องการลดแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกที่มีต่อผู้บริหาร จึงตัดสินใจลาออกหลังจากทำงานที่เดอะเนชั่นมานาน 23 ปี

ประวิตร บอกด้วยว่าไม่ได้มีปัญหาในการทำงานกับ นสพ.เดอะเนชั่น เพราะทำงานกันอย่างมีอารยะ เชื่อว่าความเข้มแข็งของสังคมอยู่ที่ความหลากหลายทางความคิด เคารพความคิดซึ่งกันและกัน ไม่มีปัญหาว่าใครจะ “สี” อะไร ตราบใดที่ทำงานกันอย่างมืออาชีพ

เขาบอกด้วยว่า อยากเห็นสื่อต่าง ๆ มีพื้นที่สำหรับผู้มีความเห็นต่างในองค์กร ซึ่งจะเอื้อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในสิ่งนี้ ประวิตร ยืนยันว่าหลังจากนี้จุดยืนที่มีต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อของเขาจะยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่อาจต้องหาสถานที่อื่นแสดงบทบาทต่อไป

เขาบอกด้วยว่าสิทธิเสรีภาพในการทำงานในช่วงที่ผ่านมาถูกจำกัด แต่เขาคิดว่าสื่อควรมีหน้าที่ตอกย้ำให้คนเข้าใจว่าไม่ได้อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ปกติ เพราะหากยอมรับว่าระบอบอำนาจนิยมเป็นสิ่งปกติ ต่อไปรัฐประหารก็คงเกิดขึ้นอีก ซึ่งจุดนี้เขาได้แลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ทหารทั้งระดับกลางและระดับสูงของกองทัพที่เรียกเขาไปปรับทัศนคติด้วย/จบ

..............................................................................................................................





Create Date : 05 กันยายน 2558
Last Update : 19 กันยายน 2558 3:13:57 น. 0 comments
Counter : 1519 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com