<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 สิงหาคม 2558
 

คำผกา วิเคราะห์กรณี"ระเบิด"ที่ไปไกลกว่า"สี่แยกราชประสงค์"

ขออนุญาตนำข้อมูลของมติชนรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษาดังนี้

คำ ผกา วิเคราะห์กรณี "ระเบิด" ที่ไปไกลกว่า 

"สี่แยกราชประสงค์"

คำ ผกา/ก้าวแรก/มติชนสุดสัปดาห์ 21-27 สิงหาคม 2558

เหตุระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา
ค่อนข้างน่าตระหนกและเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้สำนักข่าวทั่วโลกต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างพร้อมเพรียงกันเพราะบริเวณจุดเกิดเหตุคือใจกลางเมืองหลวงและเป็นย่านที่มีนักท่องเที่ยว นักเดินทางใช้ชีวิตอยู่อย่างคับคั่ง

แน่นอนว่าศาลพระพรหมนั้นคือแลนด์มาร์กสำคัญเกือบจะที่สุดของกรุงเทพฯ 
ในสายตาของต่างชาติ
เหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ไม่เพียงแต่ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน 
นำความโศกสลดมาสู่ผู้ที่เสียหายเกี่ยวข้อง แน่นอนว่าทำลายความเชื่อมั่นของธุรกิจการท่องเที่ยวอันเป็นธุรกิจเดียวที่เป็นเส้นเลือดหลักของเศรษฐกิจของประเทศอยู่ ณ ขณะนี้
แต่มันยังได้ทำลายมายาคติหลายอย่างของสังคมไทยลงไปด้วย
หนึ่งในมายาคติที่ว่านั้นคือ "เมืองไทยคือดินแดนแห่งความร่มเย็นเป็นสุข"
คาถาแห่งการก่อร่างสร้างชาติและสร้างความรักความภาคภูมิใจให้กับคนไทย
คือ เราถูกทำให้เชื่อว่า ประเทศของเรานี้เป็นประเทศเดียวที่รอดพ้นจากภัยพิบัติทางสงครามทั้งปวงที่ประเทศอื่นๆ เจอ ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกทั้งสองครั้ง
แบบเรียนประวัติศาสตร์ไทย พูดถึงสงครามโลกทั้งสองครั้งน้อยมาก 
และน้อยที่สุดเมื่อพูดถึงความเกี่ยวข้องของสงครามทั้งสองครั้งกับประเทศไทยและผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ อิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ภูมิปัญญา 
การก่อกำเนิด ขบวนการทางการเมืองผ่านการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ 
ขบวนการของกลุ่มนักคิด นักเขียน ฯลฯ
แน่นอนที่สุด ไม่ได้พูดถึงความเสียหายของชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยอันเนื่องมาจากสงครามเลย
ไม่ปฏิเสธว่า ความเสียหายของเราคงไม่เทียบเท่าญี่ปุ่น หรือเยอรมนี
แต่การไม่พูดถึงโดยสิ้นเชิง ทำให้มายาคติที่บอกว่า "บ้านเมืองไทยร่มเย็นเป็นสุข" แจ่มชัดในมโนทัศน์ของคนไทย เพราะมันทำให้เราเห็นว่า ท่ามกลาง "สงครามโลก" นั้น ประเทศนั้นเป็นจุดโหว่ของความเสียหายทั้งปวงที่เกิดขึ้น 
ในขณะที่บ้านเมืองอื่นลุกเป็นไฟ บ้านเมืองเราเขียวขจีดีงามอยู่ชาติเดียว
ช่างโชคดีอะไรเช่นนั้น!!
ไม่นับว่าเราไม่เคยเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับผลกระทบของความขัดแย้งใดๆ 
ในอินโดจีน
แม้กระทั่งความขัดแย้งหรือสงครามที่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง 
เช่น สงครามเวียดนาม ที่ภาคอีสานของเรากลายเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา
มิหนำซ้ำความรับรู้ของเราต่อการได้เป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกา
ก็ยังจำกัดจำเขี่ยอยู่เพียงประเด็นของ "ข้าวนอกนา" - พวกเด็กครึ่งตัวดำผลผลิตของเมียเช่าสาวอีสานที่น่าเวทนา (และน่ารังเกียจไปพร้อมๆ กัน)
กับความขำขันต่อภาษาอังกฤษของเมียเช่าดังปรากฏในเพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่ง
ที่สาวอีสานผู้ไร้การศึกษาเขียนเล็ตเตอร์ถึงเธอเดียร์จอน 
- เรารับรู้เรื่องสงครามเวียดนามเพียงเท่านี้จริงๆ
น่าสลดใจยิ่งกว่าคือ การรับรู้อันน้อยนิดนี้ ยังเป็นการรับรู้ต่อ 
"คนอีสาน", "ผู้หญิง", "คนจน" ในฐานะที่เป็น "ความเป็นอื่น" 
อย่างเต็มรูปแบบเมื่ออ้างอิงต่อระบบคิดเกี่ยวกับความเป็น "ไทย" 
ของ "ผู้รับรู้"
ใกล้เข้ามาอีกนิด การรับรู้ต่อเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของคนไทย
ที่ไม่ได้มีชีวิตอยู่ในสถานการณ์ชายแดนใต้ ฉันคิดว่าเรารับรู้เรื่องนี้อย่างแปลกแยกเป็นอื่นอย่างน่าฉงนเป็นที่สุด
ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในสื่อจนกลายเป็นคำคุ้นหูจนเราหมดความสามารถที่จะตั้งคำถามว่า คำคำนี้มาจากไหน ทำไมเราจึงเชื่อเช่นนั้น เช่นคำว่า "โจรใต้"
เราพูดและเราเขียนคำว่าโจรใต้โดยที่เรายังไม่เคยเห็นใบหน้าของ "โจรใต้" 
ไม่เคยได้ยินเสียงของ "โจรใต้" แน่นอนว่าเราไม่รู้ว่า "โจรใต้" 
แท้จริงแล้วเป็นใครกันแน่
บ้างแย้งขึ้นมาว่า โจรใต้ก็คือพวกวางระเบิดในภาคใต้ไง
คือพวกที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐไง คือพวกที่ยิงทหาร ยิงตำรวจ ยิงครู ยิงพระไง 
คือพวกโจรแบ่งแยกดินแดนไง?
คำถามต่อมาคือ เรารู้ได้อย่างไรว่า คนที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ 
ทหาร ตำรวจ ครู พระ คือคนกลุ่มเดียวกัน?
เรารู้ได้อย่างไรว่าคนที่วางระเบิดที่ภาคใต้คือคนกลุ่มเดียวกัน
ที่เราจะเรียกว่า โจรใต้
เรารู้ได้อย่างไรว่ากลุ่มโจรใต้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเป็นกลุ่มเดียวกัน
แล้วเรามีความรู้เพียงพอหรือไม่ในการทำความรู้จักขบวนการ
และประวัติศาสตร์การแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้
และเรามั่นใจอย่างไรว่า เรามีความเข้าใจต่อคำว่า 
"แบ่งแยกดินแดน" ดีแค่ไหน
เรารู้ได้อย่างไรว่าเราจะไม่เอาความเข้าใจผิดต่อเรื่องการแย่งแยกดินแดน
ที่เราได้ยินมาอย่างผิวเผินจากข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน
ในประเทศอื่นๆ มาเข้าใจเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย
และเราได้เตือนตัวเองบ้างหรือเปล่าว่า เรามีความเข้าใจต่อเรื่องมุสลิมดีแค่ไหน
เราได้เอาอคติเรื่อง มุสลิม เท่ากับ ผู้ก่อการร้าย 
ที่เรารับรู้มาจากการข่าวก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกยุคใหม่มาทำความเข้าใจ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับส่วนที่เป็น Deep South ของไทยที่เป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ในยุคก่อนเกิดรัฐสมัยใหม่
เราไม่เคยถามตัวเองว่าเรามีความเข้าใจต่อเรื่อง "มุสลิม" 
ความหลากหลายของมุสลิม ความหลากหลายของศาสนาอิสลาม ดีแค่ไหน
ดังนั้น เมื่อเกิดความรุนแรงใดๆ หรือความขัดแย้งใดๆ ปะทุขึ้นมา
เราจึงพอใจอยู่เพียงคำว่า "โจรใต้" จากนั้นก็พร้อมจะชิงชังรังเกียจ
น่าตระหนกว่านั้นเมื่อมีคำศัพท์ใหม่ๆ มาให้เรารู้จัก 
ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "โรฮิงญา" "อุยกูร์" ที่เรารับรู้อย่างผิวเผินว่าเขาเป็นอิสลาม
 เราก็พร้อมจะเหมารวม เอา คำว่า อุยกูร์ โรฮิงญา โจรใต้ ผู้ก่อการร้าย
รวมๆ แล้วคือทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น "ส่วนเกิน" ของประเทศไทย 
วิธีที่จะปฏิบัติต่อพวกเขาคือ ทำยังไงก็ได้ที่จะขับออกไปให้พ้นจาก
 "พรมแดน" แห่งความเป็นไทยของเราเสีย
เพราะคนพวกนี้คือศัตรูร้ายที่จะมาทำลาย "ความร่มเย็นของบ้านเมืองไทย
อันเป็นที่รักของเรา" ดังที่รัฐมนตรีท่านหนึ่งที่รับผิดชอบเรื่องการท่องเที่ยวกล่าวว่า "จะไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายชาติอย่างเด็ดขาด"
ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นว่า "ชาติไทย" ในมโนทัศน์ของท่านคือ 
"ชาติที่สงบร่มเย็นกลมเกลียวสามัคคี" อะไรที่อยู่นอกเหนือจากนี้คือเป็นการ "ทำลายชาติ" -- คือความเป็น "อื่น" และคือ "กลายเป็นอื่น"
กระบวนการมองปัญหาแบบ "สร้างความอื่น" เช่นนี้ก่อให้เกิดอะไร 
อย่างหยาบที่สุดคือ มันก่อให้เกิดการสร้างวิธีที่ออกจากปัญหาด้วยการ
 "ขจัดความเป็นอื่น" ออกไปนั่นเอง
การขจัดความเป็นอื่นที่เราคุ้นเคยมากที่สุดก็คือนิสัยเอะอะอะไร
เราก็อยากไล่คนที่เราไม่ชอบขี้หน้าออกนอกประเทศ เพราะเราเห็นว่า 
ประเทศของเราดีแล้ว เพียบพร้อมแล้วทุกอย่าง แต่มันเกิดปัญหา
เพราะคนชั่วไม่กี่คน ดังนั้น อยากแก้ปัญหาของประเทศชาติเหรอ - ง่ายจะตาย
แยกคนดีออกจากคนที่ (เราคิดว่า) คือเป็นตัวสร้างปัญหา 
จากนั้นจับเอาคนที่ชอบสร้างปัญหาทั้งหลายมัดรวมกัน 
ใส่ตะกร้า โยนทิ้งลงมหาสมุทรไปเสีย ทีนี้ในประเทศที่แสนดีของเรา
ก็จะเหลือแต่คนดี ไชโย แก้ปัญหาได้แล้ว ต่อไปนี้ประเทศชาติดีแน่
สังคมที่มีวิธีคิดเช่นนี้ จะเป็นสังคมที่ยากจนความรู้
และขาดการสร้างพลังทางปัญญามาแก้ปัญหาของประเทศ
เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับประเทศชาติของเขา 
แทนที่เขาจะไปเสาะหาว่าปัญหามันเกิดจากอะไร เช่น 
เกิดจากผลพวงความขัดแย้ง ความเข้าใจผิดในอดีต 
เกิดจากความเหลื่อมล้ำ เกิดจากความไม่เป็นธรรม 
เกิดจากการที่คนกลุ่มหนึ่งถูกเลือกปฏิบัติ เกิดจากการขาดกระบวนการรับฟัง 
ถกเถียง เกิดจากการใช้อำนาจที่เกินกว่าเหตุ ฯลฯ 
พวกเขาเลือกที่จะบอกว่า เฮ้ย สังคมเราเป็นสังคมที่ดีอยู่แล้วไม่ต้องแก้อะไร 
แค่หยิบๆ คนชั่วไปทิ้ง ทุกอย่างก็จบ (เราจึงมีสำนวน คำพังเพยในทำนองว่า 
ถ้าคนนั้น คนนี้ไม่อยู่แล้ว แผ่นดินจะสูงขึ้น)
มันน่าฉงนมากว่า ทำไมคนไทยจึงเชื่ออยู่ได้ว่า 
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทยคือเราเป็นสังคมที่สงบร่มเย็น
เพราะแค่เปิดหน้าหนังสือพิมพ์ เราจะพบข่าวอาชญากรรมอันชวนสะพรึงรายวัน
มิหนำซ้ำเรายังเป็นสังคมที่มีความพึงใจกับการเสพข่าวประเภท "ซึ้ง 
แม่วัยแปดสิบ กัดฟันทำงานเลี้ยงลูกที่นอนป่วยเป็นอัมพาต" 
หรือ "ลูกกตัญญู ออกจากโรงเรียนมาดูแลพ่อที่ป่วยหนัก" 
จากนั้นภาพข่าวก็จะเป็นกระต๊อบพังๆ กับสภาพชีวิตที่ชวนสังเวช
แต่เราก็จะยังอึ้งกับ "ความกตัญญู" หรือความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่ เผลอๆ 
คิดไปได้อีกว่า นี่ไง คุณค่าทางศีลธรรม จริยธรรมของเราคนไทย
ช่างน่านับถือจังเลย แทนที่จะเราจะเห็นว่าภาพเหล่านี้สะท้อน 
"ความรุนแรง" อย่างสาหัสในสังคมว่า ถ้ามิใช่สังคมที่บกพร่องในการกระจายความมั่งคั่งอย่างวิกฤติที่สุดแล้ว คงไม่มีภาพแบบนี้ออกมาให้เสพในสื่อ
และเราก็ไม่อาจกลับมาตั้งคำถามกับตัวเราได้เลยว่า 
เราคือหนึ่งในตัวการสร้าง "ความรุนแรง" 
นี้ให้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ต่อไปในสังคมหรือเปล่า?
กระบวนการที่จะหยุดมิให้เราเห็นว่าเราคือหนึ่ง "ความรุนแรง" 
ที่เกิดขึ้นคือ เราจะพากันแห่แหนบริจาคเงินให้ครอบครัว "กตัญญู" นั้น 
แล้วบอกตัวเองว่า "คนไทยใจบุญ" มีอะไรเราก็ช่วยเหลือกัน ดีจังเลย 
จากนั้นเราก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เราเชื่อว่า 
"บ้านเมืองอันสงบร่มเย็น" ต่อไป
มีสถิติที่หากเราตั้งใจอ่านมันจริงๆ จะยิ่งทำให้เราฉงนหนักขึ้นว่า 
ทำไมเราจึงเชื่อว่าเราอยู่ในบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นได้
ข้อมูลจากฐานข้อมูลชายแดนภาคใต้ //www.deepsouthwatch.org/node/6596 บอกเราว่าในปี 2557 
มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นทั้งหมด 793 เหตุการณ์/เฉลี่ยเดือนละ 66เหตุการณ์ /มีผู้เสียชีวิต 330 ราย/เฉลี่ยเดือนละ 28 ราย/มีผู้บาดเจ็บ 663 คน
/เฉลี่ยเดือนละ 55 คน
ถ้าดูสถิติในรอบสิบปี ตั้งแต่ปี 2547-2557/มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ 6,286 ราย/ปีละ 571 ราย/ผู้บาดเจ็บ 11,366 คน/เฉลี่ยเดือนละ 1,033 คน
เหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เมื่อค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 
สร้างความสลดและสะเทือนใจ อีกทั้งก่อความหวาดผวาอย่างไรกับเรา 
ลองคิดดูว่าถ้าคนที่อยู่ภาคใต้ต้องเผชิญกับเหตุกาณ์ความไม่สงบจนมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 28 ราย พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไรตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า เราไม่พึงตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ แต่เหตุการณ์ระเบิด
ที่ใจกลางกรุงเทพมหานครครั้งนี้ ทำให้เราต้องออกจากมายาคติที่ว่า 
บ้านเมืองของเรานั้นร่มเย็นเป็นสุขอย่างปราศจากเงื่อนไข
จากนั้น น่าจะถึงเวลาที่เราพึงมาทำความรู้จัก "บ้านเมือง" 
ของเราอย่างที่มันเป็นจริงๆ
ถึงเวลาเปิดพรมออกมาแล้วกวาดปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมออกมาวางเรียงกันให้เห็น
แม้สิ่งที่อยู่ใต้พรมมันจะไม่ใช่สิ่งน่าดู แต่หากเราไม่เริ่มดู
และไม่เริ่มเผชิญหน้ากับมันเราจะสะสางปัญหาออกไปได้อย่างไร
แค่การต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าบ้านเมืองของเราไม่ใช่บ้านเมือง
ที่ร่มเย็นเป็นสุขก็เพียงพอที่จะทำให้เราต้องหมั่นตรวจสอบการทำงาน
ของหน่วยงานราชการต่างๆ ที่รับผิดชอบความปลอดภัยในชีวิต
และทรัพย์สินของคนที่อยู่ในสังคม เช่น 
เรามีความพร้อมทั้งทางบุคลากรและอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ
ในการรับมือที่เกี่ยวกับการกู้ภัย การช่วยเหลือคนบาดเจ็บ 
การป้องกันคนไม่ให้ได้รับอันตรายเพิ่ม ฯลฯ 
กับเหตุการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน
นอกจากสมรรถนะในการรับมือกับวิกฤติระยะสั้นอันเกี่ยวข้อง
กับชีวิตของคนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว 
เราจะมีสมรรถนะในการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับ "ความไม่สงบ" 
ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตดีแค่ไหน โดยไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง 
ไม่ปลุกเร้าความเกลียดชังเพิ่ม ไม่จับ "แพะ" มารับเคราะห์ เพราะนั่นก็จะยิ่งทำให้สังคมร้าวรานหนักขึ้นไปอีก และไม่ใช่หนทางในการสร้างสังคมที่มีสวัสดิภาพ
ปัญหาที่แก้ไม่ตกของพวกเราในทุกวันนี้ คือ 
เราไม่เคยมีก้าวแรกในการแก้ไขปัญหา
 เพราะก้าวแรกที่เราอาจจะไม่เคยก้าวออกไปเลย 
คือ ความกล้าที่จะทำความรู้จักตัวเองอย่างที่เราเป็น/จบ
........................................................................................................





Create Date : 25 สิงหาคม 2558
Last Update : 25 สิงหาคม 2558 16:54:36 น. 0 comments
Counter : 657 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com