Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
เมษายน 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
12 เมษายน 2559
 
All Blogs
 

F1 กลับไปควอลิฟายรูปแบบเดิม





ในที่สุดในการประชุมของสภากีฬายานยนต์โลกของเอฟไอเอหรือ WMSC เมื่อวานนี้ก็เป็นอันว่ามีมติรับรองให้เปลี่ยนกลับไปใช้ระบบควอลิฟายรูปแบบปี 2015 ตามที่ทั้ง 11 ทีมยื่นหนังสือแสดงความจำนงในการประชุมระหว่างเอฟไอเอและทีมเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากพบว่าควอลิฟายแบบ "คัดออก" ที่เริ่มให้ใช้ในปี 2016 นี้เป็นครั้งแรกล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ระบบเดิมที่ใช้กันมาจนถึงปีที่แล้วเป็นอย่างไร เรามาทบทวนกันอีกครั้งนะคะ

รอบควอลิฟาย (Qualifying) หรือรอบแข่งขันจับเวลาเพื่อจัดอันดับสตาร์ทในวันแข่งขันจริงคือในวันอาทิตย์ ใช้เวลา 60 นาที ซึ่งปัจจุบันรอบควอลิฟายจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงย่อย ได้แก่

Q1 ใช้เวลา 18 นาที ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุด 6 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 17-22)

Q2 ใช้เวลา 15 นาที สำหรับรถ 16 คัน เวลาจาก Q1 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่ ผู้ที่ทำเวลาช้าที่สุดอีก 6 คันจะถูกคัดออกและจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 11-16)

Q3 ใช้เวลา 12 นาที สำหรับรถ 10 คันสุดท้าย เวลาจาก Q2 จะถูกล้างและแข่งขันจับเวลากันใหม่และจัดอันดับสตาร์ทตามนั้น (อันดับที่ 1-10) ผู้ที่ทำเวลาเร็วที่สุดจะได้ออกตัวจากกริดสตาร์ทอันดับที่ 1 หรือที่เรียกว่าตำแหน่งโพล (Pole Position) ซึ่งเป็นตำแหน่งสตาร์ทที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ จำนวนการคัดรถออกจาก Q1 และ Q2 สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามจำนวนรถที่เข้าแข่งขันในแต่ละฤดูกาล สำหรับปี 2016 มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 11 ทีม รวมจำนวนรถ 22 คัน และทุกคันจะต้องทำเวลาให้อยู่ในเวลา 107% ของเวลาที่เร็วที่สุดใน Q1 เพื่อผ่านการควอลิฟาย





ประวัติศาสตร์การควอลิฟายในฟอร์มูล่าวัน

ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ในประวัติศาสตร์ 66 ปีของฟอร์มูล่าวันมีรูปแบบการควอลิฟายหรือรอบจัดอันดับเวลาเพื่อหากริดสตาร์ทในวันแข่งขันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง เรามาย้อนดูกันค่ะ

1950-1995

ในช่วง 4 ทศวรรษครึ่งแรกของฟอร์มูล่าวัน การควอลิฟายมีรูปแบบง่ายๆ โดยจะแบ่งเป็นช่วงหนึ่งในวันศุกร์และอีกช่วงในวันเสาร์ นักขับที่ทำเวลารวมเร็วที่สุดจะได้ตำแหน่งโพลไปครอง ระหว่างช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนกฎบ้าง เช่น มีการให้ใช้ยางทำเวลารอบเดียว ในขณะที่นับตั้งแต่ปี 1993 นักขับถูกกำหนดให้วิ่งควอลิฟายได้เพียง 12 รอบ และมีอยู่หลายปีเหมือนกันที่ต้องจัดกระทั่งรอบก่อนการควอลิฟาย เนื่องจากมีจำนวนนักขับเกินกว่าที่กริดจะรับได้

1996-2002

เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าตื่นเต้น (เนื่องจากก่อนหน้านี้บางครั้งตำแหน่งโพลตัดสินได้ตั้งแต่วันศุกร์) รอบควอลิฟายได้เปลี่ยนเป็นการหาตำแหน่งโพลภายในชั่วโมงเดียวในบ่ายวันเสาร์ นักขับมีสิทธิ์ขับคนละ 12 รอบ หรือเรียกว่านับเป็น 4 ล็อต แต่ละล็อตประกอบด้วย 3 รอบ ได้แก่ รอบที่วิ่งออกจากพิต รอบทำเวลา และรอบวิ่งกลับเข้าพิต

2003

ถือเป็นปีที่การควอลิฟายมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นักขับได้รับอนุญาตให้ทำเวลาคนละ 1 รอบในบ่ายวันเสาร์ โดยนักขับแต่ละคนลงขับทำเวลาต่อเนื่องกันไป อันดับในการวิ่งทำเวลานั้นถูกกำหนดจากการวิ่งรอบวันศุกร์ ซึ่งนักขับที่ทำเวลาช้าที่สุดจะเป็นคนแรกที่ลงสนามในวันเสาร์ นอกจากนั้น ระดับน้ำมันที่นักขับมีในรอบที่ทำเวลาได้จะต้องเก็บไปจนถึงการสตาร์ทการแข่งขันในวันอาทิตย์ด้วย

2004

ในปีต่อมามีการปรับเปลี่ยนกฎควอลิฟายอีกครั้ง โดยให้มีช่วงทำเวลาสั้นๆ ก่อนการควอลิฟายเพื่อสำหรับจัดอันดับรถที่จะออกมาวิ่งทำเวลา สำหรับอันดับในการวิ่งของช่วงแรกนั้นให้อ้างอิงจากผลการแข่งขันของสนามก่อน อย่างไรก็ตาม บางครั้งนักขับจงใจที่จะทำเวลาในช่วงแรกให้ช้าเพื่อชิงความได้เปรียบเรื่องอันดับการออกมาวิ่งในรอบควอลิฟายจริง

2005

ฤดูกาลนี้เป็นการนำควอลิฟายระบบรวมเวลามาใช้ โดยให้วิ่ง 1 รอบด้วยปริมาณน้ำมันน้อย (low fuel) ในบ่ายวันเสาร์ และอีกรอบหนึ่งในเช้าวันอาทิตย์ด้วยปริมาณน้ำมันสำหรับสตาร์ทการแข่งขัน (race fuel) หลังจากนั้นจะนำเวลาทั้ง 2 ช่วงมารวมกันเพื่อหาตำแหน่งกริดสตาร์ท แต่ระบบนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมและถูกยกเลิกหลังใช้ไปเพียง 6 สนาม จากนั้นได้มีการปรับช่วงวันเสาร์ใหม่ โดยให้นักขับทำเวลาด้วยปริมาณน้ำมันสำหรับการแข่งขันและใช้อันดับการออกมาวิ่งกลับกันกับอันดับจบการแข่งขันจากสนามก่อน

2006-2009

การวิ่งแบบรอบเดียวถูกยกเลิกไปและแทนที่ด้วยการควอลิฟายที่แบ่งเป็นช่วงคัดเลือกย่อย 3 ช่วง โดยระหว่างช่วงปีได้มีการปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย เรื่องที่เป็นปัญหาหลักคือการให้วิ่งด้วยปริมาณน้ำมันสำหรับการแข่งขันมีผลทำให้นักขับมักจะพยายามวิ่งเพื่อเผาไหม้เชื้อเพลิงในช่วง Q3 รอบควอลิฟายจึงได้อันดับเวลาจากปริมาณน้ำมันที่รถมีมากกว่า ต่อมาในปี 2008 ได้มีการปรับปรุงเฉพาะช่วง Q3 แต่รถทั้ง 10 คันสุดท้ายก็ยังถูกจัดอันดับเวลาตามปริมาณน้ำมันที่มีเหมือนเคย

2010-2015

รูปแบบ Q1-Q3 ยังคงอยู่ แต่จำนวนการคัดนักขับออกในแต่ละช่วงมีการเปลี่ยนแปลงตามจำนวนทีมที่เข้าแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการเติมน้ำมันระหว่างการแข่งขันตั้งแต่ปี 2010 ทำให้อันดับเวลาใน Q3 ดูเหมาะสมตามที่ควรเป็น นั่นก็คือนักขับที่เร็วที่สุดได้รับตำแหน่งโพล ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่เป็นเช่นนี้

2016

รูปแบบ 3 ช่วงย่อยมีอยู่ต่อไป แต่มีการปรับเปลี่ยนให้นักขับถูกคัดออกทุกๆ 90 วินาที ไม่ใช่ตัดสินเมื่อจบแต่ละช่วงอย่างที่เคยเป็น อย่างไรก็ตาม เพียงนำมาใช้ในสนามแรกที่ออสเตรเลียก็ปรากฏว่าทีมไม่เห็นด้วยกับระบบนี้เลย และแม้ทีมเรียกร้องให้กลับไปใช้ระบบเก่าทันที การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่สำเร็จและใช้ต่อมาในสนามที่ 2 ที่บาห์เรน ซึ่งครั้งที่ 2 นี้เป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่าระบบคัดออกนี้ไม่ประสบผลสำเร็จโดยสิ้นเชิง ภายหลังจบการแข่งขันในสนามซาเคียร์จึงได้มีการประชุมระหว่างเอฟไอเอ เอฟโอเอ็ม (ผู้ดูแลลิขสิทธิ์การแข่งขัน) และทีมแข่งอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทั้ง 11 ทีมพร้อมใจกันยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ให้ฟอร์มูล่าวันกลับไปใช้ควอลิฟายรูปแบบปี 2015 และสภากีฬายานยนต์โลกได้ลงมติรับรองเมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายน ทันก่อนการแข่งขันสนามที่ 3 ของฤดูกาลที่ประเทศจีนพอดี

ทั้งนี้ ในปี 2017 ฟอร์มูล่าวันยังคงมีเป้าหมายที่จะปรับเปลี่ยนระบบการควอลิฟายอีกครั้ง ซึ่งในจดหมายที่ทีมยื่นต่อเอฟไอเอนั้นได้ระบุในตอนท้ายด้วยว่าพวกเขายินดีที่จะให้มีการทดลองระบบควอลิฟายรูปใหม่แบบใดๆ ก็ตามในช่วงท้ายฤดูกาลหากว่าตำแหน่งแชมป์โลกตัดสินกันแล้วเรียบร้อย










*ข้อมูลจาก gpupdate.net / autosport.com / bbc.com
ภาพจาก autoblog.com




 

Create Date : 12 เมษายน 2559
0 comments
Last Update : 12 เมษายน 2559 22:31:33 น.
Counter : 2048 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.