มิถุนายน 2560

 
 
 
 
1
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
มิลินทปัญหา - บทที่ ๑๐ อุปมาปัญหา (๔๑. - ๖๑. )


มิลินทปัญหา - บทที่ ๑๐ อุปมาปัญหา (๔๑. - ๖๑. )

๔๑.ราชสีห์
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ราชสีห์ ย่อมมีกายขาวบริสุทธิ์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรให้มีจิตขาวบริสุทธิ์ ปราศจากความรำคาญฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งราชสีห์W
"ธรรมดาราชสีห์ ย่อมเที่ยวไปด้วยเท้าทั้ง ๔ มีการเที่ยวไปงดงามฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวไปด้วยอิทธิบาท ๔ ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งราชสีห์"
"ธรรมดาราชสีห์ ย่อมมีไกรสรคือสร้อยคอสีสวยงามยิ่งฉันใด พระโยคาวจรก็ควรมีไกรสรคือศีลอันสวยงามยิ่งฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งราชสีห์"
"ธรรมดาราชสีห์ถึงจะตาย ก็ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อใครฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรอ่อนน้อมต่อใคร เพราะเห็นแก่ปัจจัย ๔ ถึงจะสิ้นชีวิตก็ช่าง อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งราชสีห์"
"ธรรมดาราชสีห์ ย่อมเที่ยวหาอาหารไปตามลำดับ ได้อาหารในที่ใดก็กินให้อิ่มในที่นั้น ไม่เลือกกินเฉพาะเนื้อที่ดีๆ ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตระกูล ไม่ควรเลือกตระกูลและอาหารฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งราชสีห์"
"ธรรมดาราชสีห์ย่อมไม่สะสมอาหาร กินคราวหนึ่งแล้วไม่เก็บไว้กินอีกฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรสะสมอาหารฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๖ แห่งราชสีห์"
"ธรรมดาราชสีห์เวลาหาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ทุกข์ร้อน ได้แล้วก็ไม่ติดฉันใด พระโยคาวจรเวลาหาอาหารไม่ได้ ก็ไม่ควรทุกข์ร้อน เวลาได้ก็ไม่ควรติดใจรสอาหาร ควรฉันด้วยการพิจารณา เพื่อจะออกจากโลก อันนี้เป็นองค์ที่ ๗ แห่งราชสีห์ ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระกัสสปนี้ย่อมยินดีด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ สรรเสริญความยินดีในบิณฑบาตตามมีตามได้ ไม่แสวงหาบิณฑบาตในทางไม่ชอบ เมื่อไม่ได้ก็ไม่ควรทุกข์ร้อน เวลาได้ก็ไม่ติดในรสอาหาร รู้จักพิจารณาโทษแห่งอาหาร' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๔๒.นกจากพราก

“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นกจากพราก ย่อมไม่ทิ้งเมียจนตลอดชีวิตฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทิ้งโยนิโสมนสิการจนตลอดชีวิตฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกจากพราก"
"ธรรมดานกจากพราก ย่อมกินหอย สาหร่าย จอกแหน เป็นอาหารด้วยความยินดี จึงไม่เสื่อมจากกำลัง และสีกายด้วยความยินดีนั้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรยินดีตามมีตามได้ฉันนั้น เพราะผู้ยินดีตามมีตามได้ย่อมไม่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และกุศลธรรมทั้งปวง อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนกจากพราก"
"ธรรมดานกจากพราก ย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทิ้งท่อนไม้และอาวุธ ควรมีความละลาย มีใจอ่อน นึกสงเคราะห์สัตว์ทั้งหลายด้วยเมตตาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนกจากพราก ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน จักกวากชาดก ว่า 'ผู้ใดไม่ฆ่าเอง ไม่ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ชนะเอง ไม่ให้ผู้อื่นชนะ ผู้นั้นชื่อว่ามีเมตตาในสัตว์ทั้งหลาย เวรย่อมไม่มีแก่ผู้นั้นด้วยเหตุใดๆ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๔๓.นางนกเงือก
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นางนกเงือก ย่อมให้ผัวอยู่เลี้ยงลูกในโพรงด้วยความหึงฉันใด พระโยคาวจรเมื่อกิเลสเกิดขึ้นในใจของตนก็ควรเอาใจของตนใส่ลงในโพรง คือการสำรวมโดยชอบ เพื่อความกั้นกางกิเลส แล้วอบรมกายคตาสติไว้ด้วยมโนทวาร อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนางนกเงือก"
"ธรรมดานางนกเงือก เวลากลางวันไปเที่ยวหากินในป่า พอถึงเวลาเย็นก็บินไปหาเพื่อนฝูง เพื่อรักษาตัวฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหาที่สงัดโดยลำพังผู้เดียว เพื่อให้หลุดพ้นจากสังโยชน์ เมื่อได้ความยินดีในความสงัดนั้น ก็ควรไปอยู่กับหมู่สงฆ์ เพื่อป้องกันภัย คือการว่ากล่าวติเตียนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนางนกเงือก ข้อนี้สมกับคำที่ ท้าวสหัมบดีพรหม ได้กล่าวขึ้นในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่า 'พระภิกษุควรอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อปลดเปลื้องจากสังโยชน์ ถ้าไม่ได้ความยินดีในที่สงัดนั้น ก็ควรไปอยู่ในหมู่สงฆ์ ควรมีสติรักษาตนให้ดี' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๔๔.นกกระจอก
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นกกระจอก ย่อมอาศัยอยู่ในเรือนคน แต่ไม่เพ่งอยากได้ขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งของคน มีใจเป็นกลางเฉยอยู่ มากไปด้วยความจำฉันใด พระโยคาวจรเข้าไปถึงตระกูลอื่นแล้ว ก็ไม่ควรถือเอานิมิตในเตียง ตั่ง ที่นั่ง ที่นอน เครื่องประดับประดา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ เครื่องกิน ภาชนะใช้สอยต่างๆ ของสตรีหรือบุรุษในตระกูลนั้น ควรมีใจเป็นกลาง ควรใส่ใจไว้แต่ในสมณสัญญาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งนกกระจอก ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน จูฬนารทชาดก ว่า 'ภิกษุเข้าไปสู่ตระกูลอื่นแล้ว ควรขบฉันข้าวน้ำตามที่เขาน้อมถวาย แต่ไม่ควรหลงไหลไปในรูปต่างๆ' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๔๕.นกเค้า
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นกเค้า ย่อมเป็นศัตรูกันกับกา พอถึงเวลากลางคืนก็ไปตีฝูงกา ฆ่าตายเป็นอันมากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นข้าศึกกับอวิชชา ควรนั่งอยู่ในที่สงัดแต่ผู้เดียว ควรตัดอวิชชาทิ้งเสียพร้อมทั้งรากฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนกเค้า"
"ธรรมดานกเค้าย่อมซ่อนตัวอยู่ดีฉันใด พระโยคาวจรก็ควรซ่อนตัวไว้ดี ด้วยการยินดีในที่สงัดฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนกเค้า ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอควรอยู่ในที่สงัด เพราะผู้อยู่ในที่สงัด ผู้ยินดีในที่สงัดย่อมพิจารณาเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๔๖.นกกกระไน
"นกกระไนร้องบอกเหตุดีร้ายแก่ผู้คน ฉันใด ภิกษุพึงแสดงธรรมเตือนผู้คนให้เห็นภัยในสังสารวัฏ ฉันนั้น"
๔๗.ค้างคาว
“ค้างคาวบางครั้งบินเข้าไปในเรือน แต่ไม่นานก็กลับออกมา ฉันใด ภิกษุเมื่อเข้าไปในเรือนเพื่อบิณฑบาต ก็พึงกลับออกมาโดยเร็ว ฉันนั้น"
"ค้างคาวเมื่อเข้าไปในเรือนของผู้คน ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย ฉันใด ภิกษุเมื่อเข้าไปเยือนยังเรือนของคนทั้งหลาย ไม่พึงสร้างความเดือดร้อนใด ๆ ณ ที่นั้น พึงเป็นผู้เลี้ยงง่าย และปรารถนาความเจริญแก่ที่นั้น ฉันนั้น"
๔๘.ปลิง
"ปลิงดูดเลือดจนอิ่มแล้วจึงปล่อย ฉันใด ภิกษุพึงเกาะติดในอารมณ์ภาวนาให้มั่นคงแล้ว เสพวิมุตตรสจนอิ่ม ฉันนั้น"
     (ภาษาไทยกล่าวว่า 'ปลิงเกาะติดสัตว์ใดก็เกาะมั่นแล้วดูดเลือด ฉันใด ภิกษุทำจิตเกาะติดอารมณ์ใด ก็ยึดอารมณ์ภาวนาน้นให้มั่นแล้วพึงเสพวิมุตตรส' ฉันนั้น)
๔๙.งู
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา งู ย่อมไปด้วยอกฉันใด พระโยคาวจรก็ควรไปด้วยปัญญาฉันนั้น เพราะจิตของพระโยคาวจรผู้ไปด้วยปัญญา ย่อมเที่ยวไปในธรรมที่ควรรู้ ย่อมละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกำหนดจดจำ อบรมไว้แต่สิ่งที่ควรกำหนดจดจำฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งงู"
"ธรรมดางูเมื่อเที่ยวไป ย่อมหลีกเว้นยาแก้พิษของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหลีกเว้นทุจริตฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งงู"
"ธรรมดางูเห็นมนุษย์แล้ว ย่อมทุกข์โศกฉันใด พระโยคาวจรเมื่อนึกถึงวิตกที่ไม่ดีแล้วก็ควรทุกข์โศกเสียใจว่า วันของเราได้ล่วงไปด้วยความประมาทเสียแล้ว วันที่ล่วงไปแล้วนั้นเราไม่อาจได้คืนมาอีก อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งงู ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน กินนรชาดก ว่า 'ดูก่อนนายพราน เราพลัดกันเพียงคืนเดียว ก็นึกเสียใจไม่รู้จักหาย นึกเสียใจว่าคืนที่เราพลัดกันนั้น เราไม่ได้คืนมาอีก' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๐.งูเหลือม
"งูเหลือมขาดอาหารหลายวันก็ยังอยู่ได้ ฉันใด ภิกษุพึงยังสรีระให้อยู่ไปได้ แม้ได้บิณฑบาตมาเพียงเล็กน้อย ฉันนั้น ดังคำของท่านพระสารีบุตร ดังนี้"
'ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ มีสติอยุ่ การบริโภคอาหารยังอีก ๔-๕คำจะอิ่ม ควรงดเสีย แล้วดื่มน้ำเป็นการสมควรเพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว' "
๕๑.แมงมุม 
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แมงมุม ชักใยขวางทางไว้แล้วก็จ้องดูอยู่ ถ้าหนอนหรือแมลงมาติดในใยของตน ก็จับกินเสียฉันใด พระโยคาวจรก็ควรชัดใย คือสติปัฏฐาน ขึงไว้ที่ทวารทั้ง ๖ ถ้ามีแมลง คือกิเลสมาติด ก็ควรฆ่าเสียฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแมงมุม ข้อนี้สมกับคำของ พระอนุรุทธเถระ ว่า 'เพดานที่กั้นทวารทั้ง ๖ อยู่ คือสติปัฏฐานอันประเสริฐ เวลากิเลสมาติดที่เพดาน คือสติปัฏฐานนั้น พระภิกษุก็ควรฆ่าเสีย' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๒.ทารก
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ทารกที่ยังกินนมอยู่ ย่อมขวนขวายในประโยชน์ของตนเวลาอยากกินนมก็ร้องไห้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรขวนขวายในประโยชน์ของตนฉันนั้น คือควรขวนขวายในธรรมอันชอบใจตน ควรขวนขวายในการเล่าเรียนไต่ถาม การประกอบความสงัด การอยู่ในสำนักครู การคบกัลยาณมิตร อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งทารก ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน ทีฆนิกาย ปรินิพพานสูตร ว่า “ดูก่อนอานนท์ พวกเธอจงประกอบในประโยชน์ของตน อย่าได้ประมาทในประโยชน์ของตน” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๓.เต่าเหลือง
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เต่าเหลือง ย่อมเว้นน้ำเพราะกลัวน้ำ เมื่อเว้นน้ำก็มีอายุยืนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเห็นภัยในความประมาท เห็นคุณวิเศษในความไม่ประมาทจึงจักไม่เสื่อมจากคุณวิเศษ จักได้เข้าใกล้นิพพาน อันนี้เป็นองค์ ๑ แห่งเต่าเหลือง ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน พระธรรมบท ว่า “ภิกษุผู้ยินดีในความไม่ประมาท ผู้เห็นภัยในความประมาท ย่อมไม่เสื่อม ย่อมได้อยู่ใกล้นิพพาน” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๔.ป่า
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ป่า ย่อมปิดบังคนที่ไม่สะอาดไว้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรปิดบังความผิดพลั้งของผู้อื่นไว้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งป่า
"ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่ว่างเปล่า ไม่มีคนไปมาฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ว่างเปล่าจากกิเลสทั้งปวงฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งป่า"
"ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่เงียบสงัดฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเงียบสงัดจากสิ่งที่เป็นบาปอกุศลฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งป่า"
"ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่บริสุทธิ์ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้บริสุทธิ์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งป่า"
"ธรรมดาป่าย่อมเป็นที่อาศัยอยู่ของพระอริยชนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรคบอริยชนฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งป่า ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ในคัมภีร์ สังยุตตนิกาย ว่า “บุคคลควรอยู่ร่วมกับอริยะผู้สงัด ผู้มีใจตั้งมั่น ผู้รู้แจ้ง ผู้มีความเพียรแรงกล้าเป็นนิจ” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๕.ต้นไม้
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา ต้นไม้ ย่อมทรงไว้ซึ่งดอกและผลฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งดอกคือวิมุตติ ผลคือสมณคุณ อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งต้นไม้"
"ธรรมดาต้นไม้ย่อมให้ร่มเงาแก่ผู้เข้าไปพักอาศัยฉันใด พระโยคาวจรก็ควรต้อนรับผู้ที่เข้ามาหาตน ด้วยอามิสหรือธรรมฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งต้นไม้"
"ธรรมดาต้นไม้ย่อมไม่ทำเงาของตนให้แปลกกัน ย่อมแผ่ไปให้เสมอกันฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรทำให้แปลกกันในสัตว์ทั้งหลายฉันนั้น คือควรแผ่เมตตาไปให้เสมอกันทั้งในผู้เป็นโจร เป็นผู้จะฆ่าคน เป็นข้าศึกของตนและตนเอง อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งต้นไม้ ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า 'พระมุนี คือพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นผู้มีพระหฤทัยเสมอไปแก่สัตว์ทั้งหลาย เช่นพระเทวทัต โจรองคุลีมาล ช้างธนบาล และพระราหุล เป็นตัวอย่าง' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๖.เมฆ
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา เมฆ ย่อมระงับเสียซึ่งละอองเหงื่อไคล ซึ่งเกิดแล้วฉันใด พระโยคาวจรก็ควรระงับเหงื่อไคล คือกิเลสฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งเมฆ"
"ธรรมดาเมฆคือฝนที่ตกลงมา ย่อมดับความร้อนในแผ่นดินฉันใด พระโยคาวจรก็ควรดับทุกข์ร้อนของโลก ด้วยเมตตาภาวนาฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งเมฆ"
"ธรรมดาเมฆย่อมทำให้พืชทั้งปวงงอกขึ้นฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้พืช คือศรัทธาของบุคคลทั้งหลายให้งอกขึ้นฉันนั้น ควรปลูกพืชคือศรัทธานั้นไว้ในสมบัติทั้ง ๓ คือ มนุษย์สมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งเมฆ"
"ธรรมดาเมฆย่อมตั้งขึ้นตามฤดูฝนแล้วเป็นฝนตกลงมา ทำให้หญ้า ต้นไม้ เครือไม้ พุ่มไม้ ต้นยา ป่าไม้ เกิดขึ้นในพื้นธรณีฉันใด พระโยคาวจรก็ควรทำให้โยนิโสมนสิการเกิดขึ้นแล้วทำให้สมณธรรม และกุศลธรรมทั้งปวงเกิดขึ้นฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งเมฆ"
"ธรรมดาเมฆคือก้อนน้ำ เมื่อตกลงมาก็ทำให้แม่น้ำ หนอง สระ ซอก หัวยระแหง บึง บ่อ เป็นต้น ให้เต็มไปด้วยน้ำฉันใด พระโยคาวจรเมื่อเมฆ คือโลกุตตรธรรมตกลงมาด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม ควรทำใจของบุคคลทั้งหลาย ผู้มุ่งต่อโลกุตตรธรรมให้เต็มบริบูรณ์ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๕ แห่งเมฆ ข้อนี้สมกับคำของ พระสารีบุตรเถระ ว่า “พระมหามุนีทรงเล็งเห็นผู้ที่ควรจะให้รู้อยู่ในที่ไกลตั้งแสนโยชน์ก็ตาม ก็เสด็จไปโปรดให้รู้ทันที” ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๕๗.แก้วมณี
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา แก้วมณี ย่อมเป็นของบริสุทธิ์แท้ฉันใด พระโยคาวจรก็ควรเป็นผู้มีอาชีพบริสุทธิ์แท้ฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งแก้วมณี"
"ธรรมดาแก้วมณี ย่อมไม่มีสิ่งใดเจือปนอยู่ข้างในฉันใด พระโยคาวจรก็ไม่ควรปะปนอยู่ด้วยสหายที่เป็นบาปฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งแก้วมณี"
"ธรรมดาแก้วมณี ย่อมประกอบกับแก้วที่เกิดเองฉันใด พระโยคาวจรก็ควรประกอบกับแก้วมณีคือพระอริยะฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งแก้วมณี ข้อนี้สมกับพระพุทธพจน์ใน สุตตนิบาต ว่า 'ผู้บริสุทธิ์เมื่ออยู่กับผู้บริสุทธิ์ ผู้มีสติอยู่กับผู้มีสติ ก็จักมีปัญญาทำให้สิ้นทุกข์' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”     
๕๘.นายพราน
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา นายพราน ย่อมหลับน้อยฉันใด พระโยคาวจรก็ควรหลับน้อยฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งนายพราน"
"ธรรมดานายพรานย่อมผูกใจไว้ในหมู่เนื้อฉันใด พระโยคาวจรก็ควรผูกใจไว้ในอารมณ์อันจักให้ได้คุณวิเศษที่ตนได้แล้วฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งนายพราน"
"ธรรมดานายพรานย่อมรู้จักเวลากระทำของตนฉันใด พระโยคาวจรก็ควรรู้จักเวลาฉันนั้น คือควรรู้ว่า เวลานี้เป็นเวลาเข้าสู่ที่สงัด เวลานี้เป็นเวลาออกจากที่สงัด อันนี้เป็นองค์ที่ ๓ แห่งนายพราน"
"ธรรมดานายพรานพอแลเห็นเนื้อ ก็เกิดความร่าเริงว่า เราจักได้เนื้อตัวนี้ฉันใด พระโยคาวจรพอได้ความยินดีในอารมณ์ ก็ควรเกิดความร่าเริงใจว่า เราจักได้คุณวิเศษยิ่งขึ้นไปฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๔ แห่งนายพราน ข้อนี้สมกับคำของ พระโมฆราชเถระ กล่าวว่า “ภิกษุผู้มีความเพียร ได้ความยินดีในอารมณ์แล้ว ควรทำให้เกิดความร่าเริงยิ่งขึ้นไปว่า เราจักได้บรรลุธรรมวิเศษอันยิ่ง” ดังนี้ ขอถวายพระพร”
๕๙.พรานเบ็ด
“ ขอถวายพระพร ธรรมดา พรานเบ็ด ย่อมดึงปลาขึ้นมาได้ด้วยเหยื่อฉันใด พระโยคาวจรก็ควรถึงผลสมณะ อันยิ่งขึ้นมาให้ได้ด้วยญาณฉันนั้น อันนี้เป็นองค์ที่ ๑ แห่งพรานเบ็ด"
"ธรรมดาพรานเบ็ดสละสัตว์ที่เป็นเหยื่อเพียงเล็กน้อย ก็ได้ปลามากฉันใด พระโยคาวจรก็ควรสละเหยื่ออันเล็กน้อย คืออามิสในโลกฉันนั้น เพราะพระโยคาวจรสละสุขของโลกเพียงเล็กน้อยแล้วก็ได้สมณคุณอันไพบูลย์ อันนี้เป็นองค์ที่ ๒ แห่งพรานเบ็ด ข้อนี้สมกับคำของ พระราหุลเถระ ว่า 'พระภิกษุสละโลกามิสแล้ว ย่อมได้อนิมิตตวิโมกข์ (หลุดพ้นเพราะไม่ถือนิมิตในร่างกาย เพราะเห็นถึงความไม่เที่ยง) สุญญตวิโมกข์ (หลุดพ้นเพราะว่างจากกิเลส เพราะเห็นความเป็นอนัตตา) อัปปณิหิตวิโมกข์ (หลุดพ้นเพราะไม่ปรารถนาในร่างกาย เพราะเห็นความเป็นทุกข์) และผล ๔ อภิญญา ๖' ดังนี้ ขอถวายพระพร ”
๖๐.ช่างไม้
"ช่างไม้ทิ้งไม้มีตำหนิ เก็บไว้แต่ไม้ดี ฉันใด ภิกษุพึงทิ้งความเห็นผิด เช่น ทุกสิ่งยั่งยืน(สัสตทิฏฐิ) ทุกสิ่งขาดสูญ(อุจเฉททิฏฐิ) ชีวะ คือสรีระ ชีวะเป็นอย่างหนึ่ง สรีระเป็นอีกอย่างหนึ่ง คำสอนที่มีมาทั้งหมดดีเหมือน ๆกัน สิ่งที่ปราศจากสังขารไม่มี การกระทำไม่มีผล พรหมจรรย์ไม่มี เมื่อคนหนึ่งตายไปคนนั้นก็เกิดในร่างใหม่ ความยั่งยืนแห่งสังขารมีอยู่ คนใดทำคนนั้นรับผล คนหนึ่งทำอีกคนหนึ่งรับผล และความเห็นผิดอื่น ๆ เกี่ยวกับผลของกรรม(เจตนา) และการกระทำ(กริยา) เมื่อทิ้งความเห็นผิดเหล่านั้นแล้ว พึงถือเอาความเป็นสุญญตา คือความว่างเปล่า อันเป็นสภาวะแท้จริงของสังขารทั้งหลาย ฉันนั้น"

ที่มา: หนังสือมิลินทปัญหา - กษัตริย์กรีกถาม พระเถระตอบ โดย นวพร เรืองสกุลถอดความเป็นภาษาไทย

หมายเหตุ: เนื่องจากหนังสือมิลินทปัญหานี้อธิบายอุปมาเนื้อหาเป็นบางข้อ ฉะนั้น ข้อ ๔๑-๔๕, ๔๙, ๕๑-๕๙  ข้าพเจ้าจึงคัดลอกมาจากเวป //tripitaka-online.blogspot.com/2016/05/ml035.html  และ
//tripitaka-online.blogspot.com/2016/05/ml036.html   






Create Date : 17 มิถุนายน 2560
Last Update : 18 มิถุนายน 2560 19:00:03 น.
Counter : 979 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Ineverdie
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



New Comments