กันยายน 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
17 กันยายน 2556

Review: Sony Xperia Z1 สเปกแรง กล้องเทพ 20.7 ล้านพิกเซล



       เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงรอรีวิวสมาร์ทโฟนกล้องเทพ 20.7 ล้านพิกเซลจากโซนี่ในรุ่น Xperia Z1 โดยเฉพาะเรื่องกล้องถ่ายภาพที่ขึ้นชื่อเรื่องความเจ๋งไม่แพ้ Nokia Lumia 1020 อยู่แน่นอน เพราะฉะนั้นในวันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซจึงรีบลัดคิวคว้า Xperia Z1 มารีวิวแบบจัดเต็มให้ชมเป็นสื่อแรกของประเทศไทยหลังจากเคยอ่านข่าวและเห็นพรีวิวในงานเปิดตัวทั้งจากงาน IFA ที่เบอร์ลินและมาเลเซียไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้



การออกแบบ




       เห็นดีไซน์การออกแบบภายนอกแทบไม่ต้องบอกว่าเป็นแบรนด์อะไร เพราะโซนี่ยังเลือกการออกแบบสไตล์ OmniBalance ด้านหน้าและหลังเป็นกระจก เหนือโลโก้โซนี่คือตำแหน่งเซ็นเซอร์ NFC แบบเดียวกับ Xperia Z Ultra และที่สำคัญคือมีไฟแฟลชอยู่ล่างเลนส์กล้อง

       โดยหน้าจอ โซนี่เลือกใช้ TRILUMINOS Display (แบบเดียวกับ Xperia Z Ultra) ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด 1,920x1,080 พิกเซล มาพร้อมเทคโนโลยีการแสดงผล X-Reality for Mobile ให้สีสัน โทนสี มิติแบบเดียวกับ Xperia Z Ultra ที่ทีมงานได้เคยรีวิวไปเหมือนแกะมาจากพิมพ์เดียวกัน

       และถ้าสังเกตในส่วนของไฟแจ้งเตือน (Notification Light) โซนี่ได้ย้ายมาอยู่บริเวณลำโพงฟังเสียงสนทนาแล้ว

ส่วนน้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 169 กรัม ตัวเครื่องบาง 8.5 มิลลิเมตร สามารถป้องกันน้ำและฝุ่นได้ตามมาตรฐาน IPX5/IPX8 (กันน้ำลึก 1.50 เมตรนาน 30 นาที)



       มาถึงสันเครื่องซึ่งมีความแตกต่างจากสมาร์ทโฟนโซนี่รุ่นอื่นๆ ก็คือการเลือกใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมชิ้นเดียวทั้งหมด ทำให้การจับถือดูมีความแข็งแรงมากขึ้น ส่วนช่องเสียบหูฟัง 3.5 มิลลิเมตรจะไม่มีฝาปิดกันน้ำมาให้เช่นเดิม เพราะโซนี่บอกว่าน้ำเข้าไม่เป็นไร ส่วนพอร์ตเชื่อมต่ออื่นๆ จะมีฝาปิดมากันน้ำและฝุ่นเข้าไปภายในให้ตามปกติ




       โดยในส่วนพอร์ตเชื่อมต่อและปุ่มกดต่างๆ รอบตัวเครื่องจากด้านขวาของเครื่อง ตรงกลางปุ่มสีเงินกลมๆ จะเป็นปุ่มเปิด-ปิด-Sleep-Awake ถัดมาจะเป็นปุ่มเพิ่มลดระดับเสียงและใช้แทนซูมเข้าออกเมื่ออยู่ในโหมดกล้อง ส่วนปุ่มเล็กๆ ด้านซ้ายมือสุดของภาพจะเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้อง โดยปุ่มจะมีจังหวะกดสองจังหวะคือ กดลงไปเบาๆ ค้างไว้จะเป็นการล็อคโฟกัส ล็อคค่าแสง และถ้ากดลงไปเต็มแรงหนึ่งครั้งชัตเตอร์จะลั่น ส่วนถ้าอยู่ในหน้าโฮมสกรีนหรือหน้า Lock Screen กดค้างไว้จะเรียกใช้งานแอปฯ ถ่ายภาพอัตโนมัติ

       ส่วนช่องขวาสุดของภาพจะเป็นช่องใส่ซิมการ์ดโทรศัพท์แบบ MicroSIM



       มาดูอีกด้าน ตรงกลางจะเป็นส่วนเชื่อมต่อกับ Docking ของโซนี่ส่วนช่องที่ถูกปิดไว้คือช่องใส่ MicroSD Card สำหรับเพิ่มความจุและช่อง MicroUSB



       ส่วนลำโพงขยายเสียงถูกติดตั้งอยู่ด้านล่างพร้อมช่องใส่สายคล้องข้อมือหรือจะใส่สายคล้องคอก็ได้

สเปก



       อย่างแรกต้องบอกก่อนว่า Sony Xperia Z1 รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบนี้เป็นโมเดลรองรับ 4G LTE (C6903) แต่รุ่นที่ขายในไทยเดือนหน้าคาดว่าจะรองรับเฉพาะ 3G อย่างเดียวก่อน ส่วน 4G LTE คงต้องรอทรูมูฟ เอช นำเข้ามาขายอีกครั้ง

       สำหรับสเปกซีพียูจะเป็น Qualcomm Snapdragon 800 (MSM8974) Quad Core ความเร็ว 2.2GHz (CPU-Z มองเห็น 2.15GHz) กราฟิก Adreno 330 พร้อมแรม 2GB และ Flash Memory ภายในให้มา 16GB (ใช้ได้จริงประมาณ 11.79GB) สามารถเพิ่มความจุโดยใช้ MicroSD สูงสุด 64GB และระบบปฏิบัติการที่ใช้เป็นแอนดรอยด์ 4.2 Jelly Bean

       ส่วนการรองรับ 3G จะรองรับทุกเครือข่ายในไทย (850/900/1,700/1,900/2,100MHz) ส่วน GSM/EDGE รองรับ 850/900/1,800/1,900MHz) และสุดท้ายสำหรับรุ่น 4G LTE ถ้ามีการนำเข้ามาขายในอนาคตจะรองรับความถี่ Bands 1, 2, 3, 4, 5, 7, 8, 17, 20



       มาถึงสเปกกล้องที่ถือเป็นพระเอกของรุ่นนี้ตั้งแต่เซ็นเซอร์รับภาพภายในขนาดใหญ่ 1/2.3 นิ้ว (ประมาณกล้องคอมแพกต์ตระกูล Cybershot) ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซลในอัตราส่วนภาพ 4:3 พร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ Exmor RS for Mobile ประกบหน่วยประมวลผลภาพ BIONZ for mobile รองรับ Face Detection, Smile Shutter และเลนส์กล้อง Aspherical lens ระยะไวด์ 27 มิลลิเมตร G Lens f2.0 จากโซนี่

       โดยการเลือกใช้ความละเอียดภาพระดับ 20.7 ล้านพิกเซลแท้จริงแล้วก็เพื่อนำไปต่อยอดในเรื่องระบบซูมภาพแบบ Clear Image Zoom 3 เท่าบนเทคโนโลยี By-pixel super resolution (คล้ายหลักการ Lossless Zoom ของโนเกีย 808 PureView) เพราะฉะนั้นภาพ Output ที่ถ่ายได้จาก Xperia Z1 จะอยู่ที่ 8 ล้านพิกเซลเท่านั้น ส่วนถ้าถ่ายแบบเต็มความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซลสามารถทำได้ในโหมด Manual แต่จะไม่สามารถปรับลูกเล่นอื่นๆ ได้

Zoom3XTest1


       และนี่คือรูปแสดงผลลัพท์ของประโยชน์เซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่ที่มาพร้อมความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล ถ้าถามว่าประโยชน์คืออะไร คำตอบคือ ความสามารถในการซูมภาพ 3 เท่าแบบให้สูญเสียรายละเอียดของภาพน้อยที่สุดและไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับกลไกลของเลนส์เพราะด้วยขนาดของสมาร์ทโฟนที่เล็กและบาง (คล้ายๆ หลักการ Digital Zoom)

       โดยโซนี่ใช้ชื่อว่า Clear Image Zoom ซึ่งใน Xperia Z1 สามารถทำได้ที่ 3 เท่าตามภาพประกอบด้านบน แต่ด้วยเฟริมแวร์ Z1 ที่ทีมงานได้รับมาทดสอบยังไม่สมบูรณ์มากนักทำให้ผลลัพท์ที่ได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร

UI และฟีเจอร์เด่น




       ในส่วนของ UI และรายละเอียดของแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาใน Xperia Z1 จะคล้ายกับ Xperia Z Ultra แทบทั้งหมดเพราะ 2 รุ่นนี้จัดอยู่ในตระกูลไฮเอนด์เหมือนกัน เพราะฉะนั้นใครอยากรู้รายละเอียดของแอปฯ ที่ติดตั้งมาในเครื่องสามารถกดรับชมได้จากลิงค์ Xperia Z Ultra สีส้มๆ ด้านบนได้เลย ส่วนในหัวข้อนี้สำหรับ Xperia Z1 ทีมงานจะขอพูดถึงฟีเจอร์ที่เพิ่งถือกำเนิดมาเฉพาะ Z1 เท่านั้น



       แต่ก่อนจะไปชมฟีเจอร์เด่นต่างๆ ขอพูดถึงคีย์บอร์ดซึ่งครั้งที่แล้วผม @dorapenguin ในฐานะผู้ทดสอบ Xperia Z Ultra ลืมจับภาพมาให้ชม

       สำหรับคีย์บอร์ดของโซนี่จะเห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้ภาษาไทยมากเพราะ Layout ถูกบีบให้เหลือ 3 แถวทำให้ตัวอักษรหลายตัวมีการเปลี่ยนตำแหน่งไปจนอาจสร้างความสับสนงุนงงให้ผู้ใช้รายใหม่ได้ เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ถนัดคีย์บอร์ดแนวนี้สามารถหาดาวน์โหลดคีย์บอร์ด Qwerty สวยๆ ถูกใจได้ใหม่จาก Play Store มาใช้งานแทนได้ครับ



       จบเรื่องคีย์บอร์ดมาถึงฟีเจอร์เด่น ซึ่งใน Xperia Z1 ได้ให้แอปฯ ตกแต่งภาพตัวหนึ่งมาในชื่อ PIXLR Express ที่ผมอยากแนะนำให้ลองใช้มากครับ เพราะแอปฯ ทำออกมาได้ดีจริง ยกเว้นหน้าตา UI ที่ดูโบราณสักนิด

DSC_0031_20130914171009317


       โดยความสามารถของแอปฯ นี้จะสามารถตกแต่งภาพถ่ายจาก Xperia Z1 ได้ตั้งแต่ปรับแสง สี คอนทราสต์ ครอปภาพ ใส่เอ็ฟเฟ็กต์ไปถึงพิมพ์ข้อความหรือใส่กรอบภาพได้ทั้งหมด และที่เด็ดสุดคงเป็นเรื่องความสามารถในการเซฟรูปที่ผ่านการตกแต่งแล้วแบบเต็มความละเอียดได้อย่างรวดเร็วจากความเข้ากันได้ของ Snapdragon 800 กับ PIXLR Express ใครได้ Xperia Z1 ไว้ในครอบครองอย่าลืมทดลองใช้แอปนี้แต่งภาพครับ แล้วจะติดใจ (ดูภาพประกอบที่ผมทดสอบตกแต่งไว้ด้านบน)



       มาดูในโหมดถ่ายภาพที่หน้าตาและการใช้งานรวมถึงความสามารถจะแตกต่างจากสมาร์ทโฟนโซนี่แทบทุกตัว โดยเฉพาะโหมดถ่ายภาพที่มีให้เลือกใช้งานมากมายและส่วนใหญ่จะเน้นการใช้งานไปในรูปแบบอัตโนมัติ ปรับแต่งได้บ้างตามต้องการเพื่อผู้ใช้ทุกระดับในแบบคอนเซปกล้องคอมแพกต์ขนาดเล็ก



       เริ่มจากโหมด Superior auto หรือโหมดถ่ายภาพอัตโนมัติแบบอัจฉริยะที่ผู้ถ่ายมีหน้าที่แค่เล็ง แตะหน้าจอเลือกโฟกัสและกดปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพอย่างเดียวเท่านั้น จากนั้นระบบจะทำการปรับภาพให้อย่างอัตโนมัติ




       Manual หรือโหมดที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เป็นผู้ปรับแต่งค่ากล้องเองบางส่วน เช่น ISO 50-3,200, White Balance ชดเชยแสง +/- รวมถึงปรับขนาดภาพได้ตั้งแต่ขนาดใหญ่สุด 20 ล้านพิกเซล 8 ล้านพิกเซลไปจนต่ำสุด 2 ล้านพิกเซล



       อีกทั้งใน Manual ผู้ใช้ยังสามารถเลือกซีนโหมดได้มากถึง 18 ซีนตามสถานการณ์ต่างๆ เช่น Soft Skin ทำผิวเนียนใสเวลาถ่ายภาพบุคคลหรือ Hand-held twilight สำหรับถ่ายภาพกลางคืนให้คมชัดแม้ไม่ใช้ขาตั้งกล้อง เป็นต้น

Timeshift burst หรือโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง 60 ภาพในหนึ่งวินาทีเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกภาพที่ดีที่สุดได้ภายหลัง เหมาะแก่การถ่ายภาพที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา (สามารถดูวิดีโอสาธิตการใช้งานโหมดดังกล่าวได้จากวิดีโอพรีวิวด้านล่างสุด)

Picture effect เรียลไทม์เอ็ฟเฟ็กต์ 9 รูปแบบให้เลือกใช้งานได้ทันที

Sweep Panorama โหมดพาโนรามา




AR effect หรือ Augmented Reality Effect ที่ใช้ความสามารถด้านเข็มทิศและการจับระยะใกล้ไกลของวัตถุมาใช้ร่วมกับเอ็ฟเฟ็กต์แบบ 3 มิติที่มีให้เลือก 7 รูปแบบ



InfoEye จะเป็นโหมดกล้องที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูล Google เวลาที่ผู้ใช้ถ่ายภาพสถานที่สำคัญหรือตัวอักษรบนกล่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ InfoEye จะค้นหาข้อมูล รายละเอียดของสิ่งเหล่านั้นจาก Google ให้ อีกทั้งใน InfoEye ยังรองรับการอ่าน Barcode และ QR-Code ด้วย



Social Live หรือโหมดถ่ายวิดีโอแบบรายงานสด (สตรีมมิ่ง) ผ่านหน้า Facebook ของผู้ใช้เอง โดยความสามารถนี้โซนี่เปิดโอกาสให้ใช้งานได้ฟรีด้วยการจำกัดวิดีโอความยาวต้องไม่เกิน 10 นาทีและความละเอียดสูงสุดที่รองรับอยู่แค่ 270p พร้อมจัดเก็บบน Server ของโซนี่ให้ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

       ส่วนผู้ใช้คนใดที่อยากจริงจังกับการทำ Live Video ก็สามารถสมัครสมาชิกแบบ Premium ได้ โดยความยาววิดีโอต่อหนึ่งคลิปจะเพิ่มเป็น 30 นาที รองรับความละเอียดในการแสดงผล 360p และสามารถเก็บวิดีโอบน Server ของโซนี่ได้อย่างไม่จำกัดเวลา

       และนี่ก็คือฟีเจอร์ทั้งหมดที่ Xperia Z1 มีมาให้ทันทีที่เปิดเครื่อง แน่นอนว่าฟีเจอร์ส่วนใหญ่ถูกเน้นไปที่เรื่องกล้องถ่ายภาพที่เป็นไม้ตายหลักของสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นนี้จากโซนี่

ทดสอบประสิทธิภาพ





       ในด้านการทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมของ Xperia Z1 ต้องบอกว่าด้วยสเปกที่ไม่ห่างจาก Xperia Z Ultra มากนักทำให้ผลทดสอบแทบทุกส่วนมีคะแนนไล่กันมาก โดยความลื่นไหลของการเล่นเกม แอปฯ และการใช้งานทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีแบบเดียวกับที่ผมเคยชื่นชม Xperia Z Ultra อย่างใดอย่างนั้น โดยเฉพาะ UI ของโซนี่ที่ครอปแอนดรอยด์ Jelly Bean 4.2 มาอีกทีนั้นทำงานได้ลื่นไหลมาก



       มาถึงเรื่องแบตเตอรีกับการใช้งาน 1 วันเต็ม ด้วยขนาดแบตเตอรี 3,300mAh กับขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว ชิป Snapdragon 800 QuadCore ทดสอบแบบหนักหน่วง (แต่เปิด STAMINA Mode) ตั้งแต่เปิดเครื่องมาก็ฟัง Tunein Radio ตลอดการเดินทาง 2 ชั่วโมงกว่า ก่อนจะไปทริปถ่ายรูปสัก 10 รูป พร้อมเปิด Google Chrome อ่านข่าวเรื่อบเปื่อยอีกเกือบทั้งวัน พบว่าอายุการใช้งานต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้งสามารถทำได้ประมาณ 10-11 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้เล่นเกม 3 มิติตลอดทั้งวันเป็นหลักคงทำได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมงเท่านั้น



       ส่วนคนที่รักการเดินทาง ชอบใช้ Google Maps นำทาง ผมได้ทดสอบจากทริปกรุงเทพ-นครนายก ไปร่วมงานที่ภูโอบน้ำใส คันทรี่ รีสอร์ท ผ่านเส้นรังสิต-นครนายก (นำทางด้วย GPS+3G สลับ Edge พร้อมเปิดหน้าจอทิ้งไว้ตลอด) ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง จากแบตเตอรี 100% ลดเหลือเพียง 64% เท่านั้น ลองไปพิจารณาดูเองครับว่าใช้ได้ไหม

ทำความเข้าใจก่อนทดสอบโหมดกล้อง

       มาถึงส่วนสำคัญ ซึ่งถือเป็นพระเอกของ Xperia Z1 และไม่สามารถข้ามการทดสอบส่วนนี้ไปได้เพราะผมทราบมาว่า "เป็นส่วนที่คุณผู้อ่านอยากทราบมากที่สุดในตอนนี้" เพราะฉะนั้นผมจะพาไปทดสอบแบบละเอียดกันเลยครับ

**แต่ก่อนเข้าสู่การทดสอบผมขอชี้แจงสักนิดว่า เครื่องที่เราจะมาทดสอบถ่ายภาพกันในวันนี้เป็นเครื่อง Sample จากโซนี่ที่ยังไม่สมบูรณ์นัก โดยเฟริมแวร์ที่ใช้เป็นเวอร์ชัน 14.1.G.1.518 เวอร์ชันเดียวกับที่สื่อต่างประเทศทดสอบอยู่ในตอนนี้

       โดยการทดสอบจะขอแบ่งเป็นสองรูปแบบคือ

       1. ทดสอบที่ความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซลในโหมด Manual ซึ่งจะเสียเรื่องการปรับแต่งภาพจากหน่วยประมวลผลภาพไปบางส่วน เนื่องจากระบบไม่อนุญาตให้ปรับแต่ง ไฟล์ที่ได้จึงเป็นไฟล์ดิบขนาดประมาณ 7MB ต่อไฟล์

       2. ทดสอบในโหมด Superior Auto แบบเล็ง จิ้มโฟกัสแล้วกดถ่ายเป็นหลัก เพื่อดูความอัจฉริยะของเซ็นเซอร์ประมวลผลภาพ ขนาดไฟล์ประมาณ 1-2MB ต่อไฟล์เพราะขนาดภาพเหลือเพียง 8 ล้านพิกเซลตามคอนเซปกล้องของโซนี่

โดยภาพความละเอียด 20.7 ล้านพิกเซล ผมได้อัปโหลดภาพแบบเต็มความละเอียดไว้ใน flickr ของผมแล้วสามารถกดเข้าชมได้ที่ //www.flickr.com/photos/potsawat/sets/72157635464735182/ เลือกรับชมภาพที่ 1-8 แรกได้เลยครับ

ภาพไฟล์ดิบ 20.7 ล้านพิกเซล

XperiaZ1-20MP-3

XperiaZ1-20MP-7

XperiaZ1-20MP-2


       ด้วยความที่โหมดดังกล่าวไม่อนุญาตให้ผู้ถ่ายกดปรับค่ากล้องใดๆ แม้แต่เรื่องจิ้มเลือกโฟกัสยังทำไม่ได้ เพราะกล้องจะจับโฟกัสจากจุดตรงกลางเท่านั้น (Single Point Focus) ซึ่งผลลัพท์ที่ทำออกมาถือว่าค่อนข้างน่าพอใจ ภาพ 20.7 ล้านพิกเซลสามารถนำไปต่อยอดด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์เช่น จัดองค์ประกอบใหม่ ครอปภาพใหม่ได้อย่างไม่น่าเป็นห่วงเรื่องความละเอียดใดๆ แต่ถ้าจะนำไปใช้ในงานพิมพ์ขนาดใหญ่มากๆ เช่น งาน Billboard แบบมืออาชีพ ส่วนนี้ขอให้เลี่ยงนะครับ เพราะในเฟริมแวร์นี้ถ้าครอปเข้าไป 100% จะเห็นว่าขอบภาพความคมชัดยังไม่ดีนัก (คงต้องรออัปเดตเฟริมแวร์อีกครั้งในวันวางขายจริง) แต่ถ้าจะครอปหรือนำไปใช้แค่อัดภาพขนาดเล็กเก็บไว้ดูหรือโพสต์ขึ้นโซเชียล คุณภาพภาพระดับนี้โอเคแล้วครับ

XperiaZ1-20MP-1

XperiaZ1-20MP-4


       มาถึงการโชว์ความสามารถของ G Lens f2.0 กับเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่เท่าคอมแพกต์โซนี่ ส่วนนี้ถือว่าทำให้เกิดมิติภาพได้ง่ายกว่ากล้องสมาร์ทโฟนทั่วภาพ

แต่ปัญหาก็ใช่ว่าไม่มีนะครับกับ G Lens f2.0 นี้ เพราะเวลาถ่ายภาพในที่มีแสงย้อนแย้งไปมามากๆ ภาพมักเกิดอาการฟุ้งหรือบางทีก็มีเส้นแสง Flare เข้ามารบกวนจนต้องนำมือมาบังไว้เหนือเลนส์ แสง Flare เหล่านั้นถึงจะหาย

LowLight-XperiaZ1-20MP-8


       เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นครับถ้าเราจะทดสอบภาพ Low Light ในแบบไม่ต้องผ่านหน่วยประมวลผลภาพของโซนี่ เพราะเราอาจเจอกับปัญหาภาพมืดได้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผิดคาดเพราะผมได้ทดสอบภาพนี้ในพื้นที่ที่มีแสงน้อยมาก แต่ Xperia Z1 ก็สร้างผลงานได้ดีครับ ผมคาดว่า ISO ของภาพนี้น่าจะอยู่แค่ 400 f2.0 เท่านั้น ผลลัพท์ที่ออกมาจึงได้ภาพที่ Noise ไม่มากนัก ในขณะที่หน้าวัตถุยังมองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนดี

ภาพจากโหมด Superior Auto

DSC_0024


       ขอทดสอบภาพกลางคืนกับสภาพแสงที่น้อยกว่าภาพบนมาก ISO กล้องกระโดดไป 1,250 f2.0 ความเร็วชัตเตอร์เหลือแค่ 1/8 วินาที พบว่า Noise ที่ได้ค่อนข้างมาก แต่ความสว่างของภาพ Balance ของแสงและสีกลับถูกหน่วยประมวลผลภาพของโซนี่จัดการมาอย่างพอเหมาะ และถือว่าน่าประทับใจมากสำหรับกล้องบนสมาร์ทโฟน

DSC_0017


       ส่วนภาพนี้กล้องมองว่าเป็น Backlight HDR และเมื่อกดถ่ายหน่วยประมวลผลภาพก็จัดการมาให้เป็นภาพด้านบนนี้ จะเห็นว่าความสว่างบริเวณหน้าต่างที่ความจริงควรจะมืดมิดกับฉากหลังค่อนข้างสมดุลกัน

DSC_0028


       มาถึงภาพมาโครแต่ไม่ได้ถ่ายใกล้นัก เพราะอยากจะลองเรื่องมิติภาพจากเซ็นเซอร์ที่ใหญ่กว่ากล้องสมาร์ทโฟนทั่วไป พบว่ามิติภาพที่เกิดจาก f2.0 และเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ค่อนข้างดีและน่าประทับใจมาก เหมือนถ่ายจากคอมแพกต์เลย

DSC_0026

DSC_0027


       มาดูภาพสุดท้ายที่เน้นรายละเอียดมากๆ กันบ้างจะเห็นว่ากล้อง Xperia Z1 + Superior Auto Mode เก็บภาพมาได้ค่อนข้างดีครับ ถ้าเราจิ้มหน้าจอวัดแสงวัดโฟกัสได้ถูกตำแหน่งภาพที่ออกมาจะพอดีมาก เพราะหน่วยประมวลผลภาพสำหรับตัวนี้ค่อนข้างฉลาดครับ ไม่เหมือนกล้องบนสมาร์ทโฟนโซนี่รุ่นเก่าที่ให้ผลลัพท์ในโหมดอัตโนมัติแบบนี้ได้ไม่ดีเท่าไรนัก

       ส่วนภาพอื่นๆ ดูได้ที่ด้านล่างนี้

DSC_0016

DSC_0015

DSC_0029

DSC_0030

DSC_0040

DSC_0013

DSC_0011


       สรุปสำหรับกล้องถ่ายภาพใน Sony Xperia Z1 ณ ปัจจุบันคงไม่มีสมาร์ทโฟนไฮเอนด์รุ่นไหนสู้ได้ ยกเว้น Nokia Lumia 1020 ที่ต้องรอทดสอบอีกครั้งในเร็ววันนี้

โดยกล้องใน Xperia Z1 ให้สีสัน มิติภาพที่ได้อารมณ์เดียวกับกล้องคอมแพกต์รุ่นใหม่ๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่มีข้อเสียอย่างเดียวคือรุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบยังมีเฟริมแวร์ที่ยังไม่สมบูรณ์นัก ทำให้การครอปภาพที่ 20.7 ล้านพิกเซลรวมถึงระบบซูม Clear image zoom ยังให้ผลลัพท์ที่ไม่ดีนัก



       สุดท้ายกับการทดสอบวิดีโอ หลายคนเชื่อว่า Xperia Z1 ถ่ายวิดีโอความละเอียด 4K ได้ แน่นอนว่าฮาร์ดแวร์รองรับอยู่แล้ว แต่ซอฟต์แวร์ ณ ตอนนี้ยังรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียด 1080p อยู่เท่านั้น แต่ด้วยอานิสงส์ของเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่และ G Lens f2.0 จากโซนี่ทำให้วิดีโอสามารถถ่ายในที่มืดได้ดีขึ้น อีกทั้งด้วยการมาของฟีเจอร์ SteadyShot หรือระบบกันภาพสั่นไหวจากโซนี่ที่ติดตั้งมาให้ใน Z1 ผลลัพท์ที่ได้ก็ตามวิดีโอด้านบนครับ

ตอบจุดขายหรือไม่/ข้อสังเกต

จุดขาย

       - กล้อง 20.7 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ 1/2.3 ให้คุณภาพที่ดี
       - แบตเตอรีใช้ได้ทั้งวัน
       - มี NFC รองรับ one touch technology ของโซนี่ทั้งหมด
       - ซีพียูแรง การใช้งานลื่นไหล สเปกเหลือเฟือ ณ ปัจจุบัน
       - โหมดกล้องลูกเล่นมากมาย โดยเฉพาะ Scoiallive
       - งานประกอบแข็งแรง
       - กันน้ำ กันฝุ่น

ข้อสังเกต

       - กระจกทั้งด้านหน้าจอและหลังเครื่องเป็นรอยนิ้วมือง่ายมาก
       - ปุ่มชัตเตอร์ยังให้น้ำหนักการกดที่ไม่ดี เวลากดทีมือสั่นตลอด

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?


วิดีโอแสดงฟีเจอร์เด่นต่างๆ ใน Sony Xperia Z1 โดยคุณแพท


       ณ วันที่ทีมงานลงบทความรีวิวชิ้นนี้ Sony Xperia Z1 ยังไม่มีราคาเปิดตัวแน่นอน แต่ทางทีมงานไซเบอร์บิซได้รับแจ้งว่าวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการพร้อมขายจะอยู่ในช่วงวันที่ 3-6 ตุลาคมในงาน Thailand Mobile Expo 2013 ใครที่สนใจ Xperia Z1 ก็อย่าลืมติดตามข่าวครับ

       ส่วนบทสรุปทั้งหมดของ Sony Xperia Z1 จากการทดสอบใช้งานจริงร่วม 1-2 อาทิตย์ก็ยอมรับครับว่าโซนี่จะกลับมาในตลาดสมาร์ทโฟนไฮเอนด์ได้อย่างสวยงามแน่นอน เพราะเรื่องนี้มีแววมาตั้งแต่ตอนทดสอบ Xperia Z Ultra แล้วว่าทั้งสเปกและการใช้งานตอบสนองผู้ใช้ระดับฮาร์ดคอร์ได้ดีเหลือเกิน ซึ่งใน Z1 ก็ให้ความรู้สึกเหล่านั้นอยู่และบวกด้วยความสามารถกล้องถ่ายภาพก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้ Xperia Z1 ได้อย่างดี

แต่ถึงอย่างไรถึงแม้สเปกและการใช้งาน Xperia Z1 จะดีมากเพียงใดก็ตาม แต่ในส่วนของเฟริมแวร์โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพที่อยากฝากโซนี่ช่วยอัปเกรดปรับปรุงประสิทธิภาพการลบ Noise ใหม่ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงไฟล์ภาพที่เมื่อครอป 100% หรือใช้ระบบซูม 3 เท่าของโซนี่แล้วยังเห็นความแตกของเม็ดพิกเซลมากอยู่ ส่วนนี้อยากฝากเป็นการบ้านให้โซนี่ได้แก้ไขก่อนวางขายจริงในเดือนหน้าด้วยครับ ถ้าโซนี่ทำได้ Xperia Z1 จะถือเป็นก้าวสำคัญของแอนดรอยด์โฟนที่มีกล้องเลิศที่สุดสู้ฝั่ง Nokia Lumia วินโดวส์โฟนที่มีเซ็นเซอร์ใหญ่กว่าได้แน่นอน

Company Related Link :
Sony

CyberBiz Social


Create Date : 17 กันยายน 2556
Last Update : 17 กันยายน 2556 22:59:07 น. 0 comments
Counter : 2602 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

hutza
Location :
อุบลราชธานี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




[Add hutza's blog to your web]