ฮิโรชิม่ากับภารกิจนกกระเรียนพันตัว
เคยได้ยินหนังสือชื่อ “ซาดาโกะกับนกกระเรียนพันตัว” ไหมครับ เรื่องราวชีวิตจริงของเด็กหญิงเมืองฮิโรชิม่าคนหนึ่งที่ต้องทุกข์ทรมานจากอาการป่วยเนื่องจากผลของกัมมันตภาพรังสีจากระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เด็กหญิงซาซากิ ซาดาโกะมุ่งมั่นที่จะพับนกกระเรียนกระดาษให้ได้หนึ่งพันตัวด้วยความหวังว่าจะทำให้เธอหายจากความเจ็บป่วยดังกล่าว แต่เด็กหญิงผู้น่าสงสารต้องเสียชีวิตไปก่อนที่จะพับได้ครบ ทำให้นกกระเรียนกระดาษพับกลายมาเป็นสัญลักษณ์การแสวงหาสันติภาพจนถึงปัจจุบัน


วันหนึ่งช่วงกลางปี 2009 ก่อนที่ผมจะเดินทางไปภูมิภาคคันไซทางตะวันตกของญี่ปุ่น รายการทีวีท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นรายการหนึ่งพาไปที่สวนอนุสรณ์สันติภาพเมืองฮิโรชิม่า ซึ่งมีอนุสาวรีย์รำลึกถึงเด็กหญิงซาดาโกะและเด็กๆอีกนับพันๆคนที่เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่นี่ทุกๆวันจะมีนกกระเรียนกระดาษพับนับพันตัวส่งมาจากทั่วสารทิศนำมาตั้งแขวนเพื่อสักการะดวงวิญญาณของซาดาโกะและเด็กๆ


น้องสาวผมมีความคิดขึ้นมาว่าน่าจะมีนกกระเรียนกระดาษพับเป็นตัวแทนจากประเทศไทยไปร่วมสักการะด้วย จึงทำการพับนกกระเรียนกระดาษให้ได้หนึ่งพันตัว เนื่องจากผมไม่มีหัวทางด้านศิลปะที่จะช่วยพับได้จึงขันอาสาทำหน้าที่แมสเซนเจอร์ช่วยนำไปส่งถึงที่แทน

นกกระเรียนกระดาษพับหนึ่งพันตัวพร้อมแล้ว ผมออกเดินทางจากที่พักในเมืองโอซาก้าด้วยรถไฟสายชินคันเซน ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมงถึงฮิโรชิม่า


จากสถานีรถไฟฮิโรชิม่านั่งรถรางมาที่สวนอนุสรณ์สันติภาพ สวนอนุสรณ์ฯประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างมากมายในอาณาบริเวณ


เมื่อลงจากรถรางระหว่างทางเดินไปสวนจะผ่านอาคารที่เรียกว่า A-Bomb Dome (原爆ドーム) เป็นหนึ่งในไม่กี่ซากตึกที่หลงเหลือจากแรงระเบิดปรมาณู แต่เดิมก่อนโดนระเบิดเป็นอาคารแสดงสินค้าประจำจังหวัดฮิโรชิม่า ปัจจุบันมีรั้วกั้นล้อมไม่ให้เข้าใกล้ตึก ได้รับการยกย่องจากองค์กรยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 1996


จากตึก A-Bomb Dome เดินข้ามสะพานมาฝั่งสวน ก็จะถึงอนุสาวรีย์สันติภาพเด็กที่รำลึกถึงเด็กหญิงซาดาโกะ


รอบๆอนุสาวรีย์ก็จะเป็นที่สำหรับตั้งแขวนนกกระเรียนกระดาษพับที่นำมาสักการะ



ในที่สุดนกกระเรียนกระดาษพับสัญชาติไทยที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมานับพันไมล์ก็ถูกนำไปแขวน


สิ่งปลูกสร้างอื่นๆในบริเวณสวนก็มีระฆังสันติภาพ ใครมาที่นี่ก็จะมาตีระฆังให้ก้องกังวานส่งเสียงเรียกร้องสันติภาพสู่โลก


อนุสาวรีย์รำลึกผู้เสียชีวิตจากสงครามทรงโค้งที่มองลอดไปเห็นอาคาร A-Bomb Dome


ด้านในสุดของสวนจะมีพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ชื่อว่า Little Boy ลงที่เมืองฮิโรชิม่าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1945

โมเดลจำลองสภาพเมืองฮิโรชิม่าก่อนและหลังระเบิดลง



นาฬิกาตายบอกเวลาแปดโมงสิบห้านาที ซึ่งเป็นเวลาที่ระเบิดลง


ซากพระพุทธรูปที่หลอมละลายเนื่องจากความร้อนจากระเบิด


นกกระเรียนกระดาษพับฝีมือเด็กหญิงซาดาโกะ


สิ่งที่ผมประทับใจก็คือพิพิธภัณฑ์นี้มุ่งเน้นนำเสนอให้ผู้เข้าชมตระหนักถึงผลเลวร้ายจากภัยสงครามระเบิดนิวเคลียร์และร่วมสร้างสันติภาพโลก

การเดินทางไปสวนอนุสรณ์สันติภาพ
จากสถานีรถไฟฮิโรชิม่า โดยสารรถรางสาย 2 หรือสาย 6 ลงที่สถานี Genbaku Dome-mae

ฮิโรชิม่าเป็นหนึ่งในเมืองญี่ปุ่นที่ยังอนุรักษ์รถรางเป็นพาหนะหลักใช้ในการเดินทางในเมือง ว่ากันว่าเมืองที่ยกเลิกระบบรถรางไปแล้วก็จะโอนรถรางมาไว้ที่ฮิโรชิม่า จึงจะเห็นรถรางทั้งแบบใหม่และเก่าวิ่งขวักไขว่ในเมือง (ที่ฮิโรชิม่าเรียกรถรางเป็นภาษาอังกฤษว่า streetcar)


เว็บไซด์ของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพแห่งฮิโรชิมา
พิพิธภัณฑ์นี้เก็บค่าเข้าชมเพียง 50 เยนเท่านั้น



Create Date : 27 กรกฎาคม 2556
Last Update : 27 กรกฎาคม 2556 11:46:53 น.
Counter : 3591 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 714858
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



กรกฏาคม 2556

 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog