<<
มกราคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
8 มกราคม 2559
 

"ประวัติศาสตร์บาดหมาง" พม่า-ไทย ได้เวลา "ระเบิดตัว" กรณี นช. เกาะสมุย

"ประวัติศาสตร์บาดหมาง" พม่า-ไทย ได้เวลา "ระเบิดตัว" กรณี นช. เกาะสมุย

โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ
ขอนำเนื้อหาดีๆมารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา


ปริศนาโบราณคดี

มติชนสุดสัปดาห์ 1-7 มกราคม 2558



อย่ามองข้ามน้ำผึ้งหยดเดียว

กรณีที่ประชาชนชาวเมียนมา (ต่อจากนี้ไปขออนุญาตใช้คำว่า "พม่า" แทนทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์ได้อย่างลงลึกมากกว่า) ได้แสดงความไม่พอใจต่อผลการตัดสินของศาลไทย ที่มีคำสั่งให้ประหารชีวิตนักโทษชายชาวพม่าสองคนนั้น

จนถึงขั้นปิดด่านพรมแดนเส้นทางค้าขายในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ก็ดี(คือไม่ง้อเม็ดเงินในช่วงเวลางาม)

หรือแม้แต่ปิดสถานกงสุลตามเมืองใหญ่ๆ ชั่วคราวไม่ให้มีการเข้าออกของประชากรสองประเทศก็ดี

เหตุการณ์ที่ซ้ำหนักคือการที่มีพระสงฆ์องคเจ้าออกมาร่วมเดินขบวนประท้วงด้วยก็ดี

ทั้งหมดนี้ ฝ่ายเราอย่ามองเพียงแค่ว่า "เป็นความเข้าใจผิดของคนฝ่ายโน้น"

หรือ "เป็นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว"

หรือ "เป็นการปั่นกระแสสร้างสถานการณ์ของฝ่ายผู้ไม่หวังดีต่อรัฐบาล"

ฯลฯ สุดแท้แต่จะใส่เหตุผลอีกนานัปการลงไป

ทว่า ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์แล้ว ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า "น้ำผึ้งหยดเดียว" หยดนี้ ย่อมมีที่มาจากยาพิษหลายหยดมาก่อนหน้าแล้ว เป็นยาพิษที่คอยกรอกปากกรอกหู ให้ประชากรสองประเทศชิงชังรังเกียจกันและกัน

น้ำผึ้งหยดเดียวหยาดนี้ หากไม่มีมูล ทำไมจึงช่างปลุกเร้า "ความแค้น" ให้พลุ่งโพล่งอย่างง่ายดายเสียเหลือเกินเล่า

สังเกตเห็นได้ว่า ชาวพม่าไม่สนใจที่จะฟังเหตุและผลคำชี้แจงของฝ่ายกฎหมายไทยแต่อย่างใดเลย

ดูประหนึ่งว่าลึกๆ แล้วชาวพม่าเองก็พร้อมจะลุกฮืออยู่ก่อน?

ฤๅความเจ็บปวดครั้งนี้ แท้ที่จริง มันคือทางออกเดียวที่พวกเขาจะได้ถือโอกาสใช้เป็นเวทีระบายอารมณ์ของความเจ็บช้ำน้ำใจที่เก็บกดมานานหลายศตวรรษ?



สงครามแย่งชิง "สุวรรณภูมิ"

ย้อนกลับไปมองความสัมพันธ์ระหว่างพม่า-ไทย ตั้งแต่อดีตกาล เคยมีสักครั้งไหมที่เราจะเขียนประวัติศาสตร์ให้ลูกหลานเราอ่านในลักษณะที่ว่า "ผลัดกันเป็นพระเอกบ้าง ผู้ร้ายบ้าง"

พูดง่ายๆ ก็คือ เขียนแบบ "ว่ากันไปตามเนื้อผ้า"

นับแต่เหตุการณ์ยุคที่พระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระสมณทูต 2 รูป คือ พระโสณะ และพระอุตตระ มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกที่สุวรรณภูมิ

ก็ยังมีการขโมยซีนกันว่า "สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหนกันแน่"

ทฤษฎีของศาสตราจารย์ยอร์จ เซเดส์ ผู้ที่ชาวฝรั่งเศสส่งตรงมาให้เป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลผลประโยชน์ในสยามให้ตกเป็นของกลุ่ม "อินโดจีนฝรั่งเศส" ย่อมฟันธงว่า สุวรรณภูมิอยู่ที่ อู่ทอง-สุพรรณบุรี

โดยที่คนไทยถูกปิดหูปิดตาอยู่นาน กว่าจะรู้ว่ายังมีอีกทฤษฎีหนึ่ง คือสายอาณานิคมอังกฤษเขาก็เสนอว่า สุวรรณภูมิอยู่ที่สะเทิม-สุธรรมวดี ในพม่า ด้วยเช่นกัน

คำถามเรื่อง "สุวรรณภูมิอยู่ในไทยหรือพม่า" อย่าคิดว่าเป็นเรื่องโบร่ำโบราณไกลตัว ที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับปัญหา นช. เกาะสมุย แต่อย่างใด

ปมปัญหาทางประวัติศาสตร์แต่ละหน้า แต่ละยุคสมัย ล้วนเป็นปมหมักหมมถมทับความบาดหมางระหว่างไทย-พม่า ให้ค่อยๆ มองหน้ากันไม่ติดมาอย่างช้านาน



สงครามแย่งชิง "พระเขี้ยวแก้ว"

กับการโยนบทผู้ร้ายให้พระเจ้าอนิรุทธิ์

เราต่างก็รู้ว่าชาวพม่าเคารพนับถือ3 บูรพมหากษัตริย์ในประเทศของเขามาก ได้แก่ พระเจ้าอนิรุทธิ์มหาราช พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้าอลองพญา

ถึงกับได้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของกษัตริย์ทั้งสามพระองค์ยืนผงาดง้ำท่ามกลางอุทยานอันร่มรื่นเขียวขจีมีฉากหลังเป็นขุนเขา

จนมีผู้วิจารณ์ว่า"น่าจะเป็นต้นแบบให้แก่อุทยานราชภักดิ์" เวอร์ชั่นสยามด้วยซ้ำไป เพราะของเขาสร้างมาก่อน

แต่น่าสงสัยว่า นอกจากคนไทยจะไม่ได้รู้สึกชื่นชมยินดีกับ "อุทยานราชภักดิ์ในเวอร์ชั่นพม่า" แล้ว กษัตริย์ทั้งสามพระองค์ยังถูกทำให้กลายเป็น "จำเลยตัวเป้ง" ในหน้าประวัติศาสตร์สยามอย่างไม่ยี่หระ

พระเจ้าอนิรุทธิ์มหาราช หรือพระเจ้าอโนธามังช่อ (มังฉ่อ) ที่ชาวพม่าเคารพเทิดทูนในฐานะปฐมกษัตริย์ผู้รวบรวมแว่นแคว้นก่อตั้งอาณาจักรพุกามนั้น แถมยังเชื่อว่าเป็นกษัตริย์พระองค์แรกผู้มีสายเลือด (DNA) พม่าแท้ๆ สามารถล้มรัฐมอญ และรัฐเล็กรัฐน้อยของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ได้

คุณูปการของพระเจ้าอนิรุทธิ์มหาราช คือผู้ที่พยายามสร้างอาณาจักรพม่าให้เป็นศูนย์กลางความเจริญทางพระพุทธศาสนา

แต่ในสายตาของคนไทย(อย่างน้อยที่สุดก็พระภิกษุชาวล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน ในยุคที่รจนาเรื่องพระแก้วมรกต และตำนานอีกหลายเรื่อง) ก็ยังลากโยงให้พระเจ้าอนิรุทธิ์กลายเป็น "ผู้ร้าย" อยู่หลายฉากหลายตอน

ตำนานมิรู้กี่เล่มต่อกี่เล่ม ล้วนดึงเอาชื่อ พระเจ้าอนิรุทธิ์ เข้ามาสอดแทรก เนียนัวพัวพัน ปะปนกันให้อีนุงตุงนังไปหมด

อาทิ ลังกากำลังจะมอบพระแก้วมรกตให้พระเจ้ากัมโพชราชอยู่ดีๆ พระเจ้าอนิรุทธิ์ก็ยกทัพทางเรือมาแย่ง

หรือ กรณีให้พระเจ้าอนิรุทธิ์มาแย่งพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ ของพระนางจามเทวี เป็นต้น

หากไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ประกอบกัน ก็คงสับสนไม่น้อยว่าช่วงชีวิตของพระเจ้าอนิรุทธิ์นี้อยู่ช่วงไหนกันแน่ อาจจินตนาการไปว่าพระเจ้าอนิรุทธิ์คงต้องเป็นผู้วิเศษมีอายุยืนยาวมากกว่า 400 ปีเหมือนพ่อปู่ฤๅษีทั้งหลายเป็นแน่แท้

เพราะพระนางจามเทวีเป็นบุคคลที่อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่13 ส่วนเหตุการณ์แย่งพระแก้วมรกตอยู่ในช่วงพระเจ้าสูริยวรมันที่ 1 ก่อนสร้างนครวัด ในพุทธศตวรรษที่ 16-17

ส่วนในความเป็นจริงนั้น พระเจ้าอนิรุทธิ์อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 แล้ว

จะเห็นได้ว่า กรณีที่ปราชญ์ชาวล้านนาโบราณไม่พอใจการที่พม่ายกทัพมาตีล้านนาล่มสลายในปี 2101 คงไม่รู้จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าบุเรงนองออกมาอย่างไรดีให้สมแค้น

ทางออกมีวิธีเดียวคือไม่พ้นที่จะหยิบยกเอาชื่อ "พระเจ้าอนิรุทธิ์" (ย้อนยุค) มาสวมบทของผู้ร้ายแทน

ส่วนพระเจ้าบุเรงนอง กับพระเจ้าอลองพญา นั้น ไม่ขอสาธยายรายละเอียดในที่นี้ ด้วยมีผู้ศึกษากันอย่างกว้างขวางแล้ว และเราต่างก็ได้ประจักษ์แก่ใจกันถึง "ความเหี้ยมโหดอำมหิตทมิฬหินชาติ" ที่คนไทยล้วนวาดภาพกษัตริย์พม่าสองพระองค์นี้ไว้อย่างพิสดารพันลึก ปรากฏอยู่ทั้งในแบบเรียนและบทภาพยนตร์



ศัตรูทางประวัติศาสตร์ สู่แรงงานข้ามชาติ

เราไม่เคยเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันเลยหรือ

จากการที่พม่าเคยอยู่ในฐานะ"ศัตรูคู่แค้น" หรือ "รัฐคู่สงคราม" กับไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อพูดถึง "พม่า" คราใด ภาพ "ปีศาจ" มักปรากฏออกมาเป็นเงาตามตัว

โบราณสถานเราถูกพม่าเผา พม่าขนเอาพระพุทธรูปทองคำไปไว้ที่หงสาวดี

พม่าเฆี่ยนตีเชลยศึกไทย บ้างถูกเผาทั้งเป็น

พม่าอย่างนู้น พม่าอย่างนี้ พม่าอย่างนั้น

ครั้นเมื่อถึงยุคที่พี่ไทยจำเป็นต้องเปิดพรมแดนให้แรงงานพม่าไหลหลั่งเข้ามาทำงาน"ในฐานะแรงงานระดับล่าง" ค่าตัวต่ำสุด ด้วยเรายังขาดแรงงานที่แม้แต่คนไทยผู้ยากจนก็ยังไม่อยากจะทำ

เช่น ปอกกุ้ง ทุบก้ามปู ทนหนาวในเรือตู้แช่แข็ง งานแม่บ้านเช็ดถูหอพัก งานล้างจาน ก่อสร้าง ฯลฯ

ชาวพม่าย่อมรับรู้ถึงความไม่เท่าเทียมทางสถานะของ "ความเป็นคน" อยู่ลึกๆ ผ่านสายตาที่มองข้ามหัว

เขาและเธอถูกกดขี่เหยียบย่ำให้รู้ไว้ว่า "บุญเท่าไหร่แล้วที่แกยังมีงานทำ นี่ถ้ายังอยู่ที่พม่า ป่านนี้แกก็คงอดตายหรือไม่ก็กินแกลบ"

ชีวิตคนพม่าเหล่านั้น ทั้งแรงงานถูกต้องตามกฎหมายวันละ 300 บาท ทั้งแรงงานลับๆ ล่อๆ ผิดกฎหมาย มีตั้งแต่วันละ 90 บาท ถึง 150 บาท ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่ออยู่ให้ได้ ในประเทศที่เขาและเธอก็รับรู้ว่า

เราต่างก็เป็นศัตรูคู่อิริกันมาช้านาน โปรดอย่าเสแสร้งเลยว่ามันไม่ใช่

ฉะนั้น "ความเจ็บปวด" ที่ชาวพม่าได้ยินข่าวเรื่อง "โทษประหารชีวิต 2 แรงงานพม่าที่เกาะสมุย" นั้นจึง ไม่ใช่ข่าวธรรมดา หากเป็นอะไรที่ "เจ็บจี๊ด" ขึ้นกลางอกของเพื่อนร่วมมาตุภูมิเดียวกัน

พวกเขาไม่สนใจหรอก ที่จะฟังอีร้าค่าอีรมว่าสองนักโทษชายนั้นเป็นฆาตกรฆ่าข่มขืนจริงหรือไม่

ความเจ็บปวดของพวกเขามิได้อยู่ที่ชั้น"ข้อมูลความจริง" ตามกระบวนการศาลยุติธรรม

หากแต่มันคือ "ความน้อยเนื้อต่ำใจ" อันเป็นปมประเดประดัง ที่เคยถูกกดขี่ ดูแคลน ข่มเหง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าผู้ที่จะถูกประหารชีวิตคือ "แรงงานต่าวด้าว"

สมมติว่าสถานะของผู้ที่ถูกประหารชีวิตเปลี่ยนมาเป็น "นักศึกษา" "คนในเครื่องแบบ" หรือ "นักธุรกิจ" ชาวพม่า เชื่อว่าภาพของความสงสารเห็นอกเห็นใจ คงไม่พอกพูนมากมายถึงเพียงนี้

การประท้วงครั้งนี้ จึงมิใช่เพียงแค่การโหมกระพือปลุกเร้าเรื่อง "ชาตินิยม" เท่านั้นไม่

แต่มันคือภาพสะท้อน "ตะกอนอารมณ์ความเจ็บปวด" ของ "ชนชั้นทางสังคม" ที่แฝงฝังทับซ้อนชำแรกแทรกซึมมากับ กระบวนการสร้าง "ประวัติศาสตร์บาดหมาง" ระหว่างผู้เขียนประวัติศาสตร์สองประเทศนี้มาอย่างยาวนานอีกด้วย

ช่างถือว่าเป็น "ข่าวแรก" ที่ต้อนรับศักราชการเปิดเสรีอาเซียนได้อย่างท้าทาย แทนที่จะโกรธชาวพม่า เราควรหันมาทบทวนความรู้สึกที่แท้จริงของใจอีกครั้งด้วยตัวเองว่า

ลาว เขมร ญวน พม่า ที่รัก เราเคยเป็นบ้านพี่เมืองน้องกันจริงๆ สักครั้งบ้างไหม/จบ
.........................................................................................................




Create Date : 08 มกราคม 2559
Last Update : 8 มกราคม 2559 18:55:34 น. 0 comments
Counter : 680 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com