Group Blog
 
 
กันยายน 2559
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
20 กันยายน 2559
 
All Blogs
 

อ.สุธี ศุภรัฐวิกร นักดูนกและนักอักษรศาสตร์



อ.สุธี ศุภรัฐวิกร นักดูนกและนักอักษรศาสตร์

อดีตนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทยคนแรก ผู้มีความรู้ด้านปักษีวิทยาเปรียบเสมือนห้องสมุดเดินได้


1462886_702505589769091_1896875608_n.jpg

 การศึกษา

โรงเรียนอาชีวศิลปศึกษา

 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง


Contact Information

081 914 0356

02 444 4209

2 ซอยทวีวัฒนา 1 แยก 5 ถนนทวีวัฒนา แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม

Bangkok, Thailand 10160

บันทึกนักเดินทาง

14368896_1290049497681361_5175505215158268618_n.jpg

คำขอบคุณจากพ่อ

แม้ชาตินี้มีกรรมช้ำนักหนา

เป็นบิดาไม่ได้ให้ผิดหวัง

แต่กลับได้ไออุ่นหนุนพลัง ...

ใครหนอสั่งเสกเขาให้เข้ามา

ได้พบกันวันนี้ดีใจนัก

เปรียบลูกรักของเราเคยเฝ้าหา

เป็นเพื่อนพ้องน้องศิษย์มิตรเรื่อยมา

สุขยิ่งกว่าลูกจริงสิ่งผูกพัน

ขอขอบคุณอุ่นไอที่ได้รับ

ช่วยกระชับชาตินี้ที่เคยฝัน

ได้ลูกชายหลายหลากอยากบอกกัน

ทุกช่วงวันสุขใจไร้ทุกข์ตรม

ต่างรักษ์นกวิหคไพรในสยาม

ทั่วเขตคามเขาป่าพาสุขสม

สนทนาปักษากันวันอภิรมย์

ร่วมเฝ้าชมสกุณาในป่าไทย


14322574_1290049927681318_8535634501099756093_n.jpg


14369864_1290050577681253_3665400944874559288_n.jpg


#ผ่อนอารมณ์เดินชมนก (1) Bird Guide of Thailand คู่มือดูนกเล่มแรก

กว่าจะมาเป็นหนังสือ #นกไทยในบันทึกและความทรงจำ โดย #BirdLifeClub

พ.ศ. 2511 ผมอายุ 17 ขวบพอดี หลังจากจบการศึกษาชั้น ม.5 จากโรงเรียนอาชีวศิลปศึกษาแถวศรีย่านแล้ว ผมว่างเว้นจากการเรียนจริงๆ เป็นเวลา 1 ปีเต็มทีเดียว เพราะสอบ Entrance ไม่ติด เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยไหนก็ไม่ได้ ส่วนหนึ่งคงมาจากความลังเลของผม เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรดี ใจจริงอยากเรียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับสัตว์ เกี่ยวกับต้นไม้ และธรรมชาติ แต่ไม่เห็นมีคณะ...ไหน มหาวิทยาลัยไหนในเมืองไทยเปิดสอนเลย!

ที่พอจะนึกออกในสมัยนั้น คงเป็นคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่สอนเกี่ยวกับต้นไม้เกี่ยวกับสัตว์ แต่ว่าต้องใช้วิชาคำนวณเพื่อสอบ Entrance ซึ่งเป็นวิชาที่ผมไม่ชอบเลย ผมชอบวิชาชีววิทยามากก็จริง แต่ไม่ชอบอะไรที่เกี่ยวกับคำนวณ ผมจึงต้องไปเรียนชั้น ม.4-ม.5 ในโรงเรียนที่สอนสายศิลป์ ไม่ใช่สายวิทย์ คุณพ่อเลยให้ไปเรียนที่โรงเรียนอาชีวศิลปศึกษา เพราะที่นี่สอนสายศิลป์ แต่เน้นทางด้านวาดรูปด้วย เพราะตอนเด็กๆ ผมชอบวาดรูปมากโดยเฉพาะรูปสัตว์

อย่างไรก็ดี ทุกๆ เย็นผมถูกบังคับให้ไปเรียนกวดวิชาที่ตึกแถวริมถนนราชดำเนินกลางข้างวัดราชนัดดา เผื่อว่าปีหน้าผมจะสอบ Entrance ติด แต่ปีนี้ผมโชคดีมากได้หนังสือเล่มโปรดมา 1 เล่ม เพราะไปเดินดูหนังสือที่ห้างแพร่พิทยาแถววังบูรพาซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากโรงเรียนกวดวิชาที่ผมมาเรียนมากนัก นั่นคือ Bird Guide of Thailand ซึ่งเป็นหนังสือคู่มือดูนกเล่มแรกของประเทศไทย ผมซื้อมาในราคาเล่มละ 100 บาท ซึ่งถือว่าแพงมากในสมัยนั้น

หนังสือเล่มนี้แต่งและวาดภาพประกอบสีโดยนายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล พิมพ์โดย Ramin Press ขนาดเล่มใหญ่กว่า Pocket Book เล็กน้อย หนา 271 หน้า ภาพถ่ายขาวดำ 4 หน้า ภาพวาดสี 85 หน้า ติดป้ายราคาไว้ US$ 7.50 ในหน้าชื่อเรื่องบอกไว้ว่า พิมพ์ขึ้นโดยคำแนะนำของนิยมไพรสมาคม ซึ่งตั้งอยู่ เลขที่ 4 ตรอกโรงภาษีเก่า กรุงเทพฯ เขียนบทนำโดย S. Dillon Ripley เลขานุการของ Smithsonian Institution และประธานของ ICBP

ภายในเล่มมีภาพและข้อมูลย่อของนกที่พบในประเทศไทยตาม Checklist of Birds of Thailand ของ Herbert G. Deignan จำนวน 790 ชนิด พร้อมด้วย ภาคผนวก New Birds to Thailand นกพบใหม่ในประเทศไทย หลังจากนั้น อีก 38 ชนิด รวมเป็น 828 ชนิด เป็นหนังสือที่ผมเปิดดูแทบทุกวัน และอยากเห็นนกทุกชนิดที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่เคยได้ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือดูนกในธรรมชาติจริงๆ เลย

คำถามเดียวที่ผมมักถามตัวเองอยู่เสมอเมื่อมองดูภาพนกชนิดใดชนิดหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ถ้าผมอยากเห็นนกชนิดนี้ผมต้องไปดูที่ไหน และต้องทำอย่างไรจึงจะได้เห็น ในตอนนั้นผมไม่มีกล้องสองตา (Binoculars) ด้วย ผมเลยได้แต่นั่งดูภาพนกและท่องชื่อนกชนิดต่างๆ ไปพลางๆ ก่อน ก็สุขใจไปอีกแบบ จนกระทั่งอีก 1 ปีถัดมา เมื่อผมสอบ Entrance ติด เข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว ผมจึงมีโอกาสได้ไปดูนกจริงๆ ในธรรมชาติด้วยกล้องสองตา


https://www.facebook.com/noktawan/posts/1284973174855660


#ผ่อนอารมณ์เดินชมนก (2) กล้องสองตาตัวแรก

กว่าจะมาเป็นหนังสือ #นกไทยในบันทึกและความทรงจำ โดย #BirdLifeClub

10538048_10204778780895654_6001901185982863411_n.jpg

พ.ศ. 2513 ผมสอบ Entrance ติด ได้เข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะตัดสินใจที่จะเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ส่วนเรื่องสัตว์ ต้นไม้ และธรรมชาติ คงต้องไปหาอ่านเอาเองเมื่อมีโอกาส แต่ผมชอบเข้าไปนั่งอ่านหนังสือพวกนี้ในห้องสมุด ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ แทบไม่มีใครเขียนเรื่องสัตว์ รวมทั้งนกเป็นภาษาไทยเลย นอกจากนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล คนเดียว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ไม่เข้าใจจริงๆ

ขณะศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 เรื่องที่ไม่คาดฝันก็บังเกิดขึ้นกับผมในชั่วโมงวิชาภาษาอังกฤษซึ่งสอนโดย อาจารย์ William Warren ในชั่วโมงวิชานี้นักศึกษาทุกคนต้องเขียน Essay มาส่งอาจารย์คนละ 2 เรื่อง ผมตัดสินใจเขียนเรื่อง Red-whiskered Bulbul กับ Bird Watching มาส่ง วันรุ่งขึ้นอาจารย์เรียกผมเข้าไปพบ แล้วพูดกับผมว่าเรื่อง Red-whiskered Bulbul เขาไม่โอเค ถามผมว่าลอกมาหรือเปล่า ผมบอกไม่ได้ลอก อาจารย์ทำท่าจะไม่เชื่อ ทุกวันนี้ผมยังไม่เห็นมีใครเขียน text เกี่ยวกับนกปรอดหัวโขนเลย แล้วทำไมถึงไม่ยอมเชื่อกันบ้าง

สำหรับเรื่อง Bird Watching อาจารย์ William Warren ถามผมว่าชอบดูนกเหรอ ผมบอกอาจารย์ว่าชอบดูนก แต่ดูด้วยตาเปล่าเพราะไม่มีกล้องสองตา (Binoculars) อาจารย์เลยบอกว่าพรุ่งนี้จะเอากล้องสองตามาให้ผม 1 ตัว เพราะอาจารย์มีกล้องสองตาอยู่ตัวหนึ่ง ทิ้งไว้ในลิ้นชักไม่ได้ใช้มานานแล้ว ไม่นึกไม่ฝันจริงๆ หลังจากได้กล้องสองตาตัวนี้มา ผมจึงตระเวนดูนกรอบๆ บ้านของผม และภายในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างจุใจ

ที่อาคารคณะอักษรศาสตร์ซึ่งเรียกกันว่า เทวาลัย มีต้นชงโคปลูกไว้ล้อมรอบทุกด้าน เพราะดอกชงโคเป็นสัญลักษณ์ของคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีไม้ยืนต้นสูงใหญ่อีกหลายชนิด ผมจึงได้เห็น “นกใหม่” ของผมที่คณะอักษรศาสตร์ถึง 3 ชนิด ชนิดแรก คือ นกแสก (Eastern Barn-Owl) ซึ่งเกาะอยู่บนหลังคาเทวาลัยในยามค่ำคืน เพราะวันนั้นผมต้องซ้อมเชียร์ที่สนามหญ้าข้างเทวาลัยจนดึกดื่น จึงได้เห็นมันเกาะอยู่บนหลังคา ตัวสีขาวโพลนตัดกับท้องฟ้าที่มืดมิดก่อนบินจากไปราวกับปีศาจ ทันทีที่เห็น ผมนึกถึงกลอน “ดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า” ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ เปรียญ) บทนี้ ทันที

...............นกเอ๋ยนกแสก......................จับจ้องร้องแจ๊กเพียงแถกขวัญ

อยู่บนยอดหอระฆังบังแสงจันทร์...........มีเถาวัลย์รุงรังถึงหลังคา

เหมือนมันฟ้องดวงจันทร์ให้ผันดู............คนมาสู่ซ่องพักมันรักษา

ถือเป็นที่รโหฐานนมนานมา...................ให้เสื่อมผาสุกสันต์ของมันเอย

ส่วน ”นกใหม่” อีก 2 ชนิดที่ผมเห็นครั้งแรกที่เทวาลัย คือ นกแซงแซวสีเทา (Ashy Drongo) ซึ่งเป็นชนิดย่อยที่มีแก้มสีขาว มันเกาะอยู่บนต้นนนทรีหลังเทวาลัย และนกกระเบื้ยงผา (Blue Rock Thrush) ซึ่งเกาะอยู่บนหลังคาเทวาลัย ในระยะหลังผมจึงทราบว่า นกสองชนิดนี้บินอพยพย้ายถิ่นมาถึงกรุงเทพฯ ทุกปีในช่วงฤดูหนาว และพบได้บ่อยๆ ด้วย แต่ชนิดหลังชอบเกาะตามหลังคาตึกสูงๆ มากกว่า


https://www.facebook.com/noktawan/posts/1285386964814281?pnref=story


#ผ่อนอารมณ์เดินชมนก (3)

แหล่งดูนกแห่งแรก รอบบ้านพักในกรมทหารม้ายานเกราะ

กว่าจะมาเป็นหนังสือ #นกไทยในบันทึกและความทรงจำ โดย #BirdLifeClub

หลังจากได้กล้องสองตาตัวแรก ผมตระเวนดูนกรอบ ๆ หมู่บ้านก่อน บ้านพักของผมอยู่ในเรือนแถวในหมู่บ้านเล็กๆ ภายในกรมทหารม้ายานเกราะ ปลูกสร้างไว้ให้ทหารที่รับราชการที่นี่ได้พักอาศัยฟรี เพราะคุณพ่อของผมรับราชการเป็นทหารบกอยู่ในกรมทหารม้ายานเกราะ คำว่า “ยานเกราะ” ในที่นี้หมายถึง รถถัง นั่นเอง เพราะพวกทหารบกนิยมเรียกรถถังว่า “ม้าเหล็ก” กรมนี้จึงได้ชื่อว่า “กรมทหารม้ายานเกราะ” ม้าจริงๆ ในกรมนี้เท่าที่เห็นมีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่มีเพียงไม่กี่ตัว

หมู่บ้านแห่งนี้ประกอบด้วยเรือนแถว 4 แถว แถวที่ 1 และแถวที่ 2 หันหน้าบ้านเข้าหากัน แต่มีถนนปูนซีเมนต์คั่นระหว่างแถว ในเวลากลางคืนผมเคยเห็นมีนกมาบินเรี่ยพื้นถนนนี้ด้วย ผมถามคุณพ่อว่านกอะไร คุณพ่อบอกว่าเป็นนกตบยุง แต่ตัวมันไม่ใหญ่นัก เข้าใจว่าเป็นนกตบยุงเล็ก (Indian Nightjar) แถวที่ 3 และแถวที่ 4 หันหน้าบ้านเข้าหากันและมีถนนปูนซีเมนต์คั่นระหว่างแถวเช่นเดียวกัน แต่ละแถวมีบ้านพักไม่ต่ำกว่า 10 หลัง สร้างด้วยไม้ติดต่อกันหมด มุงหลังคาด้วยสังกะสี บ้านพักของผมอยู่ในแถวที่ 2

รอบๆ หมู่บ้านแห่งนี้เป็นป่าละเมาะซึ่งมีไม้ยืนต้นสูงใหญ่มากมายขึ้นแทรกอยู่ในดงหญ้าสูงๆ ป่าละเมาะแห่งนี้นี่เองเป็นแหล่งดูนกแห่งแรกของผม และผมยังได้ศึกษาผีเสื้อและแมลงอื่นๆ ที่ป่าแห่งนี้ หรือแม้กระทั่งเอาปุ้งกี๋ช้อนปลากัดในบ่อน้ำกลางป่ามาเลี้ยงไว้ดูเล่นอีกด้วย

นกชนิดแรกที่ผมเห็นคงหนีไม่พ้นนกกระจอกบ้าน (Eurasian Tree Sparrow) ที่มาทำรังในลูกมะพร้าวที่คุณพ่อแขวนไว้ที่หน้าบ้าน ส่วนนกกางเขนบ้าน (Oriental Magpie Robin) บินมาเกาะส่งเสียงร้องบนหลังคาบ้านทุกๆ เช้า ทุกๆ เย็น นกปรอดสวน (Streak-eared Bulbul) ชอบมากินลูกข่อยในป่าละเมาะ นกกระจิบธรรมดา (Common Tailorbird) พบเห็นตามสุมทุมพุ่มไม้ทั่วไป แต่ที่น่าแปลกใจมากผมเคยเห็นนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง (Golden-fronted Leafbird) ในป่าละเมาะหลังเรือนแถวที่ 1 ด้วย ไม่รู้ว่าบินมาจากไหน มาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร

หมู่บ้านของผมมีคลองล้อมรอบ คลองทางทิศตะวันตกซึ่งอ้อมมาทางทิศใต้เป็นคลองบางกระบือที่มีพ่อค้าแม่ค้าพายเรือขายผักและผลไม้ หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวและโอเลี้ยง คลองนี้เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับคลองเปรมประชากร ตามชายคลองผมเห็นนกกวัก (White-breasted Waterhen) หลายครั้ง แต่ที่ต้นมะเดื่อริมคลองใกล้สะพานเชื่อมคลองผมเคยเห็นนกเค้าจุด (Spotted Owlet) คลองทางทิศเหนือซึ่งอ้อมมาทางทิศตะวันออกเป็นคลองที่น้ำนิ่ง ทหารเกณฑ์ในเรือนจำมักเอาไม้ไผ่มาปลักไว้เพื่อปลูกผักบุ้ง ที่ปลายหลักไม้ไผ่นี้เองที่ผมเคยเห็นนกกระเต็นน้อยธรรมดา (Common Kingfisher) บินมาเกาะอยู่เสมอ

ในสวนผลไม้ทางทิศตะวันตก ผมไม่เคยเข้าไปดูนกเพราะเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของ แต่ผมเคยเห็นนกกินปลีคอสีน้ำตาล (Brown-throated Sunbird) ครั้งหนึ่งในสวนผลไม้แห่งนี้ เมื่อเดินข้ามสะพานตัดสวนผลไม้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อออกไปซื้อกับข้าวที่ตลาดบางกระบือ เพราะมีทางเดินสาธารณะที่เจ้าของสวนผลไม้ทำไว้ให้คนเดินออกไปที่ตลาดบางกระบือซึ่งอยู่ริมถนนทหาร แต่ผมเดินออกไปทางนี้ไม่บ่อยนักเพราะระยะทางค่อนข้างไกล

https://www.facebook.com/noktawan/posts/1286660028020308


#ผ่อนอารมณ์เดินชมนก (4) สมุดนก

กว่าจะมาเป็นหนังสือ #นกไทยในบันทึกและความทรงจำ โดย #BirdLifeClub

ขณะศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ถ้ามีเวลาว่างผมมักเดินทางมานั่งอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ ใกล้ท่าวาสุกรี เป็นประจำ เพราะเดินทางมาได้สะดวก เพียงแต่ต้องเสียเวลาเดินจากบ้านพักออกมาถึงหน้ากรมทหารม้ายานเกราะ ริมถนนทหาร แล้วนั่งรถเมล์สาย 3 (หมอชิต-คลองสาน) ทอดเดียวก็ถึงแล้ว หนังสือส่วนใหญ่ที่ผมอ่านเป็นหนังสือเกี่ยวกับสัตว์โดยเฉพาะเรื่องนก แต่ส่วนมากเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ หนังสือภาษาไทยหาอ่านได้ยากมากเพราะในสมัยนั้นมีคนเขียนอยู่เพียงคนเดียวจริงๆ คือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล

หนังสือเล่มโปรดของผม คือ หนังสือธรรมชาตินานาสัตว์ ชุด 1 – 3 ซึ่งพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ เมื่อ พ.ศ. 2504 ในชุด 3 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง “ปักษีทัศนา” ว่า “การศึกษาเรื่องนกเป็นฮอบบี (hobby) ที่คนทั่วๆ ไปชอบกันมากที่สุดอันหนึ่ง เป็นฮอบบีที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เล่นแล้วก็สบายใจไม่น้อย การเล่นเรื่องนกนี้ ในเมืองไทยที่แล้วๆ มาก็มีแต่การเล่นเลี้ยงนกบางชนิด แต่นักเลงนกในต่างประเทศเขามีเล่นกันหลายอย่าง เช่น เบิร์ดวอชเชอร์ (Bird Watcher) พวกนี้พอว่างก็ชวนกันท่องเที่ยวไปตามทุ่งนาป่าเขา เอากล้องไปส่องเพื่อดูชนิดนกต่างๆ ดูชีวิตของนก พอเห็นนกอะไร ก็จดเอาไว้ว่าวันที่เท่าไร เห็นนกอะไรกี่ตัว มันกำลังทำอะไรอยู่ ทำรัง หรือเลี้ยงลูก หรืออย่างไร”

คุณหมอยังกล่าวอีกว่า “การเล่นฮอบบีอะไรๆ ทุกอย่าง เราจะต้องสนใจศึกษาในเรื่องนั้นๆ ด้วย จึงจะเกิดความสนุก เรื่องนกนี่ก็เหมือนกัน จะต้องศึกษาให้รู้ถึงชนิดต่างๆ ของนก ศึกษาให้รู้ว่าตามธรรมดาภาษาไทยเราเรียกกันว่าอะไร ภาษาวิทยาศาสตร์เขาเรียกกันเป็นภาษากลางๆ ร่วมกันทั้งโลก คือ เรียกเป็นภาษาลาตินว่าอะไร แล้วก็ศึกษาดูว่ามันมีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างไร เช่น พบมันทุกฤดูตลอดปีหรือเปล่า ทำรังวางไข่ในเมืองไทยหรือเปล่า มันทำรังที่ไหน ทำรังอย่างไร ตัวผู้ตัวเมียช่วยกันกกไข่เลี้ยงลูกหรือไม่อย่างไร มันย้ายเข้ามาหากินในเมืองไทยเดือนไหน กลับไปเดือนไหน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจ”

คุณหมอบอกว่า “หากเราเห็นอะไร เราก็ต้องจดๆ ไว้ในสมุดพก ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่า สมุดนก เป็นคล้ายๆ กับจดหมายเหตุรายวันสำหรับนกโดยเฉพาะ สิ่งต่างๆ ที่เราจดไว้ในสมุดพกนี้แหละ เมื่อรวมกันมากๆ นานๆ เข้าก็จะเป็นตำราและหลักฐานที่ดีในเรื่องปักษีวิทยา ตำราต่างๆ ที่เขาเขียนๆ และรวบรวมที่แล้วๆ มา โดยมากก็ได้มาจาก สมุดนก ที่ว่า การจดในสมุดพกหรือจดหมายเหตุรายวันเช่นนี้ คนไทยเราน้อยคนที่จะเอาใจใส่และทำได้ โดยมากมักนึกว่าเรื่องเล็กเสียบ้าง บางทีก็นึกอวดดีว่า “เฮ้ยจำได้น่ะ” อะไรเช่นนี้ แล้วพออีก 2-3 วันก็ลืมหมด คนเช่นนี้ อยู่ให้ผมหงอกเต็มไปทั้งหัวก็จะเป็นนักเลงนกหรือนักปักษีวิทยาได้ยาก ที่ผมว่านี้ก็รวมทั้งตัวผมเองด้วย ซึ่งยังมีนิสัยเป็นไทยแท้ คือ ชอบสบาย ขี้เกียจจดอะไรๆ เป็นกำลังเหมือนกัน”

ในตอนท้ายคุณหมอย้ำว่า “เรื่องอุปกรณ์ของ “เบิร์ดวอชชิ่ง” (Bird Watching) ที่เรียกเป็นไทยว่า “ปักษีทัศนา” นั้น ก็ไม่มีอะไรมาก มีกล้องส่องทางไกลอยู่คู่หนึ่ง แล้วก็มีสมุดพกดินสอติดตัวอยู่อีกอันหนึ่งก็หมดเรื่อง ไม่ต้องมีอะไรมากไปกว่านี้ก็ได้ พอถึงวันเสาร์วันอาทิตย์ว่างงานก็เดินท่องเที่ยวเล่นไปตามทุ่งนาป่าเขา แล้วแต่คุณอยากไป เห็นนกอะไรแปลกๆ ตาก็ส่องกล้องดู แล้วก็จดบันทึกอะไรๆ เอาไว้เรื่อยๆ ดังกล่าวมาแล้ว” เพราะการย้ำเตือนของคุณหมอนี่เอง ทุกครั้งที่ผมออกไปดูนกด้วยกล้องสองตาตัวแรก ผมจึงต้องมีสมุดพกและปากกาลูกลื่นไปด้วยเสมอ เพื่อจดบันทึกเกี่ยวกับนกที่พบเห็น

https://www.facebook.com/noktawan/posts/1290971454255832


K6146487-0.jpg

นกในวรรณคดีของสุนทรภู่


วรรณคดี คือ หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี วรรณคดีจึงเป็นเรื่องแต่ง

แม้ว่า วรรณคดีจะเป็นเรื่องแต่งแต่นกที่กล่าวถึงในวรรณคดีของสุนทรภู่ก็เป็นนกที่มีอยู่จริง พบในประเทศไทยในสมัยของท่านจริง

“นกในวรรณคดีของสุนทรภู่” เขียนจากประสบการณ์การดูนกและการค้นคว้าเรื่องนกในวรรณคดีของ

สุธี ศุภรัฐวิกร อดีตนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ในฐานะนักดูนกและนักอักษรศาสตร์


“นกในวรรณคดีของสุนทรภู่” ให้ความรู้เรื่องนกที่พบในประเทศไทย ซึ่งสุนทรภู่ได้บรรยายไว้ในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ ของท่าน ทั้งชีววิทยาของนก ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญของนก เปรียบเทียบชื่อเรียกในสมัยของสุนทรภู่และสมัยปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งที่ยังคงเรียกในชื่อเดิม และมีการเรียกเปลี่ยนหรือเพี้ยนเสียงไปจากเดิม โดยมีภาพถ่ายจริงที่สวยงามของนกแต่ละตัวประกอบการบรรยาย

นกเป็นสัตว์ที่มีสีสันสวยงาม  มีเสียงร้องไพเราะน่าฟัง  มีกิริยาท่าทางน่ารักน่าเอ็นดู  ไม่ว่าในขณะกระโดด หากิน หรือโผบิน และแม้กระทั่งในขณะทำรัง วางไข่ และเลี้ยงลูก นกจึงทำให้ใคร ๆ ที่พบเห็นชื่นชอบอยู่เสมอ

มีคำพังเพยเกี่ยวกับนก กล่าวว่า "ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว”

ชื่นชอบนก ชื่นชอบวรรณคดี อ่าน “นกในวรรณคดีของสุนทรภู่” บทบรรยายธรรมชาติของประเทศไทย จากบทกวีที่สร้างความประทับใจของท่านสุนทรภู่ กวีนักดูนก ที่ให้ทั้งความเพลิดเพลินและแง่คิด และความรู้ทางชีววิทยาโดย สุธี ศุภรัฐวิกร นักดูนก

14316808_1289355617750749_8357801581984836151_n.jpg



อยากรู้จักนก มากกว่าที่ได้เห็น มากกว่าในภาพถ่าย

อ่านหนังสือชุด นกไทยในบันทึกและความทรงจำของ

สุธี ศุภรัฐวิกร นักดูนกและนักอักษรศาสตร์

บันทึกนักเดินทาง







 

Create Date : 20 กันยายน 2559
0 comments
Last Update : 20 กันยายน 2559 20:27:15 น.
Counter : 2496 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Aisha
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่
Aisha's blog ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

Friends' blogs
[Add Aisha's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.