Group Blog
 
 
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
27 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
กินแบบอิสลามกับการสรรค์สร้างสังคมเข้มแข็ง

เรื่องกินไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ มองกันในแง่วิชาการจะพบว่า การกินเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ วิทยาศาสตร์มองการกินไปที่เรื่องราวของชีวิตที่ใช้สารอาหารเป็นแหล่งสร้างเนื้อเยื่อของร่างกาย มีทั้งเคมี, ชีวภาพ, กายภาพ, สรีรภาพ, เข้ามาเกี่ยวข้อง ทางศิลปศาสตร์มีจิตวิทยา, ศาสนา, ประวัติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์ และอีกหลายศาสตร์เข้ามามีส่วนร่วม การก่อกำเนิดพฤติกรรมการกินของมนุษย์ จึงสลับซับซ้อน

คนไทยกล่าวว่าเรื่องกินเรื่องใหญ่ ในขณะที่ฝรั่งเขาว่า เราเป็นอย่างที่เรากิน หรือ We are what we eat กินอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น หากพิจารณาเฉพาะสองภาษิตนี้จะพบว่ามิติทางความคิดของฝรั่งต่างจากไทย เพราะในขณะที่ไทยมองเรื่องการกินไปที่เหตุคือการกินเป็นหลัก ฝรั่งกลับมองไปที่ผลหรือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกิน

อิสลามกล่าวถึงเรื่องการกินไว้มากมายหลายโอกาส การกินในอิสลามมีหลากหลายมิติโดยอิสลามมองการกินอย่างรอบด้านมากกว่า อิสลามมิได้สอนให้ตีกรอบการกินไปที่เหตุหรือผลแต่ให้ตีครอบคลุมไปในทุกกิจการ กินอย่างอิสลามมิใช่เพียงสร้างเนื้อหนังมังสาให้แต่เพียงผู้กินแต่ยังช่วยสรรค์สร้างสังคมได้ด้วย

ผมเรียนเรื่องการกินตามแนวทางของฝรั่งมาเนิ่นนานหลายปี ได้ปรึกษาทั้งศาสตร์และศิลป์เห็นว่าฝรั่งพัฒนาสังคมมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าไทย ทำให้มีมิติแนวคิดในเรื่องการกินที่ซับซ้อนกว่า แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าฝรั่งคิดได้ลึกซึ้งกว่า มาถึงวันนี้ผมใช้เวลาบางส่วนเข้ามาจับเรื่องการกินในมิติของอิสลาม ยิ่งสัมผัสก็ยิ่งรับรู้จึงกล้าที่จะกล่าวว่า อิสลามมองเรื่องการกินด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลกว่าฝรั่ง ที่สำคัญคือมองอย่างละเอียดถี่ถ้วนและลึกซึ้งกว่า

ผมเรียนโภชนาการของฝรั่งที่สอนเรื่องการกินให้ผู้เรียนรู้ว่ากินอย่างไรให้ผู้กินมีสุขภาพที่ดีรวมถึงมีโภชนาการดี ฝรั่งจึงเน้นนักเน้นหนาในเรื่องการกินอย่างถูกต้อง กินให้อายุยืนให้ปลอดทุกข์โรคภัย ฝรั่งเน้นวิชาการทางโภชนาการไว้แคบ ๆ ตรงจุดนั้น

แต่อิสลามมิได้สอนให้ผู้กินมองไปที่ตนเองแต่กลับให้มองกว้างถึงสังคมและคนรอบข้าง โดยสอนให้มุสลิมรู้จักเลือกกินให้รู้ว่ากินอย่างไรจึงจะได้รับความโปรดปรานจากพระผู้เป็นเจ้า กินอย่างไรสังคมจึงจะเป็นสุขให้เพื่อนบ้านได้อิ่มและในขณะเดียวกันให้ตนเองมีสุขภาพที่ดี

เพียงเรื่องกินอย่างไม่ฟุ่มเฟือยในหลักการของอิสลามก็สอนให้มุสลิมได้ลึกซึ้งกับเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปกับศาสตร์ทางโภชนาการแล้ว ปัจจุบันโลกยุคเทคโนโลยียอมรับแล้วว่าการกินน้อยให้เหลือเพียงปริมาณหนึ่งในสามตามที่อิสลามสอนจะแก้ปัญหาสุขภาพ แถมด้วยเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งสอนให้คนเราไม่ยึดมั่นกับการกินแต่ให้จุนเจือต่อผู้อื่น คำว่าอาหารหนึ่งคนเพียงพอสำหรับสองคนนั้นสอนให้มุสลิมมองไปที่คนข้างตัว ซึ่งผมเรียนวิชาโภชนาการของฝรั่งมาหลายสิบปีไม่เคยได้รับรู้เรื่องดี ๆ เช่นนี้เลย

อิสลามมิได้สอนให้มองการกินเพียงแค่การกิน มิได้สนอให้มุสลิมเลือกเฉพาะอาหารที่หะล้าล แต่สอนให้พิจารณาอาหารที่ตอยยิบันหรือสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและสังคม ด้วยคำว่าตอยยิบันเป็นทั้งมิติทางโภชนาการ หมายถึงประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นทั้งมิติทางเศรษฐศาสตร์ และศีลธรรมนั่นคือเป็นประโยชน์ต่อสังคมรวมถึงไม่เบียดเบียนคนอื่น และในอีกหลายมิติ หลักการของอิสลามทางด้านโภชนาจึงมิได้จำกัดเฉพาะเรื่องของหะล้าลหะรอม แต่ครอบคลุมมิติที่กว้างและลึกซึ้งกว่านั้นมากมายขอให้เสาะหาให้พบเท่านั้น

ในเนื้อที่สั้น ๆ ของบทความนี้ ผมขออนุญาตสรุปหลักการบริโภคแบบอิสลามด้วยคำไทย 7 ตัวอักษร คือ พ-อ-ส-ม-ค-ว-ร อ่านว่า “พอสมควร” มีความหมายดังต่อไปนี้

พ - คือ “พร” อิสลามสอนให้มุสลิม เริ่มทุกกิจกรรมรวมถึงการกินด้วยการขอพรหรือดุอา มีความหมายถึงการเตาะบะห์ต่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ในทุกลมหายใจ การกินจึงมิใช่เป็นเรื่องกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงสายใยที่ล่วงเข้าไปถึงจิตด้วย

อ – คือ “อนามัย” ทั้งเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย การกินแบบอิสลามต้องพร้อมด้วยอนามัยแบบอิสลาม ซึ่งใช้คำว่า "ตอฮาเราะห์" ที่มีความหมายกว้างขวางกว่าคำว่าอนามัย หรือ Healthy ในภาษาอังกฤษมากนัก

ส – คือ “สงเคราะห์” อิสลามสอนให้คิดถึงสังคม คิดถึงคนรอบข้าง มิใช่คิดถึงแต่ตนเอง อิสลามสอนให้รู้จักกินเพื่อให้คนรอบข้างอิ่ม กินเพื่อให้สังคมเข้มแข็ง อิสลามมีกุศโลบายที่จะทำให้เงินทุกสตางค์ที่จับจ่ายไปกับการกินวนเวียนไม่รู้จบอยู่ในสังคมมุสลิม อันเป็นเศรษฐศาสตร์ที่ลึกซึ้ง มุสลิมได้กุศลผลบุญรวมถึงเศรษฐกิจที่มั่นคงกับการกินของมุสลิมพร้อมกันไปด้วย จึงเสียดายหากเราไม่เข้าใจ ในภาษาอาหรับใช้คำว่า "อิฆอซะห์" ใครที่เรียนรู้ภาษาอาหรับจะเข้าใจว่า สงเคราะห์ในอิสลามนั้นกินความกว้างขวางกว่าของฝรั่งมากเพียงใด

ม – คือ “มัธยัสถ์” ภาษาอาหรับใช้คำว่า "อิกติซอต" อดออมไม่สุรุ่ยสุร่าย เพราะอิสลามรังเกียจความฟุ่มเฟือย อิสลามคัดคานลัทธิบริโภคนิยมที่สอนให้คนบริโภคตามนโยบายตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าเสรีหรือสิ่งอื่น เรื่องของอิกติซอตนี้กล่าวได้ไม่มีวันจบเช่นกัน

ค – คือ “เคร่งครัด” หรือ "ตะดัยยุน" ในภาษาอาหรับ อิสลามสอนให้มุสลิมยึดมั่นในหลักการของตน ไม่วอกแวกไปกับสิ่งยั่วยวนรอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลงใหลไปกับบริโภคนิยม

ว – คือ “วิรัติ” หรือการงดเว้น ในภาษาอาหรับคือ "อิมซ้าก" มีความหมายถึงยกเว้นและยับยั้ง การงดเว้นเรื่องการกินในอิสลามที่สำคัญมีอยู่สองเรื่องได้แก่ งดเว้นการกินการดื่มการเสพเมถุนและอารมณ์ในเดือนรอมฎอน หรือที่เราเรียกว่าซิยัม อีกเรื่องหนึ่งของการยกเว้นคือการงดเว้นสิ่งที่หะรอม เลี่ยงสิ่งที่ซุบฮัตหรือต้องสงสัย

ร – คือ “ร่วมกัน” ในภาษาอาหรับคือ "อิจติมะห์" หรือ "ยะมาอะห์" อิสลามสอนให้ทำทุกกิจกรรมร่วมกันปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาร่วมกัน หรือที่เรียกว่า มูเซาวาเราะห์ อิสลามสอนให้รู้ว่าสังคมเข้มแข็งได้ด้วยการทำความดีของคนทุกคนมิใช่เพียงคนเดียว โดยสอนให้ทำความดีต่อสังคมมิใช่ต่อเพียงตนเองและควรทำร่วมกัน

สุดท้ายคือคำว่า “พอสมควร” หรือ "เอียะติดาล" นั้นเป็นหลักการสำคัญที่อิสลามสอนให้มุสลิมรู้จักรังสรรค์สังคมให้เข้มแข็งอย่างไม่สุดโต่ง อิสลามจึงมีกุศโลบายมากมายในการสอนวิธีคิด หรือกระบวนทัศน์ให้แก่มุสลิมเพียงเรื่องโภชนาการ และการกินก็เรียนวิธีคิดแบบอิสลามกันได้ไม่รู้จบแล้ว

เราจึงต้องคิดทบทวน มองกุศโลบายของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่แฝงอยู่ในคำสอนของอิสลามอย่างทะลุปรุโปร่ง มิใช่เพียงมองผ่าน ตัวอย่างการมองผ่านไปไม่ทะลุประโปร่ง เป็นต้นว่าอิสลามกำหนดหะล้าลให้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมุสลิม สอนให้มุสลิมจับมือกันพิทักษ์สังคมของตนเอง ให้สังคมมุสลิมเป็นมือบนเป็นผู้ให้และเป็นผู้ผลิต แต่ในสังคมทุกวันนี้ทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องหะล้าลกลับถูกแบ่งสรรไปให้ผู้คนนอกสังคมมุสลิมเสียสิ้น มุสลิมที่ควรพึ่งพิงกันเองกลับกลายเป็นมือล่างที่คอยรับจากมือผู้อื่น

มองที่เรื่องหะล้าลเรื่องเดียวก็พอจะตระหนักได้แล้วว่าเรายังห่างไกลจากความเข้าใจในกุศโลบายอันชาญฉลาดของอิสลามมากนัก

รู้จัก รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

ที่มาของบทความ


Create Date : 27 ตุลาคม 2550
Last Update : 27 ตุลาคม 2550 8:44:47 น. 0 comments
Counter : 427 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Aisha
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่
Aisha's blog ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

Friends' blogs
[Add Aisha's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.