Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
9 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
ประวัติซุนเช่อ (ซุนเซ็ก)


ซุนเช่อ (AD 175-200)


ซุนเช่อ(ซุนเซ็ก)มีชื่อเรียกทางการว่าป๋อฝู ครั้งซุนเจียน(ซุนเกี๋ยน)เริ่มก่อร่างสร้างฐานะเป็นผู้นำกองทัพ ซุนเช่อได้คุ้มครองมารดาอพยพไปอาศัยอยู่ที่อำเภอซู ต่อมาเขาได้คบหาเป็นสหายสนิทกับโจวอวี๋(จิวยี่)และคบค้าสมาคมกับเหล่าบุรุษผู้มีชื่อเสียงในดินแดนแถบนั้น บรรดาผู้คนที่อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำไหวสุ่ยและฉางเจียงต่างให้ความสนใจในตัวเขาทั้งสิ้น ภายหลังซุนเจียนถึงแก่อสัญกรรม ซากสังขารของเขาได้ถูกนำมาบรรจุฝังที่ตำบลฉวี่อา ซุนเช่อจึงย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองเจียงตู

ผู้ว่าราชการมณฑลสวีโจว(ชีจิ๋ว)-เถาเชียน(โตเกี๋ยม)แสดงความเป็นปฏิปักษ์กับซุนเช่ออย่างแรงกล้า ขณะนั้นน้าชายของซุนเช่อนามอู๋จิ้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองตานหยาง ซุนเช่อจึงนำมารดาไปอาศัยที่ตำบลฉวี่อา ส่วนเขากับหลวี่ฟ่าน(ลิห้อม)และซุนเหอย้ายไปพำนักกับอู๋จิ้ง ซุนเช่อยังซ่องสุมผู้คนไว้ได้หลายร้อยคน

ซิงผิงศกปีที่หนึ่ง(ค.ศ.194) ซุนเช่อสวามิภักดิ์ต่อหยวนซู่(อ้วนสุด) หยวนซู่ชื่นชมในพรสวรรค์และความวิริยะอุตสาหะของซุนเช่อจึงได้คืนกองกำลังที่เคยขึ้นต่อซุนเจียนให้ซุนเช่อปกครอง ต่อมาข้าหลวงราชสำนักนามหม่ารื่อตี้อัญเชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งซุนเช่อดำรงตำแหน่งขุนพลพิทักษ์คุณธรรม แม่ทัพคนสนิททั้งสองของหยวนซู่ทั้งเฉียวรุ่ยกับจางสวินต่างให้ความยกย่องในตัวซุนเช่อเป็นอย่างยิ่ง หยวนซู่ถึงกับทอดถอนใจอยู่หลายครั้งแล้วกล่าวว่า “แม้นหยวนซู่มีบุตรชายเช่นซุนกงจื่อ(คุณชายแซ่ซุน) แม้ตายก็ปราศจากความอาลัยอาวรณ์”

ครั้งหนึ่งพลทหารม้าสังกัดซุนเช่อก่อคดีอาชญากรรมแล้วหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในค่ายทหารของหยวนซู่ ซุนเช่อจึงส่งทหารไปจับตัวมาประหารชีวิตแล้วจึงค่อยเข้าพบหยวนซู่เพื่อขออภัยเป็นการส่วนตัว หยวนซู่กลับกล่าวว่า “พลทหารที่ฝ่าฝืนคำสั่งย่อมสมควรถูกลงโทษอย่างเฉียบขาด ไยท่านต้องมาขอขมาต่อข่าฯด้วย?” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาบรรดาทหารต่างหวาดกลัวในความเฉียบขาดของซุนเช่อยิ่งขึ้น

แรกเริ่มเดิมทีหยวนซู่ตั้งใจว่าจะแต่งตั้งให้ซุนเช่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองจิ่วเจียงแต่แล้วกลับเปลี่ยนใจไปตั้งให้เฉินจี้แห่งเมืองตานหยางเข้ารับตำแหน่งแทน ต่อมาหยวนซู่คิดบุกตีสวีโจว(ชีจิ๋ว)จึงมีคำสั่งให้ลู่คังผู้ว่าราชการเมืองลู่เจียง(โลกั๋ง)ขนส่งเสบียงข้าวสารจำนวนสามหมื่นเชี่ย(มาตราตวงของจีน) ลู่คังปฏิเสธไม่ทำตามคำสั่ง หยวนซู่ให้โมโหโกรธาเป็นที่ยิ่งจึงใช้ซุนเช่อไปเข้าพบลู่คัง ลู่คังกลับปฏิเสธไม่ให้เข้าพบแล้วใช้ให้ขุนนางกรมประวัติศาสตร์เลี้ยงรับรองซุนเช่อไปพลาง ซุนเช่อจึงเกิดความไม่พอใจ หยวนซู่จึงออกคำสั่งให้ซุนเช่อนำทัพบุกตีลู่คัง ก่อนออกเดินทัพหยวนซู่ได้กล่าวกับซุนเช่อว่า “ครั้งก่อนข้าฯผิดพลาดที่เลือกใช้เฉินจี้ บัดนี้ข้าฯได้ทราบแล้วว่าช่างตัดสินใจได้ไม่เหมาะสม หากท่านสามารถจับกุมลู่คังกลับมาได้ เมืองลู่เจียงจักเป็นของท่าน” ซุนเช่อจึงนำทัพเข้าตีลู่เจียงจนสำเร็จ แต่หยวนซู่กลับแต่งตั้งนายพลจางสวินเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการแทน ซุนเช่อจึงบังเกิดความผิดหวังเป็นอันมาก

ก่อนหน้านั้นหลิวเหยาได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลหยางโจว เมืองโซ่วชุนที่หยวนซู่ยึดครองอยู่นับว่าอยู่ภายใต้เขตอำนาจ หลิวเหยาจึงยกทัพข้ามแม่น้ำฉางเจียงมาประจำการณ์อยู่ที่ตำบลฉวี่อา ในขณะนั้นอู๋จิ้งยังพำนักอยู่ที่ตำบลฉวี่อาและญาติของซุนเช่อนามซุนเปินก็ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดแห่งเมืองตานหยาง ครั้นหลิวเหยาเคลื่อนทัพมาถึงก็บุกตีจนทั้งสองต้องถอยหนีไปตั้งหลักที่เมืองลี่หยาง หลิวเหยาจึงบัญชาแม่ทัพฝานเหนิงกับอวี๋มี่เข้ายึดท่าข้ามเจียงจิง และให้นายทัพจางอิงยกไปขัดตาทัพที่ตำบลลี่โข่วเป็นการต่อต้านหยวนซู่

หยวนซู่จึงแต่งตั้งสมุนคนสนิทที่ติดสอยห้อยตามเขามานานนามฮุ่ยชวีแห่งหลางหยาให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลหยางโจวและยังแต่งตั้งให้อู๋จิ้งเข้ารับตำแหน่งรองแม่ทัพ อู้จิ้งกับซุนเปินจึงนำทัพเข้าตีแม่ทัพจางอิงและขุนพลของหลิวเหยาแต่ไม่ได้รับชัยชนะใดๆ ซุนเช่อจึงหว่านล้อมให้หยวนซู่อนุญาตเขานำทัพไปสนับสนุนอู๋จิ้งกับซุนเปินเพื่อปราบแดนเจียงตง(กังตัง) หยวนซู่จึงแต่งตั้งซุนเช่อเป็นแม่ทัพปราบอริภัยพาลให้นำทหารไปพันเศษและม้าอีกหลายสิบตัว ซุนเช่อยังนำผู้ติดตามส่วนตัวร่วมทางไปด้วยอีกหลายร้อยคน ครั้นซุนเช่อเดินทัพไปถึงลี่หยาง กองทัพของเขามีคนเข้าร่วมจนมีกองกำลังประมาณสี่ถึงห้าพันคน ณ เวลานั้นมารดาของซุนเช่อได้อพยพจากตำบลฉวี่อามาถึงเมืองลี่หยาง ซุนเช่อจึงคุ้มครองมารดาให้ไปพำนักอยู่ที่เมืองฝูหลิง จากนั้นซุนเช่อค่อยนำทัพข้ามแม่น้ำไปเปิดสงคราม ทุกที่ทางที่เขาเคลื่อนทัพผ่านล้วนถูกเขาปราบปรามราบคาบหมดสิ้นโดยที่ไม่มีผู้ใดกล้ารั้งอยู่ต่อต้านซุนเช่อแม้สักคนเดียว กองทัพของซุนเช่อได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีและอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกอันเข้มงวดอีกด้วย จึงเป็นที่ชื่นชมของบรรดาราษฎรท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง

โดยส่วนตัวแล้ว ซุนเช่อมีบุคลิกหน้าตาหล่อเหลาสง่างาม มักมีอารมณ์ขันและสนทนากับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเป็นกันเอง เขายังเป็นคนใจคอกว้างขวางรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอยู่เสมอ มีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำสูงยิ่ง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือสามัญชนเมื่อได้พบเห็นเขา ต่างไม่มีผู้ใดไม่ยินยอมรับใช้เขาอย่างสุดขีดสามารถทั้งยอมพลีชีพเพื่อเขาได้ เมื่อหลิวเหยาทิ้งกองทัพหนีเอาชีวิตรอด ผู้ว่าราชการเมืองต่างๆที่ขึ้นตรงต่อหลิวเหยาต่างพากันทิ้งเมืองหนีเอาตัวรอดไปตามๆกัน

หยันไป๋หู่(เงียมแปะฮอ)แห่งอู๋จวิ้นและสมัครพรรคพวกซ่องสุมกำลังคนได้ประมาณหมื่นเศษ ทำการตั้งค่ายใหญ่โตติดต่อกัน อู๋จิ้งและพวกวางแผนการว่าให้เผด็จศึกพิชิตหยันไป๋หู่ก่อนแล้วค่อยเคลื่อนทัพเข้าประชิดแดนฮุ่ยจี(ห้อยเข) แต่ซุนเช่อกล่าวว่า “หยันไป๋หู่และพวกเป็นเพียงโจรชั้นต่ำ หามีอุดมการณ์ใดๆไม่ ข้าฯจะคร่ากุมมันกลับมาทั้งเป็น” จากนั้นเขานำทัพข้ามแม่น้ำเจ๋อเจียงบุกพิชิตฮุ่ยจี ยึดครองตงเยี่ย จากนั้นค่อยบุกตีพรรคพวกหยันไป๋หู่แตกพ่าย ครั้นสำเร็จการ ซุนเช่อแต่งตั้งตนเองเป็นผู้ว่าราชการเมืองฮุ่ยจี ตั้งอู๋จิ้งเป็นผู้ว่าราชการเมืองตานหยาง แต่งตั้งซุนเปินเป็นผู้ว่าราชการเมืองอวี้จาง ซุนเช่อยังตัดแบ่งพื้นที่เมืองอวี้จางเพื่อเพิ่มเขตปกครองเมืองลู่หลิง และแต่งตั้งให้ซุนฝู่น้องชายของซุนเปินดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลู่หลิง ส่วนจูจื้อ(จูตี)แห่งเมืองตานหยางได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองอู๋จวิ้น จางเจา(เตียวเจียว)แห่งเผิงเฉิง จางหง(เตียวฮอง)แห่งกวนหลิง ฉินซง เฉินรุ่ยและเหล่าบัณฑิตผู้ทรงภูมิต่างเข้ารับใช้ซุนเช่อในช่วงเวลานี้

ขณะนั้นหยวนซู่สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ซุนเช่อจึงส่งสาสน์ไปตัดสัมพันธไมตรีกับหยวนซู่ เฉาเฉิงเซี่ยง(เฉาเชา-โจโฉ)กราบทูลองค์จักรพรรดิให้โปรดเกล้าฯพระราชทานตำแหน่งแม่ทัพปราบอริราชศัตรูพร้อมด้วยบรรดาศักดิ์ “อู๋โหว” ให้แก่ซุนเช่อ

ครั้นหยวนซู่ถึงแก่อสัญกรรม ขุนนางกรมสมุหบัญชีหยางหงกับแม่ทัพจางสวินวางแผนพาสมัครพรรคพวกผู้ติดตามไปเข้าร่วมกับซุนเช่อ แต่หลิวสวินผู้รั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองลู่เจียงนำกำลังเข้าจู่โจมและจับพวกเขาคุมขัง พร้อมทั้งยึดอำนาจสั่งการจากทั้งสอง เมื่อซุนเช่อทราบข่าวก็แสร้งแสดงไมตรีต่อหลิวสวิน โดยแจ้งข่าวว่ามีพลทหารสังกัดหยวนซู่กว่าหนึ่งหมื่นนายแตกระส่ำระสายจากอำเภอซางเหลียวเมืองอวี้จางกำลังมุ่งหน้าอพยพมาแดนเจียงตง หลิวสวินกำลังต้องการรวบรวมกองกำลังเก่าที่เคยขึ้นต่อหยวนซู่มาอยู่ใต้อำนาจตนเองจึงหลงกลเคลื่อนทัพออกติดตามจับกุม ซุนเช่อจึงปฏิบัติการเคลื่อนทัพทั้งวันคืนเข้าบุกจู่โจมเมืองลู่เจียงอย่างไม่ทันให้ตั้งหลัก พรรคพวกของหลิวสวินส่วนใหญ่ยอมสวามิภักดิ์ยกเว้นลูกน้องคนสนิทไม่กี่ร้อยคนที่ขึ้นตรงต่อหลิวสวิน

สถานการณ์ในขณะนั้นหยวนเส้า(อ้วนเสี้ยว)กำลังเรืองอำนาจ และซุนเช่อก็ครอบครองอาณาเขตแดนเจียงตงเป็นที่จ่อคุกคามเฉาเชา(โจโฉ) เฉาเชามีศักยภาพอันจำกัดจึงเชื่อมสัมพันธไมตรีกับซุนเช่อด้วยการจัดพิธีสมรสระหว่างบุตรีของเฉาเหริน(โจหยิน)กับซุนควงผู้เป็นน้องชายของซุนเช่อ และให้บุตรีของซุนเปินสมรสกับเฉาจาง(โจเจียง)ผู้เป็นบุตรชายของเฉาเชาเอง โดยหวังจะให้ทางซุนเช่อสงบลงชั่วคราว

เจี้ยนอันศกปีที่ห้า(ค.ศ.200) เฉาเชาตั้งประจันกับหยวนเส้าที่สมรภูมิกวนตู้(กัวต๋อ) ซุนเช่อจึงวางแผนนำทัพขึ้นบุกตีสวีโจว(ชีจิ๋ว)แล้วควบคุมองค์จักรพรรดิ เขาเริ่มทำการฝึกฝนทหารเป็นการลับและมอบหมายหน้าที่ต่างๆให้เหล่าขุนพลคนสนิท แต่ก่อนที่จะสำเร็จการ ซุนเช่อกลับถูกลอบสังหารอย่างไม่มีผู้ใดคาดฝันภายใต้การลงมือของลูกน้องเก่าของสวีกง(เค้าก๋อง)อดีตผู้ว่าราชการเมืองอู๋จวิ้น โดยก่อนหน้านั้นซุนเช่อได้สังหารสวีกงและบุตรเยาว์วัย ลูกน้องของสวีกงหนีไปกบดานแถบลุ่มแม่น้ำ ครั้นซุนเช่อควบม้าเพียงลำพังจึงถูกลอบสังหารจนได้รับบาดเจ็บสาหัส

ซุนเช่อได้รับบาดแผลสาหัสเป็นอย่างมากจึงเรียกจางเจาเข้ามากล่าวท่ามกลางผู้คนที่รายล้อมอยู่ว่า “จงหยวน(ภาคกลาง)เกิดจลาจลปั่นป่วน เรามีพื้นที่อู๋-เอวี้ยเป็นฐานที่มั่นประกอบแม่น้ำสามสายเป็นปราการธรรมชาติ ย่อมสามารถคอยสังเกตการณ์ว่าผู้ใดจะได้รับชัยชนะหรือล่มจม ท่านหลายโปรดช่วยกันสนับสนุนค้ำชูน้องชายของเราด้วย” จากนั้นจึงเรียกซุนเฉวียน(ซุนกวน)เข้ามามอบตราประจำตำแหน่งและเครื่องยศประจำตัวให้แล้วจึงกล่าวว่า “เรื่องการพิชิตใจคน กำหนดยุทธศาสตร์ในการเข้าจู่โจมข้าศึก และการช่วงชิงความเป็นใหญ่ในใต้หล้า เจ้าไม่สามารถสู้ข้าฯได้ แต่เรื่องการตีแผ่สัตยธรรม ใช้สอยผู้คนอย่างเต็มสมรรถนะเพื่อปกป้องอาณาเขตเจียงตง ข้าฯไม่อาจสู้เจ้าได้” ราตรีนั้นซุนเช่อถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัยเพียงยี่สิบห้าปี

เมื่อซุนเฉวียนสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ย้อนหลัง “ฉางซาหวนหวาง” ให้แก่ซุนเช่อ และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ซุนเส้าบุตรชายของซุนเช่อเป็นที่ “อู๋โหว” และ “ซางอวี๋โหว” ในเวลาต่อมา หลังซุนเส้าถึงแก่กรรม ซุนเฟิงบุตรชายของเขาเป็นผู้สืบทอดบรรดาศักดิ์ ในรัชสมัยของซุนเฮ่า(ซุนโฮ) มีผู้คนกล่าวขานกันว่าซุนเฟิงควรเป็นผู้ขึ้นครองราชสมบัติ ดังนั้นเขาจึงถูกสังหาร


คำวิจารณ์ของเฉินโซ่ว


ซุนเจียนมีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ แม้มาจากชาติตระกูลธรรมดาแต่ก็ก้าวขึ้นมากำหนดโชคชะตาของตนเองได้ ครั้งที่เขาแนะนำจางเหวินให้สังหารต่งจวอ(ตั๋งโต๊ะ)และทำการบูรณะพระสุสาน เป็นการแสดงวีรกรรมที่กล้าหาญภักดี ซุนเช่อมีจิตวิญญาณวีรบุรุษอันไร้เทียมทาน มีความห้าวหาญไร้ผู้ต่อต้าน พิชิตศัตรูด้วยกลยุทธ์พิสดาร มีความทะเยอทะยานหมายรวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาต่างดื้อรั้นและหุนหันพลันแล่น ดังนั้นจึงต้องประสบความปราชัยถึงแก่ชีวิต

แต่ไม่ว่าอย่างไร พวกเขาสามารถครอบครองเป็นใหญ่ในเจียงตง โดยเฉพาะซุนเช่อนับเป็นผู้วางรากฐานของรัฐอู๋ในอนาคต แต่ซุนเฉวียนกลับไม่ให้การยกย่องอันเหมาะสมแก่ทายาทของเขา การที่ซุนเฉวียนเพียงแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ระดับโหว(พระยา) ไม่อาจนับว่าเป็นสิ่งอันชอบธรรม


Create Date : 09 ตุลาคม 2553
Last Update : 9 ตุลาคม 2553 5:23:17 น. 0 comments
Counter : 1151 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ElClaSsicA
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ElClaSsicA's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.