<<
มีนาคม 2559
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 มีนาคม 2559
 

สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 2559

สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย 2559

ขอนำเนื้อหาเรื่องนี้จากกรุงเทพธุรกิจรายวัน มารวบรวมไว้เพื่อการศึกษา

ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่
ประชาชนทั่วประเทศสังเกตการณ์และติดตามปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เช้าวันพุธ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 06.00-09.00 น. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทัพเครือข่ายดาราศาสตร์กว่า 100 แห่งทั่วประเทศต้อนรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้ตื่นตัวกับปรากฏการณ์ครั้งนี้นับแสนคนทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านอินเทอร์เน็ต สุริยุปราคาเต็มดวง จากเมืองเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีผู้เข้าชมจากเว็บไซต์ สดร. มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดียของ สดร. อย่างคึกคัก สะท้อนบรรยากาศตื่นตัวทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย หากพลาดครั้งนี้ไม่ต้องเสียใจ พบกันใหม่ปี 2562


รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยบรรยากาศ ณ จุดสังเกตการณ์ “สุริยุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย” 9 มีนาคม 2559 จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 5 จังหวัด และเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศว่า น่ายินดีที่มีประชาชนทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะนักเรียนสนใจมาร่วมกิจกรรมสุริยุปราคากันมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จนกระทั่งจุดสังเกตการณ์ที่สวนเบญจกิติ ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แน่นขนัดตั้งแต่เช้าตรู่ มีผู้สนใจเดินทางมาชมสุริยุปราคา บ้างแวะชมก่อนเดินทางไปทำงานต่อ บ้างมาเป็นครอบครัว จำนวนนับพันคน แม้ว่า สดร.เตรียมอุปกรณ์สังเกตการณ์มามากมายหลายประเภทก็ยังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้มาร่วมงาน แต่ประชาชนทุกคนก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่วิทยากร เอื้อเฟื้อแบ่งปันกันทดลองสังเกตการณ์ผ่านอุปกรณ์นานาชนิดอย่างทั่วถึง

เวลาประมาณ 06:38 น. เมื่อดวงจันทร์เริ่มบดบังดวงอาทิตย์ ประชาชนต่างตื่นตาตื่นใจโห่ร้องกันอย่างคึกคัก ดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนบดบังจนดวงอาทิตย์เว้าแหว่งอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าที่กรุงเทพมหานครจะมองเห็นสุริยุปราคาบางส่วนเพียงร้อยละ 41 แต่ประชาชนที่มาร่วมงานต่างประทับใจที่ได้สัมผัสปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ด้วยตาตนเอง

จุดสังเกตการณ์ของ สดร. ณ หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของสงขลา ณ จุดนี้ เป็นจุดสังเกตการณ์หลักในภาคใต้ ซึ่งมองเห็นคราสได้มากถึงร้อยละ 61 มีประชาชนเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มาร่วมสังเกตการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้นับพันคน ต่างตื่นเต้นกับสุริยุปราคากันมาก เช่นเดียวกับจุดสังเกตการณ์ของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ซึ่งนอกจากจะมีกล้องโทรทรรศน์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์มาบริการประชาชนแล้ว ยังมีนักเรียนจากชุมนุมดาราศาสตร์ของโรงเรียนในฉะเชิงเทรา นำอุปกรณ์สังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์เองมาร่วมงานด้วย สร้างความประทับใจประชาชนที่มาร่วมงาน ในฐานะเยาวชนผู้ตื่นตัวกับดาราศาสตร์ และช่วยเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน

ชาวเชียงใหม่ และประชาชนในภาคเหนือ แม้ว่าจะอยู่ในจุดที่สังเกตคราสได้น้อยที่สุด เพียงร้อยละ 27 แต่ก็ยังเดินทางมาสังเกตการณ์สุริยุปราคาร่วมกัน ที่ดาดฟ้า ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ ประชาชนได้สังเกตสุริยุปราคาจากมุมสูง และได้ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์ กล้องรูเข็ม แผ่นฟิล์มไมลาร์ สังเกตการณ์สุริยุปราคาบางส่วนอย่างสนุกสนาน เมื่อจบปรากฏการณ์ เจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่คอยให้ข้อมูลแก่ประชาชนต่างเชิญชวนประชาชนมาร่วมชมสุริยุปราคาครั้งต่อไป ซึ่งน่าจะพอดีกับอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่แล้วเสร็จ เปิดให้บริการความรู้ด้านดาราศาสตร์แก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ เครือข่ายดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งได้รับอุปกรณ์สังเกตการณ์ กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสง และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์จาก สดร. และโรงเรียนต่าง ๆ ที่สนใจ ยังได้แสดงพลังอย่างพร้อมเพรียงกัน เปิดบ้านต้อนรับประชาชนทุกจังหวัด ร่วมชื่นชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ ภาพการจัดกิจกรรมสังเกตการณ์สุริยุปราคาที่ส่งมาจากทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นบรรยากาศตื่นตัวทางดาราศาสตร์ที่แผ่ไปกว้างไกล นักเรียนนับแสนคนร่วมกิจกรรมกันที่โรงเรียน ต่างตื่นตาตื่นใจและมีความสุข สดร. เชื่อว่า บรรยากาศเช่นนี้จะกระตุ้นให้เยาวชนอนาคตของชาติหันมาสนใจดาราศาสตร์กันมากขึ้น และเป็นการปลูกฝังให้เด็ก ๆ มีใจรักวิทยาศาสตร์ รู้จักสังเกต คิด ตั้งคำถาม และหาคำตอบอย่างเป็นเหตุเป็นผล

สุริยุปราคาครั้งนี้ สดร. ได้ส่งคณะทำงานเดินทางไปเก็บภาพและข้อมูลปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ที่เมืองเตอร์นาเต สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตั้งจุดสังเกตการณ์บริเวณวังสุลต่านเตอร์นาเต และถ่ายทอดสดสุริยุปราคาเต็มดวงตลอดปรากฏการณ์ผ่านเว็บไซต์ของ สดร. ที่ //www.narit.or.th ปรากฏว่ามีผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 80,000ครั้ง และยอดชมการถ่ายทอดสดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกว่า 150,000 ครั้ง

คนไทยจะได้เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งต่อไป วันที่ 26 ธันวาคม 2562 และอีก 54 ปีข้างหน้า จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง เป็นสุริยุปราคาชุดเดียวกันกับเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ทรงคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ แนวคราสเต็มดวงจะพาดผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง และที่สำคัญคราสเต็มดวงครั้งนี้จะพาดผ่าน บ้านหว้ากอ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จุดเดิมที่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง พร้อมพระราชอาคันตุกะอีกด้วย

- See more at: //eureka.bangkokbiznews.com/detail/634039#sthash.qjhBU4c4.dpuf




 

Create Date : 11 มีนาคม 2559
0 comments
Last Update : 11 มีนาคม 2559 14:28:13 น.
Counter : 798 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

justice0009
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




[Add justice0009's blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com