<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
28 สิงหาคม 2558
 

ว่าด้วย ‘รากหญ้า’ และ ‘บิ๊ก ๆ’ ในการเมืองไทย

ขออนุญาตนำเนื้อหาเรื่องนี้ของคุณสุทธิชัย หยุ่น จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน
มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาต่อไปดังนี้

ว่าด้วย ‘รากหญ้า’ และ ‘บิ๊ก ๆ’ ในการเมืองไทย/สุทธิชัย หยุ่น

//www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635425
นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ชอบคำว่า “รากหญ้า” 
ขอให้คนไทยใช้คำว่า “ผู้มีรายได้น้อย” แทน 
 เพราะสังคมไทยไม่ควรจะมีการแบ่งชนชั้น

ในคำปาฐกถาพิเศษเปิดสัมมนา “ปฏิรูปการศึกษาสร้างอนาคตประเทศไทย” 

ตอนหนึ่งท่านบอกว่า

“...วันนี้ ขออนุญาตใช้มาตรา 44 ไม่ให้ใครในประเทศนี้ ห้ามเรียกคนเหล่านี้ว่ารากหญ้า 

ให้เรียกว่าคนมีรายได้น้อย มีการศึกษาน้อย ต้องยกระดับพวกเขามาให้เท่าเทียม 

อย่าไปเรียกว่าเป็นรากหญ้า วันนี้ บ้านเมืองไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นแล้ว 

ไม่มีอำมาตย์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อำมาตย์ก็คือข้าราชการ 

เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว จะมาดูแลประชาชน...”


คำว่า “รากหญ้า” ถูกใช้ไปในความหมายทางการเมืองอย่างไรเป็นการตีความของแต่ละคน 

แต่ที่มาของคำนี้คือ grassroots ในภาษาอังกฤษ

แรกเริ่มคำนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยหรือมาก 

เป็นคำที่สะท้อนถึงพลังของคนชุมชนท้องถิ่นที่รวมตัวกัน

เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับระดับชาติ

อีกความหมายหนึ่งของ grassroots movement 

คือขบวนการสังคมชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ 

เป็นการรวมตัวของคนในชุมชนที่มีความรู้สึกร่วมกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง

แตกต่างไปจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่มีการ “จัดตั้ง”

ที่มีคนบางกลุ่มหรือบางคนหนุนหลังอยู่


อีกนัยหนึ่ง คำว่า “ความเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า”

หมายถึงความใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น ชาวบ้านธรรมดาที่แตกต่าง

ไปจากคนหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือมีตำแหน่งแห่งหนหรือมีฐานะที่ดีกว่าคนอื่น

แต่เมื่อนักการเมืองไทยเอานโยบาย “ประชานิยม” 

มาใช้ก็หยิบเอาคำว่า “รากหญ้า” มาประกบ 

ทำให้ตีความว่าเป้าของการหว่านเงินเพื่อประโยชน์ในการหาความนิยมของพรรคการเมือง 

นั้นคือคนที่ยากจนแร้นแค้นและพึ่งพาตนเองไม่ได้


เพราะความผิดเพี้ยนนี้ คำในการเมืองไทยคำว่า “ประชานิยม”

กับคำว่า “รากหญ้า” จึงถูกนำมาใช้ในความหมายที่แบ่งแยก

ระหว่างคนมีอำนาจและมีเงิน กับคนที่ต่ำต้อยไม่มีทั้งเงินและไม่มีทั้งอำนาจต่อรอง


ทั้งที่ความจริงแล้วรากศัพท์ของ “รากหญ้า” มีความหมายตรงกันข้าม 

เพราะ “ความเคลื่อนไหวรากหญ้า” คือกลุ่มคนที่รวมตัวกันต่อรองกับอำนาจทางการเมือง

ระดับชาติ หรือหนุนเนื่องการเมืองระดับนโยบายให้สามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทาง

ที่คนในท้องถิ่นต้องการ 


จะว่าไปแล้ว หากตีความคำว่า “รากหญ้า” ให้ถูกต้อง 

พลังจากชุมชนที่เรียกว่า grassroots movement อยู่ตรงกันข้ามกับการเมือง

แบบประชานิยมด้วยซ้ำไป


ดังนั้น คำว่า “รากหญ้า” จึงไม่ได้มีความหมายเหมือน “คนมีรายได้น้อย” เสมอไป 

ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะกลายเป็นเหยื่อของวาทกรรมการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งถึงทุกวันนี้


เพราะหากเราเรียกใครกลุ่มหนึ่งว่าเป็น “ผู้มีรายได้น้อย”

ก็จะเกิดคำถามต่อไปว่า “รายได้น้อย” ที่ว่านั้นคือเท่าไหร่ 

และ “รายได้ปานกลาง” คือเท่าไหร่ อีกทั้ง “เศรษฐี” หรือ “เจ้าสัว”

ที่เราได้ยินบ่อย ๆ นั้นจะต้องมีรายได้และทรัพย์สินเท่าไหร่

จึงจะตรงความหมายที่เราสื่อสารกันในสังคมไทย


ความจริง ที่เราควรจะต้องถกแถลงกันว่าคำไหนควรใช้หรือไม่ควรใช้

เพื่อไม่ให้เกิด “คนหลายชนชั้น” ในสังคมไทยยังมีอีกหลายคำนัก

ไม่ว่าจะเรียกนายทหารว่า “บิ๊ก” เพื่อสื่อความหมายว่ามีอำนาจบารมีมากกว่าคนอื่น

หรือคำว่า “เจ้าสัว” ที่ตอกย้ำว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำรวยมหาศาล 

แต่ไม่แน่ชัดว่ามีส่วนช่วยสังคมให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นเพียงใดหรือไม่


ส่วนคำว่า “อำมาตย์” กับ “ไพร่”

นั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งวาทกรรมการเมืองของความขัดแย้งไปโดยสมบูรณ์แล้ว 

มิอาจจะนำมาวิเคราะห์ด้านภาษาและนัยของความหมายดั้งเดิมได้เลยแม้แต่น้อย/จบ

..................................................................................................................................

ขออนุญาตนำข้อมูลจากกรุงเทพธุรกิจรายวัน รวบรวมไว้เพื่อการศึกษา ดังนี้

อย่างไรคือ ‘ประชานิยม’?/สุทธิชัย หยุ่น

//www.bangkokbiznews.com/blog/detail/635488#sthash.QKYr17Et.dpuf

การฉีดเงินเข้าสู่ประชาชนชนบท เพื่อกระตุ้นอำนาจการซื้อ และแก้ปัญหาเศรษฐกิจเซื่องซึมระยะสั้น 

ถือเป็น “ประชานิยม” หรือไม่?

“ประชานิยม” นิยามอย่างไร?

ทำไม “ประชานิยม” กลายเป็นคำที่มีความหมายทางลบในการเมืองไทย?

คำตอบมีง่ายนิดเดียว นั่นคือหากการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อพุ่งเป้าไปที่ประชาชน ที่ต้องการความช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้หวังจะได้ “คะแนนนิยม” เพื่อการเลือกตั้งในทุกระดับก็ไม่เข้าข่าย “ประชานิยม” ในความหมายนั้น

เพราะคำนี้มาจาก populist policy ในหลายประเทศที่นักการเมืองเอางบประมาณแผ่นดินและภาษีประชาชน ไปแจกประชาชนเพื่อสร้างความนิยมชมชอบ ให้เลือกตนเองหรือพรรคของตน กลับมามีอำนาจทางการเมืองต่อไปยาวนาน

“ประชานิยม” ในความหมายนี้ยังหมายถึงการหว่านเงินไปตามโครงการต่าง ๆ โดยไม่มีกลไกหรือมาตรการการวัดผลว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริง ต่อประชาชนหรือเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่อย่างไร

“ประชานิยม” ในความหมายนี้ยังมีความหมายด้วยว่า การแจกจ่ายเงินทองของนักการเมืองผู้มีอำนาจนั้น มีผลสร้างให้เกิดปรากฏการณ์ “พึ่งพา” ให้กับประชาชนบางส่วนที่เกิดความเชื่อว่ารัฐบาลจะเข้ามาอุ้มชูในทุกเรื่อง และชุมชนเองไม่ต้องสร้างความรู้หรือภูมิต้านทานของตนแต่อย่างไร ทุกอย่างหวังพึ่ง “บิ๊กบอส” ที่นั่งอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลให้มาแก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างความเหลวแหลกของ “ประชานิยม” ที่สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง ก็มีให้เห็นมาแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็นนโยบาย “จำนำข้าว” หรือ “รถคันแรก” หรือ “บ้านเอื้ออาทร” หรือแม้การแจกแทบเล็ทให้เด็กประถม 1 เป็นต้น

ดังนั้น หากรัฐบาลจะกระตุ้นการใช้จ่ายในชนบทก็จะต้องตั้งมาตรฐานของ “การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย” ใหม่ ด้วยการตั้งกติกาที่ชัดเจนว่า

1. ไม่มีวาระทางการเมืองเพื่อสร้างความนิยมให้กับผู้มีอำนาจ

2. ต้องมีวินัยการคลัง คือไม่ใช่การตั้งโต๊ะแจกเงิน

3. ต้องมีกลไกและมาตรการคัดกรองผู้ที่จะได้รับเงิน

4. ต้องสร้างอำนาจซื้อให้กับชาวบ้านอย่างแท้จริง

5. ต้องส่งเสริมความแข็งแกร่งให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่น

6. ต้องไม่นำไปสู่ “วัฒนธรรมพึ่งพา”

ทั้งหมดนี้ย่อมแปลว่ารัฐบาลมีหน้าที่จะต้องดูแลความผาสุกของประชาชน ด้วยการใช้ภาษีของประชาชนในการเสริมสร้างอำนาจต่อรองของประชาชน

การทำหน้าที่ของรัฐบาลที่สำคัญคือสร้างความเป็นธรรมในสังคม อันหมายถึงการที่จะต้องไม่ให้เกิดช่องว่าง ระหว่างคนมีกับคนไม่มีมากจนกลายเป็นความเหลื่อมล้ำ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง อย่างที่เราเห็นมาแล้วทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ

การกำหนดให้มีความเป็นธรรมในสังคมย่อมหมายความว่าคนรวยจะต้องช่วยคนจน และเป็นหน้าที่ของผู้อาสามาบริหารบ้านเมือง จะต้องมีมาตรการให้คนรวยเสียสละเพื่อให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ และสามารถอยู่ร่วมในสังคมโดยไม่เกิดการเผชิญหน้าที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ

การสร้าง “ความนิยมชมชอบ” ของนักการเมืองในการบริหารประเทศเป็นเรื่องถูกต้องและสมควรจะทำ แต่ต้องไม่ใช่ด้วยวิธีมักง่ายและ “กินตามน้ำ” อย่างที่เราเห็นในประเทศไทย

การสร้างความนิยมหรือ popularity ไม่ใช่ความผิด แต่การสร้างความชื่นชอบทางการเมือง ด้วยการใช้เงินภาษีผิดลู่ผิดทาง และส่อไปในทางสร้างประโยชน์ให้กับตน มากกว่าเพื่อความถูกต้องของสังคมเรียกว่า populism

ข้อแรกคือ “ความนิยมที่ชอบธรรม”

อย่างหลังคือ “ความชื่นชอบที่มีวาระซ่อนเร้น”/จบ

..................................................................................................................................





 

Create Date : 28 สิงหาคม 2558
0 comments
Last Update : 19 กันยายน 2558 3:00:17 น.
Counter : 1471 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com